25 มิ.ย. 2021 เวลา 01:35 • หนังสือ
📚 รีวิวหนังสือ Thinking, Fast and Slow สุดยอดหนังสือแห่งยุคที่ทำให้เราเข้าใจความคิดของมนุษย์ (Part I) 📚
4
เขียนโดย Daniel Kahneman
💡 “Thinking, Fast and Slow” เป็นหนังสือเล่มดังของยุคนี้อีกเล่มหนึ่งเลย หลายต่อหลายคนแนะนำว่าเราควรอ่านหนังสือเล่มนี้ บางคนบอกว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในโลกเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งผู้เขียนอย่าง Daniel Kahneman นั้นเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล Nobel Prize ในสาขา Economic Sciences ในปี 2002 อีกด้วยครับ
1
หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนคัมภีร์ที่รวบรวมงานวิจัยมากมายที่เกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจของมนุษย์มาไว้ในเล่มเดียวกัน โดยชี้ให้เห็นว่าการคิดและตัดสินใจของมนุษย์นั้นมีข้อบกพร่องเยอะมากกกก แต่เราก็ทำกันจนชินและไม่ค่อยได้สังเกตตัวเองกันเท่าไหร่
3
👉🏻 การที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้เราหันกลับมาคิดได้มากขึ้น มองตัวเองมากขึ้นเวลาตัดสินใจอะไรลงไป ซึ่งเนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะและละเอียดมาก ผมจึงขอทยอยลงรีวิวเนื้อหา โดยใน Part I จะเล่าถึงเรื่องระบบความคิดของสมองคนเราที่ผู้เขียนจำแนกออกด้วยกันเป็น 2 ระบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันมากอย่างสุดขั้ว...🧐
1
……………..
“Two Systems”
ผู้เขียน Daniel Kahneman ได้ทำการแบ่งระบบความคิดของคนเราเป็นสองระบบโดยเค้าขอเรียกง่าย ๆ ว่า “System 1” กับ “System 2”
🔎 “System 1” หรือ ระบบ 1 ก็คือ ระบบคิดเร็ว ที่ใช้การคิดตัดสินใจแบบอัตโนมัติ โดยใช้สัญชาตญาณและความคุ้นชินเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ พวกการมองเห็น การได้ยิน การที่เราทำสิ่งที่เราเคยชินและคุ้นเคย เช่น ขับรถบนถนนโล่งเส้นทางเดิม ๆ หรือการแสดงสีหน้า อารมณ์ออกมา
🔎 ส่วน “System 2” หรือ ระบบ 2 ก็คือ ระบบของการคิดช้า ๆ ซึ่งได้แก่พวกการคิดคำนวณ การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งระบบนี้ต้องอาศัยความพยายามในการนำมาใช้ ไม่เหมือนกันระบบ 1 ที่แสดงออกมาเองโดยอัตโนมัติ ที่สำคัญระบบนี้ยังค่อนข้างจะขี้เกียจและไม่ค่อยออกมาทำงานอีกด้วย เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เราจะพยายามใช้ระบบ 1 ตลอดเวลา ถ้าไม่โดนบังคับจริงๆ เราจะไม่ใช้ระบบ 2 กันเลยครับ
1
👉🏻 ยกตัวอย่างเช่น หากให้เราตอบว่า 17 x 24 เท่ากับเท่าไหร่ ?
หากเรามองแล้วพยายามตอบเลย สมองเราก็จะไปใช้ระบบ 1 ในการคิดโดยกะคร่าว ๆ ว่ามันน่าจะอยู่ราว ๆ มากกว่า 100 หรืออยู่ที่ราว ๆ 400 (จากการที่เราใช้ระบบ 1 ตอบได้เลยว่า 10 x 10 เท่ากับ 100 หรือ 20 x 20 เท่ากับ 400 จากการที่เราเคยชินกับตัวเลขนี้)
2
แต่หากเราต้องการคำตอบที่แม่นยำ สมองเราก็จำเป็นต้องงัดเอาระบบ 2 ออกมาคิดคำนวณครับ
💡 ข้อดีของการใช้ระบบ 1 ที่เราเห็นได้ชัดเลยก็คือ มันเร็วมากครับ ทำให้เราคิดตัดสินใจอะไรได้รวดเร็วมาก ๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก และเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงเป็นส่วนใหญ่ ก็คือ เจ้าระบบ 1 เนี่ยมันมีอคติและความบกพร่องเยอะมาก !! จนทำให้หลาย ๆ ครั้งเราเลือกตัดสินใจผิดพลาดไป
💡 ส่วนระบบ 2 นั้นดูดีทีเดียว คือ ให้เราใช้เหตุและผล ข้อมูลในการตัดสินใจ แต่ระบบ 2 เวลาทำงานนั้นค่อนข้างใช้พลังงาน ใช้ความพยายามและสมาธิสูง และทำให้เราไม่สามารถทำอะไรพร้อมกันได้หลาย ๆ อย่าง เช่น หากถามให้เราหาผลลัพธ์ของ 17 x 24 ในขณะที่เรากำลังเลี้ยวรถในที่ที่เราไม่คุ้นเคยและการจราจรหนาแน่น เราคงจะคิดไม่ออกใช่มั้ยครับ ? (ตัวผมเองก็คงจะคิดไม่ออกแน่ๆ 555 )
2
ซึ่งมันมีการทดลองที่โด่งดังอันนึงที่ชื่อ “The invisible Gorilla” ที่พิสูจน์ในเรื่องนี้ โดยในการทดลองเค้าจะให้เรานับจำนวนการส่งลูกบอลในคลิปวิดีโอที่เราเห็น แล้วขณะนั้นก็จะมีคนใส่ชุดลิงกอริลล่าออกมาในฉากด้วย เชื่อมั้ยครับว่าในการทดลองนั้นมีคนกว่าครึ่งมองไม่เห็นลิงกอริลล่าในฉาก! (ไม่เห็นเพราะอะไร ??? )
ใครสนใจลองไปดูได้ตามนี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=vJG698U2Mvo
นอกจากนี้ ระบบ 2 ยังเป็น “จอมขี้เกียจ” (Lazy Controller) ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ “Law of the least effort” ที่บอกว่าสมองจะพยายามทำงานให้น้อยที่สุด ก็คือใช้ระบบ 1 เป็นหลักเลยครับ
โดยระบบ 2 นั้นจะทำหน้าที่เป็นคนควบคุมความคิดและพฤติกรรมของคนเราที่ถูกแนะนำให้แสดงออกมาโดยระบบ 1 ซึ่งความสามารถในการทำงานของระบบ 2 ก็จะมีข้อจำกัด เช่น หากเราเหนื่อยหรือล้า มันก็จะทำงานได้มีประสิทธิภาพด้อยลง
🔬 มีการทดลองในที่ชื่อว่า “bat and ball puzzle” ที่เป็นการทดลองที่เช็คว่า ระบบ 2 ของเราเนี่ยควบคุมการแนะนำคำตอบจากระบบ 1 ได้ดีขนาดไหน (ใครสนใจลองค้นหาชื่อคำถามนี้ใน google ดูได้ครับ)
ซึ่งในเรื่องของการควบคุมตนเองนั้นก็มีอีกการทดลองหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือการนำเอาเด็ก ๆ 4 ขวบมาอยู่ในห้องพร้อมกับวางบราวนี่ 1 ชิ้นไว้ตรงหน้า หากเด็กสามารถรอได้อีก 15 นาที เค้าจะได้ทานบราวนี่เพิ่มอีกชิ้น ซึ่งจากผลการทดลองในเรื่องนี้เค้าได้สรุปไว้ว่า เด็กที่มีความอดทนและควบคุมตัวเองไม่ให้กินบราวนี่ก่อนและเลือกที่จะรอนั้น โตขึ้นกลายเป็นคนที่มีเหตุมีผล และควบคุมตัวเองได้มากกว่าเด็กที่เลือกกินบราวนี่โดยไม่รอ (ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อเลยนะครับ 😯)
……………..
“Associative Machine” 🤖
นอกจากนี้ระบบ 1 นั้นคิดและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพราะส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเป็น “ช่างเชื่อม” คือมักจะพยายามคิดหาความเชื่อมโยงสิ่งที่เราจดจำได้อย่างรวดเร็ว เช่น การที่เราเห็นคำว่า “กล้วย” กับ “อาเจียน” ทุกท่านจะนึกถึงอะไรกันครับ? ภาพของสิ่งที่เราขยะแขยงน่าจะลอยมาเลยครับ
1
นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์นี้ว่า “priming effect” เช่น การที่เราให้เติมคำในช่องว่า SO_P เค้าบอกว่าหากเราเพิ่งอาบน้ำมาเราจะถึงนึกคำว่า SOAP (สบู่) ก่อน หากเรากำลังหิว อาจจะนึกถึงคำว่า SOUP (ซุป) ทำนองนี้ครับ
……………..
“Cognitive Ease”
นอกจากนี้สมองคนเรานั้นยังชอบที่จะคิดอะไรแบบง่าย ๆ คิดแบบผ่าน ๆ โดยปล่อยให้ระบบ 1 ทำงานเป็นหลัก แต่หากเรารู้สึกตึงเครียดขึ้นมาเมื่อไหร่ เราจะสังเกตได้ว่าเราจะคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น
การคิดแบบง่าย ๆ ผ่าน ๆ นั้นบางทีทำให้เราเชื่ออะไรผิด ๆ หรือตัดสินใจอะไรผิดพลาดได้ เพราะมันมักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Illusion of Truth” เพราะสมองเรามักจะคิดว่าอะไรที่เราฟังแล้วคุ้น ๆ น่าจะถูกต้อง
หรือแม้กระทั่งการเขียนที่ใช้ตัวอักษรที่เน้นหนาขึ้นมานั้น เชื่อมั้ยครับว่าทำให้คนเชื่อถือได้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่อาจะเป็นข้อมูลที่ผิด หรือกระทั่งมีการศึกษาว่าชื่อตัวย่อหุ้นที่อ่านง่ายกว่านั้นมีคนให้ความสนใจมากกว่าชื่อตัวย่อที่อ่านเป็นคำยาก เช่น KAR กับ PXG ลองดูครับว่าเราอ่านชื่อและจำตัวไหนได้ง่ายกว่าครับ
……………..
“Norms, Surprises and Causes” 😲
เหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “Surprise” นั้นจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เราคิดไม่ถึงแค่ครั้งแรกครั้งเดียวครับ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบเดิมอีกคนเราจะปรับตัวแล้วมองเป็นเรื่องเฉย ๆ ครับ เช่น หากเราไปเที่ยวที่ ๆ หนึ่งแล้วเจอเพื่อนเราคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันมานานมากโดยบังเอิญ เราจะตื่นเต้นมาก แต่ภายหลังหากเราบังเอิญเจอเค้าอีกครั้ง เราจะไม่ตื่นเต้นเท่าครั้งแรกแล้วครับ
ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นปกติ หรือ “Norm” นั้น เราจะใช้ระบบ 1 ในการประเมิน โดยจะนึกถึงเรื่องที่สมเหตุสมผล เช่น ถ้าเราได้ยินการพูดถึงโต๊ะโดยทั่วไป โดยไม่ได้ระบุอะไรเพิ่มเป็นพิเศษ เราก็นึกถึงโต๊ะโดยทั่วไปที่เราเห็นและคุ้นเคยเป็นประจำ ที่คงจะมีขาโต๊ะเพียงไม่กี่ขา คงไม่ใช่ 20 หรือ 30 ขาแน่ ๆ
นอกจากนี้การที่คนเราจะเชื่ออะไรซักอย่าง เราก็จะเชื่อเรื่องราวที่มีเหตุผลรองรับ เช่น เวลาเราฟังข่าวเกี่ยวกับเรื่องราคาหุ้นที่ขึ้นหรือลงเพราะอะไรนั้น เรามักจะเชื่อสนิทใจเลยครับว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ถูกมั้ยหละครับ ซึ่งหลายครั้งทำให้เราเชื่ออะไรที่ผิด ๆ ไปจากข้อมูลที่แท้จริงครับ
……………..
“A Machine for Jumping into Conclusions”
สมองมนุษย์เรานั้นนอกจากจะขี้เกียจแล้วยังชอบที่จะ “ด่วนสรุป” อีกต่างหาก โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “Halo Effect” ซึ่งคือปรากฏการณ์หรือสิ่งที่มีผลต่อความเชื่อของคนเราเมื่อแรกเห็น เช่น เราเห็นคนหน้าดี แต่งตัวดี เราก็ตีความสรุปไปเลยว่าคนนี้น่าจะเป็นคนดี ถูกมั้ยครับ?
ซึ่งผู้เขียนได้ยกตัวอย่างในเรื่องของการตรวจข้อสอบให้เห็นภาพกันว่า เวลาอาจารย์ตรวจข้อสอบแล้วนักเรียนคนนั้นทำคะแนนข้อแรกได้ดี จะทำให้อาจารย์มีแนวโน้มที่จะให้คะแนนข้อต่อ ๆ ไป สูงเช่นกัน เนื่องจากว่าสมองอาจารย์ได้รับรู้ไปแล้วว่านักเรียนคนนี้เก่ง อาจารย์จึงพยายามที่จะคิดถึงแต่ข้อดี พยายามช่วยตรวจให้ได้คะแนนดีในข้อถัด ๆ ไป แต่หากข้อแรกนักเรียนทำคะแนนได้ไม่ดีแล้วหละก็..ตัวใครตัวมันครับ 55 (ในเรื่องนี้เค้าบอกว่า อาจารย์ควรตรวจข้อสอบของเด็กทีละข้อไล่ไปจนครบทุกคน แล้วค่อยตรวจข้อต่อไป เพื่อป้องกันการลำเอียงแบบเหตุการณ์นี้ครับ)
📌 อีกหลักการสำคัญที่ผู้เขียนพูดถึงบ่อยคือ WYSIATI หรือที่ย่อมาจาก “What you see is all there is” ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายการตัดสินใจของคนเราว่าเมื่อเรารับรู้หรือเห็นสิ่งใดแล้ว เราก็จะยึดติดกับสิ่ง ๆ นั้นเป็นตัวแทนของสิ่งนั้นทั้งหมดเลย พูดง่าย ๆ ว่า “เหมารวม” เช่น หากให้เดาคนที่มีบุคลิกเรียบร้อยว่าน่าจะทำอาชีพอะไรระหว่างบรรณารักษ์กับเกษตรกร คนก็มักจะตอบว่าน่าจะทำงานเป็นบรรณารักษ์มากกว่าเป็นเกษตรกร อะไรทำนองนี้ ซึ่งหากมองไปที่ตัวเลขสถิติแล้ว คนที่ทำอาชีพเกษตรกรมีมากว่าบรรณารักษ์มาก ๆ จริง ๆ หากให้ใช้เหตุผลในการตัดสินเราควรเดาว่ามีอาชีพเกษตรกรมากกว่า
……………..
“How Judgement Happen” 👨🏻‍⚖️
ในขณะที่ระบบ 2 นั้นเวลาคิดก็มักจะใช้เวลาและความพยายามในการจะคิดโดยค้นหาข้อมูลต่าง ๆ มาเพื่อตอบคำถามที่เข้ามา แต่เท่าที่เล่าให้ฟังไปแล้วว่าระบบ 1 นั้นทำงานแตกต่างกันออกไปเลย โดยมันจะพยายามที่จะมองภาพง่าย ๆ แล้วมองหาทางที่จะตอบคำถามนั้นโดยใช้ความพยายามให้น้อยที่สุด ที่เราจะเรียกว่าเป็น “basic assessment” ซึ่งมันมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจอะไรแต่ละอย่างของเรา ซึ่งตัวอย่างง่าย ๆ เลยคือการที่เราตัดสินคนจากที่เราเห็นแค่รูปลักษณ์ภายนอกนั่นเอง เหมือนกับสำนวนที่ว่า don't judge a book by its cover ! ครับ
1
“Mental Shotgun” ก็คืออีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาดบ่อย คือการที่คนเรามีการคิดถึงสิ่งหนึ่งแต่มักจะส่งผลไปถึงอีกสิ่งหนึ่ง เช่น การที่เราดูงบการเงินของบริษัท ๆ หนึ่งแล้วเห็นว่าไม่ดี แต่เราก็ไม่ลืมที่จะคิดถึงสินค้าของบริษัทนี้ที่เราชื่นชอบมาก ๆ และอาจะทำให้เราตัดสินใจจากความชอบแทนที่จะดูจากงบการเงินแทนได้ครับ
1
……………..
“Answering an Easier Question” 🤨
การที่สมองเราขี้เกียจและชอบทำอะไรง่าย ทำให้เวลาเราเจอคำถามอะไรที่ยากและซับซ้อน เรามักที่จะตอบโดยการแทนที่คำถามที่ยาก ๆ นั้นด้วยคำถามที่ง่าย ๆ แทน ซึ่งอาจทำให้คำตอบที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการของคำถามจริง ๆ ได้ เช่น หากถามว่า คุณมีความสุขกับชีวิตตอนนี้ดีมั้ย เราก็จะตอบคำถามโดยนึกถึงคำถามที่ว่าตอนนี้เรารู้สึกยังไงแทน ซึ่งแค่ความรู้สึกตอนนี้จริง ๆ มันไม่ได้สะท้อนถึงชีวิตของเราทั้งหมดซะหน่อย
นอกจากนี้ยังมีการทำการทดลองถามคำถามกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งโดยการถามคำถามว่า
ข้อแรก คือ “คุณมีความสุขกับชีวิตตอนนี้ดีมั้ย”
ข้อถัดมาคือ “คุณมีเดทไปกี่ครั้งในเดือนที่แล้ว”
ซึ่งหากทำการสลับเอาคำถามที่สองที่ว่า “คุณมีเดทไปกี่ครั้ง” มาถามก่อนและตามด้วยคำถามที่ว่า “คุณมีความสุขกับชีวิตตอนนี้ดีมั้ย” จะกลายเป็นว่าคำตอบของคำถามข้อหลังจะล้อไปตามจำนวนเดทที่มีในข้อแรก คือ มีแนวโน้มว่าคนที่มีเดทน้อยครั้งจะตอบว่ามีความสุขกับชีวิตตอนนี้น้อยกว่า ในขณะที่หากตอบเรื่องมีความสุขก่อนจำนวนการเดท ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย นั้นแสดงให้เห็นว่าเราเอาคำถามของจำนวนเดทมาตอบคำถามในเรื่องของความสุขแทน
“The Affect Heuristic” ก็เป็นหนึ่งในการตัดสินใจแบบง่าย ๆ โดยเราจะให้น้ำหนักสิ่งที่เราชื่นชอบอยู่แล้วมากกว่าปกติโดยใช้อารมณ์มาเกี่ยวข้องนั่นเอง เช่น หากคุณชอบรัฐบาลชุดนี้ คุณก็จะมองว่านโยบายการสาธารณะสุขที่ออกมา ก็น่าจะดีและมีประสิทธิภาพ 🤣
……………..
📌 โดยสรุปนะครับ ใน part แรกนี้เราได้รู้จักกับระบบคิดแบบระบบ 1 และระบบ 2 รวมไปถึงพฤติกรรมจอมขี้เกียจของสมองเราแล้ว ในตอนต่อไปจะมาเล่าถึงอคติต่าง ๆ ที่มนุษย์เรามีจากการใช้ระบบ 1 ในการคิดกันครับว่ามีอะไรบ้างที่เราควรจะระวังในการคิดและตัดสินใจ รับรองว่ามีเรื่องที่น่าสนใจที่เราคาดไม่ถึงอีกหลายเรื่องเลยครับ และยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตของเราให้เป็นเราที่ดีขึ้นได้ด้วยครับ
#ThinkingFastAndSlow #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา