Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจ๊ะเหหวานเจี๊ยบ (ตูน ตาปีนิ)
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2021 เวลา 04:22 • การศึกษา
ทำไมเรียกว่า "ภาษาเจ๊ะเห"
ที่มาของคำว่า “เจ๊ะเห”
มีเพื่อนๆ หลายคนสอบถามมาในหลายๆ ช่องทางว่า ภาษาถิ่นบ้านตูน ทำไมถึงเรียกว่าภาษาเจ๊ะเห วันนี้ตูนก็เลยจะมาไขข้อข้องใจนี้ค่ะ คำว่าเจ๊ะเห เป็นชื่อของตำบลหนึ่ง ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสประมาณ 33 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งช่วงก่อนปี พ.ศ.2452 ต.เจ๊ะเห อยู่ในเขตครอบครองของรัฐกลันตัน ค่ะ ซึ่งที่มาที่ไปของชื่อเจ๊ะเห นั้น มีอยู่ 2 กระแส
กือแหลง แปลว่า พูด
กระแสที่ 1 อาจารย์เฉลิม แสงสุวรรณ อดีตครูใหญ่ โรงเรียนบ้านโคกมะม่วง ได้เล่าความเป็นมาจากคุณพ่อ ซึ่งเป็นอดีตกำนันตำบลพร่อน สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า เจ๊ะเห มาจากคำว่า เจ๊ะเหง เพราะเจ๊ะเหง เป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ต่อมาพอมีคนอื่นๆ อพยพมาตั้งถิ่นฐานจนเกิดเป็นชุมชน ชื่อก็เลยเพี้ยนมาเป็นคำว่าเจ๊ะเห จนถึงทุกวันนี้
กระแสที่ 2 มาจากเอกสาร “ชื่อบ้านนามเมืองนราธิวาส” ในเอกสารเล่าเอาไว้ว่า มีพ่อค้าชาวจีนแล่นเรือสำเภามาค้าขาย และเรือเกิดล่ม พ่อค้าจีน ไต้ก๋ง พร้อมลูกเรือพยายามช่วยตนเองจนสามารถขึ้นมาบนเกาะที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง และรอดชีวิตกันทุกคน เมื่อคลื่นลมสงบจึงพากันไปกู้เรือและนำสินค้าขึ้นฝั่งได้สำเร็จ จากนั้นจึงเอาใบเรือ เสื้อผ้า ตากตามกิ่งไม้ ต้นไม้ มีชาวพื้นเมืองคนหนึ่ง อาชีพตัดไม้ขาย ได้มาตัดไม้บริเวณที่พ่อค้าชาวจีนตากใบเรือและเสื้อผ้า พอเห็นก็คิดที่จะขโมย จึงตัดไม้ที่มีเสื้อผ้าตากอยู่ แต่พ่อค้าและลูกเรือชาวจีน ดันมาเห็นซะก่อน จึงร้องเอะอะโวยวายว่า เจ๊ะ เฮ้ๆๆๆๆเอาเสื้อผ้าอั๊วคืนมา จึงกลายเป็นชื่อของตำบลเจ๊ะเหในเวลาต่อมา
แม้เราจะไม่ทราบแน่ชัดว่ากระแสใดเป็นเรื่องราวจริงๆ แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือ กลุ่มคนที่พูดจาสื่อสารด้วยภาษาเจ๊ะเห คือกลุ่มคนที่อยู่บริเวณริมฝั่งอ่าวไทย นั่นก็คือ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งชาวไทยพุทธพื้นถิ่น จะพูดภาษาเจ๊ะเหกันทุกอำเภอเลยค่ะ ส่วนในจังหวัดปัตตานี จะพูดกันในอำเภอบาเจาะหรือพิเทน อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอไม้แก่น และอำเภอกะพ้อ นอกจากนี้ที่จังหวัดจันทบุรี ก็มีผู้พูดสำเนียงคล้ายภาษาเจ๊ะเหอยู่ที่บ้านคลองลาว ตำบลท่าใหม่ อำเภอนายายอาม ส่วนที่ประเทศมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ก็มีชาวสยาม นับถือศาสนาพุทธ ในรัฐกลันตันฝั่งตะวันออก ได้แก่ ตุมปัด ปาเซมัส ปาเซร์บุเต๊ะ โกตาบารู และตาเนาะแมเราะห์ ที่พูดภาษาเจ๊ะเห เช่นเดียวกันค่ะ
นราธิวาส
ปัตตานี
รัฐกลันตัน มาเลเซีย
จันทบุรี
การที่เรียกภาษานี้ว่าภาษาเจ๊ะเห เป็นเพราะว่ามีการใช้ภาษานี้เด่นชัดมากใน ต.เจ๊ะเห อำเภอตากใบนั่นเอง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักจะเรียก อ.ตากใบ ว่าเจ๊ะเห ด้วย รวมไปถึงชาวพุทธทุกหมู่บ้านใน อ.ตากใบ ก็ใช้ภาษาเจ๊ะเหในการสื่อสาร ชื่ออย่างเป็นทางการของภาษาเจ๊ะเหก็คือ ภาษาไทยสำเนียงตากใบ ค่ะ
สะพานคอยร้อยปี อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
สำหรับตัวตูนเองไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอตากใบ แต่ใช้ภาษาเจ๊ะเหในการสื่อสารมาตั้งแต่เด็ก เพราะทุกอำเภอในนราธิวาส ใช้ภาษานี้ คุณพ่อของตูนเป็นชาวอำเภอตากใบ ส่วนคุณแม่เป็นชาวอำเภอแว้ง ค่ะ เพราะฉะนั้น สำเนียงที่ตูนพูดอาจจะไม่เป๊ะ เท่ากับผู้ที่อาศัยอยู่ในอำเภอตากใบ ซึ่งสำเนียงจะเนิบๆ ยานๆ ช้าๆ มากกว่าที่ตูนพูดอีกค่ะ เพราะสำเนียงภาษาเจ๊ะเหก็จะมีความต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ค่ะ
หายสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมภาษาบ้านตูน จึงเรียกว่า ภาษาเจ๊ะเห ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ติดตามอ่านกันจนถึงตอนนี้นะคะ และสามารถรับชมคลิปเต็มได้ทางยูทูบค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=r_9bZjO8mV8&t=188s
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย