25 มิ.ย. 2021 เวลา 14:38 • การศึกษา
สวัสดีค่ะ กลับมาอีกแล้วกับ “แตกศัพท์ให้แตกฉาน” บทความที่ 2 วันนี้ขอนำเสนอคำศัพท์ในข่าวธุรกิจท่องเที่ยว เรามาดูไปทีละคำตามหมายเลขได้เลย
ที่มาของภาพ : application หนังสือพิมพ์แบงกอกโพสต์ วันที่ 24 มิถุนายน 2564
1. predict : “คาดการณ์, คาดเดา, ทำนาย” ใช้กับการคาดเดาคาดคิดของผู้พูด ไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซนต์ อย่างเช่นในข่าวใช้ “predict recovery” หมายถึง คาดการณ์ถึงการฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิม คำนี้มาจาก “pre-” (ก่อน, ล่วงหน้า) และ “-dict” (พูด, เอ่ย) เมื่อนำ 2 มารวมกันก็จะแปลว่า “พูดไว้ล่วงหน้า”คำนามของคำว่า “predict” คือ prediction และยังมี adj. ด้วยค่ะ นั่นคือคำว่า “predictable” เกิดจากการรวม “predict” + “able (สามารถ)” → “ที่สามารถคาดการณ์/คาดเดาได้” แต่ถ้าอะไรที่คาดเดาไม่ได้เลย เราก็จะเติม “un-” เข้าไปเป็น “unpredictable” เราบอกว่า The weather here is unpredictable. “สภาพอากาศที่นี่คาดเดาไม่ได้เลย”
2. complete : “สมบูรณ์, ครบถ้วน, ทำให้สมบูรณ์” คำนี้เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำคุณศัพท์ หลายคนอาจเคยได้ยินสำนวนว่า “mission complete” หมายถึง “ภารกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์” ในข่าวใช้คำว่า “complete recovery” หมายถึง “การฟื้นฟูกลับมาเหมือนเติมได้เต็มที่” หากสิ่งนี้สิ่งนั้นไม่ครบถ้วน เราเติม “in-” → “incomplete” นอกจากนี้ เรามักเจอในคำสั่งแบบฝึกหัดที่เขียนไว้ว่า “Please complete the sentences” (กรุณาเติมประโยคให้สมบูรณ์” ทำให้เป็นคำนามได้ด้วยการเติม “-ion” เข้าไป เป็นคำว่า “completion”
3. recovery : “การฟื้นฟู, การกลับมาเหมือนเดิม” เรามาดูที่มาของคำนี้กันดีกว่า เริ่มจากคำว่า “cover” (v) ครอบคลุม, ปกปิด แต่เมื่อเราใส่ “re-” → “recover” หมายถึง “ฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมอย่างเคย” อาจนำมาใช้กับความหมายว่า “หายเจ็บป่วยจากโรค” ก็ได้ค่ะ เช่น He has recovered from flu. (เขาหายป่วยจากโรคหวัดใหญ่แล้ว) อีกมุมหนึ่ง ยังมีคำศัพท์ในครอบครัวเดียวกัน นั่นคือคำว่า “discover” (v) “เปิดเผย, ค้นพบ” เกิดจาก “dis-” (ไม่) + “cover” และคำนามของคำนี้คือ “discovery” ไม่ปกปิดอีกต่อไป นั่นก็ถือค้นพบสิ่งนั้นเจอแล้ว
4. international : “นานาชาติ, หลากหลายประเทศ” คำนี้นำมาทับศัพท์ในภาษาไทยมากมาย เช่น “นักร้องคนนั้นโกอินเตอร์ไปแล้ว”ต้นกำเนิดของคำนี้มาจากคำว่า “inter-” (ระหว่าง) + “nation” (ชาติ) + “-al” (adj) พอนำมารวมกันก็จะหมายถึง “ระหว่างชาติต่าง ๆ, นานาชาติ, สากล” เช่น international school (โรงเรียนนานาชาติ), international organization (องค์กรระหว่างประเทศ) นอกจากนี้ ยังทำเป็นคำกริยาได้ นั่นคือคำว่า “internationalize” = ทำให้เป็นสากล / internationalization (การทำให้เป็นสากล) ในข่าวมีคำว่า “international arrivals” แปลว่า “การเดินทางมาถึงของชาวต่างชาติ” ดังนั้น เราเจอคำว่า “international” ในสนามบินด้วย เช่น “international flight” (เที่ยวบินระหว่างประเทศ) ซึ่งตรงกันข้ามกับ “domestic flight” (เที่ยวบินในประเทศ) และเจอในประเภทของข่าวได้เหมือนกัน → international news (ข่าวต่างประเทศ) ⇔ domestic news (ข่าวในประเทศ)
5. arrival : “การมาถึง, การถึงที่หมาย” มาจากคำกริยา “arrive” = มาถึง, ถึงจุดหมายปลายทาง” เราใช้กับได้หลายคำบุพบทค่ะ เช่น arrive in Thailand (เดินทางถึงประเทศไทย) / arrive (at) home → เดินทางถึงบ้าน แต่พูดว่า arrive home ก็ได้ คำว่า “arrival” ในสนามบิน จะหมายถึง “เที่ยวบินขาเข้า” ตรงกันข้ามกับ “departure” (เที่ยวบินขาออก)
6. estimate : “กะประมาณ” ใช้กับการคาดการณ์จำนวน, ปริมาณหรือระดับบางอย่าง เช่นในข่าว “estimated to remain flat” หมายถึง คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับต่ำ สมมติเราขึ้นเครื่องบิน หน้าจอบนที่นั่งจะขึ้นเวลาไว้ว่าเครื่องขึ้นออกจากสนามบินนี้เวลานี้ และคาดว่าจะถึงสนามบินปลายทางที่เวลานี้ “เวลาที่คาดการณ์” เราจะใช้ “estimated time” เราอาจเคยได้ยินคนไทยพูดทับศัพท์ว่า “แก underestimate ฉันเสียแล้ว” คำว่า “underestimate” ก็คือคาดการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง นึกถึงคำว่า “under” ที่แปลว่า “ใต้, ต่ำ” ให้ดีน้าาา ส่วนคำนามของคำว่า “estimate” ก็คือ “estimation”
7. remain : “หลงเหลือ, คงไว้ใน….” หากใช้เป็นคำนาม เราควรใช้ในรูปพหูพจน์ → “remains” แปลว่า “สิ่งที่คงเหลืออยู่, ซากปรักหักพัง, ซากศพ” แต่หากเปลี่ยนมาใช้เป็นคำกริยา สามารถตามด้วยคำคุณศัพท์ได้เลย คำกริยาลักษณะนี้เรียกว่า “linking verb” ในข่าว “----- are estimated to remain flat this year” หมายถึง “-----คาดการณ์ว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำ” อย่าสับสนกับคำว่า “remind” ที่แปลว่า “เตือนกันลืม” นะคะ
8. flat : “แบน, ระดับต่ำ” เช่น ยางแบน (flat tyre) เมื่อนำมาใช้อธิบายกราฟหรือข้อมูล แปลว่า “อยู่ในระดับต่ำ, มีจำนวนน้อย” ก็ได้ คำกริยาคือคำว่า “flatten” (ทำให้แบนราบ) คำคุณศัพท์หลายคำสามารถทำให้เป็นคำกริยาได้ด้วยการเติม “-en” เข้าไปค่ะ เช่น “short (adj) → shorten (v)” มีบางคำที่ต้องเปลี่ยนคำคุณศัพท์ให้เป็นคำนามก่อนแล้วค่อยเติม “-en” เข้าไป เช่น “strong (adj) → strength (n) → strengthen (v)”
9. assume : “สันนิษฐาน, คาดเดา” คล้ายกับคำว่า “guess” แต่เป็นทางการและใช้ในวงการวิชาการเยอะ เวลาทำวิจัยหรือทำการทดลอง เราต้องตั้งสมมติฐานไว้ คำนามคือ “assumption” (การสันนิษฐาน, ข้อสมมติฐาน) อย่าลืมลบตัว “e” ทิ้ง แล้วเพิ่ม “p” เข้าไปก่อนใส่ “-tion” ปิดท้ายนะคะ ส่วน adj. กับ adv. คือ “assumable” และ “assumably” (ที่สันนิษฐานได้) ชื่อภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เราเขียนว่า “Assumption University” แต่ “assumption” ในบริบทนี้ หมายถึง “พระแม่มารีย์ได้รับเกียรติให้ขึ้นสวรรค์”
10. country : “ประเทศ” คาดว่าหลายท่านรู้จักคำนี้อยู่แล้ว แต่อย่าลืมนะคะว่าสามารถแปลว่า “ชนบท, ลูกทุ่ง” ได้ เช่น “country song” (เพลงลูกทุ่ง) ถ้าไม่อยากให้เกิดความสับสน สามารถใช้คำว่า “countryside” ก็จะล็อคความหมายไว้ได้อย่างเดียวว่า “ชนบท” เรามาดูคำอื่น ๆ ที่ใช้กับ “country” กันบ้างนะคะ → home country (ประเทศบ้านเกิด), industrialized country (ประเทศอุตสาหกรรม, ประเทศพัฒนาแล้ว) เวลาเขียน อย่าลืมตัว “r” นะคะ เพราะถ้าลืม เราจะได้คำว่า “county” แปลว่า “เขตการปกครองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา” ทันที
11. reopen : “เปิดใหม่, กลับมาเปิดอีกครั้ง” คำนี้เกิดจาก “re- (อีกครั้ง, ทำซ้ำ) ” + “open (เปิด)” ในข่าวเขียนว่า “the country can reopen in October.” (จะกลับมาเปิดประเทศได้ในเดือนตุลาคม) นอกเหนือจากคำกริยา คำว่า “open” ยังเป็น adj ได้เช่นกันค่ะ เช่น The restaurant is open from 10.00-20.00. หรือจะเจอแบบผสมปนเปใน adj คำอื่นด้วย เช่น open-minded (เปิดกว้างทางความคิด) ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ narrow-minded (ปิดกั้นทางความคิด) รูป”-ing” → opening แปลว่า “การเปิด, การเปิดตัว” เช่น grand opening (การเปิดตัวครั้งใหญ่)
12. while : “ในขณะที่, ระหว่างที่” ในเชื่อม 2 ประโยคเข้าด้วยกัน เป็น 2 เหตุการณ์ที่เกิดในเวลาเดียวกัน เช่น Daddy was listening to music while mommy was cooking in the kitchen. (พ่อกำลังฟังเพลงอยู่ระหว่างที่แม่ทำกับข้าวในครัว) จะใช้ในเนื้อความเชิงเดียวกันหรือขัดแย้งกันก็ได้ เราจะวาง “while” ไว้ด้านหน้าประโยคได้เหมือนกัน → While the dog is eating bones, the cat is running in the yard. (ระหว่างที่สุนัขกำลังแทะกระดูก แมวน้อยก็วิ่งเล่นอยู่ในสนาม)
13. happen : “เกิดขึ้น, มีให้เห็น” เช่น ประโยคในข่าว “….recovery to 2019 levels might not happen until 2023” (การฟื้นฟูให้อยู่ในระดับเท่ากับปี 2019 ยังคงไม่น่ามีให้เห็นจนกว่าจะถึงปี 2023) แต่สำนวน “happen to” แปลว่า “โดยบังเอิญ, ไม่ได้คาดคิด” เช่น “I happened to see John at the bank today.” (ฉันพบจอห์นโดยบังเอิญที่ธนาคาร - ไม่ได้นัดไว้ ไม่ได้ตั้งใจเจอ) ส่วน “happening” หมายถึง “เหตุการณ์, สถานการณ์” เมื่อถามว่า "เกิดอะไรขึ้น" เราพูดว่า “what happened?” เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว อย่าเผลอใช้ “what happens?” นะคะ
14. best-case scenario : “เหตุการณ์ดีกว่าที่คาดไว้” คำตรงกันข้ามที่ได้พบเห็นบ่อยคือ “worst-case scenario” (เหตุการณ์เลวร้ายกว่าที่ตั้งไว้) เวลาเราวางแผนอะไร บางทีก็ต้องนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่ไม่อยากให้เกิดเพื่อที่จะตั้งรับให้ทัน ในข่าวเขียนว่า “….recovery to 2019 levels might not happen until 2023, under the best scenario” (การฟื้นฟูให้อยู่ในระดับเท่ากับปี 2019 ยังคงไม่น่ามีให้เห็นจนกว่าจะถึงปี 2023 ซึ่งนี่คือในกรณีที่สถานการณ์ออกมาดีเกินกว่าที่คาดไว้) คำว่า “scenario” ยังเป็นศัพท์เฉพาะทางในวงการภาพยนตร์หรือนวนิยาย หมายความว่า “โครงเรื่อง” ได้ด้วย ครอบครัวเดียวกับคำว่า “scene” นั่นแหละค่ะ พอจะร้องอ๋อแล้วใช่ไหมเอ่ย
15. according to + N : “ตามที่….” เราจะเจอสำนวนนี้บ่อยมากในข่าวหรืองานวิชาการ อย่างในข่าว “.........., according to Pata” (ตามข้อมูลจากองค์กร Pata) อันที่จริง “according” มาจาก “accord” (v) แปลว่า “ประสาน, สอดคล้อง” คำตรงกันข้ามก็คือ “discord” (การไม่ลงรอยกัน, การไม่ประสานกัน) เวลาเรานำข้อมูลมาจากแหล่งใด เราก็ควรอ้างอิงไว้ด้วยว่าข้อมูลนี้ใครเป็นคนสร้างขึ้นมา จะเขียน “according to” ไว้ด้านหน้าหรือปิดท้ายประโยคก็ได้
16. association : “การร่วมมือ, สมาคม” คำนี้มาจาก “associate” (v) ร่วมมือกัน พอแปลงเป็น n. คือ association ต้นกำเนิดคือคำว่า “society” (n) สังคม ใส่ “as-” (รวมกัน) ไว้ด้านหน้า ก็คือ “การที่สังคมมารวมตัวกัน” เราเจอ “association” บ่อยมากในความหมายว่า “สมาคม” เช่น National Basketball Association-NBA (สมาคมกีฬาบาสเก็ตบอลแห่งสหรัฐอเมริกา) หรือ The Football Association-FA (สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ) นอกจากนี้ เรายังพบคำว่า “associate” ในตำแหน่งวิชาการอีกค่ะ นั่นคือคำว่า “associate professor” (รองศาสตราจารย์) ที่ต่อยอดมาจาก “assistant professor” (ผู้ช่วยศาสตราจารย์)
16 คำในทความที่ 2 นี้เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เริ่มสนุกกับการอ่านข่าวภาษาอังกฤษกันหรือยังนะ ขอแนะนำว่าเวลาอ่านคำอธิบายคำศัพท์แต่ละตัวครบแล้ว ให้ย้อนกลับไปอ่านประโยคในข่าวอีกรอบ ช่วยให้เข้าใจความหมายและบริบทการใช้งานมากขึ้น
คราวหน้าจะนำคำศัพท์ใดมาแฉอีก อย่าลืมติดตามอ่านกันได้ใน “แตกศัพท์ให้แตกฉาก” ในเพจ “บีอ่าน...บีดู….อู้หู...มันดียังไง”
โฆษณา