24 มิ.ย. 2021 เวลา 12:09 • การศึกษา
อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) คืออะไร ?
สำคัญกับนักลงทุนอย่างไร
อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ โดย “สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies)” ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
ซึ่งในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (Tris Rating) และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating)
1
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเปรียบเสมือนนักชิมหรือผู้ตรวจสอบคุณภาพของอาหารก่อนจะถึงมือผู้บริโภค (นักลงทุน) ถ้าอาหารชนิดนั้นมีคุณภาพดีและปลอดภัยจะให้เกรด AAA จนไปถึงคุณภาพต่ำจะให้เกรด D
ตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ (ดังภาพ)
1
อันดับความน่าเชื่อถือจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่
📌 Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-)
📌 Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB+- ลงไปจนถึง D)
Cr. ThaiBMA
โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตจะวิเคราะห์จากผลการดำเนินงานและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งนักลงทุนจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตตลอดระยะเวลาการลงทุน
ตัวอย่างบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น CPALL โดย Fitch Rating ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จาก A เป็น A- เนื่องจากมองว่าบริษัทอาจมีอัตราส่วนหนี้ในอีก 2 ปีข้างหน้าสูงเกินคาด ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงบริษัทลูกอย่าง MACRO ก็ถูกปรับลดอันดับเช่นเดียวกัน แต่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
ทั้งนี้ การปรับลดอันดับเรตติ้ง คือ การที่ผู้จัดอันดับเรตติ้ง มองว่าบริษัทนั้นๆ อาจมีความเสี่ยงทางธุรกิจ โครงสร้างร้ายได้ การเติบโตในอนาคต รวมทั้งความั่นคงทางการเงินลดลง เพื่อให้ผู้ซื้อตราสารหนี้รู้ว่าบริษัทที่เรากำลังจะตัดสินใจลงทุนนั้นมีจุดที่ต้องระวัง
อันดับความน่าเชื่อถือเป็นลักษณะที่สำคัญของตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่ถือเป็นตราสารหนี้ที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิตเนื่องจากรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในประเทศ จากการที่รัฐบาลมีอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อมาใช้คืนหนี้นั่นเอง
ดังนั้นพันธบัตรรัฐบาลจึงถือเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk free) หากรัฐบาลต้องการออกตราสารไปขายต่างประเทศก็จะจัดอันดับเครดิตเช่นกัน
💦.....เพราะฉะนั้นสำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน การจัดอันดับเครดิตจึงเป็นข้อมูลหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาว่าผู้ออกตราสาร ซึ่งมีสถานะเป็นลูกหนี้จะมีความสามารถในการจ่ายคืนมากน้อยแค่ไหนค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
สามารถเยี่ยมชมเราผ่านช่องทางอื่นตามลิ้งข้างล่างนี้ค่ะ :
ขอบคุณกำลังใจและการติดตามนะคะ ทุกการอ่าน ไลค์ แชร์ หรือคอมเม้นท์มีความหมายเสมอค่ะ
❤❤🙏🙏❤❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา