12 มิ.ย. 2021 เวลา 11:16 • ปรัชญา
พระครูสุคันธศีล (ครูบาคำแสน อินทจักโก)
หรืออีกนามหนึ่งคือ "ีครูบาคำแสนใหญ่"
วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่คำแสน กำเนิดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2431 ตรงกับเดือน 3 เหนือ แรม 9 ค่ำ เวลา 06.00 น. ปีชวด ณ บ้านป่าพร้าวใน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บิดาชื่อท้าวภูมินทร์พิทักษ์ มารดาชื่อคำป้อ รังสี มีนามเดิมว่า ทิม เมื่อครั้งเยาว์วัย หลวงปู่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย อารมณ์แจ่มใส รู้จักคุณบิดามารดา ช่วยบิดามารดาทำนา
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เมื่ออายุ 10 ขวบได้เข้าวัด พออายุ 12 ปี จึงได้ขอบวชเป็นสามเณร ได้ตั้งใจเล่าเรียนค้นคว้าพระธรรมวินัย และวิปัสสนากรรมฐานกับครูบาอริยะ วัดคับภัย จนถึงอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์ ได้รับฉายาว่า "อินฺทจกฺโก" แปลว่าผู้มีพลังดุจจักรพระอินทร์
ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติ เมื่อบวชได้ 1 พรรษา ได้มีผู้นิมนต์ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดอื่นๆ เกือบ 10 ปี หลวงปู่ได้ออกจาริกอบรมเผยแพร่ไปในท้องที่ต่าง ๆ เช่น อำเภอสะเมิง และตามป่าดอยของภาคเหนือ ต่อมาภายหลังท่านหลวงปู่คำแสน หรืออีกนามหนึ่งคือ "พระครูสุคันธศีล" ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ซึ่งเป็นวัดหลวงของจังหวัด เชียงใหม่ ท่านได้ทำนุบำรุง และอนุรักษ์วัดสวนดอกเป็นเวลา 30 ปี ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่อง ท่านได้อุทิศชีวิตบำรุงพระพุทธศาสนา มั่นคงดำรงตนในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ประพฤติธรรมสมถะ มีดวงจิตเหนืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ จนได้รับสมญานามว่า "รอยยิ้มแห่งพระอรหันต์"
หลวงปู่คำแสนได้มรณภาพด้วยความสงบ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2519 เวลา 24.00 น. รวมอายุได้ 88 ปี 3 เดือน
เกร็ดประวัติ
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำเล่าถึงหลวงปู่คำแสนใหญ่
จากหนังสือตามล่าพระอาจารย์ และท่องเชียงแสน โดย ฤๅษีลิงดำ
รวบรวมโดย ป่อง โกษา (พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์)
พระครูสุคันธศีล (หลวงปู่คำแสน)
วัดสวนดอก อ.เมือง
หลวงปู่คำแสนนี้ ความจริงหลวงปู่คำแสนองค์โน้น (วัดป่าดอนมูล) ท่านก็บอกไว้ ท่านเรียกหลวงปู่แสนเฉย ๆ เนื่องจากไม่คาดว่าจะมีเวลาพอ จึงไม่ได้นำเอาเทปมาด้วย ขอเขียนตามที่โน้ตไว้สั้น ๆ
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
หลวงพ่อฤๅษี ถามว่าชื่อท่านอะไรแน่
หลวงปู่คำแสน : ชื่อเขาใส่ให้ เดิมพ่อแม่ให้ชื่อ ทิม บวชแล้ว เขาใส่ชื่อให้เป็นพระครูสุคันธศีล
(ไม่ยักเล่าว่าทำไมจึงมีคนมีเรียกท่านว่าแสนหรือคำแสน (ขอให้สังเกตคำว่า "เขาใส่ชื่อให้" แสดงว่าท่านไม่ยึด จะให้ชื่ออะไรก็เอา)
หลวงพ่อฤๅษี : ท่านชอบชื่อไหนครับ
หลวงปู่คำแสน : ก็ชอบเหมือน ๆ กัน
หลวงพ่อฤๅษี : โลกสาม หลวงพ่อว่าดีไหม?
หลวงปู่คำแสน : ก็ดี
หลวงพ่อฤๅษี : ท่านชอบโลกไหน
หลวงปู่คำแสน : อะไรน่ะ?
หลวงพ่อฤๅษี : ตายไปแล้วท่านชอบโลกไหน
หลวงปู่คำแสน : เออ เออ สวรรค์ (เว้นระยะไปพักหนึ่ง) นิพพาน (แหม ค่อยยังชั่วหน่อย)
หลวงพ่อฤๅษี : หลวงพ่อยังแข็งแรงดี
หลวงปู่คำแสน : เออ เออ ไม่มีโรคภัยอะไร บางคนเขาถามว่าหลวงปู่มียาอะไร อายุ ๘๘ แล้ว ยังแข็งแรงดี ขอกินบ้างได้ไหม ก็ตอบเขาว่า ไม่ได้กินยาอะไร กินเข้าไป ดีไม่ดีกลับเกิดโทษ
หลวงพ่อฤๅษี : อย่างนี้ก็แปลว่าไม่ได้ทำกรรมหนัก จำพวกปาณาติบาตไว้แต่ก่อน
หลวงปู่คำแสน : เออ เออ ก็ใ้ช่่ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ มีเป็นธรรมดา จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ช้าหรือเร็วก็ของใครของมัน
หลวงพ่อฤๅษี : ท่านรู้จักครูบาศรีวิชัยดี?
หลวงปู่คำแสน : อ่อนกว่าท่านศรีวิชัย ๑๐ ปี ไม่ได้อยู่ด้วย แต่ไปมาหาสู่กัน รู้จักกันดี
หลวงพ่อฤๅษี : หลวงปู่มั่นรู้จักไหมครับ เห็นว่าท่านมาอยู่เ้ชียงใหม่นาน
หลวงปู่คำแสน : ได้ยินแต่เสียง ได้ยินแต่ชื่อ
หลวงพ่อฤๅษี : ครูบาศรีวิชัย ถนัดธรรมะทางไหน?
หลวงปู่คำแสน : ถือศีล ถือสัจจะ มังสะวิรัติด้วย มีคนถามท่านว่าทำไมถือมังสะวิรัติ ท่านตอบว่า เกิดบ้านป่า หาเนื้อยาก ได้กินแต่ผัก ก็เลยชินกับการกินผัก เรื่องสัจจะ ถ้าท่านมีนัดกับใครแล้ว ไม่ว่าจะมีคนมาหามากมายแค่ไหน ท่านก็ต้องปลีกตัวไปตามนัดจนได้
หลวงพ่อฤๅษี : บารมีท้ายของท่าน คือ สัจจบารมี?
หลวงปู่คำแสน : เออ...เออ มีคนมาถวายธรรมะท่าน ท่านบอกว่าท่านเป็นพระบ้านนอก เรียนอิติปิโสยังไม่จบเลย บารมีท่านสูงมาก ไม่ว่าจะสร้างอะไรที่ไหน เสร็จที่นั่น ไม่คั่งค้างเลย คนก็ศรัทธา เพราะฉะนั้นเขาก็มักจะเชิญไปนั่งหนัก ไปเป็นประี่ธาน สร้างอะไรไม่นานก็ต้องเสร็จ อย่างศาลานี่ก็สร้าง ๘ เดือนเท่านั้น หมดไป ๘ หมื่น ๘ พัน
หลวงพ่อฤๅษี : ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ น่ากลัวจะต้องแปดล้าน ท่านเข้าวัดเมื่อไหร่ครับ?
หลวงปู่คำแสน : อายุ ๑๐ ปี ก็เข้าวัด ๑๒ ปี บวชเณร ๒๐ ปี บวชพระ บวชได้ ๑ พรรษา เขานิมนต์ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดอื่น ๆ เกือบ ๑๐ ปี แล้วกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเดิม ที่มาอยู่วัดนี้ เพราะคณะสงฆ์เห็นว่าเป็นวัดโบราณ จะเอาพระหนุ่มน้อยก็ไม่ไหว พระแก่มาก ลูกน้องก็มา มาอยู่วัดนี้ได้ ๒๖-๒๗ ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๘๘-๘๙
หลวงพ่อฤๅษี : มีพระกี่รูปครับ
หลวงปู่คำแสน : มีพระ ๑o เณร ๑๐ ในขณะนี้
หลวงพ่อฤๅษี : อิติปิโสก็ยังไม่จบ?
หลวงปู่คำแสน : เออ...เออ ยัง
หลวงพ่อฤๅษี : ห้องท้าย น่ากลัวจะจบแล้ว สุปฏิปันโนน่ากลัวจบแล้ว?
หลวงปู่คำแสน : จบ...จบ
หลวงพ่อฤๅษี : ผมก็เหมือนกัน ห้องต้นทนไม่ไหว เลยต้องมาท่องบทท้าย “พุทโธ อนันตคุโณ ภิกขุ” บทหลังค่อยท่องง่ายหน่อยนะครับ เรามันแรงน้อย
หลวงปู่คำแสน : เออ...เออ
เมื่อลาท่านออกมาแล้ว หลวงพ่อฤๅษีลิงดำบอกว่า ตอนที่เดินเข้าไปในวัด ยกมือไหว้เจดีย์ที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง ก็มองเห็นท่านครูบา เมื่อมองดูจิตหลวงปู่คำแสนเห็นสว่างหมดดวงแล้ว แสดงว่า เป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นสุปฏิปันโนชั้นยอดแล้ว แต่มีจุดสีแดงสว่างจ้าอยู่ด้วย จึงไม่ใช่สีแดงแบบจิตมีปีติ (กิเลส) ธรรมดา จึงลองเรียนถามครูบาศรีวิชัยดู ท่านตอบว่า เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มากด้วยกตัญญู นับว่าเป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง
ป่องว่า ควรจะมีข้อสังเกต ๒ ข้อ จากการสนทนา นี้ คือ
๑. คำถามที่ว่า “บารมีของท่านครูบาศรีวิชัย คือ สัจจบารมีหรือ?” นั้น เป็นการบอกอยู่ในตัวว่าท่านองค์นี้บำเพ็ญบารมีจบแล้ว จึงแปลว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่เต็มขั้นแล้ว เข้าแถวรอการตรัสรู้แล้ว ซึ่งไม่ทราบจะเป็นองค์ที่เท่าไร ถัดไปจากพระศรีอาริยเมตไตรย
๒. คำตอบของท่านครูบาคำแสน ที่ว่า "อิติปิโสยังไม่จบ" นั้น ก็คือ ยังไม่จบหลักสูตรเป็นพระพุทธเจ้า เพราะบทอิติปิโส คือบทที่แสดงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ใครอ่านเข้าใจว่าท่านท่องไม่ได้ก็...เฮอ...ส่วนที่ว่าย้ายไปท่องบทสุปฏิปันโน ก็คือว่าต้องย้ายไปทำทางสาวกภูมินั่นเอง ซึ่งหลวงปู่คำแสนตอบมาก็ควรจะแจ่มแจ้ง คือ ท่านจบแล้ว จบสาวกภูมิ
เป็นอันว่าหมดภารกิจสมความประสงค์ของคณะในการไปทัศนาจรครั้งนี้
คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน
ครูบาคำแสน อินทจักโก
ด้านหลังท่านคือ ครูบาชัยยะวง
เกร็ดประวัติ
หลวงปู่คำแสนใหญ่ แห่งวัดสวนดอก
จากหนังสือ อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ ตอนที่ ๑๒
โดย พ.ต.อ.(พิเศษ) อรรณพ กอวัฒนา
เรื่องราวในตอน “แถมพก” นี้ ขอเรียนว่าเป็นการเขียนถึง หลวงปู่คำแสนใหญ่ หรือ พระครูสุคันธศีล แห่งวัดสวนดอก, หลวงปู่ครูบาวงศ์ ฯ หรือ พระครูใบฎีกาชัยยะวงศา แห่งวัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม – ราชากระเหรี่ยง, หลวงปู่ครูบาธรรมชัย แห่งวัดทุ่งหลวง, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง, หลวงปู่บุดดา ถาวโร, และพระอาจารย์โกวิน แห่งสำนักสงฆ์ไผ่รื่นรมย์ ในแบบมวยหมู่เลยครับ
ไม่เช่นนั้น หนังสือเล่มนี้จะยาวเกินไปจนต้องแบ่งเป็นเล่ม ๑ และ เล่ม ๒ ไม่ทันกินครับ เพราะในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้ ผมจะต้องเข็นเขียนให้จบ ๑ เล่มตามที่ได้รับปากเอาไว้กับหลวงพ่อ ฯ ให้จงได้ เรื่องยาว ๆ เอาไว้คราวหน้าครับ คราวนี้จะเอาสั้น ๆ ที่พอจะนึกออกและเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับเรื่องในตอนก่อน ๆ ที่ได้เล่าไปแล้ว
มวยหมู่เรื่องแรกก็คือเรื่องของ “หลวงปู่คำแสนใหญ่” แห่งวัดสวนดอก อันว่าวัดสวนดอกนี้ ก็คือพระอารามหลวงซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนทางขึ้นดอยสุเทพนั่นเอง อยู่ไม่ห่างจากเชิงดอยเท่าใดนัก ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีพระพุทธลักษณะสวยสดงดงามมาก มีศาลาหลังใหญ่ศิลปะล้านนา ลวดลายติดกระจกที่ ท่านครูบาศรีวิชัย สร้างเอาไว้ ดูงดงามแบบเรียบง่าย
มีพระเจดีย์หรือสถูปบรรจุอัฐิของ ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งลานนาไทยสถิตย์อยู่ และเคยมี “หลวงปู่คำแสนใหญ่” ที่คนทั่วไปติดใจในยิ้มบริสุทธิ์ของท่าน จนให้สมญาว่าเป็น “ยิ้มพระอรหันต์” นั่นเอง
หลวงปู่ ฯ เป็นพระสุปฏิปันโนอีกองค์หนึ่งที่ หลวงพ่อ ฯ ได้บัญชาให้ผมไปขอสังฆาฏิของท่านเพื่อนำมาแจกจ่ายในงานครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของ หลวงปู่ปาน (วัดบางนมโค)
ในวันที่ผมไปปฏิบัติภารกิจนี้ไม่ได้นัดหมายกับท่านมาก่อน แต่ก็โชคดีที่ในวันนั้นไม่มีโยมไปรบกวน หลวงปู่ ฯ เลย ภารกิจดังกล่าวที่ หลวงพ่อ ฯ มอบหมายจึงสำเร็จเสร็จสิ้นไปอย่างรวดเร็วง่ายดายปราศจากอุปสรรคขัดข้องใด ๆ ทั้งปวง
และเมื่อภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมก็จะลากลับ แต่ หลวงปู่ ฯ ก็ได้เรียกเอาไว้ก่อน ท่านลุกขึ้นไปหยิบรูปหล่อเหมือนของท่านมาให้ผม ๑ องค์
ผมกราบเรียนว่า ผมมีเงินติดตัวมาไม่มาก ต้องเก็บเอาไว้ใช้ในการเดินทางเพราะยังมีภารกิจอื่น ๆ ที่จะต้องไปทำให้หลวงพ่อ ฯ ต่อไปอีก จึงมีไม่พอจะถวายเป็นค่าพระ ขอติดเอาไว้ก่อน งวดหน้าจึงจะนำมาถวายใช้คืน
ท่านบอกว่า ไม่ต้องใช้ ท่านให้ฟรี เมื่อผมรับเอาไว้แล้วท่านคาพระอยู่ในมือของท่านและในมือของผม เล่านิทานให้ผมฟัง ๑ เรื่อง ชื่อว่า “แม่ทัพแขนด้วน” โดยท่านคามือถือองค์พระอยู่อย่างนั้น กระทั่งได้เล่าจนจบแล้ว จึงได้ปล่อยพระออกจากมือให้ผมรับไป หลวงปู่ ฯ เล่าว่า
(ขออนุญาตเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาไทยภาคกลาง)
ครั้งหนึ่ง อตีตา กาเล นานมาแล้ว ยังมีเมืองอยู่ ๒ เมือง นับเป็นเมืองพี่เมืองน้อง ด้วยเจริญสัมพันธไมตรีเอื้ออารีย์กันด้วยดีมาโดยตลอด กษัตริย์ผู้ครองเมืองทั้งสองก็ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ปวงประชาทั้งสองนคราไปมาหาสู่สมานฉันท์สามัคคี ต่างจึงอยู่ดีกินดีไม่มีทุกข์ แบ่งปันความสุขกันถ้วนทั่ว ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาไม่ช้าไม่นาน สองปิยะกษัตริย์ก็ถึงกาลชราภาพ ราชบุตรราชธิดาต่างก็อภิเษกสมรสเป็นทองแผ่นเดียวกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่สองนครยิ่งขึ้นไปอีก
แต่ครั้นพอถึงยุคปลายรัชสมัย ไม่อาจจะทรงว่าราชการได้กระชับกระฉับกระเฉง เช่นเมื่อครั้งยังทรงอยู่ในวัยฉกรรจ์ ราชการเมือง การค้า การสัมพันธไมตรีนานัปการ ส่วนใหญ่จึงตกในปกครองของสองพระมเหสีเป็นที่ตั้ง เมื่อสองหญิงขึ้นครองเมือง วาระที่เคยรุ่งเรืองก็พลันทรุด ด้วยยื้อยุดแก่งแย่งรังแกแลเอารัดผลัดกันเอาเปรียบ และในที่สุด เมืองพี่เมืองน้องก็กลับกลายเป็นเมืองศัตรูคู่อาฆาต ประกาศสงครามเป็นยามไม่สงบ สองเมืองผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะแต่ไม่ละอบายมุข เกิดผู้แกร่งกล้าผลัดกันกอบกู้เอกราชมาโดยตลอด เป็นตำนานทหารกล้าแต่การค้าไม่เอาไหน เมืองเล็กเมืองน้อยในละแวกใกล้เคียงและที่อยู่ห่างไกลกลับกลายเป็นเจริญกว่า เพราะไม่บ้าทำสงคราม
จนในวันหนึ่ง เมืองน้องกล้าแข็งกว่าส่งแม่ทัพมาท้ารบท้าพนันเสี่ยงเอาบ้านเอาเมืองกัน แม่ทัพที่ส่งมาท้ารบก็เก่งกาจกล้าแข็งมีฝีมือในการรบยากที่ใครจะสู้ได้ เมืองพี่ก็ไม่ย่อท้อเพียรเสาะแสวงค้นคว้าหาผู้แกร่งและเก่งกล้าที่อาจสัปยุทธฉุดชัยชนะมาอยู่สู่เมืองตน จนได้มาพบประสบพระฤๅษีมุนีน้อย มีฤทธานุภาพอันเก่งกาจอาจปกครองได้ทั้งสามโลก อาสาเข้าต่อสู้กับแม่ทัพของเมืองน้องที่กำลังลำพองร้องท้าทายอยู่ในสนามรบ ด้วยจะสยบเมืองพี่นี้ไม่ยาก อันว่าพระฤๅษีมุนีน้อยแม้จะมีฤทธิ์สามารถสะกิดให้โลกสะเทือนได้โดยง่าย แต่กลับใช้สติปัญญาแปลงกายาเป็นชายแขนด้วน แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นแม่ทัพสติเฟื่องออกไปรบ....
(ตอนที่ หลวงปู่ ฯ ท่านเล่าเรื่องนี้ ท่านว่าเป็นโคลงกลอนภาษาไทยลานนานะครับ ฟังไพเราะคล้องจองกันมาก แต่ผมไม่อาจจำได้จึงได้นำมาเขียนใหม่เป็นภาษากลาง โดยพยายามจะเลียนแบบ แต่ดันออกมาเป็นยี่เกข้างถนนเลยครับ ได้แต่ความหมายเท่านั้นที่ครบถ้วน)
หลวงปู่ ฯ เล่าคาเรื่องไว้แค่นี้ แล้วก็กลับสอบถามผมว่า รู้ไหม ว่าทำไมพระฤาษีน้อยจึงแปลงร่างเป็นคนพิการ เป็นแม่ทัพแขนด้วนออกไปรบกับแม่ทัพของอีกฝ่ายหนึ่ง
ผมตอบว่า ไม่ทราบครับ ตอนนั้นยอมรับครับว่างงเอามาก ๆ แม้เชื่อว่าน่าจะมีความนัยแฝงอยู่ แต่ขณะนั้นเดาไม่ออกว่า ที่ท่านมาเล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร ผมจับต้นชนปลายไม่ถูก
หลวงปู่ ฯ ท่านเห็นผมยังงงยังไม่เข้าใจ ท่านก็กรุณาอธิบายต่อไปอีกว่า เป็นการเอาสติปัญญาเข้าต่อสู้กับการถูกกดขี่ข่มเหงรังแก โดยไม่ต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อ เพราะพอมีแม่ทัพแขนด้วนออกไปสู้รบด้วย แทนที่แม่ทัพของอีกฝ่ายจะเห็นว่าเป็นการง่ายที่จะเอาชนะ กลับต้องคิดอย่างหนัก โดยมีเหตุผลหลายประการดังนี้
๑. น่าสงสัยเหลือเกินว่า ทำไมจึงเอาคนแขนด้วนมาเป็นแม่ทัพ อาจเป็นกลอุบายก็ได้ หรือมิฉะนั้นเมืองหรือสิ่งที่ใช้เป็นเดิมพันในการรบนั้นไม่มีคุณค่าพอ (เมืองที่ปกครองและที่รบกันเพราะผู้หญิง)
๒. ชนะคนพิการไม่ทำให้มีชื่อเสียง กลับจะถูกกล่าวหาว่ารังแกคนพิการ
๓. ถ้าแพ้ยุ่งเลยครับ เพราะจะต้องอับอายมาก เนื่องจากแพ้คนพิการ รู้ถึงไหนอายถึงนั่น
แล้วในที่สุด แม่ทัพแขนดีก็ตัดสินใจกรีฑาทัพกลับครับ เลิกรบ
หลวงปู่ ฯ ท่านเน้นว่า คนฉลาดจะเอาชนะด้วยสติปัญญา ไม่เอาชนะด้วยกำลัง ด้วยชีวิตเลือดเนื้อของผู้อื่น เข้าใจนะ...
พอหลวงปู่ ฯ เล่าเรื่อง และกรุณาอรรถาธิบายให้เสร็จสิ้นจนหมดสงสัยแล้ว ผมรู้สึกตื้นตันและสะอื้นในอกเลยครับ ทั้งนี้เพราะนิทานที่ว่านี้ หลวงปู่ ฯ ได้นำมาเล่าเพื่อเตือนสติให้กับผมเป็นการเฉพาะตัว เพราะในขณะนั้น ผมมีความแค้นแน่นในหัวอกด้วยเรื่องส่วนตัวในครอบครัวของผมเอง เป็นเรื่องที่ลูกผู้ชายที่ยังเป็นปุถุชนคนไหนก็ไม่ทน
ผมคิดเอาไว้ในใจแล้วว่า เมื่อผมปฏิบัติภารกิจที่ หลวงพ่อ ฯ บัญชาให้เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นรายการล้างบัญชีระหว่างผมกับไอ้และอีสัตว์นรกทั้งหลายที่มันรวมหัวกันย่ำยีผมจนยับเยิน จะไม่มีใครหรืออะไรขัดขวางผมได้ แต่ครั้นพอได้ฟังหลวงปู่ ฯ เล่านิทานเรื่องแม่ทัพแขนด้วน ผมก็ได้สติ คู่กรณีของผมเป็นแค่ “แม่ทัพแขนด้วน” ผมชนะ โลกก็จะหมิ่นผมว่ารังแกคนพิการ ผมแพ้ยิ่งแย่ใหญ่ โลกจะเย้ยหยันว่าแพ้คนพิการ ไม่ได้ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง สาธุ...
ผมก้มลงกราบ หลวงปู่ ฯ ที่แทบเท้า น้ำตาไหลพราก อาการคั่งแค้นที่อัดแน่นอยู่ในใจไหลรินออกมาพร้อมกับน้ำตาจนหมดสิ้น จิตโปร่งโล่งอกโล่งใจบังเกิดเป็นปีติท่วมท้น
หลวงปู่ ฯ จูงผมเดินกลับมาที่กุฎีของท่าน กุลีกุจอสั่งพระเณรให้เอาน้ำชากาแฟ ขนมข้าวต้มมาเลี้ยงดู เมื่อได้ของแล้ว ก็สั่งพระเณรและคนอื่น ๆ ให้ออกไปให้หมด
ท่านย้ำถามผมอีกว่า เข้าใจแล้วใช่ไหม เมื่อเห็นผมพยักหน้ารับคำว่าครับ หลวงปู่ ฯ ก็หัวเราะ ฮา ฮา ฮา...ตามสไตล์ของท่าน ย้ำว่าให้เจริญพรหมวิหาร ๔ ให้ยึดหลักอภัยทานไว้ให้ดี อภัยทานนั้นเป็นทานที่ให้อานิสงค์สูงสุดและไม่มีทานอื่นใดมาเปรียบได้ แต่ทำใจให้กันยากเหลือเกิน
นิทานของหลวงปู่ ฯ ทำให้ผมเลิกล้มความตั้งใจที่จะฆ่าล้างโคตรคู่แค้นของผม กลับใจหันมาตั้งท่าอภัยทานลูกเดียว ทำได้มากบ้าง ทำได้น้อยบ้าง แต่ก็พยายามทำมาโดยตลอด จึงรอดมาทุกวันนี้
นิทานเรื่องนี้ฟังแล้วก็ไม่เห็นสนุกตรงไหน แต่ที่น่าแปลกก็คือ ความในใจของผมที่คิดจะทำลายล้างคู่อาฆาตให้แหลกลาญ โดยไม่ได้คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง หรือแม้แต่กฎแห่งกรรมก็ไม่นำพา ถือเอาตัวเองเป็นพญายมราช คิดจะตัดสินเรื่องบาปบุญคุณโทษเสียเองโดยไม่มีผู้ใดแต่งตั้งนั้น เป็นความในใจที่ไม่เคยแย้มพรายให้ใครทราบมาก่อน การตระเตรียมการก็ได้กระทำอย่างลับ ๆ ไม่เปิดเผย ผู้คนที่จะให้ช่วยกระทำการก็ทราบแต่เพียงว่า ให้เตรียมตัวจะมีงานให้ทำเท่านั้น
บางท่านอาจจะท้วงว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ผมว่าไม่ใช่บังเอิญ เพราะเมื่อผมสงบใจได้แล้ว หลวงปู่ ฯ ท่านได้กล่าวตำหนิออกมาตรง ๆ เลยว่าที่คิดจะไปฆ่าเขา (ระบุเลยว่าเป็นใคร) นั้นไม่ดี อย่าไปทำ ที่หลวงปู่ ฯ เห็นแล้วเขาน่าสงสาร เขาลงอเวจีมหานรกแน่ ๆ อยู่แล้ว อย่าให้เขาจูงลงไปด้วย เหมือนถูกคนพิการท้ารบ ก็รบด้วย
ท่านอธิบายอีกว่า ฤๅษีที่แปลงร่างเป็นแม่ทัพแขนด้วนนั้นมีปัญญาเป็นเลิศ แต่แม่ทัพของอีกฝ่ายหนึ่งที่ยอมเลิกทัพก็มีปัญญาเป็นเลิศเช่นเดียวกัน เพราะเกิดปัญญาเห็นว่าการทำลายล้างกันนั้นไม่เป็นคุณ ไม่เป็นสาระ แหม...น่าเสียดายนะครับที่หนังสือเล่มนี้ออกช้าไปหน่อย ถ้าพิมพ์ออกมาก่อน อาจจะไม่มีกรณีพฤษภา ฯ ทมิฬก็ได้
หลวงปู่คำแสนใหญ่ แห่งวัดสวนดอก เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีอาวุโสสูงสุดในเรื่องวัยวุฒิในขณะนั้น ซึ่งหลวงพ่อ ฯ ได้พาพวกเราไปนมัสการ (หลวงปู่สี ฯ นั้นวัยวุฒิสูงสุด แต่หลวงพ่อ ฯ ไม่ได้นำไปนมัสการอย่างเป็นกลุ่มก้อน)
ครูบาบุญทืม
(หลวงปู่ทืม)
ในงานศพของ หลวงปู่ทืม ฯ ที่วัดจามเทวี ที่หลวงพ่อ ฯ ของพวกเราเป็นแม่งานใหญ่ และได้มีทั้งพระทั้งผ้าขาว ทั้งพวกเราและชาวบ้านชาวกระเหรี่ยงไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ก็ได้เห็นกันถ้วนทั่วทุกตัวคนว่า หลวงปู่คำแสนใหญ่ นั้นได้แสดงคารวะและให้ความเคารพยกย่องต่อหลวงพ่อ ฯ ของพวกเรามากมายอย่างไรบ้าง ถ้าหลวงพ่อ ฯ ไม่มีของจริง ไม่ใช่พระจริงพระแท้ พระระดับหลวงปู่ ฯ คงไม่เสวนาด้วยหรอกครับ
และในงานศพดังกล่าว หลวงปู่ ฯ ท่านเดินตามหาผมให้ควั่กไป เมื่อได้พบแล้ว ท่านก็ล้วงของออกมาจากย่ามมอบให้ผม ปรากฏว่าเป็นเส้นเกศาที่ผมได้เคยขอ และเรียนท่านว่าอยากจะสร้างพระเครื่องประเภทมวยหมู่สักรุ่นหนึ่ง คือในองค์พระจะมีเส้นเกศาและสังฆาฏิของพระสุปฏิปันโนทุกองค์ ที่ผมรู้จักและเคยไปนมัสการมาผสมอยู่ ท่านก็สงเคราะห์ให้ แต่จนป่านนี้แล้วก็ยังไม่ได้สร้างเลยครับ คิดว่าจะเป็นภารกิจต่อจากหนังสือเล่มนี้แน่นอน....
คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน
เกร็ดประวัติ
หลวงตาเล่าถึงหลวงปู่คำแสนใหญ่
จากหนังสือ "เสียงจากถ้ำ (นารายณ์) ฉบับพิเศษ : บนเส้นทางพระโยคาวจร"
โดย หลวงตาวัชรชัย เจ้าอาวาสวัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)
โพสท์ใน เว็บวัดท่าขนุน กระดานสนทนาวัดท่าขนุน โดย เถรี เมื่อ 31-03-2009
พระครูสุคันธศีล (หลวงปู่คำแสน อินทจักโก)
วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
หลวงตาวัชรชัย
ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นแล้ว งานฉลองวัดหรือว่างานครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของหลวงปู่ปานเริ่มขึ้น ผู้เขียนกับผู้ร่วมงานแผนกต้อนรับพระสุปฏิปันโน ก็คอยจ้องดูว่า พระคุณหลวงปู่องค์ใดมา
ตอนนั้นผู้เขียนจัดอะไรเพลินอยู่จำไม่ได้ รู้สึกว่าใจตัวเองมีความเยือกเย็นสว่างไสวขึ้นมาอย่างฉับพลัน มันเป็นสุขอย่างบอกไม่ได้เอาเสียเลย และรู้สึกว่ากระแสแห่งความสุขสว่างไสวนั้นมาจากอีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถ วิ่งอ้อมไปดูก็เห็นพระภิกษุชราภาพรูปหนึ่ง ร่างกายสูงใหญ่ แต่เดินหลังค้อมลงมาบ้างแล้ว
ท่านผู้อ่านเอ๋ย เพียงเห็นท่าเดิน เห็นอิริยาบถคนแก่ของท่าน ใจผู้เขียนมันมีปีติล้นหลามออกมา ซ้ำเห็นยิ้มของท่าน ใจเราก็อาบชุ่มด้วยความสุข เห็นโยมผู้หญิงศิษย์หลวงพ่อคนหนึ่ง กำลังกราบแนบหน้ากับพื้นฝุ่นลูกรัง น้ำตาแกไหล ปากก็บ่นว่า
"หลวงปู่เจ้าขา หลวงปู่เจ้าขา..."
หลวงปู่องค์นั้นก็หันมายิ้ม ยิ้มสวยจริงๆ สวยออกมาจากใจเลย ท่านบอกว่า
"เออ...เออ...เป็นสุขเน้อ"
ท่านเอ๋ย ผู้เขียนไม่ทราบว่าหลวงปู่คำแสนใหญ่องค์นั้น(พระครูสุคันธศีล แห่งวัดสวนดอก เชียงใหม่) จะมีจิตตานุภาพเป็นอย่างไร แต่ผู้เขียนยอมคุกเข่าลงกราบ กราบด้วยความสุขใจ น้ำตาคงจะไหลออกมาด้วย ช่างเป็นบุญของเราจริงหนอ ที่ได้ประคองพระคุณท่านเข้ากุฏิรับรอง
คืนนั้น ที่หลวงปู่เพิ่งมาถึงนั่นเอง ก็มีผู้ปฏิบัติพระด้วยกันท่านหนึ่ง นั่งอยู่ตรงหน้าหลวงปู่คำแสนใหญ่ด้วยกันกับผู้เขียน ท่านผู้นั้นก็ชวนหลวงปู่สนทนาขึ้นมาว่า
"เขาลือกันว่าหลวงปู่ยิ้มสวย จนเรียกว่ารอยยิ้มพระอรหันต์ ทำอย่างไรจึงจะยิ้มได้เหมือนหลวงปู่ครับ?"
เขาพูดลอยๆ ออกมา ท่าทางก็ไม่ค่อยจะนุ่มนวลนัก ใจผู้เขียนก็ขุ่นขึ้นมาตามแบบน้ำใจของเราเอง แต่ว่าน้ำใจท่านไม่เหมือนเรา ท่านยิ้มจนหางตาย่นมากๆ แต่ว่าริมฝีปากกับดวงตาท่านมีอะไรหนอ...มีประกาย มีความงาม มีความสุขฉายออกมาพร้อมกับคำตอบ
"เอ้อ..ถ้าใจมันไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ มันก็ยิ้มสวยเองแหละเน้อ"
ท่านผู้อ่านที่รัก ผู้เขียนได้ยินเสียง ได้เห็นกระแสสายตา ความงามของมุมปากยิ้มขำๆ ปนใจดีมีสุข มันบอกไม่ถูกว่าเป็นสุขอย่างไร รู้แก่ใจตัวว่า "ท่านเอาใจของท่านออกมาพูด" ผู้เขียนเลยลืมขุ่นใจท่านผู้นั้นไปเลย
พอท่านผู้นั้นลุกออกจากกุฏิไปแล้ว ผู้เขียนก็ได้ใจจะเอาบ้าง กระหย่งเท้ากราบลงแทบเท้าหลวงปู่คำแสนใหญ่ ละล่ำละลักประจบประแจง
"หลวงปู่ครับ ผมอยากบวช"
"เอ้อ..อยากบวชจริง ก็ได้บวชเน้อ"
แหม..มันไม่หายคันหัวใจ
"บวชแล้ว ผมจะได้เป็นพระอรหันต์ไหมครับ?"
(เอาเข้านั่น)
"เอ้อ...ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติให้มันดี ปฏิบัติให้มันตรงทาง พอถึงปลายทางก็เป็นพระอรหันต์เองแหละเน้อ"
โอย..ไม่เอาใจกันบ้างเลย มันจะหายโรคคันได้อย่างไร
"หลวงปู่ครับ ผมขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอประทานโอวาทไว้ปฏิบัติครับ"
เท่านั้นแหละท่านผู้อ่านเอ๋ย หน้าที่ยิ้มสวยๆ เสียงที่อ่อนโยนเนิบนาบก็เปลี่ยนไป..เปลี่ยนแบบฟ้าร้องไม่ทันอุดหู
"ไอ้คนจัญไรนี่ พูดเอาอัปปรีย์เข้าตัวนี่"
ชี้หน้าตาลุกเลย !
"อย่าไปพูดจัญไรอย่างนี้กับพระองค์ไหนอีกเลย ครูบาอาจารย์ของตัวเองนะ เป็นพระอรหันต์องค์เอกของโลกในปลายศาสนา ๕,๐๐๐ ปี นี่จะหาใครมาเหมือนท่านได้ นี่ยังจะมีกะใจแส่หาอาจารย์อื่นอีกหรือ ไม่มีใครเขาจะสอนเราได้เหมือนอาจารย์เราสอนหรอก จำไว้นะ อย่าพูดอย่างนี้อีก ตัวเองนี่รีบไปกราบเท้าขอขมาท่านเสีย แล้วมงคลจึงจะเข้าถึงตัวได้ ไปรักษาศีล ๕ ให้ดี เอาไว้รับความดีที่ท่านมอบให้เถิด จำไว้นาลูกเอ๊ย"
ประโยคสุดท้ายเปล่งออกมา ประกายแววตารอยปากก็เปล่งความในใจออกมาอีก ผู้เขียนร้องไห้อยู่นาน ท่านลองเดาดู..ร้องทำไม ?
นับแต่เวลานาทีนั้น ใจผู้เขียนก็มีความปลื้มใจ ภูมิใจและสลดใจปะปนกันทุกครั้งที่นึกถึงพ่อและตัวเอง และสำหรับหลวงปู่คำแสนใหญ่ (ผู้ไม่พูดเอาใจเสียเลย) ผู้เขียนขอเทิดไว้ในความทรงจำด้วยความเคารพและขอบพระคุณสุดจะประมาณได้
รุ่งขึ้นก็สงบเสงี่ยมเจียมวาจาปรนนิบัติบูชาหลวงปู่ ตอนนี้หายคันแล้ว ชักไม่อยากกินข้าวกินน้ำ แต่ก็นึกได้ทันว่ามือพ่อมักจะถือตะพดหัวเลี่ยมเงินอยู่เสมอ แล้วก็ตีแรงด้วย แม่นยำด้วย..ก็เลยหยุด
พอถวายอาหารเช้าหลวงปู่เสร็จ ถ้าท่านประสงค์จะเจริญศรัทธาญาติโยมที่มาในงาน ก็จะประคองท่านออกไปนั่งอาสนะที่จัดไว้นอกกุฏิ
ท่านจะพักก็พากลับ เป็นอย่างนี้จนถึงวันที่สอง...วันรองสุดท้ายของงาน
พอถึงตีสาม ลูกศิษย์ของท่านที่มาด้วยกันก็มาปลุกผู้เขียน บอกว่าหลวงปู่ให้ขึ้นไปพบ ก็ขึ้นไปหาเข้าใจว่าท่านจะต้องการใช้สอย เห็นท่านนั่งขัดสมาธิสบายๆ อยู่ กวักมือเรียกให้เข้าไปใกล้แล้วบอกว่า
"หลวงปู่จะกลับก่อนตอนตีสี่เน้อ ทางวัดสวนดอก มีธุระให้คนมาแจ้งเมื่อตอนดึกนี่ บอกหลวงพ่อด้วยว่า อยู่ลาไม่ทันแล้ว"
แล้วท่านก็ดึงหัวผู้เขียนไปที่หน้าตักท่าน เอาดินสอมาเขียนขยุกขยิกลงบนกระหม่อมแล้วให้พรให้สมปรารถนา ดาราเจ้าน้ำตาก็แสดงบทถนัดอีกครั้ง ท่านจะลงอะไรบนหัวเรา เราคิดอย่างเดียวว่า ท่านได้สลักโอวาทและรอยยิ้มพระอรหันต์ลงในกระดูกศีรษะ ทะลุผ่านเข้าไปติดตรึงในดวงใจเราไม่มีวันจะลบออกได้ แล้วท่านก็ลงมาคอยรถ เขาถอยมารับที่หน้ากุฏิ
ตอนนั้นตีสี่พอได้ ก็ได้ยินเสียงหัวเราะได้เห็นพ่อเดินแกว่งไม้เท้าเข้ามาหา
"..(เรียกชื่อผู้เขียน) เอ๊ย !...เรียบร้อยดีไหมหว่าทางนี้ อ้าว นั่น ! พระอะไรมานั่งอยู่นี่ ข้าวของนี่จะเอาของเขาไปไหน เอ้า..ช่วยกันค้น ! หลวงปู่ขโมยอะไรเราไปบ้างหว่า..."
แล้วท่านก็แหวกย่ามหลวงปู่ เอาซองหนาปึ๊กยัดเข้าไป ทรุดกายลงกราบที่ตักหลวงปู่คำแสนใหญ่ ๑ ครั้ง
"ขอบคุณหลวงปู่ที่เมตตามางานผม ยังไม่ได้คุยกันเลยจะกลับเสียแล้ว นี่ผมนอนไม่หลับเดินเรื่อยเปื่อยมาพบพอดี ปีหน้าเมตตามาใหม่นะขอรับ"
ท่านผู้อ่านเอ๋ย...ภาพนั้น..หลวงปู่ยิ้มแบบเดิม พึมพำรับปากพ่อว่าจะมาอีกในปีหน้า พ่อหัวเราะเสียงดังตามแบบของพ่อ ดวงตาผู้เขียนพิมพ์ภาพนั้นไว้ แต่ใจคิดเตลิดไม่หยุด
พ่อกูเอ๋ย พ่อผู้รู้จบ พ่อผู้ปิดบังตัวเองไว้ ลูกผู้ตาบอดใจจัญไร ต้องให้พระคุณหลวงปู่คำแสนใหญ่มาชำระล้าง ให้มองเห็นพ่อชัดเจนเด่นกระจ่าง จนบัดนี้ลูกเดินอย่างมั่นใจไปบนเส้นทางพระโยคาวจร ตามรอยเท้าพ่อไป..จนตราบรอยเท้าสุดท้าย
โฆษณา