23 มิ.ย. 2021 เวลา 03:47 • สุขภาพ
#explainer Talk of the town ในเวลานี้ ไม่มีเรื่องไหนแรงไปกว่า การตั้งคำถามของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่าวัคซีน Moderna ที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งจองไปที่องค์การเภสัชกรรม จนถึงป่านนี้ "ทำไมยังไม่ได้ของเสียที" และ "ทำไมต้องรอนานไปจนถึงเดือนตุลาคม"
8
เรื่องราวเป็นอย่างไร ขั้นตอนจริงๆ ไปถึงไหนแล้ว workpointTODAY จะสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้เข้าใจง่ายใน 16 ข้อ
5
1) ในประเทศไทย แบ่งการได้รับวัคซีนออกเป็น 2 กลุ่ม คือวัคซีนหลัก และ วัคซีนทางเลือก
1
วัคซีนหลัก คือ วัคซีนที่ใช้เงินภาษีของประชาชนจัดสรรเข้ามาโดยรัฐบาล ดังนั้นประชาชนจะไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อฉีด ซึ่งในไทย มีวัคซีนหลัก 2 ยี่ห้อได้แก่ AstraZeneca และ Sinovac
4
2) อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่วัคซีน 2 ยี่ห้อดังกล่าว มีปริมาณน้อยเกินไป และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรเกือบ 70 ล้านคนในประเทศ ทำให้มีประชาชนจำนวนมาก ที่อยากได้ทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจาก 2 ยี่ห้อ ที่รัฐบาลจัดหามาให้
7
นั่นจึงเกิดคำว่า "วัคซีนทางเลือก" ขึ้น ซึ่งหมายความว่า เป็นวัคซีนที่คนอยากฉีด ต้องจ่ายเงินค่าวัคซีนเอง เป็นทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากวัคซีนตัวหลัก
2
3) แต่ความซับซ้อนของวัคซีนทางเลือกนั้น แม้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ประกาศว่า อยากจะซื้อ แล้วเอามาฉีดให้ประชาชนเองซะเลย จะได้ไม่ต้องรอรัฐบาล
5
แต่ความจริงคือ โรงพยาบาลเอกชน ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ นั่นเพราะผู้ผลิตวัคซีนจะไม่เจรจากับเอกชนเจ้าใดๆทั้งสิ้น แต่จะเจรจากับภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น
6
กล่าวคือวัคซีนโควิด-19 ถูกคิดค้นขึ้นมาอย่างเร่งด่วน และเป็นการขึ้นทะแบบแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน หรือ EUA (Emergency Use Authorization) มันมีความเป็นไปได้ ที่ตัววัคซีน จะเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ถูกฉีด และบริษัทผู้ผลิตก็จะไม่อยากต้องถูกเอกชนไล่ฟ้องร้องกันวุ่นวาย ดังนั้นจึงต้องการ "การรับรอง" จากภาครัฐของแต่ละประเทศ ว่าจะรับผิดชอบ เรื่องอาการแทรกซ้อนดังกล่าวเอง โดยที่ผู้ผลิตไม่ต้องเจ็บตัว
16
4) หน่วยงานที่ดูแลการนำเข้าวัคซีนโดยตรงคือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนใดๆ องค์การเภสัชกรรมเปรียบเสมือนตัวแทนของภาครัฐในการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มเจรจาซื้อขายใดๆ วัคซีนดังกล่าว ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในไทยเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
8
อธิบายโดยง่ายก็คือ โรงพยาบาลเอกชนใดๆ ที่อยากได้วัคซีนทางเลือก ต้องรอ องค์การเภสัชกรรม นำวัคซีนเข้ามา แล้วไปซื้อต่ออีกทีหนึ่ง มีเงินอย่างเดียวก็ซื้อไม่ได้ แต่ต้องไปตามขั้นตอนเท่านั้น
11
5) นับจนถึงเดือนพฤษภาคม มีวัคซีน 5 ยี่ห้อ ที่อย. อนุมัติให้ใช้ได้แล้ว คือ AstraZeneca, Sinovac, Johnson & Johnson, Moderna และ Sinopharm ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมสามารถ "นำเข้า" 5 ยี่ห้อนี้ได้เลย เมื่อนำเข้าปั๊บ ก็สามารถใช้งานได้ทันที เพราะอย. รับรองแล้ว
3
6) สำหรับวัคซีน Moderna เป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในป้องกัน การติดโควิด-19 สูงที่สุดในโลก มีงานวิจัยว่าเมื่อฉีดครบโดสแล้ว จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 94.1% และลดความรุนแรงของโรคได้ 100% รวมถึง ป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดได้ 100% เช่นกัน นอกจากนั้น ยังพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนอยู่ที่ 0.03% ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้เอง
10
ด้วยประสิทธิภาพที่ดี ทำให้ Moderna เป็นวัคซีนที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ
5
7) เมื่อ Moderna ได้รับการรับรองจาก อย. แล้ว ทำให้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเช่น โรงพยาบาลในเครือเกษมราษฎร์, โรงพยาบาลบางโพ, โรงพยาบาลอินทรารัตน์ และ โรงพยาบาลนครพัฒน์ เปิดลงทะเบียน สำรวจความต้องการของประชาชน ว่าถ้ามี Moderna เข้ามาสนใจที่จะซื้อหรือไม่ ซึ่งมีประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน แสดงเจตจำนงว่า ถ้ามี Moderna เข้ามาจริง ก็พร้อมจ่ายเงินซื้อแน่นอน
12
8 ) สำหรับขั้นตอนในการนำเข้า Moderna ทางบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้นำเข้า รายงานว่า จะไม่รับออร์เดอร์ จากเอกชน แต่บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จะดีลเฉพาะกับองค์การเภสัชกรรม ที่เป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนใดที่สนใจ ก็ต้องมาคุยกับองค์การเภสัชกรรมเอง
3
9) Moderna ถูกอย. รับรองวันที่ 13 พฤษภาคม เป็นยี่ห้อที่ 4 ในไทย จากนั้นวันที่ 28 พฤษภาคม อย. ก็รับรองอีกยี่ห้อคือ Sinopharm แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ Sinopharm ที่ได้รับรองช้ากว่า แต่ตัววัคซีน กลับจัดส่งถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 20 มิถุนายน 2564 เป็นจำนวน 1 ล้านโดส ถือเป็นวัคซีนทางเลือกยี่ห้อแรก ที่มาถึงประเทศไทย
10
คำถามของประชาชนจึงอยู่ตรงจุดนี้ ว่าทำไม Moderna ที่ถูกรับรองก่อนถึง 2 สัปดาห์ และมีความต้องการจากประชาชนที่พร้อมจะจ่ายเงินมากขนาดนี้ แต่กลับไม่สามารถนำเข้าได้เสียที ไปติดขัดที่ตรงไหน และคนที่ตกเป็นเป้าอันดับหนึ่ง คือองค์การเภสัชกรรม ที่ทำหน้าที่เจรจาในการดีลซื้อวัคซีนโดยตรง
 
10) นี่คือเหตุผลที่สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า เมื่อวานนี้ว่า "สถานการณ์บ้านเมืองมาถึงขนาดนี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์น่า สมาคม รพ.เอกชน สั่งจองไปที่ องค์การเภสัชกรรมนานแล้ว 10 ล้านโดส ได้รับคำบอกเล่าจาก รพ.เอกชนแค่ว่า คาดการณ์จะเข้ามาตุลาคมนี้ องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรเดียวที่สั่งซื้อได้ เพราะเขาขายให้รัฐ หรือตัวแทนรัฐเท่านั้น กฎหมายก็เปิดทางแล้ว พร้อมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อย.ก็รับรองโมเดอร์น่าไปนานแล้ว หลายคนไม่เข้าใจว่า องค์การเภสัชกรรมทำอะไรอยู่ กราบเลยครับ" โดยในโพสต์นี้ มีคนกดไลค์มากกว่า 1 แสนคน
23
11) สำหรับกรอบการนำเข้าวัคซีน Moderna นั้น รายงานจาก ThaiPBS ระบุว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะแบ่งกรอบเวลาเป็น 3 ขั้นตอน
4
ขั้นตอนที่ 1 - สรุปยอดทั้งหมด จากทุกโรงพยาบาลที่ต้องการสั่งซื้อ Moderna ภายในวันที่ 28 มิถุนายน
1
ขั้นตอนที่ 2 - โรงพยาบาลที่ต้องการซื้อ จ่ายเงินค่าวัคซีนให้องค์การเภสัชกรรมเต็มจำนวน และร่วมลงนาม ก่อนตรวจสัญญาสั่งซื้อวัคซีนในขั้นตอนสุดท้าย เดือนกรกฎาคม
2
ขั้นตอนที่ 3 - เมื่อองค์การเภสัชกรรมได้เงินเต็มจำนวนแล้ว จะเซ็นสัญญากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ต่อไป โดยมีกรอบภายในเดือนสิงหาคม
จากนั้นเมื่อเซ็นสัญญากันเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นไปตามที่สรยุทธ์รายงานคือ จะได้วัคซีน Moderna มาใช้จริงในเดือนตุลาคม
2
12) ความแตกต่างของการนำเข้า Sinopharm กับ Moderna นั้น ต่างกันอยู่ที่ Sinopharm ทราบจำนวนชัดเจนว่าจะนำเข้ามาเท่าไหร่ และมีเจ้าภาพที่จัดการ "ออกเงินไปก่อน" นั่นคือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่ในกรณีของ Moderna นั้นต่างกัน เพราะองค์การเภสัชกรรม ต้องรอเงินเต็มจำนวนจากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อนำไปซื้อ ดังนั้นจึงมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น
2
13) สำหรับเรื่องนี้กระแสในสังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย ส่วนหนึ่งจะมีความเห็นใจองค์การเภสัชกรรม ว่าการซื้อมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะต้องรอเงินเต็มจำนวนในการสั่งซื้อ และขั้นตอนในประเทศก็เยอะ การได้วัคซีนเดือนตุลาคม ก็ถือว่าพยายามเต็มที่แล้ว
5
14) แต่อีกส่วน ที่มีจำนวนมากกว่า ระบุว่าภาครัฐไม่มีความจริงจังในการนำเข้าวัคซีนตัวอื่นนอกจาก Sinovac และ AstraZeneca มาให้ประชาชนเลย อย่าง Moderna ถ้าผู้ผลิตพร้อมขาย ประชาชนก็ไม่ควรเสียเงินซื้อเองด้วยซ้ำ ภาครัฐสามารถเป็นคนดีลได้แต่แรก ตั้งแต่วันที่ อย.อนุมัติ โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้ามาอย่างรวดเร็ว แบบที่ไม่ต้องรอเงินจากประชาชนด้วยซ้ำ
19
15) นอกจากนั้นยังมีการเปรียบเทียบว่า กับวัคซีนชนิดอื่นๆ ไทยเจรจา นำเข้าได้อย่างรวดเร็วมาก เช่น Sinopharm ตั้งแต่วันที่ อย. รับรอง จนถึงวันที่พร้อมฉีด ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน แต่กับ Moderna อาจต้องรอไปเรื่อยๆ จากวันที่ อย.รับรอง ถึงวันที่พร้อมฉีด ต้องใช้เวลาถึง 5 เดือน ทำไมกระบวนการจัดการของภาครัฐ ไม่สามารถทำให้คล่องตัวได้มากกว่านี้
7
16) สำหรับสถานการณ์ทั้งหมดก็หยุดอยู่ตรงนี้ และต้องติดตามต่อไปว่า องค์การเภสัชกรรม หรือภาครัฐ จะออกมาตอบโต้ใดๆหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นว่า ทำไมการสั่งซื้อยี่ห้ออื่นๆ ทำได้รวดเร็วมาก แต่กับ Moderna กว่าจะเจรจา กว่าจะไหลไปตามขั้นตอน ต้องรอถึงเดือนตุลาคม และมีทางเป็นไปได้หรือไม่ ที่ภาครัฐจะบีบขั้นตอนมาให้เร็วกว่านี้ เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป โดยที่ไทยยังมีวัคซีนไม่ครอบคลุม ก็หมายถึงเศรษฐกิจของชาติ ที่จะเสียหายอย่างมหาศาล
10
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม workpointTODAY ทาง YouTube : bit.ly/2YDfyiK
2
โฆษณา