26 มิ.ย. 2021 เวลา 01:44 • ปรัชญา
วันนี้อยากเริ่มต้นด้วยเรื่องชวนคิดครับ
เรื่องแรกเป็นเรื่องสมมุติสุดคลาสสิคที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้ว
สมมุติว่า..ให้คุณเป็นคนขับรถรางที่วิ่งไปด้วยความเร็ว และพบว่ามีคนงานกลุ่มหนึ่งกำลังทำงานอยู่บนรางข้างหน้า คุณไม่สามารถเบรครถได้ทันแต่คุณเหลือบเห็นว่า ด้านข้างมีรางอีกเส้นที่คุณสามารถเบี่ยงรถออกไปได้ แต่บนรางนั้นก็มีคนทำงานอยู่หนึ่งคน
ถ้าต้องชนแน่ๆ คุณจะเลือกรางเส้นไหน?
คนส่วนมากจะเลือกเบี่ยงรถหลบเข้ารางอีกเส้นและชนคนเพียงหนึ่งคน
ถ้าลองสมมุติใหม่ว่า คุณไม่ได้ขับรถรางแต่ยืนอยู่บนสะพานลอยที่พาดลอยอยู่เหนือรางพอดี คุณเห็นเหตุการณ์ที่รถรางกำลังพุ่งเข้าหากลุ่มคนงาน ข้างๆตัวคุณมีชายที่คุณรู้สึกว่าหน้าตาไม่น่าไว้วางใจยืนอยู่ ถ้าคุณผลักชายคนนี้ตกลงไปจะสามารถขวางรถรางได้พอดี แล้วคนงานกลุ่มนั้นจะรอดชีวิต
คุณจะทำหรือไม่?
คนส่วนมากเริ่มลังเลเมื่อต้องตัดสินใจในสถานการณ์แบบนี้ แม้มันจะเป็นการเสียสละคนส่วนน้อยเพื่อช่วยเหลือคนส่วนใหญ่เช่นกัน
นี่เป็นคำถามในหนังสือในดวงใจเล่มหนึ่ง ที่อยากแนะนำพ่วงต่อจากเมื่อครั้งที่แล้ว ซึ่งได้แนะนำหนังสือนิติปรัชญาของอ.วรเจตน์เอาไว้
'ไมเคิล แซนเดล' ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นำคำถามต่างๆไปถามในชั้นเรียนวิชา'ความยุติธรรม ที่มีนักศึกษาแห่เข้าลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคน ต่อเนื่องมานานกว่าสองทษวรรษ
เขาเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่สนุกกับการใช้ปรัชญาการเมืองมาสำรวจความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิ์ของคนแต่งงานที่รักเพศเดียวกัน การโก่งราคาสินค้าในภาวะฉุกเฉิน การอุ้มบุญ ความจำเป็นในการเกณฑ์ทหาร การการุณยฆาต สิทธิ์ทางสังคมของคนจ่ายภาษีกับคนจรจัด
ในหนังสือ แซนเดลใช้เหตุการณ์มากมายมายกตัวอย่างให้ลองขบคิด
หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องที่คล้ายกับเรื่องรถราง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสมมุติ
หน่วยนาวิกโยธินสี่นายได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติการลับในทะเลทรายแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน ระหว่างที่ซุ่มตัวรอเวลาปฏิบัติการ พวกเขาบังเอิญพบกับคนเลี้ยงแพะสามคน(หนึ่งในนั้นเป็นเด็ก)ที่ต้อนฝูงแพะผ่านมา พวกเขาจับคนเลี้ยงแพะพวกนี้ไว้และถกเถียงกันว่า จำเป็นต้องฆ่าคนเลี้ยงแพะเหล่านี้หรือไม่?
เวลาที่เราพูดถึง โลกที่ดีหรือโลกที่ยุติธรรม เรามักจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะพูดถึงหลักการสามข้อ คือ หลักอรรถประโยชน์ เสรีภาพ และ ศีลธรรม
ซึ่งถ้าขยายความให้ชัดขึ้นก็หมายถึง หลักเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม การเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น และ การส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมขึ้นในสังคม
เกณฑ์ทั้งสามดูคล้ายเป็นเรื่องดีที่น่าปฏิบัติตาม แต่มันกลับนำมาซึ่งภาวะอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม เพราะถ้าเราได้เคยลองถามตัวเองดูว่า หลักข้อไหนที่เราให้คุณค่าสูงสุดและมันสามารถตอบโจทย์ปัญหาชีวิตได้ทุกครั้งจริงหรือไม่? เราจะรู้ว่า..มันมักจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้แก่เรา
ย้อนกลับมาที่หน่วยนาวิกโยธิน ถ้าทหารอเมริกันยึดถือหลักอรรถประโยชน์(ที่เหล่าทหารเชื่อมาตลอด) ก็จำเป็นต้องฆ่าคนเลี้ยงแพะ แต่ถ้าใช้หลักศีลธรรมที่พวกเขาใช้จรรโลงจิตใจ ก็ต้องปล่อยคนเลี้ยงแพะกลุ่มนี้ไป
มาร์คัส ลัทเทรล จ่าทหารเรือผู้เป็นหัวหน้าหน่วย เลือกวิธีให้ทุกคนแสดงเสรีภาพในการเลือก ทหารคนหนึ่งงดออกเสียง ทำให้ลัทเทรลกลายเป็นเสียงที่ชี้ขาดที่ให้ปล่อยตัวคนเลี้ยงแพะเหล่านี้ไป
ชั่วโมงครึ่งหลังจากนั้น พวกเขาถูกล้อมโดยนักรบชาวตาลีบันเกือบร้อยคน เพื่อนทั้งสามของลัทเทรลถูกยิงเสียชีวิต เฮลิคอปเตอร์หน่วยซีลที่บินเข้ามาช่วยเหลือถูกยิงตกพร้อมกับทหาร 16 นายที่ตายยกลำ
ลัทเทรลถูกยิงบาดเจ็บสาหัส แต่รอดชีวิตมาได้ด้วยการกลิ้งตัวลงไหล่เขาและคลานกว่าเจ็ดไมล์ไปขอความช่วยเหลือจากหมู่บ้านเผ่าพาชทัน
ลัทเทรลได้กลับคืนสู่ดินแดนบ้านเกิด พร้อมกับบาดแผลตามร่างกาย คำถามมากมายในหัวและรอยแผลฝังลึกในจิตใจ เขาเฝ้าแต่คิดโทษตัวเองที่เป็นต้นเหตุให้คนมากมายต้องตาย แต่ถ้าย้อนกลับไป จะมีใครกล้ารับรองกับเขาไหมว่า ถ้าเขาตัดสินใจอีกแบบ ปฏิบัติการครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จ และเขาจะได้กลับบ้านโดยที่ไม่ต้องนอนฝันร้ายทุกคืน
เรื่องราวหลายเรื่องที่เราทุกคนประสบอยู่กับหลายความเชื่อที่เรายึดถือ หนังสือเล่มนี้จะชวนคุณให้ลองมองในแง่มุมอื่นที่มีเหตุผลสนับสนุนหนักแน่นเช่นเดียวกัน
เรารู้ว่า โลกนี้ไม่ได้แบนอย่างที่เขาเคยบอกกัน แต่เรารู้หรือไม่ว่า มีโลกซ้อนกันอยู่หลายรูปแบบ ตามแต่มุมมองของเรา
หนังสืออ่านสนุกเล่มนี้จะทำให้คุณมองโลกเปลี่ยนไป แล้วอาจจะทำให้รับฟังคนข้างๆมากขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นเราถึงจะเริ่มพูดเรื่อง'ความยุติธรรม'กันอีกที
'ความยุติธรรม'
ไมเคิล แซนเดล : เขียน
สฤณี อาชวานันทกุล : แปล
***********************************
เพื่อนๆ Blockdit ครับ ผมมีเขียนลงทั้งหมด 3 เพจ แตกต่างกันตามแต่อารมณ์จะพาไป คือ
๏ 'Bear's Books'  = นำข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่านหนังสือแต่ละเล่มมาเล่า ชวนให้คิดตามกันไป
๏ 'Bear's Blog'  = จิปาถะ กับภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ การ์ตูนกวนเมือง
๏ 'คิด อย่างสถาปนิก'  = เรื่องของสถาปัตยกรรมต่างๆจากสายตาสถาปนิก
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมแวะชิมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
ขอขอบคุณและหวังว่า เราจะได้รู้จักกันนะครับ 🐻❤
โฆษณา