Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Daily law กฎหมายในชีวิตประจำวัน
•
ติดตาม
3 ก.ค. 2021 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
"ค้ำประกัน" ความเชื่อใจใกล้ตัว...ที่ทำให้หลายคนหมดตัว !!!
1
เคยไหมคะที่มีคนมาขอให้ค้ำประกันให้
ยกตัวอย่างเช่น ค้ำประกันซื้อรถยนต์ ค้ำประกันเงินกู้ ค้ำประกันซื้อบ้าน ค้ำประกันกู้ยืมเพื่อการศึกษา ฯลฯ
"น่านะ นะ นะ... ช่วยหน่อย เราเดือดร้อนจริงๆ ไม่อย่างงั้นก็กู้ไม่ได้"
ส่วนใหญ่ตอนมาขอก็พูดจาจูงใจว่าจะใช้แน่นอน ไม่ทำให้เดือดร้อนเป็นอันขาด แต่เชื่อมั้ยคะพอตอนเจ้าหนี้มาทวงคนขี้อ้อนตอนมาขอให้เราค้ำประกันมักไม่อยู่แล้วล่ะค่ะ หายวับไปกับตา โทรไปไม่รับ ไลน์ไปไม่อ่าน ทักเฟซไม่ตอบ ไปดักเจอที่บ้านหรือที่ทำงานก็ไม่อยู่ ทำราวกับว่าเราไม่เคยรู้จักกันไปซะงั้น
จริงๆ แล้ว เป็นกฎเหล็กที่อยากแนะนำกันเลยทีเดียวว่า ถ้าไม่สนิทชิดเชื้อ รักใคร่กลมเกลียวกันจริง หรือเป็นญาติพี่น้องที่สนิทสนมกัน โดยหลักแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าค้ำประกันให้ใครเด็ดขาด น้ำตาตกมาหลายคนแล้วค่ะ โดยเฉพาะท่านที่ต้องนำเงินเกษียณมาใช้หนี้คนอื่น เห็นแล้วรู้สึกเห็นใจจริง ๆ อย่างรายที่ปรากฏในข่าวว่า คุณครูมัธยมปลายที่เกษียณอายุราชการแล้วต้องเอาเงินบำนาญมาใช้หนี้ กยศ. แทนลูกศิษย์สมัยที่เคยสอนกันตอน ม. 6 ที่ชิ่งหายไป เป็นต้น
1
เหตุผลคือ ข้อกฎหมาย (เดิม) ข้อนึงค่ะว่า "ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม" ซึ่งจะเกิดลักษณะแบบนี้ได้ต้องกำหนดในสัญญาค่ะ แน่นอนว่าสัญญาที่เรา ๆ ทำกัน 99 เปอร์เซ็นต์ ย่อมตกเป็นผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมค่ะ
แปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายคือแบบนี้ค่ะ สถานะของเราเทียบเท่ากับลูกหนี้ คือเหมือนเป็นลูกหนี้ในหนี้ก้อนนั้นคนหนึ่งค่ะ จริงอยู่ที่ว่าเราเป็นผู้ค้ำประกันสามารถให้เจ้าหนี้ไปเรียกเก็บกับลูกหนี้ได้ก่อน แต่ถ้าลูกหนี้ล้มละลาย หรือหาตัวไม่เจอ (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบหลัง) ภาษากฎหมายเราเรียกว่า "ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต" ส่วนภาษาชาวบ้านเราเรียกว่า "หายหัวไป" ค่ะ เจ้าหน้าหนี้ก็มาเรียกเก็บหนี้กับเราอยู่ดีค่ะ
2
มาดูข้อกฎหมายกันค่ะ มาตรา 688 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิย์
" เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต"
1
แล้วถ้าเราทำสัญญาแบบไม่ได้จำกัดวงเงินที่จะรับผิดไว้แล้ว ซึ่งแน่นอน 99 เปอร์เซนต์จะเป็นลักษณะนี้ ซึ่งแต่เดิมเจ้าหนี้สามารถเรียกให้เราชำระที่มีอยู่เต็มจำนวนได้เลย รวมหมดค่ะ ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการที่ลูกหนี้ค้างชำระ เช่น ค่าทนายติดตามทวงถาม ค่าโทรศัพท์ที่โทรตาม ค่าธรรมเนียมศาลกรณีเป็นคดีความฟ้องร้องกัน มาหมดค่ะ คิดหมดค่ะ คิดกับผู้ค้ำประกันนี่แหละค่ะ
ซึ่งในสัญญามักจะนำมาตรา 691 (เดิม) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มากำหนดในสัญญาว่าจะใช้ข้อกฎหมายในเรื่องค้ำประกันดังกล่าวให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมค่ะ ซึ่งแน่นอนว่า บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร ต่างๆ ย่อมเขียนสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเสมอ เพราะเวลาตามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ หรือที่เรียกว่า "หนีหนี้" วิธีที่ง่ายที่สุดเขาก็มาตามกับผู้ค้ำประกัน และแน่นอนค่ะ เจ้าหนี้ตามลูกหนี้ไม่ได้ เราผู้ค้ำประกันก็มักจะตามไม่ได้เหมือนกันค่ะ
1
แต่ตอนนี้สภาพการณ์จะไม่เลวร้ายขนาดนั้นแล้วค่ะเพราะว่า ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีการแก้ไขเรื่องการให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแล้วค่ะ เพราะมาตรา 681/1 กำหนดไว้ว่า "ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ"
ดังน้ัน บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร ต่างๆ ย่อมไม่อาจเขียนสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้อีกต่อไป เช่น แม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายดังกล่าวด้วยการกำหนดว่าในการทำสัญญาซื้อสินค้าหรือกู้ยืมเงิน ลูกหนี้จะต้องหาบุคคลอื่นมาเป็นลูกหนี้ร่วมแทน ซึ่งเป็นการเขียนที่ต่างจากเดิมซึ่งจะกำหนดให้ต้องหาบุคคลมาเป็นผู้ค้ำประกัน
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา 8425/2563
จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวประสงค์จะซื้อรถยนต์โดยขอสินเชื่อจากโจทก์แต่เพื่อให้แน่ใจว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จึงให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อผูกพันรับผิดต่อโจทก์ด้วย อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้นจำเลยที่ 2 หาได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อแต่อย่างใดไม่
การทำสัญญาของจำเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเข้าผูกพันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาค้ำประกัน แต่เนื่องจากกฎหมายค้ำประกันใหม่ห้ามมิให้มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมมาบังคับใช้กับจำเลยที่ 2 แทน โดยให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในแบบสัญญาที่โจทก์พิมพ์ข้อความไว้ล่วงหน้ามีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 2 ต้องยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
นอกจากนี้ยังมีข้อความที่จำเลยที่ 2 ตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมรับผิดเต็มจำนวน แม้โจทก์ปลดหนี้หรือลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว และยอมรับผิดแม้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเข้าทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดอย่างใด ๆ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ถึงเหตุความสามารถหรือความสำคัญผิดนั้นในขณะเข้าทำสัญญาหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้เป็นเฉพาะในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 11 ค้ำประกัน
แต่โจทก์จัดทำสัญญาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติหากจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น ประกอบกับตามประเพณีการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อจะจัดให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อส่วนบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของผู้เช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจจะจัดให้ทำสัญญาค้ำประกันประกอบกัน
ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง
เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานะของโจทก์ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อย่อมทราบดีว่า มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะค้ำประกันโดยห้ามมิให้ทำสัญญาที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็เพื่อคุ้มครองผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่ให้ถูกผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ แต่แทนที่จะจัดทำสัญญาค้ำประกันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
โจทก์กลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและมีความสันทัดจัดเจนในข้อกฎหมายมากกว่าจัดให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมแทนการทำสัญญาค้ำประกันอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิแห่งตนด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12
ทั้งสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้ จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
โจทก์ย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะอ้างสิทธิใด ๆ จากสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญา จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
1
ดังนั้น บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร ต่างๆ ย่อมไม่อาจเขียนสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้อีกต่อไป เและไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยการใช้ฐานะลูกหนี้ร่วมแทนฐานะผู้ค้ำประกันได้ มิเช่นนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถบังคับใช้ได้ค่ะ
1
แต่อย่าลืมนะคะ แม้กฎหมายจะแก้ไขแล้ว การจะค้ำประกันให้ใครยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบค่ะ
1
ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
9 บันทึก
7
7
14
9
7
7
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย