21 มิ.ย. 2021 เวลา 11:19 • ประวัติศาสตร์
เมืองหลวงของลาวเดิมไม่ตั้งอยู่ติดชายแดน พระเเก้วมรกตเดิมไม่ใช่ของสยาม และเจ้าอนุวงศ์ก็ไม่ใช่กบฏชั่ว แต่เป็นวีรบุรุษ
8
ความโหดร้ายของสยามก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่เรามองพม่าในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์
ครั้นกษัตริย์เราออกศึกตีเมืองระแวกบ้าน ได้ดินแดน ได้ทรัพย์ ได้คน เราเรียก “พระปรีชาสามารถ” ครั้นถูกเมืองข้างบ้านรบพุ่งเข้าตี เราเรียก “ชั่วร้าย กระหายอำนาจ รุกรานบ้านเมืองผู้อื่น”
9
หากเราพิจารณาด้วยสติวิจารณญาณ เราจะสามารถปรับเลนส์กล้องแห่งปัญญาไปมองที่อีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์และการสงครามได้อย่างแจ่มชัดขึ้น ในบางทีเราอาจมองเห็นถึงมุมมองที่เราไม่คาดคิด มุมมองที่เราเคยถูกอคติบดบัง ซึ่งทำให้เราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงของผู้คิดที่จะกระทำอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อปลดแอกจากการถูกกดขี่ และเพื่ออิสรภาพที่พวกเขานั้นใฝ่ฝัน จึงก่อสงครามที่เขามิอาจล่วงรู้ได้ว่า จะสำเร็จดังใจหมายหรือปราชัยจนย่อยยับ ดังเช่นสงครามที่มาจากทิศอีสานกับกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง ประเทศแห่งช้างล้านเชือก”
6
“พอตรงเวียงเห็นวังที่ฝั่งข้าม วิเศษงามเพราเพริศดูเฉิดฉัน ทองระยับจับแสงพระสุริยัน ที่หน้าบันช่อฟ้าบราลี”
1
“มีอาวาสลาดล้วนศิลาเลี่ยน ช่อวิเชียรวาววามพระเวหา หางหงส์ยอดลายองล้วนทองทา รจนาด้วยสุวรรณอันบรรจง”
2
“มีมณฑปอันประดับวิเชียรรัตน์ กระจ่างจัดฉ้อช้อยลอยระหง งามสมทรงสมตรวจทั้งทรวดทรง เป็นวัดวงในเขตนิเวศวัง”
1
หม่อมเจ้าทับ ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ได้บรรยายความงดงาม รุ่งเรืองของเวียงจันทน์ตามที่มองเห็นจากริมแม่น้าโขงฝั่งไทยก่อนที่กองทัพไทยจะบุกไปทำลาย เปรียบเทียบความรุ่งเรื่องของเวียงจันทน์ว่าไม่ต่างอะไรจาก “ศรีอยุธยา” หรือ “กรุงเทพฯ” แม้แต่น้อย
1
สภาพอันรกร้างของวัดวาอารามภายในเวียงจันทน์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)
ข้อมูลจากหม่อมทับทำให้พอที่จะอนุมานได้ว่า อาณาจักรล้านช้างแห่งนี้ เป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์สมคำล่ำลือ เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญจำนวนมากจนถึงขนาดตั้งชื่อว่าล้านช้าง
6
การมีช้างอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก สื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินได้เป็นอย่างดี ด้วยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล มีดินแดนทอดตัวยาว จากเหนือจรดใต้ โดยมีอาณาเขตทิศเหนือจรดประเทศจีน ทิศตะวันออกจรดประเทศเวียดนาม ทิศใต้จรดเขมร ทิศตะวันตกจรดพม่าและสยาม จึงเป็นที่หมายปองของอาณาจักรรอบข้างอยู่เสมอ [1]
3
แต่ความมั่งมีเหล่านี้กำลังจะถูกสั่นคลอนไป…
ในขณะนั้นอาณาจักรลาวล้านช้าง ได้แตกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง, อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ซึ่งทั้ง 3 อาณาจักรต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงแก่กัน
3
ในขณะที่รัฐสยามกำลังเสื่อมโทรม ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองนึกภาพตามในจินตนาการว่า อาณาจักรสยามภายหลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง มีสภาพเป็นเช่นไร ?
2
แผ่นดินสยามส่วนใหญ่นั้น เป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า ไร้ผู้คนอยู่อาศัย เนื่องจากผู้คนถูกกวาดต้อนไปที่พม่าเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามถูกทำลาย สถาปัตยกรรมที่สามารถขนย้ายได้ เช่น พระพุทธรูป เครื่องมือทำมาหากินทั้งหลายก็ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นอันมาก เรียกได้ว่า ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ในการก่อร่าง สร้างเมือง
6
ทรัพยากรบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการใช้สร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ด้านเกษตรกรรม ไปจนถึงด้านการสงคราม ซึ่งไม่มีวิธีการใดที่จะเพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็วเท่ากับการทำสงคราม แล้วกวาดต้อนผู้คนมาเป็นของตนเอง
2
แผนที่ล้านช้างยุคสามอาณาจักร
มูลเหตุที่แท้จริงแห่งการยกทัพตีอาณาจักรล้านช้าง และกวาดต้อนผู้คนลงสู่ภาคกลางของสยาม ในครั้งนี้ จึงเป็นการที่สยามต้องการทรัพยากรบุคคลเพื่อเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยาม ที่รกร้างว่างเปล่านี้ให้บริบูรณ์
1
ในฤดูหนาวปลายปี พ.ศ.2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพบกจำนวน 20,000 ออกจากกรุงธนบุรี ขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมืองนครราชสีมา จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ แยกทัพลงไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์กองทัพ 10,000 และต่อเรือรบยกทัพเรือขึ้นไปตามลำน้ำโขง ไปบรรจบกองทัพบก ที่เวียงจันทน์ กองทัพธนบุรีล้อมนครเวียงจันทน์ไว้ 4 เดือนก็สามารถตีเมืองได้ในที่สุด
4
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ตั้งพระยาสุโภ ขุนนางเมืองล้านช้างให้อยู่รั้งเมืองไว้ แล้วนำครอบครัวเชลยชาวเมืองเวียงจันทน์หลายหมื่นครัวเรือน ขุนนางทั้งปวง และราชบุตรพระเจ้าศิริบุญสารทั้งสามองค์คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ ตลอดจนทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า เป็นจำนวนอันมาก
4
นอกจากนี้ ยังอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต กับ พระบางการนา พระพุทธรูปทั้งสององค์ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเวียงจันทน์ ด้วยหวังจะทำลายขวัญกำลังใจของชาวเวียงจันทน์ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่เหนือกว่าของสยามในฐานะผู้ชนะสงคราม ส่งกลับมายังกรุงธนบุรี พร้อมด้วยเชลยศึกชาวเมืองเวียงจันทน์หลายหมื่นครัวเรือน ประมาณ 100,000 คน ข้ามแม่น้ำโขง มาอยู่ในเขตต่างๆ ของสยาม
3
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาช้านาน โดยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การกวาดต้อนในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ครอบครัวพลัดพรากจากกัน ราษฎรต่างพากันเสียขวัญแล้ว การกวาดต้อนของกองทัพกรุงธนบุรียังส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเมืองเวียงจันทน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากประชากรมีความสาคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของเวียงจันทน์
5
การกวาดต้อนชาวเวียงจันทน์ส่งลงมากรุงธนบุรีจึง เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานเศรษฐกิจของเวียงจันทน์อีกทางหนึ่ง เพราะปรากฏว่าหลังจากที่กองทัพกรุง ธนบุรีกวาดต้อนชาวเวียงจันทน์ลงไปแล้ว ชุมชนของเวียงจันทน์บางแห่งได้กลายเป็นชุมชนร้าง ไร่นาไม่มีคนทำ เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บส่วยอากร ตลอดจนเกณฑ์แรงงานได้เต็มเม็ด เต็มหน่วยเท่าที่ควร
2
นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งคุมกำลังไปตีเวียงจันทน์ในครั้งนั้น ได้สั่งให้ทำลายตัวเมืองเวียงจันทน์ ตลอดจนเสบียงอาหาร เรือกสวน ไร่นา และบ้านเรือนของชาวเวียงจันทน์จนเสียหายยับเยิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าศิริบุญสารกลับมายึดเวียงจันทน์เป็นที่มั่นได้อีกต่อไป [2]
8
ในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของประเทศลาว ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ในขณะที่อาณาจักรลาวล้านช้างกำลังประสบกับวิกฤตการณ์ ทางด้านการเมือง โดยเฉพาะเกิดปัญหาความขัดแย้งและแตกแยก เป็น 3 อาณาจักรศักดินาสยามภายใต้การปกครองของตากสิน ได้ฉวยโอกาสส่งกองทหารสองกองทัพใหญ่มาบุกตีและยึดอาณาจักรลาวล้านช้างในปี พ.ศ.2321” (กระทรวงศึกษาธิการลาว, 2011, หน้า 74)
6
กองทัพกรุงธนบุรีเข้าบุกยึดเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้าโขง เช่น เมืองนครพนม หนองคาย พะโค เวียงคุก และเมืองพันพร้าว ซึ่งเมือง เหล่านี้ได้ต่อสู้ ต้านทานอย่างสุดกำลังโดยเฉพาะเมืองพันพร้าว แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ความ โหดเหี้ยมของกองทัพกรุงธนบุรี ซึ่งใช้วิธีที่สกปรกและโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด คือ จับเอาคนลาว มาตัดเอาหัวใส่เรือพายขึ้นลงตามลำแม่น้าโขง ร้องขายหัวคนลาว อันได้สร้างความแตกตื่นและความกลัวให้กับประชาชนในเมือง ดังกล่าวนั้นที่สุด จากเหตุการณ์ดังกล่าวพวกเขาจึงสามารถยึดเมือง นั้นได้ (กระทรวงศึกษาธิการลาว, 2011, หน้า 75)
11
ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ลาว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
หลังพ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรี เวียงจันทน์ถูกลดฐานะจากรัฐเอกราชซึ่งเคยมีเกียรติภูมิทัดเทียมกับกรุงธนบุรีทุกประการ ลงมาเป็นเพียงแค่หัวเมืองประเทศราชของสยาม ยิ่งไปกว่านั้นเจ้านายในราชวงศ์ของเวียงจันทน์ บางส่วนยังตกอยู่ในฐานะตัวประกันของสยามอีกด้วย
1
การกระทำดังกล่าวนี้มิได้แตกต่างจากตอนที่พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศกระทำต่อพระองค์ดำแห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งในอดีตที่พวกเราต่างเจ็บแค้นพม่ารามัญทุกครั้งที่ได้เรียนหรือได้ฟังเรื่องความโหดร้ายที่พม่ากระทำต่ออาณาจักรอยุธยาซึ่งเป็นรัฐสำคัญแห่งหนึ่งของชาวสยามในสมัยนั้น
5
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นประวัติศาสตร์ตอนที่สำคัญมากทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและในประวัติศาสตร์ลาว ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามของพวกกบฏ หัวหน้ากบฏคือ เจ้าอนุวงศ์เป็นคนไม่ดี ?
ในขณะที่ประวัติศาสตร์ลาวถือว่า สงครามเจ้าอนุวงศ์เป็นสงครามที่ควรยกย่อง เพราะเป็นสงครามปลดแอกลาวให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย ผลของสงครามใหญ่หลวงนักโดยเฉพาะการกวาดต้อนประชากรจากเวียงจันทน์และลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเอามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางและภาคอีสาน จนเป็นเหตุให้ประชากรลาวเหลือน้อยมาจนทุกวันนี้
1
จากข้อมูลพบว่า ในปี พ.ศ.2563 ประเทศลาวมีประชากรทั้งประเทศเพียง 7.4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งมากกว่าประชากรในกรุงเทพมหาคร 2 ล้านคนเท่านั้น ข้าพเจ้าขอใช้คำว่า “เท่านั้น” เนื่องจาก หากเทียบความหนาแน่นของประชากรต่อหน่วยพื้นที่ จะมีอัตราส่วนที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติกรุงเทพฯ ปี 63 : กรุงเทพมหานครมีประชาร 5.4 ล้านคน) [3]
1
“เจ้าอนุวงศ์” กบฏ หรือ วีรบุรุษ ?
ข้าพเจ้าขอเล่า Backgroung ให้ฟังอีกเล็กน้อยก่อนว่า ตั้งแต่สมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาที่ 2 เจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างความดีความชอบต่อสยามหลายครั้งในด้านการสงครามกับพม่าและการปรากบฏสาเกียดโง้งในปี พ.ศ. 2362 ซึ่งเป็นกบฏชาวข่าในพื้นที่ทางภาคใต้ของลาว
2
อย่างที่ข้าพเจ้าได้เน้นย้ำในเรื่องของการให้มองตัวละครในประวัติศาสตร์ให้เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ที่มีความรัก ความโลภ ความโกรธและความหลง เฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเป็นนายหรือไพร่ทาสก็ล้วนแต่มีสิ่งเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น
ท่านทั้งหลายลองคิดในมุมของเจ้าอนุวงศ์ดูว่า ตัวเองทำความดีความชอบมาก็มาก ถวายตัวรับใช้สยามเสมอมา สยามใช้ให้ทำสิ่งใดก็ทำให้ ความเป็นมนุษย์ธรรมดาก็พึงมีความอยากได้ อยากมี ปราถนารางวัลให้ชื่นแก่ใจบ้างก็คงจะดี เสมือนเราสอบได้ที่ 1 ก็อยากตบรางวัลให้ตัวเอง หรืออยากให้พ่อแม่ให้ของขวัญชิ้นงามให้ชื่นใจซักชิ้นก็คงจะดีไม่น้อย
2
เจ้าอนุวงศ์ก็เช่นกัน ทรงทูลขอแบ่งพวกครัวชาวเวียงจันทน์ที่กวาดต้อนมาสมัยกรุงธนบุรีกลับเวียงจันทน์บ้างเนื่องจาก ขาดกำลังคนไว้ใช้สอย ทางด้านรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธ เพราะหากทรงยอมก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่ไทยกวาดต้อนมา “พากันกำเริบ” เอาอย่างบ้าง เมื่อไม่พระราชทานตามประสงค์เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศกลับขึ้นไปเวียงจันทน์ก็ตั้งต้นคิดกบฏ
5
หากข้าพเจ้าให้เหตุผลแค่ว่า เจ้าอนุวงศ์ไม่ได้รางวัลที่ตนอยากได้จึงก่อการกบฏก็คงจะเป็นการดูถูกเจ้าอนุวงศ์จนเกินไป เสมือนเด็กไม่ได้ของขวัญแล้วงอแง อาละวาดผู้อื่น ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมต่อเจ้าอนุวงศ์เพิ่มเติม จึงนำเหตุผลฝ่ายลาวมาเปรียบเทียบกับหลักฐานฝ่ายไทย นักประวัติ ศาสตร์ลาวที่เด่นที่สุดเป็นที่ยอมรับของลาวในสมัยสังคมนิยมก็คือ ดร. มยุรี และ ดร. เผยพัน เหง้าสีวัทน์ ได้วิเคราะห์สาเหตุของสงครามเจ้าอนุวงศ์ไว้ดังนี้
5
ประการแรก เพราะนโยบายของ “บางกอก” ที่พยายามทำให้ “ลาว” กลายเป็น “สยาม” ส่งผลให้ลาวกลายเป็นแขวงหนึ่งของสยามไปโดยปริยาย ดร. มยุรี-ดร. เผยพันตี ยังให้ความเห็นว่า นโยบายให้มี “การสักเลก” ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงต้นรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า มีความพยายามที่จะกลืนชาติลาว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์พระองค์ที่ไม่ได้มีเรื่องโดดเด่นแค่การค้าขายในหน้าประวัติศาสตร์
ประการที่สอง เจ้าอนุวงศ์เคยถูกขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาและทำกิริยาดูหมิ่นดูถูก เมื่อครั้งที่เจ้าราชวงศ์โอรสองค์รองของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมคนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรีแล้วขนต่อไปยังปากน้ำเมืองสมุทรปราการ เจ้าราชวงศ์ทรงไม่พอพระทัยเรื่องที่คนไทยดูหมิ่น และกดขี่คนลาวดังกล่าวมาก ถึงกับไปทูลเจ้าอนุวงศ์ว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว”
3
ประการที่สุดท้าย ประเด็นเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐสยามพยายามปิดล้อมในการส่งสินค้าออกไปทางเขมรซึ่งขุนนางไทยผูกขาดการค้าอยู่ เนื่องจากลาวเป็น Landlocked country ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งเส้นทางค้าขายถูกสยามปิดกั้นไว้ทั้งหมด จึงต้องเสียส่วยเป็นค่าผ่านทางให้สยาม ซึ่งการถูกขูดรีดส่วยก็เป็นสาเหตุของการทำสงครามครั้งนี้ด้วย
1
ทั้งประเด็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่ต้องทนต่อการดูถูกดูแคลนจากสยาม ประเด็นเรื่องปากท้องเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาด และประเด็นที่จะถูกกลืนกินความเป็นล้านช้าง ทั้งหมดนี้เหมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่ถูกสุมรวมกันไว้ รอเพียงประกายไฟเล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถจุดเพลิงแห่งความคับแค้นใจให้ลุกโชนขึ้นได้
4
ภาพเขียนสภาพเมืองเวียงจันทน์ โดยคณะสำรวจฝรั่งเศสคณะหนึ่ง หลังจากถูกสยามเผาทำลายในปี พ.ศ.2371
ในปี พ.ศ.2369 มีข่าวลือเข้ามาถึงเวียงจันทร์ว่าไทยกำลังวิวาทกับอังกฤษ โดยอังกฤษกำลังจะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เวียงจันทน์จะออกหน้าก่อการกบฏ และปลดแอกตัวเอกให้เป็นอิสระจากสยาม
1
เจ้าอนุวงศ์ยังได้ส่งทูตไปชักชวนเกลี้ยกล่อมให้ญวน หลวงพระบาง หัวเมืองล้านนามีน่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพระองค์ด้วย เพราะลำพังเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กำลังน้อยกว่าฝ่ายไทยมาก
2
ทูตที่ส่งไปญวนถูกส่งไปก่อนการระดมพลที่เวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ นอกจากนี้แว่นแคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง ที่กล่าวข้างต้น ก็ถูกส่งไปหลังจากมีการระดมพลแล้ว หมายความว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยทำสงครามก่อนที่จะรู้ผลว่าอาณาจักรญวน แว่นแคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง จะเข้าร่วมสงครามกับพระองค์หรือไม่
3
เป็นการตัดสินพระทัยที่รีบร้อนเกินไป เพราะปรากฏภายหลังจากสงครามดำเนินไปแล้วว่าอาณาจักรญวน กับแคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง มิได้เข้าช่วยในสงครามครั้งนี้ แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว
1
ชาวอีสาน พิธีเผาศพตามประเพณีแบบพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพ ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป เขียนสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงต้นแผ่นดิน รัชกาลที่ 5
เจ้าอนุวงศ์มีกำลังคนประมาณ 40,000 -50,000 คน โดยกองทัพล้านช้างได้พลยกแยกเป็น 2 สายคือ สายที่ออกจากเวียงจันทร์ และจำปาศักดิ์ มีจุดที่น่าสนใจอีกหนึ่งจุด ที่ข้าพเจ้าอยากกล่าวถึง เมื่อมองจากมุมทางฝั่งคนลาว กองทัพเหล่านี้จะถูกมองสถานะว่าเป็น “กองกำลังกู้ชาติ” แต่หากมองจากมุมของคนสยาม จะมีสถานะเป็นแค่ “กองกำลังกบฏ” ดังนั้น สิ่งเหล่าขึ้นอยู่กับผู้อ่านทุกท่านว่า ท่านจะเลือกมองเหตุการณ์ในครั้งนี้ผ่านมุมมองด้านไหน ซึ่งก็ให้อรรถรสในการศึกษาแก่ท่านไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในส่วนของข้าพเจ้านั้น จะพยายามนำเสนอให้ทุกท่านเห็นเรื่องราวทั้งสองมุมมองอยู่เสมอ
5
การปะทะกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กับเมืองรายทางมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายกู้ชาติ แต่เจ้าเมืองกรมการเมืองส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นกบฏ และเกรงจะต้องเผชิญกับการตีโต้ของฝ่ายไทย แต่เจ้าเมืองไม่มีกำลังจะต่อต้านกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติจึงต้องทำเป็นเห็นด้วยกับฝ่ายกู้ชาติไป
10
กองกำลังกู้ชาติฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาดต้อนประชากรจากพื้นที่เขตโคราช-ลุ่มน้ำชีตอนต้น 11 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางถึงตอนปลาย 7 เมือง พื้นที่ตอนใต้ 9 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 8 เมือง รวม 35 เมือง
กองกำลังกู้ชาติกวาดต้อนจนมาถึงเมืองศูนย์กลางการปกครองหลักของฝ่ายกรุงเทพฯ ในภาคอีสานและลาวคือ “เมืองโคราช” ใช้เวลา 37 วัน ในการถูกกวาดต้อนผู้คน ก็ได้ประชากรมาราวๆ 18,000 คน หากรวมประชากรทั้ง 35 เมืองที่ถูกกองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาด ต้อนไปรวมประมาณ 54,000-95,000 คน
3
แผนที่แสดงเมืองที่ประชากรถูกฝ่ายเวียงจันทน์กวาดต้อน
กว่ารัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะทราบข่าวการกบฏ ก็หลังจากที่กองกำลังกู้ชาติได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 5 เดือน วันที่รัฐบาลทราบข่าวกบฏยกกำลังมาถึงเมืองสระบุรี ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 110 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทัพเพียง 3-4 วัน ก็สามารถประชิตพระนครได้เเล้ว
แสดงให้เห็นว่าการข่าวของไทยล้าหลังมาก แต่โชคดีของฝ่ายไทยที่กองกำลังกู้ชาติมิได้บุกเข้ามายังกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจยกทัพกลับ พร้อมกับเก็บทรัพย์จับเชลยกลับเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์
1
กบฏครั้งนี้ใหญ่หลวงมากในสายตาของรัฐบาลสยาม เห็นได้จากการออกคำสั่งเกณฑ์กำลังจากหัวเมืองทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ขึ้นไปจนถึงหลวงพระบาง แม้กระทั่งภาคใต้เกณฑ์ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช แต่อย่างไรก็ตามกำลังหลักที่รัฐบาลไทยได้ใช้ในการรบจริงๆ เป็นกำลังจากภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิชัย ตาก เชียงทองเดิน)
7
กองทัพสยามสามารถตีกองกำลังกู้ชาติของล้านช้างได้ทุกแห่ง เจ้าอนุวงศ์เมื่อทรงทราบว่าหนองบัวลำภูแตกก็เสด็จหนีไปเมืองญวน กองทัพยึดเมืองเวียงจันทน์ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2370
1
ทัพของสยามเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้ เข้าไปกวาดเอา
ทรัพย์สินมีค่า และพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์กลับไปยัง
สยาม และกวาดต้อนเชลยชาวเวียงจันทน์จำนวนมากลง
ไปยังสยาม ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ได้เลิกทัพ
กลับ และให้ทัพของพระยาราชสุภาวดี จัดการเรื่องต่อไป
เองทั้งหมด
1
เมื่อยกทัพกลับไปถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 ทรงพระพิ
โรธมาก เหตุที่จับตัวเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ ดังนั้นในปี
พ.ศ.2371 จึงมีพระราชบัญชาให้ทัพพระยาราชสุภาวดี
ยกทัพไปเมืองเวียงจันทน์เพื่อทำลายสิ้นซาก
1
ระเบียงหอพระแก้ว เวียงจันทน์ เต็มไปด้วยชิ้นส่วนประติมากรรมที่หักพัง ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)
ครั้งนั้น พระยาราชสุภาวดีตั้งค่ายที่หนองบัวลำภู ให้พระยาพิไชยสงครามนำกำลังพลไปตั้งพัก ณ วัดกลางเวียงจันทน์เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเสด็จลี้ภัยการเมืองอยู่ในเมืองญวน 1 ปีเศษ ก็เสด็จกลับเข้าเมืองเวียงจันทน์อีก พร้อมกับราชทูตญวน
ฝ่ายราชทูตญวนได้มาเจรจาว่า "พระเจ้ากรุงเวียดนามให้พาเจ้าอนุวงศ์มาอ่อนน้อมสารภาพผิด" และ "อนุทำผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขมา" โดยเจรจาให้นำตัวเจ้าอนุวงศ์พาตัวไปลุแก่โทษที่กรุงเทพฯ
1
แต่พอกลับมาเห็นเวียงจันทน์ในสภาพพังพินาศ ก็ทำให้เกิดความเคียดแค้น เจ้าอนุวงศ์จึงนำกำลังเข้าตี และฆ่าทหารสยามตายแทบสิ้น (บางตำราเล่าว่า พอเจ้าอนุวงศ์พอสบโอกาส พระองค์จึงนำทหารของตนฆ่าทหารไทยที่รักษาเมืองจนเกือบหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน)
2
เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รวบรวมกำลังทหารยกกลับมาตีโต้ กองกำลังเของฝ่ายลาวซึ่งนำโดยเจ้าราชวงศ์ ที่บ้านบกหวาน ทางตอนใต้เมืองหนองคาย ในสุดกองทัพเจ้าอนุวงศ์ก็แตก ทัพสยามเข้ายึดเวียงจันทน์ได้เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2371
2
ส่วนเจ้าอนุวงศ์เสด็จหนีไปเมืองญวนเหมือนครั้งก่อน แต่ไปไม่รอดเจ้าน้อยเมืองพวนได้แจ้งที่ซ่อนของเจ้าอนุวงศ์ให้ฝ่ายไทยทราบ ฝ่ายไทยจึงจับเจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ส่งกรุงเทพฯ พร้อมทำลายเมืองเวียงจันทน์จนราบเป็นหน้ากลอง วัดวาอารามถูกเผาทำลายจนอดวาย ผู้คนถูกกวาดต้อนมาทั้งหมด ทำให้เวียงจันทร์มีสภาพเป็นเมืองร้างในที่สุด
2
หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ทรุดโทรมลงเมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เรียบเรียงโดยเจ้าพระยาทิพากร วงศ์ (ขา บุนนาค) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์การกบฏของเจ้าอนุวงศ์ การปราบกบฏของไทยด้วยความ เด็ดขาดรุนแรง การกวาดต้อนประชากรลาว เนื้อหาของพระราชพงศาวดารฉบับนี้ หลายช่วง หลายตอนที่สะท้อนให้เห็นถึงความคับแค้นของไทยที่มีต่อเจ้าอนุวงศ์ เช่น จดหมายของ กรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพใหญ่ของไทยกราบบังคมทูลฯ เรื่องเมืองเวียงจันทน์ ในรายละเอียดของ จดหมายแสดงให้เห็นว่า
3
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเลิกให้เกียรติยกย่องเจ้าอนุวงศ์และราชวงศ์ของ เวียงจันทน์ ซ้ายังกล่าวว่าเจ้าอนุวงศ์นั้นเป็น เสี้ยนหนาม ของแผ่นดิน ดังความว่า
“ครั้นจะคิดให้ตั้งเมืองเวียงจันท์ไว้ ก็ยังไม่ได้ตัวอ้ายอนุ อ้ายปาศักดิ์ อ้ายราชวงศ์ อ้ายสุทธิสาร อ้ายโถง จึงให้ทำลายเมืองเวียงจันท์เสียให้สิ้นอาลัย จะติดตามตัวอ้ายอนุ อ้ายปาศักดิ์ อ้ายราชวงศ์ อ้ายสุทธิสารอ้ายโถงกับบุตรภรรยาญาติพี่น้อง ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถึงมาตรว่าจะมิได้ตัวก็ไม่ได้กลับมาตั้งเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดินขึ้นได้”
ภาพจินตนาการ ขณะเจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวได้ที่เมืองพวน
หลังจากกองทัพไทยสามารถตามจับตัวเจ้าอนุวงศ์ส่งลงมารับโทษที่กรุงเทพ ฯ ได้แล้ว พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ยังกล่าวถึงการนาตัวเจ้าอนุวงศ์ใส่ กรงเหล็กตั้งประจานไว้หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ และมีประชาชนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักใน ครอบครัวจากการทำสงครามในครั้งนี้วนเวียนมาสาปแช่งเจ้าอนุวงศ์เป็นจำนวนมาก ดังความว่า
1
“แล้วรับส่ังให้ทำที่ประจานลงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สาหรับใส่อนุ มีรั้วตารางล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ราษฎรชายหญิงทั้งในกรุงทั้งนอกกรุงพากันมาดู แน่นอัดไปทุกเวลามิได้ขาด ที่ลูกผัวญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้น ก็มานั่งบ่นพรรณนาด่าแช่งทุกวัน”
3
ข้าพเจ้าจำคำพูดที่ว่า “ผู้ชนะ เขียนประวัติศาสตร์” ได้เป็นอย่างดีถ้ามองอีกด้านหนึ่ง จริงๆ แล้วเจ้าอนุวงศ์เป็นคนผิดใช่หรือไม่ ?
4
แท้จริงแล้วใครพรากครอบครัวใคร ? และจริงๆ แล้วใครเป็นเสี้ยนหนามใครกันแน่ เป็นสิ่งที่น่าคิด
ในครั้งนี้ เจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ถูกขังประจานที่ทองสนามหลวง 7-8 วัน ก็ป่วยเป็นโรคลงโลหิตพิราลัยในวัย 61 ชันษา
2
หลังจากที่ปราบอาณาจักรล้านช้างได้จนหมดทิ้งสิ้น อาณาจักรสยามก็ได้ปกครองอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลายาวนานถึง 114 ปี ก่อนที่ จะเสียดินแดนแถบฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2438 [4]
ชาวลาวในจังหวัดกำแพงเพชรในพระราชนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้นครั้งที่สองของรัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวถึงการเดินทางในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2449
หากเรามองอย่างเข้าใจ ไม่ว่าชนชาติใด ก็อยากมีอิสรภาพด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ได้อยากเป็นขี้ข้าของใคร การจะกล่าวหาว่า เจ้าอนุวงศ์เป็นคนไม่ดี เป็นเสี้ยนหนาม เป็นคนไม่รู้จักบุญคุณคน หากมองในอีกมุมมองหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นทีว่าคงจะไม่ถูกต้องเท่าใดนัก เพราะหากเราไม่ได้ไปตีบ้านเขาเมืองเขามา เขาก็ไม่ต้องมาหลั่งเลือดกอบกู้บ้านเมืองเช่นนี้ เราเองก็มีส่วนผิด ที่ไปตีเอาเขามา ไปกดขี่ข่มเหงเขา ดูถูกเขา แล้วยังมาลำเลิกบุญคุณว่าอุส่าห์ไว้เนื้อเชื่อใจ ชุบเลี้ยงอย่างดีอีกเช่นนั้นหรือ?
2
“เพราะอิสรภาพก็คือ อิสรภาพ” เปรียบเสมือนดั่งนกน้อยในกรงทอง ที่ถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่อย่างไรเสีย มันก็ไม่ได้มีโอกาสสยายปีกไปบนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ได้ โบยบินไปได้อย่างเสรีได้ ชาวล้านช้างก็เช่นกัน ต่อให้สยามจะเลี้ยงดูดีอย่างไร แต่ก็ถูกลดทอนศักดิ์ศรีอยู่เสมอ ขนาดสมัยปัจจุบันยังมีทะกรรมที่เราชอบพูดดูถูกดูแคลนชาวลาว เช่น อย่างลาวเลย หรืออย่าทำตัวลาวๆ สิ
มันคือการเเบ่งชนชั้นและการดูถูกเหยียดหยามอย่างหนึ่งที่มีมาจนถึงทุกวันนี้ หากเป็นเราจะยอมทนหรือไม่ ?
6
แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผลลัพธ์คือ ความปราชัยของเจ้าอนุวงศ์ อาณาจักรล้านช้างต้องสูญเสียทั้งดินแดนซึ่งก็คือ อีสานของไทยในปัจจุบัน ทำให้เมืองหลวงที่อยู่ลึกในแผ่นดิน กลับกลายมาเป็นต้องอยู่ติดชายแดน ต้องสูญเสียทั้งผู้คน พลเมืองเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากรชาวลาวมีจำนวนน้อยจนถึงทุกวันนี้ ต้องสูญเสียศูนย์รวมจิตใจและสมบัติอันล้ำค่ำของชาติไป และถูกจารึกในปนะวัติศาสตร์ของสยามว่าเป็นกบฏเลี้ยงไม่เชื่อง แต่สำหรับชาวลาวแล้ว พระองค์คือ “วีรบุรุษ” ผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้กอบกู้ชาติบ้านเมืองจากการถูกกดขี่โดยการปกครองของสยาม ในขณะที่สยามคือ “ศัตรูที่สุดแสนอำมหิต โหดร้ายและป่าเถื่อน” ในหน้าประวัติศาสตร์ของชนชาติลาว
1
นี่คือ ประเด็นโต้แย้งด้วยเหตุผลทางวิชาการของนักวิชาการต่อนักวิชาการด้วยกัน ทั้งจากฝั่งไทยก็ดีและฝั่งลาวก็ดี ส่วนผู้อ่านคือคนที่ได้รับประโยชน์ และได้รับความรู้ที่กว้างขวางขึ้น รอบด้านยิ่งขึ้นและมีมุมมองหลายด้านขึ้น อยู่ที่ว่าเราจะใช้เลนส์ไปมองที่ด้านไหนเท่านั้นเอง สุดท้ายขอให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับความรู้และความสนุกจากการศึกษาในหลายๆ มุมมองนะครับ
6
เชิงอรรถ
[1] ปัญญา คล้ายเดชและมาริสา ไสวงาม. อาณาจักรล้านช้างและการล่มสลายของอาณาจักรล้านช้าง. (ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น พ.ศ. 2563 ) หน้า 1-19
[2] มหาวิทยาลัยบูรพา. ทัศนะของไทยที่มีต่อลาว และทัศนะของลาวที่มีต่อไทย. สืบค้นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2564 จาก http://digital_collect.lib.buu.ac.th
[3] กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ. สถิติกรุงเทพมหานคร 2563. สืบค้นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จาก http://www.bangkok.go.th/pipd/page/sub/21303/สถิติกรุงเทพมหานคร-2563
[4] ศิลปวัฒนธรรม. ทำไมเจ้าอนุวงศ์ จึงต้องปราชัย. สืบค้นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_10322
โฆษณา