20 มิ.ย. 2021 เวลา 01:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อ Nokia จะไปดวงจันทร์
5
พูดถึงชื่อ Nokia คนส่วนใหญ่คงนึกถึงโทรศัพท์มือถือชื่อดังสัญชาติฟินแลนด์ที่เคยรุ่งเรืองในยุคเครื่องปุ่มกด โดยเฉพาะความเป็นตำนานในเรื่องอึดถึกทน
4
แต่ในช่วงหลังมานี้ Nokia อาจไม่ได้ถูกกล่าวถึงเหมือนกับสมัยก่อน จนทำให้หลายคนสงสัยว่า Nokia อยู่ที่ไหน
5
ว่ากันตามจริงแล้ว Nokia ไม่ได้หายไปไหน เพราะยังเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ให้เห็นกันอยู่บ้างเพียงแต่อาจจะไม่ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนสมัยก่อน เพราะตลาดมือถือในปัจจุบันมีคู่แข่งจำนวนมาก
1
บริษัทจึงหันไปมุ่งเน้นธุรกิจพัฒนาระบบเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นงานหลัก
2
แต่ในช่วงที่ผ่านมายักษ์ใหญ่จากประเทศฟินแลนด์ได้เปิดเผยว่า Nokia ถูกเลือกโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA ให้เป็นผู้พัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
3
โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจเดินทางสู่ดวงจันทร์ครั้งใหม่ของ NASA มีชื่อโครงการว่า Artemis ซึ่งกำหนดเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์อีกครั้งในปี ค.ศ. 2024 รวมไปถึงการศึกษาเพื่อวางรากฐานในการสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ มีมูลค่าโครงการกว่า 370 ล้านเหรียญ
2
การสำรวจดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 1972  (ภาพจาก NASA)
เชื่อได้เลยว่าหลายคนสงสัยแน่ๆ ทำไมต้องไปวางระบบเครือข่ายมือถือบนดวงจันทร์ด้วย
สิ่งนี้เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ว่า "ในเมื่อผู้คนบนโลกสามารถใช้เครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อสื่อสารกันได้ แต่ทำไมนักบินอวกาศไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเดียวกันเมื่ออยู่ในอวกาศ”
ถ้ามนุษย์ยังมีความพยายามที่จะสํารวจอวกาศ ขยายสถานีอวกาศ หรือการท่องเที่ยวอวกาศที่อาจกลายเป็นจริง เราจะมีคนขึ้นไปในอวกาศมากขึ้น ทําภารกิจที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการด้านการสื่อสารก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัว
เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีความต้องการเทคโนโลยีที่เหมือนกับบนพื้นโลกเพื่อให้การสื่อสารมีความคล่องตัว ดังนั้นการติดตั้งเครือข่ายสื่อสารในอวกาศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อกับโลกได้ดีกว่าเดิม
1
ในภารกิจนี้ Nokia มีหน้าที่พัฒนาระบบเครือข่ายแบบครบวงจร ภายใต้โจทย์ว่าต้องออกแบบอุปกรณ์ให้มีขนาดและน้ำหนักตามข้อจำกัดของการขนส่งทางอวกาศและสามารถใช้งานบนดวงจันทร์ได้ดี โดยจะได้รับความร่วมมือจากบริษัท Intuitive Machines เพื่อช่วยปรับเครือข่ายนี้ให้เข้ากับระบบ Lunar Lander ของ NASA ก่อนนำไปติดตั้งบนดวงจันทร์
ด้วยประสบการณ์ของ Nokia ที่เคยผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสำหรับใช้ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง อย่างเช่น เหมืองแร่หรือโรงงานอุตสาหกรรม จึงออกแบบอุปกรณ์ในโครงการมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีขนาดเล็ก ใช้พลังงานต่ำ และทนทานในสภาวะสุดโหด ไม่ว่าจะเป็นการสั่นสะเทือนและแรงกระแทกของจรวดระหว่างที่ขนส่งจากพื้นโลกไปลงจอดบนดวงจันทร์หรือมีสภาวะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2
ที่สำคัญต้องสามารถทำงานได้ในสภาวะสูญญากาศ มีแรงโน้มถ่วงต่ำ และเต็มไปด้วยรังสีอวกาศ ซึ่งแตกต่างจากบนโลกอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติสามารถตั้งค่าระบบได้เองแบบอัตโนมัติหรือ Self-Configuration โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ในการติดตั้ง
2
สำนักงานใหญ่ Nokia (ภาพจาก Financial Express)
Nokia เลือกใช้มาตรฐาน 4G LTE ในการพัฒนา ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราจะเริ่มใช้ 5G แล้ว แต่ 4G เป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์มาระยะเวลาหนึ่งแล้วว่าเป็นระบบที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับความต้องการของ NASA ที่จะใช้รับส่งข้อมูลจากเครือข่ายเซ็นเซอร์ รับส่งข้อมูล Biometric ควบคุมยานสำรวจจากระยะไกล และใช้สื่อสารด้วยเสียงหรือวิดีโอความละเอียดสูง
ซึ่งในอนาคตระบบนี้สามารถอัปเดตให้เป็นมาตรฐาน 5G ได้ด้วย
ชิ้นส่วนของเครือข่ายประกอบด้วยสถานีฐาน LTE, อุปกรณ์ปลายทาง LTE, เสาอากาศ RF, ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานและการบํารุงรักษา โดยทั้งหมดเป็นอุปกรณ์แบบไร้สาย ซึ่งตามแผนการชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกขนส่งด้วยจรวดไปยังดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2022 และทดสอบใช้งานเพื่อให้พร้อมรองรับการเดินทางไปดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2024
ทั้งหมดนี้ NASA คาดว่าจะดำเนินโครงการทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงภายในเวลา 10 ปี หลังจากนั้นจะขยายไปสู่การสำรวจดาวอังคารต่อไป
ในวันนี้ Nokia อาจไม่ใช่ผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์มือถือดังเช่นสมัยก่อน แต่การกลับมาในครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ถึงความสามารถของ Nokia ได้เป็นอย่างดี
1
ในอนาคตอาจเปิดตำนานบทใหม่ของ Nokia ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอวกาศก็เป็นได้
โฆษณา