ตื่นตา!! ฝูงวัวแดงเริงร่า กินหญ้าอ่อนที่ห้วยขาแข้ง 🐂🐂🐂
ฝูงวัวแดงกว่า 40 ตัว ที่ออกมาหากินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกใบอ่อนระบัดขึ้นมาใหม่ ซึ่งวัวแดงแต่ละตัวมีร่างกายที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีการจัดการพื้นที่อย่างมีแบบแผน รวมถึงมีการลาดตระเชิงคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สำหรับวัวแดง ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเคยเผยแพร่ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่งป่าห้วยขาแข้งในตอน : 'วัวแดง' ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร โดยระบุไว้ดังนี้
วัวแดง หรือ วัวเพลาะ (Banteng) เป็นสัตว์ป่าที่เราน่าจะคุ้นเคยกันบ้าง แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องการแยกแยะ ‘วัวแดง’ กับ ‘กระทิง’ ออกจากกัน
แท้จริงแล้ว วัวแดง ก็เป็นสัตว์ในวงศ์วัวและควายเช่นเดียวกับกระทิง ... เท้ากีบเหมือนกัน เขาไม่แตกกิ่งเหมือนกัน กินพืชเหมือนกัน เคี้ยวเอื้องเหมือนกัน และรูปร่างรึก็คล้ายคลึงกัน แถมใส่ถุงเท้าขาวเหมือนกันอีก...จัดว่าเป็นปัญหาของชาวสัตว์ป่ามือใหม่พอสมควร
วัวแดง มีขนาดตัวเล็กกว่ากระทิงเพียงเล็กน้อย การสังเกตด้วยลักษณะภายนอกจึงเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แนะนำให้ดูที่ก้น...จริง ๆ นะ ไม่ได้ทะลึ่งเลย...
ลองเดินวน ๆ ไปดูข้างหลัง...วัวแดง จะมีวงสีข้าวที่ก้นทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งจุดนี้กระทิงไม่มี
เรามักพบเห็นวัวแดงได้ตามป่าโปร่ง เพื่อหากินแทะเล็กใบหญ้า ผลไม้ หรือยอดอ่อน ๆ ของไม้พุ่ม และมักจะหลบภัยหรือพักผ่อนในป่าทึบ เห็นรูปร่างแบบนี้...กลับเคลื่อนไหวหลบหนีภัยได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ไม่อืดอาดเหมือนวัวบ้าน
ทั้งยังขึ้นชื่อว่ามีประสาทการดมกลิ่นขั้นดีเลิศ มีประสาทหูและตาในระดับดี ... ใช่ว่าจะตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าได้ง่ายดายนัก
ในประเทศไทย เราพบการกระจายตัวของวัวแดงอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ฯลฯ...และที่สำคัญคือ...
เป็น ‘7 สัตว์ป่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’
ด้านความเป็นอยู่ของวัวแดงในระบบนิเวศนั้น...คือ ‘เหยื่ออันโอชะของเสือโคร่ง’
เสือโคร่ง คือ ผู้ล่า คือศัตรูตัวฉกาจในธรรมชาติของวัวแดง ด้วยสรีระของวัวแดง หากเสือโคร่งล่าวัวแดงได้ เราอนุมานได้ว่า...เสือโคร่งตัวนั้นต้องมีความแข็งแรงอย่างมาก
มันคือ...ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี...
และนั่นคือเหตุผลที่เรายกให้วัวแดง เป็น ‘ผู้มีอุปการะคุณแห่งพงไพร’ นั่นก็เพราะ วัวแดง ถือเป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง ความเป็นอยู่อันสุขสบายของเสือโคร่ง ย่อมมีปัจจัยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อด้วย
ดังนั้น การมีวัวแดงชุกชุม จึงเท่ากับ ความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
สถานภาพปัจจุบันของวัวแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)
ที่น่ายินดีอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะพันธุ์วัวแดงเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี พื้นที่ซึ่งวัวแดงเคยสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับมาฟื้นฟูจำนวนประชากรใหม่ได้อีกครั้ง...
ทั้งนี้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยังได้ยืนยันอีกว่า...“สัตว์ป่า แต่ละชนิดล้วนแต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกมันทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลในระบบ ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ดังนั้น ไม่ว่าจะเหตุผลกลไดก็ตาม สัตว์ป่าย่อมมีคุณค่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในผืนป่า มิใช่ในกรงเลี้ยง”
ข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand
#วัวแดง #สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า #กรมอุทยาน #prdnp #DNP #สายด่วน1362