Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมะ คือ คุณากรณ์
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2021 เวลา 12:22 • ปรัชญา
ประวัติท่านพุทธทาส
คัดลอกจาก พุทธทาส.คอม -
buddhadasa.com
คัดจากหนังสือ พุทธสาสนา ปีที่ ๖๗ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๒
๑. กำเนิดแห่งชีวิต
ท่านอาจารย์พุทธทาส มีนามเดิมว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสกุลของ พ่อค้าที่ตลาด พุมเรียง ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี บิดา ชื่อ เซี้ยง มารดาชื่อ เคลื่อน มีน้อง สองคน เป็นชาย ชื่อ ยี่เก้ย และ เป็นหญิง ชื่อ กิมซ้อย
บิดาของท่านมีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพหลัก คือ การค้าขาย ของชำ เฉกเช่น ที่ชาวจีน นิยมทำกันทั่วไป แต่อิทธิพลที่ท่านได้รับจากบิดา กลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวี และ ทางด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงาน อดิเรก ที่รักยิ่ง ของบิดา
ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือ ความสนใจ ในการศึกษาธรรมะ อย่างลึกซึ้ง อุปนิสัย ที่เน้น เรื่อง ความประหยัด เรื่องละเอียดลออ ในการใช้จ่าย และการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอ ท่านได้เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้น ม.๓ แล้วต้องออกมาค้าขาย แทนบิดา ซึ่งเสียชีวิต
ครั้น อายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้บวชเป็นพระ ตาม คตินิยม ของชายไทย ที่วัด โพธาราม ไชยา ได้รับ ฉายา ว่า " อินทปัญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญา อันยิ่งใหญ่ เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียน ตามประเพณีเพียง ๓ เดือน แต่ ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึก เป็นสุข และสนุก ในการศึกษา และเทศน์ แสดงธรรม ทำให้ท่าน ไม่อยากสึก เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอ เคยถามท่าน ขณะที่เป็น พระเงื่อม ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า
"ผมคิดว่า จะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด"
"..แต่ถ้า ยี่เก้ย จะบวช ผมก็ต้องสึก ออกไปอยู่บ้าน ค้าขาย"
ท่านเจ้าคณะอำเภอ ก็เลยไปคุยกับโยมแม่ของท่านว่า ท่านควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ย น้องชายของท่านนั้น ไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิต เหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ก็เรียบง่าย ตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา นายยี่เก้ย ก็เลยไม่ได้บวช ให้พี่ชายบวชแทน มาตลอด
นาย ยี่เก้ย ต่อมา ก็คือ "ท่านธรรมทาส" ฆราวาสผู้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสวนโมกขพลาราม
๒. อุดมคติแห่งชีวิต
พระเงื่อม ได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค ระหว่างที่เรียน เปรียญธรรม ๔ อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษา ค้นคว้า จากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้า ออกไปจากตำรา ถึงเรื่อง การปฏิรูป พระพุทธศาสนา ในประเทศศรีลังกา อินเดียและ การเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ในโลก ตะวันตก ทำให้ท่าน รู้สึกขัดแย้ง กับ วิธีการสอนธรรมะ ที่ยึดถือ รูปแบบ ตามระเบียบ แบบแผน มากเกินไป ความย่อหย่อน ในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจน ความเชื่อที่ผิดๆ ของ พุทธศาสนิกชน ในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกัน ในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมากจากที่ พระพุทธองค์ ทรงชี้แนะ
ท่านจึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยา เพื่อศึกษา และทดลองปฏิบัติ ตามแนวทาง ที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาส และ คณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม "สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จากนั้น ท่านได้ศึกษา และปฏิบัติธรรมะ อย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศ ใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงว่า ให้เห็นถึง อุดมคติสูงสุด ในชีวิตของท่าน
จากบันทึกของท่าน เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เขียนไว้ว่า
"...ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกอย่างๆ มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และประกาศ เผยแพร่ความสุขนี้ เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ในบรรดามีอยู่ใน พุทธศาสนา..."
๓. ปณิธานแห่งชีวิต
อุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะ ตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่ พระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท หรือ หินยาน แต่ครอบคลุม ไปถึงพระพุทธศาสนา แบบ มหายาน และ ศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ ที่กว้างขวาง และลึกซึ้ง นี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์ วิธีการสอน และปฏิบัติธรรมะ ได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้อง กับพื้นความรู้ และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัด ชนชั้น เชื้อชาติและศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ ทุกคน ก็คือ เพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมด ทั้งสิ้น และหัวใจ ของทุกศาสนา ก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการ ให้คนพ้นจากความทุกข์ ท่านจึง ได้ตั้ง ปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
๑. ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
๒. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้ บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่า ท่านจ้วงจาบ พระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ หรือ รับจ้าง คนคริสต์ มาทำลายล้าง พระพุทธศาสนา ก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟัง คำวิจารณ์ เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด ในเรื่อง เนื้อหา และ หลักการ มากกว่า ที่จะก่อความ ขัดแย้ง ส่วนตัว เพราะท่านมีหลัก ในการทำงานว่า
" พุทธบุตร ทุกคน ไม่มี กังวล ในการ รักษา ชื่อเสียง มีกังวล แต่การ ทำความบริสุทธิ์ เท่านั้น เมื่อได้ทำความ บริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบ หรือ ไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความ พยายาม อย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียง หรือไม่นั้น อย่า นึกถึง เลยเป็นอันขาด จะกลายเป็น เศร้าหมอง และ หลอกลวง ไปไม่มาก ก็น้อย"
ในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับ จากวงการ คณะสงฆ์ไทย วงการศึกษา ของไทย และวงการศึกษาธรรมะของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลัง กึ่งพุทธกาล เยี่ยงพระมหากัสสป ในครั้งพุทธกาล
สมณศักดิ์ที่ท่านได้รับ
๑. เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์ พ.ศ. ๒๔๘๙
๒. เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอริยนันทมุนี พ.ศ. ๒๔๙๓
๓. เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชชัยกวี พ.ศ. ๒๕๐๐
๔. เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี พ.ศ. ๒๕๑๔
๕. เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์ พ.ศ. ๒๕๒๐
แม้ท่านจะมีชื่อ สมณศักดิ์ ตามลำดับ หลายชื่อ แต่ท่านจะใช้ ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น ต้องติดต่อ ทางราชการ เท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่นแล้ว ท่านจะใช้ ชื่อว่า "พุทธทาส อินทปัญโญ" เสมอ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อม ถ่อมตัว ของท่าน ประการหนึ่ง ชื่อ พุทธทาสนี้ เป็นที่มาแห่งอุดมคติ ของท่านนั่นเอง
ปริญญาทางโลก ที่ท่านได้รับ
๑. พุทธศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จาก มหาจุฬา ลงกรณ ราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๒
๒. อักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา ปรัชญา และ ศาสนา จาก มหาวิทยาลัย ศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๘
๓. ปรัชญา ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา วิชา ศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัย รามคำแหง พ.ศ. ๒๕๒๘
๔. ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา ปรัชญา จาก มหาวิทยาลัย สงขลา นครินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๙
๕. อักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา ปรัชญา จาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๐
๖. การศึกษา ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา พัฒนศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๓๒
๗. ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๖
ในระดับนานาชาติ ปัจจุบัน ทุกมหาวิทยาลัย ที่มีแผนก สอนวิชา ศาสนาสากล ทั้งในยุโรป และ อเมริกาเหนือ ล้วน ศึกษางานของท่าน หนังสือ ของท่าน กว่า ๑๔๐ เล่ม ได้รับการแปลเป็น ภาษาอังกฤษ, กว่า ๑๕ เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส, และ อีก ๘ เล่ม เป็น ภาษาเยอรมัน นอกจากนั้น ยังแปลเป็นภาษา จีน อินโดนีเซีย ลาว และ ตากาล็อค อีกด้วย กล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ไทย ท่านอาจารย์พุทธทาส มีผลงาน ที่เป็น หนังสือแปล สู่ต่างประเทศ มากที่สุด
๔. ผลงานแห่งชีวิต
ตลอดชีวิต ของ ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะ คือ หน้าที่" เป็นการทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกาย และฝ่ายวิญญาณ ของมนุษย์ และ ท่าน ได้ทำหน้าที่ ในฐานะ ทาส ผู้ซื่อสัตย์ ของ พระพุทธเจ้า ทุกอณู แห่งลมหายใจ เข้าออก จนแม้วาระสุดท้าย แห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ผลงาน ที่ท่าน สร้างสรรค์ ไว้ เพื่อ เป็น มรดก ทางธรรมนั้น จะมีมากมาย สักปานใด ซึ่งจะขอนำมากล่าวเฉพาะ ผลงานหลักๆ ดังนี้ คือ
๑. การจัดตั้ง สถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม และ สวนโมกข์นานาชาติ
๒. การร่วมกับ คณะธรรมทาน ในการออกหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" ราย ๓ เดือน นับเป็นหนังสือพิมพ์ ทาง พระพุทธศาสนา เล่มแรก ของไทย เริ่มตีพิมพ์ เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๖ และ ต่อเนื่องมา จนถึง ปัจจุบัน เป็นเวลารวม ๖๑ ปี นับเป็นหนังสือพิมพ์ ทาง พระพุทธศาสนา ที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย
๓. การพิมพ์หนังสือ ชุด "ธรรมโฆษณ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่ รวบรวม พิมพ์ จาก ปาฐกถาธรรม ที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่างๆ และ งานหนังสือเล่ม เล่มอื่นๆ ของท่าน โดยแบ่งออก เป็น ๕ หมวด คือ
๑. หมวด "จากพระโอษฐ์" เป็นเรื่องที่ท่าน ค้นคว้า จาก พระไตรปิฎก ฉบับ ภาษา บาลี โดยตรง
๒. หมวด "ปกรณ์พิเศษ" เป็นคำอธิบาย ข้อธรรมะ ที่เป็นหลักวิชา และหลักปฏิบัติ
๓. หมวด "ธรรมเทศนา" เป็นคำบรรยายแบบเทศนา ในเทศกาลต่างๆ
๔. หมวด "ชุมนุมธรรมบรรยาย" เป็นคำขยายความ ข้อธรรมะ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง
๕. หมวด "ปกิณกะ" เป็นการอธิบายข้อธรรมะ เบ็ดเตล็ด ต่างๆ ประกอบ ความเข้าใจ
ปัจจุบัน หนังสือชุดนี้ ได้ตีพิมพ์ เป็นหนังสือ ขนาด ๘ หน้ายก หนาเล่มละ ประมาณ ๕๐๐ หน้า จำนวน ๖๑ เล่ม แล้ว ที่ยังรอการจัดพิมพ์ อีก ประมาณ ร้อยเล่ม
๔. การปาฐกถาธรรม ของท่าน ที่ก่อให้เกิด กระแสการวิพากษ์ วิจารณ์ ทั้งในแง่วิธีการ และ การตีความ พระพุทธศาสนา ของท่าน กระตุ้น ให้ผู้คน กลับมาสนใจธรรมะ กันอย่างลึกซึ้ง แพร่หลาย มากขึ้น ครั้งสำคัญๆ ได้แก่ ปาฐกถาธรรม เรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" "อภิธรรมคืออะไร" "ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร" "จิตว่าง หรือ สุญญตา" "นิพพาน" "การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม" "การศึกษาสุนัขหางด้วน" เป็นต้น
๕. งานประพันธ์ ของท่านเอง เช่น "ตามรอยพระอรหันต์" "ชุมนุมเรื่องสั้น" "ชุมนุมเรื่องยาว" "ชุมนุมข้อคิดอิสระ" "บทประพันธ์ของ สิริวยาส" (เป็นนามปากกา ที่ท่านใช้ ในการเขียน กวีนิพนธ์) เป็นต้น
๖. งานแปลจากภาษาอังกฤษของท่าน เล่มสำคัญ คือ "สูตรของเว่ยหล่าง" "คำสอนของฮวงโป" ทั้งสองเล่ม เป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนา นิกายเซ็น เป็นต้น
เกี่ยวกับ งานหนังสือนี้ ท่านเคยให้สัมภาษณ์ กับพระประชา ปสนฺนธมฺโม ว่า
"เราได้ทำสิ่งที่มันควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่า มันคุ้มค่า อย่างน้อย ผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครในประเทศไทย บ่นได้ว่า ไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ ได้ยินคนพูดจนติดปาก ว่า ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน เราก็ยังติดปาก ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน ตอนนี้ บ่นไม่ได้อีกแล้ว"
ท่านอาจารย์ พุทธทาส ได้ละสังขาร กลับคืน สู่ ธรรมชาติ อย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวม อายุ ๘๗ ปี นับได้ ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ ผลงาน ที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่าน ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อ พุทธทาส จะได้ไม่ตาย ไปจาก พระพุทธศาสนา ดังบทประพันธ์ ของท่าน ที่ว่า
พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ
แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ
สิบปีในสวนโมกข์
อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ
คำปรารภ
เรานำบันทึก “สิบปีในสวนโมกขพลาราม” อันเป็นอัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของท่านอาจารย์พุทธทาส มาเสนอเป็นอันดับแรก ในหนังสือชุด พุทธศาสนาสำหรับคนหนุ่มสาว นี้ เพราะเราเชื่อว่างานชิ้นนี้จะช่วยให้คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน ได้ศึกษาถึงการแสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิตของคนหนุ่มนักอุดมคติอีกแนวหนึ่ง โดยอาศัยแรงดลใจจากหลักการในพระพุทธศาสนา ตามกระแสวัฒนธรรมสายของไทยเราเอง ท่านผู้เขียนได้บันทึกงานชิ้นนี้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ขณะที่ท่านอายุได้เพียง ๓๕ บี แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราวครึ่งศตวรรษมาแล้ว แต่ท่านผู้อ่านจะรู้สึกว่าได้สัมผัสกับชีวิตจิตใจของท่านผู้เขียนอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะจิตใจของท่านเมื่อเขียนบันทึกนี้อยู่ในวัยร่วมกับคนหนุ่มสาว อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการแสวงหาของท่านเป็นการเล่นกับประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ อันเป็นส่วนลึกที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา และในแง่นี้เองที่คนหนุ่มสาวรุ่นนี้จะสามารถหาข้อคิดมุมขบจากงานชิ้นนี้ได้ โดยเฉพาะการเตรียมตัวเตรียมใจในวัยต้นเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมในวัยต่อๆ ไป.
จริงอยู่ท่านอาจจะมีกำลังใจเข้มแข็งเป็นพิเศษ สามารถรักษาอุดมคติสูงสุดตามคติโบราณ ดำรงตนในเพศพรหมจรรย์อย่างสะอาดหมดจดจนตลอดรอดฝั่ง อย่างไรก็ตามสำหรับคนหนุ่มสาวทั่วไปที่รักจะทำงานทางสังคม การฝึกฝนเพื่อรู้จักตนเองในแนวทางนี้ ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ในสมณเพศนานเพียงใดหรือไม่ การฝึกอยู่อย่างไร้ทรัพย์สมบัติโดยสมัครใจ การฝึกอยู่คนเดียว การฝึกเผชิญกับความกลัว การฝึกสมาธิจิต การฝึกศึกษาใจคนเองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การฝึกฝนทางสติและปัญญาจนสามารถทำงานอย่างรับผิดชอบด้วยความปล่อยวาง การรู้จักความสุขระดับต่าง ๆ การฝึกฝนเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าต่อชีวิตของเรา ช่วยให้เราสามารถเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้นชนิดที่ไปพ้นการเรียนรู้ทางพุทธิปัญญา หากเป็นการเข้าถึงด้วยประสบการณ์ ในระดับใดระดับหนึ่ง นี้ย่อมเป็นนิสัยปัจจัยเอื้อให้เราสามารถยืนหยัดในหนทางของอุคคติอย่างยืนนาน ไม่เสียที ขายเนื้อขายตัว หรือประนีประนอมกับระบบอันเหลวเละเสียง่าย ๆ เนื่องด้วยเราได้สร้างรากฐานแห่งการปฏิวัติขัดขืนที่มั่นคงในตัวเรานั้นเอง
ในแง่ประวัติศาสตร์ งานเช่นนี้ย่อมช่วยให้เราเข้าใจรากฐานอันเป็นที่งอกงามของความคิดและงานของท่าน จนเป็นที่รู้จักกันในนามของขบวนการสวนโมกข์ในปัจจุบันได้ไม่น้อยเลย ช่วงสิบบีแรกที่วางรากฐานอย่างมั่นคงนี่เอง กระบวนงานจึงเติบโตเป็นลำดับมาอย่างแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ นี้ย่อมเป็นทั้งอุทาหรณ์และแรงดลใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับยุวสงฆ์รุ่นหลังผู้ปรารถนาจะดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญประโยชน์ตน และการก่อตั้งขบวนการเพื่อทำงานพระศาสนาอันจะก่อคุณปะโยชน์ต่อสังคมวงกว้างออกไปเราจะเห็นได้ว่าท่านบันทึกงานชิ้นนี้เพื่อประโยชนข้อนี้ด้วยส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้นักเลงภาษาไทยยังยอมรับกันว่าบันทึกนี้เป็นความเรียงที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของยุคนี้ งดงามทั้งด้านภาษาและสาระ ดังเมื่อสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งปะเทศไทยคัดข้อเขียนภาษาไทยที่ดีเยี่ยมมารวมพิมพ์เพื่อเป็นแบบอย่างการเขียนภาษาไทยอย่างสละสลวยนั้นได้รวมบันทึกชิ้นนี้ไว้ด้วย
เนื่องจากงานชิ้นนี้พิมพ์มานานจนหาไม่ได้แล้วในตลาดหนังสือเดี๋ยวนี้ หรือจะมีอยู่บ้างก็รวมพิมพ์ซ่อนอยู่ในเรื่องอื่น ๆ และมักจะอยู่ในวงจำกัด เราจึงขออนุญาตท่านผู้เขียนนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ใหม่เป็นประเดิมเริ่มแรกในโตรงการหนังสือชุดใหม่ของเรานี้
พระประชา ปสนฺนธมฺโม
แทนกองสาราณียากร
๒๗ - ๗ - ๒๗
สิบปีในสวนโมกข์
ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับ นายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุด ในตอนจะสิ้นปีนั่นเอง เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่าข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคซึ่งเราสมมุติกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย.เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ ไชยา เราก็ตกลงกันว่าจำเป็นที่เราจะต้องจัดสร้างที่นี่ ทั้งที่ที่ไชยาไม่มีถ้ำ ไม่มีภูเขาที่งดงามตามธรรมชาติเลย และเพราะเรามีกำลังน้อย เราจะทำน้อย ๆ เผื่อผู้มีกำลังมาก เห็นตัวอย่างแล้วเกิดพอใจขึ้นมา ก็จะจัดทำกันให้แพร่หลายได้สืบไป หรืออย่างน้อยที่สุด การทำของเราอาจเป็นเครื่องสะดุดตาสะกิดใจ ให้เพื่อนพุทธบริษัทเกิดสนใจในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมหรือรักการปฏิบัติด้วยตนเองขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย เราทำตนเป็นเพียงผู้ปลุกเร้าความสนใจ ก็นับว่าได้บุญกุศลเหลือหลายแล้ว เมื่อตกลงกันดังนี้ ฉันก็ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ในตอนสิ้นปี ๒๔๗๔ นั่นเอง.
ฉันพักอยู่ใน วัดใหม่ พุมเรียง อันเป็นวัดที่เคยอยู่มาแต่แรกราวเดือนเศษก็หาสถานที่ได้ ชนิดที่ในถิ่นนั้น จะหาได้ดีไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว พวกเรากันเองที่เป็นมิตรสหาย ๔-๕ คน ช่วยกันไปจัดที่ที่พัก กว่าฉันจะได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น ก็ตกเดือนพฤษภาคม ซึ่งฉันจำได้แต่เพียงว่าดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๑๒ ต่อมาในเดือนมิถุนายนประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะฉะนั้นปฏิทินของสวนโมกข์จึงเป็นสิ่งที่จะจดจำได้ง่ายที่สุด โดยแฝงไว้ในประโยคสั้นๆ ว่า“ ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ข้อนี้, พวกเราถือว่ามันเป็นนิมิตแห่งการเปลี่ยนยุคใหม่ เพื่อการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเท่าที่เราจะพึงทำได้.
ท่านผู้อ่านคงจะประหลาดใจบ้างก็ได้ ในเมื่อจะได้ทราบว่าการกล่าวถึงเรื่องสวนโมกข์ในระยะสองปีแรกนั้น ก็มีแต่เรื่องเกี่ยวกับฉันเป็นส่วนมาก เพราะตลอดเวลา ๒ ปีแรกนั้น ไม่มีใครอาศัยอยู่ในสวนโมกข์เลย มีแต่ฉันอยู่คนเดียว ยังไม่มีใครในต่างจังหวัดได้ยินชื่อสวนโมกข์ เพราะเราเพิ่งจัดออกหนังสือพุทธสาสนารายตรีมาสในปีที่สองของการตั้งสวนโมกข์ กว่าจะมีภิกษุสามเณรจากที่อื่นไปเยี่ยมสวนโมกข์บ้าง ก็ตกเข้าในปีที่สาม ฉันจึงอยู่คนเดียวตลอดเวลาสองปีทั้งในและนอกพรรษา การมีสวนโมกข์และการไปอยู่ที่นั่นของฉัน เป็นการกระทำที่บอกกล่าวกัน เฉพาะผู้มีความสนใจร่วมกันแม้คนในถิ่นนั้นเองที่ไม่เข้าใจความมุ่งหมายอันแท้จริงก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะชาวไทยอิสลาม ซึ่งอยู่ใกล้สวนโมกข์ที่สุด บางคนคงจะเดาความหมายเอาเอง จึงในตอนเช้าที่ฉันออกบิณฑบาตวันแรก ๆ เด็กๆ พากันวิ่งหนี และร้องบอกกันว่า“ พระบ้ามาแล้ว ๆ ” แล้วอธิบายให้ฟังกันเองว่า ฉันเป็นคนบ้าที่เขาเอาตัวมากักเพื่อรักษาที่ป่าวัดร้างนั่น ให้ระวังให้ดี นานตั้งหลายเดือนจึงค่อยหมดความเข้าใจเช่นนั้นอย่างสนิท เรื่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องน่าขบขันอย่างเดียว ยังเป็นเรื่องที่ไปพ้องกันเข้ากับเรื่องจริงส่วนใหญ่ของพวกเราอีก คือ เมื่อกิจการของคณะธรรมทานได้เผยแพร่ไปโดยทางหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ มีเพื่อนร่วมชาติอีกไม่น้อยเหมือนกัน ที่เข้าใจผิดคิดว่าการกระทำของพวกเรา เป็นการซ่อนเร้นการหากำไรอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาศาสนาเป็นโล่ห์ก็มี ที่คิดว่า ทำเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเปิดเผยข้อความที่ทายกไม่ควรจะรู้ก็มารู้ จนพวกพระเณรต้องเดือดร้อนดังนี้ก็มี ที่เขียนบัตรสนเท่ห์ไปยุพระผู้ใหญ่ให้เข้าใจผิดและเกลียดชังก็มี ซึ่งท่านได้กรุณาแจ้งให้พวกเราทราบ พร้อมด้วยความรู้สึกอันจริงใจของท่าน กว่าจะเข้าใจกันได้ ก็ร่วม ๑๐ ปี แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ไม่มีผู้เข้าใจถูกมาตั้งแต่แรก ที่จริงก็มีมากจนเหลือที่เราจะเก็บจดหมายชมเชยไว้ทั้งหมดได้เหมือนกัน ข้อที่ควรคิดในเรื่องที่ยอมเสียเวลานำมาเล่าสู่กันฟังนี้ อยู่ตรงที่ว่า การทำอะไรใหม่ ๆ แปลก ๆ ไปจากที่เขากระทำกันอยู่นั้น จะต้องถูกมองในแง่ร้ายบ้าง สวนหนึ่งเป็นธรรมดา ไม่ว่าผู้ทำจะมีกำลังและอิทธิพลมากหรือน้อย ถ้ามีอิทธิพลมากจะแตกต่างอยู่บ้าง ก็ครั้งที่เขาไม่กล้าพูดซึ่งหน้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่คิดจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นการปฏิวัติแก้ไขหรือรื้อฟื้นทำให้ดีขึ้น ขออย่าได้ไปเอาใจใส่กับการนินทาว่าร้ายของผู้เข้าใจผิด ซึ่งโลกนี้จะต้องมีเป็นธรรมดานั้นเลย ทำไปด้วยสุจริตใจก็พอแล้ว ผลจักเกิดขึ้นเท่ากับการกระทำอันบริสุทธิ์ของตน พวกเรารู้สึกล่วงหน้าไว้เช่นนั้นแล้วเหมือนกัน จึงไม่ได้เอาใจใส่อะไรมากไปกว่าความนึกสนุกสนานของผู้ที่ทำนายสิ่งใดไว้แล้ว สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นเพื่อให้ตนกลายเป็นหมอดูทำนายแม่นๆ เท่านั้น.
ที่พักครั้งแรกที่สุดนั้น เป็นเพียงโรงพื้นดิน กั้นและมุงด้วยจากเล็ก ๆ ขนาดวางแคร่ได้ ๓-๔ แคร่ อยู่ติดกับโรงสังกะสี ซึ่งเขายกขึ้นสำหรับมุงพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งไว้ แต่ก่อนเป็นโรงเปลือยไม่มีฝากั้น สวมทับลงตรงโบสถ์เก่าเพื่อรักษาพระพุทธรูปเอาไว้ ต้นไม้ขนาดเขื่องมีเงาครึ้มได้งอกรุกล้ำเข้ามากระทั่งในแนวพัทธสีมา เนื่องจากความนานของวัดที่ร้างมาไม่น้อยกว่า ๘๐ ปี นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรอีก นอกจากป่าไม้ที่แน่นทึบอยู่โดยรอบ สถานที่นี้เป็นสถานที่เมื่อฉันมาอยู่ก็ยังเป็นสถานที่กลัวเกรงของคนทั่วไป มีผู้ชายหลายคน แม้กลางวันแสก ๆ คนเดียวไม่กล้าไปที่โบสถ์นั้นเนื่องจากความเชื่อในทางผีสางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้และเถาวัลย์จึงพากันกำเริบแน่นทึบไปหมด นอกจากบ่อน้ำเก่า ๆ พังมิพังแหล่เหลืออยู่บ่อหนึ่งห่างจากโบสถ์ประมาณ ๕๐ เมตร พออาศัยใช้น้ำได้บ้างแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่ามิใช่ของมีเองเป็นเองตามธรรมชาติ.นี่คือภาพแห่งสวนโมกข์ ในสมัย ๒ ปีแรก ซึ่งผิดกับภาพถ่ายที่เคยนำลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา หรือภาพที่ท่านจะได้เห็นในเมื่อไปเยี่ยมสวนโมกข์ด้วยตนเอง ในบัดนี้ อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้เลย.แต่ตามความเป็นจริง ฉันยังรู้สึกพอใจสภาพเป็นอยู่ของสวนโมกข์เมื่อครั้งนั้นอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งฉันรู้สึกชัดแก่ใจว่า มันได้ให้ประโยชน์บางประการแก่ฉัน ชนิดที่สวนโมกข์ในสภาพปัจจุบัน ซึ่งเตียนสะอาด มีที่พักสบายไม่อาจจะให้ได้เลย เรื่องนี้เป็นหลักที่จะลืมเสียมิได้ สำหรับผู้สนใจในการฝึกฝนทางจิต ฉะนั้น ฉันควรจะกล่าวถึงสภาพของสวนโมกข์สมัยเริ่มแรกนี้ต่อไปอีกสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการศึกษาสำหรับผู้ที่จะริเริ่มเป็นนักฝึกฝนเกี่ยวกับทางจิตตามควร.
ความสะดุ้งหวาดเสียวชนิดใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าไว้ใน บาลี ภยเภรวสูตร ม.ม ฉันรู้สึกว่าฉันได้เสพคบกับความหวาดเสียวชนิดเดียวกันนั้นมาแล้วอย่างมีปริมาณไม่น้อย เพราะฉันก็เช่นเดียวกับท่านผู้อ่านส่วนมาก คือมิได้ชินกับป่าด้วยการกำเนิดและเติบโตในป่า ดังที่ฉันได้เคยศึกษา พระบาลี ภยเภรวสูตร นั้นมาแล้วก่อนแต่ไปอยู่เปลี่ยว ๆ คนเดียวเช่นนั้น ฉันก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยเหตุนั้น กี่มากน้อยเลย ข้อความตอนหนึ่งแห่งพระบาลีนั้นว่า:
“. เสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าเปลี่ยว เป็นเสนาสนะยากที่จะเสพได้ ความสงัดเป็นของยากที่จะทำได้ ยากที่จะยินดีในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลาย เป็นประหนึ่งว่า ได้นำไปเสียแล้ว ซึ่งใจของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ...”
“พราหมณ์ ความคิดอันนี้ได้มีแก่เราว่า ถ้ากระไร ในราตรีอันกำหนดว่าเป็นวัน ๑๔, ๑๕ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ อารามอันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าอันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้อันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่ใดเป็นที่น่าสะพรึงกลัว เป็นที่ชูชันแห่งโลมชาติ เราตั้งอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้นเถิด บางทีเราอาจจะจับตัวความฉลาดและความกลัวได้ พราหมณ์ เราได้อยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น และในวันอันกำหนดไว้นั้น ๆ แล้ว”
“พราหมณ์ เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น สัตว์ป่าแอบเข้ามา หรือว่านกยูงทำกิ่งไม้แห้งให้ตกลงมา หรือว่าลมพัดหยักเยื่อกิ่งไม้ใบไม้ให้ตกลงมา ความตกใจกลัวได้เกิดแก่เรา โดยเข้าใจว่านั่นแล้วตัวความกลัว ความคิดค้นได้มีแก่เราต่อไปว่า ทำไมหนอเราจึงเป็นผู้พะวงแต่ในความหวาดกลัว ถ้าอย่างไรเราจะหักห้ามความหวาดกลัวนั้นเสีย โดยอิริยาบถที่ความหวาดกลัวนั้นๆ มาสู่เรา”
“พราหมณ์ เมื่อเราเดินอยู่ ความกลัวเกิดมีมา เราก็ขืนเดินแก้ความขลาดนั้น ตลอดเวลานั้นเราไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน ถ้าเมื่อเรายืนอยู่ ความหวาดกลัวเกิดมีมา เราก็ขืนยืนแก้ความขลาดนั้น ตลอดเวลานั้นเราไม่เดิน ไม่นั่ง ไม่นอน ถ้าเมื่อเรานั่งอยู่ ความหวาดกลัวเกิดมีมา เราก็ขืนนั่งแก้ความขลาดนั้น ตลอดเวลานั้น เราไม่ยืน ไม่เดิน ไม่นอน ถ้าเมื่อเรานอนอยู่ ความขลาดเกิดมีมาเราก็ขืนนอนแก้ความขลาดนั้น ตลอดเวลานั้นเราไม่เดิน ไม่ยืน ไม่นั่งเลย...”
เพียงเท่านี้ก็แสดงว่า การสู้รบกับความหวาดกลัวอันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ เป็นปัญหาอันยากเย็นเพียงไร ความคาดคะเนอยู่ในห้องเมื่อยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ว่าฉันจะตั้งหลักของฉันเพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ๆ เช่นนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ใช้อะไรไม่ได้เลย เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ได้อยู่ที่ หลัก อะไรมากมายนัก แต่อยู่ที่ความมากน้อยของกำลังใจ และความช้าหรือเร็วของสติ และความเคยชินหรือไม่เป็นส่วนใหญ่ รสชาติของการอยู่คนเดียวในสถานที่อันสงัด และดึกสงัดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจบอกให้เข้าใจกันได้ด้วยตัวหนังสือ หรือด้วยการนึกเทียบเอาจากการที่อยู่ในที่อันเป็นธรรมดาของผู้ที่ไม่เคยไปอยู่ มีอำนาจอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าได้ ริบ เอากำลังใจไปเสียหมดแล้ว คงแต่เมื่อเริ่มรู้สึกตนว่าได้อยู่ผู้เดียวในที่ที่ปราศจากการคุ้มครองแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อมีอะไรหวอหรือโครมครามวูดวาดออกมาในเวลาที่ไม่รู้สึกตัว และเพิ่งประสบเป็นครั้งแรก ย่อมเป็นการเหลือวิสัยที่จะไม่ให้เกิดการสะดุ้ง ครั้นกำลังใจค่อยเข้มแข็งขึ้น สติค่อยรวดเร็วขึ้น ความเคยชินค่อยมากขึ้น สิ่งนั้น ๆ ค่อย ๆ กลายเป็นธรรมดาไป เพราะฉะนั้นต้องให้เวลาอย่างน้อยสัก ๗ วัน สำหรับบทเรียนขั้นต้นนี้ เพื่อฝึกฝนการใช้หลักอย่างใดอย่างหนึ่ง จนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ.
บางวันฉันเดินออกมาเพื่อไปบิณฑบาตตอนเช้า ในเขตสวนโมกข์อันกว้างใหญ่นั้นเอง กลางทางเดินแคบ ๆ ระหว่างพงรกริมสระใหญ่ ฉันเคยเสียเวลายืนคอยให้นากถึกโทนตัวผู้ ที่ออกมากลิ้งเกลือกกลางพื้นทราย และยืดตัวสองขาชะเง้อดูฉันเป็นคราวๆ เสร็จธุระของมันแล้วหลีกไปเสียก่อน มันทำอาการคล้ายกับท้าทายว่า กล้าดีก็ลองเข้ามาซิ เมื่อมันยืดตัวขึ้นสูงขนาดหน้าอกเรา ในระยะเพียง ๘-๙ เมตร ฉันซึ่งเหมือนกับท่านทั้งหลาย ก็ไม่เคยประสบพบปัญหาชนิดนี้มาก่อน ที่อยู่ในระยะแรกของการฝึกฝนตนให้เป็นไปตามแนวธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันสูงสุด ในการที่จะทั้งไม่สู้ไม่ป้องกันตัว แต่ก็ไม่หนีและไม่กลัวไม่ถอยเช่นนี้ ท่านลองทายดูทีหรือว่า จะให้ฉันทำอย่างไรอีก นอกจากยืนคอยว่ามันจะหลีกไปเอง.มันมีอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะนับว่าเป็นของวิเศษมาก และเคยเป็นที่พึ่งของฉันมามากแล้วคือ ความรักในการศึกษา อยากรู้อยากทดลอง เมื่อกำลังใจและสติยังสมบูรณ์อยู่กับตัว ก็อยากลองไปเสียทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่อยากลองให้เสือกัด งูกัด หรือให้ผีหลอก และให้ภูติหรือเปรตมาหาสนทนาปราศรัยกัน ทั้งนี้เพื่อถือเอาเป็นโอกาสสำหรับศึกษาสิ่งเหล่านั้นด้วย และทดลองกำลังน้ำใจของตนเองด้วย.แต่ดูเหมือนโชคไม่เคยอำนวยให้เป็นเช่นนั้นเลย ความกลัวกลายเป็นของหลอกและกลัวเปล่า ๆ ซึ่งนับว่าขาดทุนสมแก่ความโง่เขลาของตัวที่ไปกลัวมันเอง ฉะนั้นถ้าหากเราจะมีปัญญาหรือเหตุผลพอๆ แก่การรักษาตัวแล้ว เราหวังได้ก็แต่ความปลอดภัย และโอกาสแห่งการศึกษาที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น สิ่งที่เคยกลัว กลายเป็นของธรรมดามากเข้า จนบางครั้งกลายเป็นวัตถุแห่งความขบขัน และเราจะพบตัวเราเองว่าเปลี่ยนไปจนจะเป็นคนละคน และเมื่อเป็นไปโดยทำนองนี้มากเข้า อุปสรรคอันเกิดจากความกลัวที่คอยเกียดกันความเป็นสมาธิแห่งจิตก็มีน้อยเข้า และหมดสิ้นไปในที่สุด สามารถจะนั่งอยู่คนเดียวในที่โล่งในเวลากลางคืนอันสงัด โดยปราศจากเครื่องคุ้มครองอย่างใดนอกจากจีวรที่ห่มอยู่ และมีจิตแน่วไปในการฝึกฝนได้ตามปรารถนา ฉันเคยเข้าใจว่า เราอาจพึ่งพาสิ่งคุ้มครองเช่นรั้วหรือกลดเป็นต้น ช่วยบรรเทาความหวาดระแวงเมื่อจะต้องนั่งอยู่คนเดียวในที่เปลี่ยว แต่นั่นเป็นสิ่งที่ต้องขอบอกกล่าวเพื่อนนักศึกษาไว้ทั่ว ๆ กันว่า ไม่น่าจะใช้เลย คือเราจะไม่ได้จิตใจอันใหม่ ที่เป็นจิตใจอันปล่อยหมด มันยังคงระแวงอยู่นั่นเอง ไม่ให้เกิดกำลังใจอันเข้มแข็งเพียงพอ พอไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องอุ่นใจ ความขลาด ชนิดของคนธรรมดาก็มีมาอีก.
ในป่านั้น ในตอนเที่ยงวัน มีความสงัดตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนนกกะปูดจะมีหน้าที่เป็นผู้ให้สัญญาณระฆังพักผ่อนแล้วนกทุกตัวจับเจ่า บางตัวก็หลับเลย กระรอกก็อยู่นิ่งๆ ไก่ป่าก็กกแปลง สัตว์เล็กตามพื้นดินก็หลบตัวพักผ่อน เพราะเสร็จการหาอาหารมื้อเช้าบ้าง เพราะความร้อนระอุของเวลาเที่ยงวันบ้าง ความเงียบสงัดเข้ามาแทนที่ ซึ่งบางครั้งลมก็ไม่มีพัด ทำให้เกิดความสงบเงียบทำนองเดียวกับเวลาดึกสงัด ภิกษุผู้ไม่มีกังวลด้วยยาหารมื้อที่สองคือเพล ย่อมมีโอกาสหาความสุขได้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่งเป็นพิเศษ ในเมื่ออยู่ในป่าเช่นนั้น ซึ่งฉันถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากเหมือนกัน ถ้าหากเราไม่ได้คุ้นเคยกับธรรมชาติอันนี้ แต่ในบางครั้งเมื่อเรากำลังสงบอารมณ์กันอยู่เช่นนี้ มีเสียงกึกก้องเจี้ยวจ๊าวดังขึ้นระงมไปหมด ซึ่งฉันเคยสังเกตรู้สึกว่า มันช่างเป็นเสียงที่แสดงให้ระวังอันตราย หรือบอกเหตุอันตรายเอาจริง ๆ ทั้งนี้มิใช่เพราะสัตว์เหล่านั้นพากันตื่นจากการพักผ่อน เพราะว่านกกะปูดยังไม่ได้ส่งสัญญาณบอกเวลาบ่ายเลย แต่ว่าได้มีอันตรายมาจริง ๆ คือ มีนกใหญ่บางชนิดซึ่งเป็นตระกูลนกอินทรี ได้ผ่านเข้ามา ตลอดเวลาที่นกพวกนี้ยังอยู่ สัตว์เหล่านั้นเป็นไม่ยอมหยุดร้อง ที่สวนโมกข์เรามีกระรอกกว่า ๔๐ ตัว และนกเล็ก ๆ นานาชนิดนับไม่ถ้วน ไก่ป่าฝูงใหญ่ เหล่านี้ทั้งหมดช่วยกันตะเบ็งเสียงเป็นที่บอกให้รู้กันอย่างทั่วถึง ให้ระวังอันตราย ฟังดูแล้วใคร ๆ ก็ย่อมรู้สึกว่าเป็นเสียงขอความช่วยเหลืออยู่ชัดเจนทีเดียว ความสะดุ้งจะมีได้อีกครั้งหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านมาก่อน ถ้าเหตุการณ์พิเศษเช่นนี้ไม่มี ก็จะเงียบสงัดไปจนถึงบ่าย จนกว่านกกะปูดจะให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่งการเคลื่อนไหวค่อยมีขึ้นทีละตัวสองตัว จนเป็นป่าที่ตื่นอยู่ตามปรกติ.
เดือนหงายแจ่มคืนหนึ่ง ดึกมากแล้ว ฉันตื่นขึ้นด้วยเสียงดังกั๊บ ๆ อยู่ใกล้ ๆ ค่อย ๆ ลุกนั่งฟังดู แหวกผ้าบังช่องหน้าต่างมองไปตามเสียง เห็นหมูป่าสี่ตัวด้วยกัน กำลังกินอะไรอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ในระยะห่างออกไปจากที่พักเพียง ๘-๙ เมตร ไม่เป็นภาพที่น่ากลัวเลย แต่น่าดูมากกว่า และคงเป็นหมูป่านี่เอง ที่เคยวิ่งกระโจนไปสนั่นป่าครั้งหนึ่งในเมื่อฉันเปิดประตูออกมาในตอนใกล้รุ่ง กระจงแม่ลูกอ่อน นกคุ่มแม่ลูกอ่อน ซึ่งบางทีเดินตามกันเป็นหาง เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเอ็นดูมากในตอนเย็น ๆ นกบางชนิดร้องเหมือนแกล้งว่ามีทั้งกลางวันและกลางคืน บางตัวก็สวยมากจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นผีมือของธรรมชาติล้วน ๆ โดยปราศจากความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้า คืนฝนตกงูที่ชุมที่สุด ก็คือ งูกะปะ ซึ่งกัดมีพิษเจ็บมากและเปื่อยลามจนนิ้วหลุด หรือหงิกงอไป และสิ่งที่ชุกชุมทุกๆ คืน ก็คือ ยุง เหล่านี้แหละ คือธรรมชาติที่ให้บทเรียนอันไม่รู้จักเบื่อหลายอย่างหลายประการ ในตอนแรก ๆ ที่จากชีวิตในหมู่บ้านไปเป็นชีวิตป่าของฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างช่างมีอะไรให้คิดให้นึก จนเกิดความรู้สึกใหม่ ๆ ขึ้นมากหลาย เหลือที่จะขีดเขียนไว้หมดสิ้นได้ ภาพอันเต็มไปด้วยความหมายลึก ๆ และปัญหายากๆ เหล่านี้ ธรรมชาติมีให้โดยพร้อมมูล ก็แต่เมื่อสถานที่นั้น ยังมิได้ถูกดัดแปลงแก้ไขให้ผิดไปจากธรรมชาติเดิมแม้แต่น้อยเท่านั้น ครั้นสวนโมกข์ถูกดัดแปลงแก้ไขมาเรื่อย ๆ ทุก ปี หลายปีเข้าก็หย่าขาดกันกับธรรมชาติบางประการ ที่เคยให้บทเรียนอันแสบเผ็ด จนในบัดนี้นับว่าส่วนมากที่สุดก็ให้แต่ความเยือกเย็นสบายเท่านั้น ไม่สู้มีบทเรียนอันกระทบความคิดนึกตรึกตรองเท่าใดนัก ในการที่จะศึกษาจากธรรมชาติแท้ๆ เพราะเรามีบทเรียนจากการศึกษาเล่าเรียนอย่างอื่น มาแทนที่มากเข้า
กลางคืนทุกสิ่งทุกอย่างพากันหลับ จริงหรือ ? ข้อนี้ ไม่มีความจริงเลยแม้แต่น้อย จากการศึกษาด้วยธรรมชาตินั่นเอง เราจะรู้สึกว่ากลางคืนเสียอีกเป็นเวลาที่โลกตื่นที่สุด แต่ว่าเป็น ความตื่นอย่างประณีตเหลือเกิน เมื่อจะมองดูกันในแง่ของสัตว์นานาชนิด ก็พบว่า มีสัตว์ที่ตื่นและทำงานไม่น้อยกว่ากลางวัน วิ่งว่อนเอาจริงเอาจังไม่น้อยกว่ากลางวัน เว้นเสียแต่ มนุษย์ของโลก และสัตว์บางประเภทเท่านั้นที่ดูเหมือนว่า หลับเอาเสียจริง ๆ ส่วน มนุษย์ของธรรม นั้น กลางคืนเป็นเวลาที่ตื่นที่สุด เพราะว่ากลางวันความรู้สึกของจิตมักจะถูกริบไปเสียในด้านต่าง ๆ จนแทบจะหมดสิ้น ด้วยสิ่งอันรบกวน หรือยากที่จะดิ่งลงสู่อารมณ์อันสงัด ครั้นตกถึงกลางคืนความว่างได้มีขึ้นอย่างสดชื่น ความแจ่มใสของจิตแหลมคมยิ่งกว่ากลางวัน ในภายในจึงรุ่งเรืองไปด้วยความสว่างไสว ของการมองเห็นสิ่งที่สว่างบางสิ่ง เป็นจิตที่ตื่นอยู่อย่างสดชื่นยิ่งนัก แม้จะหลับก็หลับชนิดที่ตื่นอยู่ทุกเมื่อ พร้อมที่จะรู้สึกสิ่งทั้งหลายตรงตามที่เป็นจริงอยู่เสมอ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ครั้นตกถึงกลางวัน มีเรื่องที่จะทำ มีแขกที่จะต้องต้อนรับ มีผู้อื่นที่จะต้องช่วยเหลือสงเคราะห์ ความเหน็ดเหนื่อยนั้น ได้ทำให้มีความมึนชาอ่อนเพลียไป จนมืดมัวคล้ายกับความหลับ ซึ่งผิดกับความแจ่มใสอันจะมีได้ในตอนที่ดึกสงัดล่วงไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงเห็นว่ากลางคืนนั้น ธรรมไม่ได้หลับไปอย่างโลกเลย ช่างตรงกันข้ามเหมือนลักษณะอื่น ๆ ที่ตรงกันข้ามระหว่างธรรมกับโลกนั้นเหมือนกัน สัตว์เล็ก ๆ บางชนิดเสียอีกตื่นอยู่อย่างแจ่มใส โดยเฉพาะปลวก กลางคืนว่องไวรวดเร็วยิ่งกว่ากลางวันเป็นอันมาก แต่มันจะเป็นสัตว์ของธรรมด้วยหรืออย่างไรนั้น ไม่ทราบ แต่มนุษย์ของโลกนั้นเป็นที่แน่นอนอย่างหนึ่ง ว่าในเวลากลางวันนั้น ไม่ได้ตื่นอยู่ด้วยธรรมแล้ว ซ้ำกลางคืนก็ยังไม่ตื่นยิ่งขึ้นไปอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองกระมัง โลกจึงไร้ลันติภาพอันถาวร ชนิดที่เรากำลังเรียกร้องหา
การอยู่คนเดียว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าใช้เวลาในการฝึกฝนบทเรียนของการตื่น และการควบคุมการตื่นของตนให้นิ่มนวล จนอาจคล้อยตามความต้องการของตนได้ทุกเมื่อ เมื่อการอยู่ป่าคนเดียวของผู้ใด ลงร่องลงรอยเป็นปรกติ จิตย่อมผันแปรไป มีลักษณะง่ายแก่การเป็นสมาธิตั้งครึ่งตั้งค่อนเสียแล้ว และมีสมาธิประเภทที่เป็นของเล่นสนุกของเด็กอีกเหลือหลาย ที่จะหาได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นของง่ายแก่การเป็นสมาธิของจิตนั่นเอง
ปลาเล็ก ๆ มาตอมวนเวียนกันอยู่เป็นกลุ่มในวงสีเหลืองอ่อนของฝาบาตรทองเหลือง ที่ใส่ข้าวสุกทิ้งลงวางไว้ในน้ำตื้น ๆ ให้มันกิน ด้วยการเพ่งดูเล่น ๆ เพียงชั่วประเดี๋ยว ก็สามารถที่จะติดตาไปเพ่งดูเล่นได้ตลอดหลาย ๆ คืน มีการขยายเป็นภาพเล็กภาพใหญ่ ที่เคลื่อนไหวเป็นของราวกะว่ามีจิตใจเช่นเดียวกัน ซึ่งฉันสมัครเรียกว่า “สมาธิเล่นสนุกของเด็ก” แต่ก็เป็นทำนองเดียวกับสมาธิจริงของผู้ใหญ่อยู่หลายประการ ผิดกันก็แต่ถือเอาของเล่น ๆ ตามธรรมชาติใกล้ ๆ และนอกแบบแผนเช่นนั้น เป็นอารมณ์สำหรับลองเล่นดูเท่านั้น ถ้าหากถือเอาอาการเช่นนี้เป็นของเล่นอยู่เสมอ ไม่นานนักของที่ยากก็จะลดลงมาหา เป็นของง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
การอยู่คนเดียว แม้ในทางปริยัติ หรือค่อนไปทางปริยัติ ก็ยังเป็นที่แน่นอนว่าเป็นผลดียิ่งเหมือนกัน การอ่านข้อความในพระไตรปิฎก ส่วนมากที่กรุงเทพ ฯ ได้รสชาติจับใจน้อยกว่าในที่สงัดในป่าตั้ง ๔-๕ เท่าตัว และฉันอาจกล่าวได้ว่า เฉพาะบางเรื่องอ่านในที่อัดแอจะไม่ได้เรื่อง จนใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยก็มีไม่น้อย การขบข้อความบางอย่างหรือส่วนมากที่สุด ทำในป่าขบได้เป็นคุ้งเป็นแควติดต่อกันเป็นสาย การเขียน ก็รู้สึกว่ามีชีวิตจิตใจยิ่งกว่ากัน แต่จะเป็นของเฉพาะตนหรือไม่นั้น เราจะต้องค่อยสังเกตกันสืบไป
เมื่อพูดถึงเรื่องรสใหม่ ๆ แปลก ๆ ในทางจิตแล้ว เป็นอันเชื่อได้ว่า เราจะหาที่ ๆ อยู่กันอัดแออย่างในกรุงเทพ ฯ นั้นไม่ได้โดยแน่นอน แม้ที่สุดแต่ดินฟ้าอากาศก็ยังไม่อำนวยเสียเลย เพราะบรรยากาศของความยัดเยียด และตลบอบอวลไปด้วยกระแสจิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามทีเดียว ฉะนั้น เรื่องสถานที่จึงเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเหมือนกัน และทั้งนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาจากธรรมชาติโดยตรง ซึ่งฉันได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เห็นเรื่องที่มีแต่ในเมื่อเราจัดการเป็นอยู่ให้ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุดเท่านั้น และฉันเคยผ่านมาเมื่อตอนแรก ๆ ของการจัดสวนโมกข์ขึ้น ซึ่งต่อไปข้างหน้าเราจะถือเป็นหลักอันหนึ่ง สำหรับจัดสถานที่แห่งใหม่ ๆ ให้ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุดอยู่ได้ตลอดกาลนาน โดยแยกเรื่องอันเกี่ยวกับหนังสือ การโฆษณา หรือการรับแขกออกไปเสียให้เด็ดขาดจากสถานที่เช่นนี้
เมื่อพูดถึงสิ่งของหรือทรัพย์สมบัติ นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องศึกษา ในขึ้นแรกของการอยู่ที่นี่ ฉันมีทรัพย์สมบัติแต่เพียงบาตร ๑ ใบ มีฝาทองเหลืองชนิดตักน้ำฉันได้ กับถังตักน้ำเล็ก ๆ จากบ่อน้ำใบหนึ่ง และจีวรเท่าที่จำเป็นจะต้องมีเท่านั้น กับมีตะเกียงน้ำมันมะพร้าวทำด้วยแก้วที่ใช้ดื่มน้ำดวงหนึ่ง จุดที่หน้าพระพุทธรูปเป็นประจำ จะไปไหนเมื่อ ไรก็ได้ ไม่ต้องปิดประตู ไม่ต้องใส่กุญแจไม่ต้องสั่งเสียใคร เพราะมีคนเดียว จะกลับมาเมื่อไรเวลาไหน ก็ไม่มีห่วงโดยทุก ๆ ทาง ไม่มีอะไรที่จะต้องดูแลระวังรักษา ไม่มีเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบอย่างใดกะใคร รู้สึกว่ามีตัวเพียงตัวน้อย ๆ และเป็นอิสระเหมือนนก ความคิดนึกเกลี้ยงเกลา ไม่คิดนึกอะไรเลยก็ได้ มีแต่ความเบาสบายซึ่งยากที่จะบอก และทำความพอใจให้เสมอไม่มีเบื่อ เหมือนดื่มน้ำที่จืดสนิทดี
นับตั้งแต่เกิดมา เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีความเบาสบายเหมือนไม่มีเนื้อมีตัว เหมือนเมื่อมาอยู่ตามแบบนี้เลย ความพอใจในความเป็นเช่นนี้ที่เกิดขึ้น มีมากพอที่จะหักห้ามความกังวลถึงอนาคต เชื่อแน่ในตัวเองว่าตัวอาจหาความสุขหรือความพอใจให้แก่ตัวเองได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใคร หรือรบกวนใคร มีความคิดอุตริไปถึงว่า สามารถจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้คนเดียวก็ได้ หรืออยู่ได้โดยไม่ต้องติดต่อกับใคร เช่นเดียวกับพวกที่อยู่หิมาลัยนั้นเหมือนกัน
ครั้นต่อมามีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น เมื่อคิดออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ทำให้ต้องมีกระดาษดินสอ และหนังสือบางเล่ม ความรู้สึกในใจก็กระทบกันเป็นคราวๆ บางทีหนังสือนั้นยืมเขา จะไปไหนต้องเก็บ ต้องปิดหีบ ปิดประตู กระทั่งใส่กุญแจทิ้งไว้ กลับมายังเรียบร้อยดีอยู่ก็เบาใจ มีคราวหนึ่งไปธุระค้างคืน กลับมาทันขณะที่ปลวกขึ้นมาพอถึงกองหนังสือพอดี หนังสือเหล่านั้น เป็นพระไตรปิฎกบางเล่มที่ขอยืมมาจากวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีของคณะธรรมทานเอง ถ้าปลวกกัดกินทำให้ของเขาขาดชุดไป จะเป็นเรื่องยุ่งไม่น้อย และสมน้ำหน้าที่อุตริเป็น พระบ้าน ในเมื่อตนมีความเป็นอยู่อย่าง พระป่า
เหล่านี้คือเรื่องที่ความคิดสองฝ่ายกระทบกันบ่อย จนบางครั้งจะเลิกล้มความคิดที่จะทำการเกี่ยวกับหนังสืออีกต่อไป ในที่สุดความคิดทั้งสองผ่ายก็รู้จักประนีประนอมกันได้เอง อันผลแห่งการประนีประนอมนั้นเนื่องมาจากการที่เคยพบความเป็นอยู่ที่เบาสบาย เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรนั้นอีกด้วยเหมือนกัน แม้ว่าความเป็นอยู่ที่ไร้สิ่งของ จะทำให้พบความเบาสบายชนิดใหม่ขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นความรู้อีกอันหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า สิ่งนั้นเกิดมาจากการเลียสละและไม่ยึดถือ การไม่ยึดถือนั้น นอกจากจะเกิดมาจากการไม่มีอะไรจะยึดถือแล้ว ยังเกิดมาจากการที่เราไม่ยึดถืออีกส่วนหนึ่งด้วย แม้จะมีอะไรเป็นสมบัติของตนอยู่ก็ตาม
ฉะนั้น การที่จะมีอะไรบ้าง เท่าที่จำเป็นแก่การที่จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นให้กว้างขวางออกไป โดยตนไม่ต้องยึดถือไว้เป็นเครื่องหนักใจนั้น จะเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าลองดู
เมื่อความคิดซึ่งเป็นเหมือนการท้าพนันเกิดขึ้นเช่นนี้ ความกล้าและความสนุกในการที่จะรับภาระ หรือรับผิดชอบบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเป็นการผูกมัดอยู่บ้างก็เกิดขึ้นมาเอง เมื่อความคิดอีกผ่ายหนึ่งเสนอขึ้นมาว่าไม่ยอมเสียสละความสุขที่ได้พบใหม่ๆ นั้น อีกฝ่ายหนึ่งก็หาทางประนีประนอม โดยจะไม่ให้เสียไปทั้งสองฝ่าย ในที่สุดก็ปรากฏว่ามันรู้จักเอาไว้ได้ทั้งสองสถาน ก็เพราะความที่เคยหยั่งรู้ถึงรสของการสละหมดในเบื้องต้นมาแล้ว เป็นความรู้อันสำคัญ รู้จักปล่อยวางสิ่งนั้น ๆ ในคราวที่มันจะต้องเพิ่มเข้ามาใหม่ ไม่เหมือนกับครั้งที่ยังไม่เคยพบการสละมาก่อน ซึ่งรู้จักแต่จะยึดถืออย่างเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงยังคงมีอยู่ว่า การไม่ข้องแวะกับการทำประโยชน์ผู้อื่นเสียเลยนั้นมีความสุขมากกว่า หรือจะเป็นเพราะมนุษย์เรา มีหนี้ธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดติดตัวมา เช่นเราเองกว่าที่จะมาเป็นได้อย่างนี้ ก็ต้องเนื่องจากการเสียสละของคนชั้นก่อนๆ ที่ไม่เห็นแก่ตัวถ่ายเดียวมาแล้วเหมือนกัน มนุษย์เราจึงกล้าเสียสละประโยชน์สุขของตนเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นบ้างเป็นธรรมชาติในใจ เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นโดยไม่เสียประโยชน์ตนไปมากนัก จะทำกันอย่างไรนั้น เป็นปัญหาที่ต้องพยายามแก้ และฉันขอตอบด้วยการกล้ารับรองในที่นี่ว่า ไม่มีทางอื่นใดดีไปกว่าการหลีกออกไปบำเพ็ญชีวิตสันโดษ ไร้ทรัพย์สมบัติ โดยประการทั้งปวง เสียสักคราวหนึ่งก่อน ซึ่งในที่สุดจะพบคำตอบพร้อมทั้งได้สมรรถภาพแห่งจิต ชนิดที่จะปฏิบัติงานอันแสนยากนั้นได้ดีจริง ๆ
ผู้สมัครจะศึกษาอบรมในทางจิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านสิ่งนี้มา ด้วยสติสัมปชัญญะ และการคอยสังเกตกำหนดอันประณีตให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพราะว่าความรู้ที่ได้มาจากการเคยผ่านมาทางจิตใจของตนเอง กับความรู้ที่คาดคะเนเอาตามหลักเกณฑ์ในตำรานั้นยังไกลกันอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นขอเตือนเพื่อนนักศึกษา ที่กำลังทำบทเรียนขั้นนี้ด้วยกันว่า เรื่องอันเกี่ยวกับการมีทรัพย์สมบัติหรือไม่มีนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องผ่านไปให้ดีที่สุด คือให้ละเอียดลออที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการออกฝึกฝนทดลองของตน
เพราะมีงานทางหนังสือและหนังสือพิมพ์เกิดขึ้น เพราะมีแขกทั้งที่เป็นบรรพชิดและฆราวาสเพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ในสวนโมกข์ก็เปลี่ยนไป จากการเป็นอยู่สำหรับคนโดดเดี่ยว มาเป็นการเป็นอยู่อย่างหลายคน หรือเกี่ยวข้องกับคนหลายคน ในที่สุดทำให้ต้องสร้างกระต๊อบ สำหรับพระเณรมาใหม่ และกระต๊อบทำงานหนังสือที่อาจวางใจเรื่องปลวกหรือขโมย มีเครื่องใช้สอยลำหรับหลายคน ทั้งยามปรกติและยามเจ็บไข้ มีที่รับแขก และมีการร่วมมือบางสิ่งบางอย่างกับวัดวาอารามอื่น ๆ ความเป็นอยู่และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป หรือต้องตั้งเพิ่มขึ้นใหม่ ให้เหมาะสมแก่เหตุการณ์ที่ค่อยเปลี่ยนแปลงมา
และที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อหาสมาชิกการปฏิบัติธรรมตามอุดมคติของพวกเราจากที่อื่นๆ ไม่ค่อยจะได้ ก็เป็นเหตุให้ต้องสร้างสรรค์ขึ้นเองด้วยการอบรมพระเณรชุดที่เล็กๆ ลงไปอีก ขึ้นในสถานที่นี้ พร้อม ๆ กันไปทั้งสองทาง เพื่อการงานอันสมบูรณ์ และทันสมัยในอนาคต
อันนี้ทำให้มีเรื่องหรือภาระเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งและมีระเบียบการเป็นอยู่อีกแบบหนึ่งซึ่งค่อย ๆ สอนให้รู้ใหม่ ๆ ขึ้นอีกว่า ต่อไปจะต้องทำกันอย่างไร จึงจะเรียบร้อยราบรื่นไปด้วยดี.
รวมความว่า การจัดตั้งสำนักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแก่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมมีวิธีการโดยเฉพาะของมันเอง เช่นเดียวกับกิจการอย่างอื่นซึ่งก็มีวิธีการเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง ฉันใดก็ฉันนั้น พวกเราดำเนินกิจการอันนี้ในฐานะเป็นของใหม่และไม่เคยเห็นตัวอย่างที่แน่นอนมาก่อน จึงเป็นการศึกษาทดลองเต็มที่พร้อมกันไปในตัว มีทั้งงานที่ทำส่วนตัว และทั้งงานเผยแพร่ เพื่อผู้อื่นที่เป็นการสื่อสาร เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือให้ความรู้โดยตรงด้วยอีกส่วนหนึ่ง ตามมาภายหลัง
ในตอนแรกที่ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจน ยังแยกกันไม่ออก ก็มีหลายอย่างที่รวมอยู่ในสวนโมกข์ ซึ่งต่อมาได้แยกกันเด็ดขาดให้กับสำนักงานคณะธรรมทาน และหอสมุดธรรมทาน ซึ่งตั้งอยู่ในที่อีกแห่งหนึ่งที่ตำบลตลาด คนละตำบลกะตำบลพุมเรียง อันเป็นที่ตั้งของสวนโมกข์มาแต่เดิม และห้องธรรมทานสมัยแรก ๆ ข้อนี้ควรจะเป็นที่สังเกตของท่านที่มีความสนใจในเรื่องนี้บางท่านไว้ด้วยว่า ถ้าจะมีการจับตั้งองค์การส่งเสริมและเผยแพร่การปฏิบัติธรรมขึ้นใหม่ในที่ใด ควรจัดรูปงานแบ่งแยกกันไปเด็ดขาด และมีเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอแก่แผนกของงานไปตั้งแต่ต้นทีเดียว จะได้ผลรวดเร็วทันใจ.
ในปีที่สาม ฉันเริ่มมีเพื่อนที่อยู่ร่วมจำพรรษาด้วยหนึ่งรูป เป็นสองรูปด้วยกัน ลำหรับภิกษุรูปนี้ ฉันนึกว่ามีข้อความบางอย่างที่ควรเขียนไว้เป็นทีระลึก ชื่อ ใหม ฉายา ศาสนปโชโต นามสกุล ทุมสท้าน เป็นชาวภาคอิสาน จังหวัดชัยภูมิ อยู่ด้วยกันเรื่อย ๆ มาหลายปี จนป่วยและกลับไปมรณภาพที่บ้าน เมื่อมาอยู่สวนโมกข์ได้เดินเท้ามาตลอดทาง มีความเข้มแข็งอดทนผิดธรรมดา ซื่อตรงเปิดเผย เหมาะสมแก่การเป็นนักปฏิบัติธรรมทุกประการ ไม่เป็นเปรียญ ไม่เป็นนักธรรมเอก แต่ฉันรับเอาไว้เป็นพิเศษด้วยความเลื่อมใส และปรากฏว่าทุกคนก็เลื่อมใส และทำให้ฉันเข้าใจได้ดีในข้อที่ว่า พวกที่รอบรู้กระทั่งจบพระไตรปิฎกในกาลก่อนๆ กลับมาเลื่อมใสในพระบางรูปที่ไม่มีความรู้ปริยัติเลยนั้น หมายความว่าอย่างไรกัน
คนพวกนี้มึนชาต่ออารมณ์ สม่ำเสมอ ตรงและจริงทุกประการ เมื่อมีภูมิทางปริยัติน้อยก็ขยันศึกษาไต่ถามอดทนต่อคำสั่งสอน นานเข้าก็รู้อะไรที่ต้องการอย่างพอตัวเหมือนกัน สงบเสงี่ยม ไม่พูดหรือพูดน้อย เทศน์ไม่เป็น แต่น่าฟังมากที่สุด ยิ่งอยู่ด้วยกันนาน ยิ่งเห็นว่ามีศีล เป็นที่ไว้ใจ ซึ่งทำให้นึกว่าคุณธรรมชนิดนี้ เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วแม้สำหรับที่จะให้เทวดาบูชา ฉันเองรู้สึกกว่ามีคนชนิดนี้เพียงคนเดียวก็พอแล้วสำหรับสวนโมกข์ ที่จะมีนามว่าเป็นสำนักปฏิบัติธรรม
ทำให้นึกต่อไปว่า เป็นโชคดีมาก ที่พอมีเพื่อนเป็นคนแรกก็เป็นที่พอใจถึงเพียงนี้ และนึกต่อมาในตอนหลังว่า การที่มีกฎจำกัดรับเฉพาะผู้ที่เป็นเปรียญและนักธรรมเอกนั้น คงไม่ให้ผลสมตามตั้งใจเสียแล้ว แต่ก็จนใจที่ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยถือเป็นหลักกันขึ้นใหม่ว่า ฉันมีสิทธิที่จะรับบุคคลพิเศษเป็นส่วนตัว ต่างหากจากคณะธรรมทานอีกส่วนหนึ่งด้วย
ในเรื่องนี้ท่านที่สนใจในการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเช่นนี้ คงยินดีฟังไว้สำหรับเป็นเครื่องมือพิจารณาในการวางกฎเกณฑ์บางอย่าง เพราะว่าจะไม่วางหรือไม่มีหลักเสียเลยก็ไม่ได้ หรือวางผิดก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน
ข้อสังเกตที่อยากจะขอแนะนำไว้อย่างหนึ่งก็คือว่า ข้อที่ท่านกล่าวไว้ว่า ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ จึงจะรู้ว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น เป็นความจริงยิ่งนัก และอันนี้เอง เป็นความยุ่งยากลำบากสำหรับการวางกฎเกณฑ์ และการตัดสินใจว่าควรรับไว้เป็นพิเศษหรือไม่ ฉะนั้นถ้าทำได้และเป็นทางดีที่สุด ก็จงเลือกรับแต่ผู้ที่เคยพบเคยเห็นกันมานานแล้ว หรือเป็นศิษย์ที่เติบโตขึ้นมาในสำนักของตนเอง หรือของเพื่อนฝูงที่ไว้ใจได้ในความคิดความเห็น รวบรวมเอามาฝึกฝนให้เป็นเวลานาน ๆ จะเป็นวิธีที่เบาสบายที่สุด และทั้งการอบรมจิตใจตามแบบนี้ก็เป็นเวลานานปีหรือตลอดชีวิต
เพราะฉะนั้น ไม่เป็นการจำเป็นที่จะรับกันเรื่อย เมื่อมีจำนวนเต็มแก่เสนาสนะแล้วหยุดรับเสียจะดีกว่า หรือถ้าไม่ต้องการบุญกุศลอันกว้างขวาง ฉันขอแนะนำว่า มีเพื่อนดี ๆ สัก ๓-๔ คนก็พอแล้ว สำหรับที่จะหาความสุขกันไปจนตาย ไม่ต้องเปิดรับใครที่ไหน.
ในปีต่อ ๆ มา มีภิกษุและสามเณรมาขออยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คราวละรูปสองรูป บางปีถึงอยู่จำพรรษากัน ตั้ง ๑๐ รูปก็มี ในตอนหลัง บางรูปที่มา รู้สึกว่า ท่านได้รับผลเป็นที่พอใจ เป็นกัลยาณมิตรที่ดี มีบางรูปตรงกันข้าม กลับออกไปป่าวข่าวอกุศล ในฝ่ายหนึ่งที่พอใจนั้น มีสาระสำคัญตรงที่มีการวางระดับสิ่งต่างๆ ไว้ในใจออกจะตรง ๆ กัน เช่นเมื่อมีปัญหาว่า
เท่าไรเรียกว่า สันโดษ หรือ เลี้ยงง่าย
ก็มีความเห็นตรงกันว่าเท่านี้ เรียกว่าเลี้ยงง่ายหรือกินอยู่อย่างต่ำ แต่บางพวกเห็นว่าเท่านั้น แร้นแค้นรุนแรงไปจนเป็นอัตตกิลมถานุโยค ในบางเรื่อง เช่นมีปัญหาว่า ภิกษุสามเณรประเภทนี้ควรทำอะไรได้บ้าง ? บางพวกเห็นว่าทำวัตรสวดมนต์ก็ไม่ควร อ่านหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้ ซึ่งเมื่อพวกก่อนทำเช่นนั้นอยู่ ก็ยกขึ้นเป็นข้อรังเกียจ บางพวกก็ถือเคร่งไปในทางตามตัวหนังสือ เช่นน้ำแม้จะสะอาดอยู่แล้วอย่างไร ก็ยังจะต้องกรองกันอีกด้วยผ้ากรอง จนน้ำนั้นกลับสกปรกไปด้วยอำนาจผ้ากรอง ซึ่งมีไว้สักว่าตามธรรมเนียมนั้นเสียอีก เพราะเชื่อว่าตัวสัตว์ชนิดที่ดูด้วยตาไม่เห็นนั้น ผ้ากรองบาง ๆ จะกรองเอาไว้ได้ ถ้าใครเกิดไม่ทำดังนี้ขึ้นมาสักคนหนึ่งก็ตั้งข้อรังเกียจ ส่วนพวกที่ตรงกันข้าม ก็ชักจะคิดว่าพวกหนึ่งครึไป
แต่ก็มีอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนมาก เอาใจใส่แต่เรื่องของตัว เห็นการที่ถือยิ่งหย่อนกว่ากันบ้างนั้นเป็นของส่วนตัว ไม่รังเกียจฝ่ายไหนทั้งหมด เป็นมิตรกับทุกผ่าย ซึ่งนับได้ว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมแท้
สำหรับในเรื่องนี้ มีข้อที่ควรสังเกตไว้ด้วยอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาผู้อ้างตัวเองเป็นนักปฏิบัติธรรมนั้น มีคนประเภทที่เรียกว่า จิตไม่สมประกอบรวมอยู่ด้วย นี้ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นปัญหาที่แก้ยาก การมีสถานกลาง เปิดรับอาคันตุกะจากทุกทิศนั้นมีอะไรที่แตกต่างจากสำนักหรือวัดที่ตั้งอยู่เป็นหลักแหล่งมีขอบเขตจำกัดนั้นมากนัก ในสถานกลางเช่นนี้จะมีอาคันตุกะชนิดต่าง ๆ แทบครบทุกชนิด แม้จะไม่อยู่เลย เพียงแต่มาพักชั่วคราว เพื่อมาดูมาเยี่ยม ก็มีอะไรทำให้เป็นปัญหาเกิดขึ้นได้ ถ้าหากใครไปถือหลักว่า สิ่งใดที่แปลกไปจากสิ่งที่ตนทำหรือถืออยู่ เป็นของใช้ไม่ได้ หรือขบขันแล้ว คนนั้นจะลำบากที่สุด
ฉันสังเกตเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริง ๆ เช่นอาคันตุกะบางคนจะฉันอาหารต้องยกบาตรขึ้นวางบนที่สูง แล้วลงนั่งยอง ๆ ประนมมือข้างล่าง ว่าอะไรพึมพำเสียครู่หนึ่งแล้วจึงนำมาฉัน พวกที่ไม่เคยทำดังนั้น ก็อดขันหรืออดขยิบตากันไม่ได้ ซึ่งที่จริงก็น่าขันสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำเคยเห็นอยู่บ้างเหมือนกัน.แม้ในตอนหลังจะได้รับคำอธิบายว่าที่ทำดังนั้น เพื่อเป็นการบูชาถวายพระพุทธเจ้าเสียก่อนและเป็นการขอบคุณพระองค์ ในการที่แผ่บารมีทำเหล่าสาวกให้มีอาหารฉันไม่ขาดแคลน ซึ่งพิจารณาดูก็เป็นการกระทำที่ดีและมีเหตุผลอยู่ ส่วนมากก็ยังสั่นเศียร ไม่รับถือลัทธินี้ ซึ่งฉันเชื่อว่าเป็นลัทธิที่ถือกันแต่เพียงบางถิ่น พวกที่ถือเคร่งก็หาว่าพวกที่ไม่ถือนั้น ไม่รู้จักคุณของพระพุทธเจ้า พวกที่ไม่ถือก็มีคำตอบว่าเขามีวิธีอย่างอื่นที่จะขอบคุณพระพุทธเจ้า และเขารู้สึกว่าทำอย่างนั้นคล้ายกับเซ่นผี หรือเซ่นวิญญาณพระพุทธเจ้า
นี้เป็นเพียงตัวอย่างบางอย่างที่จะได้พบเห็นทำนองเดียวกันอีกหลายอย่าง ในสถานที่อันเป็นสถานกลาง เป็นที่มาพักของอาคันตุกะแทบทุกชนิด.
พระเณรที่อ้างตัวเองเป็นนักปฏิบัติธรรมหรือบำเพ็ญสมณธรรมนั้น เมื่อฟังดูแต่ชื่อน่าจะเป็นอย่างเดียวกันหมด แต่ความจริงกลับมีเป็นชนิด ๆ ที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่าพระคันถธุระตามวัดในบ้านในเมืองเสียอีก เพราะเหตุว่ามีพระนักปฏิบัติธรรมบางพวก ที่ไม่เคยเรียนปริยัติเสียเลย มีสำนักหลักแหล่งเป็นหย่อมน้อยๆ ต่างคนต่างทำของตนได้ตามพอใจ หรือความเห็นของตน หรือของอาจารย์ที่สอนสืบๆ กันมา เมื่อไม่มีปริยัติซึ่งเป็นเสมือนเส้นกลางหรือกรุยทาง เป็นแนวสังเกตอยู่ ความคิดเห็นก็แตกแยกกันไปคนละทางสองทาง จนมีบางพวกไม่ยอมเชื่อว่า ปริยัตินั้นเป็นมูลฐานของการปฏิบัติไปก็มี
เมื่อนักปฏิบัติพวกนี้ โดยเฉพาะคือพวกที่เห็นว่าปริยัติเป็นข้าศึกกับปฏิบัติ เดินดุ่ม ๆ ไปห่างเส้นกลางมากเข้า ความรู้สึกที่เห็นว่าฝ่ายหนึ่งเป็นผ่ายผิดหรือใช้ไม่ได้ ก็เกิดขึ้นในระหว่างพวกนี้กับพวกอื่นเป็นธรรมดา และโดยเฉพาะก็คือระหว่างพระป่ากับพระบ้านซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสทำความเข้าใจกันเสียเลย.
ฉันมีความเห็นว่า ในสถานที่กลางนั่นเอง ถ้าหากมีการจัดให้ดีอาจกลายเป็นสถานที่ที่ชำระสะสางความขุ่นข้องหมองมัว ในระหว่างลัทธิต่าง ๆ ที่แตกแยกกันอยู่ ให้เกิดความเข้าใจต่อกันและกันได้ เพราะตามที่สังเกตเห็น เมื่อยกเอาพวกที่เจตนาเดิมไม่ดีออกไปเสียให้หมดแล้ว ส่วนมากก็ล้วนแต่หวังดีหวังบุญกุศลด้วยกันทั้งนั้น แม้จะถือลัทธิบางอย่างแตกต่างกันอยู่อย่างไม่เข้ารอยกัน ก็อาจปรองดองกันได้ โดยให้เห็นเสียว่า เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ๆ และเป็นเรื่องส่วนตัวด้วย เมื่อคนอื่นเขาไม่ถือ ก็ไม่ควรยกเอาเป็นข้อรังเกียจ ในเมื่อส่วนใหญ่หรือส่วนสำคัญของเขายังถูกต้องดีอยู่ การที่ถือมั่นในลัทธิเกินไปอาจทำให้ลืมตัว ยึดถือลัทธิเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นขึ้นเป็นสำคัญกว่าธรรมวินัยไปก็ได้ เช่นลืมความสามัคคีอันเป็นรากฐานอันสำคัญของหมู่คณะ หรือทำให้ขาดประโยชน์อันตนจะพึงได้รับจากการคบหาสมาคมกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั่ว ๆ ไป
เมื่อในวงศาสนาของตนเอง ก็ยังสมาคมกันไม่สำเร็จ เช่นนี้แล้ว จะสมาคมกับพวกอื่นที่เป็นคนละศาสนาได้อย่างไรเล่า สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งควรจะมีหูตายาว ก็จะมากลายเป็นคนหูตาสั้น ได้ยินได้ฟังน้อยไป
เพราะเหตุนี้เอง เมื่อฟังดูทั่ว ๆ ไปแต่ผู้ที่มาจากทิศต่าง ๆ ฟังได้อย่างหนึ่งว่า สำนักปฏิบัติธรรมต่าง ๆ นั้นมักมีอะไรยึดถือเป็นลัทธิอย่างหนึ่งประจำสำนักของตน คล้ายกับเป็นเครื่องหมายหรือยี่ห้อเฉพาะของสำนักเสมอ ความที่อยากจะให้เห็นว่าดีหรือสูงกว่าสำนักอื่น เป็นเหตุให้คิดหาอะไรที่แปลกจากสำนักอื่นยึดไว้ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ครั้นสำนักมีมากเข้า ข้อที่หยิบขึ้นถือให้เคร่งไว้เป็นเครื่องเชิดหน้าชูตา ก็มีมากชนิดเข้า และเกิดความรู้สึกในทำนองท้าทายแข่งขันกัน อันเห็นทางให้กลมเกลียวกันยาก ถ้าการแข่งขันนั้น ต่างฝ่ายมีสาระสำคัญ ที่บำเพ็ญประโยชน์สายใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่งไปตามความถนัดชำนาญของตัวก็ดีมาก แต่ถ้าเป็นไปเพียงเพื่อลัทธิเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีไว้สำหรับอวดเคร่งต่อกันแล้ว บาปก็จะตกอยู่แก่พระศาสนา ซึ่งเป็นของส่วนรวม และฉันเข้าใจว่าเหตุอันนี้เอง ที่ทำให้มาตรฐานของการปฏิบัติในทางจิตของสำนักปฏิบัติแทบทั้งหมด ชะงักอยู่ไม่เขยิบสูงขึ้นไปได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ฐานะหรือเกียรติของงานประเภทนี้ยังมืดมัวสลัวอยู่ร่ำไป
สถานที่ที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมควรจะเป็นสำนักซึ่งมีหน้าที่กวาดล้างสนิมหรือเสี้ยนหนามเหล่านี้ พร้อมกันไปกับการเผยแพร่ธรรมชั้นสูงของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการทำตนให้เป็นตัวอย่างให้ดูจริง ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นสถานที่ที่ให้ผลตอบแทนแก่การลงทุนอย่างสมค่าน่าชื่นใจยิ่งกว่าการลงทุนจัดสร้างสถานที่อย่างอื่นเป็นแน่
ผู้อยู่ในสถานที่เช่นนั้น ในส่วนตัวจะต้องขยันคิดนึกศึกษา ในส่วนการสมาคมต้องมีใจกว้างพอที่จะไม่รังเกียจผู้ที่มีอะไรไม่ลงรอยกับตน และในส่วนการสั่งสอนผู้อื่นก็พยายามทำตามความสามารถบริสุทธิ์ตรงไปตรงมาจริงๆ โดยไม่เห็นแก่ของตอบแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมก็ก้าวหน้า และศาสนาจะรุ่งเรืองโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไรของมหาชนหรือชาติประเทศมากมายนัก และในที่สุด สถานปฏิบัติธรรมก็จะเป็นสถานที่นิด ๆ ใช้เงินน้อย ๆ เป็นอยู่ต่ำ ๆ ปอน ๆ แต่ว่าผลน่าชื่นใจยีงกว่าสถานที่ชนิดอื่นที่ตรงกันข้ามมากมายหลายเท่าเหลือที่จะเปรียบกันได้โดยแท้
ข้อที่ความหวังอันนี้ หวังได้ยากอยู่ในบัดนี้ ฉันเห็นว่าส่วนใหญ่ เนื่องจากงานประเภทนี้มองดูยาก เข้าใจไม่ได้ง่ายลำหรับคนทั่วไปที่จะร่วมมือส่งเสริม หรือแม้ที่สุด วงการที่ทรงอำนาจของคณะสงฆ์ ก็ยังไม่ได้จัดการส่งเสริมหรือควบคุมให้เป็นล่ำเป็นสัน คงปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลทำกันไปตามความสมัครใจ และที่ร้ายไปกว่านั้น วงการที่ทรงอำนาจบางแห่ง กลับเข้าใจไปเสียว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทำของบุคคลผู้ตัดช่องน้อยแต่พอตัว หรือผู้ปรารถนานิพพานนั้นเป็นผู้เอาเปรียบผู้อื่นไปก็มี ซึ่งเป็นเหตุ อันหนึ่งที่ทำให้กิจการแผนกนี้ ได้รับความสนใจพินิจพิจารณาของมหาชนน้อยไปกว่าควร อันได้ทำให้พระศาสนาของเราเว้า ๆ แหว่ง ๆ ไปในบางสิ่ง อวบนูนอุ่นหนาฝาคั่งเกินต้องการไปในบางส่วน ซึ่งข้อนั้นย่อมบ่งถึงความที่ศาสนาของเรายังทำหน้าที่หลั่งไหลอมฤตให้แก่ชาติประเทศของเราได้ไม่เต็มที่นั่นเอง
ข้อที่วงการอันทรงอำนาจยังไม่มีหลักการส่งเสริมหรือให้เกียรติแก่งานประเภทนี้โดยเฉพาะ งานประเภทนี้ ก็ต้องตกเป็นงานส่วนตัวของผู้ที่เผอิญได้ชอบงานประเภทนี้เอาจริงๆ ซึ่งนาน ๆ จึงจะมีผู้คงแก่เรียนสักคนหนึ่งลูบคลำงานประเภทนี้ไปอย่างเงียบ ๆ ให้เป็นที่สะดุดตาสะกิดใจของนักศึกษาหนุ่ม ๆ ที่เรียนปริยัติเสร็จมาใหม่ ๆ ซึ่งส่วนมากย่อมจะหันไปทางด้านการบริหารการปกครองหมู่คณะ อันเป็นทางที่จะนำไปสู่เกียรติยศลาภผลเห็นอยู่อย่างชัดเจน แทนที่จะปรารถนานิพพาน หรือลองหันมาปฏิบัติธรรมชั้นสูงอย่างเคร่งครัดดูสักพักหนึ่งก่อน แต่จะหันไปจับงานที่เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกอย่างกว้างขวาง ด้วยใจที่กว้างขวางหรือสูงมาแล้วจริง ๆ
เพราะมูลเหตุสำคัญดังกล่าวมา จึงทำให้บุคคลผู้มีวิญญาณแห่งการรักปฏิบัติมีน้อยตัว เมื่อมีน้อยตัว ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้ที่จะก้าวไปได้ ย่อมน้อยไปกว่านั้นอีก หรืออาจถึงกับไม่มีเสียเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น สำนักปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ที่ใครจัดขึ้น หรือกำลังจะจัดขึ้นก็ตาม ถ้าปรากฏว่า หานักปฏิบัติได้น้อยเกินไป หรือไม่ได้เสียเลย ก็ไม่ควรประหลาดใจ หรือเสียใจ อย่างน้อยที่สุด การที่มีสถานที่ว่าง ๆ ไว้ก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่เร้าใจให้นักศึกษาหนุ่มผู้กล้าหาญเกิดความกล้าขึ้นในวันหนึ่ง และเป็นเครื่องกันลืมพระศาสนาในด้านนี้ได้เป็นอย่างดี ถ้ายังเป็นสำนักที่อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยนักปฏิบัติไม่ได้ ก็เป็นเพียงสำนักที่นัดพบของนักคิดอิสระหรือผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อเป็นนักปฏิบัติไปพลาง ก็ได้ผลคุ้มกันเหลือหลาย หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นสถานที่นัดพบเพื่อศึกษาเป็นครั้งคราวของผู้ใฝ่ฝันในความสงบได้ดี ซึ่งก็มีผลมากเหมือนกัน.
เมื่อได้กล่าวถึงจำนวน ภิกษุ สามเณร ผู้มาอาศัยในสวนโมกข์แล้ว ควรจะกล่าวถึงแขกผู้มาเยี่ยมเยียนเสียด้วย.
แขกที่เป็นบรรพชิต ผู้มากไปด้วยความกรุณาอารีอันเราจะลืมเสียมิได้นั้น มีอยู่มากด้วยกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ท่านเจ้าพระคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส ประธานสังฆสภาปัจจุบัน อันท่านผู้อ่านจะหารายละเอียดได้จากหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาปีที่ ๕ เล่ม ๒ และที่เป็นฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ประธานกรรมการศาลฎีกาในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากได้ให้ความช่วยเหลือทั่ว ๆ ไปในกิจการของคณะธรรมทานแล้ว ยังได้ช่วยเหลือฉันเป็นพิเศษเป็นส่วนตัว ในการที่ฉันจะต้องบำรุงและให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณรชุดพิเศษอีกชุดหนึ่ง ซึ่งทำให้กิจการอันนี้ดำเนินมาได้ราบรื่นตลอดมา
ในบรรดาแขกเหล่านี้ บางคนก็มาพักเพียงวันสองวัน หรืออย่างมากก็อาทิตย์หนึ่ง เว้นแต่แขกบรรพชิตอีกพวกหนึ่ง ซึ่งมีเวลามากพอที่จะพักได้ตั้งเดือนสองเดือน เพื่อหาความผาสุกตามที่ตนพอใจ และแลกเปลี่ยนความรู้แก่กันและกันกับเพื่อนที่ไม่เคยสมาคมกัน
โดยประมาณเมื่อเฉลี่ยแล้ว เรามีแขกประเภทที่ว่านี้ประมาณปีละ ๔-๕ คน ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นจำนวนมาก แขกทั้งหมดนี้ เชื่อว่าส่วนมากได้รับความพอใจ เพราะมีการมาซ้ำ ๆ กันก็มี จะมาซ้ำอีกในวันหน้าก็มี แต่ก็เชื่อได้บ้างเหมือนกันว่า คงจะมีจำนวนสักสองสามเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับความพอใจ เนื่องจากไม่เห็นพ้องในวิธีการ
นับตั้งแต่บ้านเมืองได้รับความกระทบกระเทือนเนื่องจากสงครามเป็นต้นมา สวนโมกข์เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีแขกเลย โดยเฉพาะแขกฆราวาส ได้รับข่าวแต่ว่า ไม่มีเวลามา ทั้งที่อยากมาอยู่เสมอ นึกดูก็น่าเห็นใจกันโดยทั่ว ๆ ไป.
เมื่อกล่าวถึงจำนวนผู้อยู่อาศัยแล้ว จะได้เล่าถึงการกินอยู่ต่อไป การขบฉันของภิกษุสามเณรนั้น อาศัยเฉพาะของที่ได้มาจากการบิณฑบาตโดยตรง คือได้มาทั้งข้าวและกับข้าวพอสบาย สำหรับผู้ต้องการจะเป็นอยู่ง่ายๆ ตลอดเวลา ๑๐ ปี เว้นแต่ปีสุดท้ายนี้ มีผู้มาจัดอาหารพิเศษส่งไปวันละสิ่ง โดยเห็นว่าดีกว่าที่จะไม่ทำอย่างนั้น
เพื่อความสะดวกและเป็นการเคารพต่อการฝึกฝนตัว เราได้ฉันในภาชนะง่าย ๆ ภาชนะเดียวตลอดมา ที่เรียกภาชนะเดียวนั้นหมายถึงใส่ข้าวลงในภาชนะใบหนึ่ง แล้วเกลี่ยกับลงไปข้างบนเท่าที่ต้องการ โดยแบ่งออกมาจากส่วนรวมเท่าที่ได้มาในวันหนึ่ง ๆ แล้วก็ไปนั่งฉันตามสบาย บางคนและบางสมัย ก็ใช้บาตรนั่นเองเป็นภาชนะ แต่บางคนและบางสมัยใช้ภาชนะอื่นที่สะดวกกว่า เพราะบาตรไม่เหมาะที่จะใช้เช่นนั้นมาก ด้วยบาตรสมัยนี้ ไม่ได้ทำปากกว้าง เป็นรูปขันน้ำอย่างบาตรพุทธกาล และล้างให้หมดกลิ่นยากกว่าภาชนะอื่น เช่นอ่างกาละมังเป็นต้น ทำให้เสียเวลามากในการรักษาความสะอาด ถ้าจะดำเนินการฉันแบบง่ายๆ กันตลอดชีวิต ใช้ภาชนะอื่นดีกว่า เช่นอ่างกาละมังขนาดกลางใบเดียวก็พอ เมื่อเล็งถึงใจความแล้ว ก็ไม่เป็นการมักมากอย่างใด ในการที่จะใช้ภาชนะเช่นนี้แทนบาตร ยังเป็นการธุดงค์หรือการขูดเกลาเต็มที่อยู่นั่นเอง
การฉันเช่นนี้ ยังมีผู้เข้าใจกันแปลกๆ เช่นเข้าใจว่าต้องคลุกหรือขยำจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จึงจะถูกต้องตามแบบแผนนี้ก็มี แต่นั่นเป็นความคิดเห็นและความพอใจส่วนตัว หรือถึงกับเป็นเหตุผลเฉพาะตัว เฉพาะคนบางคน ที่อยากจะวัดกำลังใจของตนเท่านั้น
การฉันแบบนี้ เราใช้กันตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งบัดนี้ ทั้งที่สวนโมกข์ ที่หอสมุดธรรมทาน และที่สวนโมกข์ (บน) อันจัดสร้างขึ้นใหม่เมื่อปีกลาย เวลาฉันนั้น เราฉันกันแต่เช้าเท่าที่จะทำได้ ผู้สมัครจะฉันหนเดียวก็ฉันเพียงหนเดียว แต่ผู้ที่บางคราวต้องทำงานออกแรงทางกาย เช่นเกี่ยวกับการจัดสร้างสถานที่หรือสามเณรรุ่นเล็ก จะฉันเพลด้วยก็ได้ ในเมื่อมีเหตุผลอันสมควร ฉันอาหารตามธรรมดา ตามที่ทายกจะให้ ถ้าใครต้องการจะเว้นอาหารบางอย่างหรือทดลองการฉันแบบพิเศษออกไป ต้องหาโอกาสทำเป็นพิเศษ และเป็นได้เพียงครั้งคราว
ฉันเคยลองฉันแต่ผลไม้อย่างเดียวบางสมัย รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สบายและแปลกถึงกับอยากจะขอร้องว่า ใครก็ตาม ควรลองผ่านการทำเช่นนี้ดูบ้าง อย่างน้อยสักคราวหนึ่ง เนื้อตัวเย็นสบาย ไม่มีกลิ่นตัว สีและกลิ่นของอุจจาระไม่เป็นที่น่ารังเกียจเลย เหล่านี้เมื่อคิดดูแล้ว เป็นอุปกรณ์แก่การอยู่อย่างสงบเย็น ดีกว่าที่มันจะเป็นอย่างธรรมดา เสียอยู่ก็แต่ว่าในบางถิ่นไม่มีผลไม้พอให้ความสะดวกได้เท่านั้น
ส่วนการฉันแต่ผักหรือเผือกมันนั้น ยากกว่าการฉันแต่ผลไม้มาก และในตอนแรก ๆ ร่างกายเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยทัน เช่นไฟธาตุหรือน้ำย่อยอาหาร เปลี่ยนเป็นอย่างสูงให้พอเหมาะกันไม่ค่อยทัน ไม่เหมือนผลไม้ แต่อย่างไรก็ตาม การฉันแต่ผลไม้หรือผักนั้นไม่สะดวกเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือต้องกินบ่อยกว่าธรรมดา มิฉะนั้นจะหิวในตอนกลางคืน การฉันแต่ผลไม้นั้น ฉันไม่ได้ปริมาณมากเท่าฉันข้าว ; แล้วยังย่อยเร็ว ซึ่งทำให้หิวเร็วอีกด้วย
ฉันสังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ในระยะที่ฉันอาหารแบบนี้ ประสาททางตาทางหู และทางจมูก จะไวกว่าธรรมดาหลายเท่านัก ใบไม้มีกลิ่นเช่นใบโหระพา ; ยืนห่างต้น ๒-๓ วาก็ได้กลิ่น ซึ่งตามธรรมดาเราจะได้กลิ่นต่อเมื่อได้ทำให้ใบช้ำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งและดมดู ดอกไม้ต่าง ๆ หอมมาก จนบางอย่างฉุนหรือทนไม่ได้ ซึ่งตามธรรมดาจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย สิ่งเหล่านี้ ฉันยังทราบไม่ได้แน่นอนเหมือนกันว่า เป็นด้วยอำนาจอาหารนั้น ๆ โดยตรง หรือเป็นเพราะเหตุอื่นอันเนื่องจากอาหารนั้น ซึ่งเราอาจจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเดียวกันโดยวิธีอื่น ส่วนประสาททางลิ้นนั้น แม้จะไม่ทวีความไวมากเท่าทาง ตา หู จมูก แต่ก็ได้เพิ่มความไวยิ่งกว่าธรรมดาด้วยเหมือนกัน เหตุนั้นฉันจึงเห็นว่าเป็นของที่ควรลองดูเล่น สำหรับทุกคน และทดลองให้มีระเบียบที่ดี จึงจะพบผลที่อย่างน้อยก็เป็นการศึกษา
แต่อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่า เมื่อจิตใจสงบเป็นสมาธิหรือกำลังสดชื่นเยือกเย็น ไม่ว่าจะเป็นมาได้จากวิธีใด ประสาทเหล่านี้ก็ไวกว่าธรรมดาอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ผลไม้ที่ดี คือ กล้วย มะละกอ น้อยหน่า และอื่น ๆ ที่คล้ายกัน การใช้ผลไม้เป็นอาหารนั้นนำให้เกิดผลทางจิตในส่วนที่ได้ให้ความรู้แต่ว่าเป็นอาหาร ไม่มีของคาว ของหวาน ไม่มีการกินจริง หรือกินเล่น เป็นของว่าง เหล่านี้เป็นต้น ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการทำดีหรือไม่ดี ชนิดที่จะไปบ่นเอากับคนทำ มันจึงเป็น แบบ อันหนึ่งของการขูดเกลาทั้งหลาย.
เมื่อได้พูดถึงอาหารแล้ว อยากจะกล่าวถึงน้ำเสียด้วย น้ำนั้นเป็นสิ่งที่ผู้จะตั้งบ้านเรือนได้หยิบยกขึ้นเป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่งฉันใด มันก็ได้เป็นปัญหาอันสามัญของสถานที่ อันเป็นสำนักฝึกฝนการปฏิบัติธรรม ฉันนั้น และบางทีจะยิ่งกว่าไปเสียอีก
พวกเราหลีกเลี่ยงไม่ให้มีเรื่องมาก ไม่จำเป็นจริง ๆ แล้ว ก็ไม่ยอมมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ อันจะทำให้เกิดภาระมากขึ้นทั้งในด้านทุนรอน การแสวงหาและเสียเวลาการใช้การทำ ถ้าเรามีน้ำดี เรื่องหลายเรื่องจะน้อยเข้า แต่ได้รับความผาสุกสบายเต็มตามที่ต้องการ น้ำที่ไม่ดีบริโภคเป็นนิจ จะทำอันตรายแก่ร่างกาย ซักผ้าให้สะอาดไม่ได้โดยไม่ต้องใช้สบู่ อาบก็ไม่ทำความเยือกเย็น แต่กลับจะทำความรู้สึกขยะแขยงให้เกิดขึ้น และอาจเป็นโรคผิวหนังบางอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำความหมดเปลืองและภาระยุ่งยากให้เกิดขึ้น
น้ำที่สวนโมกข์จืดและสะอาดดี แต่น้ำที่หอสมุดเต็มทีมาก เมื่อฉันอยู่ในที่ทั้งสองแห่ง เป็นการเปรียบเทียบกันอยู่บ่อย ๆ จึงมีความรู้สึกเกิดขึ้นในเรื่องนี้ จนถึงกับนำมากล่าวเพื่อว่าผู้สนใจในการจัดสร้างสำนักปฏิบัติธรรม จะได้นำไปพินิจพิจารณาด้วย ที่สวนโมกข์บน (สวนโมกข์ที่กำลังจัดทำใหม่อีกแห่งหนึ่ง) น้ำดีกว่าที่สวนโมกข์มาก ภูมิประเทศก็เป็นที่รื่นรมย์กว่า เราหวังผลในส่วนนี้จึงช่วยกันจัดทำขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งหวังว่าอีกไม่กี่ปีนัก เราจะมีสถานที่ที่สบายกว่าเก่าหลายประการ โดยความช่วยเหลือของธรรมชาติ และมีความหมดเปลืองน้อย.
ในการเป็นอยู่แบบนี้ การบิณฑบาตเป็นเหมาะที่สุด การจัดตั้งครัวหรือมีผู้จัดถวายเสียเลยนั้น ไม่เหมาะหรือได้ผลน้อยกว่า และการไปฉันในที่นิมนต์ตามบ้านเรือนนั้นถ้าหลีกเสียได้เป็นการดี ฉะนั้นภิกษุสามเณรเฉพาะที่อยู่ในสวนโมกข์จึงได้ขอตัว และเป็นที่ทราบกันว่า ได้งดเว้นการไปฉันเช่นนั้น เว้นแต่จะมีเหตุพิเศษจำเป็นจริง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้มีเวลาว่างมาก มีความโปร่งสบายอยู่ตามธรรมชาติเป็นพิเศษ สมกับที่ต้องการให้เป็นการอบรมตนเป็นพิเศษสักสมัยหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเวลากี่ปีก็ตาม ข้อนี้เป็นเหตุให้เลยขอตัวงดเว้นการไปบังสุกุล การนั่งหัตถบาสหรือวิธีกรรมอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นเสียด้วย ซึ่งก็เป็นผลดีแก่การศึกษาและการทดลองปฎิบัติบางสิ่งบางอย่าง ยิ่งมีอะไรน้อยเพียงใดก็ยิ่งมีผลดีทางจิต
การอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ เกลี้ยง ๆ ไม่มีสิ่งของรุงรัง กินอาหารแบบที่เขาพากันขนานนามให้ว่า “กินจานแมว” ซึ่งพวกเรากำลังใช้กันอยู่ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้นั้น ได้พิสูจน์ตัวมันเองให้เห็นแล้วว่า ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าโดยแน่นอน พอที่จะยึดถือเป็นหลักตายตัวได้ คนนอกมักจะเข้าใจผิดและขลาดต่อการจะเป็นอยู่เช่นนั้น มีเรื่องขัน ๆ ที่โยมของเณรเล็ก ๆ รูปหนึ่งถามเณรเมื่อก่อนจะไปอยู่ที่นั่นว่า “เณรยังจะกินข้าวจานแมวได้หรือ ?” ส่วนความจริงนั้น ไม่มีอะไรที่กระทบความรู้สึกของเณรเลย ตั้งแต่แรกไปจนกระทั้งบัดนี้ และเป็นการเป็นอยู่ตามธรรมดาอันหนึ่งเท่านั้น คนที่ไม่เคยลองเป็นอยู่แบบนั้นเท่านั้น ที่รู้สึกคล้ายกับว่าเป็นการทรมาน ฉะนั้นฉันจึงหวังว่าผู้ที่จะจัดสถานที่แบบนี้ต่อ ๆ ไปในวันข้างหน้า ควรจะนึกถึงเรื่องนี้ให้มาก และพิจารณาดูให้ละเอียดไม่พลาดจากประโยชน์อันใหญ่หลวงด้วยอำนาจความเข้าใจผู้คน หรือสงสารในสิ่งที่ไม่ควรสงสาร.
การนุ่งห่มนั้น เมื่อใช้ผ้าเนื้อหนา ย้อมฝาดให้ดี ๆ เป็นการประหยัดและทำให้มีเรื่องน้อยเข้ามากมายหลายเท่านัก มิใช่เพียงเท่าเดียวสองเท่า การมีระเบียบให้ใช้ผ้าปะนั้น นอกจากตรงตามอริยวงศปฏิปทาแล้ว ยังทำให้มีจิตดีและสะอาดขึ้นอีกมาก
ฉันต้องขอสารภาพว่า เคยเข้าใจผิดและเคยดูถูกสิ่งเหล่านี้มาแล้ว มาภายหลังมองเห็นความเขลาของตัว ก็รู้สึกว่ามีโชค ได้ความรู้สึกคิดนึกที่กว้างขวางโดยไม่ต้องลงทุนอะไร ทั้งยังได้ผ้าใช้ไม่ขาดแคลนอีกด้วย สิ่งที่เรียกว่าเป็นกุศลนั้น หมายถึงความฉลาดทุกประการในการจะเอาชนะความทุกข์ยากลำบาก ภูมิธรรมทางจิต ความรู้ และสิ่งของที่เสียไปเพราะความเข้าใจผิดชนิดนี้ นับว่าไม่เป็นกุศลอย่างยิ่ง ถ้าภิกษุสามเณรหรือนักบวชมีหลักเช่นว่านี้ จะเป็นการประหยัดแรงงาน เงินและเวลาของประเทศชาติได้มาก และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ทายกด้วย
พวกเราถือหลักว่าอะไรก็ตามที่ควรทดลอง หรือที่อาจคว้ามาเป็นประโยชน์แก่จิตใจได้แล้ว เป็นต้องพยายามทดลอง จนกว่าจะเข้าใจซึมซาบและนึกพอใจตัวเอง เป็นสุขสนุกสบาย ทั้งส่งเสริมแก่การปฏิบัติธรรมในขั้นต่อ ๆ ไป อย่างดีอีกด้วย
ที่สวนโมกข์ นาน ๆ จะมีคนถวายจีวรสักครั้งหนึ่ง และมีบางราย ทอดผ้าป่าไปทางไปรษณีย์ ซึ่งเราทราบไม่ได้ว่าเป็นใคร ฉันเคยได้รับผ้าสบงทำด้วยไหม ทอด้วยมือหนา ๆ ตามแบบพื้นเมือง ปรากฏแต่ว่าส่งมาจากภาคอิสานโดยทางไปรษณีย์ แม้จะนานมาแล้วก็ขอตอบรับและอนุโมทนาไว้ในที่นี้ด้วย.และผ้านั้นได้ใช้ไปจนถึงที่สุดแล้ว ทนนานมาก.
การขอร้องไม่ให้มีคนเข้าไปรบกวน นับว่าได้ผลดี นาน ๆ จะมีคนที่ไม่รู้ หรือเป็นพวกที่ไม่อาจจะรู้ได้ เข้าไปเที่ยวสักคนหนึ่ง ซึ่งเราถือว่าเป็นของธรรมดา คนเป็นอันมากได้ให้ความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีธุระจำเป็นเหลือเกินแล้วจะไม่เข้าไปในสวนโมกข์ เราขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้ออันนี้ไว้ในที่นี้ ทั่วกันทุกคน และนับว่าเป็นการทำกุศลของท่านอย่างหนึ่ง ซึ่งพวกเราขออนุโมทนาด้วย.
ส่วนที่เข้าไปเพื่อธุระหรือเพื่อการศึกษา แม้ที่สุดแต่เพื่อเยี่ยมเยียนตามโอกาสนั้น เป็นสิ่งที่พวกเรายังคงต้อนรับด้วยความยินดีเสมอ.
เด็ก ๆ ดูเหมือนจะเป็นจำพวกที่เป็นปัญหามาก ตามที่สังเกตเห็นเด็ก ๆ มีความอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เป็นลืมนึกถึงอะไรหมด ฉะนั้น ถ้าในสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใด มีสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ ก็คงจะได้รับความรบกวนบ้างเป็นธรรมดา ในบริเวณสวนโมกข์ ยังมีเด็ก ๆ ที่ชอบเข้าไปขโมยช้อนปลา ซึ่งมีทั้งปลาเล่นและปลาที่ใช้เป็นอาหาร เก็บผัก หาเห็ด ยิงนก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยากที่จะจัดการไม่ให้มีได้ เพราะมีชุมตามธรรมชาติ แม้ที่สุดแต่ไม้ฟืนและไม้ที่จะใช้การงานอย่างอื่น ถ้าหากว่าในการที่จะจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมรายใด ได้คำนึงถึงปัญหาอันนี้มาเสียตั้งแต่แรก และจัดการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันเสียตั้งแต่แรกแล้ว จะเป็นผลดีแก่ภิกษุสามเณรผู้อยู่อาศัยมากทีเดียว การสู้รบกับเด็ก ๆ ซึ่งอยากได้รุนแรงและลืมอะไรเก่งนั้นไม่ค่อยสนุกเลย ถ้าในสถานที่นั้นไม่มีสิ่งที่ต้องการสำหรับเด็ก ๆ แล้ว ปัญหาก็ไม่มี และบางทีต้องคิดหาอุบายทำลาย และโยกย้ายสิ่งเหล่านั้นให้หมดไปจากสถานที่เช่นนี้เสีย ก็ดูเหมือนได้ผลเกินค่ากว่าสิ่งของที่ต้องเสียไป.
สิ่งรบกวนตามธรรมชาติบางประการ เช่นเสียงร้องของนก เป็นต้นนั้น ไม่เป็นปัญหาอันใดเพราะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย เช่นเดียวกับเสียงคลื่นเสียงลม ไม่นานเท่าใดก็เป็นการเคยชิน และเป็นการศึกษาในบางอย่างบางประการอีกด้วย
แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องทำการศึกษาจากมันอย่างใจเย็น ที่สวนโมกข์ยุงชุมมาก มีน้อยวันเหลือเกินที่ปราศจากยุง แต่ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากเป็นยุงธรรมดาตัวเล็ก ๆ ซึ่งขึ้นมาจากคลองน้ำเค็มเป็นส่วนมาก ในกรณีเช่นนี้ต้องเรียนรู้ถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ รู้จักหลีกเลี่ยงหรือป้องกัน กลางวันไม่มียุงเลย ตอนพลบค่ำจะมีมาก จึงต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ตามขึ้นไปบนที่อาศัย เช่นออกมาเสียหรือไม่เปิดแสงไฟให้เห็นจนกว่าจะค่ำไปมากแล้ว รู้จักแบ่งเวลาการงานให้เข้ารูปหรือเหมาะกับธรรมชาติ เช่นเวลาที่มียุงเช่นนี้ด้วย ในที่สุด ก็จะเหมือนกับไม่มียุงเหมือนกัน การตัดตอนหรือป้องกันต้นเหตุ เช่นการระบายน้ำไม่ให้มีที่เกิดของยุง ก็ช่วยได้มากและเป็นสิ่งที่ควรเอาใจใส่ตามที่ควร ในบางคราวยุงก็มีประโยชน์ในการช่วยไม่ให้นอนมากเกินไปกว่าธรรมดา หรือเกินความต้องการของร่างกาย.
การไม่ใช้มุ้ง ใช้ฟูก ใช้หมอนนั้น ดีมาก เว้นแต่คราวเจ็บไข้ ทำให้มีความคิดนึกกว้างขวางเบากายเบาใจ ตื่นดีกว่าธรรมดา เห็นการนอนเป็นเพียงการพักผ่อนชั่วครู่ชั่วยามของร่างกายจริงๆ ไม่ใช่เวลาหาความสุข หรือมัวเมาในอารมณ์สุข สามารถที่จะบำเพ็ญแบบแห่ง ชาคริยานุโยค ได้ดีที่สุด และง่าย ๆ ด้วย แต่ข้อนี้หมายเฉพาะภิกษุสามเณรที่กำลังฝึกฝนทางจิตโดยตรง ถ้ายังมีการศึกษาอย่างอื่น หรือการงานอย่างอื่นแทรกแซง อาจไม่ได้ผลเต็มตามที่ว่านี้นัก ข้อนี้เนื่องจากเวลาที่จิตพักอยู่ในความสงบด้วยการนั่งอยู่นิ่ง ๆ สบายกว่าการนอนเสียอีก การนอนเลยกลายเป็นของไม่อยากให้มีมา อยากตื่นอยู่ด้วยความแจ่มใสสดชื่น ในการยืน การเดินเล่น นั่งเล่นมากกว่า เพราะสนุกหรือเพลิดเพลินดีกว่า ร่างกายที่เคลื่อนไหวน้อย เช่นการเป็นอยู่ของโยคีนั้น มันต้องการนอนน้อยที่สุด อย่างที่เรียกว่าผิดธรรมดา ข้อนี้คนธรรมดาอาจเข้าใจไม่ได้ ถ้าไม่เคยลองเป็นอยู่ตามแบบนั้นดูก่อน หรือจะสังเกตเปรียบเทียบได้ในเวลาที่ป่วยไข้นอนอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวน้อยมาก ก็ต้องการหลับน้อยมาก คือนอนไม่ใคร่จะหลับนั้นเอง แต่นี่เป็นเรื่องของโรค ผิดตรงข้ามกับเรื่องของความสงบสบาย.
พวกเราอยู่กันที่นี่ ในส่วนตัว ได้รับความพอใจสะดวกสบายไม่มีความรู้สึกว่าเป็นการทรมาน ทั้งนี้เนื่องจากการปรับระดับของจิตใจในเบื้องต้นไว้ถูกต้อง แต่มีคนภายนอก มีความรู้สึกว่าเกินไปหรือทรมานไปก็มี ถ้าใครสามารถทำให้จิตใจของตนมองเห็นลู่ทางของความสงบได้ก็จะยิ่งอยากอยู่ในที่เช่นนั้น หรือให้มีการบีบคั้นมากกว่านี้ไปเสียอีก เพราะการอยู่เช่นนั้น มีเรื่องน้อย หรือแทบจะไม่มีเลยนั้นเอง มีโอกาสเพลิดเพลินอยู่ด้วยการคิดค้น และแสงสว่างแจ่มจ้าต่าง ๆ มีรสใหม่ ๆ แปลก ๆ แม้ภิกษุสามเณรประเภทที่ยังมีการศึกษาทางตำรา หรือการศึกษาเบื้องต้นอื่น ๆ นั้นจะต้องมีความรู้สึกที่สูงไปในทางรักการศึกษา หรือเมาการศึกษานั่นเอง ในที่สุดก็จะวิ่งเข้าหาสถานที่ที่มีเรื่องน้อยนั้นอีกเหมือนกัน
ที่อยู่ที่ให้ความสบายมากไปนั้น ดึงเวลาหรือความคิดไปยังความเพลินเพลิน การคิดประดิษฐ์ประดอยตกแต่งให้สวยงามยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีการกังวลเกี่ยวด้วยการระวังดูแลที่มากเกินควร ฉะนั้นจึงไม่ค่อยให้ประโยชน์อันแท้จริงแก่นักศึกษา และทั้งเป็นสิ่งที่กำลังหลงกันอยู่โดยไม่รู้สึกตัว โดยเห็นเป็นเกียรติหรือเป็นอะไรในทำนองนั้น ซึ่งทำจิตใจให้เป็น บ้าน มากกว่าเป็น อนาคาริกผู้ค้นคิด ถ้าประชาชนส่วนมากของชาติพลอยหลงใหลไปตามนี้ด้วย นั่นก็คือความที่ศาสนาเป็นเสนียดของชาติอยู่โดยเร้นลับ เสียหายทั้งส่วนวัตถุและส่วนจิตใจ.
เมื่อกล่าว่าแล้ว ถึงตอนนี้ ฉันอยากจะพูดถึงเรื่อง ของเล่นบ้าง เท่าที่มันเกี่ยวกับภิกษุสามเณรผู้เป็นนักศึกษา
การเล่น หรือ ของเล่น นั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่คู่กันมากับมนุษย์ อย่างที่จะแยกกันไม่ได้เป็นอันขาด แม้พวกที่ขัดสนที่สุด ก็ยังมีการเล่นหรือเสียสละเพื่อเล่น คนมีทรัพย์ก็เล่นสิ่งของแพง ฆราวาสก็เล่น บรรพชิตก็เล่น เมื่อเล่นของถูก ๆ หรือวัตถุที่มีความงามตามธรรมชาติไม่สนุก ก็เล่นของแพง ๆ เช่นเครื่องลายครามและเจียระไน พระอริยเจ้าท่านก็ยังเล่น คือเล่นฌานและเล่นสมาบัติ อันได้แก่การเข้าฌานเล่นแปลก ๆ ออกฌานนั้นเข้าฌานนี้อย่างโลดโผนที่สุด เหมือนพวกนักกีฬาที่ซ้อมกีฬายาก ๆ ของตน หรือประดิษฐ์ท่าทางแปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นแล้วก็สนุกสนานกัน
เมื่อเป็นดั่งนี้ พวกที่ยังเพิ่งบวช หรือไกลต่อการเข้าฌานเล่า จะเล่นอะไรกัน? ฉันแนะให้เณรเล็ก ๆ เล่นสิ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา หาความรู้รอบตัว ให้คอยศึกษาอย่างละเอียดถึงธรรมชาติรอบ ๆ ตัว จากนก จากปลา ต้นไม้ดอกไม้ เพื่อเรียนรู้เรื่องการสืบพันธุ์ การงอก การเจริญเติบโต ตามแนวที่เคยศึกษามาจากตำราฝ่ายชีววิทยาให้ละเอียดยิ่งขึ้น ๆ ตามลำดับเท่าที่ตนจะทำได้ ยิ่งสิ่งที่เห็นได้ยากๆ เช่นเรื่องของปลวก ของไส้เดือน ก็ยิ่งต้องเฝ้าดูกันเป็นเวลานาน ๆ
บางทีก็แนะให้เล่นเกี่ยวกับงานก่อสร้าง รู้จักใช้และทำเครื่องมือ เพื่อสะดวกในการที่จะเล่นหรือทำงานจริง ๆอย่างอื่น ๆ ในวันข้างหน้า เครื่องอุปกรณ์เกี่ยวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เรื่องเสียง แสง ไฟฟ้า กลศาสตร์ เหล่านี้ก็แนะให้หามาเล่นตามที่จะหาได้ ให้ทดลองทำดูตามที่จะทำได้ ตามที่จะพาเที่ยวดูได้ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นของเล่นโดยตรง ก็ยังสามารถทำกำลังงานของสัญชาติญาณที่รักของเล่น หรือการเล่นให้ร่อยหรอไปได้ เป็นการสับเปลี่ยนเอามาใช้ในทางเป็นของจริง และเป็นการศึกษาเสีย ก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่จิตใจ ได้ผลดีอยู่เหมือนกัน
ภิกษุสามเณรที่เป็นรุ่นใหญ่ขึ้นมา ก็แนะให้รู้จักสังเกตสูงขึ้นมา แต่ก็ไม่พ้นไปจากการคลุกคลีกันกับธรรมชาติ จนบอกไม่ได้ว่าเป็นของเล่นหรือของจริง การคุย การถกเถียงปัญหา การหัดใช้เสียงตามหลักแห่งอักษรศาสตร์ การหัดแสดงธรรม เหล่านี้ ถ้ารู้จักจัดให้ลึกซึ้ง ก็สนุกดี ริบเวลาที่จะไปเล่นเหลวไหลอย่างอื่น ๆ มาให้หมด การไม่ได้หัวเราะเสียเลย หรือไม่มีเวลารู้สึกสนุกเพลิดเพลินเสียเลยนั้น คงจะทำให้เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อบางส่วนแห้งตีบ และกลายเป็นคนไม่สมประกอบไปบางส่วนก็เป็นได้ หรือจะเปิดโอกาสให้แก่โรคภัยบางอย่างโดยตรงก็ได้ ฉะนั้นแม้ในวงผู้ฝึกฝนการปฏิบัติธรรม ก็จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดีเหมือนกัน จะถือว่าเป็นสิ่งนอกเรื่องไม่ได้
ผลของการเป็นอยู่ในสำนักบางสำนัก ปรากฏเป็นการเจ็บไข้ การวิกลจริต และความคิดนึกที่คับแคบไม่สมบูรณ์ไปเสียนั้น ฉันเห็นว่าอาจมีขึ้นเพราะการละเลยในเรื่องนี้เสียเกินไป ไม่มากก็น้อย เพื่อนนักศึกษา หรือผู้จะจัดตั้งสำนักศึกษาตามแบบนี้ ควรนึกดูให้ดีด้วย.
เมื่อพูดถึงการเล่นแล้ว ควรจะพูดถึงของจริงหรืองานจริง ติดต่อกันไป
พวกเราที่นี่ ที่สามารถช่วยตัวเองได้ในส่วนวิชาความรู้ ก็คงหน้าระมัดระวังการเป็นอยู่ในวันหนึ่ง ๆ ของตน ๆ ให้มีความสว่างไสว มีความสุขและบริสุทธิ์เท่าที่จะทำได้ พวกที่ยังต้องรับคำแนะนำสั่งสอน ซึ่งเป็นภิกษุสามเณรชุดพิเศษ ก็ตั้งใจในการที่จะทำตามคำสั่งสอน ทุกคนสำนึกในหลักที่เราถือเป็นสรณะ คือ เรียนมาก ทำงานมาก กินอยู่ง่าย อดทนและบริสุทธิ์ ปรารถนาสูงในการบำเพ็ญประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
สิ่งที่เราย้ำกันให้นึกถึงอยู่เป็นประจำวัน ก็คือพยายามผ่านสิ่งต่าง ๆ ไปด้วยความระมัดระวังสังเกตอย่างละเอียดลออ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง การเล่น การเที่ยว การสมาคม ฯลฯ ทุกอย่างควรจะถือเป็นการศึกษาไปหมด เพื่อช่วยให้รู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงเร็วเข้า จนไม่เที่ยวติดอยู่ในสิ่งใดๆ และไม่มีทุกข์ ขยันทำงานเพียงเพื่อเป็นหน้าที่ของสังขารที่ยังไม่แตกดับ ให้มีความฉลาดรอบรู้เกิดขึ้นทุก ๆ อิริยาบถที่เคลื่อนไหว จนกว่าจะรู้สิ่งที่สูงสุด ไม่มีอะไรรบกวนความอยากรู้อีกต่อไป
ที่สวนโมกข์เรามีหอสมุดน้อย ๆ ต่างหากจากหอสมุดธรรมทานที่ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด ห้องสมุดที่สวนโมกข์มีหนังสือธรรมและบาลี นับตั้งแต่พระไตรปิฎก และอรรถกถาลงมาจนถึงแบบเรียนนักธรรม และยังมีหนังสือแบบเรียนสามัญศึกษาบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับพระเณรรุ่นเล็ก เมื่อเวลาว่างในบางฤดู สำหรับบางคนได้เรียนวิชาสามัญศึกษา ประเภทที่ช่วยให้เกิดความเฉียบแหลมเฉลียวฉลาด เช่นวิชาคำนวณ กระทั่งวรรณคดี ในเรื่องนี้เราถือว่าภิกษุสามเณร ที่จะมีความรู้พอตัวหรือคล่องแคล่วควรผ่านความรู้รอบตัวที่จะช่วยให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรมาบ้างเสียก่อน การนั่งคิดนอนคิดคนเดียวของคน จะได้แล่นไปถูกทาง เรียนแต่หลักสูตรของพระเณรเท่าที่ตั้งไว้ในสมัยนี้ อย่างเดียวนั้นไม่พอโดยแน่นอน และเหมาะแต่ผู้ที่ได้ผ่านโลกมาแล้วเท่านั้น ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งให้ถูกต้องที่สุด ก็ต้องกล่าวว่า หลักสูตรการศึกษานั้น ถ้าทำได้ควรจัดเฉพาะคนเป็นคน ๆ ไป เป็นดีกว่าอย่างอื่น.
เมื่อมีเวลาว่าง ก็ฝึกฝนวิธีการเผยแพร่ เช่นการหัดเขียนบทประพันธ์ชนิดต่างๆ บางคนมีนิสัยไม่ให้แก่การนี้เสียทีเดียว แต่เมื่อได้อบรมกันอยู่นาน ๆ เข้ากับพวกที่มีนิสัย ก็ค่อยมีนิสัยขึ้นบ้างตามลำดับ การหัดเขียนส่งไปลงพิมพ์นั้น ช่วยให้เขียนเป็นเร็วกว่าอย่างอื่น การออกหนังสือพิมพ์อ่านกันเองแต่ในหมู่ผู้แรกศึกษาด้วยกันนั้น ฉันส่งเสริมอยู่เสมอ ๆ ในสมัยที่กระดาษยังร่ำรวย บางคนยังมีเวลาว่างพอที่จะช่วยฉันทำงานในหน้าที่ซึ่งพอจะเรียกได้ว่าเลขานุการหรือผู้ช่วยในการลอกคัดขีดเขียน หรือตรวจข้อความที่มีผู้ส่งมาลงหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาของคณะธรรมทาน เป็นการหัดวิจารณ์ข้อความต่าง ๆ ไปในตัว ซึ่งช่วยให้รู้ภาษาไทยเร็วขึ้นมาก.
เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดแล้ว คนเราจะดีได้หรือจะมีความสามารถจริง ๆ นั้น กินเวลานานมาก เพราะเพียงแต่การศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการอบรมกันอยู่กับมรรยาทที่ดีงามทั้งทางจิตแลทางกาย ซึ่งหมายถึงการบังคับตัวเองให้ได้ทั้งที่ลับและที่แจ้ง พร้อมๆ กันไปกับการศึกษานั้นทีเดียว เพราะทั้งสองอย่างต้องกินเวลามากเท่า ๆ กัน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นานเข้าก็น่าเบื่อหน่าย จึงต้องอาศัยการปลุกปลอบเร้าใจจากครูหรือมิตรสหายอยู่เสมอ ๆ ด้วย ซึ่งฉันเห็นว่างานอันหลังนี้เป็นงานหนักมาก เพราะเกี่ยวกับหยั่งทราบถึงภายในใจคนอื่น ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีโอกาสจับตาดูด้วยความสังเกตอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอเท่านั้น และสิ่งนี้ก็เป็นงานจริงอันหนึ่งเหมือนกัน มิฉะนั้นนักศึกษาเหล่านั้นจะตลอดรอดฝั่งไปไม่ได้ เพราะเป็นการลอยไปตามบุญตามกรรม เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูกอ่อน ที่ทำไปสักแต่ว่าตามหน้าที่
ฉันพยายามเสมอ ที่จะให้ทุก ๆ คนที่อยู่ด้วยกัน รู้จักทำตนให้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ในเรื่องปลุกปลอบน้ำใจของกันและกัน โดยอาศัยความรักใคร่เป็นสำคัญอยู่เสมอ ๆ และบันทึกไว้ เช่นเกี่ยวกับเรื่องที่ควรบันทึกอื่น ๆ สรุปรวมความสั้น ๆ ว่า เราได้พยายามกันทุก ๆ ทาง ในอันที่จะให้การกระทำของเรา ผลักดันเราไปในทางสูงอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่เราจะรู้ได้และรู้ไม่ได้ชัดเจน ซึ่งหวังว่าเมื่อเราอยู่ในสถานที่นี้นานพอสมควรแล้ว ต่อไปเราจะมีความสุขหรือเอาตัวรอดได้.
ถ้าท่านจะได้พลิกดูที่ปกหน้าและปกหลังบ้านในของหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ปีที่ ๔ เล่ม ๓ หรือเล่ม ๔ ก็ตาม ตอนความฝันของคณะธรรมทาน ในแผนกสวนโมกข์ จนเข้าใจดีแล้ว ฉันอาจกล่าวกับท่านได้ว่า เราได้รับความพอใจที่สุด แม้เราจะทำกันตามสติกำลังหรือตามความสามารถอันจะเรียกว่าอย่างเด็กๆ ทำ ก็ไม่ผิดนัก เราก็ได้ทำให้ลุล่วงไปตามที่เราฝัน ๆ ไว้ได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราหวังว่าคงจะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้สักคราวหนึ่งในวันข้างหน้า.และสิ่งสุดท้ายที่เราหวังกันนักนั้นก็คือ ความสามารถในการเผยแพร่พุทธศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นการช่วยกันจัดโลกนี้ ให้เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความสุขตามความสามารถของตน ๆ ในเมื่อวิธีการอย่างอื่นๆ ไม่อาจสร้างสรรค์สันติภาพให้แก่โลกได้อีกต่อไป เรายินดีเสียสละ อดทนต่อการกระทบกระทั่งจากผู้อื่นที่เข้าใจผิด พร้อมกับการชื่นชมยินดี ในเมื่อมีผู้อนุโมทนาสาธุการ เนื่องจากเข้าใจถูกในงานที่เราทำเรื่อย ๆ ไป จนกว่าจะลุถึงจุดหมาย.
เรื่องสุดท้าย ที่ฉันจะเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟังก็คือเรื่อง ทุน.เรื่องนอกนั้นโดยมากก็เป็นเรื่องที่ท่านอาจทราบได้แล้วหรือบางเรื่องก็เป็นของส่วนตัว เกินไปกว่าที่จะนำมาเล่าในหน้ากระดาษเหล่านี้.
ทุนอันแรก คือ เงินและแรง การใช้จ่ายเนื่องกับสวนโมกข์นั้น ปรากฏอยู่แล้วตามบัญชีในแถลงการณ์ของคณะธรรมทาน ว่ามีจำนวนเท่าใด ทั้งหมดนั้นส่วนมากใช้ในการตกแต่งสถานที่ การล้อมด้วยลวดหนาม การทำที่พักอาศัย และใช้เป็นค่าหยูกยาในคราวเจ็บไข้ ตลอดจนค่าเดินทางไปมาซึ่งมีอยู่บ่อย ๆ บางปีก็มาก บางปีก็น้อย และนับตั้งแต่แรกเริ่มมา เมื่อพิจารณาดูแล้ว อาจจะพบความจริงได้อย่างหนึ่งว่า การจัดสถานที่แบบนี้ ไม่เป็นการหมดเปลืองมากมายอย่างใดเลย เมื่อคำนึงถึงผลแล้ว รู้สึกว่าได้ผลเกินค่า หากแต่ว่าผลนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวมีตนแสดงอยู่ปรากฏชัดเหมือนการบริจาคสร้างโบสถ์ สร้างวัด สร้างโรงเรียน เป็นต้น จึงดูเป็นไม่ชวนให้ทำ การเสียสละเพียงเท่านี้ในประเทศไทยเรา มีคนอาจจะสละได้เป็นจำนวนหลายหมื่นคน หากแต่ว่ากิจการอันนี้ ยังไม่เป็นที่เข้าใจดีสาหรับผู้พร้อมที่จะเสียสละเหล่านั้นเท่านั้น.
ทุนอันที่สอง คือ กำลังน้ำใจ พวกเราได้กำลังน้ำใจกันมาจากไหน ท่านอาจทราบได้แล้วจากข้อความที่เขียนมาข้างต้นๆ ทุนอันนี้ สำคัญยิ่งไปกว่าเงินหรือแรง เพราะถ้าไม่มีกำลังใจมุ่งหวังอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแรงกล้า และได้รับการสนับสนุนจากมิตรสหาย และเหตุการณ์บางอย่างอยู่เสมอแล้ว ก็ชวนให้เบื่อหน่าย ฉะนั้นการที่มีผู้อ่านหนังสือเพื่อหาความรู้หรือเพื่อทราบข่าวกิจการของเราก็ตาม เป็นการให้กำลังน้ำใจอย่างดีของเราอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเราขอขอบคุณโดยทั่วกัน.
ทุนอันที่สามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ได้แก่ ผู้กล้ารับภาระจัดการเป็นตัวยืนโรง ถ้าไม่มีใครทำหรือใครช่วย ก็ยินดีที่จะทำไปคนเดียวเรื่อย ๆ ไม่ยอมเลิกล้ม ได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญในข้อที่ว่า คนที่คอยให้ทุน หรือกำลังใจนั้น มิใช่ได้มาทำด้วยได้ ต่อเมื่อทุนมีครบพร้อมทั้งสามประการดังกล่าวมา กิจการก็ก่อรูปและดำเนินไปได้ สำหรับงานประเภทนี้ ซึ่งเราอาจกล่าวได้เต็มปากว่า ไม่เป็นงานที่ชวนให้ทำตามธรรมชาติ เหมือนงานที่ได้รับค่าจ้างรางวัลตรง ๆ เสียเลย ฉันขอแสดงความหวังเป็นอย่างมากว่า เพื่อนพุทธบริษัทผู้ใดที่ตั้งใจจะจัดงานตามแบบนี้ขึ้น ควรจะรวมทุนทั้งสามประการนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน การกุศลชนิดที่ไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือนนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่เป็นของท่าน แต่เป็นของชาติและศาสนา จึงจะดำเนินไปได้ ไม่มากกน้อย.
ในที่สุด ขอสรุปการเล่าอันยืดยาวของฉันด้วยถ้อยคำสั้น ๆว่า พวกเรากำลังได้รับความพอใจในงานที่ทำ มีความกล้าหาญรื่นเริง เป็นสุขสบายดีอยู่ทั่วกันทุกคน และตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราเรื่อย ๆ ไปไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างใด.
พุทธทาสภิกขุ
๒๗ ต.ค. ๘๖
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา เมื่อปี ๒๔๘๖ นั้น และได้มีการพิมพ์ใหม่อีกอย่างน้อย ๔ ครั้ง และชื่อบทความ ไม่สู้จะตรงกันนัก เมื่อจะตีพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ได้ไปเรียนปรึกษาท่านผู้เขียน ท่านพอใจจะให้ชื่อว่า “สิบปีในสวนโมกข์” ดังที่ปรากฏอยู่นี้ ส่วนเนื้อเรื่องภายในคงไว้ตามเดิมทุกประการ
ท่านอาจารย์พุทธทาส : คนไข้ที่ผมได้รู้จัก
โดย น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน
เพื่อถวายเป็นอาจริยบูชาแด่ ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ
ในโอกาสฌาปนกิจศพแห่งองค์ท่าน
คำนำ
คุณหมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล เป็นแพทย์หนุ่มที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลส่งไปถวายการรักษาท่านอาจารย์พุทธทาส ที่สวนโมกขพลาราม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ เมื่อคราวท่านอาพาธด้วยโรคหัวใจล้มเหลวมีอาการหอบเหนื่อย หมอนิธิพัฒน์เป็นอาจารย์ในสาขาวิชาที่ว่าด้วยโรคทางปอดในช่วงแรกที่ท่านอาพาธยังไม่ทราบแน่ว่าท่านเป็นโรคทางปอดหรือทางหัวใจ เมื่อท่านอาจารย์สบายดีแล้วเขาก็ยังเดินทางลงไปเยี่ยมท่านอาจารย์ทุกเดือน ฉะนั้นต่อมาเมื่อท่านอาจารย์อาพาธด้วยเรื่องอื่นอันไม่ใช่โรคปอด หมอนิธิพัฒน์ก็ยังติดตามถวายการรักษาโดยใกล้ชิด จวบจนปัจฉิมอาพาธและได้อยู่ด้วยขณะที่ท่านอาจารย์สิ้นใจ
ผมได้สังเกตเห็นว่า คุณหมอนิธิพัฒน์เป็นผู้ที่มีความจริงใจ สุภาพ และนอบน้อมถ่อมตัว ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือมีลักษณะหลอกลวงด้วยความเห็นแก่ตัวแต่ประการใดๆ ในการเขียนบันทึกเรื่องนี้ก็มิได้ทำด้วยความอยากดัง แต่ถูกเร่งเร้าโดยคุณอรศรี งามวิทยาพงศ์ อาจจะโดยคนอื่นอีกบ้างที่ใกล้ชิดกับสวนโมกข์ บันทึกเรื่องนี้มีประโยชน์ ๓ อย่างคือ หนึ่ง ทำให้ทราบรายละเอียดของการอาพาธของท่านอาจารย์พุทธทาสจากแพทย์ผู้ถวายการรักษาใกล้ชิด และถ้าใครอ่านให้ละเอียดจากหลายแห่งก็จะปะติดปะต่อให้เห็นอะไรต่ออะไรหลายอย่างในทางการแพทย์ สอง การปรารภธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสที่หมอได้ยินด้วยตัวเอง สาม การเปลี่ยนแปลงภายใน (internalization) ของแพทย์คนหนึ่ง
คุณหมอนิธิพัฒน์เริ่มต้นจากการที่ไม่รู้จักท่านอาจารย์เลยและเห็นว่าเป็นคนไข้ที่แปลกกว่าคนอื่นๆ ที่เคยรักษามาทั้งหมดต่อมาได้สนใจและเรียนรู้ธรรมะจากท่านทั้งทางตรงและทางอ้อมจนกระทั่งยอมรับว่า ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการตายของมนุษย์ในทรรศนะที่ไม่เคยมีการเรียนการสอนกันเลยในระบบการผลิตแพทย์แผนปัจจุบัน
นี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งนัก
การที่คนๆ หนึ่งได้เรียนรู้มีความสำคัญยิ่งนัก
จะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจน การที่พระพุทธองค์ได้เรียนรู้มีความสำคัญยิ่งนัก การที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เรียนรู้มีความสำคัญยิ่งนัก การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้เรียนรู้มีความสำคัญยิ่งนัก
เพราะมนุษย์เรียนรู้ได้ยาก โดยเฉพาะคนที่มีความรู้
การมีความรู้กับการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน
การที่โลกลำบากอยู่ทุกวันนี้เพราะคนมีความรู้ไม่เรียนรู้
ที่เรียกว่า ความรู้นั้นที่จริงเป็น “ศาสตร์” หรือศาสตรา คืออาวุธหรือเทคนิควิธีเท่านั้น ในความเป็นจริงมีมนุษย์ ซึ่งมีทั้งกายและใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงกันสลับซับซ้อนและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ความจริงหรือความเป็นจริงอันเกี่ยวกับมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความจำเพาะในกาละสถาน (space-time) จึงกล่าวได้ว่าจะไม่เหมือนกันเลย ณ จุดใดจุดหนึ่งของกาลเวลาหรือสถานที่ มนุษย์ต้องสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาจึงจะรู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงจึงทำได้ถูกต้อง ฉะนั้นที่เรียกว่ามีความรู้แต่ไม่เรียนรู้ จึงห่างไกลความจริงยิ่งนัก เมื่อห่างไกลจากความจริงก็ห่างไกลจากความถูกต้อง และห่างไกลจากความดี
การที่จะเรียนรู้ได้ต้องลดละอหังการ ถ้าอหังการสูงก็เรียนรู้ไม่ได้ เหมือนที่ว่า “น้ำชาล้นถ้วย” มันเติมอีกไม่ได้แล้ว ถ้ายกหูชูหางว่าฉันรู้แล้วๆ ฉันเก่งแล้วๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเป็นบุคคลเรียนรู้ นี่แหละเคล็ดลับของการมีศักยภาพ ท่านเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างทุกขณะ ความเจ็บไข้แต่ละครั้งท่านกล่าวว่าทำให้ท่านฉลาดขึ้น รอบๆ กุฏิท่านมีสุนัข มีไก่ มีปลา ท่านว่าสัตว์เหล่านี้มันเป็นครูท่านทั้งสิ้น ท่านได้เรียนรู้จากสัตว์เหล่านี้
แล้วทำไมหมอจะเรียนรู้จากคนไข้แต่ละคนไม่ได้
ถ้าหมอสามารถเรียนรู้จากคนไข้แต่ละคนได้ โลกจะเปลี่ยนไป เพราะหมอเป็นผู้มีอิทธิพลต่อสังคมมาก
การเรียนรู้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ หวังว่าหนังสือเล่มเล็กๆ โดยหมอเล็ก ๆ คนหนึ่ง จะสื่อเรื่องใหญ่แก่หมอและแก่บุคคลทั่วไป เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเองและต่อโลก
(ประเวศ วะสี)
คำนำบรรณาธิการ
เรื่องราวเกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น ได้มีผู้เขียนถึงไว้เป็นจำนวนมากในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งในรูปของหนังสือ บทความ สารคดี บทรายงาน ฯลฯ โดยที่แต่ละมุมมองของเรื่องราวที่เขียนนั้น ได้ช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักท่านอาจารย์พุทธทาสมากขึ้น ว่าท่านเป็นนักปฏิรูปการพระศาสนา เป็นนักคิด นักเผยแผ่ธรรม ฯลฯ ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยอย่างไร แต่ในบรรดางานเขียนที่ผ่านมานั้น ดูว่าจะยังไม่เคยมีการเขียนถึงท่านอาจารย์ในฐานะของ “คนไข้” เลย ทั้งๆ ที่มุมมองดังกล่าวสามารถจะสะท้อนความเป็น “พุทธทาสภิกขุ” ได้ดีอย่างยิ่ง เพราะในยามที่ท่านอาจารย์ต้องเผชิญกับความเจ็บไข้อันรุนแรง หรือแม้ในยามที่ชีวิตหมิ่นเหม่กับความตายนั้น ท่านก็ยังคงความเป็น “พุทธทาส” ผู้ก้าวเดินตามรอยบาทแห่งพระบรมศาสดาอย่างหนักแน่นมั่นคง โดยไม่มีสิ่งใด ๆ ที่จะมาขัดขวางการเป็นผู้ปฏิบัติธรรมในทุก ๆ ขณะจิตของท่านได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บไข้หรือความตาย อันเป็นทุกข์ที่แสนสาหัสของมนุษย์โดยทั่วไปก็ตาม
“ท่านอาจารย์พุทธทาส : คนไข้ที่ผมได้รู้จัก” เป็นบันทึกสั้นๆ ของแพทย์รุ่นใหม่ท่านหนึ่งคือ น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หนึ่งในคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาอาการอาพาธ ตั้งแต่ครั้งอาพาธหนักในปี ๒๕๓๔ จนกระทั่งถึงปัจฉิมอาพาธและการมรณภาพของท่านอาจารย์เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เล่าถึงสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์พุทธทาสในขณะที่มาถวายการรักษาท่าน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนัก แต่ประสบการณ์ดังกล่าวก็มีคุณค่าในเชิงความคิดแก่ผู้บันทึกเรื่องราวเอง และมีประเด็นที่น่าสนใจใคร่ครวญไม่น้อยแก่บุคคลทั่วไปด้วย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองจึงได้จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แก่ผู้อ่านทั่วไป
อันที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญแต่ในขั้นตอนของการจัดทำให้สำเร็จนั้น เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด กล่าวคือ เริ่มจากความบังเอิญที่บรรณาธิการได้สนทนากับ น.พ.นิธิพัฒน์ ถึงการเรียนรู้ที่ได้รับจากการถวายการรักษาอาการอาพาธท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วเห็นว่าสิ่งที่ได้รับฟังนั้นมีสาระประโยชน์ควรแก่การเผยแพร่ จึงได้ชักชวนให้ น.พ.นิธิพัฒน์ ถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวออกมาเป็นตัวหนังสือ ในตอนแรกนั้นดูว่าเจ้าของเรื่องจะลังเลใจอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ถนัดกับงานเขียนแบบนี้นักแต่เมื่อให้เหตุผลว่า หนังสือเล่มนี้จะจัดพิมพ์เพื่อถวายเป็นอาจริยบูชาแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส และจะมีการพิมพ์แจกเป็นธรรมทานด้วยเมื่อมีการฌาปนกิจศพของท่านอาจารย์ เมื่อให้เหตุผลดังกล่าวแล้ว ก็ดูจะมิต้องคะยั้นคะยออะไรกันอีกเลย เพราะผู้เขียนได้เริ่มบันทึกเรื่องราวด้วยความตั้งอกตั้งใจแม้ว่าจวนเจียนกับเวลาที่ตนเองจะต้องไปศึกษาต่อและทำวิจัยในต่างประเทศมากขึ้นทุกที และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็ยังให้เวลาแก่บรรณาธิการในการสนทนาเพื่อเรียบเรียงต้นฉบับรวมทั้งตรวจทานความถูกต้องในเนื้อหาอยู่อีก ๒ รอบ ก่อนหน้าการเดินทางไปต่างประเทศเพียง ๓-๔ วันเท่านั้น
ในส่วนของผู้จัดพิมพ์นั้น มูลนิธิโกมลคีมทองเห็นว่า หนังสือเล่มนี้แม้จะมีเนื้อหาไม่ยาวนัก แต่ก็มีสาระในแง่มุมใหม่เกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาส ช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นถึงแบบอย่างแห่งความเป็นนักคิดที่ไม่เคยแยกออกจากการเป็นนักปฏิบัติในทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่าสภาวะจะบีบเค้นให้เกิดความทุกข์เข็ญเพียงใดก็ตาม นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีสถานภาพเป็นอาจารย์แพทย์ในสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ซั้นแนวหน้าของประเทศ แต่ก็ยังมีความอ่อนน้อม สนใจการเรียนรู้สิ่งที่ตนเองพบ แม้ว่าสิ่งนั้นจะตรงข้ามกับทัศนะเดิมของตนเอง ท่าทีแห่งการเรียนรู้นี้ย่อมเป็นสิ่งที่ควรเผยแพร่และส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสังคมของเราให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อหว่านเพาะวัฒนธรรมแห่งปัญญาให้งอกงามขึ้นมา ตามปฏิปทาที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ดำเนินมาตลอดชีวิตแห่งท่าน
ด้วยความตั้งใจและประสานใจร่วมกันของคณะผู้จัดทำและของมูลนิธิโกมลคีมทองดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงสำเร็จลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว แรงบันดาลใจที่สำคัญคือ ความตั้งใจที่จะถวายหนังสือเล่มน้อยนี้เป็นอาจริยบูชาแด่ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ เพื่อแสดงความรู้สึกซึ่งเปี่ยมด้วยความเคารพบูชาอันสูงสุด พร้อมด้วยความสำนึกในคุณูปการ อันหาที่สุดมิได้ของท่านอาจารย์ และด้วยจิตอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัติบูชาโดยการเผยแผ่ธรรมะตามปณิธานของท่านอาจารย์อย่างต่อเนื่องตามกำลังสติปัญญาของแต่ละคนต่อไป
แม้ว่าวันหนึ่งรูปธรรมขององค์ท่านอาจารย์พุทธทาสจะคงไว้แต่เพียงอัฐิและเถ้า แต่ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของผู้อยู่หลังเราเชื่อว่า “พุทธทาสธรรม” จะดำรงอยู่โดยไม่รู้จักตาย เพื่อช่วยดับทุกข์ให้แก่ชนร่วมสมัยและอนุชนรุ่นหลังสืบไปอีกนานเท่านาน
อรศรี งามวิทยาพงศ์
กันยายน ๒๕๓๖
บทนำ
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปีของการเป็นแพทย์ในระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ผมได้พบประสบกับคนไข้จำนวนมากในหลายๆ รูปแบบ ที่ทำให้ผมเกิดการเรียนรู้มากขึ้นตามลำดับ
แต่คงจะไม่มีช่วงเวลาใดเปรียบเทียบได้กับระยะเวลา ๒๐ เดือน ที่ผมได้มีโอกาสถวายการรักษาอาการอาพาธของท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน
ผมเริ่มต้นความสัมพันธ์กับท่าน ในฐานะแพทย์กับคนไข้ตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา แล้วจึงคลี่คลายมาตามลำดับ จากการได้เรียนรู้ทัศนะอีกแบบหนึ่งของท่าน ในเรื่องของความเจ็บป่วยและการตายของมนุษย์ซึ่งผมอาจจะเคยได้รับทราบมาบ้าง แต่ก็อย่างผิวเผินเต็มที เพราะเป็นทัศนะที่ยังไม่เคยมีการเรียนการสอนกันมาก่อนในระบบการผลิตแพทย์แผนปัจจุบัน ในท้ายสุด ความสัมพันธ์ตามหน้าที่ จึงได้ก่อรูปเป็นความผูกพันพิเศษ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับผมมาก่อน
ผมอยากจะบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความเคารพและระลึกถึงท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ผู้เป็นที่มาแห่งการเรียนรู้เหล่านี้และเพื่อประโยชน์ที่อาจจะมีกับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย........
นิธิพัฒน์ เจียรกุล
๑ ราชการด่วนกับ "ผู้ป่วยพิเศษ" พุทธทาสภิกขุ และ สวนโมกข์
ผมเคยรู้จัก ๒ คำนี้มาก่อน จากข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุ-โทรทัศน์ และจากหนังสือธรรมะ ๒-๓ เล่ม ของ “พุทธทาสภิกขุ” ซึ่งผมเคยซื้ออ่านในสมัยเรียนหนังสือและเมื่อเริ่มทำงาน เพราะความสนใจใคร่รู้ในความคิดของบุคคล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักคิด” คนสำคัญ ผมจำได้ว่าอ่านหนังลือของท่านเข้าใจไม่มากนัก แม้จะมีบางประเด็นที่เข้าใจและเห็นด้วยกับความคิดของท่าน แต่ก็เป็นความเข้าใจแบบผิวเผิน ที่ไม่นานนักก็ลืมและผ่านเลยไป
ผมกลับมารู้จักและสัมผัสกับ “พุทธทาสภิกขุ” อีกครั้ง คราวนี้อย่างใกล้ชิด แต่มิใช่ในฐานะของผู้อ่านหนังลือธรรมะ หากในฐานะของแพทย์ผู้ถวายการรักษาอาการอาพาธของท่าน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๔ จนกระทั่งถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖
บ่าย ๓ โมงของวันจันทร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๔ ขณะที่ผมกำลังตรวจเยี่ยมคนไข้ตามปกตินั้น ก็มีโทรศัพท์จากอาจารย์ประพาฬ ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์มาถึงผม ท่านถามว่า
“นิธิพัฒน์ คุณว่างไหม มีราชการด่วนให้ทำ”
ผมรู้สึกงงๆ เพราะย้ายมาอยู่ศิริราชครึ่งปีแล้ว ยังไม่เคยปรากฏว่ามีราชการด่วนอะไรเลย ท่านบอกว่าเป็นราชการในพระองค์ ที่วัดสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับแจ้งว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสอาพาธตั้งแต่ ๓ วันที่แล้ว แพทย์จากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งตรวจอาการเบื้องต้น วินิจฉัยว่า ท่านมีภาวะปอดอักเสบและมีอาการทรุดลงมาก ศ.น.พ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี คณบดี (ในขณะนั้น) จึงมีคำสั่งให้ผมลงไปรับท่านอาจารย์พุทธทาสขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อเข้ารับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช
ความเข้าใจตอนแรกของผมกับภารกิจคราวนี้คือ ลงไปรับท่านอาจารย์ขึ้นกรงเทพฯ และคอยถวายการดูแลในระหว่างการเดินทาง จึงไม่ได้รู้สึกหนักใจหรือคาดเดาไปได้ว่า ตนเองกำลังจะไปพบกับ “ผู้ป่วยพิเศษ” รายหนึ่ง ดังนั้นเมื่อได้รับคำลั่งทางโทรศัพท์แล้ว ผมจึงไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลอะไร พอมาพบอาจารย์ประพาฬแล้ว ก็กลับที่พักซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับศิริราช เพื่อจัดกระเป๋าเตรียมเดินทางโดยเที่ยวบินกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ฯ เวลา ๑๘.๕๐ น. ในเย็นนั้นเลย ที่จริงผมคิดจะเตรียมเสื้อผ้าไปเพียงชุดเดียว เพราะคิดว่าการรับท่านมารักษาที่กรุงเทพฯ คงจะไม่มีปัญหาอะไรมาก คือไปถึงสวนโมกข์คืนนั้น วันรุ่งขึ้นก็คงพาท่านมากรุงเทพฯ ได้เลย แต่แวบหนึ่งที่ผมเกิดความเฉลียวใจขึ้นมาว่า บางทีเรื่องอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้นก็ได้? เพราะท่านอาจารย์พุทธทาสเท่าที่ผมทราบข่าวคราวจากสื่อมวลชนนั้น ยังไม่เคยเจอข่าวว่าท่านเข้า ๆ ออกๆ โรงพยาบาลเลย ทั้ง ๆ ที่ผู้สูงวัยขนาด ๘๕ ปีอย่างท่านนั้น ควรจะต้องมีการเจ็บป่วยบ้างไม่มากก็น้อย รวมทั้งพอจะทราบมาก่อนว่า ท่านนั้นเป็นบุคคลสันโดษ และเป็นผู้ที่มีทัศนะไม่พึ่งพาเทคโนโลยีมากมายเหมือนคนในยุคปัจจุบัน ความเฉลียวใจแวบนั้น ทำให้ผมจัดเสื้อผ้าไปเผื่ออีก ๒-๓ วัน ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ความเฉลียวใจของผมก็ถูกต้องทีเดียว
เมื่อเก็บเสื้อผ้าเสร็จ ผมกลับมาที่ศิริราชอีกครั้ง เพื่อปรึกษาหารือกับอาจารย์แพทย์ในสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ร่วมกันวางแผนถวายการรักษาในกรณีต่างๆ เช่น ถ้าท่านมีภาวะปอดอักเสบจริง จะถวายการรักษาขั้นต้นด้วยอะไรบ้าง จะดูแลท่านในระหว่างการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อย่างไร ฯลฯ เสร็จแล้วก็ช่วยกันเตรียมเวชภัณฑ์และเครื่องมือต่างๆ ที่คิดว่าจำเป็น เช่น เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบที่สามารถจะหิ้วติดมือขึ้นเครื่องบินไปได้ เมื่อเตรียมการเสร็จ อาจารย์ประพาฬก็พาผมไปพบท่านคณบดี อาจารย์ประดิษฐ์ สรุปอาการอาพาธตามที่ท่านได้รับแจ้งให้ผมทราบอีกครั้ง รวมถึงภารกิจที่สำคัญของผม คือให้พยายามนิมนต์ท่านอาจารย์พุทธทาส หรือติดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับท่าน เพื่อขอให้ท่านอาจารย์เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช โดยทางคณะฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรื่องการเดินทาง เมื่อรับมอบหน้าที่แล้ว ท่านก็มาส่งที่รถ พร้อมกำชับอีกครั้งว่า ให้ผมพยายามปฏิบัติภารกิจอย่างสุดความสามารถและให้ประสบผลสำเร็จ ผมเดินทางพร้อมกับอาจารย์ประดิษฐ์ ปัญจะวีณิน อายุรแพทย์โรคหัวใจ เนื่องจากท่านอาจารย์เคยมีปัญหาด้านโรคหัวใจมาก่อน ทางคณะฯ จึงจัดให้แพทย์โรคหัวใจร่วมเดินทางไปด้วย
ในระหว่างการเดินทางผมกับอาจารย์ประดิษฐ์ ก็นั่งปรึกษาถึงแนวทางในการถวายการรักษา อาจารย์ประดิษฐ์ก็เช่นเดียวกันผม คือ รู้จัก “พุทธทาสภิกขุ” น้อยมาก เรานึกไม่ออกว่า ท่านอยู่อย่างไร ฉันอย่างไร ผู้ที่ดูแลท่านเป็นใคร ฯลฯ แต่เท่าที่เรารู้ก็คือ ท่านเป็น “นักคิด” ที่สำคัญท่านหนึ่ง ดังนั้นจึงสรุปกันว่า ถ้าเราจะเสนอถวายการรักษาอะไร คงจะต้องใช้วิธีการของหลักเหตุผล ไม่ใช่ระบบการสั่งหรือให้การดึงดันแต่ความเห็นของแพทย์ฝ่ายเดียว
เมื่อถึงสนามบินสุราษฎร์ฯ น.พ.ประยูร คงวิเชียรวัฒนะ อดีตสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ใกล้ชิดท่านอาจารย์พุทธทาสมานาน เป็นผู้มารับเราที่สนามบินพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ผมกับอาจารย์ประดิษฐ์นั่งรถอาจารย์ประยูรเพื่อเดินทางไปสวนโมกข์ทันที ระหว่างทาง อาจารย์ประยูรเล่าสรุปอาการอาพาธของท่านอาจารย์ให้ฟัง จำได้ว่า เราฟังกันด้วยความตื่นเต้นเป็นระยะๆ แต่มิใช่กับข้อมูลการอาพาธ หากเป็นความหวาดเลียวกับเส้นทางวิ่งของรถซึ่งฝ่าความมืดไปข้างหน้า โดยมีรถ ๑๐ ล้อสวนทางมาตลอดด้วยความเร็วสูงบนถนนแคบ ๆ ๒ เลนนั้น เราจึงไม่พยายามซักถามอะไรมากนัก เพราะเกรงจะรบกวนสมาธิในการขับรถของอาจารย์ประยูร ข้อมูลเท่าที่ได้ คือท่านอาจารย์เริ่มไอและมีไข้ต่ำๆ เมื่อ ๓ วันก่อน ต่อมาอาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แพทย์จะได้ถวายยาปฏิชีวนะไปแล้วก็ตาม อาการหลังสุดคือ ท่านไอมีเสมหะปนเลือดและเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย
เมื่อรถเลี้ยวเข้าเขตวัดแล้ว ผมก็ยังไม่แน่ใจนักว่าใช่จุดหมายของเราหรือไม่ เนื่องจากบรรยากาศโดยรอบมืดครึ้มและเงียบสงัดผิดแผกไปจากวัดทั่ว ๆ ไปที่ผมเคยเห็น ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีไฟตามรั้วหรือที่ป้ายชื่อวัด แต่เมื่อถึงบริเวณกุฏิของท่านอาจารย์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่จอดรถนัก ผมก็แน่ใจว่าตนเองมาถึง “สวนโมกข์” แล้ว ขณะนั้นเป็นเวลา ๓ ทุ่ม บริเวณกุฏิที่พักของท่านอาจารย์เปิดไฟสว่าง มีพระและฆราวาสจำนวนหนึ่งกำลังรอเฝ้าอาการอาพาธอยู่ที่ด้านนอกของกุฏิ รวมไปถึงท่านอาจารย์โพธิ์ จันทสโร เจ้าอาวาส ผมและอาจารย์ประดิษฐ์ เข้าไปในกุฏิเพื่อตรวจอาการท่านทันที ห้องที่ท่านอาจารย์พักอยู่นั้น เป็นห้องเล็กๆ ขนาดพื้นที่ประมาณ ๙ ตารางเมตร มีเตียงเหมือนกับที่ใช้ในโรงพยาบาลตั้งอยู่ ๑ เตียง ปลายเตียงมีโถส้วม อ่างน้ำ และโต๊ะตัวเล็ก ๆ อีกตัวข้าง ๆ เตียง มีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือ และกองสมุดหนังสือ ๒-๓ กองตั้งอยู่ ท่านอาจารย์อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนบนเตียง โดยมีสายให้ออกซิเจนซึ่งเป็นสายยางเล็ก ๆ จ่อเข้าจมูกเพื่อช่วยการหายใจของท่าน แวบแรกที่ผมได้พบท่านอาจารย์โดยตรงเป็นครั้งแรกในชีวิตนั้น สังเกตจากภายนอกพบว่าทานหายใจหอบปานกลาง แต่ก็ไม่แสดงออกถึงอาการทุกข์ทรมานอย่างที่ผมเคยพบเห็นในผู้ป่วยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทางสีหน้าหรือท่าทาง ทั้ง ๆ ที่ดูจากภายนอก ผมก็พอจะประเมินจากประสบการณ์ที่พบเห็นผู้ป่วยแบบนี้มาพอสมควรได้แล้วว่า ท่านอาจารย์จะต้องอาพาธไม่น้อยทีเดียว
หลังจากที่กราบนมัสการท่านและแนะนำตนเองแล้ว เราก็เริ่มต้นซักประวัติการอาพาธโดยละเอียดอีกครั้ง ท่านอาจารย์เองก็พยายามที่จะตอบพวกเราโดยละเอียด ท่วงท่าของท่านในระหว่างนั้นดูสงบ แต่ก็ยังเห็นอยู่ว่ามีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน ต้องหยุดพักหายใจเป็นช่วง ๆ ไม่สามารถพูดตอบคำถามเราได้ติดต่อกันยาว ๆ เมื่อกราบเรียนถามเสร็จ เราก็เริ่มตรวจร่างกายท่านอย่างละเอียดโดยเฉพาะในระบบที่เกี่ยวข้องคือปอดและหัวใจ ผลของการตรวจนั้น ก็เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้คือท่านอาพาธหนัก สิ่งที่ที่ให้ผมแปลกใจ คือสีหน้าและท่าทางของท่านอาจารย์นั้นไม่ได้สัดส่วนกันกับอาการอาพาธที่เราตรวจพบ คือ ในผู้ป่วยธรรมดา โดยเฉพาะผู้มีอายุมากขนาดนี้ (๘๕ ปี) หากเจ็บป่วยขนาดที่เราตรวจพบในท่านอาจารย์ ผู้ป่วยจะต้องแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางว่าเจ็บป่วยอย่างชัดเจนกว่านี้ แต่ท่านอาจารย์นั้น เราสังเกตการอาพาธของท่านได้จากการหอบเหนื่อย น้ำเสียงที่อ่อนแรงและสีหน้าที่อิดโรย โดยที่ท่วงท่ายังดูสงบ ผมยังไม่เคยเห็นการแสดงออกของผู้ป่วยแบบนี้มาก่อน เพราะคนทั่วไปนั้น ความเจ็บป่วยเป็นความทุกข์ ความน่ารำคาญ และความน่าเบื่อที่สำคัญอย่างหนึ่ง ยิ่งเจ็บป่วยมากก็ยิ่งทุกข์มาก และแสดงให้เห็นมาก แต่ผู้ป่วยที่ผมตรวจรักษาอยู่คราวนี้ ดูจากอาการที่ท่านแสดงออกแล้ว ผมรู้สึกว่าความเจ็บป่วยดูจะเป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญ ไม่ใช่เรื่องทุกข์เรื่องร้อนอะไรเลย
นี่คือความแปลกที่ผมยังไม่เคยพบมาก่อน ในตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าตนเองจะได้พบกับทัศนะแปลกๆ ที่ยิ่งไปกว่านี้อีก ในขั้นตอนต่อ ๆ ไปของการถวายการรักษาคราวนั้น
เมื่อตรวจร่างกายท่านอาจารย์เสร็จแล้ว ผมและอาจารย์ประดิษฐ์ รวมทั้งน.พ.ทรงศักดิ์ เลรีโรดม อายุรแพทย์ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพของท่านอาจารย์มาหลายปี ก็ได้ร่วมกันประมวลข้อมูลทั้งหมดทั้งจากที่กราบเรียนถาม การตรวจร่างกาย และจากบันทึกสุขภาพของท่านอาจารย์ ซึ่งพระอุปัฏฐากและแพทย์ได้บันทึกไว้เป็นลำดับ เราได้ข้อสรุปว่า
๑.การที่พื้นฐานของท่านอาจารย์มีภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน ประกอบกับภาวะสูงอายุและรูปร่างที่อ้วน ทำไมมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
๒. ช่วงที่ผ่านมาก่อนการอาพาธ ๒-๓ วัน ท่านอาจารย์มีภารกิจแสดงธรรม จนกระทั่งทำให้ร่างกายได้พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่วมกับมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ส่งเสริมให้เกิดภาวะหัวใจวายได้มากขึ้นอีก
ดังนั้น ท่านอาจารย์จึงอาพาธด้วยโรคหัวใจวาย มิใช่ด้วยโรคเกี่ยวกับปอดตามที่เข้าใจกันในตอนแรก อาจารย์ประดิษฐ์จึงรับหน้าที่กราบเรียนให้ท่านทราบถึงข้อสรุปทั้ง๒ ข้อ โดยกราบเรียนอย่างเชื่อมโยงให้ท่านเห็น และเข้าใจถึงสาเหตุที่มาของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย จนเป็นเหตุให้ท่านอาจถึงแก่ชีวิตได้ในช่วงเวลาสั้นๆ พร้อมกับเสนอว่าเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้ เราจึงขอนิมนต์ท่านอาจารย์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมีอุปกรณ์การรักษาที่พรักพร้อม เมื่ออาจารย์ประดิษฐ์กราบเรียนเสร็จ ท่านอาจารย์ก็ตอบกลับอย่างนุ่มนวลว่า ท่านอยากให้ทำการรักษาอยู่ที่วัดจะเหมาะลมกว่า
ความเข้าใจของผมในตอนแรกจากคำตอบปฏิเสธของท่านนี้ คือนึกไปว่า ท่านต้องการจะให้พวกเราขนอุปกรณ์การรักษาของโรงพยาบาล และบุคลากรอย่างครบครันมาที่วัด เพราะท่านต้องการจะรักษาอยู่ที่สวนโมกข์ เมื่อผมนึกถึงความยุ่งยากของการขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ และการที่บุคลากรแพทย์ พยาบาล และช่างเทคนิคจะต้องแห่กันมาที่สวนโมกข์แล้ว ผมก็อดนึกในใจไม่ได้ว่า
“ทำไมการเข้าโรงพยาบาลมันยากเย็นอะไรนักหรือ?”
เพราะการที่ท่านยอมไปโรงพยาบาลนั้น ย่อมง่ายกว่าการที่จะต้องยกโรงพยาบาลมาหาท่านเป็นไหนๆ ท่านนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วก็พูดขยายความต่อ ซึ่งทำให้ผมรู้ว่าตนเองเข้าใจผิดไปไกลโข และในทิศทางตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ด้วย เพราะท่านบอกว่า
“อาตมาอยากให้การอาพาธและการดูแลรักษานั้นเป็นไปแบบธรรมซาติ ธรรมดาๆ เหมือนกับการอาพาธของพระสงฆ์ทั่วไปในสมัยพุทธกาล” และ
“ขอใช้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล”
นั่นคือ ท่านอาจารย์มิได้ต้องการจะให้ถวายการรักษาด้วยการใช้เครื่องมืออันทันสมัยมากมายอย่างที่เรากราบเรียนท่าน ว่ามีเพียบพร้อมในโรงพยาบาล หากต้องการรับการรักษาเท่าที่แพทย์จะทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดของสถานที่ซึ่งมิใช่โรงพยาบาล ได้เท่าไร เอาเท่านั้น ท่านมิได้เรียกร้องแนวทางหรือรูปแบบการรักษาแต่ประการใด เมื่อเข้าใจความประสงค์ของท่านแล้ว ผมก็รู้สึกหนักใจขึ้นมาทันที อาจจะยิ่งกว่าการให้ย้ายโรงพยาบาลมาหาท่านเสียอีก เพราะเจตนารมณ์ของท่านดังนี้ เท่ากับปฏิเสธการไปรับการรักษาที่กรุงเทพฯ ตามภารกิจที่ผมได้รับมอบหมายมา
แต่นั่นก็ยังไม่น่าหนักใจเท่ากับการที่เราจะต้องรักษาผู้ป่วยซึ่งมีอาการหนัก และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง แต่กลับต้องการรับการรักษาภายนอกโรงพยาบาล เพราะเราเป็นแพทย์ซึ่งศึกษามาในระบบการแพทย์ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์มากมาย ที่จะช่วยบ่งชี้ให้เรารู้ถึงสภาพอาการและวิธีการรักษาคนไข้ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต
ความต้องการของท่านอาจารย์จึงทำให้ผมรู้ลึกหนักใจมาก ในใจก็คิดว่า ปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยคราวนี้ สำหรับผมเอง อย่างดีที่สุดก็คือเสมอตัว แต่ถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาดขึ้น ก็มีแต่จะขาดทุนสถานเดียวเท่านั้น หมายถึงโอกาสที่ผู้ป่วยจะหายดีขึ้นนั้นมีน้อย แต่โอกาสที่อาการจะทรุดจนเสียชีวิตมีสูงกว่ามาก ดังนั้น สำหรับภารกิจคราวนี้แล้ว ผมจึงหวังเพียงแค่ว่า จะสามารถพยุงอาการของท่านให้ทรงไว้ อย่าให้ถึงแก่มรณภาพในช่วงที่เราถวายการรักษา ถ้าทำได้ ก็นับว่าผมโชคดีมากแล้ว และถ้าสารภาพกันอย่างเปิดใจแล้ว ความรู้ลึกของผมในตอนนั้นคือกลัวว่าท่านอาจารย์จะมรณภาพในขณะที่ท่านอยู่ในการดูแลถวายการรักษาของผม มันคงเป็นความรู้สึกอันเนื่องกับชื่อเสียงและหน้าตาของผมเอง ไม่ใช่เรื่องของความผูกพันหรือห่วงใยในผู้ป่วยซึ่งเพิ่งพบกันครั้งแรก เพราะผมพอจะทราบว่าอาการอาพาธของท่านนั้น ถ้าเป็นข่าวออกไปเมื่อไรแล้วย่อมจะต้องเป็นที่สนใจของสังคมมิใช่น้อย พูดกันตรงๆ ก็คือผมกลัวเสียชื่อนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว ผมควรจะโกรธหรือไม่พอใจกับผู้ป่วย ที่ทำให้ผมต้องอยู่ในสถานการณ์ลำบากใจและหนักใจเช่นนี้ แต่เวลานั้น ผมรู้ลึกว่าตนเองไม่ได้คิดอะไรไปในทำนองไม่พอใจทัศนะและท่าทีของท่านอาจารย์เลย แม้ผมจะคิดแบบแพทย์สมัยใหม่ ๆ ทั่วไปว่า ทัศนะของท่านอาจารย์นั้นเป็นการฝืนโลก หรือหากจะว่ากันตรง ๆ ที่สุดเลยก็คือ “ดันทุรัง” เพราะแพทย์ย่อมรู้ลึกว่าตนเองเป็นผู้มาช่วย เป็นผู้ปรารถนาดี อยากจะทำให้คนเจ็บคลายและหายจากความเจ็บป่วย ผู้ป่วยจึงควรที่จะยินดีและให้ความร่วมมือในการรักษาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ แต่ท่านอาจารย์กลับปฏิเสธ
ทว่าการปฏิเสธของท่านนั้น แตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่นๆ ทีผมเคยพบ คือในผู้ป่วยประเภทที่ไม่เต็มใจรักษา เช่นพวกที่อยากตาย แต่ญาติเป็นผู้นำมาพบแพทย์นั้น ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ และไม่ให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการตรวจและรักษาเลย แต่กรณีของท่านอาจารย์นั้น ท่านปฏิเสธด้วยท่าทีอันสงบและนุ่มนวล และมิได้มีท่าทีของการตั้งข้อเรียกร้อง หรือเชิงตั้งแง่ในลักษณะของการต่อต้านเป็นปฏิปักษ์กับแพทย์เลย ท่านยอมรับเหตุผล ยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ที่เรากราบเรียนเสนอและพยายามอธิบายให้ท่านเข้าใจ เพียงแต่ท่านไม่ยอมรับกระบวนการรักษาทั้งหมดที่เราเสนอให้ เพราะวิธีการนั้นขัดกับทัศนะและหลักการที่ท่านเชื่อถืออยู่ ซึ่งตรงนี้ผมรู้ลึกว่าเราจะต้องเคารพในสิทธิการตัดสินใจเลือกของท่าน เพราะท่านอาจารย์เลือกด้วยความเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแล้ว ผมจึงมิได้รู้ลึกโกรธและความรู้ลึกยังค่อนไปในทางแปลกใจมากกว่ากับทัศนะของ “ผู้ป่วยพิเศษ” ท่านนี้ และอีกด้านหนึ่งผมยังรู้ลึกว่า ตนเองได้เจอกรณีที่ท้าทายความสามารถทางการแพทย์ ว่าจะรักษาคนไข้ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือได้สำเร็จหรือไม่ ?
เมื่อรับทราบความประสงค์ของท่านอาจารย์แล้ว เราก็เริ่มถวายการรักษากันเท่าที่อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในเวลานั้นจะมีให้ มีการถวายยาทางหลอดเลือดดำโดยผ่านสายน้ำเกลือ และยารับประทานซึ่งถวายให้ท่านฉัน ผมลังเกตว่าในระหว่างที่เราถวายการรักษานั้น ท่านอาจารย์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มิได้แสดงอาการใด ๆ ที่จะทำให้แพทย์ต้องวิตกกังวลว่าท่านจะปฏิเสธสิ่งที่เราถวาย หมายความว่าท่านพร้อมจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง หากเราถวายการรักษาอยู่ที่สวนโมกข์ โดยไม่เกินเลยไปจากเจตจำนงของท่าน
คืนนั้นเราโทรศัพท์ขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อรายงานท่านคณบดีถึงผลการตรวจรักษาและเรียนให้ท่านทราบว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสต้องการที่จะรับการรักษาอยู่ที่สวนโมกข์ ท่านคณบดีรับทราบ แด่ก็ยังเสนอแนะว่า หากสามารถโน้มน้าวท่านได้ใหม่ ก็ให้พยายามนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่ศิริราชอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีและท่านอาจารย์จะได้พ้นขีดอันตรายโดยเร็ว
ตอนดึกคืนนั้น ศ.น.พ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งเป็นหลานชายของท่านอาจารย์ ได้นำคณะแพทย์และพยาบาล จากคณะแพทยศาสตร์สงขลานครินทร์ มาร่วมถวายการรักษาด้วย ในคืนนั้นอาการของท่านอาจารย์ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อถวายยาต่าง ๆ และเฝ้าดูอาการจนถึงประมาณตี ๓ ผมก็เข้านอน มีพยาบาลเวรและพระอุปัฏฐากคอยเฝ้าดูอาการ ทางวัดจัดให้ผมและอาจารย์ประดิษฐ์พักที่บ้านรับรอง ซึ่งมีคุณป้าอรัญและพี่คิ่นเป็นผู้คอยดูแลความสะดวกด้านการกินการอยู่ให้เป็นอย่างดี
๒ เจตนารมย์ที่แจ่มชัด
เช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันอังคารที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ อาการของท่านเริ่มทุเลาขึ้นตามลำดับ อาจารย์วิจารณ์ได้พยายามโน้มน้าวให้ท่านอาจารย์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกครั้ง แต่ท่านก็ยังคงปฏิเสธเช่นเดิม อาจารย์วิจารณ์จึงกราบเรียนท่านว่า ถ้าเช่นนั้นก็เสนอขอให้ท่านไปรับการเอกซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลไชยา โดยแพทย์ได้กราบเรียนให้ท่านทราบว่า การตรวจดังกล่าวจะช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เพื่อให้ทราบว่าภาวะหัวใจวายของท่านนั้น เป็นมากน้อยเพียงใด และเพื่อตรวจให้แน่ชัดว่า ท่านมีอาการปอดอักเสบ เหมือนอย่างที่เข้าใจกันในตอนแรกหรือไม่ เมื่อท่านรับทราบเหตุผลแล้ว ท่านอาจารย์ก็ยินยอม คณะแพทย์และพระอุปัฏฐากคือพระสิงห์ทอง เขมิโย และพระมณเฑียร มัณฑิโร ก็นำท่านเดินทางไปโรงพยาบาลไชยา ซึ่งอยู่ห่างจากสวนโมกข์ประมาณ ๘ กม. เช้าวันนั้นท่านสามารถเดินได้ช่วงสั้นๆ เพื่อไปขึ้นรถยนต์ซึ่งอาจารย์วิจารณ์นำมาจากสงขลา โดยที่ท่านไม่แสดงอาการหอบเหนื่อยให้เห็นมากนัก
หลังจากการฉายเอกซเรย์แล้ว คณะแพทย์ได้ร่วมกันพิจารณาภาพเอกซเรย์ทรวงอกของท่าน แล้วประเมินว่าภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นยังคงรุนแรงมาก จึงนำภาพเอกซเรย์ดังกล่าวถวายให้ท่านดู พร้อมกับอธิบายโน้มน้าวท่านอีกครั้งหนึ่งว่า ให้ท่านอาจารย์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย เพราะการอยู่รักษาที่วัดซึ่งขาดเครื่องมือทางการแพทย์นั้น เป็นการเลี่ยงต่อชีวิต
ผมคิดว่าอาจารย์ประดิษฐ์นั้นได้กราบเรียนสถานการณ์ของอาการอาพาธให้ท่านฟังโดยชัดเจนแล้ว ตั้งแต่เมื่อคืนวาน (และในเช้าวันนี้ด้วย) ว่าท่านอาจถึงแก่มรณภาพได้ในช่วงเวลาอันสั้นๆ อย่างชนิดปุบปับ หรืออย่างทันทีทันใดได้ตลอดเวลา ถ้าทำการรักษากันอยู่ที่วัด ถึงแม้โดยถ้อยคำ อาจารย์ประดิษฐ์จะมิได้ใช้คำว่า “มรณภาพ” โดยตรง แต่ผมมั่นใจว่าโดยสาระที่กราบเรียนท่านอาจารย์นั้น ท่านย่อมเข้าใจดีว่า ความตายเป็นสิ่งที่กำลังคุกคามและอยู่ใกล้ชิดท่านในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง
แต่ท่านอาจารย์รับฟังแล้วก็ยิ้มๆ หัวเราะ หึ หึ ไม่ว่าอะไร แล้วสักครู่ก็กล่าวปฏิเสธ พร้อมขอบคุณในความหวังดีของแพทย์ ในความคิดส่วนตัวของผมนั้น ผมคาดเดาอยู่แล้วว่า เราจะได้รับคำปฏิเสธเป็นครั้งที่ ๓ จากท่าน เพราะจากคำพูดและท่าทีของท่านเมื่อคืน ผมก็ได้ข้อสรุปกับตนเองแล้วว่าท่านอาจารย์จะไม่เปลี่ยนใจ เนื่องจากทัศนะและโดยเฉพาะท่าทีนั้นท่านแสดงออกโดยชัดเจนว่า ท่านไม่ยินดียินร้ายกับความเจ็บป่วยนั้น เรียกว่าจะรอดก็ได้หรือจะตายก็ได้ เพราะท่านอาจารย์มิได้มองความเจ็บป่วยและความตาย จากทัศนะเดียวกับที่ผมและเราๆ ทั่วไปเข้าใจกันเลย
ตอนสายของวันนั้น หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เดินทางมาสวนโมกข์เพื่อเยี่ยมอาการอาพาธ หลวงพ่อได้พยายามโน้มน้าวท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง โดยให้เหตุผลหลายๆ ประการ ตั้งแต่ความห่วงใยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของท่านประธานองคมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ตลอดจนความพร้อมของการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรับการรักษาแต่ท่านอาจารย์ก็คงรับฟังและหัวเราะหึ หึ ยิ้มๆ เช่นเดิมอีก
แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนก็ดูจะไม่สิ้นความพยายาม
เมื่อ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี เดินทางถึงสวนโมกข์ในช่วงบ่าย อาจารย์ประดิษฐ์และผมได้เล่าสรุปอาการและการถวายการรักษาที่ดำเนินการอยู่ รวมทั้งเล่าให้อาจารย์ฟังว่าท่านอาจารย์ต้องการจะรักษาอยู่ที่สวนโมกข์มากกว่าที่โรงพยาบาล
บ่ายนั้นมีการประชุมคณะแพทย์ทั้งหมด พระเถรานุเถระ พระอุปัฏฐากทุกรูปและฆราวาสผู้ใกล้ชิด เพื่อหารือถึงแนวทางในการถวายการรักษา เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ที่ประชุมก็มอบหมายให้อาจารย์ประเวศเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนรายละเอียดของการอาพาธ และแนวทางของการรักษาที่แพทย์เห็นว่าดีที่ลุดให้ท่านอาจารย์ได้รับทราบอีกครั้ง โดยอธิบายให้ท่านได้เห็นว่าการอาพาธครั้งนี้ หากได้รับการรักษาที่ดีพอแล้ว อาการก็อาจจะไม่รุนแรงจนนำไปสู่จุดสิ้นสุดของชีวิตตามปกติ และท่านอาจารย์จะสามารถมีชีวิตต่อไปได้อีกช่วงหนึ่ง เพื่อสานต่อภารกิจทางพุทธศาสนาที่ท่านคาดหวังไว้ได้โดยอาจารย์ประเวศกราบเรียนท่านว่า
“ปรึกษากันทั่วหมดแล้ว เขา (แพทย์) บอกโอกาสที่จะดีขึ้นนี่สูงมาก เรื่องทำให้หัวใจดีขึ้น แล้วก็อยู่ในสภาพที่จะทำงานต่อไปได้อีกหลายปี”
พร้อมกับกราบเรียนเสนอทางเลือกให้ท่านพิจารณา ๓ ทาง คือ
๑. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีอุปกรณ์และบุคลากรพร้อม
๒. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีซึ่งมีความพร้อมระดับหนึ่ง
๓. ทำการรักษาต่อที่วัด โดยจัดส่งแพทย์และบุคลากรอื่นๆ หมุนเวียนกันมาถวายการดูแล
ถ้าเป็นเมื่อวาน ผมซึ่งรับมอบภารกิจนี้มาจากกรุงเทพฯ คงมีความคิดว่าทางเลือกที่ ๑ น่าจะเป็นผลดี และสอดคล้องกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุด แต่มาวันนี้ หลังจากที่ได้รับทราบทัศนะของท่านอาจารย์ในเรื่องความเจ็บป่วยแล้ว ทั้งจากที่ท่านพูดเอง และจากการซักถามพระอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิด ซึ่งเล่าให้ฟังถึงทัศนะของท่านอาจารย์ในเรื่องการรักษา และการเข้าโรงพยาบาลในช่วงที่ผ่านๆ มาแล้ว ก็ทำให้ผมเอนเอียงไปด้านทางเลือกที่ ๓ มากขึ้น และเริ่มคิดว่าจะต้องพยายามนำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
อาจารย์ประเวศเสนอทางเลือกพร้อมกับแจกแจงประโยชน์และโทษของแต่ละทางเลือกให้ท่านอาจารย์รับทราบ พร้อมกับกราบเรียนว่า หากท่านอาจารย์เลือกการเข้าโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นที่ไหน คณะแพทย์ก็จะคอยดูแลมิให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เกินเลยในการรักษาจนผิดธรรมชาติไปมาก เช่น จะไม่มีการเจาะคอหรือใส่สายระโยงระยางต่าง ๆ แต่คำตอบที่ได้รับจากท่านนั้นก็ยังเป็นไปตามที่ผมคาด คือท่านก็ยังปฏิเสธอย่างนิ่มนวลเช่นเคย คราวนี้ด้วยการหัวเราะหึ หึ และพูดคำว่า
“ขอร้อง ขอร้อง ขอร้อง”
นอกจากนี้ยังมีขอความสนทนาอีกหลายตอน ระหว่างท่านอาจารย์กับอาจารย์ประเวศ ซึ่งผมบันทึกไว้ด้วยความรู้ลึกสนใจว่า มีนัยที่ชวนให้ครุ่นคิดต่อไปได้อีกหลายประเด็น เช่น
“การรักษาตัวเองโดยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เหมาะสม อาตมาถือหลักนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ให้ธรรมชาติรักษา ให้ธรรมะรักษา ส่วนคุณหมอก็ช่วยผดุงชีวิตให้มันโมเมๆ ไปได้ อย่าให้ตายเสียก่อน ขอให้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล แล้วธรรมชาติก็จะรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้เอง ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น ไม่ควรจะมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า ธรรมชาติจะเป็นผู้รักษา ทางการแพทย์หยูกยาต่าง ๆ ช่วยเพียงอย่าเพิ่งตาย”
และ
“การเรียนรู้ชีวิตใกล้ตาย ทำให้มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้นเราจะศึกษาความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ให้มันชัดเจน ไม่สบายทุกที ก็ฉลาดขึ้นทุกทีเหมือนกัน”
เมื่อท่านอาจารย์ยังคงยืนยันเจตนารมณ์ของท่านซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๕ ก็ดูเหมือนว่า ทุกคนจะเข้าใจโดยชัดแจ้งในความประสงค์ของท่าน ดังนั้นแผนการถวายการรักษาเฉพาะหน้าที่สวนโมกข์ จึงถูกกำหนดขึ้นตามเจตนารมณ์ของท่าน มีการนำเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น และเคลื่อนย้ายได้สะดวกมาเพิ่ม เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ฯลฯ
นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมที่ต้องรักษาผู้ป่วยซึ่งมีอาการหนักขนาดนี้ โดยที่ไม่ได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือการแพทย์ตามความเคยชินที่เคยใช้อยู่ในโรงพยาบาล มันเป็นงานที่สร้างความหนักใจอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่มีความท้าทายอยู่ในตัว ความอึดอัดยังคงมีอยู่บ้าง เพราะผมรู้ลึกว่าตนเองยังไม่ยอมรับ ๑๐๐ % ว่าสิ่งที่ท่านเลือกนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะผมเป็นแพทย์ที่รับการฝึกอบรมมาให้คุ้นเคยกับระบบการรักษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีชนิดเต็มที่เท่าที่จะมี และเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะที่สุดแก่การรักษาผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะผมเพิ่งสัมผัสกับความคิดของท่านอาจารย์ ความเข้าใจและการเข้าถึงจึงน้อยเกินกว่าที่จะมาถ่วงดุลทัศนะแบบแพทย์แผนปัจจุบันของผมได้
แต่ผมก็เริ่มรู้สึกขึ้นมาว่า ตนเองเริ่มเกิดความอยากรู้อยากเห็นอย่างมากว่า เหตุการณ์จะคลี่คลายต่อไปอย่างไร และดูเหมือนว่าอาการของท่านอาจารย์จะช่วยเปิดโอกาสนั้นให้กับผม เพราะหลังจากที่ท่านได้รับยาช่วยการทำงานของหัวใจร่วมกับการได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ อาการภาวะหัวใจล้มเหลวก็ค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าในคืนนั้นท่านจะยังมีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ และนอนไม่หลับ แต่หลังจากที่ถวายยาแล้วอาการต่าง ๆ ก็ได้ขึ้น และท่านอาจารย์สามารถจะพักผ่อนได้มากขึ้นในคืนนั้น
อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาดีที่จะให้ท่านอาจารย์ได้รับการถวายการรักษาอย่างดีที่สุดในโรงพยาบาล ก็ยังมีขึ้นอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ ๒ โดยเวลาประมาณ ๓ ทุ่มของคืนนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ (เจริญไทยทวี) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ในขณะนั้น) ได้เดินทางถึงสวนโมกข์เพื่อกราบเยี่ยมอาการอาพาธพร้อมปฏิบัติภารกิจสำคัญ คือ อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอาราธนาท่านอาจารย์ว่า อย่าเพิ่งมรณภาพ ทรงขอให้ท่านอยู่ผดุงพระศาสนา
ท่านอาจารย์รับกระแสพระราชดำรัสด้วยอาการสงบ แล้วก็ตอบกับอาจารย์ประดิษฐ์ว่า ท่านขอฝากอาจารย์ประดิษฐ์กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงความรู้สึกซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอขอบคุณความปรารถนาดีของอาจารย์ประดิษฐ์ ที่นิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช แต่ท่านขอรับการรักษาอยู่ที่สวนโมกข์ต่อไปตามที่ท่านเคยตั้งใจไว้
คืนนั้นอาจารย์ประดิษฐู์ (ปัญจะวีณิน) เดินทางกลับเนื่องจากมีอายุรแพทย์โรคหัวใจคนใหม่มาสลับหน้าที่แทนหลังจากที่ท่านอาจารย์ยืนยันความจำนงที่จะ “ขอให้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาลและไม่หอบสังขารหนีความตาย” ท่านคณบดีจึงกำหนดแนวทางถวายการรักษาใหม่ โดยจะให้แพทย์โรคหัวใจสลับกันมาดูแลท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์คนละ ๒-๓ วันจนกว่าท่านจะพ้นขีดอันตราย แล้วจึงให้แพทย์ทางสุราษฎร์ฯ รับช่วงต่อเนื่องอีกที
คืนนั้นท่านอนุญาตให้ผมกลับกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากโรคของท่านอาจารย์ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโรคเกี่ยวกับปอด ที่จริงแล้วเป็นโรคหัวใจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับผมโดยตรง ท่านคณบดีจึงเป็นห่วงว่า ผมคงมีงานที่อยากจะกลับไปทำที่กรุงเทพฯ มากกว่า ซึ่งหากเป็นกรณีปกติแล้ว ผมก็คงอยากจะเตรียมตัวกลับเหมือนกัน เพราะถือว่าหมดภารกิจแล้ว แต่ผมกลับเสนออาจารย์ประดิษฐ์ไปว่า ผมขออยู่ต่อไปอีกช่วงหนึ่ง จนแน่ใจสักนิดว่า อาการอาพาธของท่านอาจารย์ไม่มีอันตรายแล้ว โดยเรียนอธิบายเหตุผลว่า ในช่วงระหว่างสับเปลี่ยนแพทย์โรคหัวใจนั้น อาจจะมีบางเวลาที่เกิดช่องว่างในระหว่างการรับเวร ทำให้ไม่มีแพทย์อยู่ถวายการดูแลท่านได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาไปเรื่อยๆ คนละ ๒-๓ วัน จะทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการรักษา เพราะแพทย์ที่มารับเวรต่อจะต้องปรับการรับรู้ใหม่ทุกครั้ง เรียกว่าผู้มารักษาก็ไม่สบายใจ และผู้รับการรักษาก็จะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ ผลการรักษาก็คงจักไม่สมบูรณ์เท่ากับการมีแพทย์คนหนึ่งติดตามดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าผมจะมิได้เป็นอายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ แต่ก็สามารถที่จะถวายการดูแลอาการอาพาธโดยรวมในทุกระบบของท่านอาจารย์ได้ในระดับหนึ่ง ผมจึงขออาสารับหน้าที่ตรงนี้ เพราะงานที่คณะฯ นั้น คงจะหาคนทำแทนได้ไม่ยาก อาจารย์ประดิษฐ์เห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้ผมอยู่ต่อและลั่งว่า หากผมอยากจะกลับเมื่อไร ก็ให้เรียนท่านไปทางกรุงเทพฯ ได้ตามที่ผมต้องการ
นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์ที่เรียนท่านคณบดีเพื่อขออนุมัติอยู่ต่อแล้ว ผมยังมีเหตุผลส่วนตัวของตนเองด้วย นั่นคือ ความสนใจอยากรู้อยากศึกษาว่า ความเจ็บไข้ของ “ผู้ป่วยพิเศษ” ท่านนี้ของผมจะคลี่คลายไปในทางใด ผมอยากติดตามว่า ภายใต้เงื่อนไขการรักษาที่สวนโมกข์นั้นจะให้ผลเป็นอย่างไร จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ ผมอยากเรียนรู้ทัศนะความเจ็บป่วยแบบใหม่ ที่ผมเพิ่งจะได้เคยสัมผัสด้วยตนเองจริง ๆ เป็นครั้งแรก หลังจากที่อาจจะเคยได้อ่านแนวคิดนี้มาบ้าง แต่มันก็เป็นเพียงความรับรู้แบบผิวเผินในภาคทฤษฏี และผมอยากเรียนรู้ด้วยว่า บุคคลซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องและยอมรับของคนจำนวนมากดังเช่นท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น มีการตอบสนองต่อการเจ็บป่วยอย่างไร รวมไปถึงการปฏิบัติตนของท่านในเรื่องการเจ็บป่วยโดยรวมทั้งหมดทุกด้าน เรื่องเหล่านี้ท้าทายให้เกิดความอยากเรียนรู้ และผมก็รู้สึกในเวลาต่อมาว่า สิ่งที่ผมได้ค่อย ๆ เรียนรู้นี้ มีคุณค่าต่อวิชาชีพของตนเอง เพราะได้ช่วยเปิดทัศนะของแพทย์แผนใหม่อย่างผม ให้กว้างไกลออกไปจากความรับรู้เดิม ๆ ในเรื่องของความเจ็บป่วยและความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยด้วย
เช้าวันที่ ๓ ของการถวายการรักษา คือ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๔ นั้น อาการอาพาธของท่านอาจารย์ดีขึ้นอีก การทำงานของหัวใจเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่บริเวณภายในสวนโมกข์เริ่มมีผู้คนหลั่งไหลมากราบเยี่ยมท่านอาจารย์มากขึ้น เมื่อสื่อมวลชนได้เสนอข่าวการอาพาธออกไป หลายคนมานั่งเฝ้าด้วยใจจดจ่ออยากที่จะทราบผลการรักษา รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย ทางวัดจึงต้องหันมาสนใจเรื่องการชี้แจงอาการให้คนทั่วไปรับทราบด้วย โดย น.พ.บัญชา พงษ์พานิชจากนครศรีธรรมราช ซึ่งมาทำหน้าที่เลขานุการและประสานงานคณะแพทย์ในการถวายการรักษาท่านอาจารย์ครั้งนี้ ได้จัดทำบอร์ดข่าวรายงานอาการ รวมทั้งนำรายงานอาการอาพาธซึ่งผมเขียนเพื่อรายงานทางกรุงเทพฯ และสงขลา ไปจัดทำเผยแพร่เป็นการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนด้วย
ช่วงนั้นคณะแพทย์ยังงดเยี่ยมท่านอาจารย์โดยเด็ดขาดเพื่อให้ท่านได้พักผ่อนโดยอนุญาตให้เข้านมัสการได้ตรงบริเวณด้านหน้ากุฏิเป็นบางช่วงเวลาเท่านั้น เพื่อให้ท่านอาจารย์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยไม่มีการรบกวน
ช่วง ๒-๓ วันของการถวายการรักษาอยู่ที่สวนโมกข์นี้ ผมได้พบว่าท่านอาจารย์แม้จะปฏิเสธการเข้าโรงพยาบาล แต่ท่านก็มิใช่ผู้ที่ต่อต้านหรือวางตนเป็นปฏิปักษ์กับการแพทย์สมัยใหม่เลย หากแต่ท่านมองวิทยาการทางการแพทย์ ว่าเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการรักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น และไม่ใช่ส่วนที่สำคัญมากสำหรับท่านในยามอาพาธ ท่านจึงมิได้ปฏิเสธไปเสียทั้งหมดทุก ๆ เรื่องแบบพวกสุดโต่ง แต่ท่านจะให้การตอบรับกับส่วนประกอบส่วนนี้ด้วยความเหมาะสม ตราบที่ไม่ขัดกับหลักการของท่าน ผมจึงไม่เคยเกิดความรู้สึกอึดอัดวิตกกังวล หรือหนักใจในการถวายการรักษาท่านอาจารย์เลยแม้แต่ครั้งเดียว จนกล่าวได้ว่าไม่มีช่องว่างกับท่านอาจารย์เลยในการรักษา เพราะท่านจะให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างดีทุกครั้ง ไม่มีการบ่นและการแสดงท่าทีใดๆ ที่จะทำให้แพทย์อึดอัดหรือหมดกำลังใจในการรักษา ไม่ว่าเราจะปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มชนิดยา จะขอเจาะเลือดไปตรวจ หรือขอถวายการตรวจท่านวันละ ๔ เวลา ๖ เวลา แม้แต่เวลาที่ผมเจาะเลือดพลาดจนเส้นแตก ต้องขอเจาะใหม่ ก็เพียงแต่เรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์ครับผมขอโทษ ผมขอเจาะใหม่อีกเส้นครับ” ท่านก็ไม่ว่ากระไร หรือมีปฏิกิริยาอะไร ท่านจึงเป็นคนไข้ที่แพทย์สบายใจที่จะรักษา เพียงแต่เราจะต้องรู้ และเข้าใจถึงทัศนะต่อความเจ็บป่วยและความตายตามแนวคิดของท่าน รวมไปถึงท่าทีต่อการแพทย์สมัยใหม่ของท่าน แล้วถวายการรักษาไปตามขอบเขตนี้ ท่านอาจารย์ก็จะไม่ปฏิเสธเลย
อาการของท่านในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ ดีขึ้นอีกตามลำดับ ท่านอาจารย์ดูสดชื่นขึ้นมาก ฉันอาหารได้เพิ่มขึ้นและสนทนาได้เป็นเวลานานขึ้น ในตอนบ่ายวันนั้นจึงมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะแพทย์จากศิริราชและโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี คณะสงฆ์และฆราวาสผู้ใกล้ชิด คณะแพทย์ได้แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าของการอาพาธ และหารือถึงแนวทางการดูแลรักษาในขั้นต่อไป ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในส่วนของแพทย์ จะมีการจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่เวรตลอด ๒๔ ชั่วโมง จนกว่าจะแน่ใจว่าท่านอาจารย์พ้นขีดอันตรายแล้วและคณะแพทย์เห็นว่า ควรกำหนดประเภทอาหารที่จะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อโรค โดยให้ลดจำนวนแคลอรี่ในอาหารต่อวันลงด้วยการจำกัดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน รวมทั้งให้ลดปริมาณเกลือในอาหารและเครื่องดื่มให้เหลือน้อยที่สุดนอกจากนั้นในช่วงระหว่างนี้ให้ท่านอาจารย์พักผ่อนให้มากที่สุด ส่วนในระยะยาวให้พิจารณากันโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
๓ การจ่ายยาที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับ ?
ในกลางดึกของคืนนั้นเอง ( ตุลาคม ๒๕๓๔) ท่านอาจารย์มีอาการแปลกๆ เกิดขึ้น ซึ่งทำให้พระอุปัฏฐากตกใจมาก นั่นคือท่านมีอาการนอนไม่หลับผุดลุกผุดนั่ง เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดคืน โดยที่พระอุปัฏฐากก็ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ทราบสาเหตุของอาการ แต่พระท่านก็มิได้ไปปลุกผมเนื่องจากเห็นว่าอาการมิได้รุนแรงและเกรงใจว่าผมเพิ่งจะไปเข้านอน โดยปกติแล้วผมจะอยู่ที่กุฏิท่านอาจารย์ตลอดวัน จนกระทั่งประมาณตี ๑ จึงจะกลับที่พัก และกลับมาอีกครั้งตอนประมาณ ๖ โมงเช้า
เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อผมไปถึงที่กุฏิ ท่านสิงห์ทอง ก็เล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้น ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากสาเหดุอะไรแน่ แต่เมื่อเราเห็นว่าท่านอาจารย์พักผ่อนไม่พอ จึงมีการถวายยานอนหลับหลังท่านฉันเช้าเสร็จ โดยเปลี่ยนชนิดและเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าปกติด้วย อาการในตอนสายของวันนั้น ทำให้เราทราบสาเหตุของอาการต่าง ๆ ในคืนที่ผ่านมาได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ ท่านอาจารย์กลับมามีอาการเหมือนเดิมอีกและเป็นมากขึ้นด้วย โดยท่านมีอาการเหมือนกับจะพยายามลุกขึ้นจากที่นอนตลอดเวลา คือ เมื่อนอนไปได้สัก ๕- ๓๐ นาที ท่านก็จะแสดงอาการพยายามที่จะลุกขึ้นนั่ง และเมื่อนั่งได้สักครู่ก็จะล้มตัวลงนอนอีก ทำเช่นนี้อยู่ตลอดจนถึงบ่าย โดยที่ทั้งพระทั้งแพทย์ก็ไม่รู้จะทำอะไร ได้แต่กราบเรียนท่านว่า
“ท่านอาจารย์ครับ นอนครับ ไม่มีอะไรนะครับ”
แต่ท่านก็ไม่ได้ตอบอะไร เพราะท่านอาจารย์อยู่ในลักษณะเหมือนคนกำลังเคลิ้มหลับ ช่วงนั้นเราต้องงดการเยี่ยมท่านโดยเด็ดขาด และป้องกันคนมิให้มาเห็นท่านในช่วงเวลานั้นด้วย เพื่อป้องกันความตกใจ เพราะแม้แต่พระอุปัฏฐากเอง แพทย์ก็ยังต้องคอยปลอบใจท่านว่า “เดี๋ยวหาย เดี๋ยวหาย”
เราสันนิษฐานว่า อาการดังกล่าวนี้ น่าจะเกิดจากการที่ร่างกายและจิตของท่านมีปฏิกิริยาในทางปฏิเสธต่อยานอนหลับอันเป็นผลข้างเคียงที่เราเคยพบในผู้ป่วยบางราย นั่นคือร่างกายและจิตจะฝืนต่อฤทธิ์ยาที่พยายามจะเข้าไปควบคุมระบบการรับรู้โดยรวม ในครั้งนั้น เราถวายยานอนหลับให้ท่านอาจารย์โดยไม่ได้กราบเรียนท่านก่อน เนื่องจากเป็นยาที่เราจัดรวม ๆ ถวายพร้อมกันกับยาโรคหัวใจ เพราะโดยปกติแล้วผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมักจะมีความวิตกกังวลสูง ทำให้หลับยาก ร่างกายพักผ่อนไม่พอเพียง จนเป็นผลเสียต่อโรค แพทย์จึงมักจัดยานอนหลับให้ผู้ป่วยทุกครั้ง และกรณีท่านอาจารย์ก็เช่นกัน เราถวายยานอนหลับให้ท่านด้วยความเคยชิน โดยขาดการพิจารณาถึงสภาพเฉพาะของผู้ป่วย เพราะในกรณีของท่านอาจารย์นั้น ท่านมิได้มีความวิตกกังวลกับอาการอาพาธ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องถวายยานอนหลับแต่อย่างไรเลย
หลังจากคราวนั้นแล้ว พระอุปัฎฐากจึงบอกกับแพทย์ว่าในการถวายยาต่างๆ นั้นอยากขอให้แพทย์ กราบเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบด้วยว่ามียาอะไรบ้าง เพราะท่านจะสนใจว่าฉันยาอะไรบ้าง แม้ว่ากับแพทย์ท่านจะมิได้ซักถามละเอียดเหมือนการซักถามกับพระอุปัฏฐากที่นำยาไปถวายก็ตาม ผมจำได้ว่า ครั้งนั้นเรามิได้กราบเรียนท่านให้ทราบถึงการถวายยานอนหลับ เพราะเป็นยาที่เราถวายพร้อมกับยาโรคหัวใจ เราจึงกราบเรียนแต่เพียงว่า มียารักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ฯลฯ ทั้งนี้คงจะเป็นความเคยชินของแพทย์ในบ้านเรา ที่สั่งยาให้คนไข้ได้โดยที่มักจะไม่ถูกซักถาม แต่กับท่านอาจารย์นั้นผมสังเกตว่า ท่านจะคอยดูว่าเรารักษาท่านอย่างไร แม้จะมิได้ซักไซ้ให้เราอึดอัด แต่ท่านจะทราบ เช่น บางครั้งท่านจะทักว่า “เอ๊ะ ยาเม็ดนี้ไม่เคยฉัน” หรือบางครั้งท่านจะเล่ากับพระอุปัฏฐากว่า หลายครั้งที่แพทย์มักจะพูดขัดกันเอง จนไม่ทราบว่าจะเชื่อใครดี
วันนั้นเมื่อยาหมดฤทธิ์แล้ว ท่านเล่าความรู้ลึกให้ฟังทีหลังว่า
“ไม่รู้มันเป็นยังไง คล้ายกับจะทั้งหลับและดับ ก็เกรงว่าถ้าปล่อยใจไปตามนั้น มันก็จะดับไปเลย”
คือท่านมีความรู้สึกดิ่งลงไป เหมือนกับจะหายไป ท่านจึงดึงไว้ หลังจากอาการคราวนั้นแล้ว แพทย์ก็ตัดสินใจงดยาที่มีผลต่อระบบการรับรู้ของท่านตลอด และอาการดังกล่าวก็ค่อยๆ หมดไปและไม่เกิดขึ้นอีกเลย
ในส่วนของโรคหัวใจนั้น อาการของท่านดีขึ้นเป็นลำดับแต่อุปสรรคสำคัญที่มีผลกระทบต่อโรคของท่านนั้นยังมีอยูนั่นคือ แพทย์เห็นว่า อาหารที่นำมาถวายท่านอาจารย์นั้นยังไม่เป็นไปตามที่คณะแพทย์วางแนวทางไว้ให้ จึงได้ขอประชุมร่วมกับพระอุปัฏฐากและญาติโยม ซึ่งมีหน้าที่เตรียมอาหารของท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มีโภชนากรจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ มาช่วยแนะนำถึงชนิดและปริมาณอาหารที่เหมาะสมแก่การจะถวาย แต่เท่าที่ผมสังเกตดูทั้งในช่วงนั้นและในเวลาต่อมา ก็คือความร่วมมือยังมีไม่มากเท่าที่แพทย์ต้องการ หรือเรียกว่าไม่ค่อยได้ผลนัก เนื่องจากญาติโยมส่วนใหญ่มักจะห่วงกันว่า ท่านอาจารย์จะฉันอาหารได้น้อยและรสชาติจะไม่ถูกปากเหมือนก่อน ทั้ง ๆ ที่แพทย์ก็ได้พยายามจะโน้มน้าวให้เห็นว่า โภชนาการที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ควบคุมนั้น จะเป็นผลเสียอย่างมากต่อโรคที่ท่านอาจารย์กำลังอาพาธอยู่
ดังนั้น ทางหนึ่งที่แพทย์ช่วยกันกับพระอุปัฏฐากได้ก็คือคัดเลือกเอาเฉพาะอาหารที่จัดเตรียมมาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำ ไปถวายท่านอาจารย์เท่านั้น อาหารที่มีผู้นำมาถวายท่านในแต่ละวันนั้น มีจำนวนมากมายหลายชุด ขนาดรับประทานได้เป็นสิบคนทีเดียว แต่ท่านอาจารย์ฉันจริง ๆ ไม่มากนัก ทราบจากพระอุปัฏฐากว่า โดยปกติแล้วท่านอาจารย์จะพยายามฉันให้ทั่วๆ เพื่อฉลองศรัทธาของญาติโยม ดังนั้นถ้าไม่มีการคัดเลือกขึ้นไปก่อน โอกาสที่จะควบคุมชนิดของอาหารที่เป็นผลเสียต่อโรคก็จะทำได้ยาก เนื่องจากในแต่ละมื้อนั้นบางคนจัดเตรียมอาหารมาไม่สอดคล้องกับสภาพการอาพาธที่ท่านเป็นอยู่เลย นอกจากนี้ พระอุปัฏฐากยังเล่าว่า ท่านอาจารย์นั้นจะเป็นผู้ที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ โดยทันที แม้ในสิ่งที่แพทย์บอก เพราะฉะนั้นหากทดลองได้ท่านจะทดลองก่อนเสมอ เช่น ถ้ากราบเรียนว่า การฉันอาหารประเภทนี้จะทำให้โรคเก๊าท์กำเริบ ท่านก็จะลองฉันดูก่อน หากต่อมาโรคกำเริบจริง ๆ ท่านก็จะเลิกฉันอาหารประเภทนั้น แต่อาหารบางอย่างก็มิได้ให้ผลตามที่แพทย์บอกทุกครั้งไป ดังนั้น ท่านอาจารย์จึงมิใช่ผู้ป่วยที่เชื่อแพทย์ในทุก ๆ เรื่องและทุก ๆ ครั้งเสมอไป
เมื่อเริ่มเข้าสู่วันที่ ๗ ที่ผมมาถวายการรักษา คือ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ นั้น ท่านอาจารย์ได้ลองลุกเดินในบริเวณห้อง ภายหลังจากการชั่งน้ำหนักตัวในตอนเช้าแล้ว ที่จริงผมได้ขอให้ท่านเริ่มออกกำลังกายอยู่กับที่ในเตียงมาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว การเดินในวันนี้ ท่านเดินช้าก็ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติทั้งทางร่างกายและการทำงานของระบบหัวใจ จึงได้กราบเรียนให้ท่านค่อย ๆ เพิ่มการออกกำลังกายในวันต่อๆ ไปทีละน้อยๆ เพื่อให้การฟื้นตัวจากการอาพาธเป็นไปได้เร็วขึ้น
ช่วงนี้ท่านอาจารย์สามารถจะพูดคุยได้เหมือนปกติแล้ว ดังนั้น เมื่อมีช่วงว่าง ท่านอาจารย์ก็จะพูดคุยด้วย โดยท่านจะนั่งอยู่บนเตียง ส่วนแพทย์ก็จะนั่งอยู่หน้าห้องบ้างในห้องบ้าง แล้วก็กราบเรียนถามเรื่องสัพเพเหระกับท่าน มีช่วงหนึ่งท่านอาจารย์ได้ปรารภให้ฟังว่า การอาพาธในครั้งนี้ตัวท่านเองได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก ท่านใช้คำว่า “ไม่สบายทุกที ก็ฉลาดขึ้นทุกที” แล้วท่านก็หวังว่าคณะแพทย์ผู้มาถวายการรักษาคงจะได้เรียนรู้ธรรมะจากการปฏิบัติงานในครั้งนี้เช่นกัน
สำหรับผมเองแล้ว ยังรู้สึกผิวเผินมากกับการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ท่านบอกนี้ แม้จะรู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรที่ตนเองสนใจไม่น้อย และได้จดบันทึกเอาไว้สำหรับอ่านทีหลังด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดของท่านในเรื่องทัศนะต่อความเจ็บป่วย การรักษาการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การให้ธรรมชาติรักษา ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด ฯลฯ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นคำพูดที่ “แปลกดี” จึงจดบันทึกเอาไว้ในเวลาที่ว่าง โดยที่ยังมิได้คิดอะไรกับมันจริงจังนัก
ภารกิจของผมสิ้นสุดลงในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ เพราะจากลักษณะอาการที่ท่านอาจารย์แสดงออกภายนอก ในช่วงวันท้ายๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าท่านฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้ผู้เข้ากราบเยี่ยมทั้งพระและฆราวาสเกิดความปีติดีใจ แม้ว่าเช้าวันนั้น ท่านจะปรารภว่าร่างกายยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ ทำให้ไม่ค่อยอยากฉันอาหารและออกกำลังกาย แต่ท่านก็พยายามทำตามที่แพทย์แนะนำ ดังนั้น คณะแพทย์จึงลงความเห็นว่าอาการอาพาธของท่านน่าจะผ่านช่วงวิกฤตไปแล้ว จึงมอบหมายให้คณะแพทย์ของโรงพยาบาลลุราษฎร์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบต่อไป โดยในช่วงกลางวันจะมีแพทย์มาตรวจเยี่ยมเป็นครั้งคราว ส่วนตอนกลางคืนจะจัดแพทย์มาผลัดเปลี่ยนกันอยู่ในวัดจนถึงตอนเช้าเป็นเวลา ๑ เดือน จนแน่ใจว่าจะไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ สำหรับทางศิริราชจะคอยให้คำปรึกษาและจัดส่งแพทย์มาติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ๆ
ผมจึงโทรศัพท์รายงานท่านคณบดีตั้งแต่เมื่อวาน แล้วเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากภารกิจได้บรรลุตามที่ผมตั้งใจไว้แล้ว นั่นคืออยู่เฝ้าถวายการดูแลจนท่านอาจารย์พ้นขีดอันตราย ซึ่งตอนแรกนั้นผมยังประเมินไม่ได้เลยว่า ด้วยการรักษาที่สวนโมกข์ตามแบบที่ท่านอาจารย์ประสงค์นั้นจะใช้เวลานานเท่าไร และท่านจะรอดพ้นวิกฤตไปได้หรือไม่ ทีแรกผมคิดๆ อยู่ว่า ตัวเองคงจะต้องอยู่นาน (หากท่านไม่เกิดอาการเฉียบพลันอย่างที่วิตกกันเสียก่อน) แต่ท่านอาจารย์ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผมจึงอยู่ถวายการรักษาที่สวนโมกข์เพียง ๖ วัน ๗ คืน แล้วก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินเช้าและเข้าทำงานที่ศิริราชในบ่ายวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
เมื่อถึงโรงพยาบาล ผมก็เข้าไปขออนุญาตท่านคณบดีว่า เสาร์-อาทิตย์ที่จะถึงนั้น ผมอยากจะขอลงสวนโมกข์อีก เพื่อติดตามอาการของท่านอาจารย์ ซึ่งท่านคณบดีก็อนุมัติ เหตุผลที่ผมอยากจะติดตามอาการต่ออีกนั้น ก็เนื่องจากอยากดูและอยากรู้ไปให้ถึงที่สุดของอาการอาพาธ ที่ผมได้เข้าคลุกคลีอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น และก็อยากจะเรียนรู้อะไรๆ จากท่านอาจารย์พุทธทาสอีก
๔ ประสานกายกับจิต
ผมลงสวนโมกข์อีกครั้งช่วงวันที่ ๘-๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ คราวนี้เดินทางคนเดียว และสู่ที่หมายโดยทราบสภาพอะไรๆ ต่างๆ มากขึ้น รู้จัก “พุทธทาสภิกขุ” มากขึ้นกว่าเดิม
ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น อาการต่างๆ ของท่านดีขึ้นตามลำดับ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน ท่านอาจารย์ยังไม่ค่อยได้ออกกำลังกายตามที่แพทย์แนะนำมากนัก เพราะท่านบอกว่าเวลาเดินจะรู้สึกโคลงเคลง แสดงว่าร่างกายของท่านยังไม่พร้อมที่จะทำตามที่แพทย์แนะนำได้ ส่วนปัญหาอาหารนั้น ท่านบอกว่ารสหวานนั้นเบื่อไปได้เองแล้ว แต่รสเค็มนั้นยังไม่สามารถลดได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้ท่านอาจารย์ฉันอาหารได้น้อย ในช่วงระหว่างนี้ อาหารจากญาติโยมทั่วไปซึ่งเคยถวายท่านได้งดไป แล้วมอบหมายให้มีผู้จัดทำอาหารถวายเป็นการเฉพาะเพื่อที่จะได้สามารถควบคุมชนิดของอาหารที่จะถวายท่านให้เป็นไปตามที่แพทย์แนะนำได้
ช่วงนี้ท่านเริ่มจะสนทนาธรรมและให้ข้อคิดกับแพทย์ บางครั้งท่านก็พูดกับผมโดยตรง เมื่อผมอยู่กับท่านในห้อง ข้อคิดหนึ่งในระหว่างนี้ที่ผมสนใจและจดเอาไว้ เช่น ท่านให้ข้อคิดว่า
“การแพทย์สมัยใหม่ ควรที่จะหาทางทำให้เกิดการประสานกันระหว่างวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นในเรื่องกาย กับเรื่องธรรมะอันเกี่ยวข้องกับจิต และเป็นเรื่องของสังขาร ถ้าทำได้จริงเมื่อไร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างแท้จริง”
ตอนนั้นผมฟังท่านโดยไม่ได้รู้สึกซัดเจนลงไปว่าเห็นด้วย แต่ก็มิได้รู้สึกว่าคัดค้านเช่นกัน เพราะผมไม่รู้ว่าจิตและสังขารที่ท่านอาจารย์พูดถึงนั้นคืออะไร เป็นความไม่รู้ของตนเอง ผมยอมรับว่า การศึกษาของแพทย์สมัยใหม่อย่างที่ผมเรียนมานั้น ทำให้ตนเองไม่รู้จักสิ่งที่ท่านอาจารย์พูดถึง เพราะสิ่งที่เราเรียนนั้น ตั้งต้นจากว่าร่างกายของมนุษย์มีอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้ เวลาเจ็บป่วยก็เกิดขึ้นจากการที่อวัยวะส่วนนี้ทำงานเกิน ส่วนนั้นทำงานขาด ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราทราบอยู่แล้ว แต่ความรู้ที่ว่า นอกจากการทำงานเป็นส่วนๆ ของร่างกายแล้วมนุษย์ยังมีจิตใจหรือจิตวิญญาณด้วยนั้น ผมไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อนเลย เพราะฉะนั้นมันจะมีจริงหรือไม่มีจริง ผมก็ไม่ทราบ และมันจะมีส่วนต่อการทำงานของร่างกายมากน้อยขนาดไหน ผมก็ไม่ทราบแน่นอนอีกเช่นกัน ดังนั้น เมื่อท่านอาจารย์พูดผมจึงรับฟังท่านโดยไม่มีข้อมูลพื้นฐานในเรื่องนี้
แต่ว่าที่จริงแล้ว นี่ก็คงไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้ยินทัศนะแนวนี้ เพราะเคยได้ยินหรือได้อ่านผ่านตามาบ้าง เพียงแต่เป็นการสัมผัสผ่านตัวหนังสือ มิใช่การเผชิญกับผู้ที่มีความคิดแบบนี้โดยตรง การได้มาถวายการรักษาท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้ผมได้เข้ามาประชิด หรือจะเรียกว่า “เผชิญหน้า” กับผู้ที่มีแนวคิดแบบนี้ก็ได้ แบบที่ตรงข้ามกับความรับรู้หรือสิ่งที่ผมร่ำเรียนมา ซึ่งที่จริงแล้ว เมื่อผมรับฟังท่าน ผมควรจะมีความรู้ลึกคัดค้าน เพราะมันแตกต่างจากการเรียนรู้เดิมของตนเอง แต่ผมก็ไม่ได้รู้ลึกชัดเจนว่าอยากคัดค้าน ทั้งนี้คงเป็นเพราะผมพบว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อถือในเรื่องของเหตุผล การยอมรับในเรื่องอะไรของท่านนั้น เกิดจากการที่ท่านได้พิสูจน์แล้ว หรือได้ทดลองจนเห็นผลมาแล้ว ดังนั้นผมจึงคิดว่า จะต้องมีอะไรแน่ๆ ที่ทำให้ท่านอาจารย์คิดอย่างนี้ เพียงแต่ผมไม่ทราบว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเกี่ยวโยงเกี่ยวเนื่องกันลึกซึ้งขนาดไหนระหว่างร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ทัศนะของผมคงจะเริ่มเปลี่ยนไปบ้างแล้ว ดังนั้นจึงมิได้รู้ลึกอยากจะค้านทัศนะที่ท่านพูดในวันนั้น
แล้วหลังจากนั้นมา ผมก็ได้มีโอกาสเห็นและเรียนรู้เรื่องของจิตมากขึ้น จากการปฏิบัติของท่านอาจารย์ ที่แสดงออกในยามอาพาธครั้งต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง และแนวการรักษาของท่าน ซึ่งบางครั้งมิได้อาศัยการแพทย์สมัยใหม่หรือยาชนิดใดเลย
การเดินทางมาตรวจเยี่ยมอาการอาพาธของท่านอาจารย์ในช่วงวันที่ ๘-๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ นี้ คือการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำลั่งเป็นครั้งสุดท้ายของผม เนื่องจากว่า อาการอาพาธของท่านอาจารย์ สามารถที่จะมอบโอนให้แพทย์ในพื้นที่เป็นผู้ถวายการดูแลได้ต่อไปแล้ว ภารกิจอย่างเป็นทางการของผมจึงเสร็จสิ้นลงในการไปสวนโมกข์คราวนี้
อย่างไรก็ตาม ความรู้ลึกสนใจใคร่รู้ในความเป็นไปและความคิดของ “ผู้ป่วยพิเศษ” ท่านนี้ของผมยังไม่สิ้นสุดลงไปด้วย “พุทธทาสภิกขุ” และ สวนโมกข์ ยังเป็นจุดหมายที่ผมจะต้องมาเยี่ยมเยือนอยู่เป็นประจำเดือนละครั้ง ในวันเสาร์-อาทิตย์แม้จะเป็นการมาโดยส่วนตัว แต่ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่ถวายการดูแลเรื่องสุขภาพของท่านอาจารย์อย่างต่อเนื่องด้วยจนกระทั่งกลายเป็นความผูกพัน จากการได้เห็น และได้รับรู้ทัศนคติและการปฏิบัติของท่านอาจารย์ในเรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วย หรือแม้แต่ในเรื่องของความตาย
๕ ธรรมชาติช่วยรักษา
หลังการอาพาธหนักในเดือนตุลาคม ๒๕๓๔ แล้ว ท่านอาจารย์ก็อาพาธหนักบางเบาบ้างอยู่อีกหลายครั้ง ทัศนะของท่านที่ว่า “ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด” “ไม่สบายทุกทีก็ฉลาดขึ้นทุกที” ทำให้ผมคิดว่า ท่านได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้สิ่งที่ท่านต้องการมากขึ้นเป็นลำดับจากการอาพาธในแต่ละครั้งด้วย
วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ สี่เดือนหลังการอาพาธหนักด้วยโรคหัวใจวาย ท่านอาจารย์อาพาธด้วยโรคภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน ทำให้เนื้อสมองบางส่วนขาดเลือด จากการสืบค้นทางการแพทย์ คาดว่าอาการนี้ เป็นผลจากการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่มีมาแต่เดิมของท่าน ทำให้มีลิ่มเลือดเล็กๆ หลุดจากหัวใจไปยังสมอง
ผมรับทราบข่าวนี้เมื่ออาจารย์ประดิษฐ์ (เจริญไทยทวี) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ท่านโทรศัพท์มาถึงผม มีคำสั่งให้เดินทางลงไปสวนโมกข์เนื่องจากท่านได้รับรายงานว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสอาพาธหนัก และท่านอธิการบดีก็รับทราบอยู่ก่อนว่า ผมยังลงไปสวนโมกข์และติดตามดูแลอาหารของท่านอาจารย์อยู่ แม้จะอย่างไม่เป็นทางการ
ผมเดินทางไปสวนโมกข์ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๕ ทราบว่า เมื่อบ่ายวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ น.พ.ทรงศักดิ์ ได้มาตรวจอาการแล้ว สันนิษฐานว่าลิ่มเลือดหลุดไปสู่สมอง
พระพรเทพ ฐิตปัญโญ พระอุปัฏฐากและเลขานุการส่วนตัวของท่านอาจารย์ได้เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ท่านสิงห์ทอง พระอุปัฏฐากซึ่งนอนเฝ้าท่านอาจารย์ได้มาเรียกท่านตอนกลางดึก บอกว่าให้ไปดูท่านอาจารย์ เนื่องจากท่านมีอาการแปลกๆ คืออยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมานั่งบนเตียง ฝีมือแล้วก็บอกว่า “เปิดซิ เปิดเสียง” แต่เมื่อพระเดินไปเปิดวิทยุแล้ว ท่านอาจารย์ก็ยังพูดต่อเช่นเดิมอีก พระอุปัฏฐากกราบเรียนถามอะไร ท่านก็ไม่ตอบ และยังคงมีท่าทางเช่นเดิมอีก ซึ่งพระท่านจำได้ว่าเป็นกิริยาปกติของท่านอาจารย์ ในเวลาที่ท่านจะเริ่มการเทศน์ คือบอกให้พระที่คุมเครื่องเสียง เปิดไมโครโฟน
จากอาการและการที่สื่อสารกับท่านไม่ได้ ทำให้ทราบว่าท่านอาจารย์อาพาธ แต่ไม่ทราบกันว่าด้วยโรคอะไร จึงไปตามท่านอาจารย์โพธิ์ แล้วก็ไปตามอาจารย์ประยูร เมื่ออาจารย์ประยูรมาถึงก็ตรวจร่างกาย และวัดความดันโลหิตก็พบว่าปกติ ช่วงต่อมาท่านอาจารย์ลงไปนอนต่อได้เอง แล้วสักพักก็เปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นการทำกิจวัตรประจำวันของท่านโดยทำอยู่ซ้ำ ๆ เช่นลุกขึ้นมานั่งโถแล้วกลับไปนอนแล้วก็ลุกขึ้นทำใหม่อีก โดยที่ท่านไม่ได้ถ่ายจริงๆ เป็นอย่างนี้ทั้งคืนแล้วที่สุดท่านก็ลงไปนอนและหลับไปนาน
ตอนเช้า พ.ญ.เสริมทรัพย์ ดำรงรัตน์ แพทย์อาวุโสซึ่งเกษียณราชการแล้วมาอยู่สวนโมกข์ และเป็นผู้หนึ่งซึ่งคอยถวายการรักษาและถวายคำแนะนำเรื่องสุขภาพของท่านอาจารย์มานาน ได้ไปเยี่ยมอาการท่าน เมื่อกราบเรียนถามท่านว่า มีอาการปวดศีรษะไหม เวียนศีรษะหรือเปล่า ท่านก็ตอบว่า ไม่ โดยตลอด พ.ญ.เสริมทรัพย์จึงกราบเรียนว่าให้ท่านอาจารย์ลองนับนิ้ว ปรากฏว่าท่านนับไม่ได้ ได้แต่หัวเราะ หึ หึ จึงได้เริ่มเอะใจกันว่า ท่านอาพาธเกี่ยวกับสมอง จึงโทรศัพท์ตามน.พ.ทรงศักดิ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการถวายการรักษาอะไรในช่วงนี้ ท่านอาจารย์ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้เป็นปกติ แต่จำอะไรและจำใครไม่ได้ หลังจากที่ท่านได้นอนพักประมาณ ๔ - ๘ ชั่วโมงแล้ว ท่านจึงเริ่มกลับเป็นปกติ เพียงแต่สูญเสียความทรงจำไปส่วนหนึ่งในช่วงนั้น
วันต่อมาอาจารย์ประเวศมาเยี่ยมอาการ และได้โทรติดต่อกับ ศ.น.พ.อดุลย์ วิริยเวชกุล หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยาของศิริราช เพื่อปรึกษาอาการ อาจารย์อดุลย์วินิจฉัยหลังจากฟังสรุปอาการต่าง ๆ แล้วว่าท่านอาจารย์เป็นโรคเลือดแข็งตัวและอุดหลอดเลือดในสมองเป็นหย่อมๆ พร้อมกับสั่งยาเพื่อถวายการรักษา อาการของท่านอาจารย์เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ วันต่อมา เมื่อความจำของท่านกลับคืนมาแล้ว ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้น ท่านอาจารย์กำลังเขียนหนังลืออยู่ สันนิษฐานว่าคงเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดมาก เนื่องจากท่านบอกว่า งานนั้นเป็นงานเผยแพร่ธรรมะชิ้นสำคัญสุดท้าย ที่ท่านอยากจะทำให้เสร็จก่อนสิ้นชีวิต
ท่านเล่าความรู้ลึกในช่วงที่เกิดอาการว่า ทันทีทันใดนั้นก็รู้ลึกวูบไปเฉยๆ ไม่สามารถจำอะไรได้ รู้สึกเพียงแต่ว่ามันเงียบและน่ากลัวมาก มีความรู้สึกว่าร่างกายเบาเหมือนปุยเมฆลอยอยู่ในท้องฟ้า แต่ไม่เห็นอะไรชัดเจน ท่านอาจารย์มีความรู้สึกว่า อาการอาพาธครั้งนี้ เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับการอาพาธครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะว่า ท่านไม่สามารถจะใช้สติสัมปชัญญะของท่าน ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกับการอาพาธที่เกิดกับอวัยวะสำคัญส่วนอื่นๆ
เมื่อผมเห็นว่าอาการของท่านฟื้นตัวได้เร็วและไม่มีอะไรที่เป็นอันตรายแล้ว วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕ ผมก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ และคิดว่าน่าจะติดต่อให้มีแพทย์เฉพาะทางในด้านประสาทวิทยาไปตรวจเยี่ยมอาการของท่าน พอดีผมได้พบกับ ศ.น.พ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาในการประชุม ก็เลยเรียนเรื่องต่าง ๆ ให้อาจารย์นิพนธ์ฟัง พร้อมกับชวนให้ท่านลงไปตรวจอาการท่านอาจารย์ แต่เนื่องจากตอนนั้นทางคณะฯ ยังไม่มีแผนการส่งแพทย์ไปถวายการรักษา เราจึงวางแผนกันว่า จะขออนุมัติท่านคณบดี คือ ศ.น.พ.อรุณ เผ่าลวัสดิ์ เพื่อที่จะเดินทางไปได้เลยในวันทำงาน โดยไม่ต้องเสียเวลารอจนถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ผมเดรียมที่จะเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์นิพนธ์ แด่เกิดมีภารกิจอื่นทำให้เดินทางไปด้วยไม่ได้ อาจารย์นิพนธ์จึงเดินทางคนเดียว โดยมีน.พ.ทรงศักดิ์ ช่วยประสานงานกับทางสวนโมกข์แทนผม หลังจากนั้นมา อาจารย์นิพนธ์ก็ลงไปตรวจเยี่ยมอาการท่านอาจารย์ทุกเดือนในวันอาทิตย์หรือเสาร์ โดยทำการตรวจและติดตามผลการฟื้นตัวของระบบประสาท โดยเฉพาะในเรื่องความจำ พร้อมกับปรับเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาตามความเหมาะสมด้วย
หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ความทรงจำของท่านกกลับคืนมาได้มาก แม้จะไม่ทั้งหมด ท่านอาจารย์สามารถที่จะใช้ความคิดเพื่อเขียนหนังสือได้ครั้งละนานๆ มากขึ้น และสามารถแสดงธรรมแก่ผู้สนใจได้ตามสมควร ส่วนใหญ่ครั้งละไม่เกินครึ่งชั่วโมงแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามความพร้อมของร่างกายและสมอง ซึ่งหลายครั้งเราก็ต้องคอยทัดทานท่าน มิให้หักโหมเกินไป ท่านอาจารย์มักจะบ่นให้ผมและคนอื่นๆ ฟังว่า ท่านไม่ประมาณตนในเรื่องการทำงาน คือมักจะทำงานมากกว่าอายุและสุขภาพของตนเองเสมอ ท่านบอกอยู่หลายครั้งว่า เวลาพูดธรรมะแล้วมักจะหยุดไม่ค่อยได้ ท่านปรารภให้ฟังว่า งานที่ท่านอยากจะทำในช่วงเวลาที่เหลือนี้ คือ พินัยกรรมธรรมะที่รวบรวมจากการเรียนรู้ตลอดชีวิตของท่าน ทำไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และศึกษาค้นคว้าต่อไป
หลังการอาพาธด้วยลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมองในครั้งนี้แล้ว ผมก็ยังลงสวนโมกข์เองเดือนละครั้งเช่นเดิมในวันสุดสัปดาห์ ไปถึงก็จะไปกราบท่านและตรวจร่างกายโดยทั่ว ๆ ไปพร้อมกับอ่านบันทึกสุขภาพซึ่งท่านพรเทพจดไว้ แล้วก็ขลุกอยู่บริเวณกุฏิของท่านตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้า ๖ โมงไปจนถึงดึก จะกลับที่พักเมื่อตอนกินข้าวและตอนมานอนเท่านั้น บางครั้งก็คุยกับท่านอาจารย์บ้างในเรื่องสัพเพเหระ เช่นข่าวสารบ้านเมือง ประวัติศาสตร์ เรื่องยุคเก่า ฯลฯ เพราะท่านเป็นผู้ที่รอบรู้ในเรื่องต่างๆ มากมาย มิใช่เพียงเรื่องธรรมะเท่านั้น บางครั้งท่านก็จะปรารภธรรมะ หรือเล่าเรื่องงานและเรื่องที่ท่านอยากทำให้ฟัง เป็นการคุยกับผมคนเดียวบ้าง หรือกับคณะแพทย์ซึ่งเคยถวายการรักษาคราวอาพาธเมื่อปี ๒๕๓๔ บ้าง ผมจะคอยจำคำพูดของท่านที่น่าสนใจ หรือที่คิดว่าแปลกดีไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วจดบันทึกไว้ แต่บางครั้งก็มิได้สนทนาอะไรกับท่านเลย บางคราวท่านนั่งอยู่หน้ากุฏิ ส่วนผมก็นั่งอ่านหนังสือไปเงียบๆ เหมือนต่างคนต่างอยู่ คงจะเป็นเพราะผมมักจะมีความรู้สึกเกรงใจไม่อยากรบกวนท่าน โดยเฉพาะในเวลาที่ท่านอาจจะกำลังใช้ความคิดในเรื่องงานของท่านอยู่
ผมจะได้คุยกับท่านมากหน่อยก็ตอนช่วงที่ตามท่านเดินออกกำลังกายในตอนเช้า ท่านจะเล่าเรื่องสมุนไพร และบอกสรรพคุณของต้นไม้ใบหญ้าที่พบให้ฟัง รวมไปกับเรื่องการดูแลรักษาตนเองของคนสมัยโบราณ ท่านรอบรู้เรื่องของสมุนไพรมาก และมักจะใช้สมุนไพรรักษาตนเองด้วยบ่อยๆ เช่นใช้ยางมะละกอรักษาตัวต่อต่อย หรือให้ท่านสิงห์ทองช่วยหาบอนเพื่อมารักษาหูด และว่านหางจระเข้รักษาแผลที่ถูกน้ำร้อนหรือไฟลวก ฯลข นอกจากนี้ท่านยังเคยเล่าให้ฟังถึงวิธีการรักษาโรคตามแบบของท่าน นั่นคือ เวลาที่อาพาธ ท่านมักจะรักษาโดยการนอนอย่างเดียว ไม่กินและไม่ทำอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้น ประมาณ ๒-๓ วันก็จะรู้ผล ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเอง ท่านอาจารย์จึงเชื่อในหลักของ “ธรรมชาติรักษา” ว่าเป็นหลักใหญ่แห่งสุขภาพและการบำบัด โดยที่แพทย์และวิทยาการทางการแพทย์ เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในบางครั้งบางคราวสำหรับท่านเท่านั้น
สุขภาพที่ดีขึ้นของท่านอาจารย์ ทำให้ผมมีโอกาลได้รู้จักสวนโมกข์มากขึ้น มีเวลาเดินสำรวจเขาพุทธทอง สระนาฬิเกร์ โรงปั้น โรงหนัง ไปจนถึงลานลูกเสือ ฯลฯ รวมทั้งการวิ่งขึ้นเขานางเอตอนเช้า ๆ ด้วย เมื่อครบ ๑๒ เดือนของการมาถวายการดูแลท่านอาจารย์ คือในเดือนตุลาคม ๒๕๓๕ สุขภาพโดยรวมของท่าน หากดูจากภายนอกจะใกล้เคียงกับช่วงเดิมก่อนที่จะอาพาธ คือค่อนข้างแข็งแรง แต่ตัวท่านเองยังปรารภว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน ท่านรู้ลึกเพลีย ไม่อยากอาหาร และไม่สามารถใช้ความคิดได้เต็มที่
ผมสังเกตจากการเฝ้าดูท่านมาอย่างต่อเนื่องว่า ท่านอาจารย์พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสุขภาพของท่าน แต่ก็ยังไม่พบจุดที่ลงตัวนัก จนเมื่อผ่านเขาสู่ปีใหม่ ๒๕๓๖ จึงดูเหมือนว่าท่านอาจารย์จะเริ่มเคยชินกับสภาพของสุขภาพใหม่มากขึ้น สามารถที่จะเดินออกกำลังในตอนเช้า เป็นระยะทางประมาณ ๓๐๐ เมตรเกือบทุกวัน และสามารถนั่งสนทนากับผู้ที่มากราบนมัสการ และแสดงธรรมเป็นระยะเวลานานๆ ได้ แต่สุขภาพของท่านก็ดีอยู่ได้ไม่นานนัก ปลายเดือนมกราคมนั้น ท่านอาพาธค่อนข้างหนักอีกครั้ง ทำให้การฟื้นตัวที่ค่อยๆ ดีขึ้น ต้องหยุดชะงักลงไปอีกครั้งหนึ่ง
วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๖ ท่านมีอาการเลือดออกจากทางเดินอาหารโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยที่ท่านถ่ายเป็นโลหิต ซึ่งประมาณกันว่า รวมแล้ว ๑,๕๐๐ ซีซีใน ๒๔ ชั่วโมง การสูญเสียโลหิตในปริมาณมาก มีผลให้ท่านซีด และที่สำคัญคือความดันโลหิตต่ำลง จนอาจทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว(ภาวะช็อค) ตามบันทึกของแพทย์นั้น ท่านอาจารย์เคยมีอาการทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว ๒ ครั้ง ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ คือ ท่านอาจารย์จะใช้วิธีการรักษาตามแบบของท่าน ซึ่งท่านเล่าให้พระอุปัฏฐากฟังว่า เป็นการห้ามเลือดแบบของพวกนักบวชอินเดียในสมัยพุทธกาล คือการเข้าสมาธิจนร่างกายสงบนิ่งและเลือดหยุดไหล คืนนั้นท่านนอนตะแคงข้าง หันหน้าเขาหาผนัง และนอนนิ่งนานในท่าดังกล่าวอยู่เป็นชั่วโมง ๆ
ในตอนเช้าอาการของท่านดีขึ้น ในตอนแรกนั้น น.พ.วิโรจน์ พานิช ศัลยแพทย์โรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ และเป็นหลานชายของท่านอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ถวายการรักษา ได้เตรียมการที่จะให้เลือดทดแทน เนื่องจากในครั้งนี้ท่านอาจารย์เสียเลือดมากกว่าครั้งก่อนๆ จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และมีผลเสียต่อการฟื้นตัวของโรคทางหัวใจและสมองที่ท่านเป็นอยู่ แต่ท่านอาจารย์ก็ปฏิเสธอย่างนุ่มนวล โดยไม่มีใครทราบเหตุผลที่ชัดเจนของท่าน
๖ ก่อนปัจฉิมอาพาธ
หลังจากนั้นมา ระหว่างช่วงกุมภาพันธ์จนถึงก่อนปัจฉิมอาพาธ ผมและแพทย์หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะพระอุปัฏฐาก มักจะได้ยินท่านอาจารย์ปรารภเรื่องสังขารของท่านบ่อยครั้งในทำนองว่า ท่านรู้ลึกว่าสังขารไปไม่ไหวแล้ว ท่านอาจารย์จะบอกกับท่านพรเทพบ้าง อาจารย์ประยูรบ้างว่า ท่านคงจะไม่กลับมาดีได้เหมือนเดิมอีก นอกจากนี้ท่านยังพูดว่า ท่าทางท่านจะป่วยเป็นแบบเดิมอีก โดยพูดเรื่องนี้บ่อยมาก และเมื่อปลายปีก่อน (๒๕๓๕) ท่านอาจารย์ได้ปรารภในทำนองว่า ท่านหน่ายลังขารแล้ว และคิดว่าโดยสภาพคงจะอยู่ได้อีกเพียงปีเดียว หลังจากนั้นทุกคนมักจะได้ยินว่า ท่านอาจารย์พูดเรื่องพระนิพพานมากขึ้น บ่อยขึ้นๆ กับทุกข์คนที่มาพบท่าน โดยเน้นเรื่องที่สุดแห่งทุกข์ การไม่มีอารมณ์ ผมเองนั้นทุกครั้งที่เข้าไปพบท่าน ท่านอาจารย์ก็จะพูดเรื่องจิตที่ไม่มีอารมณ์ (อนารัมมณัง จิตตัง) ให้ฟังเสมอ
แม้หลายคนจะเริ่มคิดถึงเรื่องการมรณภาพของท่านอาจารย์ แต่ก็ยังไม่มีใครที่จะคิดไปถึงว่า คำปรารภต่างๆ ของท่านจะเป็นจริงในเวลาอันรวดเร็วขนาดนี้ และไม่มีใครคาดด้วยว่า ท่านจะอาพาธหนักด้วยอาการทางสมองอีกครั้ง จึงไม่มีการกราบเรียนปรึกษาท่านไว้ล่วงหน้า ถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติในการถวายการรักษา ในกรณีที่ท่านอาพาธด้วยอาการทางสมองอีก สิ่งที่เราเห็นก็คือ การเตรียมตัวของท่านเองในเรื่องการมรณภาพ เช่น การทำพินัยกรรมเพื่อสั่งเสียเรื่องการจัดการศพ และการให้เริ่มสร้างที่เก็บศพของท่านในบริเวณด้านหลังของศาลาธรรมโฆษณ์ โดยเริ่มมาตั้งแต่มีนาคม ๒๕๓๖ เหมือนกับว่าท่านอาจารย์กำลังเตรียมตัวอะไรของท่าน ?
นอกจากนี้ ท่านสิงห์ทองยังเล่าว่า ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๖ มานั้น ท่านอาจารย์ได้ยุติกิจวัตรอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านทำต่อเนื่องมาหลายสิบปี นั่นคือหยุดการติดตามข่าวสารบ้านเมืองดังเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุหรือทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นท่านจะต้องฟังข่าวตั้งแต่เช้ามืด และอ่านหนังลือพิมพ์นิตยสารข่าวต่าง ๆ จำนวนมาก หรือให้พระอ่านให้ฟัง แต่นับจากต้นปีมา ท่านจะยุติเรื่องทางโลกทั้งหมด แล้วให้ท่านสิงห์ทองอ่านแต่หนังสือธรรมะให้ท่านอาจารย์ฟังทุกวัน เซ่นอ่านหนังสือธรรมโฆษณ์เล่มใหญ่ที่ท่านชอบ อาทิ ไกวัลยธรรม สุญญตา และอื่นๆ อีกมาก
ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๖ ซ่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านอาจารย์จะอาพาธในปลายเดือนนี้ ท่านอาจารย์สามารถอ่านหนังสือและใช้ความคิดในการเขียนบันทึกงานของท่านได้มากขึ้น แต่ปัญหาต้อกระจกที่ตาขวา ซึ่งท่านเป็นมานาน และรักษาโดยการหยอดยานั้น เริ่มมีปัญหามากขึ้น จนทำให้ท่านไม่สามารถทำงานตามที่ตั้งใจได้อย่างเต็มที่นัก ผมเดินทางลงสวนโมกข์พร้อมกับ ศ.น.พ.ปราโมทย์ ทุมวิภาต หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราช เพื่อถวายการตรวจอาการต้อกระจกโดยละเอียดอีกครั้ง หลังจากที่น.พ.ปกรณ์ อภิชนาพงศ์ จักษุแพทย์ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ได้มาถวายการตรวจไปแล้วครั้งหนึ่ง อาจารย์ปราโมทย์ได้กราบเรียนท่านอาจารย์ภายหลังการตรวจว่า การรักษามี ๒ แนวทาง คือ การผ่าตัดทันที และการหยอดยาต่อไปเช่นเดิม เพื่อรอเวลาผ่าตัดที่เหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ท่านอาจารย์มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้สายตาเพียงใด ท่านอาจารย์ได้ซักถามโดยละเอียดเกี่ยวกับแนวการรักษาโดยการผ่าตัด ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และหากจะผ่าตัดจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลหรือเปล่า ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะสามารถใช้สายตาได้ สายตาจะกลับมาใกล้เคียงอย่างเดิมได้หรือไม่ ฯลฯ อาจารย์ปราโมทย์ได้กราบเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ และเสนอแนะว่า ในกรณีผ่าตัด เพื่อความปลอดภัย หลังการผ่าตัดควรจะพักอยู่ในโรงพยาบาลอีกประมาณ ๒ วัน และการผ่าตัดดังกล่าว สามารถทำได้ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ฯลฯ หลังจากท่านรับฟังข้อมูลต่างๆ แล้วก็ยังไม่มีการตกลงนัดหมายอะไรเนื่องจากอาจารย์ปราโมทย์ จะต้องเรียนให้ท่านอธิการบดี คืออาจารย์ประดิษฐ์ ทราบก่อนตามขั้นตอน
บ่ายวันนั้น ผม น.พ.วิโรจน์ และพ.ญ.เสริมทรัพย์ ได้เข้าไปสนทนากับท่านอาจารย์ ท่านถามพวกเราว่า มีความเห็นอย่างไรเรื่องการผ่าตัดตา พวกเราก็กราบเรียนว่า ควรจะทำ เพราะจะช่วยให้ท่านอาจารย์ใช้สายตาได้ดีขึ้น นอกจากการพูดคุยเรื่องการผ่าตัดตาแล้ว ประเด็นหนึ่งซึ่งท่านกล่าวขึ้นมาด้วยในตอนนั้น ก็คือ ความตายของมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านได้พูดเป็นนัยว่า เมื่อเวลาที่ท่านจะต้องเผชิญกับความตายโดยใกล้ชิดนั้น จะมีใครหรือไม่ที่สามารถจะช่วยให้ท่านละวางจากไปโดยสงบได้ ?
อาทิตย์ต่อมาคือวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๖ อาจารย์ประดิษฐ์ ท่านอธิการบดีได้เดินทางมาสวนโมกข์ เพื่อถวายพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แด่ท่านอาจารย์ ได้มีการปรึกษาถึงเรื่องการผ่าตัดตาด้วย ท่านอาจารย์ได้ตกลงใจอยู่ก่อนแล้วที่จะรับการผ่าตัด เพราะเห็นว่าจะช่วยให้ท่านทำงานต่าง ๆ ได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนที่ท่านปรารภกับพ.ญ.เสริมทรัพย์ว่า “ตายไม่กลัว แต่กลัวตาบอด” แล้วอีก ๒-๓ วันต่อมา ท่านก็บอกเพิ่มว่า “ถ้าตาบอดจริงๆ ก็พูดเอาก็ได้”
ดังนั้นจึงได้มีการนัดหมายว่า อาจารย์ปราโมทย์ จะมาถวายการผ่าตัดตาที่โรงพยาบาลลุราษฎร์ธานีในวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๖ ผมได้เรียนกับท่านพรเทพไว้ว่า หากทราบวันผ่าตัดตาที่แน่นอนแล้ว ให้กรุณาแจ้งผมด้วย ไม่มีใครในเวลานั้นที่จะคาดเดาหรือคิดไปว่า อีกเพียง ๒ วันต่อจากนั้น ท่านอาจารย์จะอาพาธหนักอีกครั้ง และอีกสี่สิบกว่าวันต่อจากวันอาพาธ ท่านอาจารย์ก็ละจากไปด้วยปัจฉิมอาพาธครั้งนี้นั่นเอง
๗ วาระวิกฤติ
วันอังคารที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ผมทราบข่าวจากโทรทัศน์ช่อง ๙ ว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสอาพาธด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก ตอนแรกผมยังไม่ค่อยเชื่อข่าวนี้นัก เนื่องจากไม่เห็นการเสนอข่าวของโทรทัศน์ช่องอื่นๆ และข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับใดๆ แต่เมื่อเช็คข่าวจนแน่ใจแล้วว่าท่านอาจารย์อาพาธหนักมากจริง ผมก็โทรศัพท์เรียนหาท่านอธิการบดี เพื่อจะขออนุมัติเดินทางไปสวนโมกข์ เนื่องจากช่วงนั้นเป็นวันทำงาน ตอนที่โทรศัพท์ไปเรียนท่านนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ไม่อยู่ ผมจึงเรียนผ่านเลขานุการของท่านว่าผมขออนุมัติเดินทางไปสวนโมกข์ โดยมิได้แจ้งกำหนดวันกลับ ความรู้ลึกตอนนั้นคืออยากจะลงไปช่วยถวายการดูแลท่าน อาจารย์
ผมเตรียมที่จะเดินทางทันทีในวันรุ่งขึ้น คือ วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม แต่มาทราบก่อนว่า อาจารย์นิพนธ์ได้เดินทางลงไปสวนโมกข์แล้ว ผมจึงวางใจและชะลอการเดินทางไว้ก่อน จนกระทั่งทราบว่าอาจารย์นิพนธ์กลับกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน ผมจึงเตรียมเดินทางไปสวนโมกข์ เนื่องจากอยากจะให้มีแพทย์อยู่กับท่านอาจารย์ตลอดเวลา นอกจากนั้นเป็นเพราะอาจารย์นิพนธ์ได้โทรศัพท์หาผมด้วยในเช้าวันที่ ๒๗ เล่าอาการของท่านอาจารย์ และบอกว่าการถวายการรักษาครั้งนี้จำเป็นจะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบหายใจด้วย ผมจึงเดินทางในเย็นวันนั้น ก่อนขึ้นเครื่องบินก็ทราบข่าวว่า ได้มีการนำท่านอาจารย์จากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ กลับสวนโมกข์แล้ว โดยที่ผมยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่นอน
ผมถึงสวนโมกข์ประมาณ ๓ ทุ่ม เช่นเดียวกับการมาถวายการรักษาคราวแรกเมื่อปี ๒๕๓๔ แต่ครั้งนี้มีผู้คนมากมายพลุกพล่าน ทั้งสื่อมวลชน ศิษยานุศิษย์ ฯลฯ ผมเข้าไปถวายการดูแลท่านในกุฏิทันที เนื่องจากขณะนั้นท่านอาจารย์ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ โดยใส่มาจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ตามหลักการแพทย์แล้ว คืนนั้นจะเป็นช่วงที่อาการของท่านหนักมากที่สุด เพราะเป็นวันที่ ๓ ที่เส้นโลหิตแตก สมองจะบวมเต็มที่ โอกาสที่จะเกิดวิกฤตจึงมีสูงมาก คืนนั้นผมอยู่ในกุฏิตลอดทั้งคืนด้วยความเป็นห่วง ระหว่างนั้นจะต้องคอยตรวจอาการต่าง ๆ ของท่านเป็นระยะๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท การหายใจ การทำงานของหัวใจ ฯลฯ รวมไปถึงการดูดเสมหะเป็นช่วงๆ เพื่อให้การหายใจสะดวก
ช่วงระหว่างตี ๒ - ๕ ผมอยู่กับท่านอาจารย์โดยลำพังเพราะพระอุปัฏฐากและอีกหลาย ๆ คนอดนอนมาหลายคืน จึงกลับไปพักผ่อนเอาแรง อาศัยมีพยาบาลและบุรุษพยาบาลเวรคอยเข้ามาช่วยการปฏิบัติรักษาเป็นช่วงๆ ทำให้ผ่อนภาระไปได้บ้าง
ความรู้สึกของผมในช่วงขณะนั้นคือ “กลัวท่านจะตาย และรู้สึกว่าไม่อยากให้ท่านตาย” แต่คราวนี้เกิดจากความรู้สึกเป็นห่วงและผูกพันกับท่าน มิใช่เกิดจากความกลัวว่าท่านจะมรณภาพในขณะที่เราเป็นแพทย์ผู้รับผิดชอบ เหมือนความรู้สึกตอนที่มาถวายการรักษาครั้งแรกในปี ๒๕๓๔ แต่ถ้าไม่อาจฝืนสภาพแห่งสังขารได้ และท่านอาจารย์จะต้องจากไปจริงๆ แล้ว ผมก็อยากจะอยู่กับท่านด้วยในช่วงเวลาสุดท้ายนั้น ซึ่งจะเป็นเมื่อไร ก็ยังไม่มีใครตอบได้แน่ ?
ประมาณตี ๕ ผมรู้สึกง่วงจนไม่ไหว จึงกลับที่พักไปนอนงีบหนึ่ง โดยมอบหมายให้บุรุษพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบดูแลชั่วคราว ผมตื่นขึ้นมาประมาณ ๖ โมงเช้าเศษ กลับไปดูท่านอาจารย์อีกครั้ง อาการท่านยังไม่ดีขึ้น อาการของท่านมากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงสายวันนั้น (๒๘ พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่อาจารย์นิพนธ์เดินทางมาถึงสวนโมกข์อีกครั้ง หลังจากผมและอาจารย์นิพนธ์วางแผนการรักษาเฉพาะหน้ากันเรียบร้อยแล้ว ในตอนบ่ายได้มีการประชุมตกลงกันว่า จะนำท่านอาจารย์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ผมไม่ได้เข้าประชุมด้วยเพราะอยู่เฝ้าอาการของท่านอาจารย์ในกุฏิ และในระหว่างการประชุมก็เป็นช่วงที่มีปัญหาการปรับเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้น ผมจึงไม่ทราบเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งอาจารย์นิพนธ์เดินเข้ามาบอกว่า“เตรียมตัวไปกรุงเทพฯ” ผมฟังแล้วก็ยังงงๆ นึกว่า อาจารย์นิพนธ์พูดอะไรกัน? เกิดความสงสัยว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเป็นไปได้อย่างไร?
อาจารย์นิพนธ์บอกผมแล้วก็ไปโทรศัพท์ติดต่อเรื่องการเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ท่านพรเทพมาเล่ารายละเอียดให้ผมฟังอีกทีในภายหลัง ความคิดของผมตอนนั้นคือ จะเอายังไงก็ได้จะให้ไปก็ไป หรือจะให้อยู่ก็อยู่ แต่ถ้าถามความรู้สึกส่วนตัวของผม หรือถ้าผมเป็นผู้กำหนดการตัดสินใจ ผมคิดว่าตนเองคงอยากจะให้ท่านอาจารย์อยู่สวนโมกข์ต่อไป เพราะผมรู้สึกว่า การอาพาธครั้งนี้รุนแรงมาก จนสังขารของท่านไม่น่าจะฝืนไหว การที่ได้ติดตามดูแลสุขภาพของท่านมาโดยตลอดผมจึงคิดว่าพอที่จะรู้สภาพพื้นฐานของผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วง ๒ เดือนหลังก่อนจะอาพาธนั้น ถ้าพูดกันอย่างตรง ๆ แล้ว ท่านอาจารย์เหมือนคนที่ไม่มีความสนใจจะมีชีวิตอยู่นัก แต่นี่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ดังนั้นเมื่อมีการตัดสินใจแล้วว่าจะนำท่านขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อเข้ารักษาที่ศิริราช ผมก็เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดโดยคิดว่า ในเมื่อเป็นช่วงสุดท้ายของท่านอาจารย์แล้ว ก็อยากจะทำอะไรให้ท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้
คืนวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๖ เราเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ถึงศิริราชเมื่อ ๐๑.๐๕ น. ของวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม เรานำท่านเข้ารับการดูแลในหออภิบาลระบบทางเดินหายใจ หรืออาร์ซียู (RCU) ตึกอัษฎางค์ชั้น ๒ โดยมีพระอุปัฏฐาก คือท่านพรเทพ ท่านสิงห์ทอง และพระรอเบิร์ต สันติกโร คอยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนผมก็อยู่กับท่านอาจารย์ตลอดตั้งแต่คืนวันนั้นและต่อเนื่องมาอีก ๑๔ วัน ๑๔ คืนในห้องอาร์ซียู ความคิดของผมตอนนั้น คือ หากท่านอาจารย์รู้สึกตัวขึ้นมา คงจะมีอะไรที่ไม่ถูกใจท่านเยอะ และท่านก็คงจะงงด้วย ผมจึงคิดว่า หากเราอยู่กับท่าน ก็คงจะเป็นประโยชน์บ้าง หากท่านอาจารย์มีโอกาสจะฟื้นขึ้นมาได้
ช่วง ๗ วันแรกในอาร์ซียู ผมรู้ลึก “สนุก” คือพอใจกับการทำหน้าที่ตรงนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยอยู่เวรกลางคืนชนิดต้องอดนอนแบบนี้มานานแล้ว มิหนำซ้ำยังติดต่อกันหลาย ๆ คืนอีกด้วย ที่ผมรู้สึกสนุกก็เพราะมีความหวังขึ้นมาในช่วงนั้นว่าอาการของท่านจะดีขึ้น และในเวลา ๗ วัน ถ้าอาการของท่านอาจารย์ไม่ดีขึ้น ก็จะมีการพาท่านกลับสวนโมกข์ แต่เมื่อสัปดาห์แรกผ่านไป ผมพบว่าแนวโน้มไม่ได้ออกมาในทางดังกล่าวนัก ตอนนั้นความสนุกหรือความพอใจ จึงเริ่มลดน้อยลง แต่ด้วยความเป็นห่วงท่านอาจารย์ ผมจึงอยู่ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อมาอีก ๑ สัปดาห์
แล้วความไม่สนุกก็ได้เปลี่ยนไปสู่ความรู้สึกเริ่มไม่สบายใจเมื่อเห็นว่าอาการของท่านอาจารย์มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ เข้ามาช่วยการทำงานของร่างกายท่านมากขึ้นทุกที แม้ผมจะทราบว่า นั่นคือแนวทางการรักษาตามปกติธรรมดาในโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป แต่มันก็เริ่มเบี่ยงเบนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจากทัศนะที่ตนเองได้รับทราบ และเห็นการปฏิบัติของท่านอาจารย์ในระหว่างการอาพาธมาก่อน เมื่อ ๒ อาทิตย์ผ่านไป ผมจึงทำจดหมายถึงท่านคณบดี ศ.น.พ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ และท่านหัวหน้าหน่วยของผมคือ ศ.น.พ.รังสรรค์ ปุษปาคม ว่าผมขอหยุดพักการดูแลท่านอาจารย์อย่างใกล้ชิดเหมือนที่ปฏิบัติในช่วง ๒ สัปดาห์แรก โดยเรียนเหตุผลว่าการอาพาธของท่านอาจารย์นั้น เมื่อผ่านมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว อาการของท่านอยู่ในสภาพทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่าอาการคงจะยืดเยื้อไปอีกนาน ผมจึงขอกลับไปปฏิบัติภารกิจตามปกติ คือ กลับไปสอนนักศึกษาและตรวจผู้ป่วยอื่นๆ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต และได้มีการจัดเตรียมแพทย์หลายคนมาผลัดเปลี่ยนกันดูแลท่านอาจารย์เป็นการต่อเนื่องตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมงโดยที่ผมก็ยังติดตามดูอาการของท่านอาจารย์อยู่ตลอดในช่วงเช้า และช่วงที่ว่างจากภารกิจประจำวัน และในช่วงเย็นก่อนที่ผมจะกลับที่พัก ขณะเดียวกันผมได้เรียนให้พระอุปัฏฐากทราบว่า ผมจะขอปลีกตัวไปทำงานอื่น คงจะมีเวลาช่วยดูแลท่านอาจารย์น้อยลงกว่าเดิม แต่ถ้าจะกลับสวนโมกข์เมื่อไร ผมจะไปด้วยทันที
สัปดาห์ต่อ ๆ มาหลังจากนั้น อาการของท่านก็ทรง ๆ ทรุดๆ แต่คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาก็ยังมีความหวังอยู่ว่าจะถวายการรักษาท่านได้ เพราะเชื่อว่าการตื่นตัวทางระบบประสาทในระยะยาวจะดีขึ้น โดยตั้งความหวังที่จะถวายการรักษาต่อไปจนสุดความสามารถ หรือจนกว่าจะมีข้อชี้บ่งถึงการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ที่ชัดเจน จึงจะให้นำท่านกลับสู่สวนโมกข์
แล้วในวันพุธที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๖ นั้นเอง สังขารของท่านอาจารย์ก็เริ่มแสดงอาการดังกล่าวออกมา เพื่อบอกให้ทราบว่า เวลาแห่งการแตกดับของท่านได้มาถึงแล้ว.....
๘ ๑๓ ชั่วโมงสุดท้าย
ก่อนผมจะกลับที่พักในคืนนั้น ช่วงประมาณทุ่มเศษ ท่านอาจารย์มีอาการหายใจหอบมากขึ้นกว่าเมื่อตอนบ่ายอย่างชัดเจน โดยที่ขณะนั้นเราไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่นอน แต่อาการดังกล่าวก็เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบล่วงหน้าว่า มีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว และอาจนำไปสู่จุดแห่งการสิ้นสุดของท่านอาจารย์ได้?
เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น.เศษ น.พ.พูนทรัพย์ วงศ์สุรเกียรติ์ ซึ่งรับผิดชอบเวรการดูแลท่านอาจารย์ในคืนนั้นได้โทรศัพท์มาหาผมยังที่พัก รายงานว่าอาการของท่านอาจารย์ทรุดลงเรื่อยๆ สันนิษฐานว่า คงมีการติดเชื้อในกระแสโลหิตขั้นรุนแรง โดยที่ยังไม่ทราบอวัยวะเริ่มต้นของการติดเชื้อที่แน่นอน ผมบอกให้ น.พ.พูนทรัพย์ รีบติดต่อเรียนให้อาจารย์นิพนธ์ และอาจารย์ท่านอื่นที่เกี่ยวข้องทราบ แล้วดำเนินการศึกษาไปตามขั้นตอนที่คิดว่าเหมาะสม น.พ.พูนทรัพย์โทรมารายงานความคืบหน้าของอาการให้ผมทราบเป็นระยะๆ ทุกชั่วโมง
จนประมาณตี ๒ ของวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ผมรับฟังรายงานแล้ว เห็นว่าอาการของท่านอาจารย์คงจะไปไม่ไหวอีกแล้ว เนื่องจากความดันโลหิตของท่านต่ำลงเป็นลำดับ และต้องใช้ยาเพิ่มความดันขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมตัดสินใจออกจากที่พักเดินไปศิริราชกลางดึก ถึงที่นั่นสักพักอาจารย์นิพนธ์ก็มาถึงและได้ตัดสินใจที่จะให้นำท่านอาจารย์กลับสวนโมกข์ ผมไปปลุกพระอุปัฏฐาก เพื่อแจ้งข่าวกับท่านตอนประมาณตี ๓ พร้อมกับติดต่อไปที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ให้เตรียมพร้อมและคอยติดตามความคืบหน้าต่อไปด้วย แล้วผมก็กลับที่พักเพื่อเอาเสื้อผ้าเตรียมตัวไปสวนโมกข์ เพราะตอนแรกนั้นผมยังไม่ทราบว่าจะมีการตัดสินใจให้ท่านกลับ เพียงแต่คิดว่าอยากจะไปอยู่กับท่านอาจารย์ในช่วงท้าย ๆ ของท่านเท่านั้น
เวลา ๗.๑๕ น. เราเคลื่อนย้ายท่านอาจารย์ออกจากห้องอาร์ซียูไปขึ้นรถพยาบาล แพทย์ที่ร่วมเดินทางกลับสวนโมกข์กับท่าน ก็คือ อาจารย์นิพนธ์และผม โดยผมทำหน้าที่ดูแลเรื่องการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตของท่าน เราออกจากสนามบินกองทัพอากาศเมื่อเวลาประมาณ ๘.๔๕ น. ขณะที่เริ่มเดินทางนั้น อาการของท่านยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระหว่างที่อยู่ในเครื่องบิน ยังคงถวายยาต่างๆ ในขนาดเท่าเดิม แต่ใซ้เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติสำหรับการขนส่งผู้ป่วยชนิดเคลื่อนย้ายง่ายของโรงพยาบาลภูมิพล แทนการใช้เครื่องแบบบีบด้วยมือ ชีพจรของท่านในช่วงนั้นแรงสม่ำเสมอดี และระบบไหลเวียนของโลหิตไปยังเนื้อเยื่อส่วนปลายอยู่ในเกณฑ์เพียงพอ ผมพยายามปรับขนาดของยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้ท่านหายใจสงบ และไม่มีการเคลื่อนไหวในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ท่านอาจารย์ในสายตาของผม รวมทั้งพระอุปัฏฐากและเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศที่ร่วมเดินทาง จึงดูเหมือนกับกำลังนอนหลับสนิท
แต่ผมก็รู้และแน่ใจแล้วว่า เวลาของท่านอาจารย์ใกล้จะดิ้นสุดอย่างแน่นอนแล้ว เมื่อไปถึงสวนโมกข์ ท่านคงจะอยู่ที่นั่นได้อีกไม่นานนัก............
เครื่องบินใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ๑๐ นาที ก็ถึงสนามบินสุราษฎร์ธานี คณะแพทย์พยาบาลพร้อมรถพยาบาลจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ มารอรับท่านอาจารย์อยู่แล้ว เราใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที เคลื่อนย้ายท่านขึ้นรถพยาบาล แล้วมุ่งหน้าสู่สวนโมกข์ ก่อนที่จะถึงสวนโมกข์เล็กน้อย ชีพจรของท่านเต้นเบาลง และปลายมือปลายเท้าเย็นลงด้วย จึงต้องเพิ่มขนาดยาทางหลอดเลือดจนสูงสุด ชีพจรถึงแรงขึ้นมาอีกเล็กน้อย
เราเดินทางถึงสวนโมกข์ประมาณ ๑๐.๓๐ น. ข่าวการนิมนต์ท่านกลับ และอาการที่เพียบหนักของท่านอาจารย์ทำให้มีผู้คนมากมาย ทั้งพระ ฆราวาส โดยเฉพาะสื่อมวลชนมารอทำข่าวกันเนืองแน่น เรานำท่านเข้าสู่กุฏิประจำ ซึ่งท่านอาจารย์ถือว่าเป็น “โรงพยาบาล” ตามแบบของท่านอีกครั้งหลังจากที่ท่านจากไปอยู่ที่ศิริราชเสีย ๔๑ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๖ เรายังคงถวายยาต่าง ๆ ทางหลอดเลือดเช่นเดิม ร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลสุราษฏร์จัดเตรียมไว้ ผมสังเกตจากสีหน้าของท่านที่เริ่มซีดลง ทำให้รู้ว่าอีกอึดใจ ทั้งยาและเครื่องช่วยหายใจเหล่านี้ ก็มิอาจจะประวิงเวลาการจากไปแห่งสังขารของท่านได้อีกต่อไป ตอนนั้นผมและน.พ.วิโรจน์ถวายการดูแลอยู่ทางด้านขวามือของท่าน และน.พ.ทรงศักดิ์อยู่ทางด้านซ้ายมือ แล้วชีพจรของท่านอาจารย์ และการไหลเวียนของโลหิตไปสู่เนื้อเยื่อส่วนปลายก็ค่อย ๆ ทรุดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็พบว่าชีพจรของท่านได้หยุดเต้น และท่านอาจารย์ได้มรณภาพไปโดยสงบ เมื่อเวลา ๑๑.๒๐ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖
ผมจำได้ว่าคืนวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ คืนแรกที่ผมมาถวายการรักษาการปัจฉิมอาพาธนั้น ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้ท่านตาย และกลัวที่ท่านจะตาย แต่ในนาทีที่ท่านจากไปจริงๆ นั้น ผมกลับไม่ได้รู้สึกเสียใจ ทั้งนี้เป็นเพราะผมรู้และเตรียมใจกับช่วงเวลาแบบนี้มาก่อนแล้ว อีกประการก็คือ ขณะที่ท่านจากไปนั้น ผมก็อยู่ถวายการดูแลที่ข้างองค์ของท่านตามที่ตนเองได้ตั้งใจไวด้วย โดยเฉพาะเมื่อผมระลึกถึงสิ่งที่ท่านเคยพูดและเคยปฏิบัติให้ผมเห็นมาตลอดว่า ความเจ็บและความตายสำหรับ “พุทธทาสภิกขุ” นั้น มันเป็น “เช่นนั้นเอง” หาใช่สิ่งที่จะต้องหวาดหวั่น ทุกข์ทรมาน หรือต้องดิ้นรน “หอบสังขารหนีความตาย” แต่อย่างไรไม่ ผมจึงรู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจในการจากไปของท่าน
นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นครั้งแรกในกุฏิหลังนี้ และได้เรียนรู้ต่อเนื่องมาจนถึงครั้งสุดท้ายในกุฏิหลังนี้เช่นกัน....
บทส่งท้าย
เดิมนั้น ผมตั้งใจไว้ว่า ช่วงประมาณต้นสิงหาคม ๒๕๓๖ จะไปกราบนมัสการลาท่านอาจารย์พุทธทาส ก่อนที่จะไปศึกษาและทำวิจัยที่ประเทศแคนาดาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมีกำหนดเดินทางในปลายเดือนเดียวกัน ผมไม่ได้คิดว่า ในวันที่ผมจะเดินทางจากประเทศไทยไปนั้น ท่านอาจารย์ก็ได้นอนสงบนิ่งอยู่ในศาลาฝังศพหลังศาลาธรรมโฆษณ์แล้ว และวันที่ผมกราบนมัสการลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายก่อนไปต่างประเทศนั้น จะเร็วกว่าที่ผมคาดไว้ คือเป็นวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นวันที่ผมเดินทางจากสวนโมกข์กลับกรุงเทพฯ ภายหลังพิธีบรรจุศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ผมตั้งใจว่า เมื่อกลับจากต่างประเทศ ผมคงจะไปสวนโมกข์อีกเมื่อมีโอกาส แต่โอกาสที่ผมจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากท่านอาจารย์โดยตรงเหมือนเดิม คงจะหมดไปแล้ว ก่อนไปต่างประเทศ ผมได้มีโอกาสนั่งทบทวนและทำบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านอาจารย์พุทธทาสในช่วงเวลา ๒๐ เดือน ที่ได้ถวายการรักษา ผมสรุปกับตนเองว่า สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์ คือ เรื่องสำคัญ ๒ เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของผมผู้เป็นแพทย์ ประการแรก ได้แก่ข้อขบคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเป็นไปได้หลายรูปแบบ ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ แบบอุปถัมภ์ ระหว่างบิดากับบุตรในระบบครอบครัว หรือระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ปรารถนาจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่กันและกัน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในระหว่างการรักษาอาการอาพาธของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น ได้ทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นในเรื่องนี้อย่างมาก และหันมามองทบทวนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยของเราในปัจจุบันนั้น อยู่ในแบบไหน และความสัมพันธ์แบบใดจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษามากที่สุด ผู้ป่วยควรมีบทบาทกำหนดรูปแบบการรักษาหรือไม่อย่างไร และแพทย์ควรมีบทบาทกำหนดการรักษาแค่ไหนอย่างไร ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขึ้นกับว่า เรามีทัศนะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยแบบไหน
การได้มีโอกาสถวายการรักษาท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยในแบบที่นอกเหนือไปจากระบบอุปถัมภ์อย่างที่ผมเคยชินอยู่ ซึ่งเป็นระบบที่แพทย์จะเป็นผู้กำหนดแนวทาง และวิธีการรักษาทั้งหมดตามที่ตนเองเห็นชอบ โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เองก็มอบการตัดสินใจทั้งหมดให้ขึ้นกับความรู้และการวินิจฉัยของแพทย์ เพราะความเชื่อมั่นในความรู้และวิทยาการสมัยใหม่
ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นผู้ป่วยที่ทำให้ผมรับรู้ว่า แพทย์มิใช่ผู้กำหนดกระบวนการศึกษาทั้งหมด สำหรับท่านแล้ว แพทย์และวิทยาการสมัยใหม่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาการอาพาธของท่านอาจารย์เท่านั้น ความสัมพันธ์ของท่านกับการแพทย์สมัยใหม่ จึงมิใช่อยู่ในรูปแบบของการพึ่งพิงอย่างสิ้นเชิง หรืออย่างทั้งหมดดังเช่นทั่ว ๆ ไป ในเวลาที่ท่านอาพาธ ท่านอาจารย์จะพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ให้อยู่ในขอบเขตที่ท่านเองยอมรับได้ และเห็นว่าเหมาะสมกับท่าน ท่านอาจารย์จึงมีทั้งด้านที่ตอบรับการแพทย์สมัยใหม่ และด้านที่ปฏิเสธ แต่ก่อนที่ท่านจะตอบรับหรือปฏิเสธนั้น ท่านจะต้องซักถามและพินิจพิเคราะห์ข้อมูลที่เรากราบเรียนท่านก่อนด้วยทุกครั้งเสมอ
ดังนั้นในกระบวนการถวายการรักษา จึงมีการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมเห็นว่าประเด็นนี้เป็นประโยชน์ต่อการรักษามาก เพราะทำให้เกิดความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในหลายกรณีที่ท่านอาจารย์ปฏิเสธวิธีการรักษาของแพทย์ แต่ก็เป็นการปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล มิใช่ท่าทีของปฏิปักษ์ และมิใช่ด้วยความดื้อรั้นดึงดันไม่ยอมฟังเหตุผล หรือไม่ยอมทำความเข้าใจสิ่งที่แพทย์เสนอ แต่ผมเห็นว่าท่านเข้าใจดี เพียงแต่ว่าท่านมีวิธีอื่นที่ท่านต้องการจะเลือกมากกว่า เพราะวิธีดังกล่าวสอดคล้องได้มากกว่ากับหลักการของท่านอาจารย์เอง
แม้ในส่วนของแพทย์เอง การได้ลื่อสารกับผู้ป่วยก็จะช่วยให้แพทย์ได้เรียนรู้ผู้ป่วยของตนเองมากขึ้น กว่าแค่การตรวจ-วิเคราะห์โรค-สั่งยาหรือวิธีบำบัดต่าง ๆ ไปอย่างอัตโนมัติแบบกลไก และสิ่งที่แพทย์ได้เรียนรู้จากผู้ป่วยนั้นจะเป็นประสบการณ์ที่พัฒนาองค์ความรู้ของตนเองให้แตกฉานออกไปอีกด้วย แม้ว่าช่วงเวลาในการถวายการรักษาท่านอาจารย์ จะยังน้อยเกินกว่าที่ผมจะก้าวไปสู่ความแจ่มแจ้งตรงนี้ได้ แต่ผมก็ได้แนวคิดที่จะไปคิดต่อว่า จะนำกรณีของท่านอาจารย์นี้ ไปประยุกต์ใช้อย่างไรในการดูแลรักษาคนไข้ เพื่อจะทำให้มีการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น และเกิดความคิดว่าเราควรจะต้องพยายามที่จะปฏิบัติกับผู้ป่วยอื่นๆ ด้วยหลักที่ไม่แตกต่างจากกรณีของท่านอาจารย์ แม้ว่าเวลานี้ผมอาจจะยังไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ตาม
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์อีกประการหนึ่ง ก็คือทัศนะและการปฏิบัติของท่านในเรื่องความเจ็บป่วย การรักษาและการตาย ทำให้เห็นว่าในระบบวิทยาการของการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มุ่งจะค้นหาและวิเคราะห์ส่วนย่อยของร่างกายที่ผิดปกติ เพื่อความเข้าใจปรากฏการณ์แล้ววางแผนการรักษาไป โดยไม่ได้มองว่าการเจ็บป่วยของมนุษย์นั้น ไม่ได้มีเพียงมิติทางร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เรายังละเลยกันมาก ก็คือ มิติทางจิต (Mental) และวิญญาณ (spiritual) ของผู้ป่วย ทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดการประสานกลมกลืนทั้ง ๒ มิตินี้ ให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในการเยียวยารักษาผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง นี่เป็นปัญหาที่ผมคงต้องขบคิด และมุ่งหวังให้แพทย์ในระบบปัจจุบันได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ จะช่วยให้เราปฏิบัติหน้าที่ในคณะแพทย์ได้อย่างถูก “ต้องมาก” ขึ้น และเมื่อใดที่เราทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เมื่อนั้นเราย่อมปฏิบัติธรรมไปในตัว ดังที่ท่านอาจารย์มักจะพูดอยู่เสมอว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” หรือ “ธรรมะคือหน้าที่” นั่นเอง
ตลอดเวลาของการถวายการรักษา ผมประทับใจในระบบความคิด ระบบการเรียนรู้ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก รู้สึกว่าท่านเป็นนักคิดที่หาได้ยาก และท่านอาจารย์ยังเป็นผู้ที่พอใจกับการเผยแผ่ความคิดที่ถูกต้องตลอดชีวิตการทำงานของท่าน ทั้งโดยวิธีการสอนและการปฏิบัติให้ดู แม้ในยามอาพาธและมรณภาพ ท่านอาจารย์ก็สามารถก่อให้เกิดกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมได้อย่างกว้างขวางและลุ่มลึกด้วย
ผมคิดว่าหน้าที่ต่อไปของพวกเราก็คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ท่านคิดและตั้งปณิธานไว้นี้ ปรากฏเป็นจริงในสังคมไทยให้เร็วที่สุด และถูกต้องงดงามที่สุดด้วย.
นิธิพัฒน์ เจียรกุล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์สวนโมกข์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตและงานของท่านพุทธทาสภิกขุ
โดย
พระโกวิท เขมานันทะ
เหตุผลที่ผมรับคำเชิญมาพูดเกี่ยวกับท่านอาจารย์สวนโมกข์ ก็มีอยู่ ๒ ประการ
ประการแรก คือ อยากจะพูดในสิ่งที่อยากจะพูดซึ่งคิดเพียงแต่ว่าจะได้เพิ่มเติมในส่วนที่ตัวเองได้รู้เห็น เพื่อประกอบกับทัศนะ หรือสิ่งที่ท่านทั้งหลาย ได้ยินได้ฟังจากคนอื่น หรือพระภิกษุรูปอื่น เกี่ยวกับชีวิตของท่านอาจารย์
เหตุผลประการที่ ๒ ก็คือ ผมเองโดยส่วนตัวเป็นหนี้พระคุณท่านอาจารย์มาก ไม่รู้จะตอบแทนด้วยวิธีใดตั้งแต่ท่านสิ้นบุญแล้วก็ยังไม่ได้ลงไปกราบศพ มัวแต่ไปพูดที่โน่นที่นี่ ถือเอาเป็นเสมือนว่าเป็นบุญกิริยา คือ การได้พูดถึงบุคคลที่เรารักเราเคารพ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเทิดทูนเฉพาะท่านอาจารย์สวนโมกข์คนเดียวเท่านั้น คนอื่นเราไม่นับถือ ผมไม่อยากจะเห็นตัวเองหรือเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ชาวพุทธทั่วไปมีกิริยาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอาการยึดมั่นยึดติดในครูบาอาจารย์ของตัว กิริยาเช่นนั้นในพุทธศาสนาถือว่าไม่งาม แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อไปแสดงธรรมจนอุบาสกอุบาสิกาเลื่อมใสแล้ว เปลี่ยนจากการนับถือพวกนิครนถ์หรือไชนะมานับถือท่าน ท่านยังเตือนว่า ให้ทำทานทำบุญกับนักบวชที่เคยนับถือต่อไป
คำนึงถึงภาษิตจีนบทหนึ่ง ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์และครู สำหรับคนร่วมสมัยหรือคนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะเห็นเป็นสิ่งเร่อร่าไปแล้วก็ได้ "เป็นครูหนึ่งวันเป็นบิดาชั่วชีวิต" คำพูดนี้เราได้ยินบ่อย ด้วยเหตุผลที่ว่าปราชญ์จีนโบราณถือว่าครูนั้นหายากยิ่งนัก เป็นธรรมเนียมของคนตะวันออก เมื่อบุคคลเริ่มออกแสวงหาความรู้แจ้งทางวิญญาณ ประการแรกเขาต้องหาครูของเขาให้พบก่อนปราศจากครูแล้วการงอกงามก้าวหน้าย่อมลำบาก เว้นไว้แต่กรณีของบุรุษชาติอาชาไนย อย่างกรณีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่แม้กระนั้นท่านก็ยังตั้งต้นด้วยครู แม้ว่าครูสอนไม่สมบูรณ์ก็ตาม ท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้นเคยปรารภให้ผมได้ยินอย่างน้อย ๒ ครั้ง เรื่องเกี่ยวกับครู ท่านใช้คำว่าผมเพราะว่าผมเองเป็นนักบวชตอนนั้น ท่านไม่ใช้คำว่าอาตมา ครูของผมคือ นายคลำ นั่นคือการทดลองความจริงแห่งชีวิต คลำทางไปโดยลำดับ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้น ต่อวิถีทางของท่านอาจารย์สวนโมกข์
การมีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดมากมาย แต่แล้วความคิดอันนั้นก็ว่างเปล่าเหมือนฟองน้ำที่เหือดแห้งไป ถ้าปราศจากการทดลอง ในหนังสืออัตประวัติของมหาตมคานธี ประโยคแรกนี่สำคัญมาก แม้โดยทั่วไปเราทราบว่ามหาตมคานธีเป็นนักการเมืองเป็นผู้นำ แต่แล้วท่าน เองเรียกตัวเองว่าเป็นนักศาสนา "ข้าพเจ้าทดลองชีวิตทางศาสนาในสนามของการเมือง" จิตสำนึกของมหาตมคานธีนั้นเป็นนักศาสนา เป็นผู้ปฏิบัติศาสนธรรม ผมคิดว่าจิตสำนึกที่นำบุคคลไปสู่ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ต้องพินิจพิเคราะห์เป็นเบื้องแรก
กรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเรารู้ว่าพระองค์ท่านเป็นวีรบุรุษของชาติ รวมชาติบ้านเมืองที่แตกสลายให้คืนสู่เอกภาพ คำถาม คือ เพราะอะไรพระเจ้าตากจึงประสบชัยชนะทั้ง ๆ ที่เป็นสามัญชน ในขณะที่เชื้อพระวงศ์ที่เป็นทายาทสายตรงก็เป็นหัวหน้าก๊กหนึ่งด้วย แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จิตสำนึกที่นำพระเจ้าตากไปสู่ชัยชนะก็คือความจงใจที่จะรวมไทยอีกหนหนึ่งนั่นเอง
ความดำริที่จะรวมไทย ในขณะที่เจ้าก๊กอื่น ๆ นั้นฉวยโอกาสไขว่คว้าเอาบางส่วน ในช่วงที่ประเทศบ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยง จิตสำนึกที่สัตย์ซื่อต่อชาติต่อเกียรติภูมิของบ้านเมืองนี้นำไปสู่ชัยชนะในที่สุด นั่นไม่ได้หมายถึงแค่รวมประชาชนทั้งหมดด้วย จิตสำนึกเช่นนี้สำคัญนัก แต่ว่าเอาชนะใจประชาชนทั้งหมดด้วย จิตสำนึกเช่นนี้เช่นนี้สำคัญนัก มหาบุรุษทั้งหลายหรือบุรุษชาติอาชาไนย ย่อมรักษาจิตดวงแรกที่เปี่ยมกุศลสำนึกไว้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ท่านอาจารย์สวนโมกข์ก็เหมือนกัน ภายหลังนั้นท่านพูดกับผมว่า ที่จริงผมไม่ใช่คนมีความรู้ความสามารถอะไร แต่ผมมีสิ่งหนึ่งคือผมจริงเสมอ ท่านพูดอย่างนั้นแล้วเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่ท่านเทศนา ท่านได้กระทำแล้วอย่างจริงจัง พระภิกษุโดยทั่วไปมักจะพูดเล่นพูดหัวพูดให้โยมติดอกติดใจ แต่ว่าท่านอาจารย์เวลาเปิดมิติแห่งการเทศนานั้น บางทีเราใจเต้นระทึกกลัวท่านจะพูดอะไรที่เราไม่อยากได้ยิน ซึ่งเป็นนิสัยของเรา ที่ไม่อยากให้ใครมาเจาะแทงเข้ามาในหัวใจของเรา เหมือนกับว่าน้องสาวหรือเพื่อนบอกเราว่า เธอมันโง่ เราจะไม่ชอบทั้ง ๆ อาจจะเป็นเรื่องจริง บทบาทของท่านอาจารย์สวนโมกข์นับตั้งแต่วันแรกของการตั้งสวนโมกข์ และปีนั้นเป็นปีประเดิมของการชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญา
ประเทศนี้นับตั้งแต่ราชอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งปกครองด้วยระบบพ่อเมือง บิดาปกครองบุตร จนกระทั่งอยุธยา ด้วยระบบเทวสิทธิ์จนกระทั่งรัตนโกสินทร์ด้วยระบบสมมุติเทพ หรือกินรวมไปถึงสมัยศรีวิชัยด้วยแล้วนับเวลาได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษ ๑,๐๐๐ กว่าปี ที่อำนาจเด็จขาด ศูนย์รวมของอำนาจอยู่ในกำมือของพระมหากษัตริย์ในรูปหนึ่งรูปใด ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นปีที่ประเทศเรามีประสบการครั้งใหม่ คือช่วงแห่งการโนถ่ายอำนาจรัฐ จากการศูนย์รวมไปสู่คณะราษฎร์ สิ่งนี้ถ้าฐานะของผู้รับรู้เป็นนักเรียนนอก เช่นนายทหารที่เคยไปเรียนฝรั่งเศสก็ไม่แปลกอะไร เพราะเอารู้ว่าอำนาจตกถึงมือประชาชนได้ เขามีประสบการณ์ในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ผู้ที่ไม่เคยไปเรียนเมืองนอกอย่างท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น นับเป็นสิ่งใหม่ทีเดียว และผมเชื่อว่าผู้ที่มีพลังสร้างสรรค์ ซ่อนอยู่ในตัว ในช่วงนั้นคงเกิดการเคลื่อนไหวในกระแสความรู้สึกนึกคิดว่ามันอะไรกันนี่ ที่ภาษาโรมันเขาว่า โควาดิส แปลว่าจะเอาทางไหนกันแน่ เมื่ออำนาจที่เคยอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์ ถูกโอนถ่ายไปสู่คณะราษฎร์ซึ่งเป็นอะไรก็ไม่รู้ในความรับรู้ของคนไทยทั่วไป ดังนั้นเองผู้ที่มีพลังอยู่ในตัวจำต้องแสวงหาความจริงด้วยเหตุผลข้อนี้กระมัง ที่มหาเงื่อมซึ่งอยู่ในวัยท้าทายทางภูมิปัญญาและการค้นหานั้น นำสวนโมกข์เข้าสู่ยุคแสวงหาหลักธรรมจากพระคัมภีร์ปิฎก และการปฏิบัติตนเสมือนแปลกประหลาด พึ่งตนเองในกระแสธรรมชาติในช่วงชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญานั้น
อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ท่านอาจารย์พุทธทาสมอบหมายให้ พระโกวิท เขมานันทะ เป็นผู้ปั้นขึ้นไว้เป็นสื่อสอนธรรมะ รูปปั้นนี้ขยายจากองค์จริง ซึ่งค้นพบที่ไชยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในยุคศรีวิชัยนั้น ตามบ้านเรือนโดยทั่วไป จะมีรูปปั้นนี้ไว้บูชา เพื่อระลึกถึง องค์คุณของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ
ชื่อของสวนโมกขพลาราม บอกว่า เป็นอารามสวนป่าที่ให้พลังต่อวิมุติ นี่คือจิตดวงแรกที่ท่านตั้งปณิธานไว้ ผมเชื่อว่าถึงปัจจุบันนี้ปณิธานอันนี้ได้บรรลุถึงตามที่ท่านตั้งไว้แล้ว ตามระดับของท่าน ผมไม่ได้ใช้ประโยคว่าดีที่สุดในโลก ไม่มีใครทัดเทียม ไม่ใช่อย่างนั้น จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะได้เข้าใจอุปนิสัยของท่าน ก็คือท่านเป็นคนจริง และก็จิตดวงใดตั้งไว้แล้ว ก็ต่อสู้เพื่อรักษาจิตดวงแรก ที่ตั้งปณิธานไว้ ให้บรรลุเป้าหมายให้ได้
ครั้งหนึ่งผมเคยเรียนถามท่าน เมื่อสมัยผมเองยังเป็นนักบวช ด้วยความท้อแท้ ระอา หรือจะพูดว่าเบื่อหน่ายพรหมจรรย์ ว่าการบวชช่างเต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์มาก ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ชอบธรรมะ แต่ว่าเมื่อต้องปฏิบัติต้องควบคุมตัวเอง ต้องอดกลั้นนี่มันลำบากมาก เราชอบธรรมะ แต่ไม่ชอบระเบียบอะไรที่มันบีบคั้นมากเกินไป ผมสอบถามท่าน ด้วยความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของท่าน ท่านกลับให้คำตอบเสมือนที่พระพุทธเจ้าให้คำตอบกับพราหมณ์ ซึ่งเข้าใจผิดในทางดีต่อพระองค์ อาจารย์ท่านบอกว่า เปล่า ผมไม่ได้แข็งแกร่งอะไร ผมคิดจะสึกตั้งหลายครั้งนะคุณรู้หรือเปล่า นี่เป็นการบอกอะไรบางสิ่งที่ตรงไปตรงมา สัตย์ซื่อต่อความเป็นจริง ที่จริงท่านจะคุยโวทับเสียก็ได้ว่า ท่านแกร่ง ซึ่งผมก็เชื่ออยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่พราหมณ์คนหนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เป็นสัพพัญญู ตลอดทุกขณะไหม คือรู้แจ้งอะไรทุกอย่างไหม แทนที่พระพุทธเจ้าตอบว่าใช่ ท่านบอกว่าเปล่า ท่านบอกว่าตถาคตไม่ได้เป็นสัพพัญญู รู้แจ้งเห็นจริงตลอดทุก ๆ ขณะ พราหมณ์ก็ยังคิดเข้าข้างว่าก็แล้วทำไม เมื่อถูกถามปัญหาคราวไร พระองค์ท่านตอบได้ทันทีราวกับว่ารู้อยู่แล้วล่วงหน้าเล่า? พระพุทธเจ้าท่านทรงอธิบายว่าเนื่องจากจิตท่านบริสุทธิ์ เมื่อโน้มไปสู่ปัญหา ๆ ก็แตกออก เนื่องจากมนุษย์เรานั้นมีอาสวะห่อหุ้ม ดังนั้นมีความเชื่องช้าทางภูมิปัญญา ปัญญาไม่แล่น ส่วนพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์นั้นก็ไม่ได้รู้คำตอบอยู่ล่วงหน้า นี่คือบุคคลที่มีเกียรติในตัวเอง ในบรรดาผู้นำในทางจิตวิญญาณ มีพระองค์เดียวที่โดดเด่นในความสัตย์ซื่อต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่อ้างตัวว่าเป็นเทพเจ้า ไม่อ้างเรื่องอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ว่าไม่อ้างตัวเองเป็นประตูธรรมซึ่งทุกคนต้องเดินผ่าน นั่นเป็นเกียรติยศในความสัตย์ซื่อ
ท่านอาจารย์สวนโมกข์ก็มีจริยาอย่างนั้น ท่านบอกอะไรตรง ๆ และสาเหตุของการคิดจะสึก ก็เป็นเรื่องน่าขบขันทั้งสิ้น คือเห็นคนเขาถือปืนมายิงนกในวัด ท่านเล่าว่าผมนึกสนุกอยากจะไปหาปืนสักกระบอก ยิงนก มันบอกถึงจิตที่ซุกซนคิดนึก แต่แล้วนั่นเป็นเพียงรูปของความคิดที่ผ่านเข้ามา ส่วนสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าดูแลครอบงำไว้ได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ผมคิดว่าเราน่าจะเรียกว่าบารมี ในความหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนา ไม่ใช่ในความหมายของความเป็นเจ้าพ่อหรืออันธพาล ซึ่งเรานำมาใช้ผิด ๆ เสียแล้ว ปวงพระศาสดาในอดีต ไม่ว่าเป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่หรือศาสดาพยากรณ์ ซึ่งเป็นศาสดาที่มาเพื่อป่าวประกาศท้าทายอำนาจรัฐต่าง ๆ นั้นน่าจะมีอุปนิสัยหนึ่งก็คือความเป็นบุรุษชาติอาชาไนย เมื่อปฏิบัติแล้วก็ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนสำหรับเราท่านผู้มีบุญ คือได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี แต่เราอาจจะด้อยในทางวาสนาที่จะได้ทำการกุศลใหญ่หลวงก็ได้ คือเรามีบุญแต่ว่าบารมีไม่หนุน ผมคิดว่าคนโบราฯผู้เป็นสัตบุรุษของไทย เขาพูดเขาคิดดีมาก ท่านคงได้ยินคำว่า "บุญพาสาสนาส่ง" ใช่ไหมครับ คือ "บุญพาสาสนาส่ง" การไปพระนิพพานนั้นต้องอาศัยบุญและวาสนา บุญมีหากแต่บารมีไม่ถึงเขาพูดอย่างนี้
ที่จริงแล้วผมต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ในการพูดถึงใครคนใดคนหนึ่งให้ถูกต้องบริบูรณ์นั้น เราทำได้ยาก
ผมเองเมื่อต้องพูดเกี่ยวกับพระเดชพระคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น ตะครั่นตะครอทีเดียว เพราะไม่รู้จะพูดออกรูปไหน ตั้งท่าจะพูดในเชิงวิชาการ คิดทบทวนไปทวนมาคิดว่า มันอาจจะมีประโยชน์ แต่ว่าผู้อื่นคงพูดได้ดีกว่าผมแน่ ดังนั้นก็คิดว่า ช่วงหนึ่งผมใช้ชีวิตร่วมกับทาน ในช่วงก่อนหน้าที่โลกจะขานรับ และช่วงหลังจากโลก หรือประเทศชาติ หรือในเอเชียนี้ ขานรับท่านแล้ว น่าจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังได้ สำหรับผมนั้นไม่ว่าโลกจะขานรับท่านหรือไม่ขานรับ ท่านยังเป็นท่านอาจารย์เหมือนเดิม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และไปผ่านสวนโมกข์ที่ไหนก็แวะเข้าไปนั่งถามปัญหาเรื่อยไป โดยไม่ได้รู้สึกว่า ท่านยิ่งใหญ่ หรือท่านเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการพุทธธรรมอะไร ผมคงจะต้องนำเกร็ดเล็ก ๆ น้อยมาเล่า แทนที่จะเป็นวิชาการ แต่นั่นย่อมหมายถึงว่าเป็นอัตวิสัยของผมด้วย เพราะว่าผมเป็นผู้เล่า มีข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่มีคนกล่าวกันว่า เมื่อนักเขียนเล่าอัตประวัติของตัวเองแล้ว จะมีความจริงน้อยกว่าเรื่องที่เขาแต่งขึ้นเสียอีก เพราะเขาได้วางกลไกป้องกันตัวไว้หลายจุดทีเดียว ผมเองไม่ใช่นักเขียน แต่ว่าจะเล่าเพื่อท่านจะได้ข่าวสารเกี่ยวกับบุคลิกภาพ อุปนิสัย ชีวิตส่วนตัว และการทดลองความจริงของท่าน .....
มีคนเคราะห์ร้ายไม่ใช่น้อยที่ลงไปสวนโมกข์ แล้วไปเห็นอากัปกิริยาของท่าน แล้วเข้าใจไม่ได้ เช่นเลี้ยงไก่เต็มวัด หรือเลี้ยงปลารอบกุฏิ หรือเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดี อาจจะเข้าใจผิดว่า แหม ท่านรักสวยรักงาม หรือเป็นอยู่ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ผู้มั่งคั่งเสียอีก โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น ข้อเท็จจริงคือ ท่านอาจารย์นั้นอุทิศเวลาช่วงหนึ่งนั้นสำหรับแปลพระคัมภีร์ แล้วผมจำได้ถึงวันคืนทุกข์ยากของท่านบิณฑบาต ท่านออกบิณฑบาตรับข้าวสวยจากชาวบ้านพร้อมกับน้ำแกง เพื่อให้ฉันแล้วมีแรง นั่งแปลคัมภีร์ที่เราอ่านกันแพร่หลายนั้นเกิดจากวิธีการอันนี้ เมื่อช่วงไหนที่แปลถึงคำพูดของพระพุทธเจ้าในบาลีว่า ตถาคตเป็นไก่ผู้พี่ที่เกิดออกจากฟอง เจาะฟองออกมาก่อน ท่านอาจารย์นั้นก็เลี้ยงไก่ ท่านเลี้ยงเพื่อจะดูสิ่งเหล่านี้ ไก่ออกลูกออกหลานเป็นร้อย ๆ ตัว ทีนี้คนไม่เข้าใจคิดว่า แหม ท่านรักสวยรักงาม เลี้ยงสัตว์เลี้ยงสวย ๆ งาม ๆ แม้แต่เรื่องสุนัขหลายกัณฑ์ทีเดียวของเทศนาล้วนออกมาจากการสังเกตชีวิตของสุนัข เช่น ศัพท์สำนวน "ยกหูชูหาง" ก็คือสุนัขเวลาจะกัดกันเนื่องจากแย่งชิงความสำคัญต่อกันและกัน
ผมได้เกริ่นแล้วว่าช่วงปี ๒๔๗๕ นั้นเป็นช่วงชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญา ไม่ว่าอาจารย์ปรีดี หรือแม้แต่คนแผลง ๆ อย่างนายนรินทร์กลึง (นรินทร์ภาษิต) ก็ตาม นั่นเป็นปฏิกิริยาในช่วงโอนถ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งแต่ละคนไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคมนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก ท่านอาจารย์ก็เหมือนกัน ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวเองของท่านเป็นเหตุให้ค้นพระคัมภีร์ จากความรู้ภาษาบาลีในแค่เปรียญ ๓ สอบตกเปรียญ ๔ ซึ่งต่อมาภายหลังท่านไม่ยอมรับว่าท่านตก ท่านบอกผมว่ากรรมการต้องตรวจผิดแน่ ๆ
ในช่วงของชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญานั้นเองที่ได้เพาะสร้างบุคลิกภาพแปลกประหลาด ท่านคงได้ยินข่าวนะครับว่า ผู้คนรอบสวนโมกข์เก่า คือวัดตระพังจิก ถือว่ามีพระบ้ารูปหนึ่งไปอยู่ ไม่ค่อยพูด พูดน้อย ถ้าท่านเทียบภาพกับปัจจุบันนี้ ท่านเรียกตัวท่านเองว่าหมาบ้าหรือสุนัขปากร้าย ช่วงของการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพจากความเงียบขรึม สุขุม ลุ่มลึก นิ่ง สงบ ไม่พูด มาสู่การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา และแรงกล้า หรือถึงขั้นที่บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องก้าวร้าวต่อโลกและต่อสังคม ช่วงการเปลี่ยนบุคลิกภาพอันนี้ ถ้าเรามองที่ท่าน เราอาจจะมองในแง่ลบว่าท่านเปลี่ยนไปมาก ผมเองเคยมองผิดไป เดี๋ยวนี้ผมมองใหม่แล้ว ผมมองว่าปฏิกิริยาของท่านก็เป็นสิ่งสะท้อน เป็นดัชนีชี้บ่งถึงสังคมไทยซึ่งฟอนเฟะได้ส่วนกันทีเดียว ท่านรุนแรงขึ้นทุกที จนกระทั่งเรียกตัวเองว่าสุนัขปากร้าย คนที่ขวัญอ่อนเกินไป เมื่อไปเจอท่านเข้าลำบากแน่ หลายครั้งหลายหนที่ปฏิกิริยานั้นแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จนผู้ที่ไม่ค่อยคุ้นกับวิถีทางเช่นนี้รับไม่ได้และไม่ไปที่นั่นอีกเลย
ท่านอาจารย์เคยถูกโจมตีใส่ร้ายป้ายสีอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกมหายาน เราถือกันว่าพวกมหายานเป็นพวกนอกรีต โปรดอย่าเข้าใจเช่นนั้น มหายานนั้นเป็นยานที่สูงส่งทีเดียว ถ้าเราศึกษาเข้าแล้วเราจะพบว่า ทุกสิ่งที่หินยานมี มหายานก็มี การแบ่งเป็นมหายาน หินยานนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ไล่ลำดับปริบทเรื่อยเท่านั้นเอง ดังนั้นผู้ที่มีจิตใจเปิดกว้างอย่างท่านอาจารย์นั้นท่านไม่ยอมหยุดอยู่เฉพาะหินยาน ศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เราจะสร้างขึ้นเองได้ เราต้องศึกษาเข้าไปสู่รากเหง้าที่มาของพระวจนะที่แท้จริงนั้น
จุดเด่นของวิถีทางของท่านอาจารย์ก็คือ ท่านไม่เพียงเข้าใจโลกแห่งการแปรเปลี่ยน ท่านเข้าใจชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง แต่มีบางพวกบางเหล่าหรือว่าบางท่าน อาจจะเข้าใจเฉพาะลักษณะซึ่งแปรเปลี่ยนที่เรียกว่า อนิจจัง แต่ไม่เข้าใจลักษณะของการสืบต่อของพระพุทธศาสนาก็ได้ สำหรับท่านอาจารย์นั้นท่านเข้าใจทั้ง ๒ ด้าน การให้ความหมาย บทสวดมนต์และคำนิยามใหม่ พิธีกรรมต่าง ๆ ท่านรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยน เพื่อให้เข้ากับสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การพัฒนาอันมีเทคโนโลยีเป็นใหญ่ หรืออะไรก็สุดแท้ แต่พร้อมกันนั้นท่านไม่ได้ละทิ้งแก่นสารของอดีต ครั้งหนึ่งท่านพูดกับผมว่า ที่จริงสิ่งที่ผมสอนนี้สามารถตั้งนิกายใหม่ได้ แต่ผมจะไม่ทำ ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้าก็ดี เคารพในปราชญ์ครั้งอดีต ท่านเป็นคนสุภาพอ่อนโยนยิ่ง แต่ภาพที่ออกมาล้วนแล้วแต่ทำให้รู้สึกตรงกันข้าม บางคนสั่นหน้า ส่ายหน้า เพราะว่าคำพูดซึ่งตรงไปตรงมา ค่อนข้างก้าวร้าว นี่คือสิ่งที่ผมพยายามที่จะเล่าให้ฟังถึงช่วงแห่งการเปลี่ยนบุคลิกภาพของท่าน มันสะท้อนถึงสังคมไทย ซึ่งหันเหและสับสน ข่ายญาณของท่านผู้นี้หากใครติดตามวาทะของท่านมาตลอด จะพบว่าท่านรู้ทันโลก, ชีวิต ท่านไม่ใช่เป็นภิกษุที่อยู่ป่า แล้วศึกษาพระคัมภีร์ พูดโวหารแบบพระเทศน์บนธรรมมาสน์ แล้วไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสังคมการเมือง
ประมาณช่วงหลังปี ๒๕๐๐ ที่เรียกกันว่ากึ่งพุทธกาล องค์การสหประชาชาติได้ประจักษ์แจ้งขึ้นมาว่า ปัญหาเรื่องการทวีของประชากร จะเป็นปัญหาหลักในอนาคต อาหารจะไม่เพียงพอ จึงเกิดโครงการใหญ่ซึ่งเรียกว่า ปฏิวัติเขียว ในช่วงนั้นเป็นโครงการซึ่งทุกคนปลาบปลื้มกันมาก จนกระทั่งผู้ที่ค้นคิดยาปราบแมลงที่เรียก ดีดีที นั้น ได้รับรางวัลโนเบล เพราะค้นพบกันว่าแมลงทำลายปริมาณของอาหารไป ดังนั้นถ้าจัดการกับแมลงได้แล้ว อาหารก็จะพอเพียงกับจำนวนประชากรซึ่งทวีขึ้นอย่างน่ากังวล เดี๋ยวนี้เราะประจักษ์ชัดว่าปัญหาเรื่องดีดีทีนั้น มันทำท่าจะฆ่ามนุษย์เอาเสียแล้ว การปฏิวัติเขียวครั้งนั้นไม่ใช่คำตอบ เรารู้กันแล้วว่ามันเป็นปัญหาหนัก ช่วงนั้นผู้ค้นพบดีดีทีนั้น ในฐานะเป็นนักวิชาการนั้นสัตย์ซื่อต่อวิชาการก็ได้รับรางวัลโนเบลไป ไม่มีใครสงสัยในด้านลบของการใช้ดีดีที แต่ก็หาได้พ้นข่ายญาณของท่านอาจารย์สวนโมกข์ไปได้ไม่ ในช่วงที่โลกกำลังปลาบปลื้มกับปฏิวัติเขียว อาจารย์ท่านประณามอยู่ตลอดเวลา คือท่านระแวงว่าสิ่งนี้มันจะนำอะไรมาสู่มนุษย์ก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้เรารู้กันแล้วครับว่า ทุกวันเรากินสารพิษเข้าไปมากมาย
ในช่วงที่ท่านกำลังต่อสู้และกำลังปรับเปลี่ยนทั้งทัศนะและบุคลิกภาพนั้นเอง เป็นช่วงซึ่งมีปัญหากับสถาบันสงฆ์มาก สถาบันสงฆ์ค่อนข้างรังเกียจพระหนุ่มรูปนี้ เพราะมีความคิดแปลกประหลาด พูดอะไรไม่เหมือนเพื่อน โจมตีพระพุทธรูปว่าเป็นภูเขาแห่งพุทธธรรม แต่ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วนั้น ท่านอาจารย์เป็นคนซาบซึ้งในพระพุทธรูปมาก ผมบอกได้เลย บางครั้งนั่งคุยกับผมเป็นชั่วโมง เรื่องความงามของพระพุทธรูป นั่นคืออีกด้านหนึ่งซึ่งละเอียดอ่อนและลุ่มลึก แต่ส่วนที่ท่านต้องแสดงออก ก็เพราะว่าเป็นปฏิกิริยาต่อคนทั่วไปที่ยึดถือพระพุทธรูปราวกับเป็นเจว็ดนั่นเอง ไม่ได้มองไปสู่สัญญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ เหนือเศียรพระพุทธรูปมีสิ่งพวยพุ่งขึ้นไปข้างบนเรียกว่า ประภามณฑล หรือศิรประภา เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้อันสมบูรณ์ พระพุทธรูปไม่ใช่รูปเคารพ แต่เป็นสัญลักษณ์ของมณฑลธรรมอันโชติช่วง มีเรือนแก้ว เรือนแก้วหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ความใส่ใจในเรื่องความงามและศิลปะต่าง ๆ ของท่านอาจารย์มีอยู่อย่างมาก อาจจะไม่มีใครได้รับทราบว่า ท่านร้องเพลงไทยได้มากหลายเพลง จำได้มากแต่บทบาทที่แสดงออกต่อสังคม ดูตรงกันข้าม
ผมให้ข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมนี่จะมี ๒ ลักษณะเสมอไป คือสิ่งที่เราแสดงออกสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องของการรู้จักกาลเวลา สถานที่ โอกาส และบุคคล แต่ลึก ๆ ในส่วนตัวของท่านนั้น เราจะพบอีกหลายแง่มุมทีเดียว คณะสงฆ์เคยตั้งข้อรังเกียจกับท่าน มีพระเถระน้อยรูปมากที่เข้าใจท่าน ผมจะระบุถึงได้สักองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์องค์หนึ่ง ที่รักและเข้าใจท่านอาจารย์มาก สมเด็จพระสังฆราชที่อยู่ที่วัดเบญจะ ถึงกับเรียกท่านเข้ากรุงเทพฯ แล้วสั่งห้ามสอนพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านอาจารย์ก็บ่นให้ฟังว่า ที่จริงผมก็ไม่ควรสอนจริง ๆ ด้วย เพราะว่ามันอันตราย แต่ว่าท่านบอกว่า ผมเป็นคนดื้อ ถ้าสิ่งไหนถูกแล้วผมจะดื้อทันที นี่คือนิสัยของท่าน ท่านก็สอนจนได้และสอนจนกระทั่งวันสุดท้าย
แต่แล้วในช่วงฉัฏฐสังคายนา คือ การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศพม่า พระภิกษุเงื่อม ซึ่งถูกรังเกียจจากคณะสงฆ์นั้น กลับเป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ไทย ไปประชุมระดับนานาชาติที่นั่น ทั้งนี้เพราะว่า นายกรัฐมนตรีของพม่าเวลานั้นคือ อูนุ ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ระบุผ่านคณะสงฆ์ขอให้เอาพระรูปนี้ไปประชุม มันเป็นเสียอย่างนี้ เหมือนคำพูดในพระคัมภีร์บอกว่า พระศาสดาจะไม่ประสบความสำเร็จในท้องถิ่นของตัว ผมไม่ได้หมายถึงท่านอาจารย์เป็นศาสดา แต่ผมคิดว่าบุคลิกภาพของท่านนั้น คล้ายคลึงกับศาสดาพยากรณ์ในครั้งอดีต ผมหวังว่าคงเข้าใจความหมายของคำว่า ศาสดาพยากรณ์ ที่เรียกว่า Prophet ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลาย ล้วนต้านอำนาจรัฐต้านความชั่ว และพยากรณ์หายนภัยอันเกิดแต่การปฏิบัติอสัตย์ธรรม ของปวงผู้นำและผู้สนับสนุน
ท่านอาจารย์นั้น แม้จะอยู่ในฐานที่เป็นปราชญ์อยู่ในความทรงจำในช่วงหลังของสังคมไทยแล้วก็ตาม แต่ท่านยังเอ่ยถึงบุคคลที่ท่านเคารพด้วยจิตใจบ่อยครั้ง ผมคิดว่ามีบุคคลอยู่ ๒ คน ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตของท่านคนแรกนั้นเป็นเจ้า คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านพูดถึงบ่อย ถึงความมีจริยาวัตรอันงดงาม ความเป็นนักปราชญ์ ความศรัทธามั่นในพุทธศาสนา แม้สึกจากพระไปแล้วก็ยังเอาบาตรและจีวรเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนตนอะไรเหล่านี้ ซึ่งท่านพูดถึงในแง่ดีบ่อยมาก นั่นเป็นไปได้ทีเดียวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เป็นต้นแบบให้ท่านในช่วงหนึ่ง เพราะท่านยังหนุ่มน้อยอยู่มากเมื่อสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จลงไปศึกษาและรวบรวมวัตถุโบราณทางใต้
บุคคลที่สอง เป็นคนที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน มีอิทธิพลเหนือชีวิตของท่านอย่างมากก็คือ มารดาของท่านเอง บุคลิกภาพบางอย่างเกิดจากแม่ของท่าน เช่นท่านเล่าว่า แม่ของท่านนั้นเป็นคนละเอียดอ่อน เมื่อใช้ให้ท่านหุงข้าวแล้ว เห็นนั่งเฝ้าไฟนั่งดูหม้อเดือด แม่ท่านจะเตือนบอกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ใช้ทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง ทำไมไม่ทำล่ะ เราจะเห็นว่า นิสัยส่วนนี้ท่านติดมาจากมารดาของท่าน แล้วท่านเองก็สารภาพว่า ผมสู้น้องชายไม่ได้ ครูธรรมทาสนั้นละเอียดอ่อนกว่าท่านมาก ชาวไชยาโดยเฉพาะที่ตลาดนั้น เลื่อมใสครูธรรมทาสมากกว่าท่านอาจารย์สวนโมกข์ มีคนพูดกันว่าท่านอาจารย์สวนโมกข์น่าจะเป็นอุบาสก แล้วครูธรรมทาสน่าจะเป็นพระมากกว่า ทั้งหมดนี้อย่าถือสาคำพูด ก็ใครคิดอย่างไรก็พูดกันไป .....
นับตั้งแต่เรารับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากลังกาเข้ามาแล้วสืบสานกันกินเวลาได้ประมาณ ๘๐๐ ปีเศษ ปรากฏการณ์เช่นนี้นับเป็นสิ่งแปลก ในยุโรปหรือที่อื่นเมื่อรับศาสนาหนึ่งศาสนาใดแล้ว กินช่วงเวลาไม่เกิน ๓๐๐ ปี ก็ถึงยุคมืด คือยุคไร้ศาสนา แต่สำหรับประเทศไทย นี่เป็นเรื่องแปลกประหลาดเมื่อรับพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ตั่งมั่นอยู่ได้อย่างต่อเนื่องเหมือนต้นไม้ที่งอกแทงรากลึกแผ่กิ่งก้านกว้าง นับตั้งแต่พระราชอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีนักปราชญ์หรือสมณะรูปหนึ่งรูปใด ที่กล้าตีความพระพุทธวัจนะอย่างตรงไปตรงมา และอย่างเข้มข้นและจริงจัง ถ้าจะให้ผมพูดโดยส่วนตัวก็คือ มีท่านอาจารย์สวนโมกข์นี่แหละครับ ที่เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศนี้ นักบวชทั่ว ๆ ไปในลำดับของประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาในอดีต เขาจะถ่อมมากต่อการเทศนา รูปแบบของการเทศนาบนธรรมมาสน์ท่านจะพบว่า เมื่อพระภิกษุขึ้นนั่งบนธรรมมาสน์แล้วได้รับการอาราธนาแล้วก็ตั้ง นะโม ตัสสะ แล้วตั้งนิกเขปบท คือบทย่อเอาพระพุทธวัจนะที่เป็นบาลีขึ้นตั้ง แล้วก็จะแสดงความถ่อมว่า ณ บัดนี้อาตมาภาพจะแสดงธรรมเทศนา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ว่าเอาเองนะ คล้าย ๆ ทำนองนั้น ไม่กล้าแตะ ไม่กล้าใช้ความรู้สึก ที่ซาบซึ้งหรือความรู้สึกที่ออกมาจากเนื้อในของชีวิตของตัว เข้าไปอธิบายสิ่งนั้น ดังนั้นพุทธศาสนาเถรวาทจึงแตกตัวออกในลักษณะของสถาบัน มีลักษณะของทางวิชาการ พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรม แทนที่จะเป็นวิถีทางของการทำให้เข้าถึง และความดับทุกข์ สมดังเจตนารมณ์ในเรื่องอริยสัจ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว มันต้องเป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่วิถีแห่งวัฒนธรรม เราพบว่า บุคคลอาจจะมีท่าทีทางวัฒนธรรมสูง แต่เขาอาจจะไม่ได้จริงใจก็ได้ เหมือนเวลาฝรั่งมาเราก็รำไทยให้เขาดู ถึงเวลาจริง ๆ เราก็ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของเรา แต่เราแสดงออกวัฒนธรรมของเราเพียงเพื่ออวดว่าเราเป็นชาวพุทธเท่านั้น
สำหรับท่านอาจารย์ท่านไม่เป็นอย่างนั้น ด้วยความรู้ภาษาบาลีประการหนึ่ง โดยการภาวนาอย่างต่อเนื่องเป็นประการที่สอง และอีกประการสำคัญมาก ซึ่งเป็นบาทฐานที่ทำให้งานทั้งหมดของท่านอาจารย์ เกิดเอกภาพ และผิดแผกจากคณาจารย์องค์อื่น ก็คือการใช้ชีวิตซึ่งแนบสนิทกับธรรมชาติ อันนี้ตราไว้ได้เลย ขีดเส้นใต้ตรงนี้ว่า ตลอดช่วง ๘๐๐ กว่าปี รูปแบบพุทธศาสนานั้นค่อนข้างเป็นราชสำนักในบ้านเมืองเรา ค่อนข้างเป็นระเบียบ เป็นวัฒนธรรมที่สูงส่ง แต่ว่าอาจจะห่างไกลวิถีทางแห่งธรรมชาติ
มีความนัยที่ลุ่มลึกอยู่อันหนึ่งในเรื่องนี้ในประเด็นนี้ก็คือ มนุษย์เราไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งในกระแสธรรมชาติอันไม่รู้สิ้นสุดเท่านั้น แต่มนุษย์นั้นยังเป็นอันหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วย ข้ออ้างอันนี้ผมอยากจะพูดว่าสำคัญมากตรงที่ว่า เมื่อมนุษย์คิดว่าตัวเองเป็นนายเหนือธรรมชาติในช่วงที่มนุษย์เลวร้ายมนุษย์ก็ทำลายธรรมชาติ เหมือนที่เรารู้กันอยู่เวลานี้ว่าเป็นวิกฤติการณ์แทบจะถาวรแล้ว ในช่วงที่มนุษย์มีสำนึกขึ้นมาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็จะเกิดการอนุรักษ์ จิตแห่งการทำลายและจิตอนุรักษ์นี่มันเป็นหยิน-หยางหมุนเวียน เมื่อถึงยุคหนึ่ง เดี๋ยวเราก็เริ่มทำลายกันอีก เราบำรุงธรรมชาติพอสมบูรณ์ เราก็ลืมตัวเดี๋ยวเราก็ทำลาย ส่วนการอยู่เหนือการทำลายและอยู่เหนือการอนุรักษ์ นี่สำคัญมาก ถ้าจะเป็นดั่งนั้นต้องเป็นความรู้อีกระดับหนึ่ง ที่ว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ผมจะอ้างคำสอนจางจื้อ ปราชญ์จีนโบราณ ผมอาจจะออกสำเนียงจีนไม่สมบูรณ์ (ทั้ง ๆ เป็นหลานจีน แต่ไม่รู้ภาษาจีนเลย) จางจื้อพูดในนัยยะที่ลุ่มลึกว่า ทีตี้อืออั่วเป็งแซ ฟ้าดินกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน บวงหมั๊วอืออั้วอือเจ๊กอุย อีกสรรพสิ่งกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน นี่เป็นความนัยที่ลุ่มลึก มองโดยแง่ของจิตวิญญาณแล้วมนุษย์เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ มองนัยยะที่แบ่งแยก มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในกระแสธรรมชาติ เช่นเดียวกับเรามองว่า น้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำ เราก็มองได้ เพราะว่ามีก้อนน้ำแข็งลอยอยู่ในน้ำ แต่ว่าธาตุแท้ของน้ำแข็งกับน้ำอันเดียวกัน เมื่อน้ำแข็งละลายหมดก็คือธาตุน้ำ
วิถีชีวิตที่ท่านใช้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผมคิดว่าเป็นบาทฐานใหญ่ที่ส่งผลสะท้อนอันยาวนานมาสู่ตัวท่านเอง สวนโมกข์ และสังคมไทย และเป้าหมายของท่านก็คือ โลกโดยส่วนรวม บันทึกที่สดใหม่มากของท่านอาจารย์ ช่วงที่อะไรเหล่านั้น ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าบันทึกของเดวิด ธอโร่ เรารู้กันว่าเดวิด ธอโร่ ฤๅษีตนแรกของอเมริกันนั้นมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าบันทึกช่วงต้นของท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้นมีอะไรที่ลุ่มลึกกว่า บางทีท่านบันทึกถึงความเจิดจ้าของดวงจิตในขณะที่ภาวนาแล้วก็เกิดประสบการณ์สำคัญ ท่านใช้คำว่า ราวกับว่าสิ่งที่ตาเห็นนั้นเป็นสิ่งไม่ใช่ธรรมชาติหรือเหนือธรรมชาติ นั่นแสดงถึงการก้าวล่วงเข้าไปสู่มิติที่แปลกประหลาด เรียกได้ว่า เป็นประสบการณ์ทางดวงจิต แต่ว่านั่นไม่ใช่สาระที่น่าใส่ใจนัก เพราะว่าแท้ที่จริงนั้นการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาตินั้นให้กำเนิดถ้อยคำอันหนึ่ง สำหรับส่วนตัวของผมแล้วถือว่าเป็นคำซึ่งได้ยินครั้งแรกในชีวิตได้แล้วตรึงตา ตรึงใจอยู่ไม่รู้หาย เมื่อท่านพูดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่อะไรอื่น คือการชำแรกตัวกลับสู่ธรรมชาติอีกหนหนึ่ง นี่สำคัญมาก สำหรับผมแล้วเป็นถ้อยคำยิ่งใหญ่มากทีเดียว เพราะว่ามนุษย์เดินห่างจากธรรมชาติออกมา มนุษย์เมื่อสร้างอารยธรรมแล้ว อารยธรรมนั้นกลายเป็นอุปสรรคเป็นกำแพงกางกั้น เหมือนที่ท่านทราบว่า คำว่าอารยธรรมในภาษาอังกฤษคือคำว่า Civilization, Civil นี่แปลว่าพลเรือนก็ได้ หรือแปลว่าเมืองก็ได้ เมื่อสร้างเมืองแล้วเมืองอาจจะกีดกันไม่ให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้ จิตสำนึกซึ่งพัฒนาในเมืองนั้นง่ายจะติดยึดในสมมุติ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องหันหน้าออกจากวังและแสวงหา ที่ท่านอาจารย์พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเทศนาหลายแห่งหลายที่ ท่านว่าเกิดกลางดิน ใช้ชีวิตกลางดิน กินกลางดิน ตายกลางดิน วิถีชีวิตของมนุษย์เราที่สูงส่งนั้น ไม่ใช่วิถีชีวิตในพระราชวังหรือประดับประดาด้วยทองหยอง หรือเกียรติยศมากมายคติของคนตะวันออกครั้งอตีตสมัยที่รุ่งเรืองด้วยความรู้แจ้งทางปัญญา วิถีที่เร่ร่อน วิถีที่ติดดินเท่านั้นที่จะสอดคล้องกับวัฏจักรและความเป็นไปของมหาวิถีของธรรมชาติทั้งมวลดังนั้นความยากไร้ ความเร่ร่อน ความเปล่าเปลือยเป็นสิ่งที่ทรงค่าอยู่ในตัวมัน
ข้อขัดแย้งในทางทฤษฎีระหว่างความหมายของคำว่าอารยธรรมของปราชญ์ตะวันออกและตะวันตก มีอยู่อย่างฉกาจฉกรรจ์ คนตะวันตกถือว่า Civilization นั้นเกิดในกำแพงเมือง อะไรที่เกิดและพัฒนาขึ้นในเมืองถือว่าเป็นอารยธรรม ดังนั้นนอกกำแพงเมืองถือว่าเป็นอนารยะ เป็นป่าเถื่อน แต่ถ้าท่านไม่หลงทางจากวิถีชีวิตของปราชญ์ตะวันออกแล้ว ท่านจะพบว่า ป่านั่นเองเป็นที่ตั้งของอารยธรรมส่วนเมืองเป็นตัวปัญหา พระศาสดาผู้รู้แจ้งส่วนใหญ่ออกจากเมือง ไม่ว่าโซโรแอสเตอร์หรือพระพุทธองค์ก็ตาม หรือแม้แต่โสเครติสปราชญ์ทางตะวันตก ซึ่งถูกบีบให้ตายด้วยสมัครใจ ต้องออกเร่ร่อน คำว่าภิกขุซึ่งแปลว่า ผู้ขอ ศัพท์เดียวกับคำว่า beggar นั่นเอง ทางตะวันออกถือว่าวิถีชีวิตของการเร่ร่อน เป็นผู้ขอนั้นเป็นชีวิตที่สูงส่ง ท่านอาจารย์เขียนคติพจน์อันนี้ ไว้ที่โรงฉันเก่าของสวนโมกข์ธารน้ำไหล ซึ่งเดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือไม่ผมไม่แน่ใจ high thinking plain living นี่คือวิถีทางของสวนโมกข์ คือคิดสูง ๆ คิดให้ลึกคิดให้กว้าง คิดให้ไกล แต่เป็นอยู่ให้ต่ำที่สุด คติพจน์เหล่านี้เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของท่านเอง เมื่อผมลาเพศสมณะแล้วไปเยี่ยมท่านหลังจากไม่พบท่านร่วม ๑๐ ปี คำแรกที่ท่านถามผมนั้นไม่ได้ถามว่า ทำงานอะไร รายได้เท่าไหร่ ท่านถามผมว่า คุณยังกินข้าวจานแมวอยู่หรือเปล่า เป็นคำทักทายซึ่งเตือนให้ทำในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจแล้ว กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส มุ่งมาดความว่าง และคำตอบคือ ทำอย่างตายแล้ว มีแก้วอยู่ในมือ คือดวงจิตว่าง ประโยคสุดท้ายคือ แจกของส่องตะเกียง แต่ผมคงเป็นศิษย์ที่เลวไม่ได้ทำตามท่าน เพราะว่าท่านอาจารย์มีคติว่า ศิษย์คือผู้ที่ทำตาม
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งในวิถีชีวิตร่วมสมัยของคนเรา เราได้สูญเสียอะไรบางสิ่งซึ่งเป็นคุณค่าวิเศษ ที่เราเคยมีครั้งอดีต คือความมีกัลยาณมิตร ความมีคนที่เรานับถือบูชาไว้สักคนหนึ่งในหัวใจเรา นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผมจะเตือนความทรงจำของท่านได้ต่อสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ แม้ไม่ใช่เป็นพระพุทธวัจนะโดยตรงก็คือ ในชั่วโมงที่พระพุทธเจ้าจะถึงซึ่งอาการตรัสรู้อันสมบูรณ์นั้น มีธิดามารอยู่ ๓ ตน เป็นสัญลักษณ์ เป็นบุคลาธิษฐาน นางแรกชื่อนางราคา นางตัณหา และนางน้องซึ่งร้ายกาจที่สุดชื่ออรดีอรดีคือ อรติ แปลว่าไม่รัก ทำไมความไม่รักจึงเป็นอุปสรรคต่อสติปัญญาชั้นสูง นี่เป็นสิ่งที่น่าคิดมาก จิตใจซึ่งไม่มี เมตตา กรุณา ไม่รัก ไม่สามารถที่เข้าถึงซึ่งการตรัสรู้ได้ ต่อเมื่อพระพุทธเจ้ากำหนดรู้นางทั้ง ๓ นั้นแล้ว ธิดาพญามารก็ถอยกรูด รตินี่แปลว่ารัก อะ ก็ไม่ แปลว่าไม่รัก ผมคิดว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นคตินำทางของชาวพุทธ ท่านอาจารย์สวนโมกข์พูดย้ำอยู่เสมอว่า สำหรับชาวพุทธที่แท้จริงแล้ว ย่อมมีเมตตาเป็นปุเรจาริก เมื่อจะทำอะไร หรือจะไปทางไหนเหมือนกับมีไฟส่องทาง ให้มีเมตตาเป็นเครื่องส่องทางไปข้างหน้า เพราะเมตตากับปัญญานั้นเป็น ๒ หน้าของเหรียญเดียวกัน สติปัญญาชั้นสูงที่ว่าขันธ์ห้าไม่ใช่อะไรอื่นจากธรรมชาติ เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ ชีวิตเป็นอันเดียวกัน นั่นเป็นปัญญาชั้นสูง และพร้อมกันนั้นเป็นเมตตาอีกด้วย เมื่อเห็นว่าชีวิตไม่ผิดแผกกัน ยังมีคำพูดของชาวอีสานที่ลุ่มลึกมาก ที่จะเอามาสมทบกับความนัยที่ลุ่มลึกอันนี้ก็คือ ในบทเพลงเสียวสวาสดิ์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นพูดไว้ว่า ยังมีชายคนหนึ่งชื่อว่าสัพพะเหล่าหลาก คน ๆ หนึ่ง คือสรรพสิ่งทั้งปวง เมื่อเราพูดถึงขันธ์ห้า หรือญาณในขันธ์ห้า เรามักจะเอารูปขันธ์ไปเป็นร่างกาย คือคน ๆ หนึ่ง ที่จริงรูปขันธ์คือสิ่งเห็นด้วยตา ดวงดาว ดวงเดือน พระอาทิตย์ จักรวาลทางวัตถุทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ ฉะนั้นขอบเขตของขันธ์ห้าไม่ใช่คน ๆ หนึ่ง ขอบเขตของขันธ์ห้าคือจักรวาลทั้งหมดทั้งรูปทั้งนาม ดังนั้นญาณในขันธ์ห้าซึ่งได้ทำลายบุคคลสัญญาที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คนที่ไหน ก็คือการประจักษ์แจ้งสภาวะธรรมทั้งหมด นี่คือขันธ์ห้าที่บริสุทธิ์ เมื่อมองเช่นนี้แล้ว เราจะพบว่า มนุษย์ไม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น มนุษย์เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ เป็นอันเดียวกับจักรวาล นี่คือญาณของพระพุทธเจ้าในขันธ์ห้าในเรื่องสภาวะธรรม
มนุษย์กับธรรมชาตินั้น แนบแน่นเป็นอันเดียวกัน อันอาจกำหนดท่าทีแห่งภูมิปัญญา และทิศทางแห่งอารยธรรมแท้ได้ว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ประสานกลมกลืน ไม่ใช่สิ่งงอกงามในเมือง ทั้งไม่ใช่จากสมองของมนุษย์โดยไร้หัวใจ รากฐานอารยธรรมแท้คือ ปัญญา และเมตตา อันเป็นไปในกระแสธรรมชาติ ไม่ใช่สภาพปรุงแต่ง เสแสร้งจนฝืนกระแสธรรมชาติ
ลำดับถัดไปผมจะเล่าถึงวิธีที่ท่านอาจารย์ได้ช่วยผู้คนตามจริตนิสัยของแต่ละคน สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ในพระพุทธศาสนาแจกแจงญาณไว้หลายอย่าง แต่มีญาณเดียวที่สงวนไว้สำหรับพระพุทธองค์คือนานาธิมุตติกญาณ คือญาณที่ล่วงรู้วิถีทางรอดของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน อย่างพระพุทธเจ้าทรงทำกับองคุลีมาลอย่างหนึ่ง กับปฏาจาราอย่างหนึ่ง กับบางคนบางทีท่านเสนอสิ่งล่อ อย่างพระนันทกุมารน้องท่านนั่นทรงล่อจะให้นางฟ้า มันเป็นอุบายที่จะดึง ล่อจิต ซึ่งกำลังตกหลุมพรางอันหนึ่งเหมือนกับดึงคนขึ้นจากหล่มโคลน แม้สิ่งนี้จะสงวนไว้สำหรับพระพุทธองค์ก็ตาม แต่ผมก็เห็นบ้างในท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านมีอุบายที่หลอกล่อ ดังนั้นผมจะเล่าอิงอัตวิสัยนิดหน่อย ผมไม่รู้จักใครอื่นดีกว่าตัวเอง ประสบการณ์คนอื่นผมเล่าแทนไม่ได้ แต่เล่าแทนประสบการณ์ของตัวเองว่า เมื่อออกบวชใหม่ ๆ นั้นต้องการคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยจิตใจที่ศรัทธาว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในโลก ผมไม่ได้ใส่ใจเรื่องพระเจ้า คำสอนของพระเยซู ของเล่าจื๊อไม่อยู่ในความรับรู้ของผม เมื่อผมไปหาท่านนั้น ผมเชื่อว่าท่านคงจับกำพืด จับทางของผมได้ว่าผมแคบอยู่อย่างไร บางครั้งท่านพูดเล่าเรื่องตลกให้ผมหัวเราะ เพราะผมไม่หัวเราะเลย ไม่ยิ้มเลย ผมเครียดมาก ๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่าความจริงนั้นต้องเคร่งเครียด ที่จริงผมเข้าใจผิดมากท่านพยายามเย้าแหย่ บางทีก็เล่าเรื่องตาเถรยายชีให้ฟัง ที่จริงผมฟังออก แต่ผมไม่หัวเราะ ท่านยังถามผมว่าคุณฟังไม่ออกรึ?
มีคราวหนึ่งท่านเรียกผมไป ปีนั้นเป็นปีที่โป๊ปจอห์นปอลที่ ๒ สันตะปาปาแห่งวาติกันขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว จอห์นปอลเป็นโป๊ปที่ถือกำเนิดในโปแลนด์ เป็นโป๊ปองค์แรกในค่ายสังคมนิยม ดังนั้นขวัญกำลังใจของชาวยุโรปในทางศาสนาดีขึ้นมากในปีนั้น ท่านอาจารย์เรียกผมไปบอกว่า ผมอยากจะให้ของขวัญโป๊ปจอห์นปอล คุณช่วยวาดรูปเกี่ยวกับพระเยซูให้หน่อยได้ไหม ท่านก็ยื่นไบเบิลให้ท่านสำทับว่า แต่คุณต้องอ่านให้หมดนะ ไม่งั้นคุณจะเขียนได้ยังไง ผมก็รู้สึกอึดอัดนิดหน่อยว่า เราเป็นพระอยู่ด้วย แต่ก็เพื่อจะทำงานให้ท่าน ก็อ่าน ตั้งต้นอ่านตั้งแต่คัมภีร์เก่า ทีละหน้า ๆ เพื่อจะรวบรวมเนื้อหามาเขียนให้ได้ ผมเขียนร่างเสร็จเอาไปให้ท่านตรวจ ท่านก็วิจารณ์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมเขียนได้จำนวนหนึ่ง ปั้นด้วย ปั้นพระเยซู เล่าเป็นเกล็ดซักนิดหนึ่งว่าผมทำอย่างไร คือผมปั้นพระพุทธรูปก่อน แล้วก็เติมหนวด เติมผมให้ยาว เป็นพระเยซู แต่นั่นไม่สำคัญอะไร เมื่อผมเขียนได้จำนวนหนึ่งแล้ว ผมไปหาท่านครั้งหลังเพื่อให้ท่านวิจารณ์ ผมรู้สึกว่าท่านอาจารย์ได้สูญสิ้นความใส่ใจ ในสิ่งที่ท่านสั่งผมเรียบร้อยแล้ว ผมไม่เข้าใจ แล้วก็ผิดหวังนิดหน่อย ทั้ง ๆ ที่เราทุ่มเทให้ ต่อมาภายหลัง จึงรู้ว่าท่านหลอกให้ผมอ่านไบเบิล ผมอ่านจนเป็นอุปการะ เป็นนิสัย ผมอ่านต่อมาอีกตั้งหลายปี เป็นสิบ ๆ ปีเลย แล้วต่อมาเมื่อผมเดินทางไปในยุโรป ก็มีคุณูปการกับผมมาก ในการที่พูดกับชาวแคทอลิก หรือโปรแตสแตนท์ ผมเคยถูกเชิญไปสัมมนาหลายครั้งกับกลุ่มโปรแตสแตนท์ที่เยอรมันนี ผมไม่นึกว่าสิ่งเหล่านี้ มันจะเกิดอุปการะขึ้นในวันหน้า ทั้ง ๆ ที่ผมก็ไม่ต้องการมันเลย นั่นเป็นอุบายของท่านอาจารย์ ท่านอาจจะคิดจริงหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ .....
ทีนี้จะเล่าเรื่องที่ท่านเป็นนักทดลองความคิด ท่านอาจารย์นั้นไม่ใช่ผู้วิเศษ ดังนั้นบางทีท่านก็ทำอะไรพลาดได้ แต่ความผิดพลาดของท่านกลับเป็นบทเรียนที่ดีเสมอกับคนที่อยู่ใกล้ตัว วันหนึ่งพวกเรา, คำว่าพวกเราหมายถึง พระเณร คนวัด กำลังช่วยกันเทคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก เนื่องจากฉันอาหารมื้อเดียวแล้วก็ทำงานหนัก แต่นั่นคืออุดมคติของสวนโมกข์ในช่วงนั้น ๆ ขณะที่กวนปูนกันอยู่ ท่านอาจารย์พักจากการงานของท่านเดินมาถามว่า พวกคุณทำอะไรกันอยู่ บอกไปว่ากวนปูน ท่านพูดว่าพวกคุณโง่อยู่ได้ คุณไปกวนทำไมให้เสียเวลา ทำไมคุณไม่เอาปูนเอาทราย เอาหิน เอาน้ำเทรวมในถังน้ำมันแล้วก็ปิดฝา แล้วคุณก็กลิ้งมันไปในสนามหญ้า ไม่ต้องเหนื่อยแรง แล้วก็เอามาใช้ได้ ทุกคนก็สว่างไสวขึ้นในข้อแนะนำนั้น พูดกันว่า เออจริง ๆ ด้วยเราไม่เคยคิดกันมาก่อน แล้วทุกคนก็ปฏิบัติตาม ด้วยความหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น กลิ้งกันไป กลิ้งกันมาจนเหงื่อแตก พอเปิดฝา หินอยู่หิน ทรายอยู่ทราย ปูนอยู่ปูน พวกเราก็ชักมีอารมณ์ครับ ทั้งเหนื่อยทั้งผิดหวัง อาจารย์ท่านเห็นเข้า ท่านก็หัวเราะ ท่านบอก ผมจะไปรู้อะไร ผมไม่เคยทำ เป็นบทเรียนที่ดีมากครับว่าในความคิดนั้นต้องมีการทดลองความจริงด้วย จึงจะรู้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกใกล้หรือห่างไกลจากเป้าหมายที่เราคิดไว้ ผมเล่าเล่นพอให้คลายเครียดครับ
ทีนี้ผมจะนำเข้าไปสู่เรื่องซึ่งค่อนข้างลึก ความถ่อมของท่านอาจารย์นั้นมีอยู่อย่างสูง ผมเคยเห็นกับตาที่ท่านกราบอาจารย์องค์หนึ่งคิดว่าเป็นพระคู่สวดในวันอุปสมบทของท่านเอง อย่างอ่อนโยน ซึ่งผิดกับตอนที่ท่านนั่งบนธรรมาสน์อันดูราวกับราชสีห์ หรือผู้ที่กำลังประกาศธรรมะที่ยิ่งใหญ่ ท่านแนะนำให้ผมไปหาโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคเรื้อน คนที่ไปในสวนโมกข์ช่วงนั้นอาจจะไม่รู้จัก แต่บางคนอาจจะรู้ครับ ชื่อโยมย้วน ท่านอาจารย์ไม่ใช่บุคคลที่จะลืมคนอื่นได้ง่าย ๆ แม้คนนั้นจะเจ็บป่วยหรือโรคเรื้อนก็ตาม โยมย้วนหลบอยู่ในกระต๊อบเล็ก ๆ ไม่ค่อยได้สัมพันธ์กับผู้คนเพราะตระหนักชัดว่าตัวเองเป็นโรค ผมเข้าใจว่าไม่ใช่โรคเรื้อน เป็นโรคอะไรก็ไม่รู้ที่ผิวหนังเป็นผืน ๆ แข็ง ๆ ตามเนื้อตามตัว ผมไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร แต่เป็นโรคซึ่งน่ารังเกียจ ท่านอาจารย์บอกผมว่า คุณไปหาโยมย้วน เขามีอะไรดีมาก แล้วท่านเล่าเรื่องโยมย้วนเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ โยมย้วนเคยแสดงวาทะทางธรรมในที่สาธารณะ จนเอาชนะมโนราห์โรงที่มีชื่อเสียงได้ ท่านควรจะทราบอย่างหนึ่งครับว่า คนปักษ์ใต้กับมโนราห์นี้เป็นของคล้าย ๆ คู่ขวัญ เป็นของที่โปรดปรานมาก แต่ด้วยอาศัยเพียงแต่ปากเปล่าโยมย้วนพูดธรรมะจนไม่มีใครดูมโนราห์เลย นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านเลยแนะบอกว่า คุณไปหาโยมย้วน เขามีอะไรดี ผมก็ไปหาอยู่หลายเวลา ก็จริงดังที่ท่านแนะนำ คือโยมย้วนเป็นคนที่เป็นโรคซึ่งน่ารังเกียจ แต่ในร่างกายอันผุพังนั้นได้ซ่อนภูมิปัญญาชั้นสูงไว้มาก ท่านอาจารย์ถึงกับสั่งผมว่า ให้เอาอะไรที่โยมย้วนเขาเขียนเป็นแผนภูมินั้น เอามาลอกขึ้นที่ฝาผนังในโรงมหรสพทางวิญญาณ ในฐานะที่เป็นทรัพย์สมบัติทางปัญญาของมนุษย์คนหนึ่ง ท่านไม่เคยลืมคนที่ได้ต่อสู้ในทางภูมิปัญญามาแล้ว
ตลอดช่วงชีวิตของท่านมีความถ่อม แต่พร้อมกันนั้น ถ้าจะเลือกใช้คำว่าก้าวร้าวก็ได้อยู่ ท่านก้าวร้าวทางความคิด เวลาคิด คิดไม่เหมือนเพื่อน ต่อมาท่านก็แนะนำหลายคน รวมทั้งผมด้วย บอกว่าสิ่งใดที่เพื่อนเขาคิดอยู่แล้วทำอยู่แล้ว คุณอย่าเสียเวลาอีกเลย ควรจะคิดและทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้คิด และไม่ได้ทำนั่นแหละ หมายถึงในทางที่ดีนะครับ เพื่อช่วยค้ำจุนจรรโลงให้สังคมนี้ดีขึ้น ผมจะเล่าถึงความถ่อมของท่าน แต่ที่จริงท่านห้ามเล่า ผมก็คงไม่ค่อยถ่อมเท่าไรที่นำมาเล่า แต่เล่าเกี่ยวกับตัวท่านไม่ใช่ตัวผม คือความรู้ภาษาบาลีของท่านนั้นพอประมาณ แต่การตีความ วินิจฉัย ถอดรหัสคำพูดของพระพุทธเจ้า ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ในแวดวงของพระพุทธศาสนา เนื่องจากกาลเวลา หยากไย่และวัชพืชของกาลเวลาทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าค่อนข้างพร่ามัว คือเราไม่รู้อะไรเป็นอะไร อุปการคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านอาจารย์ก็คือท่านทำให้ธรรมะหมวดต่าง ๆ เกิดสิ่งที่เรียกว่า ธรรมสโมธาน สอดสานสวมลงกันได้จนกระทั่งเห็นจุดสำคัญ จุดที่เรียกเป็นพุทธศาสนาเช่นเรื่องอิทัปปัจยตาก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี ซึ่งแต่ก่อนแตกกันเป็นเสี่ยง พระสงฆ์ในอดีตก็อาศัยขนบธรรมเนียมการเทศนา ตั้งหัวข้อว่าวันนี้จะพูดเรื่องอริยสัจ พรุ่งนี้จะพูดเรื่องโพชฌงค์ พรุ่งนี้พูดเรื่องโพธิปักขิยธรรม มะรืนนี้พูดเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งแต่ละส่วนนั้นเหมือนรูปซึ่งเราต่อกันไม่ติด เราไม่เห็นว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร ท่านอาจารย์อาศัยความรู้บาลีและการภาวนา ภูมิปัญญาจากมหายานก็ดี กระทำให้เกิดธรรมสโมธาน คำนี้แปลว่าการสอดสวมรวมลง ท่านเคยอธิบายคำว่าแตกฉานไว้ผิดจากคนอื่น ท่านบอกว่าทั่วไปคำว่าแตกฉานอาจจะหมายถึงการแตกซ่าน คือฟุ้งซ่านไปก็ได้ คนนั้นดูคล้ายรู้มากแต่จริง ๆ ไม่รู้อะไรเลย พูดได้มากแต่ว่าไม่รู้มันมาได้อย่างไร ซึ่งนักวิชาการสมัยใหม่ เขาเรียกสิ่งนี้ว่าลัทธิอรรถาธิบายหรือ หรือลัทธิทีถ้อย (Verbalism) เรียกว่าบ้าคำพูด พูดไปเรื่อย ๆ ธรรมะนี่พูดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ท่านอธิบายเรื่องแตกฉานหมายถึงว่า สามารถกระจายแตกตัวไปแล้วรวมกลับมาที่ต้นตอได้ อันนี้นับว่าเป็นคำอธิบายที่เหมาะเหม็งมาก คือไม่ใช่ รู้มากอย่างเดียว แต่สามารถรู้รวมลงหนึ่งได้ คือทั้งหมดอยู่ในหนึ่ง และหนึ่งนั้นเป็นทั้งหมดได้ นี่คือคุณูปการของท่านในทางทฤษฎี
ยังมีพระสูตรที่สำคัญสูตรหนึ่งที่อธิบายถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ พระสูตรที่เรียกว่าอุปสันตบุคคล อุปสันตบุคคลคือผู้เข้าถึงสันติ ซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ขีณาสพ สิ้นอาสวะแล้ว มีบทพระบาลีว่า อัตถังคะตัสสะ นัปปะมาณะมัตถิ เยนะ นัง วัชชุง ตัสสะ นัตถิ ซึ่งแปลว่า บุคคลผู้เข้าถึงซึ่งความตายแล้วมีไม่ประมาณ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชสมัยนั้นแปลไว้ว่าอย่างนี้ ท่านอาจารย์ท่านทราบดีว่าคำแปลนี้เป็นคำแปลซึ่งผิด แต่ท่านถ่อมท่านไม่ค้านไม่ติง ด้วยความเคารพในพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น แต่ผมคงจะทำผิดที่มาเล่าให้ฟัง แต่ผมอยากจะให้เห็นความถ่อมของท่านอาจารย์เท่านั้น ความที่ไว้หน้าผู้อื่น ท่านไม่ใช่คนที่อยากจะดัง พอเห็นคนอื่นผิด ก็จี้จุดผิดเพื่อให้ตัวเองได้เด่น ท่านไม่ทำอย่างนั้นเลย เหตุที่ผิดก็เพราะว่า อัตถังคะตัสสะ นัปปะมาณะมัตถิ หมายถึงบุรุษซึ่งถึงอัสดง ไม่ได้หมายถึงคนตาย คนตายมีมาแล้วไม่รู้ประมาณนี่ มันไม่ลึก ใคร ๆ ก็รู้ คนตายในอดีตไม่มีประมาณ บุคคลถึงซึ่งอัสดงคตกลับหมายถึงพระอรหันต์ ผู้ที่ตัณหาทั้งหมดอัสดงแล้วไม่มีราคะ โทสะ โมหะ คำว่าไม่มีประมาณแปลว่าวิพากษ์ วิจารณ์ไม่ได้ว่าดีหรือชั่ว ว่าท่านเป็นอะไรคือวิจารณ์ไม่ได้ ว่าท่านดีหรือท่านชั่ว อยู่เหนือการคาดคิดใด ๆ นั่นหมายถึงผู้ที่กิเลสตัณหาถึงซึ่งอัสดงแล้ว มันไปคนละทิศคนละทาง ความลุ่มลึกนี้อยู่คนละระดับ คนละระดับท่านอาจารย์พบสิ่งเหล่านี้มากมาย ไม่ใช่เพื่อติฉินหรือซ้ำเติม แต่ผมเล่าเพื่อให้เห็นว่าท่านเป็นคนถ่อม เพื่อจะถ่วงกับภาพพจน์ที่หลายคนเห็นว่า ท่านเป็นคนก้าวร้าวชอบพูดอะไรจ้วงจาบ เรียกตัวเองว่าหมาบ้าบ้าง สุนัขปากร้ายบ้างอะไรทำนองนั้น
ประเทศเรา นับตั้งแต่ตั้งกรุงสุโขทัย ไม่นับศรีวิชัย เพราะยังเป็นปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์ ว่าเป็นอาณาจักรไทยด้วยหรือไม่ แต่ว่าสำหรับท่านอาจารย์นั้นท่านไม่สงสัยเลยว่า อาณาจักรศรีวิชัยนั้นเป็นไทยหรือไม่เป็นไทย แต่ผมจะเว้นไม่วิจารณ์ในแง่โบราณคดีและประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยประเทศเราได้ติดต่อคบค้ากับจีนมานาน แต่เราไม่เคยยอมรับหรือนับถือ ความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาของจีนเลย เรายังมีคำเรียกจีนว่าเจ๊ก มีความนัยที่ข่มขี่อยู่ในที เรียกชาวอินเดียว่าแขก เราพึ่งรับทราบรู้เรื่องเซ็นเรื่องเต๋าเมื่อสามทศวรรษที่แล้วมานี่เอง เราพึ่งรู้ว่าจีนมีเรื่องลุ่มลึกมากกว่าที่เราคิด เราเห็นมหายานเป็นพวกกงเต๊ก พวกอาซิ้มตามโรงเจ เราเคยเห็นเท่านี้เอง เพราะเราเหยียดจีน แต่เราคบค้ากับจีน แต่เราไม่ยอมรับจีน เมื่อสมัยรัชกาลที่สามนั้นท่าทีดีขึ้น เพราะว่ามเหสีองค์หนึ่งของรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นจีน รูปแบบของโบสถ์ก็เปลี่ยนหน้าบัน ช่อฟ้า คันทวยก็หายไป เหลือเป็นติดถ้วยโถโอชามที่หน้าบันแทน จีนก็เด่นสง่าขึ้น คงแป๊ะศิลปินจีนก็เด่นขึ้นในช่วงนั้น เราไม่ยอมรับบุคคลซึ่งเข้ามาผสมผสานเป็นเลือดเป็นเนื้อเดียวกับเรา ผมเองเป็นหลานจีน ผมเชื่อในห้องนี้ ผมว่าเกินครึ่งมีเชื้อสายจีน แต่เราไม่เคยเรียนรู้มิติที่ลุ่มลึกของจีนเรื่องเซ็นเรื่องเต๋า ท่านอาจารย์เป็นคนแรกที่แปลพระคัมภีร์ของเซ็น คำสอนของฮวงโป สูตรของเว่ยหล่าง อย่างเป็นระบบ นำเสนออย่างเป็นระบบและแปลอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเซ็นก็กระเส็นกระสายในรูปของนิทานตลกขบขัน ว่าด้วยอาจารย์ถีบศิษย์ตกน้ำ และก็บรรลุธรรม อะไรทำนองนี้ เล่าสู่กันฟังสนุก เราแทบจะเอาประโยชน์ในส่วนสาระไม่ได้ แต่ว่าท่านอาจารย์ได้แปลอย่างกลั่นกรองมาก ผมคิดว่ายังเป็นคำแปลที่ใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ แม้ว่าท่านไม่ใช่นักแปลมืออาชีพก็ตาม แต่เนื่องจากท่านมีวิถีชีวิต ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในกระแสธรรมชาติ ดังนั้นจะแลเห็นอรรถะที่ซ่อนอยู่ในโวหารของเซ็นได้ ถ้าท่านไปที่สวนโมกข์ในโรงมหรสพนั้น จะพบว่าเซ็นได้ถูกนำเสนอผ่านทางรูปเขียนจิตรกรรมฝาผนังเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่ตั้งของข้อครหานินทาว่า อาจารย์เป็นเซ็น เป็นมหายาน เป็นพวกนอกรีต
เมื่อสมัยท่านสร้างสวนโมกข์มาในช่วงหนึ่งแล้วหมายถึงช่วงกลาง มัชฌิมวัยของสวนโมกข์นั้น สมัญญาซึ่งประณามท่านใส่ร้ายป้ายสีท่าน ผมไม่ระบุชื่อคนด่า แต่ว่าผมจะพูดเตือนความจำ เพื่อที่เราจะไม่ได้ประณามใครง่ายนัก เขาเรียกท่านอาจารย์ว่ามารศาสนา มารพุทธทาสเกิดแล้ว เขาพูดกันอย่างนั้น
บุคลิกภาพของพระหนุ่มในวันต้นของชีวิตเมื่อหกทศวรรษก่อน นับตั้งแต่พุมเรียงตราบเท่าวันสุดท้ายของชีวิตแปรเปลี่ยนไปเสมือนหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็คือมืออันเดิม ท่าทีที่จ้วงจาบ แข็งกร้าวกับคุณค่าวิกฤติในสังคมนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะที่ท้าทาย ใครที่ขวัญอ่อนลงไปสนทนากับท่านแล้วอาจจะลำบาก เพราะว่าท่านไม่เอาใจพะเน้าพะนอผู้คนเหมือนที่เขาหวัง แต่ท่านต้องการกระชากหนังหัวของคนให้ตื่น ฟัง ๆ ดูแล้วน่าหวาดเสียว ท่านบอกว่า เราอยู่ในช่วงเฉื่อยนิ่งทางวัฒนธรรม ทางจริยธรรม ทางศาสนธรรม ในทุกทาง ช่วงเฉื่อยนิ่งนี่สำคัญมาก คือเราเดินตามผู้นำโดยที่เราไม่รู้อะไรเป็นอะไรไปทางไหนก็ไปด้วย สังคมไทยอยู่ในบรรยากาศอึมครึมมาตลอด ก็เพราะว่า บุคคลที่ที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่น่ารัก เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำทางสติปัญญาก็ดี ในทางการเมืองก็ดี ไม่รักมนุษย์ แต่มนุษย์ต้องรักเขา เพราะเขาเป็นผู้นำ เมื่อนั้นเราจะคลุมเครือ คือเรานับถือคนที่ไม่น่านับถือ เราต้องยกย่องเทิดทูนคนที่เรารู้อยู่แก่ใจว่า ไม่น่าเทิดทูน ดังนั้นภาวะของเรา สะท้อนออกรวม ๆ เป็นภาวะสังคม เป็นภาวะสนธยาอึมครึมคลุมเครือไม่รู้ว่าดีหรือร้าย ช่วงนี้ผมเรียกว่าช่วงเฉื่อยนิ่งทางวัฒนธรรมไทย เกิดแปลกแยกกันไป คือคนไทยไม่เข้าใจวัฒนธรรมแต่เดิมของตัว นั่นคือช่วงเฉื่อยนิ่งและเป็นช่วงที่อันตรายมาก ถ้าหากมีวัฒนธรรมใหม่กระแทกเข้ามา เราจะเสียหลักเสียศูนย์ทันที
ในวงการเกษตรกรรมนั้นในช่วงปฏิวัติเขียวเราได้ค้นคิดทดลองจนได้พันธุ์ข้าวที่เรียกพันธุ์ข้าว ก.ข. ซึ่งหนึ่งกอมีถึง ๑๕ รวง ออกรวงเร็ว โดยใช้เทคนิควิทยาทางด้าน BIO การกระทำเช่นนั้นเป็นการทำลายเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นไปอย่างคาดไม่ถึง ในทางเกษตรกรรมนั้น ชาวบ้านถูกหลอกล่อให้พึ่งพันธุ์ข้าววิทยาศาสตร์ แล้วทอดทิ้งพันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว ซึ่งเราเคยเรียน ในความรู้รอบตัวว่าเป็นข้าวดีที่สุดเดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะเมื่อเราไม่ได้ใส่ใจมัน มันก็กลายพันธุ์ เราไม่รักษามัน หน้าที่สำคัญของเกษตรกร คือ การสงวนพันธุ์การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในช่วงนั้น และการเผยแพร่ในแผนการพัฒนานั้น ได้ทำลายเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งทรงค่านี้ไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ในทางวิชาช่างนะ เมื่อวิทยาลัยเทคนิคถูกสร้างขึ้น เพื่อรองรับความเข้าใจความรู้จากวัสดุที่ผลิตจาก โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้า เป็นวัฒนธรรมเหล็กกล้าแล้วทำให้ช่างชาวบ้าน เมล็ดพันธุ์แห่งวิชาช่างพื้นบ้านตกงานกันเป็นแถว คือภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกดูแคลนจากคนรุ่นใหม่ว่าโง่เง่าเต่าตุ่น แล้วปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเคยครองภูมิปัญญามานานนับศตวรรษ ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ไม่รู้จะอธิบายให้ลูก หลานฟังอย่างไรว่าอะไรเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้หาได้รอดพ้นจากข่ายญาณของท่านอาจารย์สวนโมกข์ไปไม่ ท่านต้าน ยังเคยเรียกผมไปพบบอกว่า เราเปิดศึกกับเด็กหนุ่มแถวไชยาไหม? ท่านใช้คำนี้ เพราะว่าเด็กหนุ่มสาวเริ่มหันเห เริ่มดูแคลนบิดามารดาผู้ให้กำเนิดเรามา นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าสลดมาก
ผมได้ใช้เวลาเล่าเรื่องมานาน ดังที่ได้เริ่มแต่ต้นว่าด้วยเหตุผล ๒ ประการ อยากจะพูดในแง่มุมชีวิตตัวเองได้ประสบเพื่อสะท้อนออกไปรวมกับที่คนอื่นเห็นและได้ประสบด้วย เพื่อให้เกิดภาพพจน์ภาพรวมที่สมบูรณ์ขึ้นอยากจะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด ประการที่ ๒ ก็คือ ด้วยความระลึกถึงพระคุณของท่านที่ได้มีตรึงตราอยู่ในจิตใจ ก่อนจบผมจะอ่านบทกวี เพื่อเป็นการบูชาท่าน ที่จริงผมอ่านบทกวีนี้ที่ มศว. เมื่อสองสามวันก่อนแล้ว เสียใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่แก้ข้อวินิจฉัยของผู้ดำเนินการอภิปรายไม่ทัน ซึ่งเขาอธิบายว่า ผมเป็นอันเตวาสิก(ก้นกุฏิ)ของท่านอาจารย์ ที่จริงผมไม่ใช่ ผมใช้ชีวิตช่วงหนึ่งกับท่าน ที่เล่านี้ก็เล่าตามที่ในช่วงนั้น ๆ ส่วนการบอกว่า ผมเป็นศิษย์ก้นกุฏินั้นอาจจะกระทบกระทั่ง คนซึ่งเขารู้อะไรที่ดีกว่าผมก็มีมาก.
ตอบคำถาม
อาจารย์ว่าช่วงที่ตั้งต้น ที่ท่านได้อธิบายมาว่าเกือบจะตั้งนิกายใหม่นั้น ผมไม่ทราบว่าพอจะนำเสนอเรื่องแนวความคิดสักเล็กน้อยได้ไหมว่า นิกายใหม่นั้นท่านอาจารย์มีแนวคิดเห็นเป็นแนวใด พอเค้า ๆ ก็ได้ครับ
ตอบ เรารับพุทธศาสนามาจากลังกา คัมภีร์หลักซึ่งรวบรวมโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ที่ว่าด้วยแก่นแท้ของพุทธศาสนาคือ คัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น มีบทบาทครอบงำ จูงใจ บำรุง วิถีชีวิตของชาวพุทธศรีลังกามานานมาก จนกระทั่งพระสงฆ์เชื่อว่า วิสุทธิมรรคเป็นแก่นสารยิ่งกว่าพระไตรปิฎก ยิ่งกว่าพระสูตรใด ๆ ทั้งสิ้น ในวิสุทธิมรรคได้อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือที่เรียกปัจจยาการชนิดข้ามสามภพสามชาติ ที่จริงนั้นในวิสุทธิมรรคได้อธิบายเรื่องทีละขณะจิตด้วย แต่ไม่ได้เน้น แต่ไปเน้นเอาสามภพสามชาติ ซึ่งจุดนี้เองที่ท่านอาจารย์ถือว่า เป็นจุดวิกฤติ วิกฤติภูมิปัญญาของพุทธ เพราะว่ามันข้ามสามภพสามชาติ มันก็กลายเป็นสัสสตทิฏฐิ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถูกไหมครับ? จากจุดนี้เองที่นำไปสู่การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าพระพุทธโฆษาจารย์นั้นไม่ได้พูดเรื่องการเกิดชั่วขณะจิต ท่านพูดไว้ด้วย แต่นิดเดียว เพราะว่าท่านเป็นเพียงผู้รวบรวม ร้อยกรอง
จากจุดที่ว่าอาสวะกิเลสดองอยู่ในสันดานข้ามภพข้ามชาติ หรือว่าอาสวะกิเลสหมายถึงความเคยชินที่จะเกิดซึ่งข้อต่างนี้ฉกาจฉกรรจ์มากจนกระทั่งว่า จากจุดนี้นำไปสู่การแบ่งแยกในการภาวนาได้ เพราะว่าถ้ากิเลสดองในสันดานที่เรียกว่าอนุสันนั้น ติดฝังลึกนอนนิ่งอยู่นานหลายภพชาติแล้ว การปฏิบัติต้องขัดเกลา ขูดเพียรทำทุกวิถีทางที่จะให้หมดสิ้น แล้วถ้าเหตุอยู่ในชาติก่อน เมื่อจะแก้ให้แก้ที่เหตุ มันยื่นมือไปในอดีตชาติได้หรือ? พิเคราะห์ดูแล้วพิกลอยู่ ผมไม่ได้ตัดสินนะครับว่า พระพุทธโฆษาจารย์ถูกหรือผิด ผมเล่าว่าท่านอาจารย์มีข้อขัดแย้งอยู่อย่างไรเท่านั้นส่วนการที่เชื่อว่า อนุสัยนั้นเป็นสิ่งเพิ่งเกิดซึ่งเคยชินยิ่ง เพิ่งเกิดและเกิดอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติก็ไปอีกแบบหนึ่งคือต้องเจริญสติ เพื่อให้ทันกับการเกิดชนิดนี้
ดังนั้นผู้ที่ถือกันว่าจิตเดิมแท้เป็นประภัสสรบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แล้ว กิเลสเป็นดุจอาคันตุกะที่จรมานั่นอย่างหนึ่ง กับเชื่อว่าเราเกิดมาแล้วแสนชาติ กิเลสดองในสันดาน เราต้องเกิดอีกนั้นมันเป็นความเชื่ออีกแบบหนึ่ง ส่วนตัวของผมถือว่าความเชื่อทั้งสองนี้กลมกลืนกันได้ ไม่ถึงกับขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะด้านหนึ่งเป็นการมองแบบปุคคลาธิษฐาน มีคน มีสัตว์ คนต้องมีกิเลส มีการเดินทางไกล เหมือนคนโบราณพูดว่า เราเกิดมานี่เพื่อเสริมบารมีของเราให้เต็ม คือยังมีตัวตน มีอัตตาอยู่ อันนี้เป็นรากฐานของจริยธรรมแบบพุทธ แต่เมื่อถึงเรื่องบทภาวนาชั้นสูงท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านไม่ยอม เหมือนที่เล่าแล้วว่าท่านเป็นคนดื้อ ถ้าว่าจุดไหนที่อุกฤษฏ์ ท่านไม่ยอม ยอมไม่ได้ จากจุดนี้เองมันจะนำไปสู่การตั้งนิกายใหม่
เราจะบอกว่าพุทธศาสนานั้นทุก ๆ สำนักในประเทศนี้หรือทั่วโลกเหมือนกันนั้นไม่จริงเลย มีทั้งความต่างและความเหมือน แล้วแต่พิเคราะห์กันในระดับใด ไม่ว่าภาวนาแบบพุทโธก็ดี หรือสัมมาอะระหังก็ดี ผมคิดว่าเราต้องฟื้นความเข้าใจอันหนึ่งซึ่งสำคัญมากตรงนี้ว่าบรรดาเทคนิคทั้งหมดที่ชาวพุทธรุ่นหลัง อาจารย์รุ่นหลังค้นคิดขึ้นล้วน เป็นสิ่งที่ใช้ชั่วครู่ชั่วยาม เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับใดระดับหนึ่ง เทคนิคทุกชนิดจะต้องถูกทิ้ง ถ้ายึดถือไว้ก็อุปมาเหมือนเราหกล้มแขนหัก สิ่งแรกที่เราไปหาหมอก็คือ หมอเข้าเฝือกให้ก่อน เพื่อหยุดการขยับเขยื้อน เพื่อให้ธรรมชาติของร่างกายสมานตัวมัน แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมันเริ่มหาย เราต้องเอาเฝือกออก ถ้าเราเข้าใจผิดคิดว่าเฝือกคือส่วนหนึ่งในชีวิตละก็ยุ่งเลยทีนี้ แขนเราจะพิการตลอดชาติไปเลย จากอุปมาอันนี้
ผมเองไม่ได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเลย ผมเห็นว่าถูกทั้งสอง แต่ว่าถูกคนละระดับ สัสสตทิฏฐินั้นถ้าเราดูในหมวดสัมมทิฏฐิแล้ว สัมมาทิฏฐิมีหลายหมวดมาก มีหนวดหนึ่งเป็นสัสสตะทั้งหมดเลย ท่านต้องเชื่อว่าบุญมีผลบาปมีผล ยันตกรรมมีผล พ่อแม่มีบุญคุณ พระอรหันต์มีพระอรหันต์ที่สอนให้เรารู้เรื่องนี้มี เป็นเรื่องคน เรื่องสัตว์บุคคล ทั้งนั้น นั่นพระพุทธเจ้าก็สอน แต่พอถึงสัมมาทิฏฐิในหมวดชั้นสูง ไม่ใช่เรื่องสัตว์ บุคคล ตัวตนแล้ว เป็นเรื่องปรมัตถ์แล้ว ไม่มีข้อวิวาทะ
ผมใช้คำว่าวิวาทะ ไม่ใช่ระหว่างท่านอาจารย์กับหม่อมคึกฤทธิ์ ที่จริงครั้งนั้นเล่าแทรกว่า หลังจากวิวาทะกันแล้ว ท่านกลับไปถึงสวนโมกข์แล้วก็เปิดเทปชุดนั้นฟัง ผมได้ยินท่านพึมพำว่า บ้าทั้งคู่ ท่านหลุดปากว่า บ้าทั้งคู่ แล้วท่านก็หันมาสอนพระที่นั่งว่า พวกคุณไม่ควรจะทะเลาะกับใครเลย เมื่อพูดไม่รู้เรื่องควรจะเงียบ นิ่ง แต่ท่านเองไม่ทำตามที่ท่านพูด เพราะว่าท่านคือท่าน แต่ว่าคำสอนของท่านเองนี้เราต้องเข้าใจ โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า คุณต้องทำตามสิ่งที่คุณพูด ฉันจึงจะนับถือคุณ ถ้าเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ทุกคนไม่น่านับถือ ลูกไม่ควรนับถือเลย เพราะหลายเรื่องที่เราทำไม่ได้ แต่เราเอาประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดกับเราแล้ว เราเข้าใจมันแล้วใช้เพื่อป้องกันลูก นั่นเป็นความรักใช่ไหม? ดังนั้นการที่เราไม่ได้เสแสร้ง เราอาจจะติดบุหรี่อยู่ หรือกินเหล้าอยู่บ้าง แต่มันมีเหตุผลเฉพาะตัวด้วย ถ้าลูกบอกว่า พ่ออย่ามาสอนผมเลย พ่อยังเลิกไม่ได้เลย ผมคิดว่าลูกคนนี้ก้าวร้าว ไม่ดีเลย ผมตอบได้พอเป็นเค้าเท่านั้น ส่วนที่ว่าท่านจะตั้งนิกายใหม่นั้นท่านไม่ตั้งหรอกครับ ท่านบอกว่าแต่ผมจะไม่ตั้ง ผมเชื่อว่ารากฐานของการพูดนี้ เนื่องจากท่านเคารพในบูรพาจารย์ด้วย
ท่านพุทธทาสนี้ จริง ๆ ท่านมีอัจฉริยภาพอะไรที่พิเศษกว่าคนปกติหรือเปล่าครับ เพราะว่าไม่ว่าหนังสือที่ท่านเขียนในแนวธรรมะกับการเมือง หรือธรรมะกับระบบการศึกษาของประเทศไทย หรือหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งความคิดท่านกว้างมากที่นำธรรมะไปอธิบายในแง่มุมต่าง ๆ แต่ว่าในขณะที่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง พระตามป่า หรือพระส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติแล้วท่านก็จะพูดธรรมะในแนวเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน แต่ว่าผมสงสัยว่าทำไมท่านสามารถโยงใย เหมือนกับคนที่ได้รับการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยหรือคนที่ได้รับการศึกษามาก ๆ จะขอถามอาจารย์ว่า เป็นเพราะท่านอาจารย์พุทธทาสอ่านมาก หรือว่าใช้วิธีศึกษาอย่างไร หรือว่าเป็นการรู้แจ้งจากภายใน แล้วจึงสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ ขอบพระคุณครับ
ตอบ เป็นคำถามที่ดีทีเดียว ที่จริงปัจจัยที่ทำให้ท่านอธิบายอะไรได้กว้าง ลุ่มลึก แล้วประการสำคัญที่สุดก็คือสืบสานอดีต ปัจจุบัน แล้วปูทางไปสู่อนาคตได้นั้นมีหลายปัจจัยมาก ความเป็นนักอ่านตัวยงด้วย ไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง ความใช้ชีวิตแนบสนิทกับธรรมชาติป่าเขา ความที่มีชีวิตติดดิน ซึ่งคำว่า ชีวิตติดดินหมายถึงว่า ตัดขาดจากความทะเยอทะยานที่จะเป็นเจ้าคุณ ที่จะเป็นสมเด็จ ซึ่งสิ่งนั้นจะรบกวนความรู้สึกของผู้ที่หวังภาวนาเป็นอย่างมาก
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งหรือปรากฏการณ์หนึ่งในประเทศเราคือระบบสมณศักดิ์ นี้ไม่มีผลดีเท่าไรนัก ต่อวิถีทางของสมณะ แต่อาจจะมีผลดีต่อราชสำนักหรือการเมืองในวงกว้างได้ จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้รบกวนความรู้สึกสงบได้ ที่ต้องมาแข่งเรื่องศักดิ์ เรื่องศรี ซึ่งเป็นนักบวชแล้วไม่น่าจะมีในเถรคาถา-เถรีคาถาบอกว่า อาตมาภาพจะท่องเที่ยวในไพรพง เอาอกแหวกหญ้าคา หมายความว่าจะทำตัวให้เป็นไม้ผุ คือแบติดดินเลย เพราะว่าสมณะต้องเป็นอย่างนั้น ท่านอาจารย์ได้ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นับเวลาที่ยาวนาน ภูมิปัญญาของท่านนั้น ก็เกิดการประสานตัวกันขึ้น ทั้งประสบการณ์ด้านในเฉพาะตัว คืออาการประจักษ์แจ้งในตนเอง พร้อมกันนั้นท่านไม่ทอดทิ้งพระคัมภีร์ ท่านเป็นนักการศึกษาตัวยงทีเดียว ท่านทำมันหมดทุกด้าน
มีครั้งหนึ่ง ผมเล่าเรื่องส่วนตัวแทรก คงจะเป็นข้อมูลเสริมได้ หลังจากผมบวชอยู่ประมาณสามถึงสี่พรรษาผมรู้สึกเบื่อสวนโมกข์ เพราะว่าคนเริ่มที่จะไปมาหาสู่มากขึ้น ผมเองต้องการจะหลีกเร้นให้มากกว่านั้น ไปลาท่านเพื่อจะเข้าป่าให้ลึกไปกว่านั้น ท่านเตือนคำหนึ่งซึ่งคิดว่ามีอุปการคุณต่อผมมาก ท่านว่าการที่คุณคิดจะเข้าป่านั้นดี แต่ถ้าความรู้คุณเกิดในป่า คุณจะชักจูงประชาชนเข้าป่าด้วย แต่ถ้าความรู้คุณเกิดในเมือง ความรู้แจ้งของคุณนั้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนในเมืองได้ ท่านอาจารย์นั้นเข้าป่าในช่วงชิงชัยทางปัญญา ปี ๗๕ แต่แล้วท่านค่อย ๆ เคลื่อนทัพกลับเข้าเมือง ปรากฏว่าท่านมีวิทยุ เดี๋ยวนี้มี TV ด้วยเพื่อสื่อข่าวต่าง ๆ เมื่อช่วงที่มีการยิงดาวเทียมของสหรัฐสู่อวกาศครั้งแรก ท่านอาจารย์รับข่าวโดยตรงเลย ดูไปแล้วไม่น่าที่จะประสานกันได้อย่างแนบแน่นระหว่างพระป่ากับเทคโนโลยี แต่ท่านอาจารย์ประสานได้อย่างดี
ครั้งหนึ่งท่านบอกว่าผมไม่ใช่เป็นอัจฉริยะอะไรสมองผมไม่ได้ดีกว่าคนอื่น แต่ประการแรกคือผมมีเวลาว่างมากมาย แล้วก็ขยันขันแข็งอย่างต่อเนื่อง บางทีผมเห็นท่านเดินจงกรมเพื่อแปลศัพท์ ๆ เดียวเป็นชั่วโมงเลย เดินกลับไปกลับมา เพื่อจะหาคำแปลที่เหมาะเหม็งที่สุด ซึ่งนักแปลทั่วไปอาจไม่สนใจถึงขนาดนั้น อาศัยความรู้ทางภาษาแปลเลย โดยไม่เจาะแทงอรรถะที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาษา ฉะนั้นภาษานี่มันเปิดเผยความจริง ลุ่มลึกไม่ได้แต่ก็ต้องอาศัยภาษาอีกนั่นเองซึ่งนำไปสู่ความจริงที่อยู่นอกเหนือภาษา เหมือนกวีเซ็นบอกว่า "นิ้วที่ชี้ไปที่พระจันทร์ใครไปสนใจที่นิ้วนั่นก็เลนไม่ได้ดูของจริง" อาจารย์ท่านใช้นิ้วอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ตั้งองศาที่เหมาะเพื่อชี้ไปที่พระจันทร์ แล้วก็เตือนเสมอว่า อย่าให้ยึดติดในคำพูดอย่ายึดติดในครูบาอาจารย์ อย่ายึดติดในเมือง ในป่า ในอะไรทั้งนั้น
ผมคงตอบแล้วนะครับว่า ปัจจัยที่ทำให้แนวคิดหรือสติปัญญาของท่าน แทรกเข้าไปในทุกสนามของวิชาการเนื่องจากท่านอ่านมาก ปฏิบัติมาก อยู่ใกล้ธรรมชาติมากแล้วก็สากัจฉากับนักคิดมาก คือนักคิดทั้งหลายก็ไปหาท่านก็เกิดการโต้แย้งโต้เถียงกัน ผมเชื่อว่าท่านเรียนด้วย ท่านเรียนรู้จากคำถามคำตอบนั่นเอง หลายครั้งที่ท่านแสดงอาการขอขมาที่ประชุม ในโอกาสวันเกิดที่เรียกว่าวันล้ออายุ หนึ่ง ผมจำได้ ท่านประกาศถอนคำพูดที่เชื่อมาทั้งหมดเช่นจำได้ว่า ผมไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยอีกแล้ว ก่อนหน้านั้นท่านหนุนประชาธิปไตยใหญ่ แต่ต่อมาท่านเริ่มบอกเมื่อไม่มีธรรมะ ประชาธิปไตยนี้เลวทรามมาก เอาเสียงมหาชนเป็นใหญ่ เมื่อไม่ประกอบด้วยธรรมละก้อ ดังนั้นท่านขอถอนคำพูดในปีนั้นพรรษานั้น และเริ่มเทศนาหลักธรรมิกสังคมนิยม แล้วยังมีอีกหลายข้อทีเดียวที่ท่านขอถอนคำพูด แสดงว่าท่านเรียน ท่านมีพัฒนาการ
จะขอถามอีกนิดหนึ่งครับว่า ตอนที่อาจารย์อยู่กับท่าน ไม่ทราบว่าท่านจำแนกเวลาที่ท่านใช้ในแต่ละวันเป็นประจำหรือเปล่า เช่นว่า กี่ชั่วโมงใช้ในการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ แล้วภาวนา หรือทำปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ ครับ
ตอบ อันนี้ผมตอบแทนไม่ได้ คนที่จะตอบแทนได้จริง ๆ น่าจะเป็นท่านอาจารย์โพธิ์ ผู้อยู่ใกล้ตลอดเวลาว่า ท่านหลับกี่โมง แต่ผมเคยเห็นท่านนั่งอ่านหนังสือจนหลับอยู่ที่ตีนบันไดขึ้นห้องสมุดชั้นบน แล้วก็หลับตรงนั้นมีหลายครั้ง แล้วก็ในขณะที่ท่านอ่านหนังสือ แปลตำราท่านไม่ได้ละเลยงานที่เรียกว่างานกรรมกรเลย ช่วงที่ผมเข้าไปใหม่ ๆ นั้นเป็นช่วงบุกเบิก เป็นช่วงสร้างโรงมหรสพ อาจารย์ก็เป็นกุลีคนหนึ่ง ตอนผมวาดรูป ท่านมานั่งตีกรอบให้ด้วย คือท่านมีเวลามาก ดังนั้นความที่สอนคนอื่นโดยเอาตัวเองเข้าทดลอง ผมคิดว่านี่เป็นอุปการะใหญ่
ปกติคนเราง่ายที่จะสอนคนอื่น แล้วคนอื่นจะรับผิดชอบต่อคำสอนหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่งสำหรับท่านอาจารย์ เมื่อสอนใครแล้ว ท่านมีประสบการณ์รองรับ ยกเว้นเรื่องถังซีเมนต์ที่เล่า แล้วท่านก็สืบต่อ สมมติว่าสอนใครเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วจะตามติดพัน อย่างผมเอง ถูกแนะให้ปั้นขยายอวโลกิเตศวร กล่าวได้นะครับว่า อวโลกิเตศวรองค์นั้นได้กลายเป็นนิมิตติดตาติดใจผมไปตลอดจนกระทั่งบัดนี้ ไปทีเห็นเข้าก็นึกแต่เรื่องนั้น เพราะว่าท่านมาตรวจงานที่ไหน ท่านก็เน้นแต่ว่า เมื่อคุณทำอันนี้ คุณต้องเป็นอันนี้บนเศียรของอวโลกิเตศวร มีดินแล้วก็หญ้าขึ้น คนที่ไปสวนโมกข์ก็จะเห็นเวลาหน้าฝน นั่นไม่ใช่อุบัติเหตุหรือบังเอิญ ผมปลูกขึ้นเอง เพราะว่าท่านบอกผมว่า ถ้าเป็นอวโลกิเตศวรจริงต้องติดดินได้ สามารถทูนหญ้าไว้บนหัวได้ ผมก็เลยนำมาเป็นสัญลักษณ์ ถ้าเราไปวัดโพธิ์แมน เราจะพบว่าอวโลกิเตศวรอยู่ในรูปของคนตะพุ่นหญ้าช้าง เมื่อเราเห็นภาพวาดคล้าย ๆ สูงศักดิ์ แต่ผมคิดว่าอวโลกิเตศวรอาจจะขายเฉาก๊วยก็ได้ ไม่ควรที่จะมองธรรมะผ่านทางอาชีพสูง ๆ ธรรมะอาจจะปรากฏกับอาชีพต่ำ ๆ ข้างถนนกับใครเมื่อไรก็ได้ แต่เรามองว่าคนมีธรรมะสูง ต้องมีเงินรายได้สูง หรือมีศักดิ์มีเกียรติมียศ ผมคิดว่าน่าจะมองรายได้สูง หรือมีศักดิ์มีเกียรติมียศ ผมคิดว่าน่าจะมองพลาดไป กิจวัตรนั้นผมไม่ทราบชัดครับ เลยเล่าไม่ได้
จะขอเรียนถามซักข้อหนึ่ง อาจารย์พอจะทราบไหมครับ ที่งานค้างของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาน ทราบมาเลา ๆ ว่า เรื่องธรรมโฆษณ์วรรณกรรมยังทำไม่เสร็จจะพอทราบไหมครับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ที่เขียนมาก็คงจะมีเรื่องภาษาคนภาษาธรรม แต่ท่านอยากจะทำมากในช่วงหลังปัจฉิมวัยของท่านคือ พินัยกรรมธรรมะ
ตอบ ก่อนอื่นผมจะมองไปสู่งานที่ดีเด่น คิดว่าภาษาคนภาษาธรรมนั้น เป็นงานชั้นเยี่ยมมาก ซึ่งเป็นกุญแจไขเข้าไปสูรหัสลัทธิไม่เพียงของพุทธเท่านั้น อาจารย์เมื่อจับทางอันนี้ได้แล้ว ท่านสามารถใช้กุญแจอันนั้นไขเข้าสู่ไบเบิลเจนเนซิส ซึ่งอัศจรรย์มาก งานหมวดที่สองก็คืองานประสานศาสนาต่าง ๆ ให้เป็นเอกภาพเดียว ยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร มีปาฐกถา ซินแคลร์ ทอมสัน คริสต์พุทธ เล่มเดียวครับที่เป็นน้ำเป็นเนื้อ ทั้งนี้คงจะต้องรอเวลาที่เหมาะสม
ความเข้าอกเข้าใจแล้วถือเอาสันติภาพของโลกอันเกิดจากเอกภาพของศาสนาเป็นหลัก โลกไม่อาจประสบสันติสุขได้ด้วยศาสนาพุทธเพียงศาสนาเดียว ทุก ๆ ศาสนาจะต้องประสานร่วมมือ ไม่เพียงแต่มีท่าทีประสานร่วมมือเท่านั้น แต่ต้องจับแต่ของศาสนาของตัว ว่าเหมือนกับของคนอื่นอยู่อย่างไร อย่างแท้จริง สมดังที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัจจะมีเพียงอันเดียวเท่านั้น สัจจะที่สองไม่มี ถ้าว่ามีสัจจะของชาวคริสต์ด้วย สัจจะของชาวพุทธด้วย ทั้งคู่จะไม่จริงทั้งคู่เสียแล้ว ในฐานที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตจะเกิดมาก็ตาม ไม่เกิดมาก็ตาม สิ่ง ๆ นั้นตั้งอยู่แล้ว ท่านยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับท่าน ดังนั้นสัจจะของธรรมชาติ ต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอิทัปปัจจตา หรือกฎขององค์พระเป็นเจ้า หรืออะไรก็สุดแท้ เราไม่ควรตั้งแง่ว่า คุณพูดเรื่องพระเจ้าไม่เข้าเรื่องไม่เข้าราว พระผู้สร้างมีที่ไหน ท่านอาจารย์ไม่เคยทำอย่างนั้น งานหมวดนี้ยังรอเวลาผู้ที่สืบสาน ซึ่งจะเป็นอุปการะคุรต่อโลกมากทีเดียวแต่ว่าเท่าที่ผมทราบมีพวกบาทหลวงจำนวนหนึ่งใส่ใจงานของท่านมาก โดยบรรยากาศรวมของโลก ชาวคริสต์ไม่ใช่น้อย ที่หันมาเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา นำวิธีการที่พระพุทธเจ้าสอน นำอานาปานสติไปสอน เราอย่ากลัวว่าเขาขโมยของเรา ยิ่งขโมยยิ่งดีครับ ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงอันเดียวกัน ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ยิ่งดีใหญ่เลย แม้แต่การขอยืมโวหารจากพระไตรปิฎกไปแปล ผมยิ่งเห็นดี ซึ่งมีนักวิชาการของพุทธรังเกียจ และโกรธแค้นกันมากว่า ยืมศัพท์ของพุทธ คำว่า ราคะ โทสะ ไปใช้ทำไมในคัมภีร์นั้นเราจะห่วงไว้ทำไมครับ ของดีก็ต้องแจกจ่าย
งานหมวดที่สามของท่านอาจารย์ คือการต้านวัตถุนิยม ท่านอาจารย์รณรงค์มาก แต่ในช่วงนั้นท่านเลือกใช้คำว่าวัตถุนิยม สมัยโน้นคำว่าบริโภคนิยมยังไม่เกิด เดี๋ยวนี้วัตถุนิยมของท่านอาจารย์นั้น ผมตีความเอาเองว่าคือ บริโภคนิยมนั่นเอง แต่สมัยโน้น คำว่าบริโภคนิยมยังไม่เข้าสู่คลองของความรับรู้ของคนไทย คือการมุ่งแสวงหาวัตถุไม่รู้จักพอ กลืนเข้าไป กลืนเข้าไป ไม่รู้จักอิ่ม ใช้วัสดุสิ้นเปลืองมากแต่ได้รับความพึงใจน้อยนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับหนทางของบรรพชนของเราครั้งอดีตซึ่งฉลาดในการใช้วัสดุแต่น้อยนิด แต่ได้รับความพึงใจสูง ด้ามกฤช ด้ามขวานเขาแกะสวยงาม เพื่อผลทางด้ายจิตใจ เขาล้างผลาญทรัพยากรน้อย แต่ได้รับความสุขทางใจสูง ในขณะที่บรรยากาศทั่วไปของประเทศเราเดี๋ยวนี้นี่ล้างผลาญมาก เราซื้อไม่รู้จักหยุด ห้างสรรพสินค้าได้กลายเป็นโบสถ์ของเรา เสาร์อาทิตย์มีแต่คนออกันเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ แต่ได้รับความพอใจน้อยนิด
งานสามด้านนี้ผมคิดว่ายังรอเวลาอยู่ สิ่งที่ผู้ถามถามเมื่อกี้ที่ว่าท่านอธิบายเข้าไปสู่วิชาการต่าง ๆ นั่นเอง คือฐานที่จะงอกงามขึ้นสู่ดอกผลในวันข้างหน้า ที่จะทำให้เราเข้าใจกันเสียทีว่า เราต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุอย่างไร อย่างชาญฉลาด และอย่างอนุรักษ์และก็อย่างที่ทำให้ภูมิปัญญาของมนุษย์เจริญงอกงามขึ้น ไม่ใช่ทำให้ทื่อโง่ยิ่งขึ้น ส่วนคริสต์ พุทธ หรือ มุสลิมนั้น ผมคิดว่ามันเป็นนิมิตที่ดีมาก เนื่องจากช่วงนี้เรามีบรรยากาศที่ค่อนข้างตึงเครียดในเรื่องการเผาโรงเรียน ผมอยากจะพูดบ้าง เพราะผมเกิดในหมู่บ้านมุสลิม แล้วผมรู้ว่ามุสลิมเป็นศาสนิกที่ดีอย่างไร แต่ว่าบรรยากาศทั้งหมดทำให้เรามองมุสลิมว่าเลวร้ายทั้งสิ้น
ผมเคยใช้ชีวิตร่วมกับชาวมุสลิม มีญาติพี่น้องเป็นมุสลิม ครั้งอดีตเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว พุทธกับมุสลิมกลมกลืนเป็นที่สุด ชาวมุสลิมนั้นสันทัดในการจับปลา ออกทะเล เขาไม่มีศีลปาณาเหมือนของพุทธ ชาวพุทธถนัดปลูกข้าว แล้วก็สุเหร่ากับโบสถ์ก็พึ่งกันอยู่ ชาวมุสลิมหาปลาแล้วเอาไปถวายวัด วัดก็นำคณะเอาข้าวสารไปบำรุงสุเหร่าผมเห็นกับตา แกงเป็นหม้อ วันพระเอาไปถวาย ไปนั่งพนมมือด้วย ตอนผมเป็นนักบวชอยู่ ชาวมุสลิมมานั่งฟังเทศน์ เรื่องน่าเศร้าสลดในยุคอัศวินผยองในบ้านเมืองเรา เราเผาปอเนาะของชาวมุสลิมไปไม่รู้สักกี่โรง เพียงเพื่อจะข่มขี่ให้สยบ แล้วเราไปสร้างพระพุทธรูปองค์มหิมาที่เขากงในหมู่บ้านมุสลิม สร้างข้ามสุเหร่าของเขา เราไม่แยแสเพื่อนมนุษย์ เราไม่แยแสศาสนาอื่น ในที่สุดวิกฤตการณ์ถาวรก็ตามมา เรื่องโจรแบ่งแยกดินแดนก็ติดตามมา นั่นเป็นผลพวงของอำนาจเผด็จการลืมตัวช่วงนั้น ผลพวงของการกระทำผิดของผู้ที่หลงอำนาจในช่วงนั้น ก่อนหน้านั้นไม่มี ชาวมุสลิมกับชาวพุทธดีกันจะตาย โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา เขาบวชเป็นพระให้แม่ แล้วสึกไปแล้วก็เข้าสุเหร่าให้พ่อ คือเขาเข้าใจทั้งพุทธทั้งมุสลิม ตนกูอับดุลราห์มานนั้นสร้างวัดที่กลันตันวัดหนึ่งให้แม่ เพราะมารดาของตนกูอับดุลราห์มานประธานมุสลิมโลกในอดีต เป็นพุทธ พ่อเขาเป็นมุสลิมแม่เป็นไทย วิกฤตการณ์ทางใต้นี่เกิดจากการหลงอำนาจในช่วงอัศวินผยอง ตอนนั้นผมอยู่ชั้นมัธยม จำได้ว่ามีการถ่วงทะเล หะยีกีหลง เพื่อบังคับให้ยอมรับว่าเป็นกบฏ ทารุณกรรมอันนี้เกิดจากความหลงอำนาจ ไร้ศีลธรรม โหดเหี้ยม ชาวมุสลิมกลัว แต่ผลที่สุดเกิดผลร้ายทั้งสิ้น
คือเรื่องนี้ก็ว่าอาจารย์ของเราก็ได้มรณะ ผมเป็นห่วงอย่างเดียวคือว่า คลื่นลูกหลังนะมันจะต้องใหญ่กว่าคลื่นลูกหน้า แต่ทีนี้มอง ๆ ดูไม่รู้คลื่นลูกหลังนี่มันจะใหญ่หรืออาจจะไม่มีคลื่นเลย อาจารย์จะมองเห็นในวิธีการที่ท่านเผยแพร่ แล้วก็จะมีคนที่จะสืบต่อ แล้วธรรมะของท่านนี้จะเจริญไปแค่ไหน อาจารย์ห่วงใยหรือเปล่า
ตอบ เป็นคำถามที่แสดงถึงความอาทร นั่นแสดงว่าผู้ถามเองอยากจะให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบข่าวสาร แล้วได้รับประโยชน์ คงไม่หวังเพียงจะประกาศเกียรติคุณของท่านอาจารย์เองหรือชื่อเสียงสวนโมกข์ เกียรติคุณและชื่อเสียงนั้นท่านก็ได้รับแล้ว แล้วท่านก็เป็นท่าน ความห่วงใยอันนี้เองเป็นเหตุให้ถามขึ้น แล้วก็น่าใคร่ครวญกัน
ผมจะตั้งข้อสังเกตขึ้นก่อนว่า แนวคำสอนของท่านอาจารย์นั้นประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จในลักษณะหนึ่ง อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในอีกลักษณะหนึ่ง ประสบความสำเร็จในเขตหนึ่ง ภูมิภาคหนึ่งของโลก แต่อาจจะไม่แพร่หลายไปสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง เหตุผลนั้นเรามาพิจารณากันดูว่า ทางตะวันตกพระพุทธศาสนาเคยแพร่เข้าไปอย่างในเยอรมันเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้ว และทำให้เกิดนักปราชญ์ซึ่งได้ความรู้ จากพระญาณของพระพุทธเจ้านำไปประดิษฐ์คิดค้นต่อ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยไฮเดนเบอร์กนักปราชญ์ที่ลือลั่นเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเป็นแบกซ็องก็ดี คานท์ก็ดี คำอธิบายพุทธธรรมนั้นเป็นบรรยากาศรองรับอยู่โดยเฉพาะในเยอรมันเท่าที่ประสบการณ์ในต่างประเทศมีนั้น งานของท่านอาจารย์ประสบความสำเร็จไม่มากในต่างประเทศ เนื่องมาจากต่างประเทศนั้น เขาต้องการปรัชญา ต้องการอธิบายคุณค่า ส่วนที่ท่านอาจารย์ท่านพูดอยู่นี้ ซึ่งท่านเองก็ติงเสมอ ใครไปอธิบายให้เป็นปรัชญาไป ท่านบอกนี่ไม่ใช่ธรรมะ นั่นเป็นเรื่องคิด ๆ กันเท่านั้นเอง และบางทีนักปรัชญาบางคนลงไปคุยกับท่าน ท่านถามว่า เมื่อไรคุณจะปฏิบัติปรัชญาของคุณเสียที ดีแต่นั่งคิดนอนคิดปรัชญาอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นจุดหนึ่ง เป็นเพียงข้อสังเกต ผมอาจจะพลาดได้
ที่ผมเอ่ยถึงความไม่สำเร็จบางด้าน ที่ผู้ถามเป็นห่วงนั้นคือทายาท แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรคิดถึงทายาทสายตรงมากมายนัก ทายาทตรงหมายถึงว่าผู้ที่เติบโตภายใต้อ้อมอกของท่าน เราไม่ควรหวังที่จะให้คน ๆ นั้นมาแทนท่าน ผมคิดว่าเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามเท่านั้น ที่สามารถสืบทอดสายพันธุ์ไว้ได้ ในช่วงของประวัติศาสตร์มันมีบางช่วงเท่านั้นที่มีการสืบทอดรับลูกกันอย่างเหมาะเจาะ อย่างสมัยพุทธกาล หลังพระพุทธเจ้าล่วงลับแล้ว อาศัยความทรงจำอันดีเลิศของพระอานนท์ ผมคิดว่าพระอานนท์มีบทบาทสูงมากในพระพุทธศาสนา มีอุปการะคุณมาก ปราศจากพระอานนท์แล้ว พระวัจนะทั้งหมดอาจจะสาบสูญได้ ต่อจากนั้นพระมหากษัตริย์พระเจ้าอโศกก็ดี หรือแม้อชาตศัตรูเองก็ดี ที่ให้อุปถัมภ์การสังคายนาเหล่านั้น และด้วยกรรมวิธีอันฉลาดรอบคอบที่เรียกว่า มุขปาฐะ ท่องปากเปล่า ถ่ายทอดมาจนถึงมือของเราในทุกวันนี้
สำหรับงานของสวนโมกข์ ผมคิดว่าประทีปอันนั้นถูกยื่นมาถึงมือหลาย ๆ คนแล้ว คนที่เข้าไปในภูเขาอาจจะไม่ได้เห็นรูปร่างของภูเขาอีกเลย อาจจะได้รับความร่มเย็นจากภูเขา ต่อเมื่อเดินห่างภูเขาออกมาจึงจะเห็นรูปทรงของภูเขา เห็นขอบเขตของภูเขาได้ คนที่อยู่ใกล้ชิดท่านเกินไป อาจจะไม่รู้จักเลยก็ได้ อันนี้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น เพราะว่าภูมิปัญญาจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากท่านและท่านไม่อาจถ่ายทอดอะไรให้เราได้ ปัญญาจริง ๆ นั้นผมเชื่อว่าซ่อนอยู่แล้วในตัวเราทุกคน เพราะว่าจิตคือพุทธะ คำสอนของท่านหรือของพระพุทธเจ้ามันเหมือนแสงสว่างที่สองไปที่ดอกบัว ซึ่งพร้อมที่จะบาน การเผยแผ่ที่เป็นระบบ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก ตรงกันข้าม ถ้ามีการจัดองค์กรจัดตั้งขึ้น นั่นกลายเป็นเป้านิ่งขึ้นมาทันที แล้วกงล้อของสังคมจะทำให้เกิดการหมุนผิดจังหวะ แล้วเบียดเสียดกันเอง ไม่เชื่อลองจัดตั้งองค์กรพุทธทาสขึ้น เราจะพบอาสวะเกิดขึ้นทันทีอาสวะนี้เกิดเนื่องจากการรวมกลุ่ม ผมคิดว่าความรับผิดชอบของเราน่าจะอยู่ลึก ๆ ในตัวเราเอง เพราะว่าเรารู้จักท่านเพียงใด เราจะรับผิดชอบได้เพียงนั้น เหมือนกับว่าพ่อแม่จะสอนให้ลูกร่วมรับผิดชอบได้เพียงนั้น เหมือนกับว่าพ่อแม่จะสอนให้ลูกร่วมรับผิดชอบในงาน สิ่งแรกต้องให้คิดร่วมด้วย ให้ร่วมคิดด้วย โดยทั่วไปเรามักจะบอกให้ลูกทำโดยไม่ต้องคิดร่วมกับฉัน ฉันคิดให้เรียบร้อย แกทำลูกเดียวดังนั้นเด็กก็ไม่อาจรับผิดชอบได้ ใช่ไหมครับ?
ผมว่าประการแรก ถ้าเป็นพ่อแม่ อยากจะให้ลูกมีส่วนรับผิดชอบในครอบครัวก็ดี การงานก็ดี ต้องคิดร่วมกันก่อน เมื่อเขาคิดร่วมแล้วเขาจะรับผิดชอบเอง ถ้าเราอยากจะให้คำสอนของท่านอาจารย์ยังอยู่ เราก็พยายามศึกษาจนกว่ากระแสความคิดของเรารู้สึก รู้สึกขึ้นมาได้ว่าเป็นกระแสเดียวกับธรรมชาติ แล้วเราพบว่า ศักดิ์ศรีของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียง สำนัก แต่อยู่ในธรรมชาติแท้ในตัวเรานี่เอง เมื่อพูดถึงธรรมชาติแท้ ผมเองชอบคำนี้มากกว่ามากกว่าคำว่าจิตว่าง ที่จริงมันสัมพันธ์กัน อย่างแนบแน่นเมื่อจิตว่างจากกิเลส อาสวะแล้วก็จะแลเห็นธรรมชาติแท้ได้เอง ไม่จำเป็นต้องเอาดวงตาของอาจารย์มาส่อง ถ้าดวงตาของท่านมาส่อง ท่านจะบังเราทันที เหมือนกับว่าเราไปที่เขาตะเกียบ หรือเขาสามร้อยยอด เราเป็นคนใหม่ เราหาคนในท้องถิ่น บอกว่าช่วยนำทางผมไปดูช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ผมจะดูให้เต็มตาเสียที ทีนี้ถ้าคนนำทางของเราเป็นคนไม่เข้าใจนะครับ พอพระอาทิตย์กำลังรำไรก็ลุกขึ้นยืนข้างหน้าแล้วอธิบายความงามของแสงอาทิตย์ เขาก็บังเราหมดสิ้น ผู้นำทางที่ดีนั้น จะเตือนเราว่า คุณนั่งตรงนี้นะ มุมนี้เป็นมุมกว้างที่สุด คุณอย่าง่วง อย่าหลับ อย่าเผลอ แล้วอะไรจะเป็น คุณจะเห็นมันด้วยตาของคุณเอง นั่นคือผู้นำทางที่ดี ผมคิดว่าท่านอาจารย์เป็นผู้นำทางที่ดี เราไม่ควรเอาโวหารของท่านมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมเองเคยท้วงติงท่านนิดหน่อย บอกว่าทำไม ช่วงท้าย ๆ ท่านอาจารย์พูดซ้ำ ๆ กันว่า อย่างเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ตัว ท่านบอกว่าคนมันขี้ลืม ท่านได้พูดอย่างนั้น
ธรรมะนั้น เรามีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธธรรมะนั้นไม่เกี่ยวข้องมากนักกับคำพูดและถ้อยคำ แต่ธรรมะนั้นเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับธรรมชาติแท้ของเราเอง ธรรมชาติหรือความเป็นตั้งแต่เดิมที ดังนั้นคำสอนของท่านเป็นเหมือนดัชนีชี้ หรือป้าย หรือแผนผังที่ชี้ว่าเราควรจะทำและไม่ทำอะไรกับตัวเองและคนอื่น เมื่อเราเห็นตัวเองประจักษ์แจ้งตัวเองแล้ว เราก็จะเห็นลู่ทางเองที่จะทำต่อเพื่อนร่วมโลก เพื่อนมนุษย์ ผลสรุปว่าเราไม่ควรวิตกกังวลถึงการสืบทอด เมื่อเกสรหว่านโปรยไปทั่วสารทิศแล้ว มันก็เติบโตขึ้นเอง ถ้าว่าในนั้นมีเมล็ดพันธุ์อยู่ และเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามนั่นเองคือสายพันธุ์อันนั้น
ผมขอแสดงความเห็นนิดหนึ่ง ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ที่ว่าการเข้าถึงธรรมนั้น ถึงด้วยตนเอง ไม่ต้องกังวลถึงงานที่สืบสานของท่านนะครับ เพราะโดยประสบการณ์แล้ว ผมได้สนทนากับพระภิกษุที่ใกล้ชิดทางสวนโมกข์ ๗ ใน ๑๐ คน จะตีความไม่เหมือนกัน และ ๗ ใน ๑๐ คนนั้นเองไม่ได้เชื่ออาจารย์พุทธทาส ตีความไม่เหมือนกับท่านนะครับ เพราะฉะนั้น งานอย่างนี้ผมก็น่าเป็นห่วงอยากให้ช่วยตั้งองค์กรสถาบันเป็นรูปแบบขึ้นนะครับ การเข้าถึงธรรมนั้นเราเพียงควรจะศึกษาด้วยตนเอง ในพระไตรปิฎกก็ดี ในคัมภีร์ต่าง ๆ วิสุทธิมรรคก็ดี หรือคัมภีร์ที่เขาไม่ได้สนใจอะไรก็ดี หรือแม้แต่งานของอาจารย์พุทธทาส เราก็ต้องศึกษาเป็นทางผ่านเข้าไปสู่ตัวของเราด้วยความเข้าใจในจิตของเราเองเท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวอาจารย์ ความเข้าใจในตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่จะเข้าใจคนอื่น
ตอบ ที่จริงนี่ไม่ใช่คำถาม เป็นความเห็นซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ผมขอเพิ่มเติม ครูบาอาจารย์นี่ก็สำคัญมาก นับตั้งแต่อดีตกาลนานไกล สำหรับสิ่งแรกในการแสวงหาทางจิตวิญญาณนั้น ศิษย์ต้องแสวงหาครู พบครูแล้วก็เรียน แต่ว่าการพบครูนั้น อาจจะหมายถึงความหลงผิดก็ได้ ถ้าครูเราเข้าใจอะไรผิด ๆ อยู่ แต่ถ้าว่าครูเราเข้าใจอะไรถูกนั่นนับว่าเป็นโชคลาภของศิษย์แล้ว เหมือนคนครั้งพุทธกาลเดินซัดเซพเนจรมาไปเจอพระพุทธเจ้าเข้า บางคนโชคดีบางคนโชคร้ายมีเหมือนกัน พระพุทธเจ้าเองก็ถูกปฏิเสธก็มี ครูย่อมมีบทบาทมากเสมอ
ที่พูดกันว่า เราจะไปที่จุดหนึ่งจุดใดนั้นไม่จำเป็นต้องทางเดียวเคยได้ยินไหมครับ? เราไปได้หลายทาง แต่ผมจะแสดงมติว่า แท็กซี่ที่ฉลาดที่สุด แล้วกรุณาที่สุด เขาจะพาเราไปในทางตรงที่สุด สั้นที่สุด สิ้นเปลืองน้อยที่สุดด้วย ถูกเหมือนกันครับไปได้หลายทาง แต่บางทีมันไปหลงทางได้เหมือนกัน ในท่ามกลางนั้นเองครูยังมีบทบาทมาก ผมเข้าใจว่าครูเหมือนกระจกสะท้อนภาพของตัวเรา เรายิ่งอยู่ใกล้ครูเท่าไหร่ แทนที่เราจะรู้จักครู เราจะรู้จักหน้าตาของเรามากขึ้น เหมือนเราส่องกระจก เนื่องจากเรามีปกติที่หลงง่ายในเส้นทางการภาวนา มากไปด้วยหลุมพราง แล้วทางแยกที่ทำให้เราหลงวกวน เช่นปีติก็ดี สุขก็ดี หรือแม้แต่ญาณ เกิดขึ้นแล้วล้วนชวนหลง ถ้าคนเคยผ่านการฝึกจิตภาวนาแล้ว จะรู้ว่าไม่ง่ายเลย ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ล่วงหน้ามาก่อน
ผมเห็นด้วยนะครับว่าปฏิบัติธรรมะนี่ต้องทำเอง ดั่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่ว่าผู้ชี้ทางนี่สำคัญนัก เหมือนกับว่า บิดาของเราบอกเราว่าไปหยิบเข็มมาให้พ่อซิลูก อยู่ในบ้านนั่นแหละ โอ้โห เหนื่อยเลย ไม่รู้อยู่ตรงไหน ถ้าท่านบอกว่าอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้ง นั่นง่ายขึ้นนิดหนึ่ง ถ้าความจำของท่านแม่นท่านไม่หลงลืม งานเราจะง่ายขึ้น ง่ายขึ้นมาก
อีกประการหนึ่ง การสร้างความผูกพันกับอาจารย์นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ชวนให้ระลึกครูที่เรารัก นี่มันชุ่มชื่นดีผมว่า ดีกว่าไม่มี พระพุทธเจ้าเอง เมื่อท่านตรัสรู้แล้ว ท่านคิดว่าท่านจะผูกมิตรกับใครดี และท่านรู้ว่าพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์ ต้องเคารพอะไรสักอย่างหนึ่ง การอยู่โดยไม่มีหลัก ไม่มีอะไรเคารพนี่มันว้าเหว่เกินไป ท่านนึกขึ้นได้ก็เลยเคารพธรรม แล้วก็ท่านเองก็ประพฤติตนเป็นกัลยามิตรของพระภิกษุรูปอื่น การมีครูเป็นสิ่งที่ดีเป็นรสชาติซึ่งวิเศษมาก วันหนึ่งเราต้องแก่เฒ่า เมื่อเราได้ระลึกถึงครูผู้เฒ่าที่เคารพของเรานั้น มันเหมือนกับดวงประทีปเหล่านั้น ถูกถ่ายทอดมายังเรา พร้อมทั้งสำนึกในกิจอันพึงทำต่อคนรุ่นถัดไป ถ้าครูของเรามีแววเมตตากรุณาเราแม้ว่าตัวเราก็คือตัวเรา แต่เราจะได้รับแนวโน้มเอียงที่ดี มนุษย์เรานั้นไม่เพียงมีสัจจธรรมเท่านั้น ไม่เพียงแต่เป็นสัจจะของธรรมชาติเท่านั้น เรามีสิ่งสมมติ ยังมีแนวโน้มเอียง ที่สามารถเป็นประโยชน์แก่อนุชนได้ด้วย เช่นนิสัยเอื้อเฟื้อ เอื้ออารี เมื่อเราพบครูที่ดีเข้า เราก็จะมีมันด้วย เรามีหุ้นส่วนด้วย ผมเชื่อว่าพระสงฆ์ อิริยาบถของพระสงฆ์ทั่วโลก ได้เค้าเงื่อนจากอิริยาบถของพระพุทธองค์ได้รับแนวโน้มเอียงอันนี้มา แม้บางองค์จะโฉ่งฉ่างบ้าง แต่โดยทั่วไป เราพบว่าพระสงฆ์นิสัยดี เป็นมิตรกับคนทั่วไป ครูสำคัญมากครับ พ่อแม่สำคัญมาก แต่ว่าในเรื่องปรมัตถธรรมแล้ว จะให้คนเหล่านี้มายืนบังข้างหน้าไม่ได้ ก็เลยมีคำพูดซึ่งผมค่อนข้างช็อคเมื่อได้ยินครั้งแรก แต่ว่ารู้สึกดีมาก มีคำกล่าวของเซ็นพูดว่า ถ้าเจอพระพุทธเจ้า ฆ่าท่านเสีย เดี๋ยวท่านจะสอนธรรมะให้ ฟังดูแล้วเหมือนถูกกระชากหนังหัวไหม?
ครับ ก็สรุปว่า หมายความว่าเรื่องครูนี่ ถ้าจะเข้าถึงธรรมนี่ต้องฆ่าครูครับ แต่เมื่อได้เข้าถึงธรรมแล้วนี่ ต้องเคารพครูดุจชีวิตครับ
เป็นครูวันเดียว เป็นบิดาชั่วชีวิต คนจีนถืออย่างนี้ แต่เราจะเห็นด้วยหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ที่จริงคำพูดประโยคนี้นั้นเขาต้องการจะเน้น เซ็นต้องการจะเน้นว่า คำสอนที่ผ่านภาษาเป็นสื่อสมมุตินี้เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น เหมือนที่เรารู้ว่าพระนิพพานเป็นอวยากตะ เป็นอัพยากฤติ พูดไม่ได้สอนไม่ได้ แล้วก็หลงพลาด เนื่องกันกับคำพูดที่ว่าให้ฆ่าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าเองพูดว่า พราหมณ์เอยจงกลับไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เสียด้วย คือมันเป็นรหัส ที่ว่าถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราจะไม่อาจเข้าถึงได้เพราะพระพุทธเจ้าก็ดี พ่อแม่ก็ดีมายืนขวางทางเราอยู่ บางครั้งพระพุทธเจ้ายังบอกว่า พ่อเป็นศัตรู แม่เป็นไพรีของบุตร ก็พ่ออยากให้ไปทางนี้ ถ้าลูกอยากเกิดปฏิบัติธรรม พ่อไม่ยอมแม่ไม่ยอม เอาละเป็นศัตรูกันแล้ว เราต้องพิจารณาแยกส่วน แล้วพึงทำความเข้าใจให้แยบยล มีมนสิการควรไม่ควร ไม่ใช่ถือเอาตามถ้อยคำทื่อ ๆ
เวลาหมดแล้วครับ ขอขอบพระคุณมากที่อุตส่าห์ฟัง
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย