15 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อนาคตข้างหน้า “เศรษฐกิจไทย” เหมือน “เดินทรงตัวบนเส้นเชือก”
📌 นับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่จากการแพร่ระบาดระลอกที่ 3
ที่มีความรุนแรงกว่ารอบที่ผ่านๆ อย่างมาก โดยมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังคงอยู่ในระดับที่สูงจนถึงตอนนี้ โดยรัฐบาลไทยก็กำลังพิจารณาหาทางออกว่าควรเปิดประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจ หรือควรปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่อไป
📌 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศไทยพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในขณะนี้การเดินทางระหว่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังคงซบเซา Bnomics เชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ดีคือการฉีดวัคซีน เพื่อสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" (herd immunity) ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
📌 แผนการฉีดวัคซีนในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น
โดยในขณะนี้มีประชากรไทยมากกว่าร้อยละ 5 ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นสะท้อนจากราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย
📌 รัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายการฉีดวัคซีนที่ 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
หากบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะสามารถเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่มีตัวเลขการฉีดวัคซีนมาก ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้แล้ว
📌 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแผนจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ที่จะเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยในขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีการฉีดวัคซีนให้กับคนในจังหวัดไปแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 60 ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าใกล้จะถึงเป้าหมายที่วางไว้ที่ร้อยละ 70 ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าจังหวัดนั้นมีความสะดวกสบายขึ้นเนื่องจากไม่ต้องมีการกักตัว
📌 แม้จะมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่าง Phuket Sandbox
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ตัวเลขการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กลับถูกปรับลดลงจาก 3 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน หรือน้อยกว่านั้น นี่อาจเป็นเพราะหลายๆ ประเทศเช่น ประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป ยังไม่แนะนำให้พลเมืองของตนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และยังต้องมีการกักตัวหากต้องเดินทางกลับไปประเทศนั้นๆ
📌 ปัจจัยที่คาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ได้คือ “การส่งออก”
เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกไทยในปี 2564 นี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงส่งออกได้ดี ส่วนผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ก็ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
📌 แม้ในตอนนี้ประเทศไทยจะยังต้องต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่
แต่แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจก็ดูดีขึ้นจากปีที่แล้ว และถ้าหากการฉีดวัคซีนเป็นไปได้อย่างราบรื่น ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ก็คาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนการระบาดภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญต่อไปแม้การแพร่ระบาดจะจบลง นั่นก็คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และปัญหาความไม่เท่าเทียบกันของรายได้
📌 ณ ขณะนี้หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงร้อยละ 90 ของ GDP
ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยภาระหนี้ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในสังคม ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่มีการเข้ามาควบคุมดูแล ปัญหานี้อาจจะกลายเป็นดั่งระเบิดเวลาสำหรับเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
📌 โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ น่าจะสามารถรับมือกับโรคระบาดนี้ได้ในไม่ช้า
แนวโน้มโดยรวมของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวต่อไปได้ ในตอนนี้รัฐบาลควรให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องจากพวกเขาได้รับผลกระทบซ้ำเติมเข้าไปอีกหลังมีการแพร่ระบาดในครั้งใหม่
➡️ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/3gCZvJM
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ฉบับวันที่ 14 มิ.ย. 64
ผู้เขียน: บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา