16 มิ.ย. 2021 เวลา 08:13 • ปรัชญา
ชีวจริยธรรม
กุลฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา (kulachatrakul@gmail.com)
การโต้แย้งกันอย่างไม่รู้จบถึงประเด็นขัดแย้งที่หาคำตอบไม่ได้นั้นจัดว่าเป็น ปฏิทรรศน์ (Paradox) ความรู้จริงอย่างชัดเจนแต่นำไปสู่ความขัดแย้งในตัวเองเหมือนกับ Economic Paradox ที่กล่าวว่า “ทำไมเพชรจึงแพงกว่าน้ำทั้งทั้งที่คนเราต้องการน้ำมากกว่า” ซึ่งขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์ในเรื่อง Supply/Demand
ชีวจริยธรรม (Bioethics) นับเป็นปฏิทรรศน์ซึ่งนักวิชาการ นักกฏหมาย และนักการศาสนายังหาคำตอบไม่ได้ที่สุด ชีวจริยธรรม หมายถึง การปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ไม่ทำร้ายหรือทำอันตรายต่อสัตว์หรือมนุษย์เพื่อการศึกษาหรือการวิจัย จรรยาบรรณในการใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ได้กำหนดจรรยาบรรณการใช้คน หรือสัตว์เพื่องานวิจัย งานสอน งานทดสอบ และงานผลิตชีววัตถุ ไว้ดังนี้
GMOs สิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม ย่อมาจากคำว่า Genetically Modified Organisms หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดและต่อยีนด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ทำให้มีลักษณะพันธุกรรมตามที่ต้องการ มีประโยชน์ เช่น
1) สารที่ผลิตโดยจุลินทรีย์แปลงพันธุ์ มีหลายชนิดมีประโยชน์ ช่วยขยายหลอดเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูก กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อที่เกิดจากบาดแผลไฟไหม้ กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยแก้ความเป็นหมัน ฯลฯ
2) สารที่ผลิตโดยพืชแปลงพันธุ์ มีหลายชนิด เช่น มะเขือเทศช่วยควบคุมการสุกของผล มะละกอมีความทนทานต่อไวรัสโรคใบด่าง ทานตะวันทำให้เมล็ดมีโปรตีนเพิ่มขึ้น ข้าวโพดทนทานต่อยาปราบวัชพืช ฯลฯ
3) สารที่ผลิตโดยสัตว์แปลงพันธุ์มีหลายชนิด เช่น วัวผลิต GH ฮอร์โมนช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนม หนูผลิต GH ของคนช่วยเพิ่มความสูงของคนเตี้ยแคระเป็นต้น อันตรายจากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมแม้จะยังไม่มีข้อมูลรายงานชัดเจน แต่ก็ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเกรงจะเกิดภัยอันตรายแก่มนุษย์ แต่เราในฐานะผู้บริโภคควรระวังตนไว้ก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค กรณีนี้จัดเป็นปฏิทรรศน์ที่ยังไม่ซับซ้อน
บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน นสพ. Post Today
ชีวจริยธรรม ประเด็นที่ถกเถียงกันบ่อยที่สุดและหาคำตอบยังไม่ได้เลย
การทำแท้ง ตามหลักศาสนาถือว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดศีลธรรมและเป็นบาป แต่เมื่อไม่นานในสหรัฐอเมริกามีบางกลุ่มถือว่าการท้องเป็นเรื่องส่วนตัวจึงมีสิทธิที่จะเลือกให้เด็กอยู่ในครรภ์หรือไม่ กลุ่มนี้เรียกว่า พวก pro-choice ส่วนกลุ่มตรงข้ามมีความเห็นว่าเด็กในครรภ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะกำเนิดมาเป็นมนุษย์ การทำแท้งจึงเป็นฆาตกรรมอย่างหนึ่ง ความเห็นของกลุ่มนี้เรียกว่า pro-life ในประเทศไทยมีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ 2 กรณี คือ 1) สุขภาพกาย สุขภาพจิตของหญิงผู้เป็นแม่ และสุขภาพของทารกในครรภ์ไม่ดี เช่น ติดเชื้อ HIV เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคธาลัสซีเมีย มีภาวะปัญญาอ่อน 2) การตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน จำเป็นต้องเอาเด็กในครรภ์ออกเพราะเกิดจากความไม่เต็มใจของผู้เป็นแม่และเกิดจากขืนใจ ถ้าเด็กเติบโตขึ้นมาจะเป็นปัญหาสังคมที่ยากเกินเยียวยา แต่การทำแท้งในทางศาสนาถือเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผิดศีลปาณาติปาตา แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อมีความขัดแย้งกันอยู่สองทรรศนะ ในความเห็นปัจจุบันโอนเอียงไปทางด้านกฎหมายมาก การทำแท้งในสองกรณีนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ในทางธรรมะถือว่าผิด
ทัวร์อวสานชีวิต ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีบริการให้ผู้ป่วยที่ไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ สามารถจบชีวิตลงอย่างสงบ ดำเนินการโดยมูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่งเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีผู้คนทั่วโลกเดินทางมาใช้บริการไปแล้วประมาณ 150 ราย กรณีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับประเทศอื่น ๆ เป็นชีวจริยธรรมที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ ถึงประเด็นการขออนุญาตตายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นับเป็นปฏิทรรศน์เหมือนกันเพราะเจ้าของชีวิตปราถนาที่จะไม่อยู่บนโลกใบนี้แต่ทางการยังไม่ออกกฎหมายคุ้มครองในบางประเทศ
การอุ้มบุญ คือ การฝากตั้งครรภ์ไว้กับท้องของผู้อื่นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยด้วยความอ่อนไหวว่าอาจขัดต่อศีลธรรมอันดี เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงมิใช่สิ่งที่พึงซื้อขายกันได้ สิ่งนี้จึงอาจก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในภายหลังเกี่ยวกับการอ้างสิทธิความเป็นแม่ในตัวเด็ก แต่จะให้ทำอย่างไรในเมื่อผู้หญิงที่ไม่อาจมีบุตรได้จึงเป็นปัญหาเชิงปฏิทรรศน์ที่ยากต่อการแก้ไขกฎหมายในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ การถกเถียงกันว่าประเด็นใดผิดหรือไม่ บาปกรรมหรือไม่ ให้ดูที่เจตนาและจิตอันบริสุทธ์ หากกระทำไปแล้วเกิดประโยชน์และการกระทำนั้นมิได้เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นแต่อย่างใดก็สุดแล้วแต่เจตนาของตัวผู้กระทำนั่นเอง
ทรรศนะจากท่านเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี)
การตายนั้นอาจมีความหมายได้ในหลายแง่มุมเช่น ความตายทางการแพทย์ ความตายทางศาสนา ความตายทางร่างกาย ความตายในแง่กฎหมาย เป็นต้นแต่ ความตายทางกายที่ถือกันว่าตายในทางการแพทย์นั้น จะต้องมีองค์ ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) หยุดหายใจ 2) หัวใจต้องหยุดเต้น 3) สมองต้องหยุดทางานโดยสิ้นเชิง ในทางพุทธศาสนาถือเอาภาวะของจุติจิตดวงสุดท้ายดับลงเป็นเครื่องชี้ชัดว่า “ตาย” มันจึงเกิดประเด็นที่เรียกว่า “การุณยฆาต” ขึ้น หากผู้ป่วยนอนติดเตียงแล้ว ถ้าถอดสายออกซิเจนออกเสียก็ถือว่าคนไข้ผู้นั้นตายได้ทันที กรณีอย่างนี้จะสามารถทำได้หรือไม่ ญาติฝ่ายหนึ่งก็ระบุว่า เราไม่มีสิทธิ์ไปกำหนดให้ใครตาย เราจะต้องปล่อยให้เขาตายไปเอง ส่วนอีกฝ่ายก็ระบุว่าเขาตายไปนานแล้วที่เขาอยู่ได้เพราะวิทยาศาสตร์การแพทย์พยุงชีวิตของเขาเอาไว้ หรือกรณีที่ผู้หญิงถูกกระทำชำเราจนตั้งครรภ์แล้วต้องการจะเอาลูกในท้องออกเสียเพราะไม่ได้เกิดจากความรัก ปฏิทรรศน์ (Paradox) ในทางศาสนาก็ห้ามให้ทำเพราะว่าเป็นบาป ในทางกฎหมายถือว่าทำได้ แบบนี้ก็เข้าข่ายของ ชีวจริยธรรม เช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของศตวรรษนี้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ซึ่งยังหาจุดในแก้ปัญหายังไม่ได้
-เมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) , ปฐมมรณสติภาวนา , Youtube
-กุลฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา (kulachatrakul@gmail.com) , โพสต์ทูเดย์ “เมื่อวิกฤตไล่ล่าเรา (Crisis Watch)”
โฆษณา