27 มิ.ย. 2021 เวลา 04:37 • หุ้น & เศรษฐกิจ
7 อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ “มือใหม่” ลงทุน “หุ้น” ควรรู้
1
นักลงทุนหุ้นโดยเฉพาะมือใหม่คงเคยได้ยินนักวิเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านการลงทุนพูดถึง อัตราส่วนทางการเงิน ที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้น กันอยู่บ่อยๆ ซึ่งอัตราส่วนเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นดี น่าลงทุนได้
7 อัตราส่วนทางการเงินที่เราสามารถใช้ดูหุ้นได้ว่าหุ้นนั้นน่าสนใจหรือไม่ มีความแข็งแรงในการทำธุรกิจ หรือถูก แพงเกินไปหรือไม่ ได้แก่
1.P/E (Price to Earning) คือ อัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น ที่บริษัททำได้ในรอบปีล่าสุด เป็นค่าที่จะได้ยินบ่อย ที่สุด เนื่องจากสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ทั้งหุ้นรายตัว และสภาพตลาดโดยรวม
อธิบายง่ายๆ คือ ค่า P/E สามารถประมาณการจุดคุ้มทุน ให้กับผู้ลงทุนได้ เช่น หุ้น A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ดังนั้น P/E เท่ากับ 10 เท่า หรือเราจะได้ทุน 10 บาทคืนเมื่อ ถือหุ้น A ครบ 10 ปี นี่คือแนวคิดเบื้องต้นที่ทำให้คิดได้ว่า... ควรซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำๆ และขายหุ้น P/E สูงออกไป
แต่สำหรับ บางกรณี หุ้นที่ P/E สูงๆ ก็ยังน่าลงทุน เช่น
หุ้นที่มีแนวโน้มของกำไรเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Growth Stock หุ้นเหล่านี้จะมี P/E สูง แต่ถ้าต้องการดูว่าสูงจนแพงเกิน ราคาหรือไม่ ต้องดูที่ P/E ไม่เกินการ ขยายตัวของกำไร เช่น ถ้า คาดว่าหุ้นจะ มีกำไรโต 15% ต่อปี ก็ไม่ควรมี P/E เกิน 15 เท่า หรือนำ P/E หารด้วย Growth ถ้าได้ต่ำกว่า 1 มากเท่าไร ก็ยิ่งดี
หุ้นที่มีสภาพคล่องดี มักมี P/E สูงกว่า พวกหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่ๆ และซื้อขายปริมาณมากในแต่ละวัน
2.P/BV (Price to Book Value) คือ อัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ซึ่งหุ้นที่มี P/BV ต่ำ ย่อมจะดีกว่าหุ้นที่มี P/BV สูง สามารถใช้เปรียบเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกัน บางอุตสาหกรรม P/BV ต่ำมากเล่นกันต่ำกว่า 1 เท่า เช่นกลุ่มธนาคาร บางกลุ่ม P/BV สูงเช่นกลุ่มสื่อสาร
3. Dividend Yield (อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หากหุ้นตัวใดมีค่านี้สูง แสดงว่ามีการจ่ายเงินปันผล ในอัตราที่สูง ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนพอสมควร แต่ถ้าหุ้นใดมีค่านี้ต่ำ ก็ต้องหาข้อมูลต่อไปว่าเกิดจากการทำกำไรได้น้อยหรือเกิดจากนโยบายของบริษัทที่จะนำเงินไปลงทุนมากกว่าจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งถ้าเป็นประการหลัง และเป็นโครงการลงทุนที่ดี วิเคราะห์แล้วน่าจะมีผลตอบแทนที่สูง ก็ไม่ได้แสดงว่าหุ้นตัวนั้นไม่ดีแต่อย่างใด
4.Turnover Ratio อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย ใช้วัดปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ว่ามี มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้น จดทะเบียน ถ้ามีค่ามากแสดงว่ามีสภาพคล่อง ในการซื้อขายสูง พูดง่ายๆ คือ สามารถเปลี่ยนหุ้นเป็นเงินสดได้ดี
5.Net Profit Margin คือ อัตราส่วนกำไรสุทธิ เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไร ของบริษัทหลังจากนำรายได้และค่าใช้จ่ายทุกประเภทมาพิจารณาแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดกำไรสุทธิ ดังนั้น ค่า Net Profit Margin ยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นผลดี
6.ROA หรือ Return on Asset อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ แสดงถึงความ สามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ กิจการนั้นใช้ในการดำเนินงาน ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไร ได้มาก
และ 7. ROE หรือ Return on Equity อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น แสดงถึงความ สามารถในการทำกำไรจากส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัด ผลตอบแทนต่อส่วนของทุนของบริษัทว่าให้ผลเฉลี่ย ในระดับใด ยิ่งมีค่ามากก็แสดงว่าผู้บริหารของบริษัทนั้นมีฝีมือในการบริหารงานดี ผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับ ผลตอบแทนมาก
โฆษณา