ความคิดที่บิดเบือน:ใครเป็นแบบนี้รีบปรับด่วน
"หนูรับไม่ได้หรอกค๊ะ เมื่อรู้ว่าเขาไปมีหญิงอื่น แม้ว่าเขาจะไปสาบานต่อหน้าพระประธานในวัดมาพร้อมกับหนูเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแล้วก็ตาม หนูทำใจไม่ได้จริงๆค๊ะ #ไม่มีเขาเสียดีกว่ามั่งค๊ะ. #เมื่อชีวิตสมรสเป็นเช่นนี้หนูคงไม่มีความสุขไปชั่วชีวิต"
นั่น!เป็นคำพูดของแม่บ้านท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ในแวดวงสังคมชั้นนำของจังหวัด ที่พูดกับผู้เขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าขณะให้การปรึกษาสุขภาพจิตในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อันสืบเนื่องมาจากที่เธอเครียดจนช็อค! เมื่อจับได้ว่าสามีนอกใจไปมีหญิงอื่น จนเธอต้องเข้ารับการช่วยเหลือด้วยการใช้ยาทางสุขภาพจิตอยู่ประมาณ15วัน และอาการเครียดของเธอก็ค่อยๆดีขึ้นอย่างน่าชื่นใจ
เธอเป็นคนที่ผู้เขียนคอยช่วยเหลือให้การปรึกษาทางสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องมาหลายครั้ง ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้านสามีของเธอนั้นก็ตกใจและเสียใจมากที่ภรรยาช็อคจนต้องเข้ารับการรักษาทางสุขภาพจิต หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวสามีของเธอดูแลและอยู่ใกล้ชิดเธอแทบตลอดเวลา หนึ่งกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ทั้งคู่พร้อมด้วยพ่อแม่ของฝ่ายหญิงพากันไปสาบานต่อพระประธานในวัด ว่าฝ่ายชายจะไม่ทำเช่นนั้นอีก และสามีเธอเองก็รู้สึกผิด ขอโทษแล้วขอโทษอีก
#แต่! แม้ว่าอาการเครียดจนช็อคของเธอจะดีขึ้นมากแล้ว เมื่อผู้เขียนชวนเธอปรับมุมมองใหม่(reframing)ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งทางจิตวิทยาที่พึงใช้รับมือต่อเรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว เธอก็ยังมีความคิดแบบเดิมที่แข็งแกร่งจนทำให้เธอทุกข์ใจและก้าวไปต่อลำบาก ซึ่งความคิดเช่นนี้ในวิทยาการจิตบำบัดแบบปรับความคิด(cognitive therapy)เรียกว่า #ความคิดที่บิดเบือน(thinking errors)ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้ปรับใจปรับตัวลำบากและทำให้ทุกข์นานนั่นเอง
ความคิดบิดเบือนที่พบในตัวเธอมีสองอย่าง นั่นคือคิดแบบสุดโต่งที่มีแต่ขาวและดำไม่สามารถมองอะไรเป็นกลางๆได้เลย(All-or-nothing thinking)เช่น คิดว่า ถ้าไม่รักฉันคนเดียวก็ไม่ต้องมีฉัน หรือถ้าไม่สมบูรณ์แบบไม่มีเสียดีกว่า เป็นต้น และคิดในรูปแบบที่เห็นว่าเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนเป็นความรุนแรงแบบสุดขีดและเป็นความหายนะ(Catastrophizing :overgeneration)ทั้งสิ้น เช่น คิดว่า ถ้าเขาเป็นเช่นนั้นฉันคงหายนะและคงไปสู้หน้าใครไม่ได้อีกแล้ว หรือ ตายแน่ตายแน่บันไลหมดแล้ว เป็นต้น
ความคิดบิดเบือนทั้งสองรูปแบบดังกล่าวนั้น ทำให้เธอปรับใจยากต่อเหตุการณ์ที่ได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งทำให้ความทุกข์ใจไม่เบาบางไปเสียที เพราะไปจมอยู่กับการคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วและยังมองแบบสุดโต่งอีกต่างหาก แทนที่เธอจะปรับความคิดมาอยู่กับความดีงามทั้งมวลที่มีอยู่และเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่วนผู้เขียนก็ยังทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านจิตใจของเธอต่อไปด้วยวิธีการช่วยปรับความคิด และเฝ้าหวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะปรับความคิดได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นของเธอนั่นเอง
สังคมทุกวันนี้มีคนที่มีความคิดเช่นเธออยู่มากมายพร้อมพร่ำบ่นก่นด่าแต่ผู้อื่นและอยู่กับการทุกข์อกทุกข์ใจอยู่ร่ำไป คาดหวังแต่ให้บุคคลและสภาพแวดล้อมภายนอกปรับเข้ามาให้ถูกใจตน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก #แต่!จิตวิทยาตะวันตกก็ให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้อยู่มากทีเดียว ซึ่งก็ปรับได้ไม่มากนักทั้งยังแปรปรวนไปได้เรื่อยๆอีกต่างหาก ในขณะที่พุทธจิตวิทยากลับให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการน้อมเข้าหาตน (โอปนยิโก)นั่นคือให้ปรับปรุงและพัฒนาจากภายในใจตน โดยฝึกฝนให้รู้เท่าทันอาการของความคิดตน ซึ่งเป็นธรรมะสิ่งที่แน่แท้และแก้ได้ยั่งยืนกว่านั่นเอง
คนเที่ทุกข์ใจไร้พลังจนจิตตกและแตกสลายส่วนใหญ่นั้น นอกจากคาดหวังให้สรรพสิ่งภายนอกมาตอบสนองความต้องการของตนหมดแล้ว ยังมักจะทุกข์ระทมตรมใจและกังวลต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึง กระทั่งไร้สติอยู่กับปัจจุบันขณะ หากเข้าใจชีวิตและธรรมชาติอย่างแท้จริง และหมั่นฝึกสติ(ความระลึกได้)จนเกิดสัมปชัญญะ(ความรู้ตัวทั่วพร้อม)ได้แล้ว #ก็จะปรับความคิดและปรับตัวปรับใจต่อเหตุการณ์ใดๆในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความทุกข์ใจใดๆก็จะค่อยๆลดลงในที่สุด... แล้วท่านหละเลือกที่จะรับมือกับเหตุการณ์ในชีวิตด้วยวิธีคิดแบบใด?
รศ.ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์
นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์wuttipong academy , ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส และกรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง 16|5|64