19 มิ.ย. 2021 เวลา 12:04 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่
1
...หากแต่เป็นเพียงการกลับไปสู่สิ่งที่จีนเคยเป็น (China’s rise to power… is merely a return to where it always belongs.)
3
All About History - ประวัติศาสตร์การเป็นมหาอำนาจของจีน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bnomics ได้ชวนทุกคนมองไปถึงความท้าทายของโลกหลังยุควิกฤติโควิด-19 หนึ่งในความท้าทายนั้น คือ สงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ ที่ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ ในการยับยั้งไม่ให้จีนก้าวไปเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ ขึ้นมาเทียบรัศมีกับเขาได้ แต่ในความจริงแล้ว หากเราลองมองดูดีๆ การก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจของจีน อาจดูไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก เพราะเมื่อ 200 ปีที่แล้ว จีนมีสัดส่วนที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกในขณะที่สหรัฐเพิ่งเริ่มก่อตั้งประเทศของตน วันนี้ Bnomics จะขอชวนทุกคนมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน เพื่อหาความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวครับ
3
📌 มองย้อนประวัติศาสตร์สู่ความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีต
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1978 ที่เติ้งเสี่ยวผิง ได้พลิกโฉมเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและเปิดประเทศจีนเข้าสู่ประชาคมโลก เศรษฐกิจจีนก็ได้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี จนทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนเริ่มพูดถึงประเทศจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ และมีการคาดการณ์จากสถาบันต่างๆ ว่าประเทศจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจแซงสหรัฐฯ ในอีกไม่ช้า
1
ด้วยเหตุนี้ การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวของจีน ได้กลายเป็นสิ่งที่กลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีความกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะการก้าวขึ้นมาดังกล่าว ได้ทำให้ระเบียบโลกแบบเสรีนิยม และ Pax Americana (ระเบียบโลกภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องสั่นคลอน จึงเกิดเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ที่จะยับยั้งไม่ให้จีนก้าวไปเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกได้ ทั้งการทำสงครามทางการค้า (Trade War) สงครามเทคโนโลยี (Tech War) รวมทั้ง ล่าสุดก็มีการร่วมมือกันในระดับกลุ่มประเทศ G7 เพื่อทำโครงการ Build Back Better World เพื่อแข่งขันกับโครงการสายไหมใหม่ (Belt Road Initiatives) ของจีนอีกด้วย
3
สื่อจีนทำภาพล้อเลียนการประชุม G7 ครั้งล่าสุด
แต่ทว่า ความจริงแล้ว การก้าวไปเป็นมหาอำนาจของจีนก็ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่นัก หากเราลองมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไป จะพบว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว นับตั้งแต่ที่จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ผนวกประเทศจีนรวมเป็นปึกแผ่น ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจ และการค้าที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต มีเส้นทางการค้ากับนานาประเทศ ทั้งเส้นทางการค้าทางบก ที่รู้จักกันในชื่อ เส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่เชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก ตั้งแต่ทวีปเอเชียไปสู่ทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนและยุโรป ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างมาก ระหว่างสองซีกโลก
1
เส้นทางสายไหม (The Silk Road)
แผนที่การเดินทางของ Zheng He
ในส่วนของเส้นทางการค้าทางทะเลเอง ประเทศจีนก็มีเส้นทางการค้าขายกับหลายประเทศเช่นเดียวกัน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1405 ในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ (Yongle Emperor) แห่งราชวงศ์หมิง ได้มีการส่งเรือพาณิชย์เป็นจำนวนมากไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย อาหรับ และแอฟริกาตะวันออก เพื่อทำการค้าขายกับประเทศเหล่านี้ และภายหลัง ก็มีการขยับขยายไปค้าขายกับประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงอยุธยาด้วย
6
จักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง
นอกจากนี้ ในอดีต ประเทศจีนยังเป็นผู้นำในการคิดค้นเทคโนโลยี สรรสร้างนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์ จนได้มีการขนานนามสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ว่าเป็น 4 สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ของจีน (Four Great Inventions of China) ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างของความเกรียงไกรและรุ่งโรจน์ของประเทศจีนในอดีต จากความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจีนถึงเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในอดีต
1
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สัดส่วนของเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจโลกก็ได้ตกลงอย่างมาก คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับจีน?
สัดส่วนเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจโลก
📌 จุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งความตกต่ำ
ภายหลังจากที่ราชวงศ์หมิงสิ้นสุดลง ก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิงอันยิ่งใหญ่ (Great Qing or Da Qing) โดยในรัชสมัยของราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการต่างประเทศไปเป็นนโยบายที่เน้นความสันโดษ (Isolationism) ดังที่จักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง เคยมีพระราชดำรัสว่า “ดินแดนของเรานั้น มีความมั่งคั่งและรุ่งเรือง จนทำให้เราครอบครองทุกสิ่งอย่างได้ ฉะนั้น ประเทศจีนจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวต่างชาติจากบ้านป่าเมืองเถื่อน”
ไม่น่าเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างมากที่นำพาจีนเข้าสู่ศตวรรษแห่งความตกต่ำ ซึ่งกลายเป็นตราบาปในประวัติศาสตร์จีนมาจนถึงวันนี้ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวได้สร้างปัญหาขาดดุลทางการค้าให้กับประเทศคู่ค้าของจีนอย่างมาก โดยเฉพาะจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งมีความต้องการนำเข้าใบชาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก แต่จีนเองกลับไม่ต้องการได้สินค้าอะไรจากอังกฤษเลย จึงรับการชำระสินค้าเป็นเงินเหรียญ (Silver Coin) เท่านั้น ส่งผลให้เงินเหรียญไหลออกจากประเทศเป็นปริมาณมาก อังกฤษได้พยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าดังกล่าว โดยให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ นำสิ่งที่ปฏิเสธได้ยาก คือ ฝิ่นที่ปลูกที่อินเดีย มาขายที่จีน เพื่อให้ได้เงินเหรียญกลับคืนมา จนทำให้คนจีนตั้งแต่ชาวบ้านตาสีตาสา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงขุนนางชั้นสูง ติดฝิ่นกันอย่างงอมแงม ไม่เป็นอันทำงานทำการ จนสุดท้าย จักรพรรดิต้องประกาศห้ามนำฝิ่นเข้ามาในราชอาณาจักร
3
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศห้ามแล้ว แต่เนื่องจากได้ติดฝิ่นกันไปมากแล้ว ทำให้ยังคงมีการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การใช้ยาแรง สั่งทำลายฝิ่นเหล่านั้น และทำให้อังกฤษเสียหายอย่างมาก และนำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (First Opium War) ในปี 1839 ซึ่งสุดท้าย จีนได้พ่ายแพ้ให้กับอังกฤษ และต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิง (Treaty of Nanking) ซึ่งทำให้จีนถูกบังคับให้ยกเลิกระบบผูกขาดการค้า เปิดเมืองท่าหลายเมือง และยกเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ ทั้งนี้ การพ่ายแพ้ในสงครามดังกล่าวได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งความตกต่ำ ที่ทำให้เศรษฐกิจที่เคยยิ่งใหญ่ รุ่งเรือง เป็นผู้นำโลกอย่างจีนต้องหยุดชะงักลง และกลายเป็นคนป่วยของเอเชีย (Sick Man of Asia)
3
ภาพวาดจำลองเหตุการณ์สงคราฝิ่นครั้งที่ 1
หลังจากนั้นต่อมา ประเทศจีนก็ได้เผชิญกับซีรีย์ของความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง หากเปรียบกับหนังก็คงไม่ต่างจากเรื่อง A Series of Unfortunate Events ที่ตัวละครเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ลำบากซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเทศจีนได้ถูกบีบบังคับจากประเทศตะวันตกอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ให้ทำข้อตกลงในลักษณะเดียวกัน อีกทั้งยังพ่ายแพ้สงครามกับประเทศญี่ปุ่น ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 และพ่ายแพ้ให้กับอังกฤษอีกครั้ง ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (Second Opium War)
3
ความพ่ายแพ้เหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มคนจีนฮั่น ซึ่งมีความไม่พอใจราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชาวแมนจูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งจากกระแสต่อต้านชาวต่างชาติ และทั้งจากชาวจีนที่ได้เห็นความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของราชวงศ์ชิง จนได้ตั้งคำถามที่ว่าราชวงศ์ชิงยังคงดำรงอาณัติแห่งสวรรค์ (Heavenly Mandate) หรือความชอบธรรมที่สวรรค์มอบให้ในการปกครองบ้านเมืองไว้อยู่หรือไม่ สุดท้าย ก็เกิดเป็นกบฏมากมายหลังจากนั้น เช่น กบฏไท่ผิง (The Taiping Rebellion) กบฏนักมวย (Boxer Rebellion) และ ท้ายที่สุด ก็นำไปสู่การปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai Revolution) ซึ่งเป็นจุดจบของราชวงศ์ชิงอันยิ่งใหญ่ (Great Qing) รวมถึงระบอบการปกครองแบบจักรพรรดิของจีน และได้นำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นในที่สุด
การปฎิวิติซินไฮ่ (Xinhai Revolution) ปี 1911
แต่ทว่า การเข้ามาของระบอบการปกครองใหม่ และพรรคก๊กมินตั๋ง ก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ปัญหาปากท้องต่างๆ ของประชาชนชาวจีนก็ยังคงมีอยู่ และภายหลัง ยังซ้ำร้ายมาโดนภัยรุกรานจากญี่ปุ่น ส่งผลให้ชาวจีนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก และนำไปสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาในที่สุด จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดประเทศจีนที่เคยยิ่งใหญ่และเกรียงไกร จากที่เคยเป็นมหาอำนาจในอดีต กลับกลายว่า ต้องมาวิ่งตามหลังประเทศตะวันตก ซึ่งก็ได้เจริญเติบโตอย่างมากจากกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรม
3
นอกจากนี้ มีนักวิชาการบางส่วนด้วยที่ให้ความเห็นว่า หากจีนไม่ได้เข้าสู่ศตวรรษแห่งความตกต่ำ ประเทศจีนก็คงได้เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน ไปพร้อมๆ กันกับประเทศตะวันตก
ท้ายที่สุด ศตวรรษแห่งความตกต่ำก็สิ้นสุดลง เมื่อประธานเหมา เจ๋อตุง ได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อหน้าชาวจีนนับแสนคน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949
เป็นการประกาศจุดจบเหนือศตวรรษดังกล่าวของจีน
📌 จากก้าวแรกที่ผิดพลาด...กว่าจะเป็นก้าวที่ใช่ในวันนี้
หลังจากที่ประธานเหมา ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ก็ได้มีการออกนโยบายที่พยายามเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจีนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เช่น นโยบายก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ (Central Planning) กล่าวคือ รัฐบาลทำหน้าที่ในการควบคุมการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ โดยเส้นทางที่จีนเลือกในขณะนั้นคือ การโยกย้ายแรงงานจีนเข้าภาคเกษตร หรือที่รู้จักกันในระบบนารวม (ซึ่งได้กลายมาเป็นภาพลักษณ์ที่ชาวตะวันตกจดจำจีนในเวลาต่อมาว่า เป็นประเทศที่มีแต่การทำนาข้าว) ซึ่งตามมาด้วยนโยบายอย่าง 4 ศัตรูของชาติ (Four Pest Campaign) ซึ่งรณรงค์ให้คนกำจัดศัตรูพืช เช่น นก หนู แมลงวัน และยุง เพื่อไม่ให้มาทำลายพืชผลการเกษตร จนสุดท้ายทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และเกิดเป็นเหตุการณ์อดอยากครั้งใหญ่ (The Great Famine) จนทำให้ชาวจีนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงก้าวแรกของจีนที่ล้มเหลวอย่างมาก จนกระทั่งมีคนเคยกล่าวไว้ด้วยซ้ำว่า “รัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก หากแต่ได้ผลผลิตกลับมาเพียงน้อยนิดเท่านั้น”
5
ระบบการทำนารวม
ก้าวแรกที่ผิดพลาดเกิดขึ้นจากความล้มเหลวในการพยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจรวมศูนย์แบบสังคมนิยม ที่ทำให้ตลาดไม่สามารถช่วยในการหล่อลื่น ปลดปล่อยศักยภาพของภาคเอกชนและเศรษฐกิจ โดยก้าวที่ใช่นั้นเกิดขึ้นเมื่อประธานเหมาได้ถึงแก่อสัญกรรม และเติ้งเสี่ยวผิง เข้ามารับตำแหน่งประธานคนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 1978 และเป็นผู้ได้เบนเข็มนโยบายเศรษฐกิจจีน เปลี่ยนไปในทางที่ใช่ โดยประกาศนโยบาย 4 ทันสมัย (Four Modernization) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ และวิทยาศาสตร์ขึ้น และได้มีการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมโลก รวมถึงมีการนำระบบตลาดแบบทุนนิยมเข้ามาประยุกต์กับเศรษฐกิจจีน ดั่งปรัชญาอันโด่งดังของเติ้ง เสี่ยวผิงที่ว่า “แมวไม่ว่าจะสีอะไร ขอให้จับหนูได้ ก็เพียงพอ”
3
นับแต่นั้นมา เศรษฐกิจจีนก็ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการที่ปลดล็อคให้เอกชนต่างๆ สามารถดำเนินธุรกิจได้ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ และเกิดการค้าขายกับต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังปี 2001 ที่ประเทศจีนได้เข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง และทำให้ล่าสุด หลายคนมองว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนก็คงจะแซงสหรัฐอเมริกาในไม่ช้า และก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ดังที่จีนเคยเป็นมาตลอด ดังเช่นในอดีต
1
ทั้งนี้ ในเชิงเทคโนโลยี สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ จีนกำลังกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 5G ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ e-Commerce, QR-Payment, AI, Biotech ยานยนต์ไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ยุทโธปกรณ์ แม้กระทั่งด้านอวกาศ ก็สามารถส่งหุ่นยนต์ลงสำรวจดาวอังคารได้เป็นประเทศที่สอง อย่างน่าจับตายิ่ง ยกตัวอย่างเช่น Huawei บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน ที่ได้กลายมาเป็นผู้นำ 5G ของโลก สร้างความกังวลใจจนถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชี Entity List หรือ บริษัทอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba ที่เติบโตได้ดีและโด่งดัง
3
ยานอวกาศจีนลงจอดสำรวจดาวอังคาร หวังไขความลับแห่งจักรวาล
จีนส่งนักบินอวกาศไปสถานีอวกาศเทียนกง
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงกรณีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เชื่อหรือไม่ แม้แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยเอง ก็มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทอีคอมเมิร์ซจีนอีกด้วย โดย 2 ใน 3 บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในไทยนั้นเป็นบริษัทของจีน อย่างเช่น กรณีของ Lazada ซึ่งมี Alibaba Group เป็นบริษัทแม่ และบริษัท JD Central ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างกลุ่ม Jingdong ของประเทศจีน กับกลุ่ม Central ของไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลย เหตุใดเปิดไปในเว็บหรือแอพ เราจึงเจอแต่สินค้าจากจีนเต็มไปหมด
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมหลายอย่างที่จีนสร้างสรรค์ออกมา อย่างเช่น กรณี Baidu ซึ่งเป็น Search Engine ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อแทนที่บริการ Search Engine จากฝั่งตะวันตกอย่าง Google หรือล่าสุด จีนก็ได้เปิดเผยเครื่องบินรบที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการควบคุม ซึ่งผลการจำลองก็ชี้ให้เห็นว่านักบินรบ AI ของจีนมีศักยภาพมากกว่านักบินจริงเสียอีก และเมื่อไม่กี่วันมานี้ จีนก็เพิ่งส่งนักบินอวกาศไปปฏิบัติภารกิจสานต่อการสร้างสถานีอวกาศเทียนกงของจีน โดยคาดหวังว่าสถานีอวกาศนี้จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับนานาประเทศได้ในอนาคต ทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของจีนในการก้าวเป็นผู้นำโลกอย่างยิ่ง
1
ด้วยเหตุนี้ การก้าวขึ้นมาของจีนไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเลย หากแต่เป็นเพียงการกลับคืนสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของจีน ในฐานะของผู้นำโลกเท่านั้นเอง
1
ผู้เขียน: เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics #ประวัติศาสตร์ #ประวัติศาสตร์จีน #เศรษฐกิจจีน #เติ้งเสี่ยวผิง #ปฎิวัติอุตสาหกรรม #สงครามการค้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา