27 มิ.ย. 2021 เวลา 03:00 • ครอบครัว & เด็ก
“ส่งลูกโรงเรียนไหนดี ตอนที่ 3”
[จากความเดิมตอนที่แล้ว
นอกจาก วิชาการดี และ คุณครูดี แล้ว
สังคมรอบข้าง เพื่อนๆของลูก นี่แหละ
สำคัญมากๆ ค่ะ
เพื่อนดีเป็นยังไง?
“คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”
คงเป็นสุภาษิตที่คุ้นหูคนไทยไม่ว่ายุคสมัยใด
คุณพ่อคุณแม่เองก็คงอยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่ดี
บ้านไหนมีเงินมากหน่อยอาจจะอยากส่งลูกให้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ นอกจากเรื่องภาษาแล้ว
เพื่อนของลูกจะได้ “อยู่ในระดับฐานะเดียวกัน”
ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดที่ผิด
แต่ก็อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเสมอไป
เพราะถ้าเราอยากให้ ลูกของเราเป็นพลเมืองโลก (Global citizen) นอกจากเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว
สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ ควรคำนึงถึงคือ “ความหลากหลาย” (diversity)
ไม่ใช่แค่เรื่องของความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ
แต่อาจจะเป็นเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ศาสนา ภาษา พื้นเพ ฯลฯ
หากเรามองว่า โรงเรียนคือที่เตรียมความพร้อมให้กับโลกแห่งความเป็นจริง
การเข้าใจและยอมรับความต่าง การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น
จะช่วยทำให้ลูกหลานของเราเป็นคนที่มี
ความสามารถในการเข้าใจ ความรู้สึกของผู้อื่น (empathy)
มีความตระหนักรู้ (awareness) และ
ยอมรับความคิดเห็น (tolerance) ทั้งของผู้อื่นและของตนเอง
ส่วนตัวผู้เขียนอยู่โรงเรียนนานาชาติขนาดเล็กตั้งแต่ป.1-ม.3
ทั้งชีวิตมีเพื่อนอยู่ไม่เกิน 30คน
จนม.ปลาย ย้ายมาเรียนในโรงเรียนรัฐบาลขนาดใหญ่
มีเพื่อนตั้งแต่ลูกนักการเมืองใหญ่ ไปจนถึงนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ตอนนั้นจำได้ว่าต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก
เรื่องที่ไม่เคยคิดมากมาก่อนก็ต้องระวังมากขึ้น
เช่นเราไม่คิดมากกับการทานข้าวจานละ60บาท
(ข้าวที่โรงเรียนจานละ15 บาท ณ เวลานั้น)
แต่เพื่อนบางกลับมองว่าราคาแพงเกินไป
และรู้สึกไม่สบายใจที่จะเที่ยวกับเรา
ช่วงวัยรุ่นนั้นจึงพยายามทำความเข้าใจผู้อื่น ปรับมุมมองตนเอง
หากมองย้อนกลับไปก็รู้สึกขอบคุณพ่อแม่ที่ให้เราเรียน ในโรงเรียนที่ความหลากหลาย เพราะเมื่อมาเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา เจอโลกที่ กว้างขึ้น แต่กลับไม่รู้สึกลำบากใจในการปรับตัว ทั้งยังรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆจากคนหลายๆ วัฒนธรรม
“ปัจจัยแถม แต่เถียงกันไม่จบ”
โรงเรียนใกล้บ้าน สำคัญแค่ไหน
โรงเรียนใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน สะดวกรับส่ง
ถ้าคุณคิดว่าดีก็ “go for it!”
คุณพ่อคุณแม่ อาจจะตกใจว่าทำไมผู้เขียน อารัมภบทมายืดยาว
แต่กลับเชียร์โรงเรียนใกล้บ้าน ง่ายๆซะงั้น
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น
โรงเรียนไหนดี ผู้ปกครองต้องนิยามคำว่าดีของตนเองให้ได้เสียก่อน
เราไม่ควรฝากอนาคตลูกหลานของเราไว้ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว
ถ้าโรงเรียนใกล้บ้าน ทำให้ลูกมีเวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
เวลาแห่งความสุขแบบนี้ ก็สามารถสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตได้ดีเช่นกัน
เมื่อมีเพื่อนมาถามผู้เขียนว่าควรส่งลูกไปเรียนโรงเรียนไหนดี
ผู้เขียนจึงมักตอบเพื่อนไปอย่าง “ชิวๆ”ว่า
“โรงเรียนอะไรก็ได้”
ด้วยความมั่นใจในตัวเพื่อนของผู้เขียนว่า
หากเพื่อนเราเอาใจใส่เลี้ยงดูลูกของเขาด้วยความรัก ความเข้าใจ
ทุ่มเทเวลาให้ เป็นที่พึ่งพาได้ในยามที่ลูกมีปัญหา
โรงเรียนดีที่ไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับ “ครอบครัวที่ดี”
ดร.สวรส ธนาพรสังสุทธิ์ (อาจารย์สาม)
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Columbia University
Doctor of Education in Instructional Technology & Media
อ้างอิง:
Korthagen, A. (2004). In search of the essence of a good teacher: Towards a more holistic
approach in teacher education. Teaching and teacher education, 20(1), 77-97.
The Importance of Diversity in the Classroom. https://www.teachtci.com/the-importance-of-
diversity-in-the-classroom/
Sahlberg, P. (2014). Finnish lessons 2.0: What can the world learn from educational change in
Finland?. Teachers College Press.
Schleicher, A. (2019). PISA 2018: Insights and Interpretations. https://www.oecd.org/pisa/
PISA%202018%20Insights%20and%20Interpretations%20FINAL%20PDF.pdf
โฆษณา