18 มิ.ย. 2021 เวลา 01:30 • การศึกษา
สรรพสิ่งไม่มีอะไรยั่งยืน
▪︎สรรพสิ่ง อะไร? ยั่งยืน
พระพุทธองค์ตรัสเตือนเราทั้งหลาย เป็นปัจฉิโมวาทว่า
“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ”
“ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
เราเคยได้ยินพระท่านสอนว่า
"ทุกสรรพสิ่งมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป"
เมื่อยามเห็นคนอื่นประสบ เรากลับ
ไม่รู้สึกใดๆ หรือกลับหัวเราะเยาะเขา
แต่เมื่อเกิดกับตัวเอง กลับทำใจไม่ได้
จริงๆ แล้ว
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร
เกิดแก่ทุกรูป ทุกนาม
ไม่เลือกว่า เป็นกษัตริย์ อำมาตย์ ราชการ
คนรวย คนจน เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ขาย ฯลฯ
ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้กฏนี้ทั้งนั้น
เมื่อมีเกิด ก็มีแก่
เมื่อมีแก่ ก็มีเจ็บ
เมื่อมีเจ็บ ก็มีตาย
มีพลัดพราก จากกัน
เป็นธรรมดา .. ธรรมเหล่านี้เป็นของเก่า
พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม
ธรรมเหล่านี้ก็คงอยู่เป็นสัจธรรมเสมอ
อย่าคิดว่า ทำไม ? "ธรรมเหล่านี้"
เกิดแก่เรา แก่คน แก่พวกพ้องของเรา เท่านั้น
ความจริงแล้วธรรมเหล่านี้เกิดแก่ทุกสรรพสิ่ง
ทั้งที่มีชีวิต ทั้งไม่มีชีวิต
ไม่มีสรรพสิ่งใด จีรัง ยั่งยืน ถาวร
หาก "เรา"
เข้าไปยึดเอา
เข้าไปถืเอา
ว่า "เรา ของๆ เรา คนของเรา"
ทุกข์ย่อมถาโถมท่วมทับ "เรา"
ยากจะต้านทานได้
หาก "เรา"
ไม่ยึดเอา
ไม่ถือเอา
ไม่ใส่ใจ
ว่า "เรา ของๆ เรา"
เท่ากับเราปล่อยความทุกข์นานัปปการ
เท่ากับเราทำตัวให้เบาจากทุกข์ทุกสรรพ
ลองนึกย้อนกลับไป ถึง คน สัตว์ สิ่งของ
ตอนที่ยังไม่เป็นของ "เรา"
เราจะไม่รู้สึกใดๆ เลย
แม้กระทั่งเดินผ่าน เดินชน
ก็ไม่มีความรู้สึกรัก หวงแหน ใส่ใจ
แต่เมื่อใดจิตเข้าไปเกาะกุมว่า
"คนของเรา"
"ของๆ เรา"
จิตเราจะเข้าไปยึด เข้าไปหวงแหน
เข้าไปห่วงใย เข้าไปรับเอาทุกข์ทุกสรรพสิ่ง
เมื่อ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านั้น
แปรเปลี่ยนสภาพไป ไม่คงเดิม
ตาย จาก พราก เปลี่ยน แปลง
เราจะรู้สึกว่า "ทำไม ? ความทุกข์ถึง
ถาโถม ท่วมทับ เบียดเบียน บีฑา เรา
เหลือคณานับ"
พระพุทธองค์สอนให้เราว่า
"สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงทำประโยชน์ของตนและของ
ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
ก่อร่างสร้างความดีแก่กันและกัน
ในขณะที่เรายังใช้ลมหายใจเดียวกัน
ยังกินข้าว ยังใช้ชีวิตร่วมกัน
ยังเห็นหน้ากัน ปฏิบัติต่อกันและกัน
เหมือนต้อนรับญาติผู้มาจากแดนไกล
เถิด จะเกิดประโยชน์และความสุขใจ
แก่ตนเอง แก่คนใกล้ชิด แก่คนร่วมกัน
จะไม่ได้เดือดร้อนในภายหลังว่า
"เรายังไม่ได้ทำสิ่งนั้นให้เลย
เรายังไม่ได้ตอบแทนท่านเลย
ทำไมเราถึงไม่ทำสิ่งที่ดีต่อเขา"
ทำในสิ่งที่ควรทำในวันนี้
เพราะเราก็ไม่รู้ว่า "พรุ่งนี้จะมาถึงเราไหม"
อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ
โก ชญฺญา มรณํ สุเวฯ
▪︎เจริญธรรม
โฆษณา