15 มิ.ย. 2021 เวลา 11:06 • ไลฟ์สไตล์
สมดุลแห่งลูกตุ้มนาฬิกา
1
ขณะล่องเรือผ่านช่องแคบเดรก (Drake Passage) ซึ่งอยู่ระหว่างปลายแหลมทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอนตาร์กติกา ผมคิดถึงบ้าน, และอยากกลับบ้าน
ช่องแคบแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องคลื่นลมแปรปรวน นับเป็นภารกิจท้าทายสำหรับกัปตันเรือที่จะพานาวาลำใหญ่ฝ่าข้ามส่วนอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในการเรือบนดาวเคราะห์ดวงนี้ จุดที่กระแสน้ำมาบรรจบกันกลายเป็นคลื่นสูงแปรปรวน ในวันที่เรือมุ่งหน้าสู่แผ่นทวีปขั้วโลกใต้เราได้รับการประกาศว่าต้องวนเรือเพื่อ ‘รอดูอาการ’ พลุ่งพล่านของช่องแคบเดรกหนึ่งวัน เมื่อถึงจังหวะเวลาที่กัปตันบอกว่า ‘พอไปได้’ คลื่นลมโหดร้ายยังคงทำให้เรือยักษ์โยกคลอนไม่ต่างอะไรกับแพไม้ไผ่
กลัวก็ด้วย แต่โหดกว่านั้นคืออาการเมาเรือซึ่งเล่นงานผมทุกครั้งที่ต้องเดินทางข้ามวันข้ามคืนในมหาสมุทร เพราะเป็นมนุษย์ภาคพื้นดินมาตลอดชีวิต มึน งง เวียนหัว อาเจียน กินไม่ลง นอนไม่หลับ ในบางวินาทีจึงมีคำถามว่าทำไมเราไม่นอนอยู่บ้านสบายๆ เหตุใดต้องพาตัวเองมาเสี่ยงภัยและผจญกับอะไรแบบนี้ด้วย
2
พูดถึงการอยู่บ้านและออกผจญภัย เป็นสองขั้วน่าสนใจของจิตวิญญาณในตัวมนุษย์ หากอยู่บ้านนานเกินไปหัวจิตหัวใจมักร่ำร้องให้ออกเดินทางไป ‘ข้างนอก’ ไปมองฟ้ากว้าง ทะเลใหญ่ ภูเขาสุดลูกหูลูกตา ออกไปเห็นว่าชีวิตมีขอบเขตกว้างขวางกว่าที่ใช้วนเวียนอยู่ทุกวัน แต่เมื่อออกเดินทางมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง สิ่งที่มักเกิดขึ้นระหว่างทางคือความรู้สึกคิดถึงบ้าน อยากกลับไปนอนอุ่นในที่นอนคุ้นเคย กอดกับผู้คนคุ้นใจ อยู่สบายในสภาวะที่พอใจแล้ว—ไม่ต้องการมากกว่านั้น
ถามว่าสถานการณ์ไหนดีต่อใจมากกว่ากัน คงอยู่ที่เราตอบคำถามนี้ในห้วงยามไหน เดินทางก็มีดีในแบบมัน อยู่บ้านก็มีข้อดีที่การเดินทางให้ไม่ได้
ลึกลงไปถึงแก่นแกนของสองขั้วจิตวิญญาณนี้คือจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาและจิตวิญญาณแห่งความรู้จักพอ
ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าแต่ละฟากฝั่งถ้าเป็นไปแบบสุดโต่งก็น่ากลัวคนละแบบ ถ้าหมกมุ่นกับการแสวงหาไม่รู้จบจะไม่มีวันพบความพึงพอใจ เหมือนผู้ปีนป่ายยอดเขาที่ยังจับจ้องไปยังยอดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพิชิตยอดสูงสุดในโลกก็ยังมองต่อขึ้นไปที่ดวงดาว หรือนักผจญภัยผู้แสวงหาแผ่นดินใหม่ไม่รู้จบ สิ่งที่เขาหาไม่พบคือ ‘บ้าน’ ที่สามารถลงหลักปักฐานและอยู่ที่นั่นโดยไม่ร้อนรนค้นหาอีก
1
กระนั้น หากเป็นไปอีกทิศทาง, ถ้าหมกมุ่นกับการความพึงพอใจเกินพอดี อาจกลายเป็นคนด่วนสรุป บอกตัวเองว่าฉันพอใจในสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็นโดยยังไม่เห็นโลกมากพอ สภาวะเช่นนี้อาจเฉื่อยเนือย ไร้ความสร้างสรรค์ มิได้พบพานเพื่อนใหม่ และมองไม่เห็นความเป็นไปได้มากมายในชีวิต ชีวิตที่หยุดนิ่งเกินไปก็เป็นอันตรายอีกแบบ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราอาจไม่รอดหากไม่เรียนรู้โลกด้วยการออกจากบ้านไปดูโลกแท้จริง ความพอใจเร็วเกินไปอาจนำมาซึ่งการสะกดจิตตัวเองให้แน่นิ่งทั้งที่จริงๆ แล้วก็มีความหิวกระหาย จิตวิญญาณภายในยังคงเรียกร้องต้องการ อยากลอง อยากมี อยากได้ อยากเป็น แต่กลับถูกกดทับไว้ด้วยการบอกและหลอกตัวเองว่า—ฉันพอใจแล้ว
5
จนกลายเป็นว่าอยู่กับ ‘บ้าน’ นานเกินไปเสียจน ‘ติดบ้าน’ ไม่กล้าเปิดประตูออกสู่ความท้าทายและไม่แน่นอน ‘ข้างนอก’ นั่น
1
‘การเดินทาง’ เปรียบได้กับความต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง สังคม และโลกใบนี้ ขณะที่ ‘บ้าน’ นั้นเปรียบได้กับการยอมรับและพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ สำหรับผมแล้ว เราต่างต้องการสองสภาวะนี้ทั้งคู่ และดูเหมือนว่าชีวิตจะเป็นลูกตุ้มที่แกว่งไกวไปมาระหว่างสองขั้วนี้
1
ผจญภัย—กลับบ้าน—ผจญภัย—กลับบ้าน เป็นวงจรไม่รู้จบ
เป็นจังหวะเคลื่อนไหวที่ทำให้นาฬิกามีชีวิต
เราออกเดินทางเพื่อเปลี่ยนโลกและให้โลกเปลี่ยนเรา แล้วจึงกลับมาพักผ่อนนอนเอาแรงฟูมฟักพลังจนเต็มอีกครั้งเพื่อออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกหน ในตัวเราทุกคนล้วนมีความเชื่อว่าเราเปลี่ยนโลกได้ พอๆ กับอยากนอนโง่ๆ แล้วปล่อยให้โลกหมุนไปบ้างในบางวัน หากเอียงไปในทางแรกมากไปอาจเป็นเพลิงเผาใจเมื่อโลกเปลี่ยนช้ากว่าที่คิด หากเอียงไปทางหลังมากไปก็หยากไย่ขึ้นจิตวิญญาณ กลายเป็นว่าชีวิตที่ควรเปลี่ยนก็ไม่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลง
1
ตราบที่นาฬิกาชีวิตยังคงกระดิกเข็มเดิน ลูกตุ้มนาฬิกาจึงแกว่งไปมาระหว่างสองขั้วอยู่เสมอ
เช่นนี้เองจึงมีชีวิต, มิใช่นาฬิกาตาย
3
คำถามว่าการออกจากบ้านเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือการกลับบ้านเพื่อยอมรับสรรพสิ่งแบบใดดีกว่ากันอาจไม่ใช่คำถามที่ถูกต้องนัก เพราะทั้งสองสิ่งล้วนจำเป็นต่อชีวิตและสังคม
ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป—เพราะต่างสร้างความวินาศได้ทั้งสองแบบ
คำถามสำคัญคือ เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าสถานการณ์ไหนควรออกจากบ้านไปสร้างความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ไหนควรกลับเข้าบ้านเพื่อฟูกฟักพลังใจ
Reinhold Niebuhr นักเทววิทยาชาวอเมริกันเคยกล่าวบทภาวนาเปี่ยมปัญญาว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, โปรดประทานสันติในใจเพื่อยอมรับสิ่งที่ข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้, ประทานความกล้าหาญสำหรับสิ่งที่ข้าพเจ้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และประทานปัญญาเพื่อแยกแยะสองสิ่งนี้ออกจากกันด้วยเทอญ"
3
บทภาวนานี้ช่วยตอบคำถามเรื่องการผจญภัยกับการกลับบ้านได้เป็นอย่างดี
จงกล้าหาญในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ จงยอมรับในสิ่งที่มิอาจเปลี่ยนแปลง
 
ไม่เย็นในเรื่องที่ควรร้อน ไม่ร้อนในเรื่องที่ควรเย็น
1
สำคัญสุดคือ แยกแยะสองสิ่งออกจากกันได้ด้วยปัญญา
4
กลับไปที่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรใต้ ผมนอนเมาคลื่นอยู่ข้ามวันข้ามคืน แต่เมื่อตื่นขึ้นมาหลังข้ามผ่านช่องแคบเดรกด้วยฝีมือชั้นเยี่ยมของกัปตันผู้ชำนาญการ ผมก็ได้พบโลกที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ตรงหน้าคือโลกสีขาวโพลนไปด้วยก้อนน้ำแข็งและหิมะสุดลูกหูลูกตา เงียบสงบงามอย่างไม่มีที่ใดเสมอเหมือน ผมได้เห็นฝูงเพนกวินนับร้อยนับพัน วาฬว่ายวนรอบเรือยางลำเล็กของเรา สิงโตทะเลนอนหลับปุ๋ยบนก้อนน้ำแข็ง และภูเขาน้ำแข็งรูปร่างแปลกตานับไม่ถ้วนราวประติมากรรมที่เนรมิตโดยพระเจ้า
หากไม่ออกจากบ้านผมคงไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้
ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่จริง
การเดินทางมอบในสิ่งที่บ้านให้ไม่ได้ เช่นกัน, บ้านก็มอบในสิ่งที่การเดินทางให้ไม่ได้
เราจึงต้องออกจากบ้าน, เราจึงต้องกลับบ้าน
เราจึงต้องเดินทาง, เราจึงต้องหยุดเดินทาง, เพื่อเดินทางอีก
ยอมรับและพอใจในสิ่งที่มีสิ่งที่เป็น ออกไปไขว่คว้าในสิ่งที่ยังไม่มียังไม่เป็น แยกแยะได้ว่าสิ่งใดต้องยอมรับ และสิ่งใดควรทุ่มเทไขว่คว้า
เต็มที่กับสิ่งที่ทำได้ ปล่อยวางกับสิ่งที่ไม่สามารถ เก็บพลังสำหรับสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลง
1
ผ่านจุดที่อันตรายที่สุดของมหาสมุทรไป มีโลกอีกใบหนึ่งรอเราอยู่
1
อย่างไรก็ดี เมื่อได้พบโลกใบนั้นแล้ว เราก็ยังคงอยากกลับบ้าน
1
ผมรู้สึกเช่นนี้บ่อยๆ ในบางวันที่จ้องมองไปยังท้องฟ้าช่วงอาทิตย์ลาลับ, ขณะหายใจในโลกแปลกหน้า
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา