Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Pluto Parents เลี้ยงลูกให้ทันโลก by 8 บรรทัดครึ่ง
•
ติดตาม
19 มิ.ย. 2021 เวลา 02:31 • ครอบครัว & เด็ก
3 เคล็ดลับจากงานวิจัย “คุย” ยังไงให้ลูกฉลาด (เคล็ดลับที่ 2)
ในช่วงโควิดแบบนี้ บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็แอบหมดมุข จะชวนลูกคุยยังไงดี
Pluto Parents เลยนำเคล็ดลับที่ 2 จากงานวิจัย คุยยังไงให้ลูกฉลาดมาเล่าให้ฟังค่ะ
เคล็ดลับที่ 2 “อย่าปล่อยให้ความขี้สงสัยลอยนวล”
[อ่านย้อนหลัง เคล็ดลับที่ 1 “ความลับอยู่ที่จำนวนครั้งของการโต้ตอบ” กันได้ที่โพสนี้เลยค่ะ-
https://www.facebook.com/PlutoParents8.5/photos/a.111987814424955/114737647483305/
]
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะที่ลูก ๆ อายุ 2 ขวบย่าง 3 ขวบขึ้นไป เริ่มพูดได้ 2 พยางค์ ประมาณ 50 คำขึ้นไป น่าจะเริ่มมีประสบการณ์รับมือกับ “เจ้าหนูจำไม”
ยิ่งพอเริ่มพูดได้เป็นประโยคสัก 3-4 ขวบขึ้นไป ยิ่งสนุกเลย
ในความดีใจที่ลูกขี้สงสัย...
บางคนอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตอบได้ดีพอไหมนะ บางทีก็กลัวว่าจะให้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องกับลูกหรือเปล่า บางครั้งก็กังวลว่าฉันไม่ได้รู้ทุกเรื่อง จะตอบลูกยังไงดี
วันนี้ Pluto Parents จะมาแชร์หลักการตอบคำถามลูกที่เรียกว่า
การใช้ “Mechanistic language”
ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้สิ่งใหม่
แถมยังเป็นหลักการที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ตอบคำถามอะไรก็ได้ แม้จะไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ โดยตรงค่ะ
.
.
ครั้งนี้ทีมวิจัยจาก Boston University
(นั่งรถประจำทางจาก Harvard/MIT ไปไม่เกินครึ่งชั่วโมง) ได้ทำการเก็บข้อมูลเพื่อศึกาารูปแบบการตอบคำถามของผู้ปกครองในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่อวงจรง่าย ๆ ร่วมกับเด็กอายุ 4-5 ขวบ
พบว่าเมื่อเด็ก ๆ ถามคำถามเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม (information seeking) แล้วได้รับคำตอบที่เป็นคำอธิบาย หรือที่เรียกว่า “mechanistic language” สามารถเรียนรู้วิธีการต่อวงจรและประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมได้มากกว่าเด็กที่ได้รับคำอธิบายแบบ “circular language”
.
.
การตอบคำถามแบบ mechanistic language คือ การตอบคำถามที่ให้ข้อมูลเด็ก ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายให้เห็นภาพเป็นขั้นตอน ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล
ส่วนการตอบคำถามแบบ circular language คือการตอบแบบที่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม หรือถ้าให้เพิ่มเติม จะเป็นตอบคำถามแค่ระดับ what แล้วไม่มีการอธิบายต่อ
.
.
ยกตัวอย่างในงานวิจัยนี้
เมื่อเด็ก ๆ ถามว่า “นี่คืออะไร” แล้วเอามือชี้ไปที่สวิตช์ไฟ
คุณพ่อคุณแม่กลุ่มหนึ่ง ตอบว่า “นี่คือสวิตช์” แล้วไม่ได้อธิบายต่อ เด็ก ๆ อาจจะแค่รู้ว่าสิ่งนี้ชื่อว่าสวิตช์ แต่เมื่อไม่มีคำอธิบาย ทำให้ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์ หรือสิ่งที่รู้อยู่เดิม จึงเกิดการเรียนรู้ใหม่ได้ยาก เพราะไม่รู้จะจัดสิ่งนี้เข้าไปในกล่องประสบการณ์ไหนดี
เหมือนกับเวลาที่เราจะต้องพยายามจดจำอะไรซักอย่าง โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย สำหรับผู้ใหญ่เองก็ยากที่จะเรียนรู้เช่นเดียวกัน
ส่วนคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่ง ตอบว่า “อันนี้เรียกว่าสวิตช์ครับ/ค่ะ มันเอาไว้เปิดปิดไฟ เวลาที่เรากดเปิดมัน สายไฟฟ้าข้างในจะเชื่อมต่อกันจนครบทั้งเส้นวงจร ทำให้พลังงานไฟฟ้าสามารถเดินทางได้ ทำให้ไฟสว่างขึ้น”
เมื่อมีคำอธิบาย เด็ก ๆ สามารถนำคำอธิบายที่ได้ยินไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์เก่า ๆ ที่เก็บไว้ในสมองของเขา
ถ้าเราจำลองกระบวนการเรียนรู้ในสมองก็คงจะคล้าย ๆ แบบนี้ค่ะ:
สมอง: อ๋อ! ชั้นเคยเห็นไฟดับและไฟสว่างเวลาคุณพ่อคุณแม่กดอะไรบางอย่างที่ผนังนะ อ๋อ สิ่งนั้นเรียกว่าสวิตช์นะ อ๋อ มันเกี่ยวกับแสงที่กระพริบ ๆ (เปิดปิด) ที่ขั้นเคยเห็นไง...
แต่ถ้าเราไม่ได้มีคำอธิบายเลย กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ก็จะเกิดยากขึ้น
.
.
จริง ๆ แล้วการใช้ mechanistic language ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการพูดคุยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นะคะ
เพราะหัวใจคือ “การให้คำอธิบาย” ค่ะ ดังนั้นจึงสามารถแทรก mechanistic language เข้าไปในชีวิตประจำวันได้ทุกเรื่อง
แม้กระทั่งเรื่องที่ธรรมดามาก ๆ เช่น
เมื่อลูกถามว่า
“พ่อไปไหน”
เราสามารถฉวยโอกาสแห่งความสงสัยนี้ ในการคุยแบบ mechanistic language ด้วยการตอบเช่น
“พ่อออกไปซื้อของที่ตลาดค่ะลูก วัตถุดิบทำอาหารเช้า เช่นพวก ขนมปัง นม เนย ผัก ผลไม้ ของเราหมดเกลี้ยงตู้เย็นเลย คุณพ่อเลยออกไปซื้อมาเพิ่มค่า”
แน่นอนว่าเมื่ออธิบายไปแบบนี้ สมองของลูก ๆ ก็จะต้องไปขุดคุ้ยทั้งคำศัพท์เก่า ๆ ผลไม้ ขนมปังหน้าตาอย่างไร ได้ไปนึกถึงช่วงเวลาอาหารเช้าที่เคยกินด้วยกัน แล้วก็เกิดความเข้าใจว่าอาหารเข้าของเขา เกิดจากการทำอาหารนะ และเวลาทำอาหารต้องไปซื้อของมาด้วยนะ...ค่อย ๆ เพิ่มความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ทีละนิด
.
.
นอกจากเกิดการเรียนรู้แล้ว mechanistic language ยังกระตุ้นให้เกิดคำถาม และบทสนทนาโต้ตอบกันต่อด้วย (ซึ่งก็จะได้ใช้เคล็ดลับที่ 1 ต่ออีก)
ลูกอาจถามว่า
“ผลไม้คืออะไร”
“หมดเกลี้ยงคืออะไร”
“เนยเอาไว้ทำอะไร”
ทำให้เกิดโอกาสในการโต้ตอบ และนำไปสู่การเรียนรู้ได้อีกไม่รู้จบเลยค่ะ
ในทางกลับกัน ถ้าลูกได้รับคำตอบแบบ circular language เช่น “พ่อไปข้างนอกครับ” ซึ่งให้ข้อมูลใหม่กับเด็ก ๆ ค่อนข้างน้อย ก็มีโอกาสจะเกิดการเรียนรู้ และการโต้ตอบที่น้อยกว่านั่นเอง
.
.
สรุปเคล็ดลับที่ 2 คุยอย่างไรให้ลูกฉลาด
“อย่าปล่อยให้ความสงสัยลอยนวล ด้วยการตอบแบบ mechanistic language”
ไม่ต้องกังวลกับความรู้ที่ถูกต้องเป๊ะ ๆ
เพียงแค่หาเรื่องราว (story) มาเสริมความเข้าใจ มาช่วยให้ลูกสามารถนำไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์เก่า ๆ จนเกิดการเรียนรู้ใหม่ได้
แต่ยังไงก็ไม่ต้องเคร่งเครียดกันนะคะ
อารมณ์สบาย ๆ อธิบายไปตามโอกาส
Circular บ้างก็ได้ เว้นช่องว่างให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อนสมอง
จะได้มีแรงไปคุยกับลูกอีกเรื่อย ๆ นาน ๆ ค่ะ
[อ่านย้อนหลัง เคล็ดลับที่ 1 “ความลับอยู่ที่จำนวนครั้งของการโต้ตอบ” กันได้ที่โพสนี้เลยค่ะ-
https://www.facebook.com/PlutoParents8.5/photos/a.111987814424955/114737647483305/
]
4 บันทึก
2
1
4
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย