23 มิ.ย. 2021 เวลา 10:42 • การเมือง
เมื่อศึกวัคซีน สะท้อนอนาคต Tech War
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
 
หลายคนอาจสงสัยว่า วัคซีนซึ่งเป็นเรื่องสาธารณสุข มาเกี่ยวข้องอะไรกับการแข่งขันเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจ
แต่จริงๆ แล้ว การแข่งขันเรื่องวัคซีนระหว่างจีนและสหรัฐฯ สามารถใช้เป็นภาพสะท้อนจุดแข็งและจุดอ่อนด้านเทคโนโลยีของทั้งฝั่งสหรัฐฯ และจีนได้เป็นอย่างดี
13
วัคซีนจีนเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated virus) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิม เก่าแก่ ใช้มายาวนานในวงการแพทย์
2
มีใครสงสัยเหมือนผมไหมว่า ทำไมจึงมีแต่จีนที่ผลิตวัคซีนเชื้อตายมาสู้กับโควิด ในขณะที่วัคซีนของประเทศอื่นล้วนใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น ของ AstraZeneca (ค่ายอังกฤษ) ใช้เทคโนโลยี viral vector ส่วนวัคซีนค่ายสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อนในโลก
8
คำตอบก็คือ การผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตาย ต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ต้องอาศัยมาตรฐานโรงงานที่สูง และต้องใช้แรงงานทักษะจำนวนมหาศาล เพราะต้องมีการเพาะเชื้อไวรัส และนำเชื้อไวรัสมาฆ่าในห้องปฏิบัติการ จนเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัคซีน
13
หากจะผลิตวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตายในประเทศอื่นให้ได้ปริมาณวัคซีนจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตจะสูงทะลุเพดาน ทั้งยังต้องอาศัยความสามารถในการสร้างโรงงาน ห้องปฏิบัติการ กระบวนการควบคุมการผลิต แรงงานทักษะ
3
ทั้งหมดนี้ไม่ง่ายเลยครับที่ประเทศใดก็ตามจะทำได้ในเวลาที่รวดเร็วภายใต้ต้นทุนที่ต่ำเหมือนกับจีน
2
การที่วัคซีนสองตัวแรกของจีนทั้ง Sinovac และ Sinopharm เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย จึงสะท้อนจุดแข็งในภาคเทคโนโลยีของจีนสองข้อ
1
ข้อแรก คือ ความสามารถด้านการผลิต ไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการสร้างโรงงาน การออกแบบกระบวนการผลิต การมีแรงงานทักษะจำนวนมหาศาล ทั้งหมดภายใต้ต้นทุนที่ควบคุมได้
2
ข้อสอง คือ ความสามารถในการต่อยอดเทคโนโลยีดั้งเดิม จีนพัฒนาวัคซีนจากการศึกษาต่อยอดจากฐานเทคโนโลยีเก่าแก่ ไม่ต่างจากเทคโนโลยีประยุกต์มากมายในจีนที่สร้างจากฐานเทคโนโลยีเดิมที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบัน
หากวงการแพทย์หยุดอยู่ที่เทคโนโลยีวัคซีนชนิดเชื้อตาย ก็คงมีแต่จีนที่คิดค้นและผลิตวัคซีนออกสู่ตลาดได้เร็วกว่าเพื่อน แต่นี่เป็นยุคของการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี การปฏิวัตินวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ (Next Generation) ที่พลิกโฉมของเดิมด้วยฐานคิดใหม่ทั้งหมด
13
นี่เองคือจุดแข็งของสหรัฐฯ ที่เข้ามาปฏิวัตินวัตกรรมการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นการสร้างสารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส แทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัส ผลลัพธ์คือวัคซีนชนิดใหม่นี้ประสิทธิภาพสูงเกิน 90% เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ประสิทธิภาพอยู่ระหว่าง 50-80%
5
สิ่งที่หลายคนเคยปรามาสสหรัฐฯ อย่างต้นทุนแรงงานที่สูงและการขาดความสามารถด้านการผลิต จึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะวัคซีน mRNA สามารถผลิตปริมาณมหาศาลได้ง่าย ใช้ต้นทุนถูก ไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการหรือโรงงานขนาดใหญ่ ไม่ต้องอาศัยแรงงานทักษะมหาศาล ใช้เพียงบุคลากรนักวิจัยระดับแนวหน้าที่ดูแลการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนไม่มากเพื่อออกแบบสารพันธุกรรมสังเคราะห์ให้เหมาะสมเท่านั้นเอง
7
ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงวาดภาพอนาคตว่า การผลิตวัคซีน mRNA ในอีกไม่กี่ปีอาจง่ายถึงขนาดที่ทำเป็นเหมือนเครื่องถ่ายเอกสารติดตั้งในประเทศยากจน เพียงแต่มีแบบของสารพันธุกรรมที่ออกแบบและส่งมาจากห้องแล็บในสหรัฐฯ ก็สามารถกดปุ่มหนึ่งคลิก เครื่องก็จะสังเคราะห์สารพันธุกรรมผสมเป็นวัคซีนออกมาได้เลย ไม่ต้องใช้โรงงานใหญ่โตผลิตอีกต่อไป
9
เทคโนโลยีรุ่นใหม่ “Next Generation” หลายอย่างของสหรัฐฯ ก็เหมือนกับเรื่องวัคซีน คือพลิกฐานคิดเดิม และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมหาศาลหรือโรงงานขนาดใหญ่อีกต่อไป
2
ตอนนี้ไบเดนได้ประกาศทุ่มสุดตัวกับการพลิกฐานคิดเช่นในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล เรื่องแบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
4
สหรัฐฯ มุ่งหวังจะเป็นผู้นำโลกต่อไปด้วยการปฏิวัตินวัตกรรม ไม่ใช่เพียงต่อเติมเสริมแต่งจากเทคโนโลยีเก่าแบบจีน
2
หลายคนฟันธงว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ สหรัฐฯ ย่อมชนะในศึกวัคซีนและศึกเทคโนโลยี แต่ใจเย็นก่อนครับ เพราะปรากฏว่า จีนเองกลับสามารถแหวกวงล้อมได้อย่างรวดเร็ว
2
อย่าลืมครับว่า ไม่มีประเทศใดผูกขาดเทคโนโลยีอยู่เพียงผู้เดียว ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี mRNA ที่เรากำลังพูดถึงนั้น บริษัท BioNTech ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้ ได้ร่วมมือกับ Pfizer ในสหรัฐฯ ผลิตวัคซีน mRNA ออกมาเป็นเจ้าแรกของโลก
5
แต่ไม่นานต่อมา ก็ไปตกลงร่วมมือกับบริษัทจีนอย่าง Fosun Pharma เพื่อผลิตวัคซีน mRNA แบบเดียวกับ Pfizer สำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม ก็ใครจะปฏิเสธแรงดึงดูดของตลาดขนาดใหญ่ของจีนได้ล่ะครับ
3
ในขณะเดียวกัน จีนเองก็พร้อมทุ่มเงินทุนมหาศาลให้กับเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว บริษัทจีน Abogen ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ของกองทัพจีน กำลังเร่งพัฒนาวัคซีน mRNA ของตนเองและได้เข้าสู่การทดลอง Phase 3 ไปแล้วในเดือนพฤษภาคม
1
ส่วนบริษัทจีนอีกแห่งอย่าง Stemirna Therapeutics ก็เพิ่งระดมทุนเพิ่มอีก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาวัคซีน mRNA อีกตัว ซึ่งตอนนี้ก็เข้าสู่การศึกษา Phase 2 เรียบร้อยแล้ว
ศึกวัคซีนจึงเป็นภาพจำลองหมัดชกและหมัดสวนในเรื่องเทคโนโลยีของทั้งสองมหาอำนาจ จีนเก่งประยุกต์และมีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมการผลิต จนเหมือนสหรัฐฯ กำลังจะตกเวที แต่สหรัฐฯ ก็พลิกเกมสวนกลับด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เกือบจะทำจีนตกขบวน
6
แต่จีนก็สวนหมัดกลับด้วยการเรียนรู้ของใหม่อย่างรวดเร็ว โดยร่วมมือกับบริษัทจากประเทศที่สาม อาศัยอำนาจต่อรองจากตลาดขนาดมหึมา และทุ่มทุนเพื่อเร่งคิดทำเองให้ได้เช่นกัน
7
ศึกวัคซีนจึงยังมีภาคต่ออีกหลายยก อีกไม่นาน ก็คงจะเห็นจีนเริ่มส่งออกวัคซีน mRNA แข่งกับค่ายสหรัฐฯ
เรื่องวัคซีนยังสะท้อนปรากฏการณ์ใหม่ในภาคเทคโนโลยี นั่นคือ การเปลี่ยนจากยุค “หนึ่งห่วงโซ่โลก” เป็นยุค “สองห่วงโซ่แยก” เพราะจีนและสหรัฐฯ ต่างคิดถึงความมั่นคงของซัพพลายเชนเป็นตัวตั้ง เช่นถือหลักว่าห่วงโซ่การผลิตวัคซีนต้องยืนได้บนขาของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบหรือเทคโนโลยีจากอีกฝั่งหนึ่ง
11
อย่างประเทศไทยโชคดีที่มีโรงงานผลิตวัคซีนภายในประเทศ จึงมีความมั่นคงระดับหนึ่ง แต่ก็มีคนเล่าว่าวัตถุดิบบางอย่างหรือหัวเชื้อในการผลิตวัคซีน ไทยเรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เราไม่สามารถจำกัดการส่งออกวัคซีนได้เต็มที่ เพราะหากทำเช่นนั้น บริษัทแม่ก็จะไม่ส่งหัวเชื้อให้เรา ในขณะที่จีนและสหรัฐฯ สามารถผลิตวัคซีนได้เองครบห่วงโซ่ภายในประเทศหรือภายในกลุ่มประเทศพันธมิตร โดยไม่ต้องพึ่งพาอีกฝั่ง
9
ไม่ใช่เพียงเรื่องวัคซีนเท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เครื่องมือการแพทย์ยุคใหม่ ไปจนถึงเทคโนโลยี 5G ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างกำลังวางแผนห่วงโซ่การผลิตที่ตัดฝ่ายตรงข้ามออกจากห่วงโซ่
ผลคืออนาคตย่อมเกิดสองห่วงโซ่เทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2
ปรากฏการณ์สำคัญสุดท้ายที่เป็นผลจาก Tech War ที่ดุเดือดระหว่างสองยักษ์ ก็คือ สปีดของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเร็วขึ้นอย่างทบทวีคูณ
3
วัคซีนปกติจะใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 10 ปี ในการคิดค้น แต่วันนี้ทั้งสองฝั่งเข็นวัคซีนเข็มแรกออกมาได้ภายใน 8 เดือน เพราะรัฐบาลทั้งสองฝั่งทุ่มเม็ดเงินสุดตัว
1
ในเทคโนโลยียุทธศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดัคเตอร์ รถยนต์พลังงานสะอาด ไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ รัฐบาลทั้งสองประเทศต่างทุ่มเงินอุดหนุนเต็มที่ให้กับการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ได้ปล่อยไปตามกลไกตลาดหรือตามยถากรรมของการระดมทุนจากภาคเอกชนเช่นในอดีต
2
สหรัฐฯ เพิ่งออกร่างกฎหมายยุทธศาสตร์เทคโนโลยี จะทุ่มเงิน 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Next Generation ในด้านต่างๆ
ในขณะที่ในแผนพัฒนาฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) ของจีนเองก็ประกาศทุ่มงบไม่อั้น และพูดชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่จีนต้องเปลี่ยนจากเทคโนโลยีประยุกต์มาเป็นการขับเคลื่อนการปฏิวัตินวัตกรรมเช่นเดียวกัน
5
การแข่งขันระหว่างสองขั้วเทคโนโลยี ซึ่งเดิมพันหน้าตาของมหาอำนาจและเดิมพันว่าใครจะครองอนาคต ย่อมผลักให้โลกหมุนด้วยสปีดจรวด
คน ธุรกิจ และประเทศที่ยังเคลื่อนช้าเหมือนเต่าคลาน ก็เตรียมตกขบวนเศรษฐกิจใหม่ที่จะมาถึงเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัว
7
โฆษณา