27 มิ.ย. 2021 เวลา 12:22 • ปรัชญา
บารมีพอจึงเกิดมาเป็นมนุษย์
เป็นมนุษย์ต้องให้
ในหลักการของทางศาสนาพุทธ การที่ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต[1] ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสารนี้ จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้อีกครั้งในแต่ละชาตินั้น จะต้องมีคุณความดีหรือกรรมดีติดตัวมาพอสมควร จึงจะมีความสามารถที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง
การเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละชาตินั้น วัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องมาเกิดเพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติม ดังนั้น ถ้าบุญบารมีพื้นฐานยังมีไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถที่จะมาเกิดมาเป็นมนุษย์ได้
ในกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่า บุคคลที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น มีแต่กรรมดีหรือมีแต่บุญบารมี กรรมชั่วหรือบาปไม่มีเลย
บาปกรรมก็ติดตามมนุษย์มาเช่นเดียวกัน แต่กรรมดีที่สามารถทำให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ มีมากกว่า และมีเพียงพอแล้ว จึงมีโอกาสเกิดมาเพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติมอีกได้
พวกที่ดวงวิญญาณ/ใจ/จิตยังมีคุณความดีหรือกรรมดีไม่เพียงพอ ก็สามารถมาเกิดในโลกมนุษย์ได้ แต่ต้องเกิดเป็นสัตว์เท่านั้น ไม่สามารถเกิดเป็นภาวะของมนุษย์ได้
สำหรับเหตุที่บังคับให้ดวงวิญญาณ/ใจ/จิตต้องมาเกิดเป็นสัตว์ในโลกก็เป็น เพราะ "กรรม" เพราะ การเกิดในสภาพที่เป็นสัตว์ถือว่า เป็นการชดใช้กรรมแบบหนึ่ง หลังจากที่ได้ชดใช้กรรมในนรกมาแล้ว
สภาวะที่เกิดเป็นสัตว์นั้น ถือว่าดวงวิญญาณ/ใจ/จิตเหล่านั้น มีกรรมเก่าที่ลดน้อยถอยลงมากแล้ว ใกล้กับสภาวะที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้แล้ว
สัตว์บางตัวจึงสามารถทำความดีได้บ้าง เช่น สุนัขที่อยู่วัดสามารถที่จะไปบิณฑบาตกับพระได้ ผู้เขียนเคยได้ยินว่า วัวบางตัวก็ไปบิณฑบาตกับพระได้เช่นเดียวกัน
เมื่อกรรมเก่าลดน้อยลง จนกระทั่งคุณความดีมีมากพอ ก็สามารถที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้อีกครั้งหนึ่ง
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ โลกมนุษย์เป็นสนามกีฬากลางสำหรับทุกคน ทุกดวงวิญญาณ/ใจ/จิต ที่จะส่งผลให้ไปเกิดในชาติใดภพใด ทุกคนจะต้องมาสร้างบุญบารมีในขณะที่เกิดเป็นมนุษย์
มนุษย์จำนวนมากไม่เข้าใจหลักการที่ว่านี้ จึงกระทำผิดวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์
กล่าวคือ กระทำความผิด ความชั่วต่างๆ ผลที่ได้รับจึงต้องไปชดใช้กรรมของตนก่อน ที่จะได้รับโอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
หลักการที่ว่านั้น ก็คือ การสอนของศาสนาพุทธนั่นเอง
จากหลักการดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ดูเหมือนว่า มีมนุษยโลกจำนวนมาก ไม่สามารถกระทำกรรมดีเพิ่มเติมขึ้นได้
บางกลุ่มบางพวกนั้น ดูเหมือนว่าไม่เคยกระทำความดีเลยในชีวิต ตัวอย่างเช่น นักการเมืองทุกระดับ ข้าราชการเป็นจำนวนมาก รวมถึงเจ้าของธุรกิจที่ขูดรีดเบียดบังประชาชน เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้ว โดยทั่วๆ ไป มนุษย์ในโลกนี้ ไม่มีใครเกิดมาแล้ว กระทำความชั่วแต่เพียงสถานเดียว ไม่เคยทำความดีเลย หรือมีคนเกิดมาแล้ว กระทำแต่ความดี ไม่เคยทำความชั่วเลย[2]
ทุกคนกระทำทั้งความดีและความชั่วมาด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่า สิ่งไหนจะมากกว่ากัน เท่านั้นเอง
ในจำนวนมนุษยโลกประมาณ 6,000 กว่าล้านคนนั้น ในทางคำสอนของศาสนาพุทธ ผู้ที่สามารถสร้างบุญบารมีได้มากกว่ามนุษย์ทั้งหลาย คือ สามารถสร้างบารมีจนเป็นพระอรหันต์ไม่ต้องมาเกิดให้เจอความทุกข์อีก ก็คือ พุทธศาสนิกชน หรือผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น
เชิงอรรถ
[1] ในบทความนี้จะมีศัพท์ที่คล้ายกันอย่างนี้ 2 คำคือ “ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต” กับ “ใจ/จิต/วิญญาณ” คำว่า “ใจ/จิต/วิญญาณ” หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งรวมกันเป็น “ใจ” ใจกับจิตเป็นสิ่งเดียวกัน แตกต่างกันที่ความละเอียด โดยที่จิตมีความละเอียดมากกว่าใจ จิตกับวิญญาณก็เป็นสิ่งเดียวกันแต่ วิญญาณมีความละเอียดมากกว่าจิต
โดยสรุป “ใจ/จิต/วิญญาณ” คือ สิ่งเดียวกัน แต่มีความละเอียดและหยาบต่างกัน ความละเอียดและหยาบดังกล่าวนั้น ทำให้หน้าที่การทำงานของ “ใจ/จิต/วิญญาณ” แตกต่างกันไป
“ใจ/จิต/วิญญาณ” เมื่อเข้ามาประกอบกับรูปก็จะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม รวมถึงสัตว์ทั้งหลายด้วย ดังนั้น สัตว์ทั้งหลายในโลกรวมทั้งมนุษย์ด้วยนั้น จะประกอบไปด้วย "กาย" กับ “ใจ/จิต/วิญญาณ”
คำว่า “ใจ/จิต/วิญญาณ” นั้น ผู้เขียนต้องการเน้นถึงกระบวนการทำงานของใจ การทำงานของใจก็มี 4 ประเภท คือ เห็น จำ คิด รู้ ในกรณีที่ยึดศัพท์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นหลัก ถ้ายึดศัพท์บาลีเป็นหลักก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ส่วนคำว่า “ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต” นั้น ผู้เขียนต้องการเน้นไปที่ ดวงวิญญาณที่สามารถไปเกิดมาเกิดได้
คำทั้ง 2 ชุดนั้นคือ สิ่งเดียวกันแต่ผู้เขียนเน้นต่างกัน และขออธิบายเพิ่มเติมว่าเมื่อมนุษย์ตายแล้วจะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ไปเพียง “ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต” เท่านั้น แต่มีกายด้วย กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในนรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม อรูปพรหมต่างก็มีขันธ์ 5 ด้วยกันทั้งนั้น แต่จะหยาบละเอียด ใสสว่างต่างกันเท่านั้น
ขออธิบายเพิ่มเติมของพระอรหันต์ในอายตนนิพพานด้วยว่า ก็ประกอบด้วยขันธ์ 5 เช่นเดียวกัน แต่เป็น "ธรรมขันธ์" ไม่ใช่ขันธ์ 5 แบบเดียวกับสัตว์ในภพ 3
[2] โดยหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ ผู้ที่มี “ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต” ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ทั้งสัตว์ที่มีกายหยาบ เช่น สุนัข แมว หมี ฯลฯ เป็นต้น และสัตว์ที่ไม่มีกายหยาบ มีแต่กายละเอียด เช่น นาค ยักษ์ ฯลฯ เป็นต้น มีจุดหมายปลายทางที่อายตนนิพพานทั้งนั้น
กล่าวคือ ผู้ที่มี “ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต” ทุกชีวิต จะต้องเดินทางไปอยู่ที่อายตนนิพพานทั้งหมด โดยอาจจะเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์
ดังนั้น ทุก “ดวงวิญญาณ/ใจ/จิต” ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อมาสร้างสมบารมีให้ครบ 30 ทัศน์ แต่การมาเกิดเป็นมนุษย์นั้น มนุษย์แต่ละคน ต้องมีกรรมเก่าซึ่งเป็นกรรมชั่วติดตามมาด้วยเสมอ
งนั้น ท่านผู้รู้บางท่านจึงกล่าวว่า "มนุษย์เกิดมาเพื่อใช้กรรม"...
เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)
Line ID : manas4299
โทรศัพท์ : 083-4616989
โฆษณา