13 มิ.ย. 2021 เวลา 13:46 • ประวัติศาสตร์
พลิกตำราอ่านคนพิเคราะห์ใจ
ซุนวู
ตำราเก่าแก่ที่สุดเห็นจะไม่ใครเกิน “ลิ่วเทา” หรือ 6 ยุทธวิธี แต่งโดย เจียงไท่กง หรือ เจียงจื่อหยา หรือ เกียงจูแหย หรือ เก่งสง (ที่ริชชี่ เคยเขียนมาก่อน)ผู้เป็นอาจารย์ของ เจ้าผู้ครองนคร โจวเหวินหวัง หรือจิวบุนอ๋อง ต้นราชวงศ์ โจว แต่งสมัย 1200 ก.ค.ศ. คือตำราพิชัยสงครามอันลือลั่น อันแบ่งเป็น 6 หมวด หมวดแรก เหวินเทา คือตำราคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นขุนนางหรือเลื่อนตำแหน่ง (สมัยนั้นนอกจากตำราพิชัยสงครามแล้วยังมีตำราดูโหงวเฮ้ง ลายมือ และการเสี่ยงทายที่เอามาจากการเผากระดูกสะบักหรือเผากระดองเต่าเรียกว่า การทำนายกระดูกสะบัก scapulimancy หรือ คำทำนายเผากระดูก ซึ่งเรียกว่า” จานปู่” ) ตำรา”ลิ่วเทา” ยังมีอีก 5 หมวดคือ อู่เทา หลงเทา หู่เทา ป้าเทา และเฉียนเทา เป็นพิชัยยุทธ ทั้งหมด เชื่อว่าตำรานี้ตกทอดมาที่เตียวเหลียง หรือ จางเหลียงแม่ทัพฮั่นเกาจู่ หลิวปัง ปรากฏชื่อในวรรณกรรม “ ไซ่ฮั่น “ ในวรรณกรรม”ฮ่องสิน” ได้แต่งให้เก่งสงเป็นเซียน มีอายุถึง 139 ปี
2
ใน”เหวินเทา” มีการทดสอบอำมาตย์ กับความลุ่มหลงในสุรา พาชี นารี กีฬาบัตร และเงินทอง มีการทดสอบการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปฏิภาณ ไหวพริบ หลอกล่อให้โกรธ ระแวง เพื่อทดลองดูใจ ล่อให้ตำแหน่ง หรือเลื่อนตำแหน่ง แล้วส่งสายลับไปสอดแนม ดูความประพฤติ และทดสอบความมีน้ำใจอ่อนน้อมถ่อมตนเสียสละและการมีค่านิยมกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณเป็นต้น เป็นการอ่านลูกน้องและผู้ร่วมงาน และเจ้านาย
ตำราพิชัยสงครามโบราณอีกฉบับซึ่งเก่ารองลงมาคือ ของซุนวู มีการรวบรวมหลักการบริหาร กลยุทธ 36 กลยุทธซึ่งรู้จักกันดี และกลายเป็นตำราสอนนักเรียนนายร้อยที่เวสต์ป๊อยท์ ส่วนตำราพิชัยสงครามของเง่าคี้ หรืออู๋ฉี ซึ่งบางคนอ้างว่าเหนือกว่าของซุนวูโดยเฉพาะในการสอนการอ่านแม่ทัพศัตรู และอ่านการจัดทัพของศัตรูให้ออกนั้นตามหลังมาติดๆ
ซุนวูถือเป็นนักยุทธศาสตร์คนแรกที่ใช้ภูมิประเทศมาประกอบกับการรบ ผู้ที่ใช้วิชาดึงเอาภูมิประเทศมาร่วมรบอีกคนคือ ขงเบ้ง ทั้งเรียกน้ำเรียกลมเรียกฝน ตั้งหลักในชัยภูมิปลอดภัยไว้ก่อน และสร้างป้อมชัยปราการ ดูค่ายคูประตูหอรบ ตลอดจนการวางค่ายกล และการวางกำลังในภูมิประเทศให้ศัตรูถูกล่อไปติดกับ มีความเก่งกาจในเรื่องวิธีการรบ มักใช้ไฟเผด็จศึก ความเจ้าเล่ห์เพทุบายต้องยกให้ขงเบ้ง แม้ตายไปแล้วก็ยังหลอกสุมาอี้ได้ รวมทั้งการสั่งการก่อนตายด้วยการเขียนหนังสือ ว่าอุยเอี๋ยนจะกบฎ เมื่อขงเบ้งตายแล้วให้เกียงอุยอย่าออกรบ แต่ให้ท้าอุยเอี๋ยน แหงนหน้าร้องท้าฟ้าสามครั้ง ว่า”มันผู้ใดจะฆ่าข้าได้...” ซึ่งแม้แต่เกียงอุยเองก็มิได้เข้าใจในคำสั่งนั้น ขงเบ้งแต่งตำราพิชัยสงครามหลายเล่มอยู่ที่รู้ว่าแต่งเองคือ “ ฎีกาออกศึก” และ “ จดหมายถึงครอบครัว” ส่วน”ตำรา พิชัยสงครามขงเบ้ง”ไม่แน่ว่าจะเป็นเกียงอุยรวบรวมมาหรือไม่
ส่วนเง่าคี้นั้นเล่าถือเป็นเอกทัตคะด้านการอ่านแม่ทัพฝ่ายศัตรูและพร้อมจะบุกตะลุยถ้าค้นพบจุดอ่อน แต่ไม่ลืมที่จะให้คนอื่นอ่านตัวเองในทางที่ดีไว้ด้วย เช่นที่ซือหม่าเฉียนเขียนไว้ใน “ สือจี้” ว่าเง่าคี้ใช้ปากดูดบาดแผลให้กับทหารที่ได้รับบาดเจ็บแถมยังฉลาดใส่ไว้ในพงศาวดาร เง่าคี้เขียนตำราพิชัยสงคราม 48 บท แต่เหลือเพียง หก กับบทสนทนาการดูกองทัพและแม่ทัพกับ เว่ยอู่โหว ใน”สือจี้”ได้บรรยายไว้ว่าการจะดูความสามารถของแม่ทัพฝ่ายศัตรูให้ดูการจัดทัพและความเป็นระเบียบของกองทัพ และเน้นการอุปนิสัยของแม่ทัพเป็นหลักเช่น สามารถติดสินบนได้ไหม ขี้โมโหไหม เป็นต้น ถือหลักว่า”ถ้าไม่อ่านแม่ทัพให้ขาด มิอาจทำศึกได้”
การสร้างคนและพิเคราะห์คนของ เหลาจื่อ-ขงจื่อ ก็เป็นคัมภีร์ที่คนจีนอ่านจนขึ้นใจ หนังสือปรัชญาของเหลาจื่อ-ขงจื่อ ถือเป็นคัมภีร์สอนมนุษยชาติ ถึงแม้จะไม่เป็นคัมภีร์พิชัยสงครามเช่นเดียวกันกับของเก่งสง ซุนวู และเง่าคี้ เหลาจื่อเจ้าลัทธิเต๋า นิพนธ์ “ เต๋าเต๋อจิ้ง “ ( เขียน 543 ก.ค.ศ. ช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ) ส่วนขงจื่อ ( ตาย 479 ก.ค.ศ.) เขียน คัมภีร์ อี้จิง สั่งสอนให้คนเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน เชื่อฟังบิดามารดา บูชาเทวดาและบรรพบุรุษ ของขงจื่อมีทั้งหมด 5 เล่ม เล่มแรกคือ ประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว อันมีชื่อก้องโลก และเล่มต่อๆไปได้แก่ ซื่อจิง คือเพลงพื้นเมือง ซู่จิง เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ และรวบรวมคำกล่าว อี้จิง คือ คัมภีร์โหร ป๊ากั๋ว คุณธรรม และหลี่จี้ คือพิธีกรรมต่างๆ ใช้เป็นตำราสอบจอหงวนรับราชการ
และในที่สุดคือการดูและพิเคราะห์ ฮ่องเต้โดยทั่วไปฮ่องเต้ไม่ค่อยมีความรู้ในการพิเคราะห์คน ต้องอาศัยที่ปรึกษา หรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยตัดสินใจ ฮ่องเต้จีนจึงมักสวมหมวกที่เรียกว่า “ เหมี่ยนกวน “ ใส่ชุดมังกรที่เรียกว่า “เหมี่ยนฝู” และมีแผ่นไม้ประกบข้างบนหมวก ที่เรียกว่า “เหมี่ยนป่าน” ที่มีสายห้อยประดับมุก และ หยก 5 สี 12 เส้น และ 12 เม็ด เพื่อเตือนตัวเองว่าตนเป็นโอรสแห่งสวรรค์ผู้ถืออาณัติบัญชาใ้ห้มาปกครองมนุษย์ต้องปกปิดอารมณ์ และกรองคำพูดป้องกันการเพ็ดทูลที่ขาดคุณธรรม เรียกม่านนี้ว่า “ ยวนหลิว “ หรือ “ หลิว “ และมี “ โถวอิ่น” หรือ “ ค่วง” คือที่ประกบหูทำด้วยฝ้ายสีเหลืองปิดหูดึงลงมาจากปิ่นเพื่อไม่ให้หูเบา ให้ฟังและไม่ให้ฟัง ไม่ให้ฟังความเล็กความน้อยแต่ให้ฟังแต่เสียงร้องเรียนซึ่งไม่มีใครได้ยิน และต้องไม่ทรงหลงเชื่อโดยง่าย
จักรพรรดิ หมิงเสินจง หรือว่านลี่
การดูลักษณะของโอรสแห่งสวรรค์ ในหนังสือ “ สือปาสื่อเลี่ย” ได้บรรยายโหงวเฮ้งและลักษณะมหาบุรุษ ของหลิวปังไว้เป็นยอดมนุษย์ ว่า มีจมูกโด่ง สองตาต่ำกว่าใบหู ลักษณะหน้าเหมือนมังกร มารดาคือนาง หลิวอ่าว เล่าว่า พบเทพมังกรฟ้าที่ริมน้ำและตั้งครรภ์ออกมาเป็น หลิวปัง มีหมอกเมฆปกคลุมตัวและอยู่บนศีรษะของหลิวปังตลอดเวลาไม่ว่าไปที่ใด เหมือนภาพมังกรซ่อนเมฆ มีไฝ ( หรือปาน )ที่ก้นข้างซ้าย 72 เม็ด ( ถ้าอ่านเรื่อง นอสตราดามุส ของริชชี่ ก็จะทราบว่า ใช้ตำราเดียวกัน คือดูไฝปานที่ก้นเป็นหลัก )
จะเห็นได้ว่าโอรสแห่งสวรรค์ มักจะมีลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น โจโฉ หรือ เฉาเช่า ได้รับการทำนายจาก เฉียวสวน ซินแสว่าเป็นเอกบุรุษ รูปร่างสูงใหญ่ (สามก๊กว่าสูงถึงเจ็ดเชี้ยะ ลองคิดดู หนึ่ง เชี้ยะเท่ากับ 33.33 ซม ) มีนัยน์ตาแข็งกร้าว ตามีเพียงชั้นเดียวและมองใครไม่กระพริบ แสดงออกถึงความคิดที่ ครุ่นคิดคำนวณ ดีดยี่ต๊อกตลอดเวลา ส่วน หลิวเป้ย หรือเล่าปี่ มีหูยาวถึงบ่า มือยาวถึงเข่า ในราชวงศ์ ซีจิ้น หลังราชวงศ์ฮั่น ฮ่องเต้ ซื่อจู่อู่ตี้ ก็มีมือยาวเลยเข่าเหมือนกัน เรียกว่าโหงวเฮ้งลิง ถ้าหน้าคล้ายลิงยิ่งดี หยางเจียน ต้นราชวงศ์ สุย บิดาสุยหยางตี้ แห่งลำน้ำเลือด มีโหนกเขาสองข้างผุดที่ศีรษะ คล้ายเขามังกร และตามตัวมีเกล็ด ( โมเสส ที่ไมเคิลแองเจโล ปั้นก็มีเขาเช่นกัน) ส่วน ฉีไท่จู่เกา ผู้สืบสกุลจาก ซู่เหอไจเซี่ยง มหาอำมาตย์ในราชวงศ์ ฮั่น สมัยหลิวปัง มีปานแดง สุริยัน จันทราที่ไหล่ เป็นต้น ทั้งนี้ยัง ไม่นับ จอมจักรพรรดิจิ๋นซี ที่ว่ามีเสียงดังดุดันดังหมาไน จมูกโด่งและดวงตายาวเรียวดูแหลมคมโหดเหี้ยมนัก
จิ๋นซีเป็นเหลนทวดของฉินจาวเซี่ยงหวังผู้มีชื่อเสียงที่สุดและปกครองฉินนานที่สุด และเป็นลูกคุณชายอี้เหริน หรือจื๋อฉู่ ผู้เป็นตัวประกันแคว้นฉินต่อแคว้นจ้าวว่าฉินจะไม่รุกรานจ้าว จื๋อฉู่เป็นโอรสองค์ที่สิบกว่าๆ ของ อันกั๋ว โอรสองค์ที่สองของ ฉินจาวเซี่ยงหวัง ผู้มีแม่ทัพนามกระเดื่องโลกจอมโหด คือ ไป๋ฉี สมญาคนฆ่าสัตว์ ผู้ฝังเชลยทหารแคว้นจ้าว 4 แสนคน ทั้งเป็นที่ยุทธการฉางผิง ทำให้แคว้นจ้าวกลายเป็นเมืองแม่ม่ายในบัดดล สิ้นชาติแต่นั้นมา ซึ่งบัดนี้ยังคงมีทรากกระดูกศพปรากฏให้เห็น แม้เวลาจะผ่านมาถึง 2,286 ปี
การที่หลี่ปู้เหว่ยดูจื๋อฉู่ออกว่าจะเป็นกษัตริย์ถึงขนาดยกภรรยาน้อยให้จื๋อฉู่ และวางแผนแอบให้นางจ้าวจีตั้งครรภ์ “ อิ่งเจิ้ง “ ซึ่งต่อมาคือจิ๋นซี เพื่อรอให้เป็นฮ่องเต้ต่อไป ก่อนส่งมอบ ถือว่าเป็นการดูลึกถึงสี่ชั้น กินหมากสี่ตาเข้าฮอส และมั่นใจแบบที่ไม่มีใครเทียบเทียมได้ ว่าจ้าวจีจะมีบุตรชาย และว่าตนเองจะมีชีวิตยืนยาวสามารถทำให้จื๋อฉู่ ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ในเร็ววัน รวมทั้งน่าจะวางแผนกำจัดศัตรูจื๋อฉู่ ในราชสำนักทั้งหมด และในที่สุดจำจะฆ่าเพื่อนรักให้ตักษัย โดยกำจัด จื๋อฉู่เองให้ตายตกไปตามกันเพื่อเปิดทางให้ลูกตนเองอันเกิดจากนางจ้าวจีขึ้นสู่ราชบัลลังก์ และตนนั่งว่าราชการอยู่ข้างหลังในฐานะ พระราชบิดาบุญธรรม ดังนั้นหลี่ปู้เหว่ยในความเห็นของ ริชชี่ จึงน่าจะเป็นสุดยอดจอมตำราผู้อ่านคนพิเคราะห์ใจตัวจริง
บทความนี้จึงต้องขอคำนับ หลี่ปู้เหว่ย อีกหนึ่งจอก ที่เป็นจอมเฒ่าเจ้าอุบายและหมอดูผู้เอกอุหลอกคน สามพันคนมาแต่งตำราให้ตนเองโดยไม่ต้องออกแรงเขียนเองอย่างคนบางคน(เช่นริชชี่ )ตำรา “ หลี่ว์ซื่อชุนชิว” นี้ มีตัวหนังสือถึงสองแสนตัว รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ วิธีพิเคราะห์คนไว้ครบครัน
สุดท้ายนี้ขอจบลงด้วย คำตบท้าย ในคัมภีร์ “ หลี่ว์ซื่อชุนชิว” นี้
“ อันการทหารนั้นให้ความสำคัญที่”การไม่อาจเอาชนะได้”
เงื่อนไขที่ทำให้ไม่อาจเอาชนะได้ อยู่ที่ฝ่ายเรา
เงื่อนไขที่ทำให้เอาชนะได้อยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม”
หลี่ปู้เหว่ย
ขอขอบคุณข้อมูล
คัมภีร์ หลี่ว์ซื่อชุนชิว หลักการบริหารการปกครอง โดย ทองแถม นาถจำนง
ยุทธวิธี พิเคราะห์ตน โดย สวี่เจ๋อเหยียน ธีรลักษณ์ ธาวนพงษ์ แปล
โฆษณา