28 มิ.ย. 2021 เวลา 02:17 • ปรัชญา
พุทธศาสนิกชน 3 ประเภท
พุทธศาสนิกชน
พุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่นับถือศาสนาพุทธนั้น ผู้เขียนชอบที่จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
[1].. พุทธวิชาการ
[2].. พุทธปฏิบัติธรรม
[3].. พุทธทั่วไป
พุทธศาสนิกชนทั้ง 3 ประเภทนั้น หมายถึง กลุ่มคนที่มีลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้
[1].. พุทธวิชาการ หมายถึง พุทธศาสนิกชนที่ได้รับการศึกษาจากศาสตร์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาตะวันตกและวิทยาศาสตร์ จึงตกอยู่ภายใต้อิทธิของความเป็นเหตุผล (Rationality) และประสบการณ์ที่ได้รับจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ตามวิธีการศึกษาของศาสตร์ตะวันตก
การได้การศึกษามาอย่างนั้น จึงส่งผลให้พุทธวิชาการส่วนใหญ่เกิดความคลางแคลงในคำสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ไม่เชื่อในคำสอนที่เป็นพุทธพจน์ทั้งหมด แต่เลือกเชื่อเฉพาะคำสอนที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ (body of knowledge) ของศาสตร์ตะวันตกเท่านั้น
[2].. พุทธปฏิบัติธรรม หมายถึง พุทธศาสนิกชนที่เชื่อในคำสอนที่เป็นพุทธพจน์ทั้งหมด ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักของความเป็นเหตุผล (Rationality) และเชื่อว่าประสาทสัมผัสมี 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ
พุทธศาสนิกชนกลุ่มนี้ จะเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากพุทธวิชาการ ซึ่งจะไม่ปฏิบัติธรรม แต่จะเน้นการศึกษาด้วยหลักการของปรัชญาตะวันตก ดังได้กล่าวมาแล้วในพุทธศาสนิกชนประเภทแรก
[3]..พุทธทั่วไป หมายถึง พุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่เห็นสิ่งใดมีความศักดิ์สิทธิ์หรือน่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ก็จะนับถือไป หมด
พุทธกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ตัวอย่างที่เห็นในปัจจุบันก็คือ กลุ่มที่หันไปบูชาจตุคาม-รามเทพทั้งๆ ที่จตุคาม-รามเทพไม่ได้เป็นพระหรือเป็นเกจิอาจารย์หรือเป็นฆราวาสผู้ปฏิบัติ ดีปฏิบัติชอบแต่อย่างใด
ซึ่งในความจริงแล้ว บุคคลเหล่านี้ไม่ได้สนใจประวัติความเป็นมาของจตุคาม-รามเทพเสียด้วยซ้ำ เมื่อมีกระแสความนิยมเกิดขึ้นก็นิยมบูชาไปตามกระแสดังกล่าว
ในจำนวนพุทธศาสนิกชนทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว กลุ่มที่เกิดมาชาตินี้แล้ว มีโอกาสในการกระทำความดีเพิ่มขึ้นได้น้อยมาก แต่โอกาสที่จะสะสมกระทำความชั่วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลับเป็นกลุ่มที่เป็นพุทธวิชาการ และสาวกของพุทธวิชาการดังกล่าว
คือ พวกที่อ่านหรือเรียนกับพุทธวิชาการแล้วก็หันไปเชื่อหรืองมงายในวิทยาศาสตร์ กับปรัชญาตะวันตกจนหัวปักหัวปำ วิทยาศาสตร์กับปรัชญาตะวันตกนี้ ต่อไปผู้เขียนจะเรียกโดยรวมว่า “ศาสตร์ตะวันตก”
การที่ผู้เขียนใช้คำว่า "งมงาย" ก็เป็นเพราะ กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีพฤติกรรมออกไปเช่นนั้น
ยกตัวอย่าง อะไรก็ตามที่วิทยาศาสตร์รับไม่ได้ กลุ่มบุคคลผู้นี้ก็จะพิพากษาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลยว่า "สิ่งนั้นไม่จริง" ขนาดนักวิทยาศาสตร์เอง เขายังไม่กล้าฟันธงไปถึงขนาดนั้น
นักวิทยาศาสตร์เมื่อถูกถามในสิ่งที่วิทยาศาสตร์รับไม่ได้ เขามักจะตอบว่า ตัวเขาเองไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านั้น หรือเรื่องเหล่านั้น เขาไม่ถนัด จึงไม่กล้าออกความเห็น เป็นต้น
เมื่องมงายในศาสตร์ตะวันตกจน หัวปักหัวปำ จึงเกิดมิจฉาทิฐิขึ้น จึงมีความคิดที่ผิดว่า เนื้อหาคำสอนของศาสนาพุทธจำนวนมาก ไม่เป็นความจริง เพราะ พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์
ยกตัวอย่างเช่น การเวียนว่ายตายเกิด นรก-สวรรค์ หรืออิทธิปาฏิหาริย์ของพระอรหันต์ และพระพุทธเจ้า เป็นต้น
กลุ่มบุคคลเหล่านั้น จึงโจมตีพุทธปฏิบัติธรรมที่ศรัทธาและเชื่อถือศาสนาอย่างแน่นแฟ้นว่างมงาย โดยไม่ได้หันกลับไปดูตัวเองเลยว่า ตัวเองก็งมงายอยู่กับอีกสิ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน
ในบทความนี้จึงจะชี้ให้เห็นว่า ศาสตร์ตะวันตกมีลักษณะเป็นอย่างไร ความเชื่อว่า ศาสตร์ตะวันตกดีกว่าศาสนาพุทธ ส่งผลให้พุทธวิชาการมีความเข้าใจผิดในศาสนาพุทธอย่างไร และควรจะแก้ไขอย่างไรด้วย
ศาสตร์ตะวันตก....
ศาสตร์ ตะวันตกได้เริ่มเข้ามาแผ่อิทธิพลในเมืองไทยมาประมาณร้อยกว่าปีนี้เอง นักวิชาการเริ่มนับกันตั้งแต่เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงยอมรับสนธิสัญญาบาวริ่ง (Bowring treaty) ใน พ.ศ. 2398 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา องค์ความรู้ของศาสตร์ตะวันตกก็ได้ไหลหลั่งท่วมท้นเข้ามาสู่ทะเลความรู้ใน สังคมไทย
ความรู้ใหม่ที่ได้รับการนำเข้ามาได้มาเบียดบัง ส่งผลกระทบต่อองค์ความรู้ของพุทธศาสนา องค์ความรู้ทางโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ องค์ความรู้ของประชาชน เช่น แพทย์แผนโบราณ เป็นต้น โดยบังคับให้ไปอยู่ชายขอบขององค์ความรู้ กลายเป็นความรู้ที่ไม่จริงไปเกือบหมด
ผู้เขียนเคยนั่งทบทวนความรู้ว่า ตั้งแต่ ป. 1- ปริญญาเอกนี้ มีองค์ความรู้ใดที่เป็นของไทยแท้ๆ บ้าง ปรากฏว่า ไม่พบองค์ความรู้ใดเลย ที่เป็นของคนไทย เห็นมีแต่องค์ความรู้ของศาสตร์ตะวันตกแทบทั้งสิ้น แม้กระทั่งวิชาภาษาไทยเอง หลักการศึกษาหรือวิธีการศึกษาก็นำมาจากตะวันตก เพียงแต่เนื้อหาเป็นภาษาไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ศาสตร์ตะวันตกอันมีจำนวนมากมายมหาศาลนั้น ไม่ใช่ว่าทุกสาขาวิชาจะส่งผลกระทบต่อศาสนาพุทธหรือองค์ความรู้ของไทยดังได้ กล่าวไปเสียทั้งหมด มีเพียง 2 สาขา วิชาเท่านั้น คือ วิทยาศาสตร์กับปรัชญา ที่เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้การตีความเนื้อหาคำสอนของศาสนาพุทธบิดเบือนผิดเพี้ยนไป...
เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)
Line ID : manas4299
โทรศัพท์ : 083-4616989
โฆษณา