18 มิ.ย. 2021 เวลา 13:11 • ประวัติศาสตร์
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่เยอรมนีได้ทำการยึดครองประเทศโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งประกอบไปด้วย นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ก็ตกเป็นเป้าหมายทันที ถึงแม้ว่าทั้ง 3 ประเทศจะประกาศเป็นกลางก็ตาม และพวกเขาแทบไม่มีกองทัพที่มีประสิทธิภาพพอที่จะต่อกรกลับ
 
ทางฝ่ายเยอรมนีเชื่อว่าการเข้าครอบครองประเทศแถบสแกนดิเนเวียจะทำให้อังกฤษไม่สามารถมาปิดเส้นทางเดินเรือตอนเหนือของเยอรมนีซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อความมั่นคงในทะเลเหนือ
 
9 เมษายน ค.ศ.1940 กองทัพเยอรมันจึงได้ทำการบุกประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ในปฏิบัติการที่ชื่อว่า
เวเซอร์อือบุง (Operation Weserübung)
1
ส่วนประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสที่ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ก่อนหน้านี้ ว่าพร้อมที่จะปกป้องและคุ้มครองประเทศนอร์เวย์หากถูกกองทัพเยอรมันรุกราน ก็ได้เข้ามาเสริมกำลังแก่ประเทศนอร์เวย์ เพื่อช่วยต่อต้านให้เยอรมนีออกไปจากดินแดนแถบสแกนดิเนเวียเหล่านี้
ตั้งแต่ 9 เมษายน ถึง 10 มิถุนายน ค.ศ.1940
เป็นช่วงเวลา 61 วันที่กองทัพเยอรมนีทำการสู้รบกับอังกฤษและฝรั่งเศส มันคือสงครามแย่งชิงดินแดนตอนเหนือของทวีปยุโรป
 
การต่อสู้ที่มีทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
โดยประเทศเดนมาร์กส่วนมากจะสู้รบกันทางบก ส่วนประเทศนอร์เวย์จะสู้รบทางอากาศ
 
กองทัพเยอรมันบุกเข้าไปทำลายนอร์เวย์ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด บินลึกเข้าไปในดินแดนประเทศนอร์เวย์ที่เต็มไปด้วยหิมะและหุบเขาซึ่งยากแก่การเข้าถึงด้วยทางบก
 
ในการบุกโจมตีทางอากาศนั่นเอง มันมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เหตุการณ์เรื่องราวของการต่อสู้ดิ้นรน จนกลายเป็นมิตรภาพระหว่างนักบินและลูกเรือของสองประเทศที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
 
มันคือมิตรภาพที่เริ่มจากความขัดแย้ง
สู่การเป็นเพื่อนรักจนวันตาย
ช่วงฤดูใบไม้ผลิในเดือนเมษายน ปีค.ศ. 1940
ณ พื้นที่ภูเขาหิมะอันหนาวเหน็บอันห่างไกลในประเทศนอร์เวย์
 
เครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 จำนวน 1 ลำของเยอรมนี นำโดยกัปตัน ฮอร์ส โชพิส ได้บินเข้ามาในแดนลึกของประเทศนอร์เวย์ หวังจะทิ้งระเบิดเพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญของข้าศึก
 
แต่ฝ่ายอังกฤษได้ดักรอไว้อยู่แล้ว
เครื่องบินขับไล่ B-24 Skua จำนวน 3 ลำของอังกฤษเห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดลำนี้ของเยอรมันเข้าจึงทำการไล่ล่าต่อสู้กันอย่างดุเดือด
 
3 ต่อ 1 ดูจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางอย่าง Heinkel He 111
Heinkel He 111
B-24 Skua ทั้ง 3 ลำได้ระดมยิงปืนกลอากาศใส่ไม่นานนัก เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันก็เกิดควันไฟลุก มันได้ตกลงบนแนวภูเขาเหนือทะเลสาบน้ำแข็งในดินแดนอันอ้างว้างและห่างไกลในประเทศนอร์เวย์
 
แต่ไม่กี่นาทีต่อมาหลังสิ้นเสียงดีใจในชัยชนะของเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษทั้ง 3 ลำ
B-24 Skua
ภาพการต่อสู้ทางอากาศเหนือประเทศนอร์เวย์ในปีค.ศ.1940
เครื่องบิน B-24 Skua ลำหนึ่งก็เกิดประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง กัปตัน อาร์. ที. พาร์ทริดจ์ นักบินเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษลำนั้นได้พยายามแก้ไขให้เครื่องยนต์กลับมาทำงานอีกครั้ง
แต่มันไม่ได้ผล พาร์ทริดจ์จึงตัดสินใจลงจอดฉุกเฉินบนทะเลสาบน้ำแข็ง เขาพยายามบังคับเครื่องบินให้ลงจอดในพื้นที่ที่ขรุขระน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
เครื่องบิน B-24 Skua กระแทกเข้ากับพื้นผิวน้ำแข็งที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ กัปตันพาร์ทริดจ์ และ อาร์. เอส. โบสต็อค เจ้าหน้าที่วิทยุที่นั่งด้านหลังปลอดภัยดี ทั้งสองก้าวออกมาจากเครื่องบินที่สภาพยับเยินบินต่อไม่ได้อีกต่อไป
ภาพที่เห็นด้านหน้าเต็มไปด้วยหุบเขาและพื้นดินอันอ้างว้างปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน หิมะที่กำลังตกพร้อมกับลมอันหนาวเหน็บที่พัดรุนแรงทำให้ทั้งสองมิอาจอยู่ตรงนี้ได้อีกต่อไป พวกเขาต้องหาที่หลบภัยก่อนที่จะต้องมาตายจากความหนาวเย็น
 
พาร์ทริดจ์ เห็นกระท่อมไม้เล็กๆ หลังหนึ่ง มันดูเหมือนเป็นที่พักชั่วคราวเอาไว้สำหรับคนที่มาล่ากวางเรนเดียร์ พวกเขาจึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังกระท่อมแห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนักจากที่ทั้งสองยืนอยู่
 
หิมะที่ตกหนักทำให้พวกเขามองอะไรแทบไม่เห็น พาร์ทริดจ์ และโบสต็อค พยายามเดินลุยฝ่าหิมะด้วยความยากลำบาก จนในที่สุดทั้งสองก็เดินมาถึง พวกเขาพบว่ามันเป็นกระท่อมร้างไม่น่าจะมีผู้อยู่อาศัยมานาน
และไม่กี่นาทีต่อมา พาร์ทริดจ์และโบสต็อค ก็ค้นพบว่าไม่ได้มีแค่พวกเขาที่เดินมายังกระท่อมหลังนี้
 
ทั้งสองมองเห็นชาย 3 คนเดินฝ่าหิมะที่กำลังตกหนักมายังกระท่อม เมื่อพวกเขาเดินใกล้เข้ามามากขึ้น พาร์ทริดจ์ก็รู้ทันที ว่าพวกเขาคือลูกเรือเครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 ที่เขาเพิ่งจะยิงตกไปนั่นเอง
 
ชาย 3 คนเดินเข้ามาหาพาร์ทริดจ์ด้วยสีหน้าที่ตึงเครียดปนเศร้าหมอง พวกเขาเป็นลูกเรือ Heinkel He 111 ผู้รอดชีวิตจากการถูกยิงตก หนึ่งในนั้นคือกัปตัน ฮอร์ส โชพิส เขาถามกับพาร์ทริดจ์เป็นภาษาอังกฤษว่าพาร์ทริดจ์และลูกเรืออีกคนมาที่นี่ได้อย่างไร?
พาร์ทริดจ์เกรงว่าถ้าบอกความจริงออกไปว่าเขาเป็นนักบินที่ยิงพวกเขาตกเองอาจจะมีเหตุนองเลือดเกิดขึ้นได้ เพราะทั้งสองฝ่ายตอนนี้มีทั้งปืนพกและมีดติดตัว
เขาจึงโกหกโชพิสไปว่าเขาเป็นนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิด Vickers Wellington ของอังกฤษ ซึ่งถูกเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันยิงตก
ทั้งสองฝ่ายเจรจากันอยู่สักพัก จนได้ข้อสรุปว่าฝ่ายลูกเรือเยอรมันจะอาศัยอยู่ในกระท่อม ส่วนลูกเรือฝ่ายอังกฤษจะไปหาที่พักอื่น และจะไม่มีการฆ่าฟันกันระหว่างพวกเขา
ไม่มีใครต้องตายเพิ่มอีกในวันนั้น
พาร์ทริดจ์และโบสต็อค เดินไปถึงเมืองโกรทลิ(Grotli) มันเป็นเมืองเล็กๆ ซึ่งมีรีสอร์ทพักร้อนในช่วงฤดูร้อนที่ในตอนนั้นถูกทิ้งร้างไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ทั้งสองทำลายกลอนประตูทางเข้าโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อเข้าไปหลบพักอาศัย ในที่สุดพวกเขาก็ผ่านพ้นคืนนี้ไปอย่างสงบสุข
รุ่งเช้าวันถัดมา พวกเขาก็พบเข้ากับ ฮอร์ส โชพิส และลูกเรือชาวเยอรมันที่โรงแรมที่เขาพัก โชพิสเล่าว่าหลังจากตื่นนอนพวกเขาก็ตัดสินใจออกจากกระท่อมหลังนั้นเพื่อค้นหาว่ามีเมืองไหนที่อยู่ใกล้ๆ บ้าง
ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ทานอาหารเช้า พวกเขาทั้งหมดจึงรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน อีกทั้งยังแบ่งปันอาหารซึ่งกันและกันอีกด้วย แทนที่จะยิงกัน ทั้งสองฝ่ายกลับมานั่งคุยตัดสินใจว่าในตอนนี้เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์นี้
ในตอนนี้พวกเขาทั้งคู่อยู่ห่างไกลจากแนวรบของทั้งสองฝ่าย และไม่สามารถหาทางสื่อสารกลับไปยังหน่วยได้ พวกเขาจึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมีใครมาช่วยพวกเขาหรือไม่ ถ้าไม่ร่วมมือกันทั้งหมดอาจจะต้องตาย ณ ที่แห่งนี้
1
พาร์ทริดจ์และลูกเรือเยอรมันคนหนึ่งนามว่า คาร์ล ไฮนซ์ สตังค์ ตัดสินใจออกไปสำรวจพื้นที่ด้วยกัน พวกเขาพยายามมองหาว่ามีคนอื่นๆ อยู่บ้างไหม และดูว่ามีเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ใกล้ๆ หรือไม่
แต่หลังจากออกไปไม่ทันใด ทั้งสองก็พบเข้ากับหน่วยลาดตระเวนสกีของนอร์เวย์ หน่วยลาดตระเวนเห็นทั้งสองจึงยิงขึ้นฟ้าเพื่อเตือนทั้งคู่ให้หยุดนิ่ง พาร์ทริดจ์หมอบลงบนพื้น ส่วนสตังค์ค่อยๆ ชูมือไว้เหนือศรีษะของเขา
สตังค์พยายามเอามือไปหยิบปืนพกที่อยู่ข้างตัว หน่วยลาดตระเวนเห็นดังนั้นจึงยิงเข้าที่สตังค์จนเสียชีวิตทันที คนที่เหลือที่ได้ยินเสียงปืน จึงรีบวิ่งออกจากโรงแรมมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พาร์ทริดจ์และโบสต็อคพยายามอธิบายว่าเขาทั้งสองเป็นชาวอังกฤษด้วยการโชว์เงินอังกฤษที่พวกเขาพกอยู่ พาร์ทริดจ์และโบสต็อคจึงไม่ถูกจับกุม
ส่วนกัปตัน ฮอร์ส โชพิส และโจเซฟ อัชเทอร์ เจ้าหน้าที่ช่างบนเครื่องบินเยอรมันก็ยอมจำนนและถูกหน่วยลาดตระเวนของนอร์เวย์จับกุมตัวไป
ฮอร์ส โชพิส และโจเซฟ อัชเทอร์ถูกส่งไปยังเรือนจำในเมืองสตริน(Stryn) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เขาถูกจับ จากนั้นพวกเขาถูกส่งตัวไปยังประเทศแคนาดา และอยู่ในฐานะเชลยศึกจนกระทั่งจบสงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วนพาร์ทริดจ์และโบสต็อค เดินทางต่อไปยังเมืองเอลซุนด์ ทั้งสองพยายามติดต่อกับนาวิกโยธินอังกฤษเพื่อหาทางกลับไปยังประเทศอังกฤษ จนกระทั่งพวกเขาติดต่อได้ จากนั้นพวกเขาก็ได้ขโมยรถคันหนึ่งแล้วขับรถไปยังจุดที่เรือหลวงแมนเชสเตอร์จอดอยู่ และแล้วทั้งสองก็ได้กลับไปยังประเทศอังกฤษ
พาร์ทริดจ์และโบสต็อคกลับไปทำหน้าที่ดังเดิม พวกเขากลับขึ้นไปบนเครื่องบินขับไล่ B-24 Skua อีกครั้ง และได้เข้าร่วมการรบทางอากาศที่ประเทศนอร์เวย์อีกรอบในการต่อสู้ที่เมืองทรอนด์เฮม(Trondheim)
เครื่องบินของทั้งสองถูกยิงตก โบสต็อคเสียชีวิตจากการรบในครั้งนี้ ส่วนพาร์ทริดจ์รอดชีวิตและถูกจับเป็นเชลยศึก
จากความพ่ายแพ้ในอาวุธและประสิทธิภาพของกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ.1940 ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสจึงตัดสินใจถอนกำลังทั้งหมดกว่า 24,000 นายกลับประเทศ
และในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1940 เยอรมนีจึงประกาศชัยชนะในการรบครั้งนี้ และเปลี่ยนโฉมหน้าอำนาจในดินแดนตอนเหนือไปโดยปริยาย
จากความพ่ายแพ้ในครั้งนี้นายเนวิล เชมเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในตอนนั้นจึงได้ตัดสินใจประกาศลาออก และแทนที่ด้วยเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าการรบของประเทศอังกฤษ
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
อาร์. ที. พาร์ทริดจ์ และฮอร์ส โชพิส รอดชีวิตจากสงครามในฐานะเชลยศึก ทั้งสองเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของตนเองในสงคราม ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ที่ทั้งคู่ได้พบกันด้วย
จนกระทั่ง10 ปีต่อมา พาร์ทริดจ์ก็ได้รับรู้ว่าโชพิสนั้นรอดชีวิตและเขียนหนังสือถึงเรื่องราวนี้เช่นกัน พาร์ทริดจ์จึงได้พยายามติดต่อกับโชพิสเพื่อนัดเจอกัน
ในที่สุดทั้งสองก็ได้พบกันอีกครั้ง และกลายเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งคู่ไปมาหาสู่ระหว่างเมืองลอนดอนและเมืองมิวนิคกันเสมอทุกๆ ปี นอกจากทั้งสองจะสนิทกันแล้ว ครอบครัวของทั้งสองก็ยังรักกันด้วยเช่นกัน
ฮอร์ส โชพิส (ซ้าย) อาร์. ที. พาร์ทริดจ์ (ขวา)
ในปีค.ศ.1974 ทั้งสองคนนัดพบกันครั้งสุดท้ายที่เมืองโกรทลิ (Grotli) เมืองที่ทั้งสองพบกันครั้งแรกและทานอาหารเช้าร่วมกัน
อาร์. ที. พาร์ทริดจ์ เสียชีวิตในปีค.ศ.1990
โชพิส (ซ้าย) และ อาร์. ที. พาร์ทริดจ์ (ขวา)
ในปีค.ศ.2011 มีการสร้างภาพยนตร์ที่ชื่อว่า "Into the White" แสดงนำโดยรูเพิร์ต กรินท์ (จากภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์) Into the White เป็นภาพยนตร์ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงที่พาร์ทริดจ์ และโชพิสได้พบกัน โชพิสยังได้เข้าร่วมในวันประกาศทำภาพยนตร์อีกด้วย
เขาเสียชีวิตในปีค.ศ.2011 ด้วยวัย 99 ปี
เพียง 1 ปีก่อนที่ภาพยนตร์นี้จะถูกฉายออกไป
โชพิสในระหว่างการถ่ายทำ Into the white
บทความโดย : I’m from Andromeda
แหล่งข้อมูล :
HISTORY OF WORLD WAR 2 ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดย พันเอกนิโรจน์ ธรรมยศ
โฆษณา