Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
นิราศ สแตนด์-อโลน
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
เชื่อไหมว่า นิวยอร์ค ปารีส ลาสเวกัส ชิคาโก นิวออร์ลีนส์ ฮาวาย เอเธนส์ ตั้งอยู่ในเมืองไทยนี่เอง? ทั้งหมดเป็นชื่อโรงหนังในสมัย 40-50 ปีก่อน
1
เทรนด์การตั้งชื่อโรงหนังในสมัยนั้นนิยมใช้ชื่อเมืองใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เช่น ลอนดอน (คือโรงหนังสุขุมวิท) ปารีส (สะพานขาว) เอเธนส์ (ถนนพญาไท), นิวยอร์ค (สะพานควาย) ชิคาโก (หรือเฉลิมพันธ์ แถวเตาปูน) ลาสเวกัส (ถนนจรัญสนิทวงศ์) ฯลฯ
ทั้งหมดเป็นโรงหนัง ‘stand-alone’ กลาดเกลื่อนทั่วกรุง
โรงหนัง stand-alone คือโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังอย่างเดียว มักเป็นอาคารเดี่ยว ๆ ต่างจากสมัยนี้ที่มักเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้า
และเช่นเดียวกับมหานครอื่น ๆ ในโลก โรงหนัง ‘ยืนเดี่ยว’ แบบนั้นก็ค่อย ๆ สูญหายไป โรงสุดท้ายที่หายไปคือสกาลา ยุติตำนานในเดือนกรกฎาคม 2563
1
ผมโชคดีที่อยู่ทันยุคโรงหนังเบ่งบาน ผมเข้ากรุงเทพฯครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 และเดินทางไปต่างประเทศในปี 2523 ในช่วงเจ็ดปีนั้น ผมเชื่อว่าผมได้ไปเยือนโรงหนังในกรุงเทพฯราว 90-95 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลเพราะติดโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า moviemania
โรคคลั่งหนัง
เวลานั้นแม้เป็นนิสิตที่ไม่มีรายได้ นาน ๆ จะมีรายได้พิเศษจากการเขียนนิยายภาพ แต่ก็ยังเจียดเงินเป็นค่าดูหนัง
เนื่องจากเงินน้อย จึงต้องควานหาโรงหนังที่ราคาถูก
และสวรรค์โปรดให้พานพบโรงหนังชั้นสองจำนวนหลายสิบโรง กระจายไปทั่วกรุง
โรงหนังชั้นสองก็คือโรงหนังยืนเดี่ยวนั่นแหละ เพียงแต่ฉายหนังสองเรื่องควบ บางโรงอาจสร้างจุดขายฉายห้าเรื่องควบก็มี เช่น แหลมทองรามา หลายโรงเก่าโทรม หลายโรงก็สะอาดเหมือนโรงหนังชั้นหนึ่ง
2
ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่รู้ที่ทางในกรุงเทพฯ แต่เพราะตามหาโรงหนัง จึงเป็นการท่องกรุงไปโดยปริยาย
ในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่พิมพ์โปรแกรมหนังในแต่ละวัน ก็ดูทุกวันว่าฉายเรื่องอะไรบ้าง
2
ผลก็คือการนั่งรถเมล์ระเหระหนด้นไปทั่วกรุงหาโรงหนัง
โรงหนังสมัยนั้นมักบอกทำเลที่ตั้งในชื่อ เช่น วงเวียนใหญ่รามา ศรีย่านเธียเตอร์ พหลโยธินรามา เพชรคลองจั่น ดาวคะนองรามา ฯลฯ ถ้าไม่รู้ก็สอบถามคนอื่นว่าต้องขึ้นรถเมล์สายไหนไป
บางครั้งก็ดั้นด้นไปไกลมาก เช่น ดาวคะนองรามา สมัย 45 ปีก่อน อยู่ไกลมาก แต่ก็นั่งรถเมล์หลายทอดจนไปดูหนังจนได้
หากสุนทรภู่เกิดในยุคโรงหนังยืนเดี่ยวเฟื่องฟู ท่านก็อาจจะจารึกประสบการณ์ท่องโรงหนังเป็นนิราศภาพยนตร์ บาทที่ว่า “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง” ก็อาจเปลี่ยน “ถึงโรงหนังนั่งนิ่งจ้องจอใหญ่” อะไรประมาณนั้น!
2
ค่าดูหนังสำหรับ ‘สแตนด์-อโลน’ ชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯคือ 10, 15, 20, 25, 30, 40 บาท
ที่นั่งในโรงหนังชั้นหนึ่งสมัยนั้นแบ่งตามราคา ที่นั่งชั้น 10 บาทอยู่แถวหน้าสุดมีเพียง 1-2 แถว ตามมาด้วย 15 บาทสัก 2-3 แถว ไล่ไปเรื่อย ๆ
เวลานั้นเงินเดือนข้าราชการชั้นล่างไม่ถึงสองพันบาท เงินเดือนพนักงานเอกชนก็ไม่เกินสามพันบาท ค่าข้าวแกงจานละ 5-10 บาท ดังนั้นตั๋ว 40 บาทจึงถือว่าแพงมาก ๆ
1
ทว่าเทียบสเกลราคาตั๋วปัจจุบันกับเงินเดือนแล้ว ถือว่าราคาตั๋วหนังสมัยนี้แพงมาก ในสมัยก่อนราคาตั๋วเท่ากับข้าวแกงหนึ่งจาน แต่สมัยนี้ราคาตั๋วแพงกว่าข้าวแกงหนึ่งจาน 4-5 เท่า
1
ส่วนราคาตั๋ว ‘สแตนด์-อโลน’ ชั้นสองมีไม่กี่ราคา เช่น 10 บาท 15 บาท ไม่เคยเห็นโรงไหนมีราคา 40 บาท เพราะโรงชั้นสองไม่มีเลขที่นั่ง จ่าย 10 บาทก็สามารถนั่งแถวหลังสุดได้ 10 บาทเท่ากับดูเรื่องละ 5 บาท คุ้มมาก
1
เอกลักษณ์ของโรงหนังชั้นสองคือฉายหนังวนเป็นลูป จบเรื่องที่หนึ่ง ก็ต่อด้วยเรื่องที่สอง แล้วตามด้วยเรื่องที่หนึ่ง ไล่ไปเรื่อย ๆ จนราวเที่ยงคืน มีคั่นโฆษณาบ้าง ผู้ชมตีตั๋วเข้าไปชมได้ทุกเวลา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราดูหลังท่อนหลังก่อน ค่อยมาดูท่อนหน้า เป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง
1
ข้อเสียของโรงหนังชั้นสองอย่างหนึ่งคือหนังมาไม่ทัน ภาพยนตร์ทั้งหมดในยุคนั้นเป็นหนังม้วน เวลาฉายในโรงหนังชั้นหนึ่ง ไม่มีปัญหา เพราะมีม้วนหนังทั้งหมดในมือแล้ว แต่ครั้นเข้าโรงชั้นสองที่มีอยู่หลายแห่ง ก็ต้องจัดคิว ฉายเสร็จหนึ่งม้วน ก็ให้ ‘คนวิ่งหนัง’ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งให้อีกโรงหนึ่ง และรับม้วนต่อมาจากอีกโรง หากเด็กมาส่งฟิล์มไม่ทัน ภาพบนจอก็ดับวูบ บางโรงขึ้นแผ่นสไลด์ว่า “ขออภัย หนังมาไม่ทัน” บางโรงก็ปล่อยให้จอดำอย่างนั้น
5
จะเอาของถูก ก็ต้องทำใจ
นั่นคือยุคที่ห่างไกลหลายปีแสงจากระบบดิจิตัล
1
เอาละ เรามาลองเลียนแบบท่านสุนทรภู่ ออกเดินทางย้อนเวลาท่องกรุงเยือนโรงหนังกัน เราจะเริ่มจุด ‘นิราศ’ กันที่ราชเทวี บ้านเช่าของผมในเวลานั้น
ตรงตลาดราชเทวี มีโรงหนังเล็ก ๆ โรงหนึ่งซ่อนตัวอยู่ แน่ละโรงหนังแห่งนี้จะมีชื่ออะไรได้ถ้าไม่ใช่ราชเทวีรามา
โรงหนังชั้นสองในยุคนั้นส่วนมากลงท้ายด้วยคำว่า รามา หรือเธียเตอร์ เช่น พระโขนงเธียเตอร์ พหลโยธินรามา บางกอกรามา
1
ถัดจากราชเทวีรามาไปไม่ไกล ระหว่างซอยกิ่งเพชรกับเจริญผล เป็นที่ตั้งของโรงหนังเพชรพิมาน เรานิราศไปตามถนนเพชรบุรี มุ่งหน้าไปที่ประตูน้ำ จะผ่านโรงหนังสองโรง คือเมโทรกับพาราเมาท์
เมโทรเป็นโรงหนังชั้นหนึ่งสภาพค่อนข้างเก่า ยืนริมถนนเพชรบุรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506
ส่วนพาราเมาท์เป็นโรงชั้นหนึ่งที่มีสภาพเก่า วันหนึ่งเดินผ่านไป เห็นคนเชียร์หนังใช้ไมโครโฟนประกาศเชิญคนไปดูหนังใหม่เรื่อง ทอง ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ก็ถูกเขาโน้มน้าวใจเข้าไปดูจนได้ ในราคา 16.50 บาท เกินงบไปมาก แต่ก็ทำไงได้... โรค moviemania กำเริบกะทันหัน
2
เมโทร (ไม่ทราบแหล่งที่มาของภาพ)
เรานิราศต่อไปที่ประตูน้ำ ย่านนี้มีหลายโรง ที่โดดเด่นที่สุดคืออินทรา อยู่ในศูนย์การค้าอินทรา เป็นโรงหนังสวยงาม ภายในตกแต่งวิจิตรตระการตา เป็นโรงหนังที่จอพิเศษกว่าที่อื่น เป็นจอโค้งใหญ่แบบพาโนรามา ก่อนฉายเล่นแสงสีบนผ้าม่านสวยงามน่าดูชม
1
รอบ ๆ อินทรามีอีกหลายโรง ทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสอง ชั้นหนึ่งได้แก่ สเตลลา สตาร์ (บริเวณตึกใบหยกปัจจุบัน)
ข้ามถนนจากฝั่งอินทราคือเมืองทองรามา เป็นโรงหนังชั้นสองสภาพเก่า ทางเข้าโรงเป็นช่องว่างระหว่างตึกแถว โรงนี้ฉายหนังทุกประเภท
จากประตูน้ำ เรานิราศไปทางคลองเตย ย่านนี้มีโรงหนังสองโรงคือ คลองเตยรามา (เปิด 2512) แหลมทองรามา (เปิด 2513) สภาพเก่าทั้งคู่
จากคลองเตย เราไปสามย่านกัน โรงแรกคือสามย่านรามา อยู่ติดตลาดสามย่านเก่า ถ้าเดินข้ามถนนพระราม 4 ก็จะพบโรงหนังรามา โรงนี้ฉายแต่หนังจีน ผมดูหนังกำลังภายในหลายเรื่องที่นี่
จากรามาเรานิราศต่อไปที่หัวลำโพง มุ่งหน้าไปที่ย่านเยาวราช มีโรงหนังกลุ่มหนึ่งที่ฉายเฉพาะหนังจีน เช่น รามา สิริรามา กรุงเกษม ศรีราชวงศ์ นิวโอเดียน เทียนกัวเทียน แน่ละผมไม่พลาดหรอก เคยไปแกร่วแถวนั้น ไม่ได้ดูสาว หากแต่ดูหนัง ผมเคยไปดูหนังจีนเรื่อง ความรักในหอแดง อยู่ห้ารอบที่นิวโอเดียน
2
จากเยาวราช เรานิราศไปทางศรีย่าน
แถวนี้มีสแตนด์-อโลนชั้นสองสองโรงคือ จันทิมาเธียเตอร์ และศรีย่านเธียเตอร์ ทั้งสองโรงอยู่ใกล้ตลาดศรีย่าน ผมเป็นขาประจำของศรีย่านเธียเตอร์ สภาพโรงหนังเก่า แต่ก็มีคนดูแน่นเสมอ ยืนดูเป็นประจำ โรงหนังชั้นสองสมัยนั้นขายตั๋วไม่จำกัด โปรแกรมที่นี่ดีทีเดียว ฉายหนังฝรั่งกับหนังจีน
3
จากศรีย่านวิ่งไปทางสะพานขาว ที่นี่มีโรงหนังชั้นหนึ่งสองโรง คือ ปารีส กับแอมบาสเดอร์ ปัญหาของที่นี่คือทำเล มันสมชื่อ ‘สแตนด์-อโลน’ จริง ๆ เพราะไม่มีร้านหนังสือ ไม่มีกิจกรรมใดให้ทำระหว่างรอ ต้องตั้งใจไปดูหนังจริง ๆ
3
จากสะพานขาว มุ่งหน้าไปที่ถนนราชดำเนิน จะพบศาลาเฉลิมไทย โรงหนังคลาสสิก ที่นี่ฉายแต่หนังไทย
ใกล้ ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะพบ พาราไดซ์ โรงหนังชั้นหนึ่ง ฉายหนังไทยเช่นกัน
เวลานั้นโรงหนังที่ฉายแต่หนังไทยก็มี ศาลาเฉลิมกรุง (เฉลิมกรุง) โคลีเซียม (สะพานยมราช) เอเธนส์ (ถนนพญาไท) เพชรรามา (ย่านประตูน้ำ) เพชรเอ็มไพร์ (ปากคลองตลาด) เป็นต้น
1
ปารีส
ไหน ๆ เราก็อยู่ติดแม่น้ำแล้ว เราก็นิราศข้ามไปฝั่งธนบุรี
ย่านฝั่งธนฯอุดมด้วยโรงหนังชั้นสองมากมาย เช่น วงเวียนใหญ่รามา สุริยาเธียเตอร์ เฉลิมเกียรติ ไทยรามา
1
วงเวียนใหญ่รามาตั้งอยู่ที่ถนนเจริญรัถ เขตคลองสาน เปิดมาตั้งแต่ปี 2516 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ฮาวาย
จากตัวเมืองกรุงเทพฯไปวงเวียนใหญ่ในยุคสี่สิบปีก่อนต้องนั่งรถเมล์หลายต่อ แต่ไม่มีอุปสรรคใดขวางการดูหนังได้
1
ผมเป็นขาประจำโรงหนังสุริยาเธียเตอร์ โรงนี้ตั้งอยู่ข้างสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ต่อมาสุริยาเธียเตอร์ถูกแปลงเป็นสองโรงย่อย ชื่อโรงหนังเอดิสัน 1 และ เอดิสัน 2
ทัวร์โรงหนังพาเราข้ามมาที่ฝั่งกรุงเทพฯถึงย่านวังบูรพา แถวนี้มีหลายโรง เช่น คิงส์ แกรนด์ คาเธย์ ควีนส์ (ใช้สโลแกน ‘กลิ่นหอมเย็นสบายใจ’) ฉายหนังอินเดียเป็นหลัก
พื้นที่แถวนี้น้ำท่วมเป็นประจำ ไม่ใช่น้ำจากข้างนอก แต่เป็นน้ำตาที่ท่วมโรง เพราะชอบนำหนังเศร้ามาฉาย เช่น โชเลย์ ช้างเพื่อนแก้ว บางเรื่องทางโรงแจกกระดาษทิชชูไว้เช็ดน้ำตา แต่บางครั้งก็ไปไกลกว่ากระดาษทิชชู คือหนังอินเดียเรื่อง โรตี แจกโรตีแก่ผู้ชม!
5
จากวังบูรพา เรานิราศไปแถวถนนสีลม มีโรงหนึ่งที่ชอบฉายหนังจีน แต่ก็มีหนังฝรั่งแทรก คือวอร์เนอร์เธียเตอร์ ถนนมเหสักข์ พื้นที่นี้เป็นแหล่งธุรกิจ ภายหลังแปลงเป็นสามโรง ตั้งชื่อว่า เดอะ วอร์เนอร์
จากสีลม เรามุ่งมาที่สยามสแควร์ จะพบ ‘สามเสาหลักแห่งสยามสแควร์’ คือโรงหนังสยาม ลิโด และสกาลา
1
ผมรักสามโรงนี้มาก เพราะที่นั่งชั้นถูกที่สุดคือ 10 บาท (สองแถวหน้า) ดูหนังได้โดยไม่เมื่อยคอ เหตุเพราะเวทีของโรงลาดขึ้นจากพื้น
1
หากผมได้รับอนุญาตให้เขียนสโลแกนสำหรับโรงหนังทั้งสามโรงนี้ คงเขียนว่า “สิบบาทก็สุขใจ”
นักธุรกิจที่สร้างโรงหนังสยามคือกลุ่มที่สร้างศาลาเฉลิมไทย ไปเปิดโรงหนังใหม่ที่สยาม ซึ่งยังเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ นันทา ตันสัจจา แห่งสกาลาให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อแรกเปิดโรงหนังสยาม ต้องออกสิ่งตีพิมพ์เพื่อประกาศให้ลูกค้าศาลาเฉลิมไทยรู้ สิ่งพิมพ์ในรูปนิตยสารฉบับนี้มีนักเขียนชื่อดังมาเขียน มีคอลัมน์ซุบซิบสังคมชื่อ สยามสแควร์
3
ลิโด
สกาลา
นาม ‘สยามสแควร์’ กลายเป็นชื่อย่านโรงหนังใหม่
1
โรงหนังสยามประสบความสำเร็จ เป็นโรงหนังแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อน ทำให้เกิดโรงหนังอีกสองโรงคือลิโดและสกาลา
โรงหนังในย่านนี้ดีตรงที่มีร้านหนังสือหลายร้าน ทำให้ได้เข้าไปดูหนังสือระหว่างรอรอบฉาย เป็นเสน่ห์หนึ่งของชีวิตนานก่อนยุค โซเชียล เน็ตเวิร์ก
1
จากสยามสแควร์เรานิราศไปตามถนนพญาไท มุ่งหน้าไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะพบโรงหนังโรงแรกคือแมคเคนนา ใกล้สะพานหัวช้าง
ชื่อแมคเคนนาตั้งตามหนังฮิตตอนนั้นคือ ขุมทองแมคเคนนา (Mackenna’s Gold) โรงนี้ฉายหนังฝรั่งเป็นหลัก ไม่ค่อยมีของกิน ต้องเดินไปที่สยามสแควร์หรือราชเทวี
1
แมคเคนนา (ภาพจาก oakmans1.blogspot.com)
จากแมคเคนนาไปเรื่อย ๆ จะพบเพรสซิเดนท์ ฮอลลีวู้ด เอเธนส์ และเซ็นจูรี่ตามลำดับ
1
เพรสซิเดนท์ฉายหนังฝรั่งเป็นหลัก บรรยากาศค่อนข้างแห้งแล้งเพราะตั้งอยู่กลางดงห้องแถว
ฮอลลีวูดเป็นโรงหนังไม่ใหญ่มาก ไม่โฉ่งฉ่าง มักฉายหนังสำหรับเด็ก หนังการ์ตูนของ วอลท์ ดิสนีย์ มักเข้าที่นี่ แต่ถ้าเป็นการ์ตูนไทย ก็มักเข้าโรงเอเธนส์ ถัดไปจากฮอลลีวูด การ์ตูนเรื่องแรกของไทย สุดสาคร ก็ฉายที่เอเธนส์ โปรแกรมส่วนมากเป็นหนังไทย
1
ถัดจากเอเธนส์ก็ถึงเซ็นจูรี่ อยู่ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นโรงหนังที่ผมเป็นขาประจำเหนียวแน่น ผมดูหนังจีนกำลังภายในแทบทั้งหมดในโรงนี้ เซ็นจูรี่เป็นโรงหนังชั้นหนึ่ง แต่ในช่วงที่ติดนิยายกำลังภายใน ก็อดใจรอหนังเข้าโรงชั้นสองไม่ได้ อีกประการ มันฉายหนังจีนฉบับซาวน์แทร็ก ไม่มีพากย์ไทย ทำให้ได้เรียนภาษาจีนไปด้วย
ต่อมาเซ็นจูรี่ถูกผ่าออกเป็นสองโรงคือ เซ็นจูรี่ 1 กับ เซ็นจูรี่ 2 ต่อมาก็เพิ่มเซ็นจูรี่ 3 แล้วก็หายไป โผล่มาอีกทีจำแทบไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ ปรับชื่อเป็น เซ็นจูรี่ เดอะ มูฟวี พลาซา มีโรงย่อย 8 โรง ถือว่าเป็นโรงหนังยืนเดี่ยวที่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป
2
จากเซ็นจูรี่ข้ามอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่สะพานควายซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปนัก ย่านนี้มีแต่โรงหนังชั้นสอง พหลโยธินรามา มงคลรามา เฉลิมสิน นิวยอร์ค แทบทุกโรงดูเก่าทั้งที่เพิ่งเปิดมาไม่นาน
พหลโยธินรามาฉายหนังจีนเป็นหลัก เปิดบริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ภายหลังใช้ชื่อว่า พหลเธียเตอร์ เคยถูกสั่งปิดหลายครั้งข้อหาฉายหนังเรท R
1
เพื่อความอยู่รอด โรงหนังหลายโรงต้องปรับไปฉายหนังบางประเภท
มงคลรามาฉายหนังฝรั่ง พหลโยธินรามากับ ประดิพัทธ์เธียเตอร์ ฉายหนังจีนกับหนังฝรั่ง เฉลิมสินฉายหนังไทยเป็นหลัก
มงคลรามาเป็นโรงหนังค่อนข้างเก่า กลิ่นควันบุหรี่คลุ้งชั่วนาตาปี แต่มีขาประจำมาก โรงแน่นเป็นพัก ๆ การยืนดูเป็นเรื่องปกติ
ย่านสะพานควายเป็นแหล่งเหมาะสมสำหรับโรงหนังอาหารการกินอุดม เดินทางสะดวก ผมเป็นขาประจำแถวนี้ โรงหนังที่เข้าบ่อยที่สุดคือมงคลรามากับพหลโยธินรามา ตามมาด้วยประดิพัทธ์เธียเตอร์ (ต่อมาใช้ชื่อ นิวออร์ลีนส์) เฉลิมสิน นิวยอร์ค
จากสะพานควายเราจับรถเมล์นิราศไปที่ตลาดมณีพิมาน เตาปูน มีโรงหนังสองโรงคือกรุงเทพรามากับโรงหนังเฉลิมพันธ์ ราคาบัตรสูงสุด 25 บาท ฉายหนังไทยกับหนังจีน
จากนั้นเราก็ตีรถยาว นิราศมาที่พระโขนง ที่นี่เป็นสวรรค์อีกแห่งของผม พระโขนงเป็นย่านชุมชนหนาแน่น จึงมีโรงหนังหลายโรง ที่ดีที่สุดคือพระโขนงเธียเตอร์ เปิดฉายปี 2514 นอกจากนี้ก็มี พระโขนงรามา (เปิดกิจการปี 2510) เจ้าพระยาเธียเตอร์ (เปิดปี 2513) เอเซียรามา (เปิดปี 2517) ฮอลิเดย์ (เปิดปี 2519) ลอนดอน (เปิดปี 2523)
พระโขนงเธียเตอร์เป็นโรงหนังขนาดใหญ่ ม่านหน้าจอโรงนี้ชักขึ้นทางตั้ง ลายริ้วทางขวาง ต่างจากโรงหนังส่วนใหญ่ที่เปิดออกซ้ายขวา โรงหนังที่ใช้ผ้าม่านทางตั้งมีไม่มาก เช่น โรงหนังพาราไดซ์ (เดิมชื่อ มูนไลท์เธียเตอร์ และ เฉลิมชาติ) โรงนี้มีม่านสองชั้นทำเป็นจีบระย้าสวยงามเมื่อล้อแสงไฟ
ฮอลิเดย์เธียเตอร์เป็นโรงหนังยักษ์ใหญ่ อยู่เยื้องกับพระโขนงเธียเตอร์ เป็นโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มันใหญ่จนสามารถใช้เป็นที่แสดงกายกรรมได้
1
จากพระโขนง เรานิราศผ่านถนนสุขุมวิท มี ‘สแตนด์-อโลน’ ชั้นหนึ่งสองโรง หนึ่งคือโรงหนังวิลล่า อีกหนึ่งคือวอชิงตัน ฉายหนังฝรั่ง ต่อมาแตกเป็นสองโรงย่อย แล้วกลายเป็นสถานคาบาเรต์ แล้วสูญสลายหายไปถาวร
ไม่มีสิ่งใดไม่เปลี่ยนแปลง
นิราศโรงหนังนี้มาจากประสบการณ์ตรง เคยเข้าไปนั่งดูหนัง สัมผัสบรรยากาศ และจารึกไว้ในความทรงจำ
โรงหนังแทบทั้งหมดที่ว่ามานี้กลายเป็นอดีตไปแล้ว เมื่อมัลติเพล็กซ์คืบคลานเข้ามาแทนที่ การดูหนังอย่างเดียวอาจไม่พอ มันต้องรวมการช็อปปิ้งเข้าไปด้วย
หลายโรงถูกทุบทิ้ง หลายโรงกลายเป็นซากไว้ให้คนรุ่นหลังฉงนเล่น โลกเปลี่ยนไปตามสัจธรรมของความไม่เที่ยง เช่นเดียวกับราคาค่าดูหนังที่สูงกว่าราคาตั๋วหนังในยุคก่อนหลายเท่าตัว
แต่สำหรับคนที่ยังรักษาโรค moviemania ไม่หาย ก็ยังต้องดูหนังบรรเทาอาการต่อไป
เพราะอาการบ้าเสพหนังก็คงไม่ต่างจากการเสพเหล้า
มันเป็นสิ่งเสพติดและทำให้เมามายได้เหมือนกัน
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ
https://bit.ly/3amiAvG
และ
blockdit.com
]
26 บันทึก
65
9
25
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals by Winlyovarin
26
65
9
25
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย