บทประพันธ์เรื่องไซอิ๋ว
ไซอิ๋วเป็นเรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้นโดยนักปราญ์ชาวพุทธฝ่ายมหายาน นามว่าโห้ว เซ่งอึง เป็นปริศนาธรรมที่พยายามจะขยายความพุทธธรรมลงในตัวละครต่าง ๆ ไว้ดังนี้
เห้งเจีย (ปัญญา)นั้น สร้างขึ้นมาจากหิน เดิมเป็นลิงสามัญ แต่ด้วยเจตนาของ ฟ้า – ดินหรืออย่างไรไม่ทราบได้ จึงให้เมื่อเติบใหญ่มีกำลังกล้าแข็งขึ้น สามารถปกครองบรรดาเหล่าลิงทั้งหลาย จนลิงเหล่านั้นที่เป็นบริวารยกขึ้นให้เป็นใต้อ๋อง
และเจ้าเห้งเจียนี้มีคุณลักษณะที่แปลกแยกออกไปคือ เป็นลิงที่มีผิวเผือกผ่อง (โพธิจิตนั้นบริสุทธิอยู่โดยธรรมชาติ เฉกเช่น มนุษย์ทุกผู้เกิดมาย่อมมีจิตอันเป็นบริสุทธิ์ เมื่อเติบโตขึ้นมักสั่งสมการเรียนรู้โดยสัมมาทิฎฐิ หรือ มิจฉาทิฎฐิก็ดี แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะมีมิจฉาทิฏฐิในความเป็นตัวกู ของกู มากขึ้นฉันนั้น)
ต่อมาลิงเผือกที่จะเป็นเห้งเจีย หรือ เรียกว่า พญามุ้ยเกาอ๋อง เห็นว่าตนมีความสามารถมากขึ้นก็มีความทะยานอยากที่สูงมากขึ้น คือประสงค์ที่จะพ้นจากชราธรรมต้องการความเป็นอมตะ จึงได้สืบหาธรรมวิเศษและได้พบท่านโผเถโจ๊วซือ(สังฆนายก) จนได้เรียนรู้วิชาจนสามารถแปลงกายได้ ๗๒ อย่าง (สภาวธรรม ๗๒ อย่าง) และขนที่มีอยู่ ๘๔,๐๐๐ เส้น (ปริยัติใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) ทุกเส้นแปลงเป็นลิงได้ จึงทำให้มีอิทธิฤทธิ์เพิ่มมากขึ้น
เห้งเจียเห็นว่าอันความสามารถของตนนั้นถ้าหากได้อาวุธวิเศษมาคู่กายก็จะดีไม่น้อย จึงทั้งตระเวนขึ้นสวรรค์ ลงใต้บาดาล เพื่อแสวงหาจนกระทั่งในที่สุดได้อาวุธคือตะบองวิเศษ ยู่อี่กิมซือเป๋ง (แปลว่า ตะบองปลอกทองได้ดังใจ)
ตะบองนี้ใหญ่ก็ได้ดังใจ จะให้เล็กเหน็บไว้ในรูหูก็ได้(เปรียบดังจิตมนุษย์ที่มีเปลี่ยนแปลง คิดทำอะไรต่าง ๆ ดังใจนึก)
เมื่อได้อาวุธแล้วก็บุกตะลุยลงไปในนรกและลบบัญชีตายแก่ตน(หมายความว่าโพธิจิตนั้นไม่มีวันแตกดับ)
นอกจากนี้ยังตีลังกาได้ ๑๘,๐๐๐ โยชน์เป็นระยะทางจากเมืองไต้ถังถึง กับไซที (โพธิจิตถึงนิพพานได้เพียงขณะจิตเดียว ) พญาเงี่ยมฬ่ออ๋อง (มัจจุราช) และพญาเล่งอ๋อง (ผู้เป็นใหญ่ในทะเล) ต้องหนีเตลิดเปิดเปิงขึ้นไปบนสวรรค์ ยื่นฎีกาต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ (ผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์) ในที่สุดสวรรค์จึงออกอุบายว่าควรจะมอบตำแหน่งสักอย่างให้เห้งเจียเพื่อให้มาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสวรรค์ เห้งเจียจะได้ไม่ไปคบหาสมาคมกับภูตผี มิฉะนั้นอาจจะเป็นภัยต่อสวรรค์ได้ จึงได้แต่งตั้งให้เป็นแม่กองเลี้ยงม้า
ครั้งแรกเห้งเจียดีใจที่ตนเองได้ตำแหน่ง แต่เมื่อมาแต่งตั้งตำแหน่งเป็นเพียงแม่กองเลี้ยงม้าเท่านั้น เห็นว่าความสามารถอย่างตนแต่กลับให้มาเลี้ยงม้าเท่านั้น ก็โกรธทำลายสิ่งของต่าง ๆ แล้ว เหาะกลับมายังที่อยู่ของตนที่ถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง ( โพธิจิตที่ยังเถื่อนยังไม่พอใจกับบุญที่ไร้เกียรติ )
ฝ่ายปีศาจตระกูลต๋อกกั๊ก ๒ ตน( ได้แก่ มานะ – ถือตน กับ อติมานะ – ถือตนจนข่มผู้อื่น) ได้ทีเข้ามาสวามิภักดิ์ แล้วยุยงว่าความสามารถอย่างท่านนั้นน่าจะเป็นจอมสวรรค์เสียด้วยซ้ำ
เมื่อเป็นดังนี้ทางเง็กเซียนฮ่องเต้จอมสวรรค์เห็นว่าเห้งเจียบังอาจที่ไม่แยแสต่อตำแหน่งที่แต่งตั้งให้แถมยังไปสมคบกับปีศาจอีกด้วย จึงสั่งถักทะลีทีอ๋อง แม่ทัพสวรรค์พร้อมโลเฉีย(พลังของบุญกุศล ไปน้อมนำให้โพธิจิตเข้าใจในปิติและสุข) ไม่ว่าโลเฉียจะแสดงอิทธิฤทธิ์ใด ๆ เห้งเจียก็แปลงกายในรูปแบบต่าง ๆ สู้ได้หมด และยังสามารถตีกองทัพสวรรค์พ่ายแพ้กลับไปอีกด้วย
เห้งเจียได้ใจเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่ ทั้งลิง(โพธิจิต) และผี(กิเลส) ก็คบหากันสนิทสนมแนบแน่นขึ้น ทางสวรรค์ต้องการทดใช้พลังของโพธิให้ไปสู่หนทางบุญให้ได้ จึงแต่งตั้งเห้งเจียให้เป็น ซีเทียนไต้เซีย และให้สร้างหอขึ้น ๒ หอ คือ หอเย็นระงับใจ และหอเก็บรักษาอารมณ์ แล้วยังประทานสุราที่บรรดาเซียนดื่มกันให้ ๒ คนโท (ปิติ และสุข เกิดขี้นจากการระงับใจ และเก็บรักษาอารมณ์) พร้อมดอกไม้ทองคำสิบกิ่ง (กุศลกรรมสิบบท)
เพื่อเป็นการระงับไม่ให้ทำชั่ว เมื่อมีที่อยู่ใหม่และมีคนคอยปรนนิบัติเห้งเจียก็รู้สึกชอบ แต่เวลาผ่านไปก็คิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ตนแสวงหา คิดว่าบนสวรรค์ควรที่จะมีอะไรทีดีกว่านี้อีกหรือไม่ (โพธิจิตมุ่งแสวงหาสิ่งที่สูงกว่าบุญเสมอ)
ดังนั้นเมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้มอบให้ซีเทียนไต้เซียใช้เวลาว่างในการตรวจตรารักษา สวนชมพู่ ๓ สวน (ไตรปิฎก) โดยมีนางฟ้า ๗ องค์ (พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์) เป็นพนักงานเก็บชมพู่ ในเวลานั้นมีงานเลี้ยง พวกเซียนได้ดื่มกินอาหารทิพย์ สุราทิพย์ (สุขในบุญ ชวนให้มึนเมา) ซีเทียนไต้เซีย จึงแอบกินชมพู่ที่มีอยู่ ๓,๖๐๐ ต้น(พระสูตร) จนหมด
แล้วเสกให้นางฟ้าทั้ง ๗ ให้ไม่รู้สึกตัว แถมยังแอบเข้าไปกินอาหารทิพย็ สุราทิพย์ในงานเลี้ยง เลยเกิดมึนเมาหลงพลัดเข้าไปในเขตท่านพรหมท้ายเสียงเล่ากุน แอบขโมยกินยาอายุวัฒนะ และยาวิเศษต่าง ๆ ที่อยู่ในคนโททั้ง ๕ ใบ (วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคตา ซึ่งเป็นองค์แห่งปฐมฌาน) ซีเทียนไต้เซียรู้ตัวว่าได้ทำความผิดจึงหนีลงมาอยู่ที่ถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง
เง็กเซียนฮ่องเต้จึงสั่งให้ทัพสวรรค์ โดยถักทะลีทีอ๋อง(กุศล) แม่ทัพสวรรค์ พร้อม โลเฉีย (เจตสิก), ท้าวกิมกัง (จัตรุโลกบาล), ปุดเฉีย (ทาน) ทัพดาวยี่สิบแปดดวง, ดาวทั้งเก้า, สิบสองง่วนสิน, เจ้าฮวงเจี๊ยบ ในขณะเดียวกันทางซีเทียนไต้เซียก็มีต๊อกกั๊กกุยอ๋อง (มานะ – ถือตน, อติมานะ – ถือตนจนข่มผู้อื่น) เป็นทัพหน้า
ปรากฏว่าทัพสวรรค์พ่ายแพ้ยับเยิน ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าขณะนี้ซีเทียนไต้เซียมีความแข็งกล้าสามารถมากขึ้นเพราะได้กินชมพู่จากสวนชมพู่ ๓ สวน(ไตรปิฎก), สะกดนางฟ้าทั้ง ๗ (อภิธรรม ๗ คัมภีร์), ชมพู่ ๓,๖๐๐ ต้น(พระสูตร), อายุวัฒนะในคนโททั้ง ๕ (ปฐมฌาน – วิตก, วิจาร, ปิติ, สุข และเอกัคคตา) ยากที่ผู้ใดจะปราบได้อีกแล้ว
พระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา) จึงได้เชิญยี่หนึงจินกุนกับพี่น้องทั้ง ๖ (สัมมาทิฎฐิ ๗) นำอาวุธวิเศษของท้ายเสียงเล่ากุน (สมถะ) ขว้างลงบนหัวของซีเทียนไต้เซียทำให้อ่อนแรงลงจึงสามารถที่จะจับตัวของซีเทียนไต้เซีย(โพธิจิตเถื่อน)ได้ เมื่อจับได้แล้วยี่หนึงจินกุนกับพี่น้องทั้ง ๗ (สัมมาทิฎฐิ ๗) ก็ตรงเข้าไปเอาอาวุธไปข่มขู่ไว้ (ข่ม) จากนั้นเอาเชือกวิเศษมาผูก(ผูก) แล้วเอามีดวิเศษมาเสียบเข้าที่กระดูกสันหลัง(เสียบ) จึงจะสามารถมัดตัวนำไปถวายต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ได้ ( ข่ม, ผูก, เสียบ เป็นเคล็ดในการฝึกจิต)
เง็กเซียนฮ่องเต้รับสั่งให้นำซีเทียนไต้เซียไปประหารชีวิต ปรากฏว่าไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใด จะใช้ดาบฟัน เผาด้วยไฟ ใช้สายฟ้าฟาด ก็ไม่สามารถทำให้ซีเทียนไต้เซียตายได้ เพราะว่าซีเทียนไต้เซียได้ลบชื่อตัวเองออกจากบัญชีตายของพญาเงี่ยมฬ่ออ๋อง แล้วได้กินยาอายุวัฒนะของพรหมเสียงเล่ากุนอีก
ดังนั้นจึงให้พรหมเสียงเล่ากุนนำไปหลอมในเบ้าหลอมวิเศษ เพื่อจะได้เป็นยาอายุวัฒนะ ซีเทียนไต้เซียเลยถีบเบ้าหลอมพังพินาศ เอาตะบองยู่อี่ไล่ตีหมู่เทพยดาจนหนีเตลิดเปิดเปิง แล้วบุกเข้าไปยังที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ หมู่ทหารเทพก็เข้าล้อมไว้แต่ก็รบพุ่งทำอะไรกันไม่ได้ เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทราบว่าความสามารถของซีเทียนไต้เซียไม่มีผู้ใดทานได้
จึงแจ้งให้เทพบุตรไปนิมนต์พระเซ็กเกียมองนี่ฮุดโจ๊ (พระยูไล – พระพุทธเจ้า หรือ พุทธภาวะ) ณ วัดลุยอิมยี่เขตเมืองโซจ๋อก (โลกุตระ) ประเทศไซที (นิพพาน) ให้เสด็จมาช่วย ห้ามศึกบนสวรรค์
เมื่อพระพุทธเสด็จมาถึง ซีเทียนไต้เซียก็กำเริบเสิบสานจาบจ้วงเย้ยหยันอวดศักดา ว่าตนสมควรเป็นจอมสวรรค์ (นี่แหละ อหังการของโพธิที่ยังเถื่อนอยู่) เพราะสามารถมากทำอะไรได้ทุกอย่าง มีชีวิตเป็นอมตะ แม้แต่ตีลังกาครั้งหนึ่งก็ได้ระยะทาง ๑๘,๐๐๐ โยชน์(ระยะทางจากเมืองไต้ถัง ถึง ไซที หมายความว่าโพธิจิตสามารถบรรลุนิพพานได้ในพริบตาเดียว)
พระยูไลจึงขอให้ซีเทียนไต้เซียได้แสดงอิทธิฤทธิ์ โดยให้หนีพ้นอุ้งมือของพระยูไลให้ได้ก่อนหากทำได้ก็จะมอบตำแหน่งจอมสวรรค์ให้ ซีเทียนไต้เซียก็รับคำท้าแล้วก็กระโดดขึ้นไปอยู่บนอุ้งมือของพระยูไล จากนั้นก็เริ่มกระโดด ตีลังกา ไปจนหมดเรี่ยวแรงก็คิดว่าคงมาไกลพอสมควรเมื่อพบเสาหิน ๕ ต้น ซีเทียนไต้เซียเข้าใจว่าเป็นรากของฟ้า ฉะนั้นคิดว่าคงจะมาสุดขอบฟ้าแล้วจึงได้หยุดลง พร้อมเซ็นชื่อและปัสสาวะไว้เป็นหลักฐาน เพื่อกลับไปยืนยันกับพระยูไล
จากนั้นก็ตีลังกากลับไปหาพระยูไล แต่ความจริงแล้วซีเทียนไต้เซียหาได้พ้นจากอุ้งมือของพระยูไลไม่ เพราะเสาหิน ๕ ต้น(ขันธ์ ๕) นั้นเป็นนิ้วมือของพระยูไลนั่นเอง มีลายมือและปัสสาวะของซีเทียนไต้เซียก็ยังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ที่นิ้วทั้ง ๕ ของพระยูไล แต่ซีเทียนไต้เซียหายอมแพ้ไม่ (โพธิจิตเถื่อนยังไม่รู้เรื่องขันธ์ ๕)
พระยูไลจึงจับซีเทียนไต้เซียไว้แล้วคว่ำพระหัตถ์ครอบซีเทียนไต้เซียลงมาบนพื้นโลก บังเกิดเป็นภูเขา ๕ ยอดติดกันทับขังซีเทียนไต้เซียไว้ภายในและให้ซีเทียนไต้เซียกินน้ำเหล็กหลอมละลายทุกครั้งที่หิว (เปรียบดังความพยายามของโพธิจิตที่ไปสู่มรรคผลแห่งพุทธภาวะ ความไม่รู้ในขันธ์ ๕ ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะบรรลุได้ เปรียบว่าหนักเหมือนดั่งภูเขาทับไว้ และหากยึดมั่นว่าตัวกู ของกูคราใด ก็เป็นทุกข์ดุจดังกินน้ำเหล็กหลอมละลายยามหิวฉันนั้น)
เรื่องราวของการเดินทางไปสู่พุทธภาวะก็จะเริ่มนับตั้งแต่ ซีเทียนไต้เซียรอให้พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา + ขันติ)มาช่วย และบวชให้ โดยการสรวมมงคลสามห่วง (ไตรลักษณ์ – อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และเปลี่ยนชื่อเป็น ซึงหงอคง เพื่อให้ร่วมเดินทางไปไซที (นิพพาน) ในฐานะศิษย์ของพระถังซัมจั๋ง
การเดินทางของพระถังซัมจั๋งนั้นยังมีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยนอกจาก เห้งเจีย ก็คือ ตือโป้ยก่าย ซัวเจ๋ง กับมีม้าขาวเป็นยานพาหนะ และพระโพธิสัตว์กวนอิม คอยให้ความช่วยเหลือตลอดการเดินทาง
ตือโป้ยก่าย (ศีล) เดิมเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์มียศเป็นถึงผู้บัญชาการทหารเรือในแม่น้ำทงทีฮ้อ แต่ได้กระทำทุศีลจึงถูกสวรรค์ลงโทษให้จุติในท้องแม่สุกร และถูกสาปให้เป็นปีศาจอยู่ในภูเขาฮกลิ่นซัว ถ้ำหุ้นจางต๋อง
การที่ให้ตือโป้ยก่าย(ศีล)มีรูปร่างเป็นหมูนั้น เพราะว่าหมูเป็นสัตว์ทีมีปากยาว มีไว้สำหรับบริโภคและนินทาผู้อื่น หูยาวในการฟังหาเหตุที่จะทุศีล หมูรวมไว้ซึ่งความตะกละ ละโมบ และโสโครก ตือโป้ยก่ายมักถูกเห้งเจีย หรือ ปัญญาบังคับให้หุบปาก และหุบหู เพียงเท่านี้ ศีลก็จะมีมา มีคราด ๙ ซี่(สังฆคุณ ๙)เป็นอาวุธประจำกาย อีกทั้งแปลงกายได้ ๓๖ อย่าง เมื่อปีศาจหมูตือโป้ยก่ายได้พบพระกวนอิม(เมตตา) ได้สัญญาว่าจะรอพบพระถังซัมจั๋งเพื่อติดตามไปไซที โดยได้ชื่อใหม่จากกวนอิมว่า ตือหงอเหนง
ซัวเจ๋ง(สมาธิ) เป็นปีศาจเงือกที่อยู่ใต้น้ำ ก่อนเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ กระทำความผิดแล้วถูกสาปให้เป็นปีศาจเงือกจมอยู่ใต้ลำน้ำลิ้วซัวฮ้อ (สมาธิแห่งชีวิต –อนันตริกะสมาธิ มีอยู่แล้วในธรรมชาติแต่จมอยู่ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่) เมื่อได้พบพระโพธิสัตว์กวนอิมจึงได้ถูกนำมาใช้ในทางสัมมาทิฎฐิ พระกวนอิมจึงตั้งชื่อให้เป็น ซัวหงอเจ๋ง แปลงกายอะไรไม่ได้เลย มีความละมุนละม่อมมักตามหลัง คอยหาบเสบียงของชีวิต (สมาธิ) และคอยเฝ้าดูพระถังซัมจั๋ง (ศรัทธา + ขันติ) ซึ่งมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาและมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปไซที(นิพพาน)ด้วย
ม้าขาว(วิริยะ) แต่เดิมเป็นมังกร เป็นบุตรของพญาเล่งอ๋องแห่งทะเลตะวันตก ได้ไปจุดไฟเผาปราสาทบิดาจากความน้อยใจ จึงได้รับโทษจากสวรรค์ถูกประหารชีวิต ระหว่างรอถูกประหารพระโพธิสัตว์กวนอิมมาถ่ายโทษให้ พระกวนอิมมีคำสั่งให้มารอพระถังซัมจั๋งที่บึงเองเส้งข้างภูเขาฉัวปั๋วซัว
1
กวนอิม คือพระอวโลกิเตศวร ( อว+โลก+อิศวร = พระผู้เป็นใหญ่ซึ่งมองลงมายังสัตว์โลก) เป็นตัวแทนของ เมตตา ตลอดเรื่องราวใน”ไซอิ๋ว” บ่อยครั้งที่เห้งเจีย (ปัญญา) บินไปขอความช่วยเหลือจากกวนอิม (เมตตา) จึงจะสามารถชนะปีศาจต่าง ๆ (กิเลส ตัณหา) ได้ นั่นก็หมายถึง เมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง
เพราะหากการที่มีปัญญาแต่ขาดความเมตตา ก็มักจะเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย เป็นโมหะมูล เป็นความหลง ตัวกู ของกู ถือตัวถือตนว่าเก่ง มีความสามารถ โมหะมูลนี้จะพัฒนาไปจนกระทั่งคิดจะเบียดเบียนผู้อื่นร่ำไป ดังนั้นเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญาจึงเป็นธรรมชั้นสูงที่ปุถุชนควรพยายามเข้าใจ และฝึกฝนให้อยู่ในแนวแห่งสัมมาทิฏฐินี้ ก็จะเกิดสันติสุขขึ้น สำหรับกวนอิม – อวโลกิเตศวรของธิเบต ศิลปินได้เขียนกึ่งหญิงกึ่งชาย ส่วนในประเทศจีนนั้นเป็นกวนอิมเนี่ยเนี้ย โดยเหตุผลว่า ความเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงนั้นพึงเทียบจากมารดารักบุตร
ในเรื่องพระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา) การเดินทางไปไซที(นิพพาน) เพื่อไปนำพระไตรปิฎกมาถวายพระเจ้าถังไทจง ถึงแม้การเดินทางครั้งนี้จะต้องเผชิญและต่อสู้กับปีศาจต่าง ๆ (กิเลส) หน้าที่ตกเป็นของเห้งเจีย(ปัญญา) แต่เมื่อถึงคราวอับจนพระถังซัมจั๋งจะโดนปีศาจจับตัว ในหลาย ๆ ครั้งพระโพธิสัตว์กวนอิมก็จะออกมาช่วยเสมอ
โดยให้เห้งเจีย(ปัญญา)ต่อสู้กับกิเลสก่อนจนกว่าหมดแรงและเมื่อเข้าที่คับขัน พระโพธิสัตว์ก็จะมาแนะวิธี ชี้ให้เห็นเหตุ หากเกินกำลัง ก็ให้เห้งเจียไปเข้าเฝ้าพระยูไล ดังนั้นเห้งเจียจึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระยูไลหลายครั้งจนชำนาญทาง
ดังนั้น เรื่องราวไซอิ๋วจึงเป็นเรื่องที่ ลิง หมู เงือก รวม ๓ พี่น้อง แปลงกายได้ ๑๐๘ อย่างหรือ รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา ๑๐๘ นั่นเอง ในอีกนัยหนึ่งเป็นเรื่องราวของจิตที่มุ่งแสวงหานิพพาน จำเป็นต้องใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว(เอกัคคตาจิต)มุ่งหน้าสู่นิพพาน และระหว่างทางได้พบกับกิเลส จึงในบางครั้งก็ใช้ปัญญาเข้าแก้ไข ในบางครั้งก็ใช้ศีลเข้ามาช่วย หรือในบางครั้งก็ใช้สมาธิมาช่วยในวิธีต่าง ๆ กัน อันได้แก่อริยมรรค (มรรค ๘) ซึ่งพอจะจัดเป็นหมวดหมู่ของมรรค ๘ได้ดังนี้ กลุ่มปัญญา (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป), กลุ่มศีล (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว) และกลุ่มสมาธิ (สัมมาวายาโม, สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ)
ในระหว่างเดินทางในช่วงแรกเป็นเขตโลกียะ เห้งเจีย(ปัญญา) ยังลุกลี้ลุกลนและยังเถื่อนอยู่ ตือโป้ยก่าย(ศีล) ก็ยังเต็มไปด้วยความอยากในการบริโภค มักจะเผลอที่จะทุศีล หรือคอยจะหยุดเพื่อจะได้บริโภคดุจหมูจึงมักไปติดกับของปีศาจอยู่เสมอ ในระยะต้น ๆ จึงมีเรื่องขัดแย้งและทะเลาะกันกับเห้งเจียตลอดเวลา จนกระทั่งเริ่มเข้าเขตโซจ๋อก(โลกุตระ) เห้งเจียก็เปลี่ยนเป็นเรียบร้อยขึ้น ส่วนโป้ยก่ายค่อยระงับความอยากได้และมีปัญญามากขึ้น ซัวเจ๋ง(สมาธิ)ก็ค่อย ๆ ซึมซับปัญญาจากเห้งเจีย ดังนั้นเมื่อเข้าเขตโซจ๋อก(โลกุตระ) เจ้าสามเกลอเริ่มมีความเป็นหนึ่งเดียว ที่ว่า ศีลอันใดสมาธิอันนั้น สมาธิอันใดปัญญาอันนั้น
เมื่อกลับมาพูดถึงการเดินทางในเช้าตรู่ของการเดินทางวันแรก มีหมอกลงจัดสองข้างทาง พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา+ขันติ) วนเวียนหลงทางไปถึงภูเขา ซังขี้ซัว (ทางสองแพร่ง) และเผชิญปีศาจ ๓ ตนคือ ปีศาจเสือ ปีศาจหมี และปีศาจควายดำ ปีศาจทั้ง ๓ นั้นได้แก่ โลภะมูล โทสะมูล และโมหะมูล ซึ่งทำให้พระถังซัมจั๋งเกิดความลังเล (ทางสองแพร่ง) ที่จะเดินทางไปสู่พุทธภาวะ เพราะต้องละทิ้งซึ่ง โลภ โกรธ หลง
แต่เมื่อใช้ขันติทนต่อการบีบคั้นของกิเลสไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ก็สามารถรอดพ้นจากหล่มของความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งในที่สุดพระถังซัมจั๋ง (ศรัทธา + ขันติ)ก็สามารถรอดพ้นและเดินทางต่อไปได้ จึงได้พบเห้งเจียที่ภูเขาห้านิ้วครอบทับเอาไว้ เมื่อปลดปล่อยเห้งเจียออกมาก็ให้เห้งเจียสรวมมงคล ๓ ห่วง หมายถึงการบวชปัญญาให้น้อมมาทางสัมมาทิฏฐิ โดยอาศัยมงคล ๓ ห่วง(ไตรลักษณ์) กำกับไว้
เมื่อเกิดดื้อรั้นมงคลก็จะบีบศีรษะให้เจ็บปวดและยินยอมที่จะเชื่อฟัง ซึงหงอคง ชื่อภายหลังที่บวชแล้วก็ยอมเชื่อฟังแต่โดยดี และติดตามคอยช่วยเหลือพระถังซัมจั๋งตลอดการเดินทางไปไซที(นิพพาน)
เดินทางมาได้ไม่นานก็พบกับโจรทั้งหก เห้งเจียเห็นเข้าก็ตรงเข้าตีจนตาย เพราะรู้ว่าโจรทั้งหกได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการเดินทางไปไซทีในครั้งนี้ ดังนั้นจึงต้องตีให้ตาย เพราะหากจะเดินทางเข้าสู่พุทธภาวะจะต้องกำหนดรู้ในอายตนะทั้งหก
จากนั้นการเดินทางก็เผชิญกับปีศาจมากมายหลากหลายรูปแบบ ปีศาจก็จะมีฤทธิ์เดชที่มากขึ้นเรื่อย นั่นก็คือกิเลส ตัณหาที่มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นหากไม่กำหนดจดจ่อเพื่อรู้เท่าทันแล้ว บางครั้งแยกไม่ออกเอาเลยว่าเป็นกิเลสหรือไม่ ก็จะทำให้หลงติดอยู่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จนกระทั่งเมื่อเข้าใกล้เขตโซจ๋อก(โลกุตระ) ปีศาจมีฤทธิ์มากได้แก่เห้งเจียตัวปลอม ตือโป้ยก่ายตัวปลอม ซัวเจ๋งตัวปลอม พระยูไลตัวปลอม ซึ่งเป็นปีศาจที่มีฤทธิ์เท่าเทียมกันจนยากที่จะเอาชนะได้ ต้องอาศัยเจ้าแม่กวนอิมมาช่วย เพราะว่ากิเลส หรือ ตัณหา นั้นบางครั้งมิสามารถเอาชนะได้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แต่บางครั้งต้องอาศัยความเมตตา (กวนอิม )
จนในที่สุดทั้งเห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋งก็สามารถเอาชนะตัวปลอมได้ ณ จุดนี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเอาชนะปีศาจทำได้ง่ายขึ้นนั่นก็คือ มิจฉาปัญญา ได้ เปลี่ยนเป็น สัมมาปัญญา, มิจฉาศีล เปลี่ยนเป็น สัมมาศีล, มิจฉาสมาธิ เปลี่ยนเป็น สัมมาสมาธิ และรวมกันเป็นหนึ่งไม่มีความขัดแย้งกัน สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นอกเหนือจากการที่ได้พบเห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋ง ตัวปลอมแล้ว ยังมีปีศาจที่เป็นพระยูไลปลอม เป็นกิเลสที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส เป็น อุปกิเลสที่เกิดขึ้นในระหว่างวิปัสสนานั้น ๆ เป็นความเผลอไปยึดมั่นสำคัญว่าตนได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ทำให้พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา) เข้าใจว่าบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ไม่คิดจะเดินทางต่อ แต่เห้งเจีย(ปัญญา) รู้เท่าทันเพราะว่าเห้งเจียตีลังกาไปไซทีนับครั้งไม่ถ้วนย่อมรู้ว่าพระยูไล (พุทธภาวะ) นั้นเป็นอย่างไรจึงสามารถปราบปีศาจและหลุดพ้นออกมาได้
ในเขตโลกุตระ (โสดาปัตติผล) ก็มีความร่มรื่นทั้งสองข้างทาง แต่แล้วก็ประสบพบมังกร ๙ เศียร(มานะ ๙) ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายกาจมาก เห้งเจียสู้ไม่ได้ จำต้องเหาะหนีขึ้นสู่สวรรค์ชั้นพรหม ไปหาท่านอิ๊กกิ๊วเค้าทีจุนผู้เป็นเจ้าของมังกร ๙ เศียร พรหมทีจุนเหาะลงมายังโลกมนุษย์แล้วจับมังกร ๙ เศียรที่แปลงเป็นปีศาจปู่เจ้าเก๊าเล่งขึ้นสู่พรหมโลก กิเลสตัวนี้นับว่าเป็นกิเลสชั้นพรหมโน่น คือกิเลสของความเป็นอาจารย์ เพื่ออวดตน หวังสอนผู้อื่นจะได้เป็นอาจารย์เพื่อให้มีคนนับถือ มานะทั้ง ๙ได้แก่
.ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่าเขา”
.ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอเขา”
.ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า“กูแย่กว่ามึง”
.ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่าเขา”
.ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอเขา”
.ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
.ตัวด้อยกว่าเขาแล้วสำคัญมั่นหมายว่า“กูดีกว่ามึง”
.ตัวด้อยกว่าเขาแล้วสำคัญมั่นหมายว่า“กูเสมอเขา”
.ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
มานะทั้ง ๙ เป็นกิเลสชั้นพรหม การละกิเลสลักษณะนี้ได้ต้องตัดขาดจากการเปรียบเทียบ และต้องอาศัย ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมแรงกันทำให้ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลงไม่ยึดเขา ยึดเรา หากทำได้แล้วนับเป็นการย่างเข้าเขตพระอริยะเจ้าในระดับ สกคาทามี
ในที่สุดก็จะบรรลุถึงลำน้ำลิ้งหุ้นโต้ ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก ขณะนั้นมีคนแจวเรืออยู่ริมน้ำและร้องตะโกนให้พระถังซัมจั๋งลงเรือ เมื่อพระถังซัมจั๋งเห็นเรือที่ไม่มีท้อง ก็บังเกิดความสงสัยว่าจะข้ามไปได้อย่างไร น้ำก็เชี่ยวกรากแต่เรือที่ใช้ข้ามกลับเป็นเรือท้องโหว่ ความจริงแล้วหมายความว่าท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของกิเลสและตัณหานั้น หากเรามีความสงบนิ่งว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่น(สุญญตา) หากสามารถกระทำได้ดั่งนี้ อรหัตผลก็จะบังเกิดขึ้นแล้ว
ครั้นเมื่อถึงฝั่งก็พบพระไตรปิฎก แต่เมื่อเปิดออกมาปรากฏว่าไม่พบตัวอักษรใด ๆ เลย พระถังซัมจั๋งถึงกลับถอนใจใหญ่ ก็ได้ยินเสียงของพระยูไลว่า พระไตรปิฎกไม่มีตัวอักษรนั่นแหละถึงจะเป็นฉบับที่แท้จริงและวิเศษสุด
พระถังซัมจั๋งก็เข้าใจในบัดดลว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน ธรรมชาติทั้งมวลย่อมไม่สามารถขีดเขียนออกมาได้หมด ความรู้แจ้งในธรรม(ชาติ)รู้ได้ด้วยตัวเองไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อท่านค้นพบธรรม(ชาติ)ด้วยตัวของท่านเองแล้ว ก็จะพบว่า " ธรรม(ชาติ)ทั้งมวลสามารถรวบรวมได้ทั้งหมดในไตรปิฎกฉบับที่ไม่มีตัวอักษรเท่านั้น
ทุกสิ่งย่อมเป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงต้องแปรเปลี่ยน ทุกสิ่งย่อมเป็นทุกขัง ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ ทุกสิ่งย่อมเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน"
ขอบคุณข้อมูล อ้างอิง : เรื่อง เดินทางไกลกับไซอิ๋ว โดย ฉับโผง