6 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
🎥 EP. 6
บริษัทไทยฟิล์ม : คู่แข่งสำคัญของศรีกรุง
แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะดูเหมือนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงแต่เพียงบริษัทเดียว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจะปราศจากคู่แข่ง ในขณะนั้นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในวงการภาพยนตร์เสียงด้วยกันก็คือ 'บริษัทไทยฟิล์ม'
ปี พ.ศ. 2480 เมื่อกลุ่มคนหนุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก นำโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พจน์ สารสิน และ ประสาท สุขุม ช่างถ่ายภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ไปเรียนถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด และเป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer - A.S.C.)
ได้รวมตัวกันก่อตั้ง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด และสร้างโรงถ่าย “ไทยฟิล์ม” โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ ที่บริเวณทุ่งมหาเมฆ
พวกเขาได้กลายมาเป็นคู่แข่งในการผลิตภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มรายสำคัญของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งเปิดดำเนินการเป็นรายแรก
ในขณะที่ภาพยนตร์ของผู้สร้างรายอื่น ๆ ล้วนไม่ได้บันทึกเสียงในฟิล์ม แต่ใช้นักพากย์มาพากย์สดขณะฉาย
โรงถ่ายไทยฟิล์มเริ่มผลิตภาพยนตร์เสียงออกฉายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 โดยมีผลงานมากถึง 3 เรื่องในปีแรก ได้แก่ ถ่านไฟเก่า แม่สื่อสาว และ วันเพ็ญ
ก่อนจะเงียบหายไปเกือบ 1 ปี และกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. 2483 (นับแบบปีปฏิทินปัจจุบัน) ด้วยเรื่อง ปิดทองหลังพระ และ ลูกทุ่ง
ภาพยนตร์ของบริษัทไทยฟิล์มคล้ายกับของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง คือมักมีเพลงประกอบเป็นตัวชูรส บางเพลงจากภาพยนตร์ของไทยฟิล์ม เช่น 'บัวขาว' และ 'ลมหวล' ยังคงเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้น บริษัทภาพยนตร์ไทยได้หมดทุนและจำต้องหยุดกิจการลงในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม โรงถ่ายไทยฟิล์มยังมีบทบาทสำคัญต่อเนื่อง เมื่อ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้โรงถ่ายที่ว่างอยู่และบุคลากรของไทยฟิล์มสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายในปี พ.ศ. 2484
นอกจากต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างบริษัทไทยฟิล์มแล้ว บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงยังต้องแข่งขันกับกลุ่มผู้สร้างหนังพากย์ ซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากหลังจากยุคภาพยนตร์เงียบ
เมื่อภาพยนตร์เสียงเริ่มเข้ามาสู่ตลาดภาพยนตร์เมืองไทย เงื่อนไขในเรื่องเงินทุนทำให้พวกเขาไม่สามารถทำภาพยนตร์เสียงได้
จึงหาทางออกด้วยการยังคงรูปแบบการถ่ายทำแบบภาพยนตร์เงียบ แต่อาศัยการพากย์สด ซึ่งพัฒนามาจากการบรรยายข้างจอที่นิยมกันมากในช่วงที่ภาพยนตร์เสียงเข้ามาแย่งตลาดหนังเงียบในเมืองไทยใหม่ ๆ
การพากย์นี้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมมาก โดยเฉพาะถ้าได้นักพากย์ฝีปากเอกที่มีลีลาการพากย์สนุกสนานเร้าใจ
หนังพากย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ชมจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ชมระดับล่างเลือกชมไม่แพ้ภาพยนตร์เสียง
และความนิยมนี้ต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมหนังพากย์ 16 มม. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2490 แล้วดำเนินการต่อเนื่องไปกว่า 2 ทศวรรษ
▶ โปรดติดตาม EP. 7 ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
▶ ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ::
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- บทความของ ภาณุ อารี (http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9)
เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
- สุดท้ายนี้หากได้ประโยชน์จากบทความนี้อย่าลืมกด Like & Share และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปันมุมมองให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻🤗 -
🌐 ติดตามภาพยนตรานุกรมได้ที่ :: http://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ไทยบันเทิง
โฆษณา