14 มิ.ย. 2021 เวลา 08:30 • ปรัชญา
“ความสุขที่แท้จริง” ฉบับ “อริสโตเติล” ปรัชญาทรงอิทธิพลที่ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด
เราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร
เป็นคำถามที่เหล่านักปรัชญาทั้งโซเครตีส เพลโต หรือแม้แต่อริสโตเติลเองก็ต้องการคำตอบ (อาจไม่ใช่แค่นักปราชญ์ แต่เป็นมนุษย์ทุกคนด้วยซ้ำ) ซึ่งคำตอบของอริสโตเติลเป็นการสรุปความง่ายๆ นั่นคือการแสวงหาความสุข
อริสโตเติล ไม่ได้มองว่าความสุขคือความเบิกบานใจในชั่วครู่ และเขาคิดว่าเด็กเล็กไม่อาจมี “ความสุข” ซึ่งบางคนอาจไม่เห็นด้วย บางคนมองว่าวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่มี “ความสุข” สำหรับอริสโตเติลแล้ว วัยเด็กคือช่วงที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และต้องอาศัยระยะเวลายาวนานกว่านั้น
1
การแสวงหาความสุขในที่นี้ไม่ใช่การออกไปข้างนอกแสวงหาความสำราญ หรือนึกถึงวิธีที่จะทำให้สำราญเบิกบานใจอย่างเช่นวันหยุดในต่างแดน หรือใช้เวลาร่วมกับมิตรสหาย อริสโตเติลมองว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนผสมหนึ่งของ “ชีวิตที่ดี” แต่หากได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้เพียงลำพังก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นชีวิตที่ดี
1
สิ่งที่อริสโตเติลให้คำจำกัดความคือคำว่า eudaimonia (อ่านว่า ยู-ได-โม-เมีย /you-die-moania) ในภาษากรีก คำว่า eu หมายถึง “สุขสบาย” หรือ “ดี” ส่วน daimonia สื่อในเชิง “จิตวิญญาณ” ไนเจล วอร์เบอร์ตัน อธิบายว่าคำดังกล่าวบางครั้งมีความหมายว่า “ความรุ่งเรือง” (ไม่ได้หมายถึงความมั่งคั่งทางทรัพย์สิน) หรือ “ความสำเร็จ” มากกว่าที่จะเป็นผัสสะที่รู้สึกได้จากการเห็นชัยชนะของทีมกีฬาที่เชียร์อยู่ กล่าวคือ ความสุขของอริสโตเติล เป็นสภาวะภายในจิต ซึ่งจะได้มาจากการใช้ชีวิตด้วยวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด
3
ยูไดโมเนีย คือสภาวะที่เป็นมากกว่าความเบิกบานใจ หรือห้วงแห่งความสำราญชั่วครู่ อาจเป็นสิ่งที่เราสามารถตัดสินใจที่ลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเราอาจจะรดน้ำดอกไม้ที่เราปลูกหรือไม่รดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการกระทำย่อมต่างกัน อริสโตเติลเชื่อในธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมีวิธีการดำรงชีวิตที่เหมาะสมตามแต่ละบุคคล
4
อริสโตเติลเชื่อว่า รูปแบบชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์คือ “ชีวิตที่ได้ใช้อำนาจในการใช้เหตุผล” ความสุข (ในที่นี้) คือความสำเร็จโดยรวมในชีวิต
3
ยูไดโมเนีย ที่อริสโตเติลนิยาม คือภาวะความสุขที่ไม่ได้อยู่ใต้จิตสำนึกหรือเจตนารมณ์ของผู้ใด เป็นสิ่งที่เรากำหนด หรือสิ่งที่เราเลือก
“ความสุข” สำหรับอริสโตเติลยังไม่ได้เป็นแค่การพัฒนาตัวเอง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนบุคคล แต่เขาเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง ยูไดโมเนียจะเกิดขึ้นเมื่อชีวิตมีความสัมพันธ์กับสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น การปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบตัวในรัฐการเมืองที่มีระเบียบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสุข
1
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของอริสโตเติลยังมีข้อบกพร่องที่น่าเสียดายเช่นกัน เมื่อแนวคิดของอริสโตเติลมักถูกมองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง คนก็มักคิดว่าเพียงพอแล้วที่จะเชื่อ แต่อริสโตเติล ก็ยังมีความเชื่อที่ไม่ตรงความจริงอยู่ เมื่อเขามองว่า หากปล่อยไม้และเหล็กตกลงจากที่สูงพร้อมกัน เหล็กจะหล่นลงมาเร็วกว่าเพราะน้ำหนักมากกว่า แต่ในความจริงแล้ววัตถุทั้งคู่หล่นด้วยความเร็วเท่ากัน
2
โฆษณา