27 มิ.ย. 2021 เวลา 03:43 • หนังสือ
บทวิจารณ์ นวนิยาย เกาะล่องหน
ผลงานของนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2559,
ผู้ประพันธ์: เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
โดย สำนักพิมพ์นาคร
ผู้วิจารณ์: อินทรธนู
2
บทวิจารณ์เกาะล่องหน 1
โดยแท้, ฉันไม่ใช่นักอ่านนวนินายตัวยง เพราะโดยส่วนตัวนอกจากการอ่านตำราวิชาการต่าง ๆ แล้ว ฉันหลงใหลการอ่านเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และงานบันทึกเชิงทัศนะมากกว่า แต่ดูเหมือนว่าเกาะล่องหน โดยผู้ประพันธ์นาม เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ กลับทำหน้าที่ของมันได้อย่างทรงพลัง,เข้มข้น และให้ความรู้สึกเหมือนการได้นั่งเครื่องเล่นในสวนสนุก ที่พาเราโลดโผน เลื่อนไหลไต่ระดับความสูงจนหน้าหวาดเสียว และโยนเราดิ่งลึกลงจนเกิดอาการเสียวในช่องท้อง ก่อนแช่เราไว้สักพักบนตำแหน่งของการขบคิด ,ตริตรองเรื่องราวเกี่ยวกับเกาะ, ความคิด, ชีวิต, ความเชื่อ, ประวัติศาสตร์, ความลวง จากนั้นจึงหวนกลับมาชวนเราตริตรองเรื่องเกาะอีกครั้ง ก่อนถีบเราออกมาสู่โลกแห่งความจริงด้วยรอยยิ้มเปรอะเปื้อนนัยยะบางอย่างที่มุมปาก....ฉันเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ในขณะอ่าน และเป็นมากขึ้นกว่าเดิมหลังอ่านจนจบเล่ม..
1
ก่อนหยิบเล่มนี้มาอ่านอย่างจริงจัง ฉันเคยได้ยินชื่อเสียงของผู้ประพันธ์มาบ้าง จากการที่ผู้ประพันธ์ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2559 กับรวมบทกวี นครคนนอก (2559, สำนักพิมพ์นิดจะศิลป์) และเรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธ์ในปี 2554 แต่ก็ไม่เคยได้อ่านงานของเขามาก่อนเลย นวนิยายเล่มนี้จึงเป็นเรื่องแรกที่ฉันอ่าน และได้ทำความรู้จักกับผู้ประพันธ์ท่านนี้มากขึ้น ทั้งความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ด้านการเขียนที่โดดเด่น วิธีการเล่าเรื่องอย่างพิถีพิถัน และอาณาจักรสมองของเขาที่มโหฬารกว้างใหญ่ ณ ที่ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลเรื่องราวต่าง ๆ นานา มายาคติ ภาพจินตนาการ และชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่หมุนเวียนตามตำแหน่งของมันเฉกเช่นการหมุนเวียนของดาราจักรที่คงที่และต่อเนื่อง ซึ่งทุก ๆ องคาพยพเชื่อมร้อยถึงกัน ขัดแย้งกัน และหนุนเสริมกัน เป็นแหล่งทรัพยากรทางความคิดที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับผืนป่าหนึ่งผืน, ใต้ผืนมหาสมุทร หรือห้วงจักรวาร ที่ผู้ประพันธ์อาจใช้ชีวิตทั้งชีวิตก็ไม่ปานในการเฝ้าเพาะปลูก ทะนุถนอม และจัดระเบียบอย่างมีโครงสร้างและกลไกที่ชัดเจน.. จึงไม่แปลกเลยที่ผลงานของผู้ประพันธ์ท่านนี้จะมีรสชาติที่เข้มข้น ให้ความรู้สึกมหัศจรรย์ใจต่อการขบคิดปริศนาต่าง ๆ ในห้วงลึกภายในสมองอันเร้นลับ สังคมเก่า-ใหม่ที่ซ้อนทับกันอย่างย้อนแย้ง ประวัติศาสตร์ที่เอื้อหนุนกันจนเกือบก่อรูปความจริง แต่ท้ายสุดก็มลายหายไปกับเงื่อนไขวันเวลาที่กลืนกินทุก ๆ อย่างให้เลือนหายไปเยี่ยงเดียวกับม่านหมอกหลังแสงอาทิตย์สาดส่อง
2
บทวิจารณ์เกาะล่องหน 2
ชื่อเรื่อง “เกาะล่องหน” เหมาะเจาะ กะทัดรัด และเต็มเปี่ยมไปด้วยปริศนาอันเย้ายวนให้ผู้พบเห็นสะดุดคิด และอยากหยิบจับหนังสือมาอ่าน ดังกับมีมนต์เสน่ห์อันลุ่มลึกยั่วยวน แม้แต่ฉันเองที่เพียงเห็นปกนวนิยายเล่มนี้ครั้งแรก ก็เคลิ้มไหลไปกับชื่อที่พาใจและความคิดของเราเลื่อนไหลเข้าสู่การเปิดอ่านชุดอักษรที่เรียงรายอย่างประณีตในเล่มอย่างไม่ทันรู้ตัว ได้สติอีกทีในตอนท้ายเล่ม ทำให้ต้องชื่นชมผู้ประพันธ์ถึงการใช้ศิลปะตั้งชื่อเรื่องได้อย่างกะทัดรัดและครอบคลุมได้หมดทุก ๆ องคาพยพในเล่ม
1
ผู้ประพันธ์เริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงเรื่องราวการปรากฏตัวของเกาะปริศนา ที่โผล่ขึ้นในมหาสมุทร อันเป็นเรื่องราวที่หลายๆ คนทั้งที่ได้พบเห็นเองตามเนื้อเรื่อง หรือได้ฟังผ่านเรื่องเล่า ต่างเกิดข้อขบคิดถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับภาวะของการเกิดและสูญหายไปของเกาะแห่งนี้ โดยในด้านของหลักฐานที่สามารถเชื่อมร้อยให้เห็นการมีอยู่จริงของเกาะแห่งนี้ ซึ่งถูกเล่าผ่านตัวละครหลักและตัวประกอบต่าง ๆ ในเรื่องที่ทยอยกันออกมาแสดง บ้างเพียงผ่านมาและผ่านไป หรือบ้างคงอยู่จนจบเรื่อง อีกทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ประพันธ์ใช้วิธีการเป็น “ความแทรก” กระโดดเข้ามาต่อเติมเนื้อเรื่องจำนวน 15 ครั้งในเล่ม โดยอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ด้วยนักเดินเรือในแต่ละยุคสมัยอันเกี่ยวพันกับพื้นที่แหลมมลายูและใกล้เคียง เหมือนเป็นการแสดงให้เห็นถึงชิ้นส่วนจิกซอร์ของภาพเกาะที่ถูกคลื่นมหาสมุทรแห่งวันเวลาพัดพากระจัดกระจายไปทั่วทุกสารทิศรอบ ๆ พื้นที่ ที่อาจเป็นตำแหน่งอันชัดเจนของเกาะ บางเรื่องราวหรือบทบันทึก บ่งชี้ถึงลักษณะทางกายภาพ วิถีผู้คน และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเกาะแห่งนั้น แต่จนแล้วจนรอด บันทึก หรือเรื่องเล่าผ่านปากตัวละครต่าง ๆ ก็พลันเลือนหายไปอย่างน่าพิศวง
2
ในขณะเดียวกัน ตัวละครที่อาจจะอยู่ในโลกปัจจุบัน หรือ ณ ห้วงยามเกินคาดเดาของผู้ประพันธ์ อย่าง ทิศาปาโมกข์ นักกวาดลานดิน ตนกูเอ็ง นักกินโรตี นักธุรกิจสาว นักดูมวย นักข่าวสาวกับไมค์ เหล่าศิลปิน นายช่างซ่อมมนุษย์กับชายหนุ่มคนนั้น นักฉายหนังกลางวัน นักเขียนเรื่องสั้น เจ้าของแกลเลอรีสาว นักเดินทาง นักเขียนสารคดี นักเพาะปลูก เป็นต้น ก็สลับกันออกมาร่ายรำและพบเจอ จากพราก และสนทนาพาทีกันจนอวยให้เรื่องถูกเดินไปอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ยังแฝงปริศนาเรื่องเกาะติดสอยห้อยตามไปทุกแห่งทั้งพื้นที่ในสังคมจริง สังคมออนไลน์ และมายาคติ
ผู้ประพันธ์สร้างชุดตัวละครที่ออกมาโลดแล่นอยู่ในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ในเรื่องได้อย่างชัดเจน ไม่ตื้นเขิน และเปราะบางจนเกินไป แต่ละตัวละครเต็มไปด้วยเนื้อหาของชีวิตอันเต็มเปี่ยมและหนักแน่น แม้บางตัวละครจะเข้ามามีบทบาทแค่ตัวประกอบของเรื่องที่ถูกอ้างถึง แต่ด้วยศิลปะการบรรยายเชิงประจักษ์ทั้งกระทัดรัดของผู้ประพันธ์ ทำให้ตัวละครเสมือนมีชีวิตจริง และเชื่อมร้อยเข้ากับเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอีกนัยยะหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านจินตนาการไปเอง หรือความจงใจของผู้ประพันธ์ที่ฉายชัดให้เราคิดไปว่า ตัวละครทุก ๆ ตัวที่มีบทบาทสื่อสารกันอยู่ในเล่มนั้น แท้ที่จริงแล้วคือตัวตนของผู้ประพันธ์เอง ที่แยกอารมณ์ / ความปรารถนาในจิตใจและสมองของตนเองออกมาก่อรูปเป็นตัวละครในแต่ละด้านของชีวิต ให้เชื่อมโยงถึงกัน สนทนากันเอง ขัดแย้งกันเอง ต่อเติมกันเอง จนก่อรูปชุดภาพสมองชุดหนึ่งที่ทำงานภายใต้ความเคลื่อนไหวและจิตวิญญาณเบื้องลึกคอยควบคุมอย่างพิถีพิถัน เสมือนที่ผู้ประพันธ์เองได้กล่าวไว้ในบทนำ “จาก...นักเขียน ถ้อยคำของบุคคลที่ 3461200180×××” หน้าที่ 7 ตอนหนึ่งว่า “โลกความหมายทางสังคมมนุษย์ เริ่มจากการคิด สู่บัญญัติ ไปถึงประดิษฐ์สร้างวัตถุ รูปแบบวัฒนธรรม การปกครอง การเมือง การศึกษา เหล่านี้ต่างไม่พ้นข่ายโครงจากการคิด หากต้องการเห็นสิ่งซึ่งสมองสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดูได้จากภาพถ่ายโลกของเราทางอากาศในยามค่ำคืน จะเห็นแสงระยิบระยับบนภาคพื้นดิน ล้วนคือ ภาพจำลองการทำงานของสมอง เรากำลังร่วมมือกันผลิตสมองขนาดใหญ่ เสมือนภาพสมองในภาคขยายลงบนผิวโลก น่าฉงนถึงการดิ้นรนอยู่โดยไร้อิสรภาพจากเค้าเงื่อนเดิม มนุษย์มีคำพืดเป็นพิมพ์เขียวอยู่ใต้สำนึก เราถูกให้สร้างสิ่งเหล่านั้นออกมาโดยไม่รู้ตัว”
1
หรือแม้แต่การปรากฏตัวของบางตัวละครอย่างเช่นกวี ที่อยู่ ๆ ก็โผล่มา บางครั้งถึงขั้นปีนรั้วบ้านมาเพื่อยืนยันบางคำพูดที่ทรงพลังให้กับตัวละครอีกตัวเมื่อเกิดปริศนาในความคิดของตัวเอง อย่างในหน้า 156 ว่า “จะบ้าเหรอ ไม่ใช่สมองแล้วจะใช้อะไรล่ะ” “กวีว่าสมองคือส่วนประกอบสำคัญ ที่เราอาศัยเพื่อรู้สิ่งละเอียดอ่อนกว่าความรู้ความจำ” หรือการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของกวี ที่ทำให้ตัวละครอื่น ๆ ต่างตั้งข้อสงสัย กังวลและเป็นห่วง เหล่านี้ เสมือนอารมณ์ของมนุษย์ที่เกิดแรงดาลใจด้านกวี ซึ่งเข้ามา และจากไป เฉกเช่นสายลมหวีดหวีวพัดผ่านต้องกายและพ่านพ้น ยากที่จะหยิบฉวยไว้ให้คงอยู่ได้.
1
บทวิจารณ์เกาะล่องหน 3
แม้แต่บางตอนอย่างเช่นในหน้าที่ 165 ย่อหน้าแรก “ปีถัดมาก่อนนักกินเงินเดือนจะลอกคราบออกเป็นนักเดินทาง เขาได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้างาน” ประโยคเช่นนี้พบเจอในหลายๆ ตอนซึ่งทำให้เราเห็นถึงขณะแห่งการเปลี่ยนผ่านไปทั้งทางความคิดสู่บัญญัติ ไปถึงประดิษฐ์สร้างวัตถุ รูปแบบวัฒนธรรม เป็นต้น เป็นวิวัฒนาการของตัวละครที่ถูกขยับให้เคลื่อนที่ตามสภาพการที่ถูกควบคุมจากภายใน นำไปสู่การตกผลึกแห่งชีวิต ก่อนการผลิตผลงานตามหน้าที่ สมองที่มีอำนาจเบื้องลึก (เอเลียน) คอยควบคุม บงการให้ตัวละครแต่ละตัวพบเจอปรากฎการณ์ทั้งภายในและภายนอกที่เอื้อผลสู่กัน มาบรรจบกันตรงความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในท้ายที่สุด จนมาถึงการสร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่า และมีความหมายโดยแท้ต่อชีวิต
เรื่องเล่า, กวีนิพนธ์ และเรื่องสั้นที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวแต่ละตอน เป็นผลพวงของความคิดตัวละครในเรื่องที่ได้สร้างสรรค์ออกมาจากชีวิตที่ถูกบงการด้วยอำนาจเบื้องลึกที่ซ่อนตัวอย่างสงบในสมอง อย่างเช่น เรื่องในหน้ากระดาษบนโต๊ะเขียนหนังสือในห้องทำงานของนักเขียนนิยาย ที่นักเขียนเรื่องสั้นได้หยิบมาอ่านในหน้าที่ 34 – 41 ซึ่งเล่าถึงชายฉกรรจ์ชื่อคยุม สายเลือดพรานนักผจญไพร ที่พาเมียเดินทางไกลมาตั้งครอบครัวอยู่กลางป่าลึก ใช้ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาติญาณการระแวดระแวงภัยในดงดิบเถื่อน ผู้ประพันธ์ใช้คำในเรื่องนี้ที่มีความแปลก ซึ่งฉันเองก็เดาไม่ถูกว่าคือภาษาใดกันแน่ แต่เมื่อนำมาใช้ทดแทนคำเดิม ๆ ที่เราต่างคุ้นเคย ก็กลับทำให้ผู้อ่านต้องเพิ่มความระมัดระวังในการอ่านให้มากขึ้น และจดจำคำแทนให้ได้ เช่น การใช้คำว่า งชา แทน ช้าง, หยงงะเงย แทนหมา และ บันดึก แทนควายไพร เป็นต้น เป็นวิธีการที่หยิบเอาวิธีการอื่น ๆ เข้ามาต่อเติมช่วงการริเริ่มสร้างผลงานของนักเขียนนิยายให้มีความต่างไปจากตัวตนของกวี และนักเขียนเรื่องสั้นหรือตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง จากนั้นเมื่อถึงครานักเขียนนิยายอ่านเรื่องสั้นของนักเขียนเรื่องสั้นบ้างในระหว่างหน้าที่ 195 – 242 ซึ่งได้แบ่งเรื่องออกเป็น 3 ตอน คือ 1. ผู้ดื่มกินความฝันอันแหลกสลาย, 2. อสูรตาแดง และ 3.เรื่องน้ำเน่าขนานหนักเรื่องหนึ่ง ซึ่งในเรื่องมีกวีผู้อาภัพนาม พยับแดด เพรียกโพระดก ผู้สืบสายเลือดศิลปินชาวนาแห่งหมู่บ้านหนองหญ้ามันวัว ผู้มีเรื่องราวชีวิตที่เข้มข้น ตั้งแต่วิถีลูกชาวนา การสูญเสียบิดามารดา การมั่วสุมเสพยา ตลอดจนความจัดเจนในรสพระธรรมผ่านการศึกษานอกระบบ พกพาตลับพลาสติกเล็ก ๆ บรรจุเศษกระดูกของพ่อ และเศษผ้าถุงของแม่ห้อยคอ เผชิญชีวิตในดินแดนแปลหน้า จนพบหญิงเดียวในดวงใจ นามบุหลัน ดิเรกพิสมัยว่องไวพาณิชย์ผู้เกิดในตระกูลนักธุรกิจใหญ่ ใช้ชีวิตหรูหรา เมื่อรักกันจึงอยู่ด้วยกันแม้ญาติทางฝ่ายหญิงจะไม่ยินดีด้วย แต่ถึงที่สุดฝ่ายหญิงเองก็เลือกที่จะมีชีวิตคู่กับกวี ทั้งสองจึงใช้ชีวิตคู่ด้วยความอุตสาหะ จนตกลงปลงใจมีลูกร่วมกัน ทำให้เกิดกวีนิพนธ์ขึ้นมาเป็นดอกไม้ที่ผลิบานจากกิ่งก้านสาขาที่แยกออกมาจากลำต้นที่เข็งแกร่ง ซึ่งกวีนิพนธ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นซ้อนทับเรื่องสั้น ที่เขียนโดยนักเขียนเรื่องสั้น ที่เล่าว่ากวีในเรื่องเป็นผู้แต่งมอบให้แก่ภรรยาและลูก และถูกอ่านโดยนักเขียนนวนิยายส่วนหนึ่งว่า “เจ้าเนื้อนามความเป็นมนุษย์ คือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ขอเจ้าคือความงาม คือดวงตา ที่เพ่งเห็นความเป็นมา ความเป็นไป ขอเจ้าจงอดทนรอการก่อเกิด ในมิติอันล้ำเลิศแห่งภพใหม่ เต็มความหมายแห่งมนุษย์ลึกและไกล จากผลพวงแห่งดวงใจให้บันดาล.........” (หน้า 228)
2
พอกวีและบุหลันได้ลูกชาย ก็ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเรียบง่าย และทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังไปด้วยจนเจริญรุ่งเรือง จบด้วยชะตาชีวิตที่พลิกผันให้เกิดการสูญเสีย การถูกเหยียด เบียดเบียน และการทำร้ายจิตใจ ทั้งโดนอาณาจักรแปลกหน้าขับไล่ให้ต้องพาลูกกลับคือแผ่นดินเดิม ขณะเดียวกัน ในเรื่องราวก็ผลิตวลีอันงดงามเยี่ยงกวีนิพนธ์อีกครั้ง แม้ในเรื่องมิได้ถูกเขียน แต่ถ้อยคำอันงดงามที่เกิดขึ้นจากรากฐานชีวิตอันเข้มข้นก็ถูกโปรยหว่านออกมาจากห้วงคำนึงเบื้องลึกของกวี ตอนหนึ่งว่า “ภูผาลูกของเราจะเติบโตและแข็งแกร่งบนแผ่นดินเกิดของผู้เป็นพ่อ ชีวิตของเขากับธรรมชาติจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ฉันไม่ได้เขียนกวีมานานเท่าใดแล้วนี่ ฉันผละจากวรรณกรรมมานานเท่าใด ศรัทธาของฉันไม่เคยสั่นคลอนเลย, ลูกของเราจะเขียนบทกวีบนท้องทุ่งกว้าง ซึ่งเต็มไปด้วยดอกหญ้าบนแผ่นดิน ซึ่งแยกแผ่นน้ำออกจากกันเป็นสอง เขาจะแสดงความกล้าหาญ โดยการป่ายปีนขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่ เพื่อแย่งชิงหัวน้ำหวานจากฝูงผึ้ง และเขาจะเขียนเรื่องสั้นเล่าความหวานจากน้ำผึ้งที่เขาเป็นผู้ลิ้มรสนั้นด้วยตัวของเขาเอง....” (หน้า 241 -242)
แม้แต่เรื่องของโสภณีที่ถูกเล่าเติมเข้ามาในภาคท้ายๆ เล่ม ก็ถูกเล่าได้อย่างมีอรรถรสในการบรรยายฉาก บรรยากาศ และพฤติกรรมการเคลื่อนไหวในแต่ละอิริยะบทของตัวละคร ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว ชี้ให้เห็นว่าผู้ประพันธ์กำลังฉายภาพขุนเขาอันมหึมาของนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นด้วยรากของขุนเขาที่กว้างใหญ่ไพศาลและกินพื้นที่ลึกลงไปสุดคณานับและการหยั่งถึง ความงดงาม สมบูรณ์แบบ และยิ่งใหญ่ของนวนิยายเรื่องหนึ่ง มันมีเรือนร่างและองคาพยพที่เป็นหน่วยชีวิตอีกหลายๆ หน่วยเคลื่อนไหวไปมาอย่างแข็งขัน และเข้มข้น เชื่อมร้อยต่อกันจน สร้างภาพรวมที่ตระการตา ยิ่งใหญ่ และสมบูรณ์แบบ.. เทียบกับสังคมโลกและสมองมนุษย์ ที่มีลักษณะในภาวะระดับอณูอันเอกเทศ ไปถึงภาวะเอกภาพมวลรวม..
ทักษะด้านการเขียนของผู้ประพันธ์ถือเป็นเลิศ สามารถสร้างวลีอันกระชับ เรียบง่าย กินใจ และทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็นการสารทยายถึงบรรยากาศ วิถีของผู้คน ฉากที่เป็นทั้งสถานที่ในร่มและลานกว้าง รวมไปถึงในห้องแต่ละห้องที่ถูกกล่าวถึงนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้เรื่องราวที่ถูกเล่าในนวนิยายเรื่องนี้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน อีกทั้งบทสนทนาระหว่างตัวละครด้วยกันเอง การเล่าถึงบุคคลที่สาม หรือการเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาต่าง ๆ ก็ถูกสร้างประโยคให้เป็นไปอย่างกระชับและเข้มข้นเสมอ
1
บทวิจารณ์เกาะล่องหน 4
ศิลปะการประดับประดาแต่ละบทของนวนิยายเรื่องนี้ เปรียบเสมือนการสร้างระดับขั้นการปีนป่ายภูผาสูง ที่ผู้ประพันธ์วางโครงเรื่องไว้ได้อย่างชัดเจนและมั่นคง ส่งผลให้วิธีการเล่าไม่ได้จำเป็นต้องสร้างความซับซ้อนให้จนยุ่งเหยิงจนอาจพาผู้อ่านเตลิดออกนอกประเด็น แต่กลับมีนัยยะสำคัญที่ถูกซ่อนไว้อย่างง่ายๆ ให้เหมือนบันไดปีนป่ายไปพบเจอทุก ๆ องค์ประกอบที่ผู้ประพันธ์จัดไว้รอให้เราเข้าไปถึง
ผู้ประพันธ์ใช้คำ วลี และประโยคต่าง ๆ ในเรื่องได้อย่างเชี่ยวชาญในด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร หนังสือนวนิยายเล่มนี้จึงสามารถฉายภาพเชิงเปรียบเทียบได้ในหลายๆ แขนง เช่น การหยิบเอานวนิยายเล่มนี้มาเพื่อวิเคราะห์-วิจารณ์สภานการณ์ทางวรรณกรรม ก็จะให้ภาพรวมของงานวรรณกรรมได้อย่างตรงไปตรงมา หรือหากหยิบหนังสือเล่มนี้มาเพื่อวิเคราะห์ด้านประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และอารยธรรมมนุษย์ หนังสือเล่มนี้ก็จะสามารถตีแผ่ข้อเท็จจริงทางสังคมได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน..
นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีวันสิ้นสุด.. ฉันเห็นด้วยกับประโยคเริ่มต้นในตอนที่ 39 (หน้า 299) ว่าเป็นนิยายซึ่งไม่อาจเขียนจบเรื่องหนึ่ง นิยายเกี่ยวกับเกาะต้องคำสาปซึ่งไม่สามารถให้คำนิยมใด ๆ เลือนราง และคลุมเครือดุจหมอกควัน....” ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ก็เช่นเดียว เมื่อรากของมันหยั่งลึกลงดิน และแตกรากฝอยชอนไชลึกลง ลำต้นและกิ่งก้านก็ต้องแตกสาขาผลิก้านใบออกดอกออกผลไม่รู้จบสิ้น ตราบใดรากแก้วของเรื่องยังคงชอนไชลงลึก ตราบนั้นลำต้นก็ยิ่งมั่นคงและแตกกิ่งก้านสาขาให้ออกดอกออกผล เป็นเมล็ดเล็ก ๆ แตกต้นอ่อนเจริญวัยต่ออีกหลายๆ ช่วงอายุ.. แม้นัยยะสำคัญของเรื่องจะถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ฉายภาพการทำงานของสมองมนุษย์จากอณูส่วนไปสู่กลไกใหญ่โตเป็นองค์รวมก็ตาม แต่ผลพวงที่จะเกิดขึ้นย่อมต้องขยายกิ่งก้านสาขาความเข้าใจอย่างไม่มีจุดยุติ.
จักรวารที่ฉายภาพอันยิ่งใหญ่ของชีวิตที่เคลื่อนไหว เลือนราง จางหาย ก่อเกิดแจ่มชัด และดับสูญไม่หยุดหย่อน เกิดจากอนุภาคชีวิตที่เชื่อมโยง ขัดแย้งและเอื้อหนุนกัน เป็นโครงสร้างและกลไกอย่างมีระบบ นวนิยายเรื่องนี้จึงสมควรเป็นหนังสือสำหรับคนทุก ๆ ช่วงวัย ทุก ๆ หน้าที่การงาน ทุกเพศทุกเชื้อชาติ ในยุคศตวรรษที่ 21 ใช้อ่านได้ในทุก ๆ ช่วงเวลาและสถานที่..
2
อินทรธนู
ณ บนผืนดิน 33,000 ft จากความสูงของผู้ประพันธ์
20 เมษายน 2563
บทวิจารณ์เกาะล่องหน 4
ข้อมูลบรรณานุกรม
เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ (2561). เกาะล่องหน (พิมพ์ครั้งที่ 1) สำนักพิมพ์นาคร-ปทุมธานี
โฆษณา