3 ก.ค. 2021 เวลา 05:01 • ประวัติศาสตร์
“รหัสรัก...ภาษาแสตมป์”
หลายคนอาจเคยได้ยินการบอกรักภาษาดอกไม้ ซึ่งมีมาตังแต่ยุควิกตอเรีย แม้ปัจจุบันดอกกุหลาบที่มอบให้แก่กันก็ยังสื่อถึงความรักความห่วงใยในความหมายที่ต่างกันตามสีสันของกุหลาบ
1
มีจดหมายและโปสการ์ดจำนวนมากที่ส่งถึงกันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มักพบว่ามีการติดแสตมป์ในตำแหน่งและมุมแปลกๆ หลายแบบ ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อความถึงผู้รับจนกลายเป็น “ภาษาของแสตมป์” โดยพัฒนาขึ้นในอังกฤษก่อนแพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วยุโรป
1
โปสการ์ดส่งจริงในอดีต
จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาน่าเวียนหัวในการประทับตราไปรษณีย์ เมื่อแสตมป์ที่ติดไม่เป็นที่เป็นทาง ไปรษณีย์ทั่วโลกจึงต้องหันมาแนะนำให้ผู้ส่งจดหมายติดแสตมป์ในตำแหน่งมุมบนขวาของซองเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
1
ว่ากันว่าการติดแสตมป์บนซองหรือโปสการ์ดในมุมซ้ายบ้างขวาบ้าง ตั้งตรง ตะแคง หรือวางขวาง ไปจนถึงตีลังกา ได้กลายเป็นรหัสสื่อสารอันแยบยลในการเขียนจดหมายจีบกันระหว่างหนุ่มสาวยุคนั้น ซึ่งพ่อแม่มักจะคอยเซ็นเซอร์จดหมายที่เข้าบ้าน
2
ผู้สันทัดกรณีระบุว่า วัฒนธรรมการติดแสตมป์นี้อาจเก่าพอ ๆ กับการส่งการ์ดอวยพรซึ่งเริ่มจากราชวงศ์ออสเตรีย-ฮังการีในปี 1869 โดยอ้างถึงหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฮังการีปี 1890 ฉบับหนึ่งที่แนะนำรหัสลับภาษาแสตมป์สำหรับผู้ที่กำลังตกหลุมรักเวลานั้นได้ใช้แลกเปลี่ยนความรู้สึกของหัวใจที่มีต่อกัน เป็นต้นว่า ถ้าติดแสตมป์มุมขวาบนของการ์ดหรือซอง ลักษณะตั้งตรงหมายถึง “ฉันขอเป็นเพื่อนกับเธอ” แต่ถ้าทแยงกลับหัว จะเป็นคำถาม “เธอรักฉันไหม” แสตมป์ตีลังกา คือ “อย่าเขียนมาอีก” แสตมป์ติดขวางๆ “เขียนถึงฉันทันที”
1
ในกรณีติดมุมซ้ายบน ด้วยแสตมป์ทแยงกลับหัว ให้หมายถึง “หัวใจฉันมีคนจองแล้ว” ถ้าตั้งตรงก็เซย์เยส “ฉันรักเธอ” และถ้าเป็นมุมล่างซ้าย ทแยงกลับหัว ก็ให้รู้ว่า “ปล่อยให้ฉันอยู่กับความเศร้า” หากอยู่แนวเดียวกับชื่อจ่าหน้า ก็จะเป็น “รับรักฉันที” ครั้นเปลี่ยนเป็นทแยงกลับหัว คือ “ฉันอยากเจอเธอ” ตรงข้ามกับตีลังกา จะเป็นการปฏิเสธว่า “ฉันรักคนอื่นแล้ว” ฯลฯ นับเป็นนวัตกรรมภาษารักที่ริเริ่มเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว
2
เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่จึงแพร่หลายเป็นแฟชั่นอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นมีผู้ไปเพิ่มเป็นบทเฉพาะในหนังสือมารยาททางสังคมเช่นเดียวกับภาษาดอกไม้ ผ้าเช็ดหน้า และพัด บางประเทศถึงขั้นทำเป็น “คู่มือรหัสกามเทพ” แผลงศรถ่ายทอดข้อความลับด้วยภาษาแสตมป์ก็มี
นอกจากนี้ยังมีการนำไปพิมพ์เป็นภาพบนบัตรอวยพร เพื่อแนะนำให้ผู้ใช้ได้รู้จักไวยากรณ์ของภาษาแสตมป์ ซึ่งไม่เพียงเวอร์ชั่นอังกฤษ แต่ยังมีทั้งฟินแลนด์ เช็ก รัสเซีย สวีเดน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม บัลแกเรีย ฯลฯ บ้างเป็นภาพตัวอย่าง หรือไม่ก็ทำเป็นตารางวางตำแหน่งแสตมป์ให้เห็นจะ ๆ ประกอบคำบรรยาย
ภาษาแสตมป์ข้างต้น แต่ละประเทศอาจสื่อความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียวด้วยศัพท์แสงของท้องถิ่นที่ต่างกันไป บางครั้งติดแสตมป์สองดวงเพื่อเน้นย้ำหรือแสดงความรู้สึกที่มากขึ้น โดยเป็นรหัสเฉพาะกลุ่มหรือคู่สนทนาทางจดหมาย
1
ในเวลาต่อมา ยังมีการนำภาษาแสตมป์มาใช้สื่อสัญลักษณ์ในช่วงของสงคราม เช่นใช้แสตมป์รูปเทพีวีนัสเพื่อแสดงถึงชัยชนะ และมีการขยายวงใช้ในหมู่คนวัยอื่นๆ ด้วย ซึ่งความนิยมดังกล่าวมีไปจนถึงสิ้นทศวรรษที่ 1960
ไม่น่าเชื่อเลยครับ ว่าตำแหน่งการติด หรือรูปแบบการติดแสตมป์ จะมีความนัยซ่อนอยู่ เป็นเรื่องคลาสสิคมากครับ
ถ้าตอนนี้ยังมีการส่งจดหมาย การได้รับจดหมาย ว่าตื่นเต้นกับข้อความในจดหมายแล้ว ยังมาลุ้นว่าแสตมป์ที่ติดมา เรามีแล้วมั้ย จะซ้ำรึเปล่า ยังต้องมาแปลความกับแสตมป์ที่ติดมาด้วย จะสมหวังหรือแดรกแห้ว 🤣🤣🤣

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา