Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เด็กการเงิน DekFinance
•
ติดตาม
22 มิ.ย. 2021 เวลา 13:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📌เรื่องที่ควรเข้าใจก่อนลงทุนใน...กองทุนตราสารหนี้
[พื้นฐานตราสารหนี้ที่นักลงทุนต้องรู้]
ช่วงนี้มีแฟนเพจหลายคนบอกมาว่าอยากให้ #เด็กการเงิน เขียนเรื่องตราสารหนี้บ้าง เราเลยจัดให้ค่ะ วันนี้ขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจเรื่องทั่วไปของตราสารหนี้ที่ควรรู้ก่อนที่จะลงทุนในกองทุนตราสารหนี้นะคะ รับรองว่าเข้าใจง่ายแน่นอน ไปเริ่มกันเลย
2
1️⃣ ตราสารหนี้คืออะไร?
ตราสารหนี้เป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่สามารถออกโดยรัฐบาล หรือบริษัทเอกชนก็ได้ โดยผู้ออกตราสารหนี้ถือว่ามีสถานะเป็นลูกหนี้ มีพันธะที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ และจ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุให้แก่นักลงทุนซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้
2️⃣ ประเภทของตราสารหนี้
ตราสารหนี้หลักๆ ในประเทศไทย คือ ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชน
🏛 ตราสารหนี้ภาครัฐ (Government Bond) ออกโดยหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก โดยนำเงินมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หรือแบงค์ชาติเป็นผู้ออก โดยนำเงินไปดูแลสภาพคล่องของเศรษฐกิจ ทั้งนี้เราสามารถแบ่งประเภทของตราสารหนี้ภาครัฐได้ตามอายุของตราสารหนี้
2
ตราสารหนี้ระยะสั้น อายุน้อยกว่า 1 ปี ได้แก่
ตั๋วเงินคลัง ออกโดยกระทรวงการคลัง
ตั๋วเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ตราสารหนี้ระยะยาว อายุมากกว่า 1 ปี ได้แก่
พันธบัตรรัฐบาล ออกโดยกระทรวงการคลัง
พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ออกโดยรัฐวิสาหกิจ
🏢 ตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) หรือเรียกว่าหุ้นกู้ ออกโดยบริษัทเอกชนต่างๆ เนื่องมาจากต้องการระดมทุนเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้เงินผ่านธนาคารนั่นเอง โดยมีทั้งระยะสั้นอายุไม่เกิน 9 เดือน หรือระยะยาวตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี 30 ปี เป็นต้น
3️⃣ ส่วนประกอบหลักของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ที่ออกมาจะมีข้อมูลหลักๆ ระบุไว้ดังนี้
1) เงินต้น หรือมูลค่าที่ตราไว้ (Principal, Par value)
2) ดอกเบี้ย (Coupon rate)
3) วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity date): เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นหรือยาว ก็ดูจากข้อมูลนี้ได้เลย
4) งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon frequency) เช่น 1 ครั้งต่อปี หรือ ทุกๆ 6 เดือน เป็นต้น
5) ชื่อผู้ออกตราสาร (Issuer) เป็นการระบุชื่อผู้ขอกู้ หรือลูกหนี้นั่นเอง
4️⃣ เราจะเชื่อถือได้อย่างไรว่าผู้ออกตราสารหนี้จะมีเงินมาคืนเราตามสัญญา?
🏛 กรณีที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ของภาครัฐ จะถือว่ารัฐบาลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้น้อย เนื่องจากรัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีและนำเงินมาจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้นั่นเอง
📌ตราสารหนี้ภาครัฐไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต หรือเรียกว่าไม่มี default risk
🏢 กรณีที่เป็นตราสารหนี้เอกชน มีโอกาสที่จะเกิด Default risk หรือความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ได้ ทั้งนี้สามารถพิจารณาได้ว่าตราสารหนี้ใดมีความเสี่ยงมากหรือน้อย โดยดูจากอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit rating ที่ออกโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในไทย มี 2 ที่ คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating) ซึ่งเขาจะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เพื่อประเมินว่าบริษัทเอกชนที่ออกตราสารหนี้เพื่อขอกู้เงินนั้นมีความสามารถที่จะชำระหนี้คืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามสัญญาหรือไม่ และสะท้อนออกมาในอันดับเครดิตนั่นเอง
1) ระดับลงทุน (Investment Grade) เรียงจากอันดับสูงสุดถึงต่ำสุด ดังนี้ AAA, AA+, AA, AA-, A+, A, A-, BBB+, BBB และ BBB-
2) ระดับต่ำกว่าลงทุน หรือสำหรับการเก็งกำไร (Non-Investment Grade, Speculative Grade, High yield bond) เรียงจากการเก็งกำไรน้อยถึงระดับที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดังนี้ BB+, BB, BB-, B+, B, B-, CCC+, CCC, CC, C, D
📌ตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตสูง จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
📌ตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำ จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงให้นักลงทุนนั่นเอง (High risk, high expected return)
สำหรับตราสารหนี้ต่างประเทศ ก็มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือแบบนี้เหมือนกัน แต่จะเป็นการจัดอันดับในระดับ global ค่ะ
5️⃣ ทำไมถึงต้องมีกองทุนตราสารหนี้
เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้าไม่ถึง ด้วยเหตุผลนี้จึงมีกองทุนตราสารหนี้ขึ้นมานั่นเองค่ะ โดยผู้จัดการกองทุนก็จะรวมเงินของนักลงทุนไปลงทุน ไปซื้อขายตราสารหนี้ นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการสภาพคล่อง หรือต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย ตราสารหนี้จึงตอบโจทย์ค่ะ
🔍ทั้งหมดที่ได้อธิบายมาด้านบน สามารถอ่านเจอได้ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ของกองทุนตราสารหนี้ด้วย เช่น ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร โดยจะแสดงเป็นอันดับความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ของกองทุน ถ้าเห็นว่ากองทุนนั้นมี Credit rating ระดับ AAA หรือ BBB+ เยอะๆ และมีพันธบัตรรัฐบาลเยอะ กองทุนนั้นก็จะมีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนน้อยกว่ากองทุนที่มี Credit rating ระดับ BBB หรือ B+ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น เป็นต้น
การลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ใช่ว่ากองทุนจะบวกเขียวทุกวันนะคะ บางครั้งกองทุนตราสารหนี้ก็ติดลบได้ มาติดตามปัจจัยที่มีผลต่อราคาตราสารหนี้กันตอนต่อไปนะคะ 😄
Facebook 👉
https://www.facebook.com/DekFinance101
FB Group 👉
https://www.facebook.com/groups/2881645572091138
Blockdit 👉
https://www.blockdit.com/dekfinance
18 บันทึก
15
15
18
15
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย