18 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Helicopter money กับหนังดังเรื่อง Money Heist ทรชนคนปล้นโลกเกี่ยวกันอย่างไร
Money Heist ทรชนปล้นโลก
เมื่อพูดถึงหนึ่งในซีรี่ส์ที่มีคนติดตามรอภาคต่อมากที่สุด ชื่อของ Money Heist (Spanish: La casa de papel) หรือชื่อภาษาไทยว่า ทรชนคนปล้นโลก ย่อมผุดขึ้นมาในความคิดของหลายๆ คนอย่างแน่นอน และในเดือนที่ผ่านมานี้เอง ก็พึ่งได้มีการปล่อยตัวอย่างเรียกน้ำย่อยของภาคต่อในภาคที่ 5 ที่กำลังจะออกมาให้ทุกคนได้รับชมกันในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
สำหรับใครที่ยังไม่เคยดูซีรี่ส์เรื่องนี้ต้องขอเกริ่นให้ฟังสั้นๆ เกี่ยวกับเนื้อเรื่องกันสักนิดหนึ่ง โดย Money Heist เป็นเรื่องราวที่นำโดยตัวละคร “ศาสตราจารย์ (Professor)” อัจฉริยะจอมวางแผน ที่เป็นหัวหน้าทีมปล้นที่แต่ละคนมาพร้อมกับชื่อเท่ๆ ที่แทนตัวเองโดยชื่อเมือง เช่น โตเกียว ริโอ เบอร์ลิน เดนเวอร์ฯ รวมทีมกันเข้าปล้นโรงกษาปณ์ในภาคที่ 1
เรื่องราวความเข้มข้นในการโจรกรรมครั้งใหญ่นี้ยังอัดแน่นมาพร้อมกับดราม่าที่เข้มข้นในเรื่องความสัมพันธ์ ที่แอบใบ้ว่าสนุกไม่แพ้กับเนื้อเรื่องหลักเลย
Professor หัวหน้าทีมปล้นอัจฉริยะจอมวางแผน
สมาชิกทีมปล้น (จากซ้ายไปขวา) โตเกียว ริโอ เบอร์ลิน ปาแลร์โม
สมาชิกทีมปล้น (จากซ้ายไปขวา) เนโลบี เดนเวอร์ สตอกโฮล์ม ลิสบอน
แต่ฉากที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้จริงๆ แล้วเกิดขึ้นในภาคที่ 3 เมื่อทีมปล้นชื่อเสียงกระฉ่อนโลกนี้ ได้ทำการโปรยจากบอลลูนเงินมูลค่าหลายล้านยูโร กลางกรุงมาดริด ให้กับประชาชน ซึ่งผมก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงสงสัย ทำไมรัฐบาลประเทศต่างๆ ถึงไม่แจกเงินในลักษณะแบบนี้
ความจริงแล้ว แนวคิดแบบนี้ในทางเศรษฐศาสตร์มีอยู่ครับ เราเรียกแนวคิดการแจกเงินจำนวนมหาศาลไปสู่มือประชาชนแบบนี้กันว่า “Helicopter Money หรือ Helicopter Drop” พูดเปรียบเปรยก็เหมือนการโปรยเงินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์นั่นเอง
2
คำว่า Helicopter Drop (ที่ต่อมากลายมาเป็น Helicopter Money) เป็นรูปแบบของนโยบายการเงินที่ทางธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาใช้กับนโยบายการคลังทั้งอาจจะผ่านการให้กับประชาชนโดยตรง หรืออาจจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์การเงินเจ้าของรางวัลโนเบลอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ในปี 1969
Milton Friedman บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์การเงิน
แต่กลับมาได้รับการพูดถึงมากขึ้นหลังจากปี 2000 เมื่อญี่ปุ่นเคยนำแนวคิดนี้มาถกเพื่อแก้ไขปัญหาการซบเซาทางเศรษฐกิจ หรือตอนที่อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่าง คุณเบน เบอร์นันเก้ (Ben Bernanke) นำมาสมัยเข้ารับพูดตำแหน่ง
ในปี 2002 ซึ่งต่อมาทั้งในกรณีของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เองก็นโยบายอย่าง QE (Quantitative Easing) ที่มีลักษณะคล้ายกับการอัดเงินเข้าไปของ Helicopter Money เพียงแต่นโยบายนี้เป็นเพียงการอัดฉีดเงินผ่านเข้าไปในตลาดการเงิน แทนที่จะส่งไปให้กับประชาชนโดยตรง
พอเป็นแบบนี้ หากดูเพียงผิวเผิน ในเมื่อนโยบายอย่าง QE (Quantitative Easing) ที่อัดฉีดเงินเข้าไปผ่านตลาดการเงินก็ยังสามารถทำได้ในปัจจุบัน แล้วทำไมการแจกเงินเข้าไปสู่มือประชาชนโดยตรงแบบโปรยจากฟ้าถึงแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย (อันที่จริง นโยบายที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ใช้ช่วยเหลือธุรกิจและประชาชน ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ถูกเรียกจากบางคนว่าเข้าข่าย Helicopter Money)
เราจะเล่าให้ฟังถึงเหตุผลบางประการที่อยู่เบื้องหลังของเรื่องนี้ ที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยสนับสนุนแนวคิด Helicopter Money กันสักเท่าไร
Helicopter Money แนวคิดการแจกเงินจำนวนมหาศาลไปสู่มือประชาชน
1. ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ(Inflation) ที่สูงเกินไป บทเรียนจากภาวะเงินเฟ้อ(Inflation) ที่ส่งผลให้ข้าวของแพงขึ้น จนธนบัตรมีมูลค่าต่ำยิ่งกว่ากระดาษในอดีต เป็นสิ่งสำคัญที่รั้งไม่ให้ Helicopter Money เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ
1) เยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
2) ซิมบับเวในช่วงปี 2008
3) และล่าสุดที่เวเนซุเอล่าในปี 2016
ที่ต้องบอกว่าทุกครั้งที่กล่าวข้างต้น เกิดความโกลาหลขึ้นกับทุกประเทศ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็มักจะเกิดพร้อมกับการที่รัฐบาลบังคับให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาใช้เกินตัวอีกด้วย (ซึ่งเป็นเหตุผลที่หลายประเทศกำหนดให้ธนาคารกลางต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล รัฐบาลจะได้คุมการพิมพ์ธนบัตรไม่ได้)
2. โดนประชาชนอาจจะมองว่าการแจกเงินในวันนี้ จะหมายถึงการเก็บภาษีเพิ่มในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนผู้มีการคาดการณ์ถึงอนาคตเหล่านี้จะทำก็คือการเก็บเงินที่ได้ในวันนี้ไว้จ่ายภาษีในวันข้างหน้าตอนภาษีเพิ่มขึ้นมา ถ้ามีคนคิดแบบนี้มากๆ นโยบายการแจกเงินลงไปก็จะไม่ได้ผล
3. นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการคาดการณ์อีกแล้ว แต่คาดการณ์ในลักษณะตรงกันข้าม คือวันนี้ได้เงิน พรุ่งนี้ก็อยากจะได้รับอีก กลายเป็นว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็จะต้องพิมพ์เงินแจกไปเรื่อยๆ
นี่คือ 3 เหตุผลสำคัญหลักที่ทำให้นโยบาย Helicopter Money ถูกเรียกว่าเป็นนโยบายที่พึ่งสุดท้ายจริงๆ
โดยตัวของศาสตราจารย์ฟรีดแมน (Friedman) ที่เป็นคนพูดถึงคำนี้คนแรกก็เคยกล่าวเอาไว้ว่าว่าเหตุการณ์ที่เหมาะสมจะใช้นโยบายการเงินแบบนี้ต้องเป็น “เหตุการณ์พิเศษที่จะไม่หวนกลับมาเกิดอีก (a unique event which will never be repeated)” ไม่งั้นการใช้นโยบายนี้ก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่า เพราะมันจะอาจจะไปปรับการคาดการณ์จากประชาชนทำให้นโยบายอื่นๆ จากภาครัฐให้ใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ด้วย
ทั้งคนที่อาจจะกังวลเรื่องความไม่เป็นอิสระของธนาคารกลางจากกระทรวงการคลัง จนทำให้เงินมีมูลค่ากลายเป็นกระดาษธรรมดาๆ หรือการคาดการณ์เรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นดังตัวอย่างข้างต้นที่เราเล่าไป ซึ่งล้วนสามารถบั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อนโยบายของรัฐได้ทั้งสิ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
แม้แต่ในซีรี่ส์ Money Heist เองก็พยายามนำเสนอเรื่องราวความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาลเช่นกัน ความไม่โปร่งใสในเรื่องลับที่แอบซ่อนอยู่กระเป๋าลับ การกระทำสิ่งมิชอบลับหลังประชาชน เช่น การสอบสวนของตำรวจอย่างไม่ถูกกฎหมาย เรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คนหันมาเชียร์โจรปล้นธนาคาร ทำให้ตำรวจผู้รักษาความยุติธรรรมกลายเป็นผู้ร้าย ทำให้คนที่ควรจะตัดสินใจอย่างมีเหตุผลกลายเป็นไร้เหตุผล
อยากให้ท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูว่าถ้าเรื่องนี้ดันไปเกิดขึ้นกับการใช้นโยบายสำคัญๆ จากรัฐแทน เรื่องราวอาจจะแย่ไปได้แค่ไหน
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ทุกคนคงเห็นตรงกันว่าเศรษฐศาสตร์นั้นแทรกอยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอย่างน่าสนใจ การเข้าใจเศรษฐศาสตร์ จะทำให้เรามองสิ่งที่แวดล้อมตัวเราได้อย่างน่าสนใจ กระทั่งหนังทรชนคนปล้นโลกก็ยังมีมุมเช่นนี้ซ่อนเร้นอยู่
ส่วนสัปดาห์หน้าทาง Bnomics จะนำหนังหรือซีรี่ส์เรื่องอะไรมาแนะนำให้ทุกคนติดตามผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์อีก ก็อย่าลืมกลับมาติดตามกันด้วยครับ สำหรับวันนี้ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการดูหนังวันหยุดครับ และหากท่านมีเรื่องไหนที่อยากให้เราวิเคราะห์ในมุมเศรษฐศาสตร์สามารถแนะนำได้ใน comment ข้างล่างครับ
ผู้เขียน: ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา