26 มิ.ย. 2021 เวลา 02:14 • ปรัชญา
แนวคิดปรัชญาตะวันตก
มายาคติ (myth) ในที่นี้หมายถึง เรื่อง “ไม่จริง” แต่บุคคลกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เรื่องที่ว่านี้เป็นความจริง (truth)
ส่วนเรื่องที่เป็นความจริง บุคคลในกลุ่มนี้กลับเชื่อว่า “ไม่จริง”
ส่วนศาสนาพุทธ หมายเฉพาะถึง ศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่เผยแพร่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
มายาคติในศาสนาพุทธ จึงหมายถึง ความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความถูกต้องตามความจริงของพุทธวิชาการในประเทศไทย ที่มีการตีความพระไตรปิฎกแบบใหม่โดยได้รับอิทธิพลจากศาสตร์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาและวิทยาศาสตร์แบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนของกาลิเลโอ นิวตันและ เดสคาร์ต
โดยทั่วๆ นักวิชาการยอมรับกันว่า พุทธเถรวาทนั้น เผยแพร่อยู่ในประเทศศรีลังกา ลาว พม่า รวมถึงเขมรด้วย แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่มีองค์ความรู้มากนักเกี่ยวกับศาสนาพุทธในประเทศเหล่านั้น จึงต้องจำกัดให้พุทธเถรวาทหมายถึงศาสนาพุทธเฉพาะในประเทศไทย
พุทธศาสนิกชนของพุทธเถรวาทมีหลักการในทางทฤษฎีว่า จะไม่ยอมแก้ไขพระไตรปิฎก ตามคำอนุญาตของพระพุทธเจ้าที่ว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ถ้าขัดกับกฎหมายหรือการปกครองของบ้านเมืองใดประเทศใดก็เปลี่ยนแปลงได้บ้าง
แต่ในทางปฏิบัติในปัจจุบัน พุทธวิชาการบางกลุ่มบางพวกตีความพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปเป็นจำนวนมาก ด้วยอิทธิพลของศาสตร์ตะวันตก
ถ้าจะพูดหรือเขียนกันให้ถึงแก่นแล้ว วิชาการในสังคมไทยปัจจุบันได้ใช้หลักวิชาการจากศาสตร์ตะวันตกเป็นเครื่องมือในการศึกษาทั้งสิ้น
แม้กระทั่งวิชาภาษาไทย และวิชาวรรณคดีไทยเองก็ตาม แต่แนวคิดซึ่งส่งผลให้มีการตีความศาสนาพุทธผิดเพี้ยนไปเกิดจากปรัชญาและวิทยาศาสตร์แบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนเป็นส่วนใหญ่
ในการที่จะให้เข้าใจกันดีขึ้นระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน ผู้เขียนจึงขออธิบายตัวตนของปรัชญาตะวันตกและวิทยาศาสตร์แบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนพอสังเขป ดังนี้
แนวคิดแรก คือ แนวคิดแบบปรัชญาตะวันตก...
ปรัชญาตะวันตก เริ่มนับตั้งต้นกันตั้งแต่สมัยกรีก สมัยกรีกนี้มาก่อนสมัยโรมัน กล่าวคือ เมื่ออารยธรรมของกรีกล่มสลายลงไปแล้ว
อารยธรรมของโรมันก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทน
เปรียบเทียบกับสมัยนี้ ก็เช่นประเทศอังกฤษกับประเทศอเมริกา
ก่อนหน้านี้อังกฤษเป็นมหาอำนาจ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไป อเมริกาก็ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทน
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมุมมองของนักวิชาการตะวันตก ถ้ามองในมุมมองของนักวิชาการ ตะวันออกแล้ว
ก่อนหน้าที่กรีกจะเจริญในทางวิชาการนั้น จีนและอาหรับมีความเจริญทางวิชาการมาก่อนหน้านั้นแล้ว และเจริญมากกว่ากรีกด้วย
แนวคิดของปรัชญาตะวันตกมีลักษณะของความเห็น/ความเชื่อว่า องค์ความรู้ (body of knowledge) ที่เป็นความจริง น่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐานสากลนั้น จะต้องมีเหตุมีผลตามหลักตรรกวิทยานิรนัย (deductive) และหลักตรรกวิทยาอุปนัย (inductive)
นอกจากนั้นแล้วยังเชื่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีองค์ความรู้ (body of knowledge) ที่ค้นพบความเป็นจริงแท้ (absolute reality/ultimate reality) แล้ว
ดังนั้น เมื่อจะค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ จึงควรหยิบหรือดึงเอาความรู้จากองค์ความรู้ต่างๆ มาผสมผสานกัน
ตั้งแต่กล่าวมาตั้งแต่ต้นและที่จะได้กล่าวต่อไป ผู้เขียนได้กล่าวถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับ “จริง” หลายคำ จึงต้องขออธิบายคำศัพท์เหล่านั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน ดังนี้
ความเป็นจริง (Reality)...
ความเป็นจริง (reality) หมายถึง สภาวการณ์ที่เป็นจริงของโลก
นักปรัชญาบางกลุ่มเชื่อว่า มนุษย์สามารถค้นหาหรือพบความเป็นจริง (reality) ดังกล่าวได้
บางกลุ่มเชื่อว่า ไม่สามารถพบความเป็นจริง (reality) ได้ เพราะ พ้นความสามารถของมนุษย์
1
ความจริง (truth)...
ความจริง (truth) หมายถึง ความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริง (reality)
ปัญหาสำหรับนักวิชาการก็คือ มนุษย์แต่ละกลุ่มแต่ละพวก ต่างกันเชื่อว่า ความจริง (truth) ของตนตรงกับความเป็นจริง (reality) แต่ของคนอื่นไม่ใช่
ปัญหาเรื่องความจริง (truth) จึงเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาวิทยาการในปัจจุบันนี้
ข้อเท็จจริง (fact)...
สำหรับข้อเท็จจริง (fact) นั้น ไม่ยาก ก็คือ เหตุการณ์ที่มนุษย์ไปพบเห็นมาด้วยตนเอง จากประสบการณ์ที่ได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
3
ความเป็นจริงแท้ (absolute reality/ultimate reality)...
สำหรับ องค์ความรู้บางเรื่องในศาสนาพุทธ เช่น นิพพาน เป็นต้น
นักวิชาการเห็นว่า สูงกว่าความเป็นจริง (Reality) ในโลกมนุษย์ จึงกำหนดชื่อให้ว่า ความเป็นจริงแท้ (absolute reality/ultimate reality)
หรือในหนังสือบางเล่มอาจจะเรียกว่า ความเป็นจริงสูงสุดหรือความจริงสูงสุด/ความจริงแท้ก็ได้ ซึ่งถ้ากล่าวถึงในแง่ของสาขาวิชาปรัชญาจะเรียนกันในสาขาอภิปรัชญา (metaphysics)
แนวคิดปรัชญาตะวันตกส่งผลให้มีทรรศนะแบบมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งถือว่า มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้โดยอาศัยความเป็นเหตุผล (Rationality) และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ
กล่าวง่ายๆ ก็คือ มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า (God) แต่อย่างใด
จากความคิด/ความเชื่อดังกล่าว นักปรัชญาชาวตะวันตก ผู้เป็นต้นคิดหลักการทางปรัชญาต่างๆ นั้น จำนวนมากเลยที่ไม่นับถือศาสนา
นักปรัชญาบางท่านเช่น นิทเช่ เป็นต้น ถึงกับกล่าวว่า “พระเจ้าตายแล้ว”
ในสมัยที่ผู้เขียนกำลังเรียนวิชาปรัชญานี้อยู่
เพื่อนในห้องเรียนก็พูดแย้งว่า “พระเจ้าตายแล้วหรือยังไม่ตาย ไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ คือ นีทเช่ตายแล้ว”
เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)
Line ID : manas4299
โทรศัพท์ : 083-4616989
โฆษณา