28 มิ.ย. 2021 เวลา 09:42 • ปรัชญา
ปรัชญาตะวันตก......
ปรัชญาตะวันตก
สาขาวิชาต่างๆ ของศาสตร์ตะวันตกนั้น แตกแยกมาจากปรัชญาทั้งนั้น รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วย จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ปรัชญาเป็นแม่ของสาขาวิชาทั้งปวง”
ในปัจจุบันปรัชญาบริสุทธิ์ที่ยังมีการศึกษากันอยู่มี 4 สาขาคือ
[1].. อภิปรัชญา (Metaphysics)
[2].. ตรรกวิทยา (logic)
[3].. ทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา (Epistemology)
[4].. คุณวิทยา (Axiology)
สาขาวิชาที่ส่งผลกระทบต่อศาสนาพุทธเป็นอย่างมากก็คือ ทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา (Epistemology) สาขารองลงมาก็คือ ตรรกวิทยา แต่ตรรกวิทยาไม่ได้มีเนื้อหาวิชาเป็นของตนเอง
ตรรกวิทยาเป็นเพียงกระบวนการในการหาความรู้ หรือเป็นกระบวนการโน้มน้าวให้ผู้อื่นเชื่อถือ ตรรกวิทยาจึงส่งผลเสียให้กับศาสนาพุทธไม่เท่ากับทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา
ทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา คือ วิชาที่ศึกษาว่า อะไรคือความรู้ อะไรคือความจริง ความรู้กับความจริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
เครื่องมือสำหรับทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยาที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นเหตุผล (Rationality) ของตรรกวิทยา องค์ความรู้ใดๆ ก็ตามที่นักปรัชญาเห็นว่า ขาดความเป็นเหตุผล (Irrationality) สิ่งนั้น ก็ไม่นับว่าเป็นความจริง (truth) คือ เป็นองค์ความรู้ได้ แต่เป็นองค์ความรู้ที่ไม่เป็นความจริง
ลักษณะที่เป็นจุดเด่นสำคัญของนักปรัชญาที่ประชาชนคนไทยควรจะเข้าใจก็คือ นักปรัชญาไม่ให้ความสนใจหรือไม่ให้ความสำคัญในการทดลอง สังเกตการณ์ หรือลงไปศึกษาในภาคสนามอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ทำ นักปรัชญาจะใช้วิธีคิดด้วยความเป็นเหตุผล (Rationality) แต่เพียงอย่างเดียว
จากหลักความเชื่อดังกล่าว เรื่องนรก-สวรรค์ ผลกรรม อิทธิปาฏิหาริย์ ฯลฯ ของศาสนาพุทธจึงถูกปฏิเสธจากนักปรัชญา เพราะ พิจารณาแล้วว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง ในกรณีนี้รวมถึงการปฏิบัติธรรมด้วยเช่นเดียว
จะสังเกตได้ว่า ในงานเขียนของนักปรัชญา มักจะไม่นำผลการปฏิบัติธรรมของพระปฏิบัติหรือพระป่าเข้ามาพิจารณา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า นักปรัชญาตัดประเด็นการปฏิบัติธรรมออกไปจากวิธีการศึกษาเลยก็ว่าได้
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของการศึกษาทางปรัชญาก็คือ นักปรัชญาไม่เชื่อว่าองค์ความรู้ใดในโลกนี้ สามารถเข้าถึงความจริง (Truth) ซึ่งตรงกับความเป็นจริง (Reality)[3] แล้ว รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วย
การที่มีความเชื่อเช่นนั้น นักปรัชญาจึงมีใจเปิดกว้าง (Inclusive) ยินดีที่จะรับองค์ความรู้ (body of knowledge) อื่นใดก็ได้ที่ตนเองเห็นว่า เป็นความจริง
ดังนั้น เมื่อนักปรัชญาต้องการจะศึกษาสิ่งใด ก็จะเลือกสิ่งที่ตนเองคิดว่า เป็นความจริงมาจากความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ นำมาผสม ผสานและศึกษาตีความให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา
เมื่อมีแนวทางในการศึกษาเช่นนั้น ปรัชญาตะวันตก นับตั้งแต่สมัยกรีกเป็นต้นมาจึงมีนักปรัชญาเป็นจำนวนมาก นับเป็นหลักร้อยหรืออาจจะเป็นหลักพันก็เป็นได้ ถ้านับรวมนักปรัชญาทั้งโลก วิธีหาความรู้ความจริงในทางปรัชญาก็มีเป็นจำนวนมากไปด้วย ทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎีก็ขัดแย้งกัน และนักปรัชญาก็ยังคงถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน
ธรรมชาติของปรัชญาดังกล่าว จึงเป็นจุดอ่อนของตัวปรัชญาเอง ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาหลายๆ ท่าน ยอมรับแล้วว่า วิธีการศึกษาทางปรัชญาไม่สามารถค้นหาความจริง (Truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้
ปรัชญามีไว้เพียงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความคิดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ยังมีนักปรัชญาที่ไม่ยอมรับความจริงที่ว่า ปรัชญาไม่สามารถค้นหาความจริง (Truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้ ก็ยังคงที่จะศึกษาศาสนาพุทธโดยใช้วิธีการของปรัชญาเป็นเครื่องมือในการศึกษา
นักปรัชญาเหล่านี้ จึงตัดเรื่องที่เห็นว่า “ไม่มีเหตุผล” ออกไปจากการวิเคราะห์ เมื่อจะศึกษาส่วนใดส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ นักปรัชญาก็จะไปเลือกหยิบข้อความของศาสนาพุทธในส่วนที่จะสนับสนุนความ คิด/ความเชื่อของตนมาศึกษา โดยละเลยไม่ยอมกล่าวถึงเนื้อหาส่วนที่ขัดแย้งกับความคิด/ความเชื่อของตนเอง
ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีการตีความพระไตรปิฎกให้เข้ากับแนวคิดของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการในทางภาษาศาสตร์แต่อย่างใด
โดยสรุป......
จะเห็นได้ว่า นักปรัชญาจำนวนมากเชื่อว่า ปรัชญาไม่สามารถค้นหาความจริง (Truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้แน่ๆ ซึ่งก็เกิดจากการศึกษาและประสบการณ์ของนักปรัชญาเองที่พบว่า องค์ความรู้ของปรัชญาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง นักปรัชญาก็มีเป็นจำนวนมาก
ในปรัชญาสาขาเดียวกัน ความรู้ก็ยังไม่หยุดนิ่ง ยังเกิดการถกเถียงกันตลอดเวลา เมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธแล้ว องค์ความรู้ทางศาสนาพุทธหยุดนิ่งแล้ว เพราะ พระพุทธองค์ตรัสแล้วว่า พระองค์ค้นพบความเป็นจริงแท้ (Ultimate Reality) แล้ว และความเป็นจริงแท้ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับตรรกวิทยาแต่อย่างใด
เชิงอรรถ
[3] โปรดอ่านบทความของผู้เขียน เรื่อง “ความจริงกับสัจจะ[1] - [6]” ในบทความของบล็อกเดียวกันนี้
1) ความจริงกับสัจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
2) ความหมายของ “จริง” ต่างๆ
3) ความเป็นจริง (reality) ของศาสนาพุทธคืออะไร?
4) พระไตรปิฎกเป็นความจริงทั้งหมด
5) ความจริงของวิทยาศาสตร์
6) สัจจะของศาสนาพุทธ
บทความดังกล่าว จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง (fact) ความจริง (truth) และความเป็นจริง (reality) ว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร...
เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)
Line ID : manas4299
โทรศัพท์ : 083-4616989
โฆษณา