22 มิ.ย. 2021 เวลา 09:09 • การเมือง
ใครกันที่กำลัง ‘โดนเอาเปรียบ’ - ถอดบทเรียน ‘สร้างธุรกิจรถไฟฟ้าผูกขาด’ ในแง่มุมที่ไม่เคยมีใครพูดถึง
The Serious - Long form
(หมายเหตุ : บทความนี้ยาวมาก และบทความนี้มิได้มีการกล่าวถึงบริษัทใดเป็นการเฉพาะเจาะจง อาจเป็นตัวอย่างของประเทศแห่งหนึ่งในดาวอันไกลโพ้นอื่นได้)
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวผู้ให้บริการรถไฟฟ้า (ในประเทศแห่งหนึ่ง) ห้ามผู้โดยสารส่งของข้ามที่กั้นตรงทางเข้าออกโดยอ้างว่าเป็นไปตาม ‘ระเบียบ’ ที่กำหนดไว้
 
ครั้นตอนแรกผู้เขียนได้เห็นข่าวนี้ และยังไม่ได้พิจารณารอบด้านมากนักก็คิดไปทันทีว่า ทำไมบริษัทดังกล่าวช่าง ‘เค็ม’ กับประชาชนทั่วไปเหลือเกินทั้งที่ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยก็ค่อนข้างแพงโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอยู่แล้ว
เมื่อแลไปเห็นเพจดังที่มีผู้ติดตามเป็นล้านมาเขียนอีกมุมหนึ่งโดยกล่าวว่า ต้องเห็นใจผู้ประกอบการเพราะเมื่อมีการเดินทางเกิดขึ้นแล้ว บริษัทฯ ก็มีต้นทุนตลอดเส้นทางที่ใช้ แม้ว่าเราจะกลับออกมาที่สถานีเดิม “เราอย่าไปเอาเปรียบบริษัทฯ”
อันที่จริงคำอธิบายนี้ก็ฟังดู ‘เข้าท่า’ เพราะขนส่งสาธารณะส่วนใหญ่ใช้หลักต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) ที่ค่าโดยสารจะค่อย ๆ แพงขึ้นราคาตามระยะทางที่ใช้
แต่ประเด็นนี้สังคมได้ถกเถียงกันไปมากแล้ว เราจึงตั้งคำถามขึ้นใหม่แทนว่า
นอกจากเรื่อง (1) ค่าโดยสารแพง (2) ห้ามส่งของข้ามที่กั้น (3) ความพยายามต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี โดยที่สัมปทานเดิมยังไม่หมดอายุ (4) การที่ยังไม่มีลิฟต์ให้ผู้โดยสารเฉพาะกลุ่มในบางสถานีทั้งที่ได้มีคำตัดสินของศาลแล้ว (5) การสร้างทางเชื่อมเข้าตึกต่าง ๆ โดยมีตอม่อบนสถานที่สาธารณะแล้ว ยังมี 'เรื่องแปลก ๆ' รูปแบบอื่นอีกหรือไม่
 
เราพบว่ามีประชาสัมพันธ์เรื่อง “ขอให้ยืนยันตัวตน (KYC) บัตรกระต่ายน้อยทุกใบ” เนื่องจากบริษัทต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (พ.ร.บ. ปปง.)
ซึ่งใน Social media เองมีการวิพากย์วิจารณ์อยู่ไม่น้อยโดยมีประเด็นเช่น “บัตรเติมเงินได้ไม่กี่ตัง ใครจะเอามาใช้ฟอกเงิน” หรือ “ทำไมรัฐออกกฎหมายสร้างความวุ่นวายให้คนเดินทางแบบนี้” (ใกล้เคียงกับประเด็นขายน้ำส้มต้องขออนุญาตนั่นแหละ)
เราจึงลองเจาะลึกลงไปว่า บริษัทฯ กำลังปฏิบัติตามกฎหมายจริง ๆ หรือมีแรงจูงใจทางธุรกิจอยู่ด้วย ก็พบว่า
1. กฎกระทรวงฉบับที่ 15 (2562) ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. ปปง.ฯ กำหนดให้ ‘ผู้ประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money)’ เป็นสถาบันการเงินที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ปปง. จริง ๆ (ซึ่งมีนัยยะว่า บริษัทฯ ต้องให้ลูกค้าลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามที่เค้าชี้แจง
1
2. แต่เดียวก่อน เนื่องจากในมาตรา 20/1 ของ พ.ร.บ. ปปง.ฯ กำหนดไว้อีกต่อนึงอยู่ว่า ‘แม้ว่าจะเป็นสถาบันการเงินแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนทุกกรณี’ ให้ ปปง. กำหนดเป็นรายกรณีอีกที (ซึ่งมีนัยยะว่า กฎหมายถูกออกแบบมาโดยมีเจตนารมณ์ให้สร้างภาระเท่าที่จำเป็นเท่านั้น)
1
3. แล้ว ปปง. เองก็ใช้อำนาจนั้นออกกฎกระทรวงอีกฉบับชื่อ ‘กฎกระทรวงพิสูจน์ทราบตัวตน’ (ซึ่งเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้) โดยในข้อ 16 นั้นกำหนดให้สถาบันการเงินต้องตรวจสอบทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า (บังคับลงทะเบียน) จริง เมื่อให้บริการ e-money แต่เฉพาะ ‘’ธุรกรรม 5 หมื่นบาท/ครั้งขึ้นไป’’
และแถมข้อ 11 ในกฎหมายฉบับเดียวกันก็ยังเขียนย้ำเพิ่มไว้อีกว่า “ในกรณีความเสี่ยงต่ำ” ให้บริษัทฯ ลดความเข้มข้นการลงทะเบียนได้ นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องให้คนมาเสียบบัตรลงทะเบียน (Dip-chip) ที่สถานี และตรวจสอบใบหน้าเทียบกับบัตรประชาชน (ซึ่งเป็นการลงทะเบียนการใช้บริการการเงินระดับสูงสุด**)
ซึ่งในกรณีนี้บัตรรถไฟฟ้าเป็นการชำระเงินที่มีมูลค่าต่ำ และมูลค่าสูงสุดของการเติมเงินก็สามารถจำกัดได้ จึงเป็นธุรกรรมความเสี่ยงต่ำโดยไม่ต้องสงสัย
4. เพื่อความชัวร์ เราก็ตรวจสอบกฎหมายชำระเงิน 2560 (ซึ่งแบงก์ชาติเองกำกับธุรกิจนี้อยู่ครึ่งนึง) ก็พบว่า มีประกาศหลักเกณฑ์ทั่วไปให้ธุรกิจ e-money ต้องปฏิบัติ (สนช. 7/2561) โดยให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมาย ปปง. ในเรื่องการยืนยันตัวตน (ซึ่งก็คือ ให้ทำตาม ปปง. ไปเลย ไม่มีออกเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องยืนยันตัวตน)
5. บริษัทฯ อาจแย้งได้อีกว่า ‘นอกจากค่าโดยสารแล้ว ยังใช้บัตรนั้นกับร้านค้าอื่น ๆ ในวงกว้าง’ (แต่ไม่รวมถึงรถไฟฟ้าเจ้าอื่น ๆนะ) ก็อาจจะบอกว่าไม่ใช่ธุรกิจความเสี่ยงต่ำตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งก็อาจจะเป็นจริงอย่างนั้น
แต่ข้อนี้เองคือจุดสำคัญที่เราอยากอธิบายว่า ในความเป็นจริงประชาชนทั่วไปใช้บัตรรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางเป็นหลัก เหตุใดบริษัทจึงต้องแนบบริการอื่น ๆ ให้ผู้ใช้งานทุกคน และสร้างภาระการยืนยันตัวตนกับตนในระดับสูงสุด
จุดนี้บางคนอ่านแล้วก็งง แล้วมองในแง่ดีกว่า ‘บริษัทมี Option เสริมแบบนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ’ ก็จนอาจลืมไปว่า
1. แม้บริการดังกล่าวอาจจะเป็นประโยชน์จริงสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม แต่การที่บริษัทใช้จุดนี้บังคับคนที่ใช้บริการทั้งหมด (9 ล้านคน) ที่อาจไม่ได้ต้องการ Option ดังกล่าวเลย เป็นการสร้างความลำบากให้แก่คนจำนวนมากเกินไปหรือไม่
2. การที่บริษัทได้ยืนยันตัวตนลูกค้าระดับสูงสุด* เป็นประเด็นสำคัญเพราะจะทำให้ลูกค้าดังกล่าว ‘สามารถใช้บริการทางการเงินอื่น ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นมาในอนาคต’ ได้ทันทีเพราะเป็น KYC ระดับสูงสุดแล้ว ซึ่งก็ให้บังเอิญว่าบริษัทดังกล่าวมีแผนธุรกิจทางการเงินครบวงจร และเพิ่งประกาศเปิดธุรกิจใหม่คือบริการสินเชื่อส่วนบุคคล
3. ข้อมูลเหล่านี้ สามารถเอาไปผนวกกับข้อมูลอื่น ๆ ของลูกค้าเช่น ข้อมูลการเดินทาง การใช้จ่าย แล้วนำไปเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ กับเราในอนาคต (Targeted marketing) ซึ่งบริษัทนี้กำลังใช้เครื่องมือความเป็นปัจจัย 4 และผูกขาดมาต่อยอดธุรกิจใหม่ให้ตนเอง (ซึ่งบริษัทในเครือก็มีทั้ง บริษัทสื่อโฆษณา บริการการเงิน และ Business Solution)
4. ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเอาข้อมูลไปใช้กับบริษัทในเครือหรือพันธมิตรอื่นในอนาคตหากเราได้เผลอยินยอมไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ
ในจุดนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การที่บริษัท ๆ หนึ่งสามารถสร้าง ‘สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ (New Ecosystem) เพื่อต่อยอดธุรกิจบนธุรกิจผูกขาด ผ่านการ ‘เป็นคนดีที่ทำตามกฎหมาย’ ได้ขนาดนี้ก็เพราะ ‘หน่วยงานของรัฐ’ อาจไม่ได้ปกป้องผู้บริโภคให้ดีพอนั่นเอง
สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหาก (1) รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนและมีเท่าที่จำเป็น (2) เจ้าของกฎหมายเช่น ปปง. หรือ ธปท. ช่วยเตือนบริษัทฯ มิให้ผูกมัดรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินไปกับบริการสาธารณะพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้า หรือจะเป็น (3) กระทรวงคมนาคมที่ควรจะออกมาดูแลลดภาระการปฏิบัติตาม/คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชน
เมื่อสถานการณ์มันเป็นเช่นนี้ไปแล้ว ใครกันที่กำลัง ‘โดนเอาเปรียบ’
3. https://wwhttps://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/PSA_Oversight/Documents/MOF_Services.pdfw.amlo.go.th/amlo-intranet/media/k2/attachments/CDDY2563_2694.PDF
#TheSerious #เดอะซีเรียส
#ผูกขาด #เอาเปรียบสังคม
โฆษณา