‘Сarro’ ยูนิคอร์นตัวใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา Career Fact จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ แอรอน แทน (Aaron Tan) ชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้
.
.
#ทุกอย่างล้วนเกิดจากความสงสัย
.
แอรอนก่อตั้งสตาร์ทอัพเป็นของตัวเองครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี และเมื่ออายุ 16 ปีเขาได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นบริษัท Ad-Tech หรือบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับการโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งแรกๆ ในสมัยนั้น
.
ย้อนกลับไปในปี 1995 ในตอนนั้นแอรอนได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก เขาตื่นเต้นกับเสิร์ชเอนจินต่างๆ อย่าง Yahoo, Lycos, Excite หรือ Altavista มาก สิ่งที่เขาสนใจนั้นไม่ใช่การค้นหาสิ่งต่างๆ บนตัวเว็บไซต์ แต่กลับเป็น ’ความสงสัย’ ว่าเว็บไซต์เหล่านี้ทำงานอย่างไร เขาจึงหาข้อมูลจากห้องสมุดและเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับภาษา C++ และ CGI (โปรโตคอลที่ใช้ในการติดต่อระหว่างเบราว์เซอร์และเซิร์ฟเวอร์) เพื่อตอบข้อสงสัยด้วยตัวเอง
.
หลังจากที่แอรอนหาคำตอบให้ตัวเองได้แล้ว สิ่งต่อมาที่เขาทำคือการนำมาปรับใช้ในธุรกิจ ในขณะนั้นเขาเพิ่งอายุ 14 ปี เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตอบลูกค้า ซึ่ง 99% เป็นลูกค้าที่มาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปจนทำให้คะแนนของเขาแย่ลงมากเพราะไม่ได้ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร
.
ธุรกิจของแอรอนสร้างรายได้จำนวนมากจากการขายโฆษณาบนเสิร์ชเอนจิน แต่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาเริ่มจริงจังกับการศึกษามากขึ้น เขาจึงตัดสินใจขายบริษัท แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาตัดสินใจอย่างนั้น และเหตุผลที่แท้จริงวนกลับไปที่จุดเดิมนั่นคือ ‘ความสงสัย’
.
“ผมตัดสินใจขายบริษัทเพราะผมอยากรู้ว่าผมขายได้จริงๆ ไหม และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ผมจึงขายบริษัทแรกผ่านทาง eBay ซึ่งย้อนกลับไปสมัยนั้น คุณสามารถขายอะไรบน eBay ก็ได้ รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้วยเช่นกัน”
.
เขาคิดได้ว่านั่นเป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยที่จะทำให้เขามีเงินเก็บก้อนโตไว้ใช้ในอนาคต เขาจึงตัดสินใจขายอีกบริษัทออกไปด้วย ในเวลาต่อมา
.
ตอนที่เขาขายบริษัทครั้งแรก ผู้ซื้อถึงกับบินมาทำสัญญาถึงที่สิงคโปร์เพื่อจะพบว่าเขายังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้สัญญาซื้อขายจะไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย ทำให้เขาเกือบจะล้มเลิกข้อตกลงไปแล้ว แต่สุดท้ายการซื้อขายก็สำเร็จ เพราะความจริงบริษัททั้ง 2 บริษัทแรกของแอรอนถูกจดทะเบียนด้วยชื่อของคุณย่าของเขาเพราะเหตุผลทางกฎหมายและการยื่นภาษี
.
ในขณะเดียวกันแอรอนก็ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัย Singapore Management ซึ่งนั่นนำไปสู่การได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งเขาได้สำเร็จการศึกษาในปี 2010
.
.
#เริ่มต้นจากทุนรัฐบาล
.
แอรอนทำงานที่ Singtel Innov8 เป็นเวลา 5 ปี (เป็น 1 ในเงื่อนไขของทุนการศึกษาที่เคยได้รับจากรัฐ) ซึ่งบริษัท Singtel Innov8 เป็นกลุ่มบริษัทร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโครงการ AIS The Startup ในประเทศไทย (ภายหลัง Singtel Innov8 ได้ลงทุนใน Carro ด้วยเช่นกัน) ช่วงที่แอรอนทำงานที่นั่นเขามีส่วนสำคัญในการจัดตั้ง Blk71 ซึ่งเป็น Ecosystem สำหรับสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ จากนั้นเขาย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเริ่มต้น Block71 San Francisco ก่อนที่จะย้ายกลับมาอยู่ที่สิงคโปร์ในปี 2015 เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการกองทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
“ในช่วงแรกของการบริหารกองทุนในปี 2010-2011 พวกเราพยายามมองหาสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าสนใจ ซึ่งในตอนนั้นแทบไม่มีสตาร์ทอัพไหนที่เข้าตาพวกเราเลย จึงจบลงด้วยการลงเงินลงทุนก้อนใหญ่ไปในสหรัฐอเมริกาประมาณ 80-90% ส่วนที่เหลือลงไปในจีน และมีเพียง 2-3 โปรเจ็กเท่านั้นที่เราลงทุนไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนั้นพวกเราจึงตัดสินใจว่าเราจำเป็นต้องเริ่มต้นสร้าง Ecosystem ที่นี่”
.
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Startup Weekend แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนใน JFDI ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพแห่งแรกในภูมิภาคนี้อีกด้วย
.
Blk71 เติบโตขึ้นจากการที่ผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นในการมีศูนย์รวมของนวัตกรรม เช่นเดียวกับ Silicon Valley ที่ซึ่งรวมผู้คนที่สนใจในสตาร์ทอัพและนวัตกรรมเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่ผู้ก่อตั้ง พาร์ทเนอร์ รวมถึงนักวิจัย ทุกคนสามารถพบปะ ร่วมงาน และสร้างเครือข่ายร่วมกันได้ ซึ่งแอรอนเป็นผู้พัฒนาและผู้เบื้องหลังพื้นที่แห่งนี้ร่วมกับหน่วยงานรัฐ แต่สตาร์ทอัพที่เขาได้ให้เงินลงทุนไปนั้น ไม่ได้ให้ผลประกอบการที่ดีเท่ากับการประกอบกิจการเอง นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้แอรอนกลับมาทบทวนความคิดอีกครั้งหนึ่ง
.
แอรอนชอบซื้อรถยนต์ แต่เขาไม่ชอบในแง่ของเครื่องยนต์ อันที่จริงเขาแทบไม่มีความรู้ทางด้านเครื่องยนต์เลยด้วยซ้ำ เขาเพียงแค่ชื่นชอบการซื้อขายรถยนต์ตั้งแต่ยังเด็ก แอรอนมีรถยนต์คันแรกตอนอายุ 18 ปี และตอนนั้นการหารถยนต์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับจำนวนเงินที่มีก็เป็นมากกว่างานอดิเรกไปเสียแล้ว เขามองมากกว่านั้น เขามองว่าสิ่งนี้เป็นทั้งแพชชั่นและต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้
.
“ผมเริ่มเรียนรู้การซื้อขายรถยนต์ตั้งแต่ยังเด็กมาก ทุกขั้นตอนผมเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง อย่างตอนที่ผมอยู่อเมริกา นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่ผมได้ลองซื้อขายรถซูเปอร์คาร์ ผมคิดว่ามันเจ๋งมาก เพราะเมื่อคุณซื้อรถหรู มันเป็นไปได้ยากมากที่จะขาดทุน”
.
แอรอนยกตัวอย่างให้ฟังว่า เขาเคยซื้อรถยนต์ยี่ห้อมาเซราติ (Maserati) ที่สิงคโปร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรถยนต์ที่มีความต้องการ (Demand) ค่อนข้างต่ำ และหลังจากที่เขาใช้รถยนต์คันนั้นไป 1 ปีเต็ม เขาก็ยังสามารถขายมันได้โดยได้กำไรมากถึง 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
.
ในประเทศอย่างอินโดนีเซียหรือไทย ทุกคนสามารถขับรถยนต์ 1 คันไปตลอดชีวิต แต่นโยบายในสิงคโปร์นั้นแตกต่างออกไป ทุกคนสามารถมีรถยนต์ในครอบครองได้ไม่เกิน 10 ปี เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็ก รัฐจึงต้องการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนเพื่อลดมลพิษ และสนับสนุนให้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งหลังจากครบ 10 ปีแล้ว เจ้าของรถยนต์สามารถยื่นใบ COE ใหม่เพื่อต่ออายุการใช้งานรถยนต์คันนั้นไปอีก 5-10 ปีในราคาที่สูงมาก ถ้าไม่ต่ออายุรถยนต์เหล่านั้นจะถูกนำไปทำลาย หรือส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ
.
แอรอนมองรถยนต์เป็นการลงทุน เป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนและทำเงินได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาสนใจธุรกิจด้านรถยนต์มากเป็นพิเศษและหันมาทำงานจริงจังในด้านนี้
.
.
#กำเนิดCarro
.
หลังจากที่สัญญาจ้างงานกับรัฐบาลสิงคโปร์หมดลง เขาไม่รอช้าที่จะเริ่มทำสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ นั่นก็คืออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ซึ่งตลาดของทั้งคู่นั้นมีขนาดใหญ่มาก แม้ว่าอสังหาฯ จะมีตลาดที่ใหญ่กว่า แต่กระแสในขณะนั้นกลับเป็นไปในทิศทางของตลาดรถยนต์มากกว่า
.
ย้อนกลับไปในปี 2016 เป็นช่วงที่เทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังมาแรง เห็นได้จากทั้ง Uber และ RenRenChe (บริษัทตัวกลางซื้อขายรถเก่าในประเทศจีน) แต่ในทางกลับกันตลาดของอสังหาริมทรัพย์กลับจมดิ่ง และไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจไปมากกว่าการมาของ Airbnb ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ชัดเจนเลยว่ากระแสของตลาดรถยนต์มาแรงกว่าอสังหาฯ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยว่าการแข่งขันในตลาดรถยนต์ในสิงคโปร์นั้นต่ำกว่าในตลาดอสังหาฯ อย่างมีนัยสำคัญ
.
ท้ายที่สุดแล้วแอรอนก็ตัดสินใจเลือกบุกตลาดรถยนต์ เพราะในตอนนั้น Uber เพิ่งได้กลายเป็นยูนิคอร์น และ Grab ก็เติบโตอย่างมากในภูมิภาคนี้ ดังนั้นเขาจึงมองว่าแนวโน้มตลาดในภูมิภาคนี้ไปทางด้านยานพาหนะซะเป็นส่วนใหญ่
.
สิ่งหนึ่งที่แอรอนได้เรียนรู้จากการเป็น Venture Capitalist คือขนาดของตลาดรวม (Addressable Market) นั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ถ้าเติบโตไปในระดับภูมิภาคได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดี หลังจากนั้นแอรอนได้ติดต่อไปหาเพื่อนชาวอินโดนีเซียและเพื่อนชาวไทยที่เคยเป็น Housemate สมัยที่เขาอยู่ซานฟรานซิสโก เพื่อชักชวนและเริ่มก่อตั้งบริษัท และแล้ว Carro ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีตลาดเริ่มแรกอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย เพราะเป็นบ้านเกิดของผู้ก่อตั้งและเป็นประเทศที่มีตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น
.
“Carro” มาจากคำว่า Car + Hero แอรอนให้คำนิยามธุรกิจของเขาว่าเป็น “อาลีบาบาแห่งวงการรถยนต์” และเรียก Carro ว่าเป็นหนทางที่เร็วที่สุดในการ ‘กำจัด’ รถยนต์ที่เก่าเกิน 10 ปีทิ้ง สำหรับทั้งลูกค้า องค์กร ตัวแทนจำหน่าย หรือใครก็ตามที่ต้องการขายรถเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด
.
เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทได้ขยายใหญ่ขึ้น มีการพัฒนาการสื่อสารระหว่างองค์กร เกิดการร่วมงานกับตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่อย่างโตโยต้าและนิสสัน และกับแอปพลิเคชันอย่าง Grab และ Gojek
.
.
#เปลี่ยนช่องว่างเป็นโอกาส
.
แอรอนกล่าวว่าการซื้อและขายรถเป็นเรื่องเล็ก แต่การสร้างตลาดทั้งตลาดขึ้นมานั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย
.
แอรอนมองเห็นช่องว่างในการทำธุรกิจจากการที่คนทั่วไปมักจะประกาศขายรถยนต์บนทุกแพลตฟอร์มที่เป็นไปได้ แต่องค์กรหรือตัวแทนจำหน่ายจะไม่ทำเช่นนั้นเพราะมักมีปัญหาด้านขั้นตอนและกระบวนการ และ Carro จึงเปลี่ยนช่องวางให้กลายเป็นจุดเด่นของตัวเองด้วยการกำจัดปัญหาเหล่านั้นและขายรถยนต์ออกไปได้อย่างรวดเร็วตามที่ลูกค้าต้องการ
.
โดย Carro มีจุดแข็งคือขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อยว่าโพสต์ขายเองหรือขายกับเต้นท์รถยนต์มือสอง ไม่มีค่านายหน้า มีการเปรียบเทียบราคาและให้ราคาที่ดีที่สุดเสมอ
.
“ตราบใดที่คุณซื้อรถยนต์อย่างถูกกฎหมาย รถยนต์คันนั้นจะถึงมือคุณอย่างแน่นอน” ที่พูดนั้นไม่เกินจริงเพราะ Carro สามารถจัดส่งรถยนต์ไปได้ทั่วโลก ไม่ว่าผู้รับจะอยู่ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ประเทศในแอฟริกาอย่างเคนยา
.
นอกจากนั้น Carro ยังจับมือกับบริษัททีให้บริการด้านการเงินและประกันภัย โดยการรับประกันคุณภาพรถยนต์ การซื้อประกันคุ้มครองเพิ่มเติม รวมถึงบริการหลังการขายตลอดอายุการใช้งาน
.
กล่าวโดยสรุปคือแอรอนมอง Carro ใน 3 ภาพใหญ่ๆ ส่วนแรกคือในส่วนของตลาดซื้อขายรถยนต์มือสอง ส่วนที่สองคือบริการด้านการเงิน และส่วนสุดท้ายคือบริการหลังการขาย
.
“พวกเรานำหน้าคนอื่นอยู่ 1 ก้าว และผมเชื่อว่านี่เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้ ผมยังไม่เห็นบริษัทอื่นที่จัดการกับปัญาหาต่างๆ ได้ครอบคลุมรอบด้านเท่ากับเรา”
.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา Carro ประกาศว่าระดมเงินทุนรอบ Series C ได้มากกว่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,800 ล้านบาท ซึ่งทำให้ Carro ได้กลายเป็นยูนิคอร์นตัวแรกในตลาดซื้อขายรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี
.
“นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับ Carro และเราขอขอบคุณการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ลงทุนทุกท่าน ถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อของ Carro ที่จะนำ AI เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสากรรมยานยนต์ในอนาคต การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคดิจิทัลจะทำให้เกิดมุมมองแบบใหม่อันเกิดจากทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากๆ สำหรับตลาดรถยนต์ออนไลน์ครบวงจรอย่าง Carro”
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละแวดวงได้ที่ https://www.cariber.co/ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และประสบการณ์จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง ไร้ข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา อ้างอิง