16 มิ.ย. 2021 เวลา 01:32 • ปรัชญา
คุณเคยคิดไหม? ..ว่า..
กฎหมายไม่ยุติธรรม
ข้ออ้างของชนชั้นปกครองที่มักพูดย้ำอยู่เสมอว่า 'ทำตามกฎหมาย' นั้นจริงแท้แค่ไหน?
ถ้าเราลองถามให้ลึกขึ้นว่า 'กฎหมายคืออะไร?' หรือ 'กฎหมายมาจากไหน' บางทีเราจะได้รับรู้ว่า การทำตามกฎหมายที่ถูกอ้างถึงนั้น น่ารับฟังเพียงใด?
หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวของความขัดแย้งระหว่างคำสองคำมาตั้งแต่สมัยโรมัน คำสองคำที่ว่าก็คือ กฎหมาย กับ ความยุติธรรม
นี่ไม่ใช่เพียงความคับข้องใจถึงบรรทัดฐานของกฎระเบียบที่เราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ แต่อาจจะเป็นคำถามแรกๆนับตั้งแต่เมื่อมนุษย์รู้จักที่จะถามคำถามว่า 'เราเกิดมาทำไม?'
เริ่มต้นจากเอาคำว่า กฎหมายไปผูกกับความประสงค์ของผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์
เมื่อโสเครตีสตั้งคำถามถึงความชอบธรรมนั้น เขาถูกคุมขังและตัดสินประหารชีวิต แม้จะเป็นกฎที่เขาตั้งคำถามและมีโอกาสที่จะหลบหนีแต่โสเครตีสกลับยังยืนยันรักษาหลักการของกฎนั้นและยอมดื่มยาพิษจากโทษประหารที่ตามมา
เมื่อนำกฎหมายไปผูกกับความดีสูงสุดของศาสนจักร และถ้าเรามีเงินมากพอที่จะซื้อใบไถ่บาป เราก็ดีพอที่จะอยู่กับพระเจ้า
แต่มาร์ติน ลูเธอร์ ไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้ามีความกรุณาต่อมนุษย์ทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนแค่ไหน
นำไปสู่การเกิดนิกายโปรเตสแตนต์ แยกอำนาจการตัดสินความถูกผิดดีชั่วของมนุษย์ออกไปจากศาสนจักร
เมื่อนำกฎหมายไปผูกไว้กับสิ่งใด คำถามที่จะตามมาอยู่เสมอคือ...
กฎหมายคืออะไร? มาจากไหน? และมีบรรทัดฐานเพียงใด?
ตลอดประวัติศาสตร์ของการใช้กฎหมาย คำถามสำคัญเหล่านี้นำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย คำถามที่แหลมคมที่สุดคือ 'ถ้ากฎหมายที่ออกโดยทรราช เราจำเป็นต้องเคารพกฎหมายนั้นหรือไม่?'
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มองประเด็นนี้ว่า
'กฎหมายเปนคำสั่งแบบที่เราต้องประพฤติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็จะชั่วได้ ฤาไม่เปนยุติธรรมก็ได้ ความคิดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ฤาอะไรเปนยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรม มีบ่อเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นตามสาสนาต่างๆ แต่กฎหมายเกิดขึ้นได้แห่งเดียว คือจากผู้ปกครองแผ่นดินฤาที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น'
จริงหรือ? กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่กฎหมายขึ้นกับความกรุณาของผู้มีอำนาจ
'กุสตาฟ ร้าดบรุค' เสนอว่า แม้เราควรแยก'สิ่งที่เป็น'กับ'สิ่งที่ควรจะเป็น'ออกจากกัน แต่กฎหมายกลับเป็นสิ่งพิเศษ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างนั้น กฎหมายไม่ใช่ความดีงามแต่ก็มีบางส่วนที่มีสาเหตุมาจากความดีงาม เขาเสนอเกณฑ์ของกฎหมายที่เรียกกันว่า 'กฎของร้าดบรุค' คือ
1.ต้องเสมอภาคกัน
2.ต้องเหมาะสมหรือสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
3.ต้องมีความแน่นอน(ไม่ยกเว้น)
กฎนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงในการตัดสินคดีในเยอรมันหลายครั้งหลังสงครามโลก เเน่นอนมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขึ้นกับว่า เราอยู่ฝั่งความเชื่อเช่นไร
กับหนังสือที่ผู้เขียนลองปฏิบัติด้วยตนเองกับการฝ่าฝืนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เมื่อ 7 ปีก่อน
เป็นหนังสือดีๆอีกเล่มที่อยากแนะนำ
ที่ชวนเราศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของการตั้งคำถามกับความดีและความเชื่อ
อ่านแล้ว จะเข้าใจกฎหมายมากขึ้น
แต่อาจจะทำให้เชื่อถือกฎหมายน้อยลงหรือไม่? ต้องลองพิจารณาเอาเองนะครับ
๏ ประวัติศาสตร์ความคิด นิติปรัชญา
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : เขียน
สำนักพิมพ์ : #อ่านกฎหมาย
***********************************
เพื่อนๆ Blockdit ครับ ผมมีเขียนลงทั้งหมด 3 เพจ แตกต่างกันตามแต่อารมณ์จะพาไป คือ
๏ 'Bear's Books'  = นำข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่านหนังสือแต่ละเล่มมาเล่า ชวนให้คิดตามกันไป
๏ 'Bear's Blog'  = จิปาถะ กับภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ การ์ตูนกวนเมือง
๏ 'คิด อย่างสถาปนิก'  = เรื่องของสถาปัตยกรรมต่างๆจากสายตาสถาปนิก
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมแวะชิมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
ขอขอบคุณและหวังว่า เราจะได้รู้จักกันนะครับ 🐻❤
โฆษณา