16 มิ.ย. 2021 เวลา 06:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มีหนี้ก็รวยได้ถ้าเป็นหนี้ดี
ถ้าพูดถึงหนี้ ทุกคนคงไม่ปฎิเสธว่าครั้งหนึ่งในชีวิต เราเคยเป็นหนี้ เพราะความจำเป็นในชีวิต เช่น การซื้อบ้าน หากรอเก็บเงินสด เมื่อเงินครบ ราคาบ้านและที่ดินอาจจะปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว ตามภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ดังนั้นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน จึงเป็นวิธีหนึ่งในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่
เมื่อเราต้องเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้ จะมีหลักในการพิจารณาอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียในภายหลัง
คำว่าหนี้ที่ก่อขึ้นเป็นหนี้ดีหรือไม่ คำว่า หนี้ดี ก็คือ หนี้ที่สามารถทำให้เกิดรายได้ หรือสามารถสร้างผลประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต ได้มากกว่ารายจ่ายนั่นเอง เช่น
1 หนี้เพื่อการศึกษา
2 การซื้อบ้านที่เป็นปัจจัย 4
3 การซื้อรถที่สามารถพาเราออกไปหารายได้เพิ่ม
4 การลงทุนที่สามารถต่อยอดธุรกิจ
หนี้ดีที่เราควรมี
หลักในการคิดก่อนเป็นหนี้
เมื่อเรารู้ว่าหนี้ดีคืออะไรแล้ว ยังมีหลักคิดก่อนเป็นหนี้ที่ต้องคำนึงถึงด้วย ถ้าเราคิดเข้าข้างตัวเองว่า ฉันอยากได้บ้านเนื้อที่ 2 ไร่ มีสระว่ายน้ำและห้องออกกำลังกาย อยู่ใจกลางเมือง ใกล้ที่ทำงานและที่เรียนของลูก แล้วฉันไปกู้เงินธนาคาร 30 ล้านบาท ฉันก็กำลังสร้างหนี้ดีแล้วนะ ช้าก่อน อย่ารีบร้อน เพราะหนี้ดีมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียได้ ถ้าขาดปัจจัยควบคุมดังต่อไปนี้
คิดก่อนเป็นหนี้
1. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
1.1 ความพอประมาณ – ตามตัวอย่างข้างต้น ถ้าเรากำลังจะซื้อบ้านราคา 30 ล้านบาท เนื้อที่ 2 ไร่ แล้วอยู่กัน 3 คน พ่อแม่ลูก ควรพิจารณาว่าใหญ่เกินความจำเป็นไหม ราคาบ้านแพงเกินความสามารถในการผ่อนชำระของเราหรือเปล่า แล้วค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น เราแบกรับภาระได้ไหม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างคนดูแลสวน ค่าจ้างแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน ค่าซ่อมแซม เป็นต้น
1.2 ความสมเหตุสมผล – จากตัวอย่างการซื้อบ้าน ก่อนซื้อบ้าน ควรต้องเปรียบเทียบว่า ระหว่างซื้อบ้านและเช่าบ้าน อย่างใดคุ้มค่ามากกว่ากัน หากเราคิดจะอยู่เป็นการถาวร การซื้อบ้านเป็นของตัวเอง น่าจะคุ้มกว่าการเช่า แต่ถ้าเราอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวในช่วงที่เราทำงานหรือลูกเรียนหนังสือ แล้วเรามีที่ดินหรือบ้านอยู่ต่างจังหวัดแล้ว การเช่าอาจจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า เพราะไม่ต้องมาเสียค่าบำรุงรักษาในระยะยาว และหากซื้อแล้วไม่ได้อยู่เอง คิดจะปล่อยเช่า ถ้าเราอยู่ต่างจังหวัดไม่มีเวลามาดูแลรักษา บ้านเช่าก็อาจทรุดโทรมได้
1.3 ภูมิคุ้มกัน – ในที่นี้หมายถึงภาระในการชำระหนี้ต้องไม่สูงเกิน ไม่กระทบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และมีเหลือเก็บ
ถ้าเช็กทั้ง 3 ข้อแล้วผ่านก็ถือว่าเราสามารถเป็นหนี้ก้อนนี้ได้
2. รู้ศักยภาพในการชำระหนี้ของตัวเอง
ก่อนที่จะสร้างหนี้ก้อนใหญ่ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจจนกว่าจะรู้ศักยภาพในการชำระหนี้ของตัวเอง โดยคำนวณได้ง่าย ๆ จากภาระผ่อนต่อเดือนของเรา เช่น หากมีค่างวดบ้าน และรถยนต์รวมกัน ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อเดือน และไม่ควรเยอะเกินกว่านี้ เพราะในชีวิตจริงอาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นควรวางแผนให้รอบคอบเสียก่อน
3. ศึกษาเรื่องสินเชื่อให้พร้อม อีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้หนี้ของคุณเป็นหนี้ที่ดีได้ คือ การเลือกสินเชื่อ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการซื้อ ควรศึกษาข้อมูล และอัตราดอกเบี้ยของแต่ละสินเชื่อแต่ละประเภทให้ดี
สินเชื่อบ้าน การกู้ซื้อบ้านเป็นหนี้ระยาว ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยหลาย ๆ ธนาคาร และเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระให้เหมาะสม หากเป็นไปได้ควรเลือกกู้ในช่วงที่มีการจัดโปรโมรชั่นของธนาคารต่าง ๆ เช่น มีส่วนลดค่าจดจำนอง หรือโปรโมชั่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น
สินเชื่อรถ ก่อนจะซื้อรถ เก็บเงินดาวน์ให้มากหรือซื้อรถด้วยเงินสดได้ยิ่งดี เพราะรถเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าลดลงดังนั้นรอเก็บเงินให้พร้อมแล้วค่อยซื้อก็ได้ อีกทั้งดอกเบี้ยรถ ยังแพงกว่าดอกเบี้ยบ้านเนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่ลดต้นลดดอกเหมือนดอกเบี้ยบ้าน
สินเชื่อเพื่อการทำธุรกิจ ในการทำธุรกิจ ควรเริ่มต้นจากการลงทุนน้อย ๆ โดยใช้เงินออมของตัวเองก่อน หากธุรกิจมีการเติบโตสูงขึ้นและจำเป็นต้องขยายกิจการ อาจจะพิจารณาแหล่งเงินกู้ เช่น การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเป็นการระดมทุนที่ดีมากวิธีหนึ่ง
เศรษฐกิจพอเพียง
แน่นอนว่า การไม่มีหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากเราจำเป็นต้องเป็นหนี้ อยากให้วางแผนการเงิน อย่าสร้างหนี้เกินตัว และวางแผนใช้หนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีเงินเหลือสำหรับเก็บออมและลงทุนต่อไป
รายละเอียดประกอบ
สูตรการคำนวณผ่อนรถ
นำราคารถ - เงินดาวน์ = ยอดจัดไฟแนนซ์
นำยอดจัดไฟแนนซ์ x เปอร์เซ็นต์อัตราดอกเบี้ย (เช่น 5% หรือ 6% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของแต่ละที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับศูนย์จัดจำหน่ายและระยะเวลาการผ่อน)
นำยอดรวมของดอกเบี้ยและยอดจัดมา ÷ กับจำนวนปีที่ต้องการจะผ่อน = ดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่าย (เช่น 2 ปี หรือ 3 ปี)
นำดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่าย + ยอดจัดไฟแนนซ์ = ยอดทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง
นำยอดทั้งหมดที่ต้องจ่ายจริง ÷ จำนวนเดือนที่ผ่อน (เช่น 24 เดือน หรือ 36 เดือน) = ค่างวดในแต่ละเดือน
โดยวิธีการคำนวณค่าผ่อนรถนี้ คุณสามาถใช้ได้ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์
ตัวอย่าง รถที่คุณจะซื้อราคา 500,000 บาท หากคุณวางเงินดาวน์ 30% หรือ 150,000 บาท จะมียอดจัดทั้งหมด 350,000 บาท
หากคุณเลือกผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 48 งวด (หรือ 4 ปี) ในอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี จะมีวิธีคำนวณดังนี้
ดอกเบี้ย 5% ของ 350,000 บาท เท่ากับ 350,000 x 5% = 17,500 บาทต่อปี
ระยะเวลา 4 ปีจะต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 17,500 x 4 = 70,000 บาท
เมื่อรวมเข้ากับยอดจัด 350,000 บาท เท่ากับคุณมียอดรวมที่จะต้องจ่ายทั้งหมด 350,000 + 70,000 = 420,000 บาท
สรุปแล้ว คุณต้องจ่ายทั้งหมดเดือนละ 420,000 ÷ 48 = 8,750 บาท นั่นเอง
การคำนวณผ่อนรถ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ทำความรู้จัก "หนี้ดี" เป็นหนี้ได้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
เครื่องคำนวณดอกเบี้ย & สินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์
วิธีคำนวณผ่อนรถ
โฆษณา