Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องวันวาน
•
ติดตาม
14 มิ.ย. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
"หมอบรัดเลย์" ผู้บุกเบิกการผ่าตัดและการพิมพ์ในสยาม
หมอบรัดเลย์ หรือ แดเนียล บีช แบรดลีย์ แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต (อังกฤษ: Dan Beach Bradley) หรือบางคนเขียนเป็น หมอบรัดเล หมอปลัดเล หมอปรัดเล หรือ หมอปรัดเลย์ เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ และยังเป็นผู้เริ่มต้นการพิมพ์อักษรไทยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทำการผ่าตัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
แดเนียล บีช บรัดเลย์
แดเนียล บีช บรัดเลย์ เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) เกิดเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ บุตรคนที่ห้าของนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ สำเร็จการแพทย์จาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สมรสกับภรรยาคนแรก เอมิลี รอยส์ บรัดเลย์ และภรรยาคนที่สอง ซาราห์ แบลคลี บรัดเลย์
แดเนียล บีช บรัดเลย์ ถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ ๓๑ พอดี โดยมาถึงพร้อมภรรยา เอมิลี เข้ามาทำงานในคณะกรรมธิการ พันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์) โดยอาศัยพักรวมกับครอบครัวของศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน หมอบรัดเลย์เปิดโอสถศาลาขึ้นเป็นที่แรกในสยาม เพื่อทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้ แต่เนื่องจากในย่านนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่ กิจการนี้จึงถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำให้ชาวจีนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลสยามได้ จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินคือนายกลิ่น ไม่ให้มิชชันนารีเช่าอีกต่อไป
ต่อมาจึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ที่เป็นย่านของชาวโปรตุเกส เช่าบ้านที่ปลูกให้ฝรั่งเช่าของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาส โดยหมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีดัดแปลงบ้านเช่าที่พักแห่งใหม่นี้เป็น โอสถศาลา เปิดทำการเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๓๗๘ ที่บ้านพักแห่งใหม่นี้ หมอบรัดเลย์ได้ทำการผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย โดยตัดแขนให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๓๘๐ พระภิกษุรูปนั้นประสบอุบัติเหตุจากกระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตก ในงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ ซึ่งประสบความสำเร็จดีจนเป็นที่เลื่องลือ เพราะแต่ก่อนคนไทยยังไม่รู้วิธีผ่าตัดร่างกายมนุษย์แล้วยังมีชีวิตอยู่ดี
การผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย
นอกจากนี้ มอบรัดเลย์ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตกับรัชกาลที่ ๓ เมื่อบรรดาอำมาตย์มุขมนตรีให้การสนับสนุนแล้ว จึงได้ออกหนังสือพิมพ์ขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก จนบางคนคิดว่า มันเป็นเพียงจดหมายเหตุธรรมดา ถึงกับมีคนเรียกว่า จดหมายเหตุอย่างสั้น แต่ออกพิมพ์ได้ปีเดียวก็เลิกไป เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน อันเนื่องมาจากการทำหนังสือพิมพ์แบบอเมริกัน ที่มีรูปแบบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เนื่องจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ก็คือรัฐบาล และเมื่อประสบปัญหาจากรัฐบาล ประกอบกับหมอมีปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับการจัดระบบเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทยและปัญหาครอบครัว จึงเลิกออกหนังสือพิมพ์ไประยะหนึ่ง แต่โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์แห่งนี้ยังได้พิมพ์เอกสารทางราชการที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ภาษาไทยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมดบรัดเล เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๒ จำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ ซึ่งถือว่า เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยาม
โรงพิมพ์หมดบรัดเลย์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงเปิดกว้างต่อการไหลบ่าของอารยธรรมตะวันตกมากขึ้น ทั้งยังทรงเคยเป็นสมาชิก บางกอกรีคอเดอ มาก่อน และเมื่อหมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์อีก ก็ทรงบอกรับเป็นสมาชิกอีก ครั้นได้พบว่าหมอบรัดเลย์เขียนบทความโจมตีพุทธศาสนาก็ทรงเขียนบทความตอบโต้ โดยมิทรงลงพระมหาปรมาภิไธย แต่คนทั่วไปก็ทราบดีกว่าบทความเหล่านั้นคือใคร แต่เนื่องจากหมอบรัดเลย์ยกศาสนาของตนและประเทศของตนข่มคนไทยจึงก่อให้เกิดความไม่พอใจกับคนไทยอย่างกว้างขวาง จึงทำให้การบอกรับสมาชิกไม่เพิ่มขึ้นทั้งสมาชิกเดิมก็ไม่จ่ายเงิน จึงยากที่จะยืนหยัดในสถานการณ์เช่นนี้
การพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ในสยามเริ่มต้นขึ้นเมื่อหมอบรัดเลย์เดินทางจากสิงคโปร์มาสยามและได้ซื้อตัวพิมพ์อักษรไทยและแท่นพิมพ์ไม้ติดตัวมาด้วยตัวพิมพ์และแท่นพิมพ์ไม้ชุดแรกที่เข้าสู่สยามพร้อมกับหมอบรัดเลย์ถูกนำมาตั้งเป็นโรงพิมพ์ขึ้นที่ตรอกกัปตันบุช อันเป็นที่ตั้งของคณะ เอ บี ซี เอฟ เอ็ม และได้ดำเนินการพิมพ์ใบปลิว หนังสือต่างๆในระยะแรก ตัวพิมพ์และแท่นพิมพ์ไม้นี้หมอบรัดเลย์กล่าวถึงไว้ว่า เป็นสิ่งที่อัปลักษณ์มาก
จนกระทั่งในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๓๗๙ โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์จึงได้รับแท่นพิมพ์ใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ยี่ห้อโอติส และสแตนดิ้ง ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์การพิมพ์สยาม เพราะทำให้ประสิทธิภาพในการพิมพ์สูงขึ้น และสวยงามขึ้นอย่างมาก หมอบรัดเลย์ได้ให้กำเนิดสิ่งพิมพ์ฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศคือ หนังสือบัญญัติสิบประการ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๓๗๙ หลังจากนั้นกิจการโรงพิมพ์ภายใต้การดูแลของหมอบรัดเลย์ก็เริ่มต้นพิมพ์เกี่ยวกับศาสนาออกมาอีกมากมาย
โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์
ต่อมาในปี ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นจำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ นับเป็นสิ่งตีพิมพ์เอกสารทางราชการฉบับแรกในประวัติศาสตร์สยาม และถือเป็นหมายสำคัญว่ายุคแห่งการคัดด้วยลายมือกำลังจะหมดไป เป็นการเริ่มต้นยุคสมัยแห่งการพิมพ์สยาม
ในที่สุดพัฒนาการของการพิมพ์ในสยามก็มาถึงจุดสำคัญที่สุดคือ หมอบรัดเลย์และคณะสามารถหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี ๒๓๘๔ ตัวพิมพ์ชุดนี้หมอบรัดเลย์ยังได้ทำขึ้นอีกเพื่อทูลเกล้าฯถวายเจ้าฟ้ามงกุฎ สำหรับใช้ที่โรงพิมพ์วัดบวรนิเวศวิหาร
ต่อมาในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๓๘๗ หมอบรัดเลย์ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยามขึ้นในชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ กิจการโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ได้พิมพ์หนังสือออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะในระยะหลังเมื่อหมอบรัดเลย์ได้รับพระราชทานที่ดินให้เช่าบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ งานพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่จำกัดวงเฉพาะงานทางด้านศาสนาอีกต่อไปแต่ได้พิมพ์หนังสือหลากหลายประเภท ทั้งนิยาย ประวัติศาสตร์ กฎหมาย วรรณคดี เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลที่สนใจทั่วไป
3
หนังสือจดหมายเหตุ "บางกอกรีคอเดอ"
เกือบ ๔๐ ปีที่อยู่ในสยาม หมอบรัดเลย์ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักตลอดเวลา มีโอกาสเดินทางกลับบ้านเกิดเพียงครั้งเดียว เป็นช่วงเวลาที่ เอมิลี บรัดเลย์ เสียชีวิตลงในสยาม การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้กินเวลา ๓ ปี คือระหว่างปี ๒๓๙๐-๒๓๙๓ เมื่อกลับมาสยามอีกครั้ง หมอบรัดเลย์ก็มาพร้อมกับภรรยาคนใหม่ คือซาราห์ แบลชลี หลังจากนั้นก็ลงหลักปักฐานอยู่ในสยามจนเสียชีวิตที่นี่ทั้งสองคน หมอบรัดเลย์มีบุตรกับเอมิลี ๕ คน และกับซาราห์ ๕ คนหมอบรัดเลย์มีชีวิตอยู่ในสยามผ่านเวลามาถึง ๓ แผ่นดิน คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ รัชการลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ โดยที่ไม่มีโอกาสร่ำรวยและสุขสบายเลย
หมอบรัดเลย์เสียชีวิตลงในปี ๒๔๑๖ ขณะมีอายุได้ ๖๙ ปี อนุสรณ์สถานของครอบครัวบรัดเลย์อยู่ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง แต่สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหมอบรัดเลย์ต่อชาวไทยก็คือการพิมพ์และการแพทย์ แม้ว่าหมอบรัดเลย์จะไม่ได้รับการยกย่องให้เป็น"บิดา"ทั้งทางด้านการพิมพ์และการแพทย์แผนใหม่ของไทย แต่สิ่งที่หมอบรัดเลย์ได้ริเริ่มบุกเบิกไว้เป็นคนแรกนั้นก็ไม่อาจลบเลือน
หลุมศพชองแดเนียล บีช บรัดเลย์
Reference :
-
https://th.wikipedia.org/wiki/แดน_บีช_บรัดเลย์
อย่าลืมกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขียนบทความต่อๆ ไปด้วยนะครับ แล้วก็ถ้าอยากให้เขียนเรื่องอะไร comment ไว้ได้เลยครับ 🙏🙏🙏
1 บันทึก
1
2
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย