15 มิ.ย. 2021 เวลา 10:37 • กีฬา
#BehindTheNews | เศรษฐกิจ กับ การถ่ายทอดสดกีฬา
สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์แห่งความสุขของคนไทยที่ได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอล UEFA EURO 2020 จากการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่มีเวลาเพียงแค่ 2 วันก่อนการถ่ายทอดสดจะเริ่มขึ้น จนคนไทยเกือบวืด ไม่ได้ชมการถ่ายทอดสดนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ชมฟุตบอล EURO มานานหลายปี
แต่กรณีของ EURO 2020 ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อภาคเอกชน ไม่มีใครกล้าเสี่ยง ลงเงินซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬา
กรณีแรกสุดที่คนไทยหลายคนจำได้ดี คือ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2018 ครั้งนั้นไม่มีสื่อเจ้าไหนซื้อลิขสิทธิ์ไว้เลย รัฐบาล คสช. ในเวลานั้น จึงต้องออกมาขอความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชน ร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดครั้งนี้ จนได้ภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดทั้งหมด 9 ราย จำนวนเงินรวมมากถึง 1,400 ล้านบาท
กรณีถัดมา คือ การถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก ซึ่งปกติ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) จะเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อถ่ายทอดสด แต่ในการแข่งขันปี 2020 ที่จะถึงนี้ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย โดย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นผู้ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเอง โดยใช้งบประมาณสนับสนุนที่ได้รับการอนุมัติจากกองทุนฯ เป็นจำนวน 480 ล้านบาท และมีเงื่อนไข ต้องหาผู้สนับสนุนงบประมาณให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณสนับสนุนฯ หรือ มากกว่า 240 ล้านบาท
คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ แล้วทำไมสื่อภาคเอกชน ไม่มีใครกล้าซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาสำคัญเหล่านี้เลย?
ปัญหาสำคัญที่จะเห็นได้ชัด คือ กฎ Must Carry และ Must Have ที่ กสทช. กำหนดไว้
Must Carry คือกฎของ กสทช. ที่เป็นการรับประกันกับประชาชนว่า ไม่ว่าจะรับชมช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน ผ่านระบบไหนก็ตาม (เสาอากาศ, ดาวเทียม, Over-The-Top) ก็สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
ขณะที่ Must Have คือ กฎของ กสทช. ที่กำหนดให้ 7 รายการกีฬาสำคัญ เป็นรายการที่ผู้ชมในราชอาณาจักรสามารถรับชมได้อย่างเท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมผ่านทางทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ซึ่ง 7 รายการดังกล่าว นั่นคือ ฟุตบอลโลก, โอลิมปิก, โอลิมปิกฤดูหนาว, เอเชียนเกมส์, ซีเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์ และ อาเซียนพาราเกมส์
แล้วเรื่อง Must เหล่านี้มาเกี่ยวกันอย่างไร?
กฎ Must Carry และ Must Have ที่เกิดขึ้น ทำให้ช่องทางหลักในการหารายได้ของสื่อภาคเอกชน ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างการทำแพ็คเกจเสริมเพื่อรับชมการแข่งขันอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมและทำให้รายได้ลดลง ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ ค่าทำการตลาด ยังมีเท่าเดิม เผลอ ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น และงบโฆษณา ที่บางบริษัทจำเป็นต้องตัดงบลง เพื่อให้บริษัทยังอยู่รอดได้ในสถานการณ์ช่วงนี้
ทำให้ผู้ประกอบการสื่อหลายราย ไม่กล้าที่จะลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเหมือนในอดีตอีก
ปัญหานี้ เราอาจต้องหาคำตอบกันต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยยังมีความสุขกับการถ่ายทอดสดกีฬา ในขณะที่สื่อภาคเอกชน ที่อาจเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กีฬารายต่อไป ยังคงสามารถอยู่รอดได้ และไม่เข้าเนื้อตัวเอง
#NewsRewindTH – More Than What Happened
#EURO2020 #กีฬา
โฆษณา