21 มิ.ย. 2021 เวลา 06:05 • ปรัชญา
☀️สรุปคำสอนพระพุทธ​ศาสนาโดยย่อ​ใน​ 5​ นาที☀️
🔰สรุปกันชัดๆ​ ภาพรวมหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎก​🔰
ชาวพุทธ​เราทั่วไป​ ที่ไม่ได้​มีโอกาส​ศึกษา​คำสอนอย่าง​จริงๆ​จัง​ๆ​ มักจะ​มองว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า​อยู่​ไกลตัวและยากเกินไป​ ทั้งมีภาษาบาลีอยู่​แทรกในคำสอนที่แปลไม่ออก ทั้งคำศัพท์​เทคนิค​ทางธรรมที่ต้องตีความ​ และ​คำสอนในพระไตรปิฎก​ก็มีตั้ง​มากมายเกือบแสนข้อ​ รวบรวมคำสอนไว้เป็น 3​ ตระกร้าอีกด้วย​
แม้ว่า​มีวัดวาอาราม​ที่เปิดสอนธรรมศึกษาให้ได้​ไปเรียนเกือบทุกวัด, ยิ่งกว่านั้น​ทุกวัน​นี้​ มีสื่อหนังสือ​ธรรมะดีๆ, มีเวบไซต์, ช่องยูทูบ, เพจ, เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์, ซูมแบบระบบธรรมะออนไลน์​มากมาย​ ซึ่ง​โดยมากก็อ้างบอกว่า​ไม่มีเวลาอ่าน​ ไม่มีเวลาฟัง​ ไม่มีเวลาติดตาม​
"เนื้อหาโพสต์นี้จึงเป็นเพียงการพาท่านรู้จักธรรมะในพระพุทธศาสนาในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งผู้สนใจหรือผู้อ่านควรนำหลักธรรมแต่ละหัวข้อไปศึกษาด้วยตนเองทั้งจากหนังสือตำราต้นฉบับจากพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาและตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
แต่เมื่อมีใครถามว่าตกลงแล้ว​คำสอนของพระพุทธเจ้า​โดย​สรุปมีอะไร​บ้าง? เป็นชาวพุทธ​ต้องทำตัวอย่างไรบ้าง? ในสถานการณ์​วิกฤติ​ชีวิต, เศรษฐกิจ, โรคภัย​ไข้เจ็บ​ระบาดแบบนี้จะนำธรรม​ะข้อใดมาช่วยขจัดปัดเป่า​ปัญหา​ได้? หรือมีคนต่างชาติ​ต่างศาสนา​ต้องการ​เรียน​รู้​คำสอนของพระพุทธศาสนา​เบื้องต้น​ในเวลาจำกัด
วันนี้​ ทุกท่านที่เคยประสบปัญหา​เหล่านี้​ จะอธิบาย​ตอบคำ​ถาม​อย่างมั่นใจ​ได้สักที​ หลัง​จากอ่านโพสต์​นี้จบลง....
☀️1.ภาพรวมพระไตรปิฎกทั้งหมด​มี 84,000 พระธรรมขันธ์หรือข้อ☀️
พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรากฏ​เป็น​ลายลักษณ์อักษร​ที่​ค้นพบ​และรวบรวม​ได้มีเนื้อหาถึง 84,000 ข้อ หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์ โ​ด​ยจัด​แบ่งอยู่ใน​ 3​ ปิฎก​ หรือ​ 3​ ตระกร้า ดัง​นี้​
1.พระวินัยปิฎก 21,000 ข้อ​ ที่ว่า​ด้วยพุทธบัญญัติ​เกี่ยวกับ​ความประพฤติ, ความเป็นอยู่, กฎเกณฑ์​ของนักบวชในพระพุทธ​ศาสนา​ได้แก่​ พระวินัยภิกษุ​สงฆ์​และภิกษุณี​สงฆ์​
2.พระสุตตันตปิฎก​ปิฎก​ หรือ​ พระ​สูตร​ 21,000 ข้อ​ ที่​ว่าด้วย​พระธรรม​เทศนา​ที่พระ​พุทธเจ้า​ทรง​แสดงธรรม​ให้กับบุคคล​ต่างๆ​ ในวาระต่างๆ​ เช่น​ พระ​สูตรหรือชาดกต่างๆ
3.พระอภิธรรมปิฎก 42,000 ข้อ​ ที่ว่าด้วย​หลักธรรมคำสอนล้วนๆ​ เป็นหมวดหมู่​และผลแห่งการปฏิบัติ​ธรรมที่บุคคล​ปฏิบัติ​แล้วได้​บรรลุ​ธรรมในสภาวธรรม​ต่างๆ
☀️2.ไตรสิกขา☀️
พระไตรปิฎกทั้ง​ 84,0000 ข้อ​ หากนำมาเชื่อมโยงกับไตรสิกขาจะได้ดังนี้คือ​ พระวินัยปิฎก คือ ศีลสิกขา,
สุตตันตปิฎก คือ จิตสิกขา, พระอภิธรรมปิฎก คือ ปัญญาสิกขา
ไตรสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา 3 ประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงไตรสิกขาไว้ในภาวสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย... ไตรสิกขาเป็นไฉน ไตรสิกขา คือ
อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา...
เมื่อใด... เธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้ เมื่อนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์เพราะละมานะได้โดยชอบ."
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้อธิบายขยายความเรื่องไตรสิกขาไว้ว่ามี 2 ระดับ คือ ระดับปกติหรือระดับต้น และ ระดับสูงหรือเกินระดับปกติขึ้นไป
ไตรสิกขาระดับต้นนั้น จะเรียกว่า ศีล จิต (สมาธิ) และปัญญา หรือเรียกว่า ศีลสิกขา จิตสิกขา (สมาธิสิกขา) และปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับต้นนี้เป็นไตรสิกขาในระดับ "รู้" หมายถึง รู้ว่าไตรสิกขามีอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วก็ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขานั้น เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะเป็นเหตุให้เข้าถึงไตรสิกขาระดับสูงต่อไป
ไตรสิกขาระดับสูงเรียกว่า อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา หรือเรียกว่า อธิศีลสิกขาอธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ไตรสิกขาระดับสูงนี้เป็นไตรสิกขาในระดับ "เห็น" หมายถึง ได้ปฏิบัติสมาธิจนสามารถ "เห็น" ได้ด้วยตนเองว่าไตรสิกขาในตัวเรามีอะไรบ้าง กล่าวคือ ได้ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ในตัวที่ละเอียดเป็นชั้น ๆ เข้าไปนั่นเอง
คำว่า "อธิ" ในคำว่า อธิศีล เป็นต้น แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือล่วง หมายถึง ไตรสิกขาที่ยิ่งกว่าหรือเกินกว่าหรือล่วงพ้นจากไตรสิกขาในระดับต้น
☀️3.มรรค☀️ แปลว่า ทาง หนทาง มรรคมีองค์ 8 จึงหมายถึง หนทางปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติ 8 ประการ เพื่อให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือการได้บรรลุนิพพานนั่นเอง
มรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา) นิโรธ (ความดับทุกข์) และ มรรคคือหนทางดับทุกข์ เมื่อกล่าวถึงมรรคเพียงข้อเดียวแต่ก็มีความหมายเชื่อมโยงไปถึงอริยสัจอีก 3 ข้อที่เหลือด้วย เพราะธรรมทั้ง 4 ข้อมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมรรคมีองค์ 8 ไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระปฐมเทศนาหรือเทศนาครั้งแรกของพระองค์ หลวงพ่อทัตตชีโวได้สรุปมรรคมีองค์ 8 ไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายดังนี้
1.สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก โดยสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องว่า อะไรถูก-ผิด อะไรดี-ชั่ว อะไรบุญ-บาป อะไรควร-ไม่ควรทำ
2.สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดถูก โดยเลือกคิดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
3.สัมมาวาจา คือ การพูดถูก โดยเลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
4.สัมมากัมมันตะ คือ การทำถูก โดยเลือกทำแต่ในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
5.สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก โดยเลือกประกอบอาชีพที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
6.สัมมาวายามะ คือ การเพียรพยายามถูก โดยเพียรละเว้นความชั่ว เพียรทำความดีและเพียรกลั่นใจให้ผ่องใส
7.สัมมาสติ คือ ความระลึกถูก โดยพยายามรักษาใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ในการคิด พูด และทำอยู่เป็นปกติ
8.สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นถูก โดยพยายามประคับประคองในขณะทำภาวนาให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องถูกส่วนเป็นปกติ จนกระทั่งเกิดความสว่างขึ้นในใจที่นำไปสู่การเห็นธรรมะที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่ในตัว
☀️4.​ นอกจากนี้ หลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกอาจจะแบ่งให้เหลือ 3 ข้อ​ได้คือ
☀️ละชั่ว, ทำดี, ทำใจให้ผ่องใส☀️
หลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกนอกจากจะรวมลงในความไม่ประมาทเพียงข้อเดียวแล้ว ยังสามารถขยายออกเป็น 3 ข้อได้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปทานสูตรเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ว่า
1.การไม่ทำบาปทั้งสิ้น (ละชั่ว)
2.การยังกุศลให้ถึงพร้อม (ทำดี)
3.การทำจิตของตนให้ผ่องใส (ทำใจให้ผ่องใส)
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
1.การไม่ทำบาปทั้งสิ้น มาจากภาษาบาลีว่า พฺพปาปสฺส อกรณํ หมายถึง ไม่ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ พฺพปาปสฺส อกรณํ นี้ครอบคลุมพระวินัยปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "ศีลสิกขา"
2.การยังกุศลให้ถึงพร้อม มาจากภาษาบาลีว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา หมายถึง ทำความดีให้มีขึ้นด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ กุสลสฺสูปสมฺปทา นี้ครอบคลุมพระสุตตันตปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "จิตสิกขา"
3.การทำจิตของตนให้ผ่องใสมาจากภาษาบาลีว่า จิตฺตปริโยทปน หมายถึง ทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจิตฺตปริโยทปน นี้ครอบคลุมพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด หากจัดเข้าในไตรสิกขาก็จะตรงกับ "ปัญญาสิกขา"
5.☀️ความไม่ประมาท☀️
ความไม่ประมาท หมายถึง ความไม่เลินเล่อ ไม่พลั้ง ไม่เผลอ มีสติเสมอส่วนความประมาทคือ การขาด ติ ความพลั้งเผลอ ความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมใหญ่ซึ่งรวมธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกไว้ในข้อนี้เพียงข้อเดียว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปทสูตรว่า "รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย... ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าสัตว์เหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาทความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8"
ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ก็ได้ตรัสพระปัจฉิมวาจาไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" พระดำรัสนี้ถือว่าเป็นการสรุปหลักธรรมทั้งหมดที่พระองค์ตรัสสอนมาตลอด 45 พรรษาให้เหลือเพียงข้อเดียวคือ ความไม่ประมาทเท่านั้น
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อธิบายขยายความเรื่องความไม่ประมาทไว้ในกัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องปัจฉิมวาจาว่า
"ความประมาท คือ เผลอไป ความไม่ประมาท คือ ความไม่เผลอ ไม่เผลอละใจจดใจจ่อทีเดียว ท่านจึงได้อุปมาไว้ ไม่ประมาท ไม่เผลอในความเสื่อมไปในปัจฉิมวาจา นึกถึงความเสื่อมอยู่เสมอ นึกหนักเข้า ๆ แล้วใจหาย นี่เรามาคนเดียวหรือ นี่เราก็ตายคนเดียว บุรพชนต้นตระกูลของเราไปไหนหมด ตายหมด เราล่ะก็ตายแบบเดียวกัน ตกใจละคราวนี้ ทำชั่วก็เลิกละทันที รีบทำความดีโดยกะทันหันทีเดียว เพราะไปเห็นอ้ายความเสื่อมเข้า ถ้าไม่เห็นความเสื่อมละก็ กล้าหาญนักทำชั่วก็ได้ ด่าว่าผู้หลักผู้ใหญ่ได้ตามชอบใจ"
สำหรับหลักธรรมต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกอันเป็นหลักปฏิบัติเพื่อไปสู่นิพพานนั้น เป็นหลักธรรมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทุกหมวด ไม่มีความขัดแย้งกันสามารถย่อได้และขยายได้หากย่อจนถึงที่สุดก็จะเหลือเพียงข้อเดียวคือ "ความไม่ประมาท"
☀️6.นิพพาน​☀️
เป้าหมาย​ชีวิต​ที่​สูงสุด​ของ​มนุษย์​และ​สรรพสัตว์​ทั้งหลาย​ คือ​ พระนิพพาน
นิพพาน หมายถึง การดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแบ่งนิพพานออกเป็น 2 ประการ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน
1.สอุปาทิเสนิพพาน หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เป็นผู้มีราคะ โทสะ และโมหะสูญสิ้นแล้ว แต่ยังเป็นผู้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ 5 ยังไม่บุบสลาย
หลวงพ่อทัตตชีโวอธิบาย สอุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า เป็นพระนิพพานในตัวบางครั้งก็เรียกว่า "นิพพานเป็น" หมายความว่า ในขณะที่อาสวกิเลสสูญสิ้นไปหมดแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีขันธ์ 5 อยู่ มีธรรมกายปรากฏอยู่ในตัว ทำให้รู้สึกเป็นสุขเหมือนอยู่ในอายตนนิพพานอย่างแท้จริง เพียงแต่ยังอาศัยกายมนุษย์อยู่เท่านั้น
2.อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้ของภิกษุนั้นเป็น ภาพที่กิเลส มีตัณหาเป็นต้น ครอบงำไม่ได้อีก
หลวงพ่อทัตตชีโวอธิบายอนุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า เป็นนิพพานที่อยู่นอกตัว บางครั้งก็เรียกว่า "นิพพานตาย" หมายความว่าเมื่อขันธ์ 5 แตกดับสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้วธรรมกายที่อยู่ใน อุปาทิเสสนิพพานจึงตกศูนย์เข้าสู่อนุปาทิเสนิพพาน ณ จุดนี้เองทื่เรียกว่า "อายตนนิพพาน" ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตั้งจิตปรารถนาจะไปถึง
หลวงพ่อทัตตชีโวได้ให้ภาพรวมหลักธรรมสำคัญในพระไตรปิฎกไว้อย่างชัดเจน​ ดังภาพที่แสดงไว้นี้ จะเห็นว่าหลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ "นิพพาน" อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
☀️สรุปหลักธรรมสำ​คัญ​ใน​พระไตรปิฎก​โดย​ย่อทั้ง 6 หมวดธรรมนี้เป็นกรอบคำสอนที่จะทำให้ท่านเห็นภาพรวมของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแบบภาพรวมๆ​ กว้างๆ​ ที่ง่ายต่อความเข้าใจ​เบื้องต้น​
เนื้อหา​โพสต์​นี้จึงเป็นเพียงการพาท่านรู้จัก​ธรรมะในพระพุทธ​ศาสนาในเบื้องต้นเท่านั้น​ ซึ่งผู้สนใจหรือผู้อ่านควรนำหลักธรรมแต่ละหัวข้อไปศึกษาด้วยตนเองทั้งจากหนังสือ​ตำราต้นฉบับ​จากพระไตรปิฎก​หรืออรรถกถา​และ​ตั้งใจ​ปฏิบัติ​ตามคำสอนของพระ​สัมมา​สัมพุทธ​เจ้า
เมื่อศึกษา​และ​ปฏิบัติตามด้วยตนเองอย่างจริงจัง​ ​กระทั่ง​รู้จักและเข้าใจหลักธรรมได้​เป็น​อย่างดี​ จะเป็นอานิสงส์​ที่จะนำไปพัฒนา​ชีวิต, ครอบครัว, หน้าที่​การงาน​ในชีวิตและนำไป​ทำหน้าที่​ขยายความสว่าง, ความรู้และความสุขจากพระธรรมคำสอนของพระ​สัมมา​สัมพุทธ​เจ้าให้กับชาวโลก​สืบต่อไปตราบจนถึง​พระนิพพาน​ตามจุดมุ่งหมาย​ปลายทางที่พระพุทธองค์​ทรงพระดำเนินไปดีแล้ว​ล่วงหน้า​นับอสงไขย​พระองค์​ไม่ถ้วน.
ที่มา​:
1.นิพพานธาตุสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ 25, พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17​ (มหาจุฬา​ฯ)​
2.พระธรรมเทศนา"ไตรสิกขา" โดย​พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
3.คู่มือพุทธมามกะ, ภาพรวม​หลักธรรม​ที่​สำคัญ​ใน​พระไตรปิฎก​ โดย​หลว​ง​พ่อ​ท​ั​ต​ตชีโว
โฆษณา