15 มิ.ย. 2021 เวลา 12:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Trade War Ep.2 สงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ : อีกหนึ่งความท้าทายที่โลกต้องเผชิญอีกครั้ง ในยุคหลังโควิด-19
5
Trade War อีกหนึ่งความท้าทางที่โลกต้องเผชิญอีกครั้ง
สงครามการค้า(Trade War)ในยุคของทรัมป์ ล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
นับตั้งแต่ปี 2018 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศสงครามทางการค้า(Trade War) กับประเทศจีน ทั้งสองประเทศก็ได้มีการเผชิญหน้ากันอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการและนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า หรือ การใช้มาตรการจำกัดการส่งออก ซึ่งแต่ละครั้งที่ฝ่ายใดดำเนินนโยบาย อีกฝ่ายก็โต้ตอบในทำนองเดียวกัน ทั้งหมดนี้ ได้นำไปสู่ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก
6
หลายๆ บริษัทที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน ในตอนแรก ต่างก็มีความมุ่งหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างถูกในประเทศจีน แต่เมื่อเกิดสงครามการค้า(Trade War) ระหว่างทั้งสองประเทศขึ้น บริษัทเหล่านี้ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก และเผชิญกับโจทย์ความท้าทายใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้สายพานการผลิตของตัวเองมีความมั่นคง และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดียิ่ง ไม่กระทบจากนโยบายรายวันที่ออกมาจากสองประเทศ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือมีความ Resilient ยิ่งขึ้น มากกว่าการคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพ หรือ Efficiency แต่เพียงอย่างเดียว
1
China Plus One หรือ กลุ่มที่ย้ายฐานการผลิตในประเทศใกล้เคียงแทน
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจำนวนไม่น้อย จึงได้ย้ายฐานการผลิตออกจากสองประเทศ ทั้งย้ายกลับประเทศบ้านเกิด (Reshoring) หรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศใกล้เคียงแทน (Regionalization) หรือที่รู้จักกันว่ากลุ่มประเทศ China Plus One เนื่องจากบริษัทและโรงงานต่างๆ เหล่านี้ยังคงต้องมุ่งค้าขายกับผู้บริโภคในเอเชีย รวมทั้งพึ่งพาเครือข่ายโลจิสติกส์(Logistics) และผู้ผลิตในระดับภูมิภาคที่ความเชื่อมโยงกับประเทศจีนอยู่ โดยหลายบริษัทก็อาศัยการใช้ฐานการผลิตที่ตัวเองมีอยู่แล้วในประเทศเหล่านี้ โดยไปเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศพวกนี้แทน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในโลกเพื่อกระจายความเสี่ยงไม่ให้สายพานการผลิตของตัวเองพึ่งพาอยู่กับผู้ผลิตใดเพียงผู้เดียว
2
รายชื่อบริษัทหรือโรงงานที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
แต่แล้ว ความไม่แน่นอนและความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศก็ดูจะบรรเทาลง เมื่อทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงทางการค้า (Phase One Trade Deal) ในวันที่ 15 มกราคม 2020 โดยจีนตกลงว่าจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น สองแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2020 และปี 2021 ในขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศก็ตกลงกันว่าจะลดภาษีนำเข้าสินค้าที่เพิ่งประกาศไปในเดือนกันยายน 2019 อีกด้วย แต่ทว่า ข้อตกลงดังกล่าวก็ดูเหมือนว่าจะล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยข้อมูลจาก Peterson Institute of International Economics แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น แตกต่างจากที่ตกลงกันไว้อย่างมาก โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของประเทศจีนนั้นต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้กว่า 40%
3
นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีก่อน ก็เกิดพายุลูกใหม่ขึ้นอีก เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เกิดเป็นการระบาดครั้งที่รุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ และทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาลั่นวาจาอย่างต่อเนื่อง โดยเรียกไวรัสดังกล่าวว่า Wuhan Virus และ Chinese Virus อีกทั้งยังมีการเรียกร้องให้จีนจ่ายเงินชดเชยให้กับสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งหมดนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
2
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ จะแพ้การเลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะยกเลิกนโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์เคยทำมา แต่ก็ใช่ว่า สงครามการค้า(Trade War) หรือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะจบลง เพราะเรื่องการทำสงครามการค้ากับจีน ก็ดูจะเป็นหนึ่งในไม่กี่นโยบายที่ไบเดนเลือกรับเป็นมรดกตกทอดมา โดยไบเดนได้ประกาศไว้ว่า เขาจะไม่ทำการยกเลิกภาษีนำเข้าที่รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศกับจีนทันที จนกว่าจะมีการทบทวนข้อตกลงการค้า Phase 1 อย่างครบถ้วน รวมถึงมีการปรึกษากับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ
4
นอกจากนี้ ล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดน ก็ได้ประกาศห้ามบริษัทจีน 59 แห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรือมีบทบาทในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฮเทคที่ใช้ในการสอดแนมหรือเฝ้าระวัง (Surveillance Industry) ไม่ให้เข้ามาลงทุนในสหรัฐ และห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันเข้าไปลงทุนในบริษัทเหล่านี้อีกด้วย แสดงให้เห็นถึงการรับลูกสานต่อนโยบายของทรัมป์ อย่างชัดเจน
4
"ประเทศจีนจะไม่มีทางก้าวไปเป็นประเทศชั้นนำของโลก ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก หรือประเทศที่ทรงพลังที่สุดได้ ในระหว่างที่ผมยังเป็นประธานาธิบดีอยู่" Joe Biden
ด้วยเหตุนี้ สงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศจะยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้จีนก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจโลก เทียบเคียงสหรัฐฯ ได้ ดังที่ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “ประเทศจีนจะไม่มีทางก้าวไปเป็นประเทศชั้นนำของโลก ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก หรือประเทศที่ทรงพลังที่สุดได้ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่” แสดงให้เห็นว่าสงครามทางการค้าจะคงเป็นความท้าทายที่ยังคงอยู่กับเราต่อไปอีกนานพอสมควร
2
แล้วสงครามการค้า(Trade War) ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในยุคของไบเดน จะเป็นอย่างไร?
การดำเนินนโยบายสงครามการค้า(Trade War)ในยุคของไบเดนจะมีความแตกต่างไปจากยุคทรัมป์หลายประการ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือระดับพหุภาคี มากกว่าที่จะไปเปิดศึกเผชิญหน้ากับจีนเหมือนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็จะหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพยายามผลักดันให้จีนปฏิบัติตามระเบียบโลกแบบเสรีนิยมอีกด้วย
1
ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่จัดขึ้นที่เมืองคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไบเดนก็ได้ผลักดันให้เกิดโครงการ Build Back Better World (B3W) เพื่อสนับสนุนด้านการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อแข่งขันกับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt Road Initiatives) ของจีนอีกด้วย
โครงการ Build Back Better World (B3W) เพื่อแข่งขันกับจีน
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องสงครามการค้า(Trade War) ระหว่างจีน-สหรัฐ และการแข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศ ยังคงเป็นความท้าทายที่โลกและประเทศเล็กๆ อย่างเรา ต้องเผชิญต่อไป แม้ว่าจะเข้าสู่ยุคหลังโควิดแล้วก็ตาม โดยหลังจากนี้ โจทย์ความท้าทายที่เราเคยต้องมานั่งคิด ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะวิกฤติโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายใหม่ และเปลี่ยนภูมิทัศน์ต่างๆ ไปพอสมควร บริษัทต่างๆ ที่เคยคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสายพานการผลิตของตัวให้มีความมั่นคงมากขึ้น โดยการย้ายฐานการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ก็คงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องหันกลับไปคิดเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล(Digital Technology) มาประยุกต์ใช้ด้วย
4
ในโลกยุคใหม่ ยังเต็มไปด้วยความท้าทายเก่าและความท้าทายใหม่อีกมากมาย รอวันที่เราเข้าไปพบเจอ แต่เราก็อย่าลืมว่า เมื่อเราเจอความท้าทายได้ ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถค้นพบโอกาสในความท้าทายเหล่านั้นได้เช่นกัน
2
ผู้เขียน: เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา