Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Opener
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2021 เวลา 03:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หลังโควิด เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นง่ายๆ "ต้องลดความเหลื่อมล้ำ"
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานเตือนหลายประเทศทั่วโลกจะเกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมในประเทศรายได้สูงและประเทศยากจน สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 ที่หลายประเทศยังไม่พ้นภาวะวิกฤต แม้แต่กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในทศวรรษก่อนหน้านี้ก็ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน
ช่องว่างทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เกณฑ์การวัดความเหลื่อมล้ำที่คำนึงถึงปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ต่อหัว รายได้เฉลี่ยครัวเรือน หรือรายได้เฉลี่ยของบุคคล มีผลต่อการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจทั่วประเทศ และส่งผลให้การประเมินชี้วัดความเหลื่อมล้ำไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงในสังคมเสมอไป เพราะขึ้นอยูู่กับว่าการประเมินคำนึงถึงปัจจัยใดมากที่สุด
นอกจากรายงานของไอเอ็มเอฟ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่เตือนไทยเรื่องอัตราความยากจน และย้ำว่าจะต้องแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ เพื่อที่ประเทศจะได้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในระยะยาว ขณะที่ 'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยจะยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ ในปีหน้า แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2566
ส่วนข้อมูลของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ระบุว่าอัตราความยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 5 ครั้งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดย 3 กรณีแรก เกิดขึ้นในปี 2541, 2543 และ 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน แต่สองครั้งหลังนั้นไม่ใช่ ได้แก่ปี 2559 และ 2561 ส่งผลให้ 61 จาก 77 จังหวัด และคนไทย 6.7 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
ผู้ที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ห่างไกลอาจลำบากมากกว่าเดิม รวมไปถึงแม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ ปัตตานี นราธิวาส และตาก ที่ติดอัตราความยากจนสูงสุดเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีอัตราความยากจนอยู่ที่ 1.4% ซึ่งเบื้องหลังเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อีกทั้งก่อนหน้านี้ค่าจ้างแรงงานก็ทรงตัวและรายได้ลดลงในปี 2558 จนถึง 2560
สภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือน้ำท่วมพื้นที่ไร่นาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยงต่อความยากจนมากที่สุด เพื่อการแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืน ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการแทรกแซงและกระจายการลงทุน โดยในระยะสั้นต้องทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการสร้างงาน เพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือนให้เร็วที่สุดไปพร้อมกับการช่วยผลักดันสวัสดิการด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจน รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ในระยะยาวต้องสร้างการลงทุนต่อคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตมากขึ้น เด็กๆ ทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียมทางการศึกษาและสุขภาพ เพื่อให้ได้ศักยภาพสูงที่สุด แต่วันนี้เด็กๆ ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ สามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการได้ดีกว่าเด็กในพื้นที่ชนบท ดังนั้น การลดความไม่เท่าเทียม ให้เด็กเข้าถึงโอกาสที่ดี ความยากจนก็จะน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เศรษฐกิจ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย