17 มิ.ย. 2021 เวลา 01:55 • ประวัติศาสตร์
ร่อย
“ร่อย” มีหลายนิยาม
นิยามหนึ่งหมายถึงค่อยหมดไป กร่อนไป
เช่น “...ตฺวํ อันว่าท้าวธผู้จะหวังเป็นพระพุทธ ใจบริสุทธิหน่อไท้ น ขียติ ก็บมิรู้ไร้รู้ร่อย ก็บมิรู้ถอยรู้ถด...” (มหาชาติคำหลวง กัณฑ์สักรบรรพ)
2
ใช้ซ้อนกับ "หรอ" ที่หมายถึงสึกเข้าไป กร่อนเข้าไป เป็น "ร่อยหรอ" ก็ได้ ดังตัวอย่าง
3
“...ที่ด่างพร้อยร่อยหรอก็ต่อเติม พระพักตร์เจิมจุนพระศอต่อพระกร...” (กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)
1
“...มันร่อยหรอสึกไปเมื่อไรมี ไปคนเดียวก็ตามทีช่างเป็นไร...” (บทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน)
2
หรือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงใช้เป็น "หรอร่อย" ดังตัวอย่าง
1
“...ลางเหล่าทลายลิลั่นสะบั้นบิ่นหินเห็นกระเด็นเดาะ เหมือนบุคคลมาเข่นเคาะเราะร่อร่อนให้หรอร่อย เป็นรอยรานร้าวระคายควรจะพิศวง...” (ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์จุลพน)
1
นอกจากนี้ ยังใช้ซ้อนกับ "ราน" ที่หมายถึงลิ ปริ แตก เป็น "ร่อยราน" ดังตัวอย่าง
2
“...บางแห่งก็หินฆนะระดับ และประกับสนิทเนียน บางแห่งก็แหว่งทะลุระเมียร ขรุขระร้าวและร่อยราน...” (ภาพที่หลับตาเห็น : ชิต บุรทัต)
2
หรือใช้เป็น "รานร่อย" หมายถึงด่างพร้อย มีมลทิน ดังตัวอย่าง
3
“...แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง...” (สุภาษิตสอนหญิง)
1
วรรณคดีบางเรื่องใช้ซ้อนกับ "โรย" เป็น "โรยร่อย" หมายถึงเสื่อมไป ก็มี เช่น
1
“...พระตรีญาณประเวศด้วย นรชน/เห็นทุกข์เมทนียดล แด่ขว้ำ/ยลสาสนพระพุทธพล โรยร่อย/หวังช่วยเชิดชูปล้ำ ปลุกให้คงเขษม...” (โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
1
โคลงยวนพ่าย มีคำว่า "ร่อย" ในโคลงดั้นบาทกุญชรบทหนึ่ง ดังนี้
1
“...ใดผิดเชอญช่วยรื้อ รอนเสีย/ใดชอบกาลเชอญเกลา กล่าวเข้า/พยงพระระพีเพงีย สบสาธุ/จุ่งพระยศพระเจ้า ร่อยกัลป์...”
2
ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ว่า "ร่อย" เป็น "เอื้อเอก" ของคำว่า "ร้อย" และถอดความบาทนี้ว่า "จูงพระยศพระเจ้าให้อยู่ชั่วร้อยกัลป์"
1
พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยอยุธยา โคลงยวนพ่าย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ถอดความโคลงบาทสุดท้ายว่า
“...ขอให้พระเกียรติยศของพระองค์ยั่งยืนอยู่ชั่วร้อยกัปร้อยกัลป์...”
1
หรือ “...ขอให้พระเกียรติคุณของพระองค์ยั่งยืนอยู่ชั่วร้อยกัปร้อยกัลป์...”
1
และให้ความหมายของ “ร่อย” ว่าหมายถึง “ร้อย” เช่นกัน
1
ข้อควรสันนิษฐานเพิ่มเติมคือหาก “ร่อย” ไม่ได้หมายถึง “ร้อย” แต่หมายถึง “ค่อยสึกไป, ค่อยกร่อนไป”
2
โคลงบาทนี้จะถอดความได้อีกทางหนึ่งว่า
1
“...ขอให้พระเกียรติยศของพระองค์ยั่งยืนจนกว่าจะสิ้นกัปสิ้นกัลป์...”
1
อนึ่ง ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มีเพลงพื้นบ้านชื่อ "ร่อยพรรษา" คำว่า "ร่อย" ส่องความว่า(เข้า)พรรษาจวนจะสิ้นไปเพราะเป็นเพลงร้องเรี่ยไรให้ทำบุญช่วงก่อนถึงวันออกพรรษา
3
นิยามหนึ่งหมายถึงตามกันไปติดๆ ตามหลังไปติดๆ ดังตัวอย่าง
1
“...พลวสิเนเหน ปทานุปทํ ธาวิตฺวา จิตรตามบาทร่อยร่อย ร้องหารยกราชบุตรปิยยอดรักษ์ ด้วยกํลงงรักสิเนห ไปเอื้อสอิดตนตักไษย...” (มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มัทรี)
1
“...ด้วยรักใคร่ใจม้าต้องอารมณ์ เที่ยวเดินดมกลิ่นรอยร่อยร่อยมา...” (พระอภัยมณี)
1
“...เสียงกรุกเจ้าพลายลุกลงจากเตียง นางพิมเมียงแฝงแม่มาร่อยร่อย...” (ขุนช้างขุนแผน)
1
“...ปูน้อยน้อยวิ่งร่อยตามริมหาด ท้องสองมาดหมายตะครุบปุบเปิดหาย...” (บทละครเรื่องเงาะป่า)
1
อีกนิยามหนึ่งเป็นคำเติมท้ายคำว่า “จ้อย” ที่หมายถึงเล็ก น้อย เป็น จ้อยร่อย กระจ้อยร่อย หมายถึงเล็กนิด
2
บ้านผมเรียกคมมีดที่สึกกร่อนไปว่า คมมีดร่อย
1
น้องชายคนหนึ่งของยายมักพูดข่มขวัญคู่อริว่า กูจะฟันให้คอร่อย
1
"คอร่อย" คือลักษณะคอที่ถูกฟันแล้วห้อยร่องแร่งอยู่จนจวนจะหลุด
3
แต่ก็มักทำท่าเงือดเงื้อหรือขยับมือขยับแขนค้างไว้ไม่ทำจริงเหมือนคนในตระกูลตาคนหนึ่ง
1
“--มันรุกที่” แม่เริ่มเรื่องที่ตายายเคยเล่าให้ฟัง
ญาติผู้มีศักดิ์เป็นตาคนนี้อยู่เหนือบ้านตายายขึ้นไป เราจึงเรียกแถบถิ่นนั้นว่า "บ้านเหนือ" หรือ "เขาพระ" ตามภูมิสถานสำคัญ
ชนวนสงครามเกิดจากสองพ่อลูกบ้านติดกันมักหาหนทางล่วงล้ำเข้ามาในเขตบ้านตาเสมอ
ตาไม่อยากกระทบกระทั่งจึงเฝ้าดูอย่างเงียบๆ
แต่ยิ่งเงียบอีกฝ่ายยิ่งย่ามใจ ตาจึงเริ่มเอ่ยเตือน
ลูกสาวตัวดีทำหูทวนลมไม่ฟังคำเตือนนั้น ตาพ่อยิ่งลำพองหนักและมักท้าทายชวนวิวาท
ธรรมดาตามีนิสัยใจคอเยือกเย็นสุขุม จิตใจหนักแน่น ไม่ฉุนเฉียวโกรธง่าย
"แต่มันบ่อยเข้าก็ทนไม่ไหว" แม่เล่าต่อ
วันหนึ่งตากับเพื่อนบ้านขี้เอาเปรียบมีปากเสียงและเริ่มลงมีดลงไม้ใช้อาวุธเข้าช่วย
จังหวะที่ฝ่ายนั้นเสียทีตาก็ใช้เหลียนหวดเข้าไปที่ลำคอเสียงดัง “ฉับ!!!”
แม่ว่ายายไปทันเห็นร่องรอยการต่อสู้กับอยู่ตอนที่ตำรวจมาคุมตัวไปจึงได้ยินคำให้การ
“ตาเขาบอกตำรวจว่าป้องกันตัว”
“แล้วทำไมยังต้องติดคุก” ผมถาม
“ก็ศาลเขาไม่เชื่อ เขาว่าป้องกันตัวต้องเหวี่ยงๆ นี่เล่นฟาดลงไปเต็มๆ--”
“แล้วเป็นไง”
รู้ทั้งรู้เพราะเคยฟังมาตั้งแต่เด็กแต่ก็ยังรุกเร้าให้แม่เล่าต่อเพราะชอบน้ำเสียงและลีลาการเล่าของแม่
"จะเหลือรึ--" แม่เว้นช่วงเป็นอุบายชักชวนให้อยากรู้เช่นเคย
“--ล่อเสียคอ ‘ร่อย’ จะไม่ตายยังไงไหว”
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ติดตามเพิ่มเติม
Facebook page : https://bit.ly/3iOLZFA
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ศัพทานุกรมวรรณคดีไทย # Lexicon of Thai Literature #วรรณคดี #วรรณกรรม #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #มหาชาติคำหลวงกัณฑ์สักรบรรพ #กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว #บทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน #ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์จุลพน #สุภาษิตสอนหญิง #ภาพที่หลับตาเห็น #โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี #โคลงยวนพ่าย #มหาชาติคําหลวงกัณฑ์มัทรี #พระอภัยมณี #ขุนช้างขุนแผน #บทละครเรื่องเงาะป่า #ร่อยหรอ #หรอร่อย #ร่อยราน #รานร่อย #โรยร่อย #ร่อยร่อย #คอร่อย #ร่อย
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
โฆษณา