25 มิ.ย. 2021 เวลา 10:31 • ถ่ายภาพ
มุมมองระดับสายตา (Eye Level) และมุมก้มหรือมุมแทนสายตานก (Bird's Eye View)
มาต่อกันที่มุมกล้องอีก 2 แบบที่เหลือครับ โดยส่วนใหญ่ความหมายทางภาพที่ผมอธิบายนี้จะเอามาจากภาษาภาพยนตร์เป็นหลักนะครับ แต่ก็สามารถใช้กับภาพนิ่งได้เช่นกัน
มุมมองระดับสายตา
เป็นมุมมองที่เราทุกคนคุ้นชินที่สุด เพราะเป็นมุมมองที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นมุมมองที่เราใช้มองโลกและสิ่งต่างๆ ทำให้ภาพที่ถูกถ่ายในมุมมองระดับสายตา มักจะให้ความรู้สึกใกล้ชิด คุ้นเคย เป็นกันเอง
2
มุมมองระดับสายตาในขณะที่เรายืน จะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้ยืนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น ทำให้รู้สึกใกล้ชิดและมีส่วนร่วม
มุมมองระดับสายตาในขณะที่เรานั่ง ให้ความรู้สึกว่าเราเป็นผู้ร่วมสนทนาด้วย มักจะใช้ในภาพยนตร์ที่มีตัวละคร 2 คนคุยกัน (ไม่ว่านั่งหรือยืน) จะเรียกว่าเป็นช็อตข้ามไหล่ (Over the shoulder shot) เพื่อทำให้คนดูรู้สึกเหมือนเป็นตัวละครตัวนั้น ให้ได้รับความรู้สึกเช่นเดียวกับตัวละครตัวนั้น จะทำให้คนดูอินกับเรื่องราวได้ง่ายขึ้น
และเมื่อกล้องถอยออกมามองในมุมมองระดับสายตาที่กว้างขึ้น ความรู้สึกของผู้ชมก็เปลี่ยนไป โดยที่ความใกล้ชิดจะลดลง แต่มีความผ่อนคลายมากขึ้น เพราะระยะระหว่างผู้ชมกับตัวแบบที่ถูกถ่ายมีมากขึ้นนั่นเอง
ในภาพยนตร์เราเรียกมุมมองแทนสายตาตัวละครแบบนี้ว่า Point of view shot หรือ POV ในภาพนี้จะเสมือนว่ามีตัวละครนั่งอยู่หลังห้อง และมองไปที่อาจารย์ผู้สอนหน้าห้อง
มุมก้ม / มุมสูง / มุมแทนสายตานก
บางครั้งเราเรียกมุมมองแบบนี้ว่ามุมมองพระเจ้า โดยกล้องจะทำหน้าที่แทนสายตาพระเจ้าที่มองลงมา จึงทำให้สิ่งที่ถูกถ่ายดูด้อยกว่า เพราะถูกมองจากสิ่งที่อยู่สูงกว่า หรือมีอำนาจเหนือกว่า
โดยทั่วๆ ไปมักใช้แสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบ บรรยากาศโดยรวม ใช้เพื่อระบุตำแหน่งของสิ่งนั้นๆ และใช้เพื่อความสวยงามแปลกตา
อย่างในภาพนี้เป็นสถานที่เดียวกันกับภาพในระดับสายตาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเราถ่ายจากมุมสูง ภาพที่ได้ก็ให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป ดูห่างเหินและคนดูรู้สึกเป็นคนนอก แต่ให้ความรู้สึกแปลกตากว่า และอาจดึงดูดความสนใจได้มากกว่า โดยยังทำหน้าที่ให้ข้อมูล เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ได้ครบถ้วน
ภาพจากมุมสูงมักใช้เพื่อแสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบของเมือง ป่าไม้ ฯลฯ เพื่อให้คนดูเข้าใจตำแหน่งของเหตุการณ์ต่อไปที่จะนำเสนอ และในบางครั้งก็ใช้เพื่อความสวยงาม ดึงดูดสายตา เพราะเป็นมุมที่เราไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตประจำวัน
เมื่อนำสัญลักษณ์บางอย่างทางศาสนาเข้ามาร่วมในภาพ จะช่วยเสริมคุณค่าของสิ่งนั้นในสถานะของสิ่งที่อยู่สูงส่งได้ดี
อย่างภาพนี้อาจตีความได้ว่านี่คือสิ่งที่ดูแลและปกปักรักษาเมืองนี้ (แทนสายตาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มองลงไป)
โดยทั่วไปภาพจากมุมสูงมักให้ข้อมูลสถานที่ตำแหน่งของสิ่งที่อยู่ในภาพ
แต่ในภาพยนตร์ภาพจากมุมสูงอาจแทนการถูกเฝ้ามอง ทำให้คนดูรู้สึกถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปกับตัวละครในภาพ (กลุ่มคน 5 คนที่กำลังเดินอยู่)
ภาพจากมุมสูงยังใช้สื่อบรรยากาศของความสงบ ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา หรือความอันตรายได้อีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดวางองค์ประกอบในภาพอีกทีนึง
สำหรับมุมกล้องทั้ง 3 ระดับจะมีไอเดียคร่าวๆ ประมาณนี้ครับ ถ้าใครมีมุมมองอะไรที่อยากมาแลกเปลี่ยน เข้ามาพูดคุยกันได้เลยนะครับ
โฆษณา