17 มิ.ย. 2021 เวลา 11:26 • ประวัติศาสตร์
• เรื่องน่ารู้ในยุคกลาง:
• พระสันตะปาปาหญิง เรื่องจริงหรือตำนาน...
บันทึกอย่างเป็นทางการของสำนักวาติกันระบุว่าพระสันตะปาปาแห่งคริสตจักรคาทอลิกที่มีจำนวนมากกว่า 260 องค์นั้นล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น แต่กลับมีตำนานในยุคกลางขัดแย้งกับข้อมูลนี้ ที่กล่าวขานกันมาว่าเคยมีพระสันตะปาปาที่เป็นผู้หญิง ชื่อว่า พระสันตะปาปาโจน (Pope Joan)
การคลอดลูกของพระสันตะปาปาจากต้นฉบับหนังสือภาพเขียนด้วยมือ (Image: A medieval Woman’s Companion)
• ตำนานเล่าว่า...
รายละเอียดของตำนานเรื่องนี้แตกต่างกันไปตามผู้บันทึก โดยทั่วไปตำนานได้เล่าขานกันมาว่ามีหญิงสาวชาวเยอรมันผู้หนึ่งอยากเรียนหนังสือเลยปลอมตัวเป็นชายชาวอังกฤษชื่อจอห์น เพื่อมาศึกษาเล่าเรียน สมัยนั้นคนจะได้เรียนหนังสือก็ต่อเมื่อเป็นพระหรือนักบวช ซึ่งนางได้ตัดผมตัวเองให้สั้นเหมือนผู้ชายและปกปิดเพศของตนได้อย่างแนบเนียนภายใต้ชุดคลุมนักบวช
หลังจากนั้น นางได้เล่าเรียนเขียนอ่านภาษาต่าง ๆ และเรื่องเทววิทยา นางตกหลุมรักพระรูปหนึ่ง และเขาพานางไปเอเธนส์ด้วยกันและต่อมาก็ย้ายไปยังโรม ด้วยความรู้ความสามารถทำให้นางไต่เต้าจากตำแหน่งต่ำต้อยคือนักจดคัดลอกบันทึกจนได้เป็นพระคาร์ดินัล
เมื่อพระสันตะปาปาลีโอที่ 4 สิ้นพระชนม์ เล่ากันว่านางได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาในปี 855 โดยมีชื่อว่าจอห์นที่ 8 และได้ปกครองอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างดี (แต่บางเวอร์ชั่นบอกว่านางได้รับคัดเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาเมื่อปี 1100)
พอพระสันตะปาปาจอห์นอยู่ในตำแหน่งได้มากกว่า 2 ปี วันหนึ่งเมื่อปี 858 ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อนางคลอดลูกกะทันหันในระหว่างพิธีขบวนแห่ของพระสันตะปาปา เหตุเพราะนางเดินสะดุด ความลับที่ปกปิดมาโดยตลอดจึงถูกเปิดเผย
1
เรื่องเล่าตอนจบมีหลายแบบ บ้างก็บอกว่านางตายในระหว่างคลอดลูก และถูกฝังไว้ในจุดที่นางคลอดลูกตาย จึงทำให้ในเวลาต่อมาขบวนแห่พระสันตะปาปาจึงถือเลี่ยงไม่มาเดินบนถนนเส้นนี้ แต่บางเรื่องเล่าบอกว่าพอนางคลอดลูกบรรดาผู้ติดตามที่อยู่รายรอบเห็นดังนั้นจึงโกรธแค้นมาก และได้นำนางไปผูกกับม้าให้ลากไปตามถนนและขว้างหินใส่จนนางกับลูกตกตายไปตามกัน แต่มีเวอร์ชั่นที่จบสวยหน่อยคือเล่าว่านางเกษียณตัวเองออกจากตำแหน่งพระสันตะปาปาและไปอยู่สำนักนางชีเพื่อเป็นการสำนึกผิด นางมีชีวิตที่ยืนยาว ส่วนลูกของนางเติบโตขึ้นมาก็กลายเป็นบิช็อป
ซึ่งบางเวอร์ชั่นก็เรียกชื่อพระสันตะปาปาโจนว่า Agnes หรือ Gilberta ก็มี ในเวอร์ชั่นของ Martin of Troppau เล่าว่า Johannes Anglicus เป็นสตรีสูงศักดิ์ชาวอังกฤษ แต่กำเนิดที่เยอรมนีที่เมือง Mainz นางตกหลุมรักกับพระนิกายเบเนดิกต์ จึงปลอมตัวเป็นชาย แล้วติดตามคนรักไปถึง Athens นางมีโอกาสได้เล่าเรียนเขียนอ่าน จากนั้นจึงย้ายไปยัง Rome และไต่เต้าจนเป็นพระคาร์ดินัลและกลายเป็นพระสันตะปาปาในที่สุด
แต่บางเวอร์ชั่นไม่บอกแจ้งแถลงชื่อ เล่าเพียงว่ามีพระสันตะปาปาไร้ชื่อผู้หนึ่งเคยเป็นนักจดคัดลอกผู้เฉลียวฉลาดมาก่อน ตอนถูกคัดเลือกให้เป็นพระสันตะปาปานั้นเกิดตั้งท้องขึ้น และคลอดลูกตอนที่มีขบวนแห่ของพระสันตะปาปา นางจึงถูกลงโทษด้วยการถูกลากออกจากโรมและถูกปาหินจนตาย
เรื่องราวของพระสันตะปาปาโจนตอนคลอดลูกระหว่างมีขบวนแห่มีการวาดภาพประกอบเล่าเหตุการณ์ตอนนั้นไว้มากมาย ดังภาพประกอบที่คัดมาให้ดู
ภาพในหนังสือภาพเขียนมือยุคกลางเล่าการคลอดลูกของพระสันตะปาปาในขณะที่มีขบวนแห่ (Image: The New York Public Library)
ภาพจากฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสของหนังสือ De mulieribus claris ของ Boccaccio (Image: The British Library Board)
ภาพแกะสลักไม้ทำขึ้นช่วงประมาณปี 1474 บรรยายการที่พระสันตะปาปาโจนคลอดลูก (Image: Kislak Center for Special Collections, Rare Books, and Manuscripts, University of Pennsylvania)
ภาพแกะสลักพระสันตะปาปาโจนคลอดลูก ทำขึ้นเมื่อปี 1539 (Image: Spanishstepsapartment.wordpress.com)
• สถานะของพระสันตะปาปาโจนในยุคกลาง
เรื่องราวพระสันตะปาปาโจนปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 13 เมื่อเรื่องของพระสันตะปาปาหญิงผู้นี้ถูกเขียนไว้ในวรรณกรรมมากมายหลายเรื่องนับ 500 เรื่อง เช่น
- บันทึกเหตุการณ์ของพระนิกายโดมินิกันชื่อว่า Jean de Mailly ซึ่งระบุว่าเป็นเล่มแรกที่กล่าวถึงเรื่องนี้
- บันทึกเหตุการณ์ของพระนิกายโดมินิกันชื่อว่า Martin of Troppau ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ทำให้เรื่องพระสันตะปาปาโจนเป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย
- บันทึกเหตุการณ์ของพระนิกายโดมินิกันชื่อว่า Stephen of Bourbon
- งานเขียนบันทึกของพระนิกายเบเนดิกต์อย่าง Ranulf Higden
- งานเขียนของนักมนุษย์นิยมชาวอิตาเลียนอย่าง Giovanni Boccaccio และ Petrarch
ด้วยเหตุนี้ เรื่องพระสันตะปาปาโจนนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างไปทั่วยุโรปในปลายศตวรรษที่ 13 โดยในช่วงศตวรรษที่ 15 มีการยอมรับว่าเรื่องนี้คือเรื่องจริงและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์คาทอลิก แม้กระทั่งมีการทำพิธีชำระบาปและตั้งชื่อให้พระสันตะปาปาหญิงผู้นี้ว่า โจน (Joan)
1
เรื่องของพระสันตะปาปาโจนกลายเป็นแรงบันดาลใจถูกนำไปสร้างสรรค์ในงานภาพวาด ประติมากรรม หรือแม้กระทั่งในไพ่ทาโรต์ใบที่เรียกว่า The Popess และมีการสร้างรูปปั้นครึ่งตัวของพระสันตะปาปาโจนและถูกนำไปรวมไว้กับบรรดารูปปั้นของพระสันตะปาปาที่ Siena Cathedral ในอิตาลีอยู่ช่วงหนึ่งด้วย แต่ต้องถูกนำออกไปเพราะเกิดการประท้วงในปี 1600 เพราะมีการต่อต้านการนำรูปปั้นเช่นนี้มารวมไว้
กล่าวกันว่าเรื่องการมีพระสันตะปาปาเป็นหญิงปลอมตัวมาส่งผลต่อการคัดเลือกพระสันตะปาปาในยุคกลาง โดยในการประชุมลับเพื่อคัดเลือกพระสันตะปาปาในยุคนั้น จะมีพิธีกรรมหนึ่งที่พระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกนั้นจะต้องมานั่งในเก้าอี้มีรูเหมือนส้วมเพื่อพิสูจน์ว่า ‘เป็นชาย’ จริงไม่ใช่หญิงปลอมตัวมา เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมเหมือนในกรณีพระสันตะปาปาโจน
โดยว่าที่พระสันตะปาปาจะไปนั่งที่เก้าอี้นั้น แล้วบรรดาพระคาร์ดินัลหนุ่ม ๆ จะต่อแถวเรียงหน้ากันไปคว้าดูอวัยวะเพศชาย แล้วจะประกาศเป็นภาษาลาตินว่า “testiculos habet et bene pendentes” ซึ่งแปลคร่าว ๆ ได้ประมาณว่า ‘เขามีไข่อยู่สองลูกนะ และก็ยังห้อยย้อยดีอยู่” ซึ่งคำประกาศนี้นำความโล่งใจมาให้แก่ทุกคน
บ้างก็ว่าพิธีกรรมนี้ไม่ได้ทำเพื่อพิสูจน์เพศแต่ทำเพื่อตรวจสอบว่าว่าที่พระสันตะปาปายังไม่ได้ถูกตอนตามหลักคำสอนที่กำหนดไว้ ส่วนเก้าอี้ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วาติกันที่เชื่อกันว่าเอาไว้ให้ว่าที่พระสันตะปาปาพิสูจน์ความเป็นชายนั้นแท้จริงแล้วไม่มีใครทราบเหตุผลแน่ชัดว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะมันถูกเก็บไว้ในห้องเล็ก ๆ และไม่มีป้ายแปะบอกเพื่ออธิบายไว้ว่าเก้าอี้นี้มีไว้เพื่อการใด (ส่วนในการเลือกพระสันตะปาปาในปัจจุบันแม้จะเป็นพิธีกรรมลับแต่ก็มีผู้แง้มแย้มพรายมาบอกว่าไม่ได้มีการพิสูจน์เพศแต่อย่างใด)
เก้าอี้ที่ว่านี้เชื่อกันว่าอาจจะเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งถ่ายหรือเป็นเก้าอี้สำหรับคลอดลูกตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งเป็นเก้าอี้สำหรับคนชั้นสูงนะดับราชวงศ์เท่านั้น การที่สำนักวาติกันได้นำมาใช้ต่ออาจเป็นเพราะความหรูหราและสูงค่าของมัน หรืออาจจะเพราะต้องการเชื่อมโยงกับความรุ่งเรืองตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตของจักรวรรดิโรมัน
1
ตัวอย่างไพ่ทาโรต์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของพระสันตะปาปาโจน (Image: Wikipedia)
เก้าอี้นี้เรียกว่า sedia stercoraria อยู่ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน (Image: Coolancientstuff.tumblr.com)
ภาพที่วาดตามการบอกเล่าของนักเดินทางชาวสวีดิชที่ได้เห็นการขึ้นสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาของอินโนเซ็นต์ที่ 10 เมื่อปี 1644 ซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่มีชื่อว่า sedia stercoraria และเชื่อกันว่าการที่มีพระคาร์ดินัลหนุ่มนั่งคุกเข่าเพราะต้องการล้วงดูอัณฑะว่าใช่ผู้ชายจริงหรือไม่ (Image: Bibliotecapleyades.net)
ภาพของสันตะปาปาโจนในหนังสือ Liber chronicarum ของ Hartmann Schedel ซึ่งทำขึ้นในปี 1493 (Image: The Library Company of Philadelphia)
• ตำนานหรือความจริง...
ตำนานเรื่องพระสันตะปาปาหญิงนี้แน่นอนว่าคริสตจักรคาทอลิกต้องไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ถึงแม้ในยุคกลางเรื่องของพระสันตะปาปาโจนจะโด่งดัง แต่ในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์จำนวนมากพิจารณาว่าเรื่องนี้เป็นเพียงตำนาน เพราะ
- พระสันตะปาปาโจนที่เชื่อว่าน่าจะเป็นพระสันตะปาปาจอห์นที่ 8 นั้นดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาได้ประมาณ 25 เดือน ช่วงปี 855 - 858
- ในช่วงเวลาดังกล่าว ซ้อนทับกับการดำรงตำแหน่งของพระสันตะปาปาลีโอที่ 4 (847–855) และพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 3 (855–858) ซึ่งมีช่วงเวลาว่างเว้นเพียงไม่กี่อาทิตย์เท่านั้น
- ในช่วงเวลาที่นางมีชีวิตอยู่ ไม่มีงานเขียนร่วมสมัยชิ้นใดที่กล่าวถึงนาง
คำอธิบายที่เป็นไปได้ที่เรื่องของพระสันตะปาปาโจนปรากฏขึ้นมา เป็นเพราะมันถูกสร้างให้เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำลายชื่อเสียงของคริสตจักรคาทอลิก และเพื่อเสียดสีเหน็บแนมพระสันตะปาปาจากบรรดาพระที่ไม่พอใจ จากพวกกลุ่มโปรเตสแตนท์ยุคแรก ๆ และจากพวกนักวิจารณ์คริสตจักรคาทอลิก
แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนเห็นว่าพระสันตะปาปาโจนน่าจะมีอยู่จริง แต่อาจจะดำรงตำแหน่งหลังช่วงพระสันตะปาปาสององค์นี้ หรือไม่ก็ถูกลบออกไปจากประวัติศาสตร์ของคริสตจักรอย่างตั้งใจ
เมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาทางโบราณคดีที่ชี้ว่าตำนานเรื่องนี้มีมูลความจริง โดยเป็นการวิเคราะห์สัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนเหรียญเงินที่ใช้กันในยุโรปตะวันตกช่วงยุคกลาง ซึ่งบ่งชี้ว่าพระสันตะปาปาโจนนั้นน่าจะมีอยู่จริง และน่าจะครองตำแหน่งสันตะปาปาในช่วงศตวรรษที่ 9
ด้านหนึ่งของเหรียญ มีอักษรย่อมาจากชื่อต้นของพระสันตะปาปา ตอนแรกนักโบราณคดีคิดว่ามาจากชื่อของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 8 ที่ดำรงตำแหน่งช่วงปี 872-882 แต่พอเมื่อศึกษาเหรียญที่พบโดยละเอียดพบว่ารายละเอียดของอักษรย่อบนเหรียญนั้นต่างไปจากอักษรย่อที่ผลิตขึ้นช่วงต้นของรัชกาลพระสันตะปาปาจอห์นที่ 8 ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่านี่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต จึงเสนอแนวคิดว่าเหรียญที่ผลิตขึ้นช่วงปี 856-858 เป็นของพระสันตปาปาโจน ส่วนเหรียญที่ผลิตขึ้นหลังจากนั้นเป็นของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 8
นักโบราณคดีจึงเสนอแนวคิดใหม่ว่าช่วงตำแหน่งของพระสันตะปาปาควรเรียงลำดับใหม่ เป็น
- ลีโอที่ 4 เป็นพระสันตะปาปาตั้งแต่ปี 846-853
- เบเนดิกต์ที่ 3 เป็นพระสันตะปาปาตั้งแต่ปี 853-855
- โจน เป็นพระสันตะปาปาตั้งแต่ปี 856-858 และ
- นิโคลัสที่ 1 เป็นพระสันตะปาปาตั้งแต่ปี 858-867
เรื่องราวของพระสันตะปาปาโจนยังคงเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันต่อไปว่ามีอยู่จริงหรือเป็นเพียงตำนานที่ถูกสร้างขึ้นมา
เหรียญที่พบมีอักษรย่อของพระสันตะปาปาซึ่งเชื่อว่าเป็นอักษรย่อพระสันตะปาปาโจน ส่วนอีกด้านเป็นพระนามจักรพรรดิของพวกแฟรงค์ (Image: Michael Habicht/Live Science)
รูปเปรียบเทียบอักษรย่อในเหรียญยุคกลาง ซึ่งบ่งชี้ว่าพระสันตะปาปาโจนนั้นเป็นคนละคนกับพระสันตะปาปาจอห์นที่ 8 (Image: Michael Habicht/Smithsonian Magazine)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา