Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
I STORY
•
ติดตาม
23 มิ.ย. 2021 เวลา 11:32 • ท่องเที่ยว
เที่ยวไป ให้ได้รู้ : ตอนที่ 1
กว่าจะมาเป็น "อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล" โบสถ์คริสต์ที่สวยที่สุด
วันนี้ขอพาทุกคนเดินทางมาเที่ยวจังหวัดบ้านเกิดของผมเอง คงรู้แล้วใช่ไหมครับ? ว่าคือจังหวัดอะไร เพราะหนึ่งในแลนด์มาร์คที่ห้ามพลาดของจังหวัดนี้ ก็คือ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล โบสถ์คริสต์ที่เก่าแก่ อยู่คู่เมืองจันทบุรีมากว่า 100 ปี ด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงามของที่แห่งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างเดินทางมาเยี่ยมชมอยู่ไม่ขาดสาย
เรื่องราวความเป็นมาของโบสถ์คาทอลิกแห่งนี้ กำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2254 ย้อนไป 300 กว่าปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีชาวเวียดนามที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ประมาณ 300 คน ได้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนทางศาสนาในโคชิน มาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดจันทบุรี
ต่อมาในปี 2255 คุณพ่อเฮิ้ต โตแลนติโน ได้รับสั่งจากพระสังฆราชบีอองเดอ ซีเซ ให้จัดสร้างวัดหลังที่ 1 ขึ้น บริเวณริมแม่น้ำจันทบุรีฝั่งตะวันตก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางความเชื่อในชุมชนแห่งนี้ครับ
เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนคริสตชนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปี 2295 ต้องสร้างวัดหลังใหม่ เป็นหลังที่ 2 และหลังที่ 3 ในปี 2377 ซึ่งมีคุณพ่อมัทธีอัส โต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นผู้ดูแลและดำเนินการจัดสร้าง ซึ่งวัดหลังที่ 3 ได้ย้ายข้ามฝั่งมาอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรีครับ
ในปี 2398 ชุมชนคาทอลิกแห่งนี้ ได้มีจำนวนคริสตชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 1,000 คน จึงได้มีการจัดสร้างวัดหลังที่ 4 ขึ้น ผ่านเวลามา 40 กว่าปี จำนวนคริสตชนได้เพิ่มขึ้นมากถึง 2,400 คน ทำให้วัดหลังที่ 4 ไม่สามารถรองรับจำนวนคริสตชนได้เพียงพอ บาทหลวงเปรีกาล เจ้าอาวาสในสมัย จึงได้จัดสร้างวัดหลังที่ 5 ขึ้น ในปี 2443 ซึ่งเป็นโบสถ์หลังปัจจุบัน นั่นเองครับ
โบสถ์หลังปัจจุบัน นับเป็นหลังที่ 5
โบสถ์หลังนี้ เชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลมาจากมหาวิหารน็อทร์-ดาม เพราะช่วงที่สร้างขึ้นอยู่ในช่วงที่ฝรั่งเศสยังยึดครองเมืองจันทบุรีอยู่นั่นเอง โดยโบสถ์หลังนี้ได้มี พิธีเสกศิลาฤกษ์วันที่ 6 มกราคม 2449 และเริ่มประกอบพิธีมิสซาครั้งแรก ในปี 2450 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชุมชนคาทอลิกแห่งนี้ ได้หล่อหลอมความเชื่อของคริสตชนมายาวนานกว่า 300 กว่าปีแล้วครับ
บริเวณพระแท่นที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม
แม้จะเป็นโบสถ์หลังที่ 5 ที่สร้างมากว่า 100 ปี เมื่อเวลาผ่านไป ก็ต้องทรุดโทรมเป็นธรรมดา ทำให้ในปี 2552 ได้มีการบูรณะสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน บริเวณพระแท่นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ระบบเครื่องเสียง และภูมิทัศน์ด้านนอก แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นของเดิมอยู่ เช่น กระจกสีสเตนกลาสที่ติดตั้งในปี พ.ศ. 2455 – 2457 พื้นกระเบื้องที่นำเข้าจากฝรั่งเศส เพดานไม้ตะเคียนที่มีลักษณะท้องเรือโนอาห์ (เรือที่ถูกกล่าวถึงในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 ของศาสนาคริสต์) รวมถึงบันไดไม้เก่าแก่ ซึ่งปัจจุบันปิดใช้งาน ไม่สามารถขึ้นไปได้ครับ
กระจกสีสเตนกลาสรูปนักบุญ ที่ติดตั้งในปี พ.ศ. 2455 – 2457
บันไดไม้อายุเก่าแก่ ที่ยังคงอยู่
ยอดโดมปลายแหลมของอาสนวิหารฯ ที่ทุกคนเห็น ก็มีเรื่องราวเช่นกันครับ ยอดโดมนี้ เคยถูกถอดออกในสมัยพิพาทอินโดจีน ปี พ.ศ.2483 เพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศครับ เมื่อมีการบูรณะจึงได้นำยอดโดมกลับมาใส่อีกครั้ง และใต้โดมฝั่งขวาได้มีการติดตั้งนาฬิกาโบราณขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2452 มีเส้นรอบวงถึง 4.7 เมตร สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลถึง 2 กิโลเมตรเลยทีเดียวครับ
อีกหนึ่งไฮไลต์ของโบสถ์แห่งนี้คือ รูปปั้นพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ที่ได้รับการบูรณะออกแบบใหม่ทั้งองค์ จากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ประดับพลอยกว่า 2 แสนเม็ด 2 หมื่นกะรัต มูลค่ากว่า 10 ล้านบาทครับ
1
ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวประวัติศาสตร์ ของชุมชนความเชื่อในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงอาสนวิหารฯ ที่ถือเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของคริสตชน ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างสวยงาม แม้เวลาจะผ่านมาหลายปี จนได้รับขนานนามว่า เป็นโบสถ์คาทอลิกที่ใหญ่ และสวยงามที่สุดของประเทศไทย
ตัวผมเองเป็นหนึ่งคนที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกและเติบโตมาพร้อม ๆ กับความเชื่อที่ถูกปลูกฝังจากคนรุ่นก่อน ๆ เพราะนอกจากเรื่องของศาสนาแล้ว วัฒนธรรมก็ถูกส่งต่อมาเช่นกัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวเวียดนาม คนรุ่นก่อน อย่างคุณตา คุณยาย บางครั้งก็จะมักสื่อสารพูดคุยกันเป็นภาษาญวน มีการสวดภาวนาเป็นภาษาญวนเป็นประจำ
1
ถ้าใครเดินทางมาเที่ยวจังหวัดจันทบุรี แวะมาเยี่ยมชมกันได้นะครับ พี่น้องคริสตชนที่นี่ทุกคนน่ารัก และพร้อมต้อนรับเสมอ
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้ อาสนวิหารฯ งดให้เข้าชมอยู่นะครับ
ครั้งหน้า ผมจะพาทุกคนไปเที่ยวที่ไหน และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์อะไรที่น่าสนใจ รอติดตามอ่านกันได้นะครับ
ขอขอบคุณเรื่องราวประวัติศาสตร์จาก หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
1 บันทึก
3
1
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย