28 มิ.ย. 2021 เวลา 04:24 • ธุรกิจ
ผู้นำท่ามกลางวิกฤติโลก
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP
วันนี้เป็นวันเกิดของพี่ก้อย คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ขออนุญาตนำบทความพี่ก้อย มาให้อ่านกันนะคะ
 
ท่ามกลางวิกฤติที่สาหัสที่สุดในโลกนี้หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กร หรือผู้นำประเทศ ต่างก็สับสนในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง
1
ผนวกกับสังคมยุคปัจจุบันที่ทุกคนไม่ว่าใคร ก็มีสิทธิ์มีเสียงที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาอย่างโจ่งแจ้ง และยังมีสื่อกระแสหลัก นำไปขยายความต่อให้มีชื่อเสียงโด่งดังมากยิ่งขึ้น เสียงสอดแทรก หรือ noise ก็เข้ามารบกวนจนแทบจะกลบเสียงปกติทั่วไป หรือ voice
 
หากไม่มีหลักการที่จะยึดอิง ผู้นำก็จะเกิดอาการ “เป๋”
 
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไปในหลายองค์กร ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
 
ดิฉันค้นคว้าอยู่พักหนึ่ง จึงพบข้อคิดที่น่าสนใจจากอดีตผู้บริหารองค์กรทางด้านสุขภาพระดับ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์คลินิกทางด้านภาวะผู้นำ อยู่ที่ โรงเรียนบริหารธุรกิจเคลลอกก์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น โรงเรียนเก่าของดิฉันเอง
ศาสตราจารย์ แฮรี่ เครมเมอร์ (Harry Kraemer) เห็นว่ามีประโยชน์จึงอยากนำมาแบ่งปันในวันนี้ค่ะ
 
ในความเห็นของท่าน มีสองสิ่งหลักที่ผู้นำต้องเข้าใจในช่วงวิกฤติ ซึ่งท่านใช้คำว่า “มนตรา”(Mantra) หรือบทสวดมนต์ สองบท ที่จะทำให้ผู้นำสามารถหาทางก้าวต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ซึ่งรวมถึงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นี้ด้วย
 
ท่านกล่าวว่า “วิกฤติจะมีความแตกต่างกันเกือบทุกครั้ง ดังนั้นจึงไม่มีแบบแผนของแนวทางที่สามารถวางเพื่อแก้ไขทุกวิกฤติได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า มีแบบแผนของแนวทางที่จะใช้ในการจัดการกับวิกฤติได้”
 
บทสวดมนต์ที่หนึ่ง : ท่านต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง และท่านจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้
 
ฟังดูเหมือนง่าย เพราะฉะนั้น ท่องเอาไว้เลยค่ะ “ฉันจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
เพราะว่า นั่นคือสิ่งเดียวที่ท่านสามารถจะทำได้ (ในช่วงวิกฤติ)
 
อย่างไรก็ดีท่านบอกว่า ฟังดูง่ายแต่ทำยากค่ะ และท่านก็ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบอยู่คนเดียว ไม่มีใครฉลาดและเป็นยอดมนุษย์ที่รู้และทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นท่านจึงควรจะต้องมีคนที่ท่านไว้วางใจและคนที่มีค่านิยมเดียวกับท่านและคนอื่นๆในองค์กร อยู่รายรอบตัวท่าน และเมื่อรวมพลังกัน จะสามารถตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง และต่อด้วยการทำในสิ่งที่ตัดสินใจให้ดีที่สุด
 
เมื่อเราพูดว่า “ฉันจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และด้วยความช่วยเหลือจากคนมากมาย ฉันจะทำให้ดีที่สุด” เวลาพูดประโยคนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจารย์บอกว่า จะสามารถลด ความกังวล ความกลัว ความกระวนกระวายใจ ความกดดัน และความเครียด ลงได้อย่างมาก
 
อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่ถูก หากมันเกิดผิดพลาดไป เราก็สามารถแก้ไข ปรับเปลี่ยนได้ ท่านเตือนด้วยว่า เวลาอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ต้องเอาอัตตาออกให้หมด และในการหารือเพื่อตัดสินใจนั้น เราส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนใจ เพราะเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำถูก แต่เราจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง (ควรทำ)
2
บทสวดมนต์ที่สอง : ท่านต้องบอกคนอื่นว่าท่านรู้อะไร ไม่รู้อะไร และเมื่อใดจะกลับมาบอกและหารือในสิ่งที่ท่านยังไม่รู้ในตอนนี้
 
ในสถานการณ์วิกฤติ การแบ่งปันข้อมูลที่ท่านรู้ ควรจะให้ข้อมูลอย่างง่ายที่สุดและซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่จะให้ได้ แม้จะเป็นสิ่งที่คนไม่อยากจะได้ยินก็ตาม
 
การบอกคนอื่นให้ทราบในสิ่งที่ท่านไม่รู้มักจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้นำ แต่การบอกสิ่งที่ท่านไม่รู้ เป็นหัวใจในการสร้างความน่าเชื่อถือกับผู้เกี่ยวข้อง หากเราไม่บอก คนอื่นๆก็จะไม่รู้สึกว่าท่านมีส่วนร่วมกับพวกเขา และอาจจะคิดว่าเชื่อใจท่านไม่ได้อีกต่อไป หรืออาจจะทำให้ความจริงดูเลวร้ายกว่าที่เป็น
 
สุดท้ายคือ ต้องบอกให้คนอื่นๆทราบว่า เมื่อใดท่านจะกลับมาตอบสิ่งที่ท่านยังไม่สามารถให้คำตอบได้
 
บทสวดมนต์ทั้งสองนี้ ไม่ได้ช่วยคนอื่นอย่างเดียว แต่ยังช่วยท่านปกป้องชื่อเสียงของตนเองและขององค์กร เพราะหากไม่มีการสื่อสารอย่างทั่วถึง คนอื่นจะไม่เข้าใจ และจะคิดว่าท่านปกปิดหรือเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ และท่านจะเสียความน่าเชื่อถือ ดิฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า ในสถานการณ์วิกฤติ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ความไม่แน่นอนก็มีอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวให้เร็ว เป็นหนทางของความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติค่ะ
 
นอกเหนือจากชื่อเสียงแล้ว บทสวดมนต์ก็ยังใช้เป็นกรอบในการจัดการองค์กรให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ และมีแนวทางในการดำเนินงาน ไม่เกิดความตระหนก วิ่งวุ่นไปทั่ว
 
“ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในวิกฤตินี้ คือ มีผู้นำเยอะเกินไป รวมถึงรัฐบาลด้วย ที่ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่า รู้อะไร ไม่รู้อะไร และจะวางแผนอย่างไรเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมให้กับประชาชนในภายหลัง” อาจารย์เครมเมอร์กล่าว
 
ที่แย่ที่สุดคือการที่คน “แปลกใจ” เมื่อทราบความจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้น หากมีการสื่อสารที่ดี และมีการติดตาม เราจะสามารถลดความ “แปลกใจ” ของประชาชนได้
 
หลายองค์กรที่นำหลักการนี้ไปใช้และประสบความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ เช่น การให้เงินช่วยเหลือพนักงานระหว่างวิกฤติ ซึ่งกระทบผลกำไรในระยะสั้น และระยะยาวก็มีผลเป็นบวกอย่างมาก เพราะ “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”
 
ขอบคุณข้อมูลจาก “How to Develop a Leadership Mindset for Uncertain Times” จากวารสาร Kellogg Insight ฉบับเดือนตุลาคม 2563
โฆษณา